แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นักโทษทางการเมือง ความคิดต่างที่ต้องโทษ

ที่มา ประชาไท


 
หลังจากวันที่ 1 พ.ค. 2556 โลกออนไลน์โดยเฉพาะสังคม facebook เริ่มมีการเคลื่อนประเด็นที่ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี ฐานเป็นกบฏและสมาชิกขบวนการ BRN Coordinate ต่อนายมะกอรี และพวกรวม 9 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ นักสื่อสารภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ (ปาตานี) หรือเป็นเจ้าของบล็อกคอลัมน์ Patani Design ในเว็บศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)[1]
 
กระแสการรณรงค์เริ่มขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วผ่านเพจ “เพื่อนอันวาร์ Save Anwar” ซึ่งเป็นเพจที่สร้างความกังวลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคำตัดสิน จนทำให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องออกมาแถลงถึงกรณีที่ศาลฎีกาตัดสินเช่นนี้ว่าเพราะเหตุใด[2]
 
บทสรุปสุดท้ายในคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN Coordinate จริง[3] เรา เคารพในคำตัดสิน แต่ไม่ได้แสดงว่าเรายอมรับการกระทำผิดซึ่งหน้า มิได้แสดงว่าเมื่อคิดต่างจากรัฐแล้ว จะต้องเข้าไปเป็นสมาชิก BRN หรือองค์กรใด แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าเรามีความผิดที่คิดต่างทางการเมืองกับรัฐไทย
 
การคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วแสดงออกโดยการสื่อสารทั้งการสื่อสารแบบเก่าหรือแบบใหม่ หรือแสดงออกโดยวิธีการไม่เสียเลือดเนื้อของผู้คน การถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสันติวิธีทั้งหลายเหล่านี้ เรากระทำโดยมิได้ผิดต่อหลักกฎหมายบ้านเมือง หรือข้อห้ามแต่อย่างใด ในทางกลับกันลองพลิกดูนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ของ สมช. ที่เป็นตัวแทนของรัฐไทยที่ไปนั่งเก้าอี้พูดคุยบนโต๊ะเจรจากับ BRN ที่ มาเลเซีย นั้นเขียนระบุไว้อย่างไร ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ที่ว่าด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพูด คุย หลักประกันการเข้ามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และในข้อที่ 2 ที่ระบุว่า ส่งเสริมกระบวนการพูดคุยกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ
 
กรณีศึกษาจากการตัดสินจำคุก 12 ปี นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะและพวกอีก 9 คน ที่มีการซัดทอดว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRN แต่มิได้มีความผิดฐานการกระทำผิดซึ่ง หน้า หรือคดีฆ่าตัดคอตามที่เป็นข่าว หากมองขึ้นไปที่นโยบายข้างต้น แทบไม่มีประโยชน์ที่จะออกแถลงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาใต้ หากในทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่นำไปปฏิบัติตาม
 
นักโทษทางความคิด คิดต่างทางการเมือง ที่มาจากความเป็นอยู่ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา ที่ต่างกัน รัฐไทยคงจะต้องสร้างที่กักขังอีกหลายแห่งเพื่อรองรับบุคคลที่มีความเห็นต่าง กลุ่มนี้ คงมิได้มีแต่เพียง อันวาร์ และเพื่อนอันวาร์เท่านั้น
 
สิ่งที่จำเป็นระดับระดับต้น ไม่ใช่นโยบายที่สวยหรู ไม่ใช่การประดิษฐ์คิดวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ ออกมาผ่านนโยบายแถลงของรัฐ สิ่งที่รัฐไทย แม้จะนำโดยพรรคใดก็ตาม ต้องคำนึงคือ “ยอมรับ” ในความต่าง ในทุกๆ บริบทของชาวปาตานี ซึ่งมันจะสะท้อนถึงอุดมการณ์แนวคิดคนละขั้วจากความเป็นสยามออกมา
 
ท่านผู้ปกครองที่ใช้กฎหมาย มีอำนาจในมือ ปลายปากกา และกระบอกปืน สันติภาพที่สันติสุข สังคมไร้ซึ่งเสียงกระสุน เสียงดังของระเบิดจะไม่เกิดขึ้นถึงแม้ว่าจะจับกุม ควบคุมแนวร่วม แกนนำของขบวนฯ BRN ตัวจริงหรือเทียม มากเพียงใดก็ตาม เพราะสังคมเมอลายูปาตานีคงไม่มีวันที่จะเปลี่ยนสีฐานความคิด ฐานทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ให้กลายหรือเหมือนผู้ปกครองอย่างรัฐไทยได้ ผู้ปกครองควรจักต้องเข้าใจ ยอมรับ รับฟัง ให้มากกว่าเดิมหลายเท่า และอย่าได้พยายามเปลี่ยนสีฐานความคิด หรือป้ายสีชาวเมอลายูปาตานี
 
เรายอมรับในความต่างที่คุณเป็นสยาม แต่เราไม่ยอมนอบน้อมในความอธรรมและอยุติธรรมจากการกระทำจากผู้ปกครอง
 
เมอลายูปาตานีจะไม่เลือนหายจากแผนที่แห่งความคิด เราจักรักษามันให้คงอยู่ เราจักปกป้องให้มันคงไว้ โดยวิถีสันติ มิใช่ความก้าวร้าว
 




[1] กรุณาคลิกดูรายละเอียดของบล็อกดังกล่าวได้ที่  http://www.deepsouthwatch.org/blog/1033
[2] กรุณาคลิกดู “บทแถลงข่าว” ของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ที่http://www.southpeace.go.th/th/News/explain/news-560507-3.html
[3] กรุณาคลิกอ่านรายละเอียดของคำพิพากษาศาลฎีกาได้ ที่นี่



ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/4304

ความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์และการไม่ยืนเคารพในโรงหนังของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา

ที่มา ประชาไท



“ การอ้างความเสมอภาค
เพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า
อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ
-ศ.ดร.สมภาร พรมทา –

บทไหว้ครู
ไม่ได้หมายความว่าผมจะเริ่มชกมวยดอกครับ แต่อยากจะเรียนว่าผมนั้นเป็นลูกศิษย์อาจารย์สมภาร พรมทา ตั้งแต่เป็นเณรน้อย ติดตามอ่านหนังสืออาจารย์มาตลอดตั้งแต่ยุคที่อาจารย์เป็น “พิลาปเหลือง” จนปัจจุบันก็ยังตามอ่านวาสารปัญญา (วารสารออนไลน์) ของอาจารย์อยู่เป็นประจำ ได้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญา และพุทธศาสนาจากอาจารย์มาก แถมยังได้อ่านบกวี ดูภาพวาดสวยๆ ฟังดนตรีเพราะๆ อันเป็นผลงานที่ไหลมาเทมาจากพลังภายในอันล้นเหลือของอาจารย์อีกต่างหาก ที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้คือวิจารณ์ “ความคิด” ของอาจารย์ที่เป็นของสาธารณะที่ใครจะวิจารณ์ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับตัวตนของอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือแต่อย่างใด

บทวิจารณ์เชิงแลกเปลี่ยน
ผมเพิ่งได้อ่านคำให้สัมภาษณ์เรื่อง “มังสวิรัติ การเมือง และเรื่องสถาบันกษัตริย์” ของอาจารย์สมภาร (ใน "ฉันคิด ฉันจึงพูด" รวมบทสัมภาษณ์ช่วง 5 ปี วารสารปัญญา) เนื้อหาส่วนใหญ่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ โดยเฉพาะที่อาจารย์เสนอว่า “สถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น” แต่เวลาที่อาจารย์อภิปรายประเด็นต่างๆ เหมือนกับว่าสภาพที่เป็นอยู่จริงเป็นดังข้อเสนอนั้นแล้ว ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตเชิงแลกเปลี่ยนดังนี้

1) ที่อาจารย์สมภารชมในหลวงว่าแปลเรื่องของติโตผู้เป็นคอมมิวนิสต์นั้น แสดงว่า ในหลวงรู้พุทธศาสนาดี ยกย่องคนที่การกระทำ ถึงติโตจะเป็นสามัญชนแต่ก็เสียสละจนประชาชนรัก ทำนองว่าในหลวงใจกว้าง ไม่มองความสำคัญเรื่องชนชั้นของพระองค์เองหรือเรื่องที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นหลักอะไรประมาณนี้
คำถามคือ ก็ในเมื่ออาจารย์ยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนว่า “คนเราเกิดมาเท่ากัน” แต่อัตราโทษของ ม.112 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำคุก 3 ปี ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น 7 ปี ในสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็น 15 ปี หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จะอธิบายว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับ “คนเราเกิดมาเท่ากัน” ตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่างไร
2) ที่ว่าผู้ต้องการประชาธิปไตย "จินตนาการกันไปเองว่ามีอำมาตย์ มีไพร่ มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่” นั้น คำถามคือ ถ้าเป็นแค่จินตนาการกันไปเอง อะไรคืออุปสรรคของการแก้ไข/ยกเลิก ม. 112 ครับ ก็ถ้าไม่ระบบมีชนชั้น แต่มีความเสมอภาคอยู่แล้ว ทำไมจำเป็นต้องมี ม.112 (เป็นต้น) อยู่ต่อไป?

3) ที่ว่า “ฝ่าย นิยมกษัตริย์นั้นเขาเรียกร้องเพียงว่า ในระหว่างนี้ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย กรุณารักษาน้ำใจของคนที่รักพระเจ้าแผ่นดินบ้าง คนเราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าเหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย ด้วยการแสดงความไม่เคารพ หรือแม้แต่ดูหมิ่นดูแคลนสิ่งที่เขาเคารพ”
ผมคิดว่าปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะใช่ประชาชนอีกฝ่ายต้องการ “เหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย” คำถามง่ายๆ คือ คนรักเจ้าเขาไม่มีที่ยืน ไร้พื้นที่ทางสื่อ และทาง ฯลฯ จะสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงความเป็นคนดีที่จงรักภักดีสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่ใช่เลยครับ พื้นที่ของคนรักเจ้ามีอยู่ทุกอณูของแผ่นดิน อีกฝ่ายต่างหากที่เขาไม่มีพื้นที่จะวิจารณ์ด้วยเหตุผล พูดสิ่งที่เขาสงสัยออกมาตรงๆ ก็ไม่ได้ คนเขาถูกกระทำ ถูกฆ่าในนามข้ออ้างปกป้องสถาบันมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว พวกเขาทนไม่ไหวก็ระบายออกแบบนั้นในพื้นที่แคบๆ แต่ยังถูกไล่ล่า... ถามจริงๆ ครับคำด่าอย่างที่ดา ตอร์ปิโดด่าแล้วจำคุก 18 ปีนั้น (เป็นต้น) เปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างได้หรือเปล่าครับ
ยิ่งถ้าอาจารย์ยืนยันว่าเรื่องอำมาตย์ เรื่องไพร่ ความไม่เสมอภาคไม่มีแล้ว จินตนาการกันไปเอง ถ้าเช่นนั้นไม่มีอำมาตย์ ไม่มีไพร่ ก็ต้องมีความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องไม่มีการจำคุกประชาชนที่ทำผิดด้วยคำพูด/ข้อความ ตั้ง 18 ปี – 20 ปี ใช่ไหมครับ
ว่าตามจริงแม้แต่การใช้ “เหตุผล” ก็อาจถูกปฏิบัติจากอีกฝ่ายอย่างหยาบคายได้ เช่นโพสต์ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (30 พ.ค.56) ช้างล่าง
วรเจตน์เล่าให้ผมฟังว่า...

ตอนบ่ายวันนี้ ขณะลงไปที่ชั้นล่างของคณะฯ เจอผู้ชายและผู้หญิงแปลกหน้าโดยบังเอิญ เมื่ออยู่ใกล้กัน ผู้หญิงคนนั้นเปรยขึ้นมาว่า "วันนี้ โชคไม่ดี มาเจอเหี้ยที่นี่"

วรเจตน์ถามกลับด้วยความสุภาพว่า "ด่าผมหรือครับ" ผู้หญิงคนนั้น ก็ตอบกลับมาว่า "พูดลอยๆ ใครอยากรับ ก็รับไป"

หลัง จากนั้น เมื่อคนแปลกหน้าทั้งคู่ เดินออกจากตึกคณะฯ ได้ประมาณ ๑๐ เมตร ผู้หญิงคนเดียวกัน ก็หันหน้ายื่นนิ้วกลางขึ้นมา พร้อมกับถอดรองเท้าแตะสะบัดใส่ แล้วก็เดินจากไป โดยวรเจตน์มองเห็นตัวหนังสือสีส้ม บนเสื้อสีดำด้านหลัง อย่างชัดเจนว่า "พสกนิกรผู้จงรักภักดี"

หลังเหตุการณ์นี้ วรเจตน์กับผมเห็นพ้องกันว่า ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนใหญ่ คงไม่เป็นอย่างนี้หรอกครับ

4) ส่วนที่อาจารย์ว่าเรื่องนายกรัฐมนตรีหมอบกราบในหลวงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม รักษาไว้ไม่เสียหายอะไรนั้น เท่าที่ผมอ่านปาฐกถาของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์หลายเรื่องยืนยันว่า รัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกพิธีหมอบคลานไปแล้ว การเข้าเฝ้าใช้วิธีโค้งคำนับ แต่พิธีหมอบคลานถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในยุคเผด็จการสฤษดิ์นี้เอง

อาจารย์สมภารกล่าวว่า
“พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่สอนว่าทุกคนเกิดมา เท่ากัน ชาติกำเนิดต่างกันไม่เป็นปัญหา เพราะชาติกำเนิดไม่ใช่สาระความเป็นคน สาระความเป็นคนอยู่ที่มีปัญญาฝึกฝนได้ ความเชื่อว่าคนเราเท่ากันหรือไม่เท่ากันนั้นในทางปรัชญาสำคัญมากนะครับ เราถือว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของระบบคิดในทางสังคมการเมืองที่มีอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย”
แต่อาจารย์กลับแสดงความเห็นเรื่อง “ไม่ยืนเคารพในหลวงที่โรงหนัง” ไว้ดังนี้
“การอ้างความเสมอภาคเพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ บางคนไปดูหนังไม่ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพในหลวง เพราะคนเราเท่ากัน ก็ไม่ว่ากันครับ จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่พวกเราที่เป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้ข้างในคนเราจะเท่ากันในความหมายของการที่จะถูกฝึกสอนให้ดีให้งามได้ แต่ข้างนอกเราก็ต้องมีวัฒนธรรม ผมแปลกใจอยู่หน่อยหนึ่งคือ คนที่ไม่ลุกในโรงหนังนั้น เขาก็น่าจะเคยไหว้ใครอยู่บ้าง เช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาเคารพ คนเราหากถือเคร่งในเรื่องที่เกิดมาเท่ากัน ที่สุดแล้วก็อาจเหมือนคนบ้า อย่าเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากขนาดนั้นเลยครับ สมมติว่าคนผู้นั้นไปบวช แล้วในหลวงเสด็จไปทอดกฐินที่วัดนั้น พระรูปนั้นลงมารับกฐิน ในหลวงก็ต้องไหว้ท่าน เห็นไหมครับ นี่คือวัฒนธรรม อย่าให้ความถือเคร่งเรื่องคนเราเท่ากัน ไปไกลเกินเลยขนาดนั้น เครียดเสียเปล่าๆ”

ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) การนับถือ ไม่นับถือใครเป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่หรือครับ ทำไมการอ้างความเสมอภาคในเรื่องสิทธิที่จะนับถือไม่นับถือใคร (รวมทั้งพระ และเจ้า) จึงเป็นเรื่องไร้สาระทางวิชาการ

2) ถ้าพุทธะสอนว่า “ข้างในของคนเท่ากัน” สิ่งที่ตามมาก็ควรจะเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมที่เคนเราเท่ากัน” ให้แสดงผลการปฏิบัติออกมาข้างนอก ดังระบบสังฆะที่เลิกระบบชนชั้นไป นี่หมายความว่าพุทธะเห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมที่คนเราเท่ากันเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้น การมีแบบแผนวัฒนธรรมรองรับสิทธิเท่าเทียมของทุกคนที่จะแสดงความเคารพหรือไม่ เคารพใครก็ได้ก็คือการทำความหมายของความเสมอภาคให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ หรือเป็นวิถีชีวิตจริงๆ โดยวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่นั้น การไปแสวงหาความบันเทิงในโรงหนังก็ไม่ควรจะมีกฎข้อบังคับให้ใครต้องทำความ เคารพบุคคลใดเป็นพิเศษไม่ใช่หรือ

3) ถึงแม้คนที่ไม่ยืนในโรงหนัง เขาจะเคยไหว้อาจารย์ และฯลฯ แต่เขาก็ทำด้วยความสมัครใจ มีเสรีภาพ ไม่มีใครบังคับเขา ไม่มีกฎหมายให้ใครคอยแจ้งความเอาผิดเมื่อเขาไม่อยากทำ

4) ทำไมจึงมองเพียงว่าคนที่ไม่ยืนในโรงหนังเป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิตขนาด นั้นล่ะครับ คิดว่าการกระทำของเขาเป็น “เรื่องส่วนตัว” ล้วนๆ เลยหรือครับ คำถามคือ การกระทำของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังต่างอย่างไรกับการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหา ของระบบวรรณะ ทำไมอาจารย์สรรเสริญการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหาของระบบวรรณะ แต่เห็นการกระทำในความหมายคล้ายกัน (ชี้ให้เห็นปัญหาวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียม-แม้แต่การไม่ยืนเคารพก็ต้อง ถูกกล่าวหาในทางกฎหมาย) ของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังไปในทำนองว่า “อาจเหมือนคนบ้า” เพราะเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากเกินไป เครียดเปล่า ๆ ตกลงการกระทำอะไรที่มี “เนื้อหา” คล้ายกัน มันไม่มีค่าเป็นความดีเหมือนกันหรือ
(บางคนบอกว่า คนที่มองการ “ไม่ยืน” เป็นปัญหา คอยสอดส่องจับผิด น่าจะเป็นพวกจริงจังกับชีวิตจนเกินไปมากกว่า ช่างไม่รู้จักปล่อยวางเรื่องของคนอื่นๆ บ้างเบย)

บทสรุป
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงต้องการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอส่วนใหญ่ของอาจารย์สมภารในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นไปใน ทางอยากให้แต่ละฝ่ายเปิดใจรับฟังและเข้าใจเหตุผลของกันและกัน เพื่อในที่สุดแล้วจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์ มีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น โดยไม่ต้องเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีก ซึ่งผมขออนุโมทนาในเจตนารมณ์อันดีนี้

อธิบดีศาลอาญากรุงเทพฯใต้ แถลงย้ำหลักฐานไม่ชัดใครยิงฟาบิโอ

ที่มา ประชาไท


ศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงไม่ฟันธงใครยิงผู้สื่อข่าวอิตาลี เหตุหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง ขออย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ในขณะที่ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิด
 
31 พ.ค. 56 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงชี้แจงถึงการแถลงข่าวที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของ นายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำสั่งของศาลไม่ชัดเจน และไม่ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง นายฟาบิโอ และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อีกว่ามีคลิปวิดีโอ ที่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง นายฟาบิโอ มายื่นต่อศาล แต่ศาลไม่รับไว้พิจารณานั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า ศาลมีการไต่สวน และพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ซึ่งในการไต่สวนไม่มีพยานปากใดที่เห็นว่าใครเป็นผู้ยิง มีแต่พยานที่เห็นภาพรวมในเหตุการณ์ทั่วไปเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม นายอุดม กล่าวด้วยว่า การพิจารณาคดีของศาลนั้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ได้มีการนำความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสินคดี ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น ยังไม่ถึงกับต้องฟ้องร้องหรือดำเนินคดีข้อหาละเมิดศาล หรือทำหนังสือไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่ต้องการออกมาแถลงชี้แจง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงคำสั่งศาลเท่านั้น
 
ในขณะที่วันนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คัดค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โดยระบุว่าต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน และยุติการให้นิรโทษกรรม 
 
"ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต้องถูกระบุตัวให้ชัดเจนและนำเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรม เพื่อที่ไม่ให้การเสียชีวิตของนักข่าวผู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยอุบัติเหตุหรือไม่ก็ตาม เป็นไปอย่างไม่ได้รับการลงโทษ" ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าว
 

สภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบ 57 แล้ว ปชป.โวยถูกหั่นโควตาแปรญัตติ

ที่มา ประชาไท


สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการใน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว ด้วยเสียง 292 เสียง กำหนดแปรญัตติ 30 วัน ปชป.โวยสภาหั่นโควตา กมธ.แปรญัตติ อัด ส.ส.ภูมิใจไทยข้ามห้วยนั่ง กมธ.เพื่อไทย จ่อยื่นศาล รธน.ตีความ
 
 
31 พ.ค. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว ด้วยเสียง 292 เสียง กำหนดแปรญัตติ 30 วัน
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 หลังการอภิปรายอย่างเข้มข้นกว่า 2 วันครึ่ง ด้วยคะแนน 292 ไม่เห็นด้วย 155 งดออกเสียง 27 ไม่ลงคะแนน 4 จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 478 คน พร้อมตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 63 คน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีจำนวน 15 คน ส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 25 คน ประชาธิปัตย์ 15 คน ภูมิใจไทย 3 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน พลังชล 1 คน และพรรครักประเทศไทย พรรครักสันติ พรรคมาตุภูมิ พรรคมหาชน และประชาธิปไตยใหม่รวม 1 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ เป็นเวลา 30 วัน ประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่ 3 มิ.ย. 56
 
อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีการถกเถียงกรณี นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย  และก่อนเสร็จสิ้นการประชุม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556
 
ปชป.โวยสภาหั่นโควตา กมธ.แปรญัตติงบปี 57
 
วันเดียวกันนี้ (31 พ.ค.) เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงาน ว่าเวลา 14.30 น.ที่รัฐสภา นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สส.สมุทรสงคราม และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงตอบโต้การทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ภายหลังการประชุมสภามีการลดจำนวนคณะกรรมาธิการในโควตาสัดส่วนพรรคประชา ธิปัตย์ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ  
 
นายบุญยอด กล่าวว่า หากเทียบสัดส่วน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ในปีงบประมาณ 2556 พรรคมี ส.ส. 159 คนได้สัดส่วนโควตาในคณะกรรมาธิการ 16 คน แต่ปีนี้พรรคมี ส.ส.เพิ่มมากขึ้นเป็น 160 คน แต่กลับได้สัดส่วนกรรมาธิการลดลงเหลือเพียง 15 คน เมื่อสอบถามไปยังนายวิสุทธิ์กลับยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยร่วมกันเเล้วให้สัดส่วนที่ปรับลดของพรรคประชาธิปัตย์ลง 1 คนไปให้กับพรรคเล็ก โดย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สส.รักสันติ เป็นกรรมาธิการในส่วนพรรคเล็ก
 
นายบุญยอด กล่าวต่อว่า สัดส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยจำนวน 25 คนที่ได้เสนอชื่อนางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน แต่กลับได้ที่นั่งในโควตาของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลนั้น ถึงแม้ให้เหตุผลว่าเป็นการตกลงส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย แต่การนั่งคณะกรรมาธิการข้ามพรรคเช่นนี้เท่ากับลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการ เมือง และเดิมมีข้อครหาว่า ส.ส.ขายตัวข้ามพรรคอยู่แล้ว เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า นางนันทนาต้องย้ายพรรคไปสังกัดพรรคเพื่อไทยแน่นอน  แต่ขณะนี้ยังเป็นฝ่ายค้าน หากต้องการนั่งคณะกรรมาธิการโควตารัฐบาล ควรลาออกจากพรรคภูมิใจไทยก่อน         
 
ขณะที่ น.ส.รังสิมา กล่าวยืนยันว่า การเสนอชื่อของ ส.ส.ข้ามพรรคเพื่อเป็นคณะกรรมาธิการผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 83 ที่ระบุว่าสัดส่วนของกรรมาธิการแต่ละพรรคต้องเสนอรายชื่อกรรมาธิการในส่วน ของพรรคที่ตนเองสังกัด ไม่ใช่เสนอข้ามพรรค ถือเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 135 ทั้งนี้จะมีการหารือกับฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยต่อไป และหากผิดจริงขอท้าให้นายวิสุทธิ์ที่กล่าวในที่ประชุมว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ ให้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ และต้องรับผิดชอบผลพวงที่จะตามมาจากากรใช้กฎหมายงบประมาณปี 57 ด้วย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: วิทยุรัฐสภา, โพสต์ทูเดย์

พิเศษ..ล้านคำบรรยาย การ์ตูนเซีย 05/12/54 ฝ่ายหนึ่งทำให้กลัว...ฝ่ายหนึ่งเริงร่า...

ที่มา blablabla



*ส่งสาร์นนี้แทนใจ ให้พี่เซียหายไวๆ นะครับ♥♥♥

เพราะพวกแก๊งค์ จัญไร ไร้มาตรฐาน
สร้างสามานย์ เกินมนุษย์ สุดแหลกเหลว
ใช้อคติ สุดระยำ เกินคำ"เลว"
ฉุดยุติธรรม ดิ่งเหว สุดเลวทราม....

บีบฝ่ายหนึ่ง ให้กลัว กดหัวมิด
ถูกเป็นผิด ตอกย้ำ คำเหยียดหยาม
แล้วป้ายสี ให้สับสน คนคล้อยตาม
ต่างประณาม ก่นด่า ว่าเอนเอียง....

อีกฝ่ายหนึ่ง สุดเริงร่า พาสุขสันต์
ผิดมหันต์ เพียงใด ไม่ส่งเสียง
โอบอุ้มสม กันอยู่ เป็นคู่เคียง
ส่งสำเนียง เย้ยหยัน..มันเส้นใคร?....

ยึดทำเนียบ สนามบิน คงดิ้นหลุด
ซ่าส์ไม่หยุด อาจมีฮึด เข้ายึดใหม่
เขาเด็กเส้น ใครก็รู้ อยู่แก่ใจ
สุดยิ่งใหญ่ ช่ำชอง แก๊งค์ครองเมือง....

มันจะยึด ทำอะไร ก็ไม่ผิด
พวกมีสิทธิ์ จิตอัปรีย์ ผีตอง "เหลือง"
สุดสรรหา คำถากถาง สร้างขุ่นเคือง
กี่ร้อยเรื่อง ดูเอาเถิด...เกิดจากใคร?....

๓ บลา / ๕ ธ.ค.๕๔

ชำนาญ จันทร์เรือง: สถานภาพการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของ ชัช ชลวร

ที่มา Thai E-News

 โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

หนึ่งในปัญหาที่ถาโถมใส่ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันนอกเหนือจากความขัดแย้งใน อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภาแล้วก็คือสถานภาพของนายชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ และที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติคัดเลือกประธานฯคนใหม่โดยใช้วิธี สลับตำแหน่งกับนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ แล้วเสนอโปรดเกล้าฯ ซึ่งในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายชัชพ้นจากการเป็นประธานฯและแต่งตั้ง ให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานฯแทน

ประเด็นของความสงสัยจึงเกิดขึ้นและนำมาซึ่งการถกเถียงว่าสถานภาพของนายชัช ว่ายังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ เพราะนายชัชดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระแต่มีการสลับตำแหน่ง ซึ่งไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญก็คือหนังสือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปยังวุฒิสภาเพื่อโปรดเกล้า ๒ อย่าง คือ โปรดเกล้าฯให้พ้นจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ และให้โปรดเกล้าฯเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เห็นว่า   ศาลรัฐธรรมนูญก็เล็งเห็นปัญหาอยู่ว่าการดำเนินการเรื่องนายขัชต้องดำเนินการ ๒ อย่าง แต่ในที่สุดทรงโปรดเกล้าฯให้นายชัชพ้นจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่า นั้น แต่ไม่ได้ระบุว่าโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่าง ใด(ที่มา: มติชนรายวัน,๑๐ พ.ค.๒๕๕๖,หน้า ๒)

ประเด็นข้อถกเถียง

แนวความคิดเห็นแรก เห็นว่าการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่ง ตั้งนายชัชเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี ๒๕๕๑ นั้นเป็นการทำให้นายชัชเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันแล้ว(มีสองสถานะแยกกัน – two in one) จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการโปรดเกล้าใหม่อีก กอปรกับเมื่อวุฒิสภาได้คัดเลือกได้ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๙ คนแล้ว ๙ คนนั้นเองก็ได้ประชุมกันเองก็ได้คัดเลือกให้หนึ่งในนั้นเป็นประธานฯแล้ว

แนวความคิดเห็นที่สอง เห็นว่าการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายชัชเมื่อ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งหมายความรวมถึงสถานะ การเป็นตุลาการไปด้วย โดยไม่ได้ระบุให้นายชัชเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก(มีสถานะเดียวคือ เป็นประธานฯซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตุลาการด้วย- one in two) เพราะฉะนั้นเมื่อต่อมามีการขอสลับตำแหน่งและขอลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐ ธรรมนูญเพื่อไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พ้นจากประธานศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายชัชเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก นายชัชจึงต้องพ้นจากทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย ไม่สามารถอนุมานหรือตีขลุมได้ว่านายชัชยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ดังนั้น จึงถือว่านายชัชพ้นจากสถานะการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ข้อกฎหมาย

๑) รัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๐๔ วรรคสาม บัญญัติว่า “ให้ผู้ได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ”
๒)รัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๐๔ วรรคสี่ บัญญัติว่า “ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐ ธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
๓)รัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๐๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
 ฯลฯ
(๓)ลาออก
ฯลฯ”

ข้อวินิจฉัย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีนี้สถานภาพของนายชัชได้สิ้นสุดสถานภาพการเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายชัชนั้นได้สิ้นลงแล้ว แม้ว่าจะมีบางความเห็นโต้แย้งว่ากรณีนี้เทียบได้กับกรณีของการแต่งตั้ง ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งผมเห็นว่าไม่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ เนื่องเพราะในขณะที่นายชัชได้รับการคัดเลือกระหว่างผู้ที่ผ่านการเห็นชอบจาก วุฒิสภาเพื่อให้เสนอชื่อเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น สถานภาพของทั้ง ๙ คน ยังไม่ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์เพราะทั้ง ๙ คน ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งฯแต่อย่างใด

อีกทั้งมาตรา ๙๘ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ได้บัญญัติว่าเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครอง สูงสุดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯเป็นอันพ้นหน้าที่ และให้ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดด้วยกันเอง เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดหนึ่งคน รองประธานศาลปกครองสูงสุดสองคน และตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดสี่คนฯลฯ

กอปรกับการพ้นตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้นรัฐธรรมนูญมิได้ระบุไว้เป็น การเฉพาะแต่ระบุไว้รวมกับเงื่อนไขของการพ้นตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เมื่อนายชัชยื่นลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการพ้นจากตำแหน่ง จากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้ามองตามข้อวินิจฉัยนี้จะเห็นได้ว่าการที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ สลับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญกับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายชัช ชลวรกับนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์นั้นมีปัญหาในความชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน

แล้วจะทำอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วมีปัญหาในเรื่องของความชอบด้วยกฎหมายของตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ แล้วมักจะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้วินิจฉัย แต่กรณีนี้ไม่สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วยเหตุของการเป็นผู้ มีส่วนได้เสียขององค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่ได้มีมติในการสลับ ตำแหน่ง ที่สำคัญก็คือไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้สามารถกระทำใน กรณีนี้ได้

ฉะนั้น ผู้ที่จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการวินิจฉัยหรือทำความชัดเจนในประเด็นข้อ โต้เถียงนี้ย่อมหนีไม่พ้นจากวุฒิสภาที่จะต้องทำหน้าที่นี้ เพราะประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๐๔ วรรคสี่ นั่นเอง

เมื่อวินิจฉัยแล้วก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตาม หากวุฒิสภามีคำวินิจฉัยตามแนวความเห็นที่หนึ่งก็เป็นอันว่าจบเรื่อง แต่หากวุฒิสภามีคำวินิจฉัยว่าการสลับตำแหน่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายคณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ หรือหากวุฒิสภาไม่ยอมทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยวุฒิสภาก็ย่อมจะต้องเป็นผู้ ที่จะต้องรับผิดชอบไปเต็มๆในฐานะที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแล้วทำให้ เกิดปัญหาขึ้น

ส่วนผลของการที่ไม่รับผิดชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือวุฒิสภาจะ เป็นอย่างไรนั้น ฝากไว้เป็นการบ้านให้ท่านผู้อ่านคิดเอาเองก็แล้วกันนะครับ

--------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖

จารุพรรณ นำทีมตัวแทน"สหภาพรัฐสภาโลก"เยือนไทย ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง

ที่มา go6tv


วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 (go6TV) -  ที่รัฐสภา นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่ มร.มาร์ค ทรอเวล ตัวแทนจากสหภาพรัฐสภาโลก หรือไอพียู เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าหารือกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงสถานการณ์ทางการเมือง และจะเข้าสังเกตการณ์และร่วมการรับฟังการพิจารณาคดีด้วย
นายพีรพันธุ์กล่าวว่า การเดินทางของ มร.มาร์ค นักกฎหมายของสหภาพรัฐสภาโลกครั้งนี้เป็นไปตามมติของการประชุมประเทศสมาชิกทั้ง 148 ประเทศ ที่ประเทศเอกวาดอร์ เมื่อเดือน ธันวาคม 2555 เนื่องจากสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และต้องการติดตามศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย
น.ส.จารุพรรณกล่าวว่า เราได้รายงานถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นให้กับตัวแทนจากไอพียูได้รับทราบ ซึ่ง มร.มาร์คกังวลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย หลังจากได้เดินทางเพื่อไปเข้าฟังการพิจารณาคดีกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ถูกฟ้องร้องในคดีก่อการร้ายที่ศาลอาญา ทั้งที่เป็นในลักษณะเปิดสามารถเข้าฟังได้ปกติ แต่เมื่อตัวแทนของไอพียูเดินทางไปเข้าร่วมรับฟัง กลับต้องถูกตรวจตรามากเป็นพิเศษ โดย มร.มาร์คถึงกับกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวคล้ายกับการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมรับฟัง แต่ก็จะเดินทางไปร่วมฟังการพิจาณาคดีอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเช่นกัน
น.ส.จารุพรรณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มร.มาร์คยังเน้นย้ำกับสภาไทยว่าขอให้ดูแลผู้แทนที่ได้รับการรับเลือกจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ เพราะการถอดถอนผู้แทนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับนายจตุพรนั้นง่ายดายเกินไป จึงขอความร่วมมือกับรัฐสภาไทยให้รายงานความคืบหน้ากรณีดังกล่าว และกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องตามมาตรา 68 แบบวันต่อวันด้วย
ส่วน นพ.เหวงกล่าวว่า การที่ มร.มาร์คเดินทางมาเยือนประเทศไทยนี้ ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงทางการเมืองของประเทศไทย เพราะเราก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก และไอพียูก็มีความสนใจในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร ซึ่งทางไอพียูก็ตั้งความหัวว่าต้องการสนทนากับตัวแทนของศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีดังกล่าว เพื่อขอทราบเหตุผลว่าใช้กฎหมายอะไรในการทำสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง เราจึงติดต่อไปยังนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่นายวสันต์กล่าวว่าไม่ให้เข้าพบ โดยให้เหตุผลว่า ไอพียูเป็นองค์กรทางนิติบัญญัติ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทางตุลาการ ไม่เกี่ยวข้องกัน

นพ.เหวงกล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้องไปยังนายวสันต์ให้ทบทวนการขอเข้าพบใหม่อีกครั้ง เพราะเชื่อว่าการพบปะพูดคุยจะสร้างความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประชาคมโลกได้ นอกจากนี้ มร.มาร์คยังเก็บข้อมูลการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกรัฐสภาด้วยว่า ทำไมอำนาจการแก้กฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ยังทำไม่ได้ และจะศึกษาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าทำไมถึงมีอำนาจหยุดยั้งการทำหน้าที่ดังกล่าวได้

แม่ค้าชาวสีลมไล่ "ม็อบหน้ากากขาว" เดินเกะกะปิดทางเข้าออก ขวางฟุตบาททำมาหากิน

ที่มา go6tv


วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 (go6TV) แก๊งหน้ากากไข่ขาวจอมป่วน บุกสีลมปิดทางเข้าออกดุสิตธานี-ธนาคารกรุงเทพ อ้างประชาชนตื่นแล้ว คนสีลมด่าระงมปิดทางเดินฟุตบาท

เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนหน้ากากขาวที่นัดรวมตัวกันในเฟสบุ้ค ได้ระดมคนจากท้องสนามหลวง ถอดป้ายผ้าที่แขวนไว้บริเวณม็อบสนามหลวงจำนวน 3 ผืน พร้อมป้ายกระดาษที่เตรียมไว้ ขึ้นรถกะบะจากสนามหลวงไปยังสีลมเพื่อจัดฉากประท้วงวุ่นวาย

เวลา 10.00 น. ทีมงานที่อยู่ในม็อบดังกล่าวได้รายงานเข้ามาว่า ได้เดินทางร่วมกับกลุ่มพันธมิตรจากสนามหลวง มาถึงหน้าโรงแรมดุสิตธานี  ได้ยืนก่อหวอดประท้วง ชูป้ายผ้า 2 ผืน และป้ายกระดาษบริเวณหน้าทางเข้าโรงแรมดุสิตธานีเพื่อให้แขกเหร่อในโรงแรมได้ ออกมาดู  ขณะเดียวกัน หน่วยรักษาความปลอดภัยและตำรวจได้รีบระดมพลมาดูแลรักษาความปลอดภัยกันอย่าง คึกคัก จนทำให้จำนวนตำรวจและรักษาความปลอดภัยมีมากกว่าผู้ชุมนุม

ตัวแทนผู้ชุมนุมได้กล่าวกับตำรวจว่าจะขอเดินบนถนนเข้าไปยังถนนสีลม แต่ตำรวจไม่อนุญาต และบอกว่า มากันแค่ 20-30 คนทำไมต้องเดินลงถนนทำให้รถติดขัด ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก ตัวแทนผู้ชุมนุมได้กล่าวว่า "เราเป็นประชาชน จะเดินตรงไหนก็ได้" จากนั้น ได้พากลุ่มเดินบนฟุตบาท เลียบไปกับถนนเลนแรก ไปถึงหน้าอาคารยูในเต็ด  หน่วยรักษาความปลอดภัยของอาคารได้รีบมายืนล้อมประตูไม่อนุญาตให้ม็อบดัง กล่าวเข้าไปในอาคาร  ระหว่างที่ยืนอยู่ มีผุ้ชุมนุมบางส่วนได้ขออนุญาตรักษาความปลอดภัยเข้าไปในอาคารเพื่อใช้ห้อง น้ำ

จากนั้นผู้ชุมนุมจึงเดินต่อไปยังอาคารซีพี ซึ่งก็มีตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยของอาคารมายืนกั้นและประกาศให้ พนักงานในอาคารระมัดระวังตัว ห้ามเดินเข้าไกล้กลุ่มผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด
จุดสุดท้ายคือธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตลอดระยะทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านทีมงานได้พยายามแจกเอกสาร "ทวงคืนแผ่นดินไทย ไล่ทุนสามานย์ รัฐบาลชาติชั่ว" ตลอดระยะทาง แต่ประชาชนชาวสีลมก็ไม่รับเอกสาร และทิ้งลงถังขยะ

พนักงานร้านอาหารหน้าซอยคอนแวนต์กล่าวว่า "ไม่รู้ว่าม็อบนี้จะมาทำไม ไม่มีเหตุไม่มีผล มายืนตะโกนแบบนี้ คนทั่วไปไม่กล้าเดินเข้ามานั่งกินข้าว เกะกะทางเข้าออกร้านค้า บางคนก็แต่งตัวสกปรกมอมแมม ไม่รู้ไปพาใครมาจากไหน ขอฝากให้ตำรวจช่วยดูแลให้เรียบร้อยด้วย"

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชานิยม เทรนด์การเมืองโลก

ที่มา Voice TV




สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย หรือ TDRI  จัดงานเสวนาในหัวข้อ "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง"
 
 
โดยมีวิทยากร คือ
 
- ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์  
- ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ  
- ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา  
- นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์   
 
 
โดยพวกเขาต่างมองว่า  ประชานิยมไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายทั้งหมด แต่เป็นเรื่องปกติในระบบการเมืองโลก  แต่ประชานิยมต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ   ต้องจำกัดวงเงินอย่างเหมาะสม และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง  
30 พฤษภาคม 2556 เวลา 18:01 น.

ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์ : ภาวะหลังสมัยใหม่ที่คนไทยไม่อยากเรียน

ที่มา ประชาไท


เกริ่นนำ

ที่ประเทศไทย ในสังคมจำลองอย่างระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ได้เกิดปรากฎการณ์ “หน้ากากกายฟอกซ์” (Guy Fawkes mask) ซึ่งเคลื่อนไหวมาจากกลุ่มที่สนับสนุนให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และแน่นอน ผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวเหล่านั้น คงได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา (V For Vendetta, 2005) เป็นส่วนใหญ่ และอาจรู้จักที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนน้อย ที่น่าสนใจ คือ “ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง” ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยความไม่ต่อเนื่องของระบบคิดที่ยืนอยู่บนรากฐานเดิมๆ ของโลกทัศน์เก่า กำลังเปิดเผยให้เราเห็นพรมแดนของการปะทะกันของโลกสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ โดยที่ “ความไม่ต่อเนื่อง” (Discontinuity) อันเป็นตัวแทนของโลกหลังสมัยใหม่ กำลังบ่งบอกเราว่า “ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง” ของวาทกรรมทางการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) เท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ความสับสนภายในตนทางจิตวิทยา” ซึ่งแสดงออกให้เห็นจากพฤติกรรมไม่ต่อเนื่องที่ยากจะอำพรางอีกด้วย เพราะการผลิตซ้ำผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อสร้างปรากฏการณ์สำหรับผู้ที่ ไม่เข้าใจเรื่องการผลิตซ้ำแบบนักโฆษณาการตลาดมือทองแล้ว ก็จะเกิดภาวะที่จะยากควบคุมได้ ที่สุด การกระทำดังกล่าวย่อมกลายเป็นไม่สำเร็จตามความตั้งใจไป เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อจำกัดคือเรียกร้องให้มีการอธิบายอย่างหลัง สมัยใหม่ (Post-Modern Trend) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักคิดชาวไทยไม่คุ้นชิน กระนั้น การอธิบายแบบนี้ก็กลับลักลั่นย้อนแย้งในตัวเองอีก เพราะประเทศไทยมิได้ยอมรับเกี่ยวกับการคืนสิทธิความเท่าเทียมของมนุษย์ใน ประเทศนี้โดยการปฏิบัติ? แต่ก็นั่นแหละ “ความลักลั่นย้อนแย้ง เป็นงานของหลังสมัยใหม่โดยตรง”

เนื้อหา

1. การผลิตซ้ำเป็นคำสำคัญของศตวรรษที่ 21
ใน ภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จงใจแสดงให้เห็น “การผลิตซ้ำ” ของรัฐบาลเผด็จการ ในระดับที่เรียกว่า ครอบงำ ก็ว่าได้ ซึ่งการ “ผลิตซ้ำ” นี้มีผลโดยตรงต่อผู้บริโภคสื่อ หรือที่จะเรียกว่า ผู้เสพสัญญะ ก็ได้ บทพูดของท่านผู้นำในท้องเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจแห่งการกดบังคับอย่าง ชัดเจน เป็นต้นประโยคที่กล่าวว่า “Any unauthorized personnel, will be subject to arrest. This is for your protection.”(บุคคลที่ไม่ได้รับการอนุญาตจะถูกจับกุม เพื่อความปลอดภัยของคุณ) คำว่า “ความปลอดภัยของคุณ” เป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์ที่รักตัวกลัวตาย แน่นอนที่สุด จะมีมนุษย์ส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่จะฆ่าชีวิตมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งได้ด้วยคำๆนี้ นั่นเป็นตรรกะของโลกทัศน์เดิม “Disease-ridden degenerates. They had to go.” (ภัยร้ายของสังคมต้องหายไป) ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เรื่องนี้ถูกพิสูจน์กันในระดับประสบการณ์และปฏิบัติการเชิงนโยบายแล้วว่า “ไม่จริง” เป็นศิลปะแห่งการชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง เราไม่อาจกำจัดสิ่งที่เรียกว่าภัยร้ายนี้ได้อย่างสิ้นซาก และในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ แต่ที่สำเร็จคือการถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของ “พวกชาตินิยม” (Nationalism) เพราะการผลิตซ้ำแบบที่ว่า (ในภาพยนตร์เสนอให้เห็นว่าท่านผู้นำควบคุมสื่อและครอบงำประชาชนผ่านสื่อสาร มวลชนทุกรูปแบบ) ทำให้เกิด “ภาวะเกินจริง/เสมือนจริง” (Hyper-reality) กล่าวคือ ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่กำลังสื่ออยู่เป็นความจริงเอาเป็นว่าผลิตซ้ำให้มากพอจนเชื่อว่าจริงเป็นใช้ได้

2. ความจริงในโลกหลังใหม่ไม่ผูกขาดกับสัจธรรมหรือตัวแบบในอดีต
โบ ดริยาร์ด (Baudrillard) นักคิดหลังสมัยใหม่เสนอว่า ผู้คนในศตวรรษนี้ ตกอยู่ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ทางสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำ นั่นคือโลกของการจำลองและสร้างภาพใหม่ (Simulacra and Simulation) กล่าวคือ ทุกอย่างถูก “ผสมใหม่” (Re-mix) และไม่จำเป็นว่าต้องสอดคล้องตรงกันกับความจริง แต่เป็นเรื่องของความเชื่อว่าจริง และจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการผลิตซ้ำ จนสามารถสถาปนาความจริงใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเรื่องของกายฟอกซ์และภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จะย้อนแย้งกับการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมากเพียงไร แต่ถ้ามีการผลิตซ้ำที่มากพอ และการครอบงำที่เบ็ดเสร็จ ชุดความคิดนี้จะกลายเป็นความจริงใหม่ ถึงเราก็กล่าวหรือพิสูจน์ว่า เรื่องนี้ไม่จริงเมื่ออ้างหลักฐานจากต้นกำเนิดหรือจุดประสงค์ของการกำเนิด ก็ไม่อาจจะลบความจริงใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นได้ เว้นแต่จะตกลงใจกันลดทอนความสำคัญของวาทกรรมนี้ลง เรื่องนี้ ใช้กับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างใหม่ได้เช่นกัน เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่อะไรจริงหรือเท็จอีกแล้วในศตวรรษที่ 21 ประเด็นอยู่ที่เสพสัญญะมาอย่างไร? และอยากจะเชื่ออย่างไร? ฉะนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ (Modernity) แม้กระทั่งความคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) จึงขาดความต่อเนื่องไปโดยปริยายในศตวรรษที่ 21 เพราะความจริงเดิมถูกฉีกทึ้งและแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใครที่อ้างว่าเป็นความจริงแท้จึงน่าสงสัยมากในศตวรรษที่ 21 เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการพิสูจน์ดังกล่าว นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้

3.โฉมหน้าที่ถูกเปิดเผยของปีศาจในคราบนักบุญ
“That with devotion's visage and pious action, we do sugar o'er the devil himself.” (ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและความเคร่งศาสนา คือหน้ากากของปีศาจที่สร้างขึ้นในตน) ประโยคนี้ถูกใช้(ผลิตซ้ำ) ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตาด้วย แต่เป็นประโยคที่ยืมมาจาก แฮมเล็ต ของ เช็กสเปียร์ (Hamlet III,I) ซึ่งตัวเอกของเรื่อง กลับใส่หน้ากากเสียเอง ทั้งยังพูดติดตลกว่า “I'm merely remarking upon the paradox of asking a masked man who he is.” (ไม่ย้อนแย้งหรือที่จะมาถามว่าคนใส่หน้ากากอย่างผมคือใคร?) บทสนทนานี้สะท้อนให้เห็นว่า เรามักสงสัยคนที่ปกปิดตัวเองเสมอ แต่ไม่สงสัยการปกปิดความชั่วร้ายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแนบเนียน ซึ่งความชั่วร้ายนั่นอาจมีผลกับเราเสียด้วย เรื่อง “หน้ากาก” (Mask) นี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จในศตวรรษนี้ได้ดี เพราะถ้าผ่านการผลิตซ้ำด้วยสื่อแล้ว อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เราจะหาความจริงได้อย่างไร? ถึงแม้จะไม่ง่ายนักแต่เราอาจทำได้จากการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) หรือไม่ก็รื้อดูที่มาที่ไปอันไม่ต่อเนื่องของระบบคิดตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งวิธีการแบบสมัยใหม่ไม่รองรับในเรื่องนี้ เนื่องจากยังเรียกร้องจารีต แบบแผน ความสม่ำเสมอ จึงมีข้อด้อยทำให้ไม่เท่าทันความคิดที่ผันแปร ในศตวรรษที่ 21 นี้เองด้วยท่าทีแบบช่างสงสัย (Skeptics) ก็ได้ช่วยเผยโฉมหน้าของปีศาจในคราบนักบุญไม่มากก็น้อย นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการยอมรับ แต่ในชีวิตจริงการเปิดเผยเช่นนี้กลับเป็นสงครามแห่งการสาดโคลนผ่านสื่อไป เสียอีก?

4.การเล่นคำของหลังสมัยใหม่: การติดตามความซับซ้อนของมนุษย์?
ข้อ วิจารณ์สำคัญประการหนึ่งที่นักคิดหลายคนมีต่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ คือ พฤติกรรมที่ราวกับเป็นการเล่นคำ ฟังแล้วไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก (ปลายเปิด) หรือเป็นลักษณะการตั้งคำถามซ้อน (ตอบคำถามด้วยคำถาม) หรือแม้แต่การยินดีและเบิกบานที่จะใช้ตรรกะวิบัติบางประเภทอย่างมีศิลปะ รวมถึงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วย นั่นทำให้การสื่อสารผ่านแนวคิดหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่ซับซ้อน (Complexity) หลายครั้งคลุมเครือ (Obscure) แต่ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงผลของความพยายามที่จะอธิบายสังคมหรือมนุษย์ที่มีการเปลี่ยน แปลงไปอย่างซับซ้อนเท่านั้น เพราะในเมื่อประวัติศาสตร์เริ่มให้เบาะแสกับเราว่า บางสิ่งก็เป็นเรื่องที่ประกอบสร้างและผลิตซ้ำขึ้นโดยรัฐเพื่อให้เกิดผลทาง จิตวิทยากับประชาชน และเรื่องนั้นห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงดังที่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ แบบนี้จึงทำให้การเสพสัญญะหรือข้อมูลสำเร็จรูปไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ทุกอย่างจึงมีบริบท (Context) ของมันเอง มีทิศทางและเจตนาที่แสดงออกผ่านประวัติศาสตร์ ซึ่งการถอดรื้อ-รื้อสร้าง (Re/Deconstruct) เป็นผลให้มีการนิยามหรือทบทวนความหมายเสียใหม่ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์และสังคมด้วยวิธีใหม่ๆ เป็นต้น การนิยามเรื่อง “ความเหนือจริง” (Hyper-reality)  ของโบดริยาร์ด นั่นเอง ตราบใดที่ยังมีระบบสังคมเงินเดือน มีผู้บริโภค มีสื่อสารมวลชน การบริโภคสัญญะย่อมเกิดขึ้นจริงวันยันค่ำ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเราไม่เปิดใจกับความซับซ้อนดังกล่าว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า รู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ? ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้อีกที่สร้างรูปแบบประโยคผ่านการเขียนบทได้อย่าง น่าสนใจ ทั้งคลุมเครือและซับซ้อน

5.พรมแดนที่บีบคั้นให้ต้องคิดด้วยตัวเอง
ภาพยนตร์ เรื่องวี ฟอร์ เวนเด็ตตา มีฉากสำคัญที่ “วี” สร้างเรื่องขึ้นเพื่อให้สอนอะไรบางอย่างให้กับ “อีวี่” กล่าวคือ “วี” เองก็ใช้เรื่องที่ประกอบสร้างขึ้นเพื่อสอนให้อีวี่ได้เข้าใจอะไรบางอย่าง ซึ่งมิตินี้คู่ขนานกันไปกับภาพพจน์ของการประกอบสร้างเรื่องของรัฐบาลเผด็จ บาลเพื่อครอบงำประชาชน ทั้งสองพฤติการณ์ล้วนเป็น “การประกอบสร้างขึ้น” ทั้งสิ้น หากแต่ ต่างเป้าหมายกัน โดยอ้างถึงคำกล่าวที่ว่า “that artists use lies to tell the truth.”(ศิลปินใช้เรื่องโกหกเพื่อบอกความจริง) และ “Because you believed it, you found something true about yourself.” (เพราะคุณเชื่อเรื่องโกหกนั่น ที่สุด คุณพบความจริงภายในตัวคุณ) ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ “จริงหรือเท็จ” อีกต่อไป หากแต่อยู่ที่ “ความจริงภายในตัว” ซึ่งถ้าเราคล้อยตามความคิดที่ว่า เป็นการยากมากที่เราจะรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จในโลกแห่งการผลิตซ้ำ สิ่งเดียวที่เราจะรู้ได้ชัดเจนคือความจริงภายในตัวเรา และภาพยนตร์ได้สะท้อนความกราดเกรี้ยวของอีวี่เป็นตัวแทนจิตใจของมนุษย์ทุกคน ได้เป็นอย่างดี เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนนี้คือ “คิดด้วยตัวเอง” (จากห้องขัง) และ “สงบนิ่งไม่หวาดกลัว” ดังที “วี” บอกไว้ว่า “Beneath this mask there is an idea, and ideas are bulletproof.”(ภายใต้หน้ากากมีความคิด และหลายๆ ความคิดกันกระสุนได้) ประเด็นในภาพยนตร์ คือ เพื่อที่จะคิดเองได้นั้น (เสรีภาพ) จำเป็นต้องผ่านการตระหนักรู้ว่าเราเป็นผู้ถูกคุมขัง เป็นผู้ถูกกระทำ จนก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย จนรู้ว่าอะไรจำเป็นกับชีวิตของเราที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงกันเลียนแบบกันหรือเอาการตัดสินใจของคนหมู่มากมาเป็นที่ตั้ง เท่านั้น

6.ภาวะย้อนแย้งของระบบคิด ความเกรี้ยวกราด และเรื่องโกหก?
ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ทำให้ข้อมูลกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และบางครั้งขาดบริบท (Context) ที่ควรจะเป็นไปโดยปริยาย ในทางปฏิบัติใครสักคนสามารถใช้เมาส์คัดลอกคำพูดเพียงประโยคเดียวของใครคน หนึ่งและนำไปตีความในทางไม่สร้างสรรค์ได้มากมาย รวมถึงการผลิตซ้ำเพื่อสื่อสารการตีความดังกล่าว ซึ่งในระบบเดียวกันนี้เอง จึงทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดอย่างสูงมากและเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีผล ทางจิตวิทยากับผู้ที่เสพสัญญะเหล่านั้น แน่นอนที่สุด ไม่ต่างอะไรจากการไฮด์ปาร์คเพื่อปลุกระดมประชาชนผู้กำลังอยู่ในความรู้สึก ที่สับสน ให้ก่อเหตุรุนแรง ความกราดเกรี้ยวดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความไม่สำเร็จของเป้าหมาย ตามที่คิด และความยึดมั่นอยู่กับเรื่องโกหกหรือเรื่องจริงก็ทำบดบังปัญญาของผู้เสพ สัญญะจาก “การคิดด้วยตัวเอง” เพราะที่จริง ลึกๆแล้วอาจเป็นไปได้ว่า ผู้เคลื่อนไหวมีความสับสนในตนเองอยู่ลึกๆ ว่า การแสดงออกหรือสื่อสารไปอย่างง่ายดายในที่สาธารณะนั้น เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมสังคม หรือเพื่อบอกต่อสังคมว่า ฉันยังอยู่ตรงนี้ โปรดสนใจฉัน? หรือไม่ก็เป็นเพียงแต่การร่วมกระแสในฐานะผู้บริโภคสัญญะคนหนึ่งเท่านั้น (เพื่อให้สังคมมองตนเองในทางที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทางที่จริง)

7.เสรีภาพในศตวรรษที่ 21 ย่อมซับซ้อนกว่านิยามในศตวรรษที่ 17
ทั้ง ที่ผู้บริโภคกระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและรับบริการที่ สะดวกสบายขึ้น ในขณะเดียวกันความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องสิทธิเสรีภาพยังจำกัดวงอยู่แต่ในศตวรรษอดีต ด้วยเหตุที่ไม่ติดตามและจะติดตามในฐานะ “ลูกศิษย์ของสาขาวิชา” (Disciple of Discipline) เท่านั้น ซึ่งสำหรับหลังสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็น เนื่องจาก ความรู้สามารถเรียบเรียงและสื่อสารออกมาแบบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ โครงสร้างไม่จำเป็นต้องเป็นโครงสร้างระดับมหึมาอีกต่อไป แต่เป็นอิสระต่อกันในระดับท้องถิ่นหรือหน่วยที่ย่อยไปกว่านั้นได้ แต่ในเชิงปรัชญาแล้ว ถ้าเรายังรู้จักแต่แนวคิดซึ่งอาจเหมาะสมมากๆ กับบริบทของศตวรรษนั้น แต่มีบางอย่างไม่เหมาะสมแล้วกับศตวรรษนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดดังกล่าว เพราะที่จริง วิธีการแก้ไขปัญหาที่นิยมมากหรือมักนำมาใช้เป็นตัวแบบในปัจจุบัน คือ การบูรณาการศาสตร์ ซึ่งควรจะเป็นการสร้างสรรค์การตั้งคำถามและตอบด้วยวิธีวิทยาที่จะเป็น ประโยชน์ต่อผู้ศึกษามากที่สุด ฉะนั้น เราคงหยุดอยู่ที่ ฮอบส์ (Hobbes) แล้วปวารณาตนเป็นศิษย์ของเขาแต่เพียงผู้เดียวก็คงไม่เหมาะ แม้กระทั่งจะมาหยุดที่ ฟูโกต์ (Foucault) และทำแบบเดียวกันนั้นก็คงไม่เหมาะ เพราะเป้าหมายคือการผลิตตัวแบบที่ใช้แก้ปัญหาสำหรับศตวรรษนี้ ในบริบทที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงที่สูงในสัดส่วนเดียวกันกับเทคโนโลยี นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ตัวแบบที่หนาแน่นด้วยความคิดแบบเก่า-ผูกขาดอำนาจหรืออนุรักษ์นิยมนับวันยิ่ง บังคับใช้ไม่สำเร็จในสากลโลก เป็นต้น รัฐประหารในประเทศไทย ระบอบเผด็จการทหารของพม่า หรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ที่จริงแม้กระทั่ง การสร้างเรื่องเสมือนจริงของอเมริกาด้วย อาจกล่าวได้ว่า วิธีเดิมๆใช้แก้ปัญหาไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป
สรุป
ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์สะท้อนให้เห็นความผิด ปกติเกี่ยวกับการผลิตซ้ำของชาวไทย ซึ่งเป็นร่องรอยของความไม่รอบคอบด้านข้อมูลจนทำให้เกิดความลักลั่นย้อนแย้ง มีบางสถิติซึ่งชาวไทยเป็นผู้ครอบครองเป็นต้น จำนวนประชากรชาวไทยผู้ใช้เฟซบุ๊ก นั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพในการผลิตซ้ำ บิดเบือนความหมาย และการแสดงให้เห็นถึงภาวะขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนของเทคโนโลยีอีกด้วย (ดังที่เป็นมาโดยตลอดในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยี มิใช่ผู้ประกอบสร้างเทคโนโลยี) นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงถูกกดบังคับด้วยทุนจากผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ตนเองเลยว่ากำลังถูกกดบังคับอยู่ นั่นเพราะสายตาของเราเสพอยู่กับแต่สัญญะภายนอก และล่องลอยไปตามกระแสที่ตอบสนองปัจจัยทางจิตวิทยาของตนเอง โดยที่ไม่เคยผ่านกระบวนแบบ “อีวี่” ซึ่งจะนำไปสู่การถูกบีบบังคับให้คิดด้วยตนเอง เช่นนั้นเราก็ไม่ควรพูดถึงเสรีภาพ และเช่นนั้นก็ไม่ควรพูดว่าได้ดูและเข้าใจภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จนนำมาเป็นสัญลักษณ์จะดีกว่า

              
การอ้างอิง
http://www.thaisubtitle.com/manage/view_subtitle.php?mid=2691&start=1
http://en.wikiquote.org/wiki/V_for_Vendetta_(film)

เมื่อ 4 เสือวิเคราะห์ประชานิยมไทย นิธิ-อัมมาร-เกษียร-สมเกียรติ

ที่มา ประชาไท



(30 พ.ค.56) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” วิทยาการประกอบด้วย  นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook เนื้อหาการเสวนามีดังนี้

ลักษณะสำคัญของประชานิยม

นิธิ เอียวศรีวงศ์  เริ่มต้นนิยาม “ประชานิยม” ซึ่งที่ใช้อยู่นั้นคับแคบเกินไป ประชานิยมเป็นสิ่งเก่าแก่ตั้งแต่กรีก ลักษณะสำคัญคือ 1.เอาใจประชาชน ระดับล่าง การเอาใจนั้นเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงก็ได้ ยึดอำนาจก็ได้ คนชุมนุมปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็ประชานิยมชัดๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดในคอนเซ็ปท์นี้ ดังนั้นจะใช้มันในทางขวา ซ้าย ประชาธิปไตยได้หมด 2.เป็นการกระจายทรัพยากรถึงประชาชนในรูปใดก็ได้ แจกแปรงสีฟันก็ได้ ทำกองทุนหมู่บ้านก็ได้ 3.มีลักษณะชาตินิยม เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนเข้าร่วมได้ง่าย หรือจะเน้นประชาคมพลเมืองก็ได้ 4.มีในทุกสังคม และมีตลอดมา ต้องเข้าใจในลักษณะนี้เท่านั้นถึงจะอธิบายได้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะ ใด

รัฐบาลบอกแต่ข้อดี ไม่บอกราคาต้นทุนนโยบาย

อัมมาร สยามวาลา กล่าว ว่า ที่ดูนั้นคือประชานิยมในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ ค่อนข้างเห็นด้วยกับประชานิยมในแง่การกระจายทรัพยากร แต่ที่เกิดในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น เสน่ห์ของประชานิยมไทยตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นเป็นประชานิยมในระดับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มันทำให้ประชาธิปไตยก้าวไปสู่จุดที่ดีขึ้น คือ รัฐบาลสัญญาอะไรกับประชาชน ได้รับเลือกตั้งมาก็ปฏิบัติตาม ซึ่งให้เกียรติกับทักษิณมาโดยตลอด เป็น accountability หรือความรับผิดชอบ แต่ที่ค้านมาโดยตลอดคือ รับผิดชอบครึ่งเดียว เพราะนโยบายทุกอย่าง มีคนได้ เขาจะพูดแต่ว่าใครได้อะไร แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสีย เพราะหน้าที่นักการเมืองต้องพยายามรวมเสียงได้เกินครึ่งอยู่แล้ว โอบามาก็ทำ เป็นตรรกะที่มาจากประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และเป็นผลดีด้วยหากมีการตรวจสอบ คานเสียงกันอย่างเต็มที่ บังเอิญสหรัฐอเมริกามีประเพณีปฏิบัติด้านการเมืองว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรบ้าง แต่ไทยไม่มีแบบนั้น เราต้องการทำให้รัฐบาลทำได้ทุกอย่าง
“มันไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทยที่ (ให้) มั่วไปหมดทุกอย่าง เขาทำเพราะเขาได้คะแนนเสียง ผมไม่บอกว่าเขาทำสุ่มสี่ทุ่มห้าเพราะเขาทำวิจัย แต่มันไม่ใช่แนวนโยบายที่ coherent สุดท้าย ที่ผมไม่ชอบประชานิยม อย่างที่เกิดขึ้นในไทย มันทำให้การเมืองถูกกลบ ใน sense ของ cheap ทุกคนคิดว่าฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลจะทำอะไรเพื่อสังคมโดยรวม”
“มันเป็นประเด็นว่า จะใช้ทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร ดีเบตนั้นไม่เคยเกิดขึ้น อย่างจำนำข้าว บางเวลาผมอาจเห็นด้วย แต่ผมคิดว่าระบบที่สร้างขึ้นมาในโครงการนี้เอื้อชาวนาระดับบน ระดับล่างได้อานิสงส์ และระดับบนจะช่วย organize เสียงอื่นๆ ให้รัฐบาลได้ เป็นแนวทางที่ชาญฉลาดพอสมควร สอง คุณกำลังเห็นใช่ไหมว่าเวลานี้ต้นทุนที่ตามมาทีหลัง ส่วนนี้รัฐบาลไม่ต้อง accountable ต้นทุนจะมากแค่ไหน ผลเสียจะตกกับใคร”
“ความรับผิดชอบต่อต้นทุน ผลเสียต่างๆ ของนโยบายไม่อยู่ในสัญญา ไม่อยู่ในส่วนที่รัฐบาล accountable มันทำให้รัฐบาลถูกลง การดีเบตบทบาทรัฐบาลในการทำประโยชน์สาธารณะไม่ไปไกลเท่าที่ควร และนโยบายประชานิยมมันกลบเกลื่อนเรื่องที่จะไปถึง มองแต่ว่าข้าจะได้อะไร มันทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปด้วย  และไม่มองรัฐบาลอย่างที่ควรจะมอง”

ระวังอคติในการประเมิน อะไรดี-ไม่ดี

นิธิ กล่าวว่า ผมไม่ได้คิดว่าการกระทำรัฐบาลดีทั้งหมด แต่มองว่านโยบายจำนำข้าวทำก็ได้ ถ้ามีการระบายข้าว โรงสีไม่โกง สอง อย่างที่ อ.อัมมารพูดนั้นพูดใหม่ว่า ตั้งใจให้ชาวนาจนได้ประโยชน์ และชาวนารวยเป็นผลพลอยได้ก็ได้ สาม เวลาพูดว่ารัฐบาลมันถูกลง (cheap) เรามีอคติบางอย่างอยู่ในใจ ถ้าประชาชนอยากได้รถคันแรก ราคาลดแสนหนึ่ง มึงคนไม่ค่อยดี อยากได้เขาพระวิหารคืน มึงคนดี เสื้อแดงอยากได้ความยุติธรรม ไม่รู้คืออะไร แต่ใกล้จะเป็นเทวดาแล้ว เพราะต้องการสิ่งที่สวยงาม เรื่องนี้ต้องระวังอคติเราเอง เพราะเรารวยแล้ว ถ้าเป็นวัตถุไม่ดี แต่ถ้าเป็นอุดมคติมันสวยงาม
อัมมาร กล่าวว่า ผมก็อยากให้เสื้อแดงได้สิ่งที่เขาต้องการ นั่นเป็นความต้องการจากรัฐ อาจเป็นความลำเอียงของผม แต่ผมให้ความหวังกับรัฐมาก เพราะเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ถ้าหากว่ารัฐบาลประชานิยมไหนๆ ก็ตามมีนโยบายชัดเจนว่าฉันจะพยายามเจาะจงไปที่คนยากจน คนด้อยโอกาส
"เราควรจะนึกถึงนโยบายรัฐบาลที่จะให้กับคน ที่อ่อนแอที่สุดในทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้ผลได้ต่อเขามากที่สุด และไม่สูญเสียไปให้กับคนที่ฐานะดีอยู่แล้ว อย่างนโยบายจำนำข้าวสร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่ powerful มากอยู่ในใจกลางรัฐบาล"

ยิ่งเฉพาะกลุ่ม ยิ่งเป็นประชานิยมด้อยคุณภาพ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ อ.นิธิ เรามุ่งทางเศรษฐกิจเยอะ เลยไม่ได้มุ่งเรื่องชาตินิยมหรือไม่ แต่เราอยากให้ความสนใจเป็นพิเศษกับด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่การเมือง
ผมคิดว่ามีมิติสำคัญที่ทำให้แตกต่างกับนโยบายทั่วไปที่พูดกันมา คือ มันไม่ได้มุ่งสร้างความสามารถของประชาชน ทั้งด้านการแข่งขัน การอยู่รอดในสังคม นโยบายจำนวนมากมีลักษณะเป็นนโยบายลด แลก แจก แถม  แม้รุ่นแรกๆ จะมีเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เราไม่เรียกประชานิยม เพราะเป็นความพยายามสร้างความสามารถประชาชนด้านสุขภาพ หรือโอท็อป ก็เป็นด้านการแข่งขัน แต่ช่วงหลังไม่มีสีสันแบบนี้ เช่น รถคันแรก เคยได้คุยกับวงใน เขาบอกว่านโยบายนี้เกิดขึ้นมาตอบสนองนักลงทุนญี่ปุ่นที่ประสบอุทกภัยในช่วง น้ำท่วมใหญ่ โดยคนซื้อรถคนไทยเป็นผลพลอยได้ อ.นิธิอาจพูดกลับกันได้ แต่ถ้าดูกระบวนการล็อบบี้ชัดว่ามาจากธุรกิจยานยนต์ข้ามชาติ
ประชานิยมในช่วงสอง (ยิ่งลักษณ์) เริ่มแบ่งเป็นแต่ละ segment และแต่ละกลุ่มก็มีผลประโยชน์ในแต่ละเรื่อง การแบ่งแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายประชานิยมช่วงหลังด้อยคุณภาพลง เรื่อยๆ

ปัญหาอยู่ที่ "การเมือง" ไม่ใช่ "นโยบาย"

เกษียร เตชะพีระ  กล่าว ว่า 1.นโยบายประชานิยมเป็นกระแสหลักของการเมืองทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย 2.ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบายประชานิยมแต่คือการเมืองแบบประชานิยม อำนาจนิยม  นโยบายที่ทีดีอาร์ไอพูดเป็นปัญหาเพราะมันเข้าไปอยู่ในการเมืองแบบอำนาจนิยม 3.คิดถึงทีดีอาร์ไอเลยเตรียมมา การเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ “ไม่มีน้ำยา” 4.ฝ่ายต่างๆ ต้อง repositioning ให้พ้นการเมืองเสื้อสี และการเมืองแบบประชานิยม

ขยายความ
1. ประชานิยมเป็นกระแสโลก มันเป็นเรื่องปกติ ระดับโลกเกิดขึ้นเป็นผลจากแพร่ขยายแนวทางเสรีนิยมใหม่ ท่าทีแบบประชานิยม ด้านหนึ่งเดินตามเสรีนิยมใหม่ที่แย่งชิงทรัพยากรจากส่วนรวม อีกด้านออกประชานิยมทำเพื่อให้คนตัวเล็กๆ สามารถอยู่ได้ แต่ในประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะของตัว ประชานิยมแบบนี้ทำมานานท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองหลุดจากมือชนชั้นนำหรืออำมาตย์ ไปสู่ผู้เลือกตั้งมากขึ้น ขยับจาก non-majoritarian institution ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องคมนตรี ไปอยู่กับประชาชนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีประชานิยม ผมไม่อยากให้มองว่าผู้เลือกตั้ง passive เพราะเขา active กว่านั้น อย่าคิดว่าไอ้เบื้อกคนหนึ่งคิดอยู่บนหอคอยแล้วโยนไป เผลอๆ อาจกลับกัน มันมี interaction มากกว่านั้น
2. ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบาย แต่คือการเมืองประชานิยม อำนาจนิยม จริงๆ นโยบายที่ผิดทางมีเยอะ ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ถ้ากระบวนการกำหนดนโยบายเปิดให้สังคม กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มีส่วนร่วม ปัญหาคือ การเมืองแบบประชานิยมที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่ปิดแคบ ไม่มี check and balance ไม่มี polarization  มองประชาชนเป็นก้อนเดียวกัน พวกคิดต่างเป็นเอเลี่ยน  ที่น่ากลัวคือ นิยามความบริสุทธิ์ของประชาชนคือ คนดี คนไม่ดี ระบบแบบนี้ไม่มีพื้นที่ให้ดีเบต ไม่ให้คนทะเลาะกัน  ถ้าจะแก้ปัญหาไม่ใช่ทะเลาะนโยบายแต่ละเรื่อง แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม ไม่อย่างนั้นเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ มาถกเถียงไม่ได้

ความผิดพลาดของการดูเบา "ที่มา" อำนาจ

เกษียรกล่าวต่อว่า 3. ทำไมผมถึงพูดแรง ว่าการเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ นั่นเพราะที่ผ่านมาเทคโนแครตละเลยปัญหาที่มาของอำนาจ  ขอแต่ใช้อำนาจให้ถูกหลักวิชาและเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นพอ ดูเบาปัญหาความชอบธรรมของอำนาจ ทีดีอาร์ไอดูเบาเรื่องนี้หลังจากเกิดรัฐประหาร ดังนั้น ถึงแม้ที่มาไม่ชอบธรรมแต่ถ้าเอาปัญญาทางวิชาการไปประกอบเพื่อผลักดันนโยบาย ได้ก็เอา ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่เวิร์ค คุณกลายเป็นผู้ที่ถูก disenfranchised ในวงการถกเถียงประชาธิปไตยได้ง่าย
ที่ตลกคือการเมืองเทคโนแครตกับการเมืองประชานิยม ใกล้กันกว่าที่คิด มีหลายอย่างแชร์กันได้ คือ หนึ่ง มี one solution ตามหลักวิชาหรือ ประชานิยมที่มองประชาชนเป็นก้อนเดียว เหล่านี้เป็นข้อถกเถียงทางการเมืองที่แคบ สอง ทั้งคู่ปฏิเสธความสามารถของประชาชนที่จะเป็นผู้กระทำการทางการเมือง ประชานิยมนำโดยผู้นำ แบบเทคโนแครตก็คิดว่าประชาชนอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ โง่ จน เจ็บ
“ทั้งสองแบบ denying political agent of the people ผมคิดว่าต้องมองพวกเขาใหม่ อย่ามองว่าการที่เขาโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์”

วางสถานะทางการเมืองใหม่ ห่างไกลเสื้อสี

เกษียร กล่าวต่อว่า 4.ดังนั้นถ้าจะแก้ ฝ่ายต่างๆ ต้อง repositioning ตัวเองทางการเมือง กล่าวคือ ไม่ได้คิดว่าการเมืองเสื้อสีจบพรุ่งนี้ แต่ยิ่งเราทำให้การถกเถียงเชิงเหตุผล ขยับออกจากเสื้อสีให้มาก เราจะเป็นคู่สนทนากับรัฐบาลได้ดีขึ้น อุปสรรคอย่างหนึ่งคือ การเมืองมันแยกมา 5-6 ปีแม้ระวังตัวยังไงเราก็โดนแขวนป้าย ถ้ายังอยู่ในกรอบแบบนี้ไม่มีทางสร้างฝ่ายค้านที่มีน้ำยาในระบบประชาธิปไตย ที่จะทัดทานพรรครัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งได้ พรรคประชาธิปัตย์ถูกตรึงและทับจมลงเรื่อยๆ  โหมดการต่อสู้หลักของประชาธิปัตย์ตอนนี้คือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ภาวะแบบนี้จำเป็นต้องมีพลังฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในสังคม พูดคุยแบบที่รัฐบาลต้องฟัง และบทสนทนาจะเริ่มได้บ้างต้องออกห่างจากการเมืองเสื้อสี

เทียบ 'ทักษิณ' กับ 'ชาเวซ' ตัวกลางเชื่ออำมาตย์-ประชาชน

นิธิ กล่าวว่า ผมอาจมีทัศนะต่อประชานิยมไม่เลวร้ายเท่า อ.เกษียร เราต้องเข้าใจประชานิยมให้ดี เพราะมันเป็นลักษณะเด่นในโลกแล้ว เฉพาะประเทศไทย มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ มันเกิดขึ้นในสังคมสองอย่างด้วยกันที่อยู่ด้วยกัน อันแรก สังคมที่ผลิตสินค้าและบริการขาย ไม่ใช่สังคมเกษตร อันที่สอง มีความเหลื่อมล้ำสูง เมื่อสองอย่างอยู่ด้วยกันจะเกิดประชานิยมแบบอันตราย ที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงประเพณี ในการกำหนดให้เราเกิดความมั่นคงสำหรับคนเล็กๆ หมดไปแล้ว ฉะนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 40 เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งในไทยค่อนข้างมั่นคง นักการเมืองที่ฉลาดและเข้ามาใหม่มองเห็นทันทีว่าต้องเล่นเรื่องประชานิยม
ประเด็นต่อมา มีข้อสังเกตว่า ไทยกับละตินอเมริกาคล้ายกันมาก ในละตินอเมริกากำลังเปลี่ยนจากเกษตรยังชีพมาเป็นสังคมผลิตสินค้าและบริการใน เวลาใกล้เคียงกับเรา เมื่อเกิดความจำเป็นที่กลุ่มชนชั้นนำไม่ยอมกระจายทรัพยากร ก็จะเกิดผู้นำกลุ่มประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ แม้อำมาตย์จะเกลียดชาเวซอย่างมากๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ชาเวซก็ไม่ทำให้เกิดการปฏิวัติชนชั้น เป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มอำมาตย์กับประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ทำให้การปฏิวัติทางชนชั้นยุติลง กลับมาคิดถึงทักษิณ ผมว่าแกทำอย่างเดียวกัน ถ้าอยู่ภายใต้การเมืองแบบเก่าวิธีดำเนินนโยบายแบบเก่า ผมคิดว่าความตึงเครียดของสังคมไทยจะสูงมากขึ้นกว่านี้
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ redistributive policy ของทักษิณ กระทบต่อผลประโยชน์ของอำมาตย์น้อย เป็นการนำเอาทรัพยากรกลางไปเอาใจคนชั้นล่าง แต่ลักษณะการใช้นโยบายนี้โดยไม่กระทบคนอื่นเป็นไปไม่ได้ มันขยายไปสู่การเข้ากระเป๋าคนอื่น ไม่ว่ารัฐบาลดีหรือเลวหนีไม่พ้นเหมือนๆ กัน นโยบายดีไม่ดียังเถียงกันได้ แต่มันหนีไม่พ้นที่จะเอามือล้วงกระเป๋าคนอื่นจนได้ เพราะทรัพยากรจำกัด
"ความแตกต่างสำคัญระหว่างทักษิณกับยิ่ง ลักษณ์ คือ มือเริ่มล้วงเข้ากระเป๋าคุณมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างพลังที่จะกำกับมือนั้นได้ดีขึ้น หรือสอนให้มือนั้นล้วงได้ถูกต้อง นำไปใช้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนดีขึ้น"
นโยบายประชานิยมเหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น ได้ ถ้าไล่ดูจะเห็นว่าเผด็จการมีช่วงของการใช้นโยบายลักษณะนี้หรือฝันว่าจะใช้ นโยบายกระจายทรัพยากร ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่เรื่องที่มา ความถูกต้อง ความชอบธรรมของอำนาจ เราจะเปิดโอกาสให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จได้

สปิริตเทคโนแครตยังมีประโยชน์-ทบทวนการร่วมงานคณะรัฐประหาร

อัมมาร กล่าวว่า ผมไม่มีข้อกังขาในหลายเรื่องที่ อ.เกษียร กับ อ.นิธิ พูด หลายนโยบายอย่าง 300 บาท เป็นนโยบายที่ผมก็เห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ข้อสังเกตอันหนึ่งของความไม่เอาไหนของระบบประชานิยมคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในร้อยประเทศที่ไม่มีดัชนีค่าจ้างแรงงาน ไม่มีใครแคร์ ถ้าขาดแคลนแรงงานก็เอาพม่ามา เขมรมา ตรงนี้ผมเป็นชาตินิยม เพราะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอในอดีตที่ผ่านมาอาจจะบกพร่องในการเปิดเวที แต่เราก็พยายามจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ
"เรายอมรับว่าทีดีอาร์ไอมีกลิ่นอาย เทคโนแครต เพราะผู้ก่อตั้งก็เป็นเทคโนแครต และภูมิใจที่เป็นเทคโนแครต มีจรรยาบรรณบางอย่างของเทคโนแครต แต่อย่างน้อยคนรุ่นต่อๆ มาเขาเข้าใจดีว่ายุคของเทคโนแครตมันหมดไปแล้ว แต่เราอยากให้มีบางส่วนของจิตวิญญาณนั้นมาแก้ปัญหาของประชานิยม ไม่ใช่จะลบล้างทั้งหมด"
ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาทผมเชียร์เต็มที่และจะเชียร์ต่อไป เป็นนโยบายที่ยั่งยืนที่ให้ประโยชน์กับคนจน  นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้รัฐทำ มีหน้าที่ดูแลสิ่งพื้นฐานของประชาชน ปล่อยเป็นเรื่องกลไกตลาดไม่ได้ แต่นโยบายประชานิยมกิมมิคใหม่ๆ ในยุคยิ่งลักษณ์นั้นมีต้นทุน และกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่นงบของประกันสุขภาพทั่วหน้าถูก freeze หรือปรับลดลงด้วยซ้ำในปีแรกเพราะน้ำท่วม

โดยส่วนตัว ผมอยากจะให้ประชาชนเห็นและเข้าใจว่าเราเห็นว่ามีปัญหาอะไร เราไม่ได้ค้านนโยบายทั้งหมด จริงๆ ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ให้เขาตัดสิน แต่ที่ผ่านมาประชาชนอาจเห็นภาพไม่หมด และไม่เห็นว่ามีทางเลือกอื่นใดที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ และอยากเห็นทีดีอาร์ไอปรับบทบาทว่า เราดูทุกนโยบายของรัฐบาล ปัญหาก็คือ คราวที่แล้วทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยมทั้งคู่ ระบบการเลือกตั้งของเรามีคะแนนเสียงหย่อนบัตร พอได้เสียงข้างมากก็มีอำนาจล้นฟ้า ที่ประชาธิปัตย์ไม่มีน้ำยา ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีน้ำยาจริงๆ อีกส่วนหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้ฝ่ายค้านมีน้ำยา
"แต่การ่วมมือกับรัฐบาลที่ได้มาจากการ ปฏิวัติ อย่างน้อยมีผมที่ร่วมกับ สนช. คงต้องทบทวน ยุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดแล้ว และมันสร้างพิษในระบบการเมืองของเราจนถึงทุกวันนี้ ผมหวังว่ามันค่อยๆ จางลงไปแล้ว"
นิธิ กล่าวว่า เราพูดถึงประชานิยม คล้ายๆ ว่าถ้าประชาชนเปล่งเสียงว่าต้องการอะไร แล้วนักการเมืองตอบสนองเป็นเรื่องดี แต่ความจริง การให้ประชาชนแสดงออกมันไม่ใช่ง่าย และแต่ละกลุ่มก็ขัดแย้งกัน ทีดีอาร์ไอก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงออกถึงความต้องการของประชาชนได้ ด้วย สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพต่างๆ ก็อ่อนแอมาก ประชานิยม ถ้าจะมีอันตราย ไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ก็เพราะมันขาดกระบวนการตรงนี้

เกษียร กล่าว ว่า ในห้าหกปีที่ผ่านมามีเรื่องให้ตัดสินใจเยอะ evil อันไหนใหญ่กว่า แต่การเรียนรู้ว่ามีผลกระทบอย่างไรแล้วเดินออกจากผลกระทบนั้นได้เร็วเป็น เรื่องที่ดี
ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิ การเมืองเป็นการเมืองมวลชนมากขึ้น นโยบาย redistributive มีมากขึ้นแน่  แต่ที่แน่ๆ ที่ทำกันอยู่ มันทิ้งปัญหาไว้จำนวนหนึ่ง และปิดกระบวนการในการมีส่วนร่วม ตลกมาก ที่พอรัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นก็เริ่มแสดงท่าแบบที่เคยทำก่อนรัฐประหาร บวกกับความจริงทีว่า การเมืองเสื้อสีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การถกเถียงเชิงนโยบายลำบาก ดังนั้นผมจึงคิดว่าต้องปรับโพสิชั่นตัวเองแล้วเป็นตัวแทนบทสนทนาที่หลาก หลาย  ผมเลยรู้สึกว่า ประชานิยมเป็นนโยบายกระจายทรัพยากรที่เฮงซวย เราน่าจะฝันถึงนโยบายกระจายทรัยากรที่ดีกว่านี้ น่าจะต้องสร้างบทสนทนาของประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ อันนี้ที่อยากเห็น การเมืองชนชั้นแบบประชาธิปไตย

ทีดีอาร์ไอต้องเป็นหน่วยวิชาการ ไม่ยุ่งระบบการเมือง

สมเกียรติ  กล่าวว่า ในวงการการเมือง มีพรรคการเมือง นักการเมือง แอคติวิสต์ นักวิชาการ ผมอยากเห็นนักวิชาการและทีดีอาร์ไอเป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นแอคติวิสต์ การที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง ไม่ควรเป็นเหตุให้สถาบันวิชาการทำหน้าที่แทนพรรคฝ่ายค้าน เรายังอยากจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเป็นชิ้นๆ มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมือง เพราะมันเสี่ยงและเลี่ยงได้ยากมากที่จะพัวพันกับเสื้อสีต่างๆ การวิจารณ์นโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนมันมีทั้งนโยบายที่ดีและไม่ดี เรายังอยากเป็นแบบที่เป็นอยู่ แต่แน่นอนว่า ต้องทำอย่างไรให้ไม่ตกยุค แต่การเปลี่ยนระบอบการเมือง สิ่งแวดล้อมทางการเองเป็นเรื่องใหญ่ ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าไปทำ ที่สำคัญ เรามีพื้นที่เล่นของนักวิชาการอยู่ เป็นเสียงเสียงหนึ่งสำหรับภาคประชาสังคม คนไม่มีปากมีเสียงในสังคม ในระบบประชาธิปไตยมีกลไกการตัดสินใจของมันอยู่แล้ว อาจมีปัญหาในบางมุม แต่เป็นระบบที่เลวร้ายน้อยที่สุด เราเคยคุยกันตอนที่มีนักวิจัยทีดีอาร์ไอไปนั่งอยู่ในรัฐบาลหนึ่ง เราสรุปว่าเราไม่ควรเดินในเส้นทางแบบนั้นอีก เราอยากเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่สมดุล และคุ้มครองคนเล็กๆ น้อยๆ เราจึงวิตกทุกข์ร้อนกับนโยบายประชานิยม ไม่ใช่เพราะเราเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่เห็นว่ามันจะวิ่งไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแน่นอน  ประชาชนไม่ใช่คนที่ passive รอพรรคเสนอ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รอบรู้ รู้เต็มที่แสดงออกได้อย่างถูกต้อง มันเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่พูดเรื่องต้นทุนนโยบาย เราจึงอยากมีส่วนช่วยให้ระบบสมบูรณ์มากขึ้น เราตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณรัฐบาล เพื่อให้รัฐสภามีข้อมูลดีขึ้น แต่มิได้หมายความว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเมือง
เกษียร กล่าวว่า เป็นจุดยืนที่น่านับถือ แต่ผมมองในภาพรวมแล้วคิดว่าปัญหาใหญ่ แล้วนโยบายประชานิยมที่มีปัญหามากน้อยต่างกันในแต่ละอันเป็นแค่เงาสะท้อนของ การเมืองประชานิยม แต่ผมก็เข้าใจบทบาทและภารกิจของทีดีอาร์ไอ แต่มันคงไม่เป็นพิษเป็นภัยถ้าจะได้ยินว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นโยงกับเรื่องที่ ใหญ่กว่า
ผมอยากให้กลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ กลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ทะเลาะกันเรื่องสีแล้วสร้างบทสนทนากับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งได้ เพราะสภาก็ไม่สามารถพูดแทนปัญหาจำนวนมากได้ หลุดไปเยอะ จะให้ประชาธิปไตย Healthy จำเป็นต้องการบทสนทนาที่แข็งแรงหลากหลาย

ถ้าจริงว่า ม็อบยึดโน่นนี่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าจริงว่าระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ก็ยิ่ง need บทสนทนาเหล่านั้น และถ้าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเลิกแนวทางการเมืองสุดโต่ง การเมืองนอกระบบ เลิกดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้อง ถ้าทำได้ก็มีโอกาสที่จะเริ่มเปิดความเป็นไปได้ใหม่ทางการเมือง

โจทย์ยังอยู่ ให้มวลชน reposition ไม่ง่าย

นิธิ กล่าวว่า "เห็น ด้วยเรื่อง repositioning แต่คิดอีกที แม่งยุ่งยาก (หัวเราะ) ผม reposition ทำได้ ทีดีอาร์ไอทำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจทำไม่ได้ แต่คนจำนวนมากทำไม่ได้ และน่าเห็นใจ ยกตัวอย่าง จำนวนมากของคนเสื้อแดง เขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกันกับธิดา เกษียร แต่เขาเห็นร่วมกันว่า อย่าเผลอนะเว้ย ไม่อย่างนั้นจะทหารยึดอำนาจ เขาจึงต้องเล่นสุดโต่งต่อ ความเป็นจริงมีคนอย่างพวกเราที่ reposition ได้ แต่คนจำนวนมากทำไม่ได้"

เสนอแก้ รธน. รัฐบาลต้องมีวินัยการคลัง

สมเกียรติ กล่าวว่า อาการน่ากลัวเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมือง ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งสู่ประชานิยม และจะเป็นกระแสต่อไป การที่เราจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่แข่งขันกันจนทำลายตัวเองและระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องกำหนดกติกาบางอยางที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ คือ แก้ให้มีวินัยการคลัง ตั้งแต่เกิดวิกฤต 40 จนปัจจุบัน ไทยขาดดุลการคลังทุกปี ยกเว้น ปี 2548 ปีเดียว มันสะสม แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่สูง แต่มันกระโดดขึ้นได้ถ้าเกิดวิกฤตที่กระทบจากภายนอก เคยกระโดนจาก 44% เป็น 66% มาแล้ว แล้วความเดือดร้อนจะเกิดกับประชาชนทุกกลุ่ม
อัมมาร กล่าวว่า ผมอยากเสนอว่าทุกบาทที่รัฐบาลใช้จ่าย จะต้องอยู่ในงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่ผมอ่านประวัติศาสตร์เมืองนอก ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้เงินรัฐและการเก็บภาษี ประชาชน จะขาดดุลก็ได้ตราบใดที่รัฐสภาตัดสินใจได้
เกษียร กล่าวว่า ผมเห็นด้วยที่มวลชนทั้งสองฝ่ายเขายังไม่อาจรีโพสิชั่นนิ่ง เพราะมีเรื่องตกค้างเยอะ ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและคดี 91 ศพ แต่ผมก็รู้สึกว่า จำนวนมากมันเหมือนสร้างผีหลอก ระวังรัฐประหารๆๆๆๆๆ ระวังล้มเจ้าๆๆๆๆๆๆ เพื่อตรึงมวลชนไว้ เอาเข้าจริง threat มันไม่ได้สูงขนาดนั้น ขณะที่รัฐบาลเอาตัวเอง ผมรู้ว่าผมพูดแบบนี้ ผมโดนด่าแน่ แต่ถ้าไม่พูดมันแย่
นิธิ กล่าวว่า "ผม ยังรู้สึกว่า threat ถ้ามองจากสายตาอย่างพวกเราที่ repositioning ได้ง่าย อาจเห็นว่า threat นั้นมัน unreal นี่หว่า แต่สำหรับเขา [มวลชนเสื้อแดง] เขาคิดว่า real มากๆ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับที่จะวินิจฉัยมาตรา68 จะบอกว่าไม่จริง เป็นเรื่องฝัน ก็มันจริง เห็นชัดเลย ทำให้คนรู้ว่ามันมีภัยคุกคามบางอย่างในที่ลับ ในที่แจ้งอยู่ตลอดเวลา แล้วจะบอกว่ามึงหยุดสิๆ ก็ไม่ได้อีก เพราะมันเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาระหว่างสองฝ่าย สำหรับเราเราอาจบอก เฮ้ย มึงไม่มีกึ๋นหรอก ยังไงมันก็ต้องออกมาแบบนี้ แต่สำหรับเขาที่โดนมาอย่างเจ็บแสบแล้ว ผมก็เห็นใจเขา"

เงือกมีอยู่จริง!?

ที่มา Voice TV

 เงือกมีอยู่จริง!?


สารคดีเรื่องใหม่โดย Animal Planet ปลุกกระแสค้นหาความจริงเรื่องการมีอยู่ของ "เงือก" ขึ้นอีกหน แถมทุบสถิติ สร้างประวัติศาสตร์เป็นสารคดีสัตว์ที่มีคนดูมากที่สุดของช่องนี้


Mermaids : The New Evidence  รายการสัมภาษณ์กึ่งสารคดีพิเศษเกี่ยวกับสัตว์ในตำนานทั่วโลกอย่าง "เงือก"  ออกอากาศสดครั้งแรกในช่อง Animal Planet เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์เป็นสารคดีเรื่องที่คนดูมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 17ปี ของการก่อตั้งรายการสารคดีสัตว์โลกทางช่อง Discovery รายการนี้  โดยทางช่องระบุว่าในวันที่ออกอากาศสด มีผู้ชมทั่วสหรัฐฯมากถึง 3.6 ล้านครัวเรือน ก่อนที่จะมีการออกฉายซ้ำอีกในวันรุ่งขึ้น



Video : ผู้ชมถ่ายวิดิโอรายการ Mermaids : The New Evidence จากโทรทัศน์
ที่มา : Youtube / marquisehoward1


เนื้อเรื่องของสารคดี ที่ทางช่อง Animal Planet ระบุว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง บวกกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่องมาจากสารคดีเรื่อง Mermaids : The Body Found ที่ออกฉายไปเมื่อปีที่แล้ว ที่มี ดร.พอล โรเบิร์ตสัน นักวิทยาศาสตร์ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงาน(วิทยาศาสตร์)ทางทะเลและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA และทีมงาน เป็นผู้เล่าเรื่องการประสบเหตุการณ์ประหลาดที่พวกเขาอ้างว่าเจอซากสิ่งมี ชีวิตที่เชื่อว่าเป็น "เงือก" ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุการเกยตื้นของฝูงวาฬครั้งใหญ่ ที่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เมื่อปี 2004 ซึ่งเนื้อเรื่องของสารคดีเรื่องนั้นถูกปฏิเสธโดย NOAA ซึ่งระบุว่าไม่เคยมีการพบซากสิ่งมีชีวิตตามที่อ้างในสารคดีแต่อย่างใด


ดร.พอล โรเบิร์ตสัน และทีม พยายามบอกอยู่เสมอว่าที่ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงือก เพราะต้องการชี้ให้ผู้ชมตระหนักถึงภัยของการใช้อาวุธคลื่นโซนาร์ ที่พวกเขาเชื่อว่ากองทัพสหรัฐฯมีการทดลองลับๆอย่างต่อเนื่องในมหาสมุทร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้วาฬและโลมา ไปจนถึงสัตว์น้ำอื่นๆ เกยตื้นเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุทั่วโลก




อย่างไรก็ตาม Animal Planet โดย Discovery ยังไม่ละความพยายามปลุกกระแสเงือก ด้วยการจัดรายการพิเศษครั้งล่าสุดที่อ้างว่ามีหลักฐานใหม่เป็นภาพวิดิโอจาก ทีมสำรวจชาวเดนมาร์กใต้ทางทะเลลึกใกล้กับเกาะกรีนแลนด์ ที่ได้เจอกับสิ่งมีชีวิตประหลาดมีมือ 5 นิ้วคล้ายมนุษย์ แต่อาศัยใต้ทะเลลึก ว่ายน้ำมาทุบกระจกเรือดำน้ำของพวกเขา โดยมีการบันทึกวิดิโอได้แบบชัดเจน เป็นที่ตื่นตะลึงของผู้ชมรายการกว่า 3 ล้านคนดังกล่าว

ผู้ชมส่วนหนึ่งรวมถึงสื่อมวลชนหลายแห่ง พากันลงความเห็นว่าวิดิโอที่ Animal Planet นำมาเผยแพร่ในรายการล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น รวมถึง ดร.พอล โรเบิร์ตสัน หรือ นักวิทยาศาสตร์ที่ปรากฎในภาพยนตร์ล้วนไม่มีตัวตนจริง โดยเชื่อว่า Animal Planet ต้องการนำเสนอทฤษฏีมนุษย์วานรที่อาศัยในทะเล ด้วยการสร้างเป็นภาพยนตร์ให้น่าสนใจเท่านั้นเอง แต่ทาง Animal Planet ก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้แต่อย่างใด


Video : หนึ่งในวิดิโอที่อ้างว่านักท่องเที่ยวถ่ายภาพเงือกได้ ซึ่งอยู่ในรายการตอนใหม่ด้วย
ที่มา : Youtube /amcbirds

Entertianment Weekly สื่อบันเทิงชั้นนำของสหรัฐฯ  พาดหัวในข่าวของเว็บไซต์บอกว่า Animal Planet พยายามใช้เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับเงือกมาสร้างกระแส กระชากเรตติ้งให้กับช่อง และแซวแรงๆว่าสัตว์บนโลกนี้มีมากกว่า 2 ล้านสปีซี่ แต่เรื่องราวสารคดีของสัตว์ในตำนานที่ไม่มีตัวตนจริงกลับล้วนครองเรตติ้งสูง สุดในช่องที่บอกว่าตัวเองเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องสารคดีสัตว์ (ที่มา :Entertainment Weekly /Inside TV  http://bit.ly/116kvcg )

สารคดีที่ครองสถิติผู้ชมสูงสุดของ Animal Planet ก่อนหน้าซีรีย์เรื่อง "เงือก"นี้คือสารคดีเกี่ยวกับ "มังกร" เรื่อง Dragons: A Fantasy Made Real.


Source : Flickr/ sunlightfoundation (Creative Commons image)

30 พฤษภาคม 2556 เวลา 18:59 น.

ที่มา go6tv


วันที่ 30 พฤษภาคม 2556 (go6TV) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 30 พ.ค. พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกยุทธ อัญชันบุตร  อายุ 53 ปี นักธุรกิจการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ กับพวกอีก 2 คือนายก้องการุณ  ศรีประสาน อายุ 32 ปี  อาชีพค้าขาย และนายสันติภาพ เพ็งด้วง อายุ 23 ปี อาชีพรับจ้าง  ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 -  3 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย,เอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่น และ  พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 55 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายบทโดยนายเอกยุทธ จำเลยที่ 1 ได้ยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 2-3  ทำร้ายร่างกายใช้มือตบศรีษะ ชกต่อยที่บริเวณใบหน้า ใช้เท้าถีบลำตัว ล็อกคอ และลากตัวนายจตุพล มังกรทอง รองผู้จัดการ ร้าน คาราโอเกะ ซิตี้ ย่านถ.ประดิษฐ์มนูธรรม  แขวง เขตลาดพร้าว กทม. นอกจากนี้นายก้องการุณ จำเลยที่ 2 ได้บังอาจทำร้ายร่างกายน.ส.เฟื่องฟ้า กันทมูล  แคชเชียร์ โดยขว้างขวดน้ำอัดลมใส่ประตูกระจกห้องพนักงานเก็บเงิน จนเศษกระจกกระเด็นบาดหน้าแข้งซ้ายของน.ส.เฟื่องฟ้า ได้รับบาดเจ็บ และจำเลยที 3 ได้ทำร้ายร่างกายใช้มือผลักกระแทกใบหน้า น.ส.จุฬา  เครือวัลย์  ผู้จัดการร้าน
อัยการระบุฟ้องอีกว่า นายเอกยุทธ  จำเลยที่ 1 ได้บังอาจทำลายเอกสารบันทึกการขายหรือใบสลิปชำระค่าอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 34,895 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระด้วยบัตรเครดิต ธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)  ด้วยการขยำทิ้งลงในบ่อน้ำของร้าน ทั้งนี้จำเลยที่ 2และ3ยังได้พกอาวุธปืนไม่ทราบชนิด และขนาด ไม่มีหมายเลขทะเบียน อันเป็นอาวุธตามกฎหมายติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร

ต่อมาวันที่ 25 ธ.ค. 55 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมจำเลยที่ 2,3 ได้ ส่วนนายเอกยุทธจำเลยที่ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.โชคชัย  แจ้งข้อหาดำเนินคดีชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ.2001 /  56 และสอบคำให้การจำเลย โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี  ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายวันที่ 2 ก.ย. นี้ เวลา 09.00 น. ต่อมาญาติของจำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นสมุดเงินฝากธนาคาร ออมสิน ฯ  คนละ 1แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราวไป

"แพทย์ชนบท" นัดหารือรัฐบาล 6มิถุนา ยืนยันไม่ชุมนุมบ้านนายกฯ

ที่มา go6tv



30 พฤษภาคม 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว https://twitter.com/teeratr ระบุว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการหารือกับแพทย์ชนบท ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับ กลุ่มแพทย์ชนบท กลุ่มหลักประกันเครือข่ายผู้บริโภค ยืนยันว่าจะไม่มีการชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิถุนายนแต่อย่างใด แต่จะมา Workshop ร่วมกับทางภาครัฐที่ทำเนียบรัฐบาลในวันดังกล่าวแทน และการ Workshop ดังกล่าวเป็นการหารือเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เป็นการเอาข้อเสนอ ของกลุ่มแพทย์ชนบท มาคุยกันบนโต๊ะ ซึ่งเป็นการหาทางออกร่วมกันได้ดี

ทาง ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ย้ำว่าการประกาศ "ชุมนุม" ไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมือง เพียงแต่อยากให้ฝั่งรัฐบาลได้รับความคิดเห็น และรับฟังข้อทุกข์ยากต่างๆ โดยชมรมแพทย์ชนบทจะเตรียมนำทีมแพทย์ประมาณ 20 คน มาหารือร่วมกับคณะของ รมว.สาธารณสุข และจะมีทีมของ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกัน โดยหวังว่าจะเป็นการหาทางออกร่วมกันโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ขณะ ที่ นายสารี อ๋องสมหวัง จากกลุ่มคนรักหลักประกันเครือข่ายผุ้บริโภค ระบุว่า P4P เป็นการดึงแพทย์ออกจากชนบท จึงอยากสะท้อนปัญหาให้ภาครัฐรับทราบ และคาดว่าการทำ workshop ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ คงจะได้หารือเรื่องการเข้าถึงยาของผู้ป่วย รวมถึงการร่วมจ่ายของผู้ป่วยด้วย



จอม เพชรประดับ: สันติภาพปลายด้ามขวาน - ยุทธศาสตร์ “รัฐไทย” ยังห่างไกล “บีอาร์เอ็น”

ที่มา ประชาไท


เป็นไปตามความคาดหมาย ที่ ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น ก็ได้ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูป อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ก่อนการ พูดคุย รอบที่ 4 ในวันที่ 13 มิถุนายนที่จะถึงนี้
แม้แถลงการณ์ ครั้งที่ 2   ดูเหมือนจะไม่มีอะไร เพราะไม่มีข้อเรียกร้องใหม่เพิ่มเติม จากข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อที่ออกมาก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยรอบที่ 3 เพียงไม่กี่วัน    ครั้งนี้  เป็นเพียงการตอกย้ำ ให้เหตุผลเพิ่มเติม และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐไทยให้ปฎิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อเดิม
แต่ที่น่าวิเคราะห์จากแถลงการณ์ ครั้งที่ 2 นี้ก็คือ บีอาร์เอ็น มีการวางยุทธศาสตร์การเจรจา หรือยุทธวิธีการต่อรอง อย่างเป็นระบบ เป็นมืออาชีพในระดับสากลอย่างมาก  จนเป็นผลให้  บีอาร์เอ็น  บรรลุเป้าหมายในขั้นแรก ไปเรียบร้อย หรือ หรือจะเรียกได้ว่าคว้าชัยชนะ ในขั้นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว
กล่าวคือ นอกจากจะทำให้กลุ่ม บีอาร์เอ็น กลายเป็น “องค์กรปลดปล่อยอิสรภาพให้กับประชาชนมาลายูปาตานี” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว บีอาร์เอ็น ถูกยกฐานะขึ้นเทียบเท่าระดับรัฐ หรือ ระดับสากล  เป็นผลสำเร็จด้วย
หากพิจารณา แถลงการณ์ ครั้งที่ 2 นี้ จะเห็นว่า นี่คือการ รุกคืบทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างยิ่ง  เพราะทำให้เห็นว่า นับจากนี้ไป ไม่ใช่เพียงแต่ รัฐไทย  ฝ่ายเดียว ที่จะกำหนดทิศทางการพูดคุย โดยการแถลงหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวโลก หรือกับประชาชนคนไทยว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นอย่างไร ทิศทางการพูดคุยจะเป็นไปในทิศทางไหน ผ่านสื่อในประเทศ หรือต่างประเทศเท่านั้น   แต่  บีอาร์เอ็น ก็มี ยูทูป เป็นช่องทางการสื่อสารต่อชาวโลก และต่อชาวไทย ได้อย่างทรงพลังด้วยเช่นเดียวกัน และอาจจะเข้าถึงประชาชนในระดับสากลได้มากกว่าด้วย
แถลงการณ์ผ่าน ยูทูป ของ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 2  ทำให้  ชาวโลก และคนไทยได้เห็นข้อแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ระหว่างความคิดของ บีอาร์เอ็น กับ รัฐไทย ต่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพปาตานี ว่า มีความแตกต่างและขัดแย้งกันอย่างไร
รวมทั้งคำอธิบายเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อเดิม ก็มีน้ำหนักและ สอดคล้องกับ หลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งอาจจะวิเคราะห์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นได้ดังนี้ 
ประการแรก – บีอาร์เอ็น เชื่อและคิดว่า กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ได้พัฒนาไปสู่กระบวนการเจรจา  (ใช้ภาษามาลายูว่า  “Rudingan Damai” ) เรียบร้อยแล้ว  จากแถลงการณ์ฉบับแรกที่ยังคงใช้ การพูดคุย ( ใช้ภาษามาลายูว่า “Pembicaraan” )
ขณะที่ รัฐไทย ยังคงอธิบายต่อชาวไทยและชาวโลกว่า นี่เป็นเพียงการพูดคุย (Dialogue)    เพื่อปรับทุกข์ ผูกมิตร สืบสภาพ หยั่งดูท่าทีระหว่างกันเท่านั้น  และรัฐไทยยังคงยืนยันว่า  ไม่ต้องการที่จะยกระดับการพูดคุยนี้ ขึ้นสู่ระดับสากล  ชัดเจนว่า ความคิดที่แตกต่างนี้ จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีอย่างมาก
ประการที่สอง –  นี่เป็นการรุกทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง ของบีอาร์เอ็น  และเป็นอีกครั้ง ที่เป็นการ ดิสเครดิต รัฐไทย    เพราะเมื่อ บีอาร์เอ็น คิดว่า กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ได้เข้าสู่ ขั้นตอนของการเจรจา (Negotiation)  แล้ว  จึงเสนอแนวทาง กระบวนการสร้างสันติภาพที่เป็นสากล นั่นคือ ตอกย้ำข้อเรียกร้องเดิมที่จะให้ มาเลย์เซีย มาเป็น คนกลางทำหน้าที่ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediatur ) ไม่ต้องการให้ ทำหน้าที่เพียงแค่ เลขานุการของการพูดคุย หรือเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ( Faciliatur ) เหมือนอย่างที่รัฐไทยต้องการ
อีกทั้งยังย้ำในข้อเสนอที่จะให้มี ผู้สังเกตการณ์ หรือสักขีพยาน  คือ โอไอซี (OIC – Organization of islamic Co-operation ) หรือ เอ็นจีโอ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านสันติภาพ ที่ต้องการเห็นสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
ประการสุดท้าย – แถลงการณ์ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 2  เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า   ยุทธศาสตร์ เพื่อปลดปล่อยปาตานี ของ บีอาร์เอ็น นั้น มีกำหนดยุทธศาสตร์อย่างขั้นเป็นตอน  และเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องในระดับสากล สอดคล้องกับความสนใจหรือความต้องการที่จะเห็นสันติภาพของประชาคมระหว่าง ประเทศ
สำหรับ รัฐไทย  ได้อะไรบ้าง  ระหว่างที่ กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี กำลังจะเข้าสู่ เดือนที่ 4   คำตอบ คงมีเพียงอย่างเดียวคือ ความกล้าหาญ ที่ยอมเปิดพื้นที่ พูดคุย ขึ้น จนได้รู้จักตัวตนที่แท้ ของ กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้  ตามความเข้าใจของรัฐไทย  หรือพอจะได้เครดิตทางการเมืองภายในประเทศบ้าง  แต่จะเป็นเพียงการได้ ระยะสั้น หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาตร์
และจะเทียบกันไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะสูญเสียไปในอนาคต  โดยไม่รวมความสูญเสีย และความตายที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐ และกับประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างนี้และที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว   ถ้าเป็นเช่นนี้ จะให้ ประชาชนคนไทย เชื่อได้อย่างไรว่า รัฐไทย กำลังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
หรือ รัฐไทย  ยังไม่รู้อีกว่า กำลังต่อสู้ หรือ เจราจาอยู่กับ กลุ่มก่อการร้ายสากล ที่ ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็น ขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพมาลายูปาตานี ที่เป็น องค์กรสากล ไปเรียบร้อยแล้ว
ถึงเวลานี้ รัฐไทย  ยังไม่ยอมรับความเป็นจริงอีกหรือว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาภายในอีกต่อไป  แต่เป็นสงครามระหว่างชาติพันธุ์ 1 ใน 50 แห่งของโลกที่ นานาชาติเฝ้าจับตามอง และหลายประเทศก็ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ใน พื้นที่แล้วขณะนี้ ในด้านต่าง ๆ
ถ้า รัฐไทย กล้าที่จะยอมรับความจริงว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พัฒนาเป็นปัญหาในระดับสากลแล้ว  ก็ควรจะที่รีบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ หมายถึง กระบวนการต่อสู้เพื่อสร้างสันติภาพ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากลด้วย  เหมือนที่คนไทยเคยได้เห็นความมุ่งมั่นทุ่มเทของรัฐไทย ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้อย่างเป็นมาตรฐานสากลใน คดีปราสาทพระวิหาร ที่ ศาลโลก มาแล้ว
คงไม่ต้องถามด้วยซ้ำว่า   ระหว่าง พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ทับซ้อนกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่ง อาจจะไม่มีคนไทยอาศัยอยู่เลย   กับพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ในชายแดนภาคใต้  และมีคนไทยอาศัยอยู่เกือบ 2 ล้านคน รัฐไทย ควรจะให้ความสำคัญ และทุ่มเทแก้ปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ใดมากกว่ากัน.