ร่างกฎหมายปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่จะนำเสนอมี 6 มาตรา ใจความสำคัญเสนอว่า บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการ เมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำเช่นนั้น นับตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ผู้ที่กระทำก็จะพ้นจากความผิด ถ้าเป็นคดีความไม่ว่าอยู่ในขั้นใดให้ระงับการดำเนินคดี ถ้าศาลพิพากษาให้รับโทษแล้ว ก็ให้โทษนั้นสิ้นสุดลง ในกรณีของความผิดที่เกิดจากการกล่าวหาที่เกิดจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร ก็ให้ระงับไป ประเด็นสำคัญจากข้อเสนอนี้ ก็คือการนำมาซึ่งการนิรโทษทั้งฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฝ่ายกองทัพบกที่ก่อการสังหารประชาชน ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งประชาชนคนเสื้อแดง และคนเสื้อเหลืองทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้
เหตุผลสำคัญในการเสนอการปรองดองลักษณะนี้ มาจากการอธิบายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงที่ว่า การนิรโทษกรรมทุกฝ่ายจะนำมาซึ่งการสมานฉันท์อย่างแท้จริงในสังคมไทย โดยการไม่เอาผิดฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกเปลี่ยนกับการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระบวนการนี้ถือว่าเป็นแนวทางเดียวกับการสมานฉันท์ในอัฟริกาใต้ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้ประโยชน์โดยการเลิกแล้วต่อกัน คนบาดเจ็บล้มตายก็จ่ายเงินเยียวยาตามสมควร พ.ต.ท.ทักษิณก็จะได้กลับบ้าน โดยความคาดหวังของการดำเนินการก็คือการทำให้สังคมไทยกลับสู่สถานะเดิมดัง เช่นก่อนเหตุการณ์ พ.ศ.2549
ความจริงแล้ว ข้อเสนอเพื่อนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเพื่อนิรโทษทุกฝ่ายโดยให้รวมการนิรโทษ เจ้าหน้าที่รัฐ เคยถูกเสนอมาแล้วเมื่อ พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา โดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร และปัจจุบันเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายนี้ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระของรัฐสภา แต่ในที่นี้ คงต้องกล่าวว่า ข้อเสนอลักษณะเช่นนี้ ถ้าหากเสนอมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2553 ก็คงพอที่จะสนับสนุนได้ แต่เหตุการณ์การเข่นฆ่าสังหารประชาชนใน พ.ศ.2553 ทำให้ข้อเสนอปรองดองเช่นนี้กลายเป็นเรื่องไร้สาระ ขบวนการคนเสื้อแดงคงไม่อาจสนับสนุนได้ เพราะการก่อการสังหารหมู่เข่นฆ่าประชาชนดังที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจให้อภัยหรือนิรโทษฆาตกรได้ ดังนั้นการปล่อยให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉิน(ศอฉ.) รวมทั้งผู้บัญชาการทหารที่เข่นฆ่าประชาชน ลอยนวลไป ไม่ถูกพิจารณาแม้กระทั่งการไต่สวนความผิดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ในทางประวัติศาสตร์ การที่คนสั่งฆ่าประชาชนลอยนวลมาทุกครั้งด้วยการนิรโทษกรรม ตั้งแต่กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จนถึงกรณีพฤษภาคม พ.ศ.2535 ได้สร้างความเคยชินแก่ชนชั้นนำไทยที่ครองอำนาจ ในการเข่นฆ่าประชาชนต่อไป และยังไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายและถูกดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียว ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มาตรการที่เหมาะสมกว่า ก็คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของกลุ่มนายวรชัย เหมะ นายสมคิด เชื้อคง และ 42 ส.ส. ที่ได้รับการสนับสนุนจากมติของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้รวดเร็วกว่านั้น รัฐบาลควรที่จะใช้การออกเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชนโดยทันที จะเป็นการดีสำหรับประชาชน
สำหรับท่าทีของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มที่ เหตุผลของการคัดค้านก็คือ การนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอาจจะนำมาซึ่งการคืนทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายนายอภิสิทธิ์ไม่อาจยอมรับได้ ในส่วนการนิรโทษกรรมให้กับนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ ฝ่ายทหาร นายอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธเสมอมา เพราะได้มีการสร้างวาทกรรมศาลาโกหก และฟอกขาวว่า ฝ่ายตนเองไม่มีความผิด การชุมนุมเมื่อ พ.ศ.2553 เป็นเรื่องของประชาชนคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงต่อรัฐ ฆ่ากันเอง แล้วก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง รัฐบาลและฝ่ายกองทัพเป็นเพียงใช้มาตรการทางกฎหมายให้สังคมกลับคืนสู่ภาวะ ปกติ จึงไม่ต้องรับผิด แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ นายอภิสิทธิ์ตระหนักได้ดีว่า ไม่มีศาลและขบวนยุติธรรมใดในไทย คิดเอาผิดแก่นายอภิสิทธิ์และกองทัพอย่างแท้จริง การเข่นฆ่าประชาชนเมื่อ พ.ศ.2553 ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากชนชั้นนำในสังคมไทย ฆาตกรจึงได้รับการโอบอุ้ม ส่วนประชาชนคนเสื้อแดงที่ตายก็ถูกทอดทิ้ง ถูกจับกุมและดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียวตลอดมา ก็เป็นเรืองอันสมควร ด้วยแนวคิดของชนชั้นนำเช่นนี้ ความเป็นธรรมในสังคมไทยจึงเกิดขึ้นได้ยาก
ทางออกหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ ก็คือการที่รัฐบาลไทยควรจะลงนามรับเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ซึ่งจะเปิดทางให้ศาลระหว่างประเทศได้เข้ามาสอบสวนคดีนี้อย่างเป็นธรรม แต่กระทรวงต่างประเทศไทยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็รีรอแช่แข็งเรื่องนี้มาแล้ว 2 ปี ไม่ยินยอมลงนาม คงเป็นด้วยเหตุผลว่า ถ้ารับเขตอำนาจของศาลระหว่างประเทศแล้วนำมาซึ่งการสอบสวนคดีคนเสื้อแดงอย่าง เป็นธรรม จะไปกระทบกับอำนาจจารีตนิยมที่ครอบงำสังคมไทยและสนับสนุนการฆ่าประชาชน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเกรงใจไม่กล้าดำเนินการ
กรณีที่อ้างเรื่องการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องถือเป็นเรื่องตลกในทางประวัติศาสตร์ เพราะจนถึงขณะนี้ ฝ่ายจารีตนิยมก็ไม่ประสบความสำเร็จในการหาความผิดที่เป็นจริงของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เลย ที่มีการประโคมโหมกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำการทุจริตคอรับชั่นมากมายมหาศาล เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานรองรับ กลายเป็นว่า ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาจากการถูกรัฐประหาร และถูกกลั่นแกล้งโดยศาล ใช้กฎหมายรัฐประหารมาเล่นงาน ความเกลียดชังต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่สร้างกันขึ้นมา จึงวางอยู่บนรากฐานอันเหลวไหล
บทความนี้จึงขอจบด้วยบทกวีของ”ยังวัน”ที่กล่าวถึงกฎหมายปรองดองฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงว่า
“สังหารโหด นิรโทษ-จบ กี่ศพแล้ว กี่ขบวน ถ้วนแถว ที่เงียบหาย
ข้ามคนล้ม ข่มคนกล้า ฆ่าคนตาย แล้วละลาย คล้ายคลื่นสาด ซบหาดซา
ให้เลิกแล้ว ลืมเลย เคยมักง่าย คนจึงตาย ศพจึงเพิ่ม บวกเติมค่า
ทรราช จึงเพิ่มกรรม ไม่นำพา ประวัติศาสตร์ จึงเพิ่มหน้า การฆ่าคน
ผิดต้องว่า ตามผิด อย่าคิดกลบ กระบวนการ ต้องครบ แจ้งจบผล
นักการเมือง ที่โลดเต้น หมายเล่นกล จำไว้ว่า ประชาชน จะเล่นคืน
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 412 วันที่ 25 พฤษภาคม 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น