อีโคโนมิสต์วิเคราะห์กลุ่มต่อต้านรัฐบาลชัตดาวน์แผนปิดกรุงเทพ เหตุปลุกกระแสไม่ขึ้น ขณะกองทัพโบ้ยทำรัฐประหาร เพราะกลัวแผงอำนาจเก่าถูกตีโต้ แพ้ทั้งกระดาน
ในวันอาทิตย์ เว็บไซต์นิตยสาร The Economist เผยแพร่บทวิเคราะห์วิกฤตการเมืองไทย เรื่อง "ชัตดาวน์แผนปิดกรุงเทพ" ชี้ว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลถูกกดดันให้ยุติการปิดกรุงเทพ ล่าถอยเข้าไปปักหลักประท้วงในสวนลุม เพราะกองทัพปฏิเสธที่จะเข้ายึดอำนาจ ขณะยังไม่แน่ชัดว่าองค์กรอิสระจะชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการรับจำนำข้าว หรือไม่
@ กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ชุมนุมในสวนลุม เมื่อวันอาทิตย์
บทวิเคราะห์ บอกว่า การปฏิวัติประชาชน ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ล้มเหลวลงแล้ว และคงไม่สามารถฟื้นกระแสกลับมาได้อีก หลังพยายามกำจัดอิทธิพลของตระกูลชินวัตรมานานสี่เดือน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 15,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 490,000 ล้านบาท
รายงานบอกว่า ก่อนหน้านายสุเทพล่าถอยไม่กี่วัน ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเตือนนายสุเทพ และกลุ่มพลังที่สนับสนุนเขา ทั้งในกองทัพ, ระบบราชการ, ศาล และสถาบันชั้นสูง ว่า กองทัพจะไม่ทำรัฐประหาร นั่นเป็นเพราะกองทัพกลัวการตอบโต้จากคนเสื้อแดงในปีกฮาร์ดคอร์
อีโคโนมิสต์ระบุว่า ความรู้สึกในหมู่คนเสื้อแดงได้เปลี่ยนไปอย่างน่าตระหนกนับแต่ศาลแพ่งมีคำ พิพากษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ว่า การประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเป็นไปอย่าง "สันติ" และมีคำสั่งห้ามตำรวจใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม สร้างความคับแค้นแก่คนเสื้อแดง และส่งสัญญาณไปยังปีกฮาร์ดคอร์ว่า พวกเขาอาจต้องจับอาวุธแบบเดียวกันบ้าง และหากเกิดการรัฐประหาร ไม่ว่าโดยกองทัพหรือโดยศาล เป็นต้องเห็นดีกัน
เวลานี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังจะไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว หากถูกชี้มูลความผิด ตัวเธอและแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนอาจถูกถอดถอนพ้นตำแหน่ง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองนาน 5 ปี คดีนี้ยังเป็นคำถามปลายเปิด ยังไม่แน่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
นิตยสารวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศฉบับนี้ บอกอีกว่า การพูดว่าการปฏิวัติของนายสุเทพเป็นการตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ ต้องการเห็นการปกครองที่ดีกว่า นับเป็นความคิดที่พิลึกพิลั่น ไม่อาจเข้าใจได้ ความคิดแบบนี้สะท้อนให้เห็นบนป้ายหน้าเต้นท์ในสวนลุม กองบัญชาการปฏิวัติแห่งใหม่ โดยมีข้อความว่า "พวกฝรั่งโปรดเข้าใจว่า เรากำลังปฏิรูปประชาธิปไตย พวกคุณมีประชาธิปไตยในแบบของคุณ ขอให้เรามีประชาธิปไตยในแบบของเรา"
บทวิเคราะห์ระบุว่า ถ้าการปฏิวัติของนายสุเทพสามารถฟื้นคืนชีพกลับมาเอาชนะได้ นั่นจะเป็นเรื่องน่าตระหนก แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ การตอบโต้ต่อขบวนการของเขา นายสุเทพอ้างตัวเป็นผู้ปกป้องประเทศชาติและราชบัลลังก์ แต่อีกมุมมองหนึ่งมองว่า เขากำลังพยายามปกป้องอำนาจของชนชั้นนำตามจารีต ที่จะควบคุมทรัพยากรของประเทศ ต่างหาก เป็นความมุ่งหมายที่จะรักษาสถานะเดิมที่การอภิวัตน์ พ.ศ.2475 เคยพยายามจะเอาชนะมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
"ดูเหมือนกองทัพเริ่มตระหนักแล้วว่า ความพยายามของนายสุเทพที่จะรักษาบทบาทของพลังอำนาจเก่า อาจถูกตอบโต้ ดังนั้น เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้ การก่อกบฏของเขาควรหดตัวเข้าไปอยู่ในสวนสาธารณะ" บทวิเคราะห์กล่าวสรุป.
Source : The Economist
by
sathitm
3 มีนาคม 2557 เวลา 12:31 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น