แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ:ยุคม็อบอันธพาลครองเมือง

ที่มา ประชาไท



ในที่สุด สถานการณ์ที่สร้างโดยม็อบกวนเมือง คือ ม็อบ กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็พัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงต่อไปอีก ในขณะที่ข้อเรียกร้องของม็อบจะไม่มีทางบรรลุผลได้เลย นอกจากนี้ การคงอยู่ของม็อบตามสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯก็ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ ประชาชนไปทั่ว เศรษฐกิจของประเทศก็เสียหาย สมควรที่ชนชั้นนำในสังคม องค์กรอิสระ ศาล  และ กองทัพ ที่จะแจ้งแก่ม็อบนายสุเทพว่า ถึงเวลายุติการชุมนุมกลับบ้านได้แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียของทุกผ่าย คืนชีวิตปกติให้ประชาชน ให้โอกาสประเทศในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และนำการเมืองเข้าสู่วิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากว่า ม็อบยังไม่ยอมยุติ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นความพยายามยื้อให้เกิดความรุนแรงต่อไป ชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบจึงควรที่จะเลิกสนับสนุน และสร้างความชอบธรรมให้กับม็อบเสียที เพราะถ้าเคลื่อนในลักษณะนี้ต่อไป ความขัดแย้งก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ความรุนแรงล่าสุด คือ การยิ่งถล่มเวที กปปส.จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 41 คน โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 5 ขวบ ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ได้มีการยิงระเบิดใส่หน้าบริเวณห้างบิ๊กซี สาขาราชดำริ ถนนราชปรารภ  ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมนุมของ กปปส. ก็มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นเด็ก 2 คน และบาดเจ็บราว 20 คน ที่น่าสนใจคือ หลังเกิดเหตุ ฝ่าย กปปส.พยายามโจมตีว่าคนร้ายเป็นฝ่ายคนเสื้อแดง และเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับผิดชอบ แต่ในฝ่ายคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ก็มีการให้ข่าวกันว่า ฝ่ายนายสุเทพสร้างสถานการณ์เล่นงานมวลชนเพื่อเร้าสถานการณ์ ในที่นี้ อยากจะอธิบายว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามาจากฝ่ายไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ม็อบได้สร้างความเดือดร้อนก่อให้เกิดความไม่พอใจ จนมีผู้”จองกฐิน”หลายฝ่าย และฝ่ายตำรวจเองก็ถูกม็อบเล่นงานเสียจนยากที่จะมีปฏิบัติการใดๆ

สรุป ในระยะเกือบ 4  เดือน นับตั้งแต่มีการชุมนุมของม็อบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เริ่มวันที่ 31 ตุลาคม เป็นต้นมา ได้เกิดความรุนแรงโดยการใช้อาวุธสงครามอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 20 ราย บาดเจ็บมากว่า 700 ราย ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีทั้งจากฝ่าย กปปส.เอง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายคนเสื้อแดง และ ประชาชนทั่วไป จนทำให้ความรุนแรงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองปัจจุบัน

แม้ ว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มจะออกมาประณามความรุนแรงทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง บ้างก็เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบโดยการลาออก แต่กระนั้น ถ้าจะอธิบายแล้ว ต้นเหตุที่นำมาสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในระยะ กว่า 3 เดือนนี้นั้น ก็มีที่มาจากการชุมนุมยืดเยื้อของฝ่ายม็อบ กปปส. และสร้างมาตรการกดดันกับประชาชนและภาคธุรกิจจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและ เสียหายอย่างหนัก ประมาณกันว่าความสูญเสียในทางเศรษฐกิจของบริษัทห้างร้านที่อยู่ในบริเวณที่ ชุมนุมในระยะที่ผ่านมา น่าจะมากกว่าหมื่นล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ก็คือ ความเสียหายจากภาพรวมในทางเศรษฐกิจ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะลดลงอย่างค่อนข้างแน่นอน การค้าการลงทุน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบริการ และธุรกิจบันเทิง ต่างก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนไม่อาจประเมินค่าได้ และยิ่งม็อบยังคงชุมนุมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ความเสียหายจะยิ่งเพิ่มทวี

ยิ่ง กว่านั้น คงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ว่า ตั้งแต่มีการชุมนุมของม็อบนายสุเทพ ยังไม่มีการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง หรือได้รับชัยชนะทางยุทธศาสตร์อะไรเลย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่เคยรับหรือปฏิบัติตามข้อเสนอใดจากฝ่ายนายสุเทพ ด้วยความไม่บรรลุผลทางการเมือง กลับยิ่งทำให้ ม็อบของนายสุเทพยกระดับเป็นม็อบเหนือกฎหมาย คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นทุกที ในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมา ม็อบได้ใช้วิธีการไปปิดบริษัทห้างร้านตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าธุรกิจเหล่านั้นเป็นท่อน้ำเลี้ยงฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีที่น่าอับอายขายหน้า คือการที่ม็อบส่วนที่นำโดยพระพุทธอิสระ ไปรีดไถเงินโรงแรมเอสซีปาร์ค ก่อให้เกิดความเคยชินในการปล้นสะดม และประการต่อมาคือการใช้ม็อบไปคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนบีบบังคับให้ออก ข่าวตามที่ตนต้องการ โดยอ้างเอกสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองจากศาลเป็นเครื่องมือในการคุกคาม เสรีภาพของผู้อื่น

ประเด็นสำคัญคือ การปฏิบัติการทั้งหมดนี้ของของ ม็อบ กปปส. รัฐบาลไม่สามารถที่จะเข้าไปจัดการได้ เพราะเป็น”ม็อบมีเส้น” ที่ได้การสนับสนุนจาก ชนชั้นสูง ศาล องค์กรอิสระ และชนชั้นกลางจำนวนมาก กองทัพเองก็วางเฉย ไม่เข้าร่วมในการรักษากฎหมาย

ในภาวะเช่น นี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรควรจะทำอย่างไรดี ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมของของ ปิยบุตร แสงกนกกุล 3 ข้อ เป็นข้อเสนอที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง นั่นคือ การ พิจารณาประกาศย้ายที่ทำการรัฐบาลและสถานที่ราชการไปจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ที่ปลอดภัยจากการชุมนุม เพื่อส่งสัญญาณว่ายังสู้กับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ประการต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศควรจัดทำคำประกาศฝ่ายเดียวรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่าง ประเทศ และประการที่สาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรจะต้องอดทน รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป หากจะต้องพ้นตำแหน่งก็ให้องค์กรอิสระ ศาล หรือทหารมา "ปล้น" ไปเอง ซึ่งในข้อนี้ จะขอเสริมว่า นายกรัฐมนตรีควรที่จะดำเนินการทุกอย่างตามกรอบของกฎหมายและหลักการ ประชาธิปไตยให้มากที่สุด เพื่อทำให้ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจะต้องละเมิดกฎหมายเท่านั้น จึงจะได้สิ่งที่ตนต้องการ

มีข้อเสนอจากหลายฝ่าย ให้หาทางแก้ไขความขัดแย้งในสังคมโดยเปิดการเจรจา ความจริงแล้วการเจรจากันเป็นวิธีการอันดีที่จะทำความเข้าใจกัน และต่อรองกันในเงื่อนไขที่จะลดความขัดแย้งทางการเมือง แต่รัฐบาลจะต้องยึดถึงหลักการว่า จะต่อรองให้มีการกระทำนอกกรอบของกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย จะยอมรับไม่ได้เด็ดขาด การผ่อนปรนเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ต้องใช้การดำเนินการแบบนิติรัฐ คือ ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ไม่ใช้วิธีการแบบอื่น

ด้วยวิธีการเช่นนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังคงต่อสู้ได้อีกยาว ไม่ว่าองค์กรอิสระหรือศาล จะดำเนินการอย่างไร ให้คำนึงไว้ว่า รัฐบาลมีที่มาอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนข้างมากทั่วประเทศ และยังได้รับการสนับสนุนจากกระแสสากล การล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่ได้เป็นกระบวนการที่ทำได้โดยง่าย

บทความนี้ ขอสรุปด้วยการยกคำแถลงส่วนหนึ่งของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวไว้ดังนี้

“ที่ดิฉันอยู่วันนี้ก็เพื่อรักษาประชาธิปไตย การที่หลายคนออกมาเรียกร้องให้ดิฉันลาออก จึงอยากถามกลับไปว่า การลาออกคือคำตอบหรือ เพราะถ้าดิฉันลาออกเพื่อเปิดทางให้เกิดสูญญากาศ ฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำได้อย่างไร

ดิฉันในฐานะ ประชาชนและผู้นำรัฐบาล ต้องรักษาประชาธิปไตย ประคับประคองไปให้ถึงรัฐบาลใหม่ แม้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ดิฉันขอทำหน้าที่ของตนเองจนถึงนาทีสุดท้าย ถึงเวลาแล้วค่ะที่ทุกฝ่ายควรหันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความลงตัวเร็วที่สุดสำหรับทางออกของประเทศที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ”


ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 453 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น