แม้แถลงการณ์ ครั้งที่ 2 ดูเหมือนจะไม่มีอะไร เพราะไม่มีข้อเรียกร้องใหม่เพิ่มเติม จากข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อที่ออกมาก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยรอบที่ 3 เพียงไม่กี่วัน ครั้งนี้ เป็นเพียงการตอกย้ำ ให้เหตุผลเพิ่มเติม และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐไทยให้ปฎิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อเดิม
แต่ที่น่าวิเคราะห์จากแถลงการณ์ ครั้งที่ 2 นี้ก็คือ บีอาร์เอ็น มีการวางยุทธศาสตร์การเจรจา หรือยุทธวิธีการต่อรอง อย่างเป็นระบบ เป็นมืออาชีพในระดับสากลอย่างมาก จนเป็นผลให้ บีอาร์เอ็น บรรลุเป้าหมายในขั้นแรก ไปเรียบร้อย หรือ หรือจะเรียกได้ว่าคว้าชัยชนะ ในขั้นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว
กล่าวคือ นอกจากจะทำให้กลุ่ม บีอาร์เอ็น กลายเป็น “องค์กรปลดปล่อยอิสรภาพให้กับประชาชนมาลายูปาตานี” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว บีอาร์เอ็น ถูกยกฐานะขึ้นเทียบเท่าระดับรัฐ หรือ ระดับสากล เป็นผลสำเร็จด้วย
หากพิจารณา แถลงการณ์ ครั้งที่ 2 นี้ จะเห็นว่า นี่คือการ รุกคืบทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างยิ่ง เพราะทำให้เห็นว่า นับจากนี้ไป ไม่ใช่เพียงแต่ รัฐไทย ฝ่ายเดียว ที่จะกำหนดทิศทางการพูดคุย โดยการแถลงหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวโลก หรือกับประชาชนคนไทยว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นอย่างไร ทิศทางการพูดคุยจะเป็นไปในทิศทางไหน ผ่านสื่อในประเทศ หรือต่างประเทศเท่านั้น แต่ บีอาร์เอ็น ก็มี ยูทูป เป็นช่องทางการสื่อสารต่อชาวโลก และต่อชาวไทย ได้อย่างทรงพลังด้วยเช่นเดียวกัน และอาจจะเข้าถึงประชาชนในระดับสากลได้มากกว่าด้วย
แถลงการณ์ผ่าน ยูทูป ของ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 2 ทำให้ ชาวโลก และคนไทยได้เห็นข้อแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ระหว่างความคิดของ บีอาร์เอ็น กับ รัฐไทย ต่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพปาตานี ว่า มีความแตกต่างและขัดแย้งกันอย่างไร
รวมทั้งคำอธิบายเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อเดิม ก็มีน้ำหนักและ สอดคล้องกับ หลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งอาจจะวิเคราะห์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นได้ดังนี้
ประการแรก – บีอาร์เอ็น เชื่อและคิดว่า กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ได้พัฒนาไปสู่กระบวนการเจรจา (ใช้ภาษามาลายูว่า “Rudingan Damai” ) เรียบร้อยแล้ว จากแถลงการณ์ฉบับแรกที่ยังคงใช้ การพูดคุย ( ใช้ภาษามาลายูว่า “Pembicaraan” )
ขณะที่ รัฐไทย ยังคงอธิบายต่อชาวไทยและชาวโลกว่า นี่เป็นเพียงการพูดคุย (Dialogue) เพื่อปรับทุกข์ ผูกมิตร สืบสภาพ หยั่งดูท่าทีระหว่างกันเท่านั้น และรัฐไทยยังคงยืนยันว่า ไม่ต้องการที่จะยกระดับการพูดคุยนี้ ขึ้นสู่ระดับสากล ชัดเจนว่า ความคิดที่แตกต่างนี้ จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีอย่างมาก
ประการที่สอง – นี่เป็นการรุกทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง ของบีอาร์เอ็น และเป็นอีกครั้ง ที่เป็นการ ดิสเครดิต รัฐไทย เพราะเมื่อ บีอาร์เอ็น คิดว่า กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ได้เข้าสู่ ขั้นตอนของการเจรจา (Negotiation) แล้ว จึงเสนอแนวทาง กระบวนการสร้างสันติภาพที่เป็นสากล นั่นคือ ตอกย้ำข้อเรียกร้องเดิมที่จะให้ มาเลย์เซีย มาเป็น คนกลางทำหน้าที่ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediatur ) ไม่ต้องการให้ ทำหน้าที่เพียงแค่ เลขานุการของการพูดคุย หรือเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ( Faciliatur ) เหมือนอย่างที่รัฐไทยต้องการ
อีกทั้งยังย้ำในข้อเสนอที่จะให้มี ผู้สังเกตการณ์ หรือสักขีพยาน คือ โอไอซี (OIC – Organization of islamic Co-operation ) หรือ เอ็นจีโอ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านสันติภาพ ที่ต้องการเห็นสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
ประการสุดท้าย – แถลงการณ์ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 2 เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า ยุทธศาสตร์ เพื่อปลดปล่อยปาตานี ของ บีอาร์เอ็น นั้น มีกำหนดยุทธศาสตร์อย่างขั้นเป็นตอน และเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องในระดับสากล สอดคล้องกับความสนใจหรือความต้องการที่จะเห็นสันติภาพของประชาคมระหว่าง ประเทศ
สำหรับ รัฐไทย ได้อะไรบ้าง ระหว่างที่ กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี กำลังจะเข้าสู่ เดือนที่ 4 คำตอบ คงมีเพียงอย่างเดียวคือ ความกล้าหาญ ที่ยอมเปิดพื้นที่ พูดคุย ขึ้น จนได้รู้จักตัวตนที่แท้ ของ กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ตามความเข้าใจของรัฐไทย หรือพอจะได้เครดิตทางการเมืองภายในประเทศบ้าง แต่จะเป็นเพียงการได้ ระยะสั้น หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาตร์
และจะเทียบกันไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะสูญเสียไปในอนาคต โดยไม่รวมความสูญเสีย และความตายที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐ และกับประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างนี้และที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ จะให้ ประชาชนคนไทย เชื่อได้อย่างไรว่า รัฐไทย กำลังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
หรือ รัฐไทย ยังไม่รู้อีกว่า กำลังต่อสู้ หรือ เจราจาอยู่กับ กลุ่มก่อการร้ายสากล ที่ ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็น ขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพมาลายูปาตานี ที่เป็น องค์กรสากล ไปเรียบร้อยแล้ว
ถึงเวลานี้ รัฐไทย ยังไม่ยอมรับความเป็นจริงอีกหรือว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาภายในอีกต่อไป แต่เป็นสงครามระหว่างชาติพันธุ์ 1 ใน 50 แห่งของโลกที่ นานาชาติเฝ้าจับตามอง และหลายประเทศก็ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ใน พื้นที่แล้วขณะนี้ ในด้านต่าง ๆ
ถ้า รัฐไทย กล้าที่จะยอมรับความจริงว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พัฒนาเป็นปัญหาในระดับสากลแล้ว ก็ควรจะที่รีบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ หมายถึง กระบวนการต่อสู้เพื่อสร้างสันติภาพ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากลด้วย เหมือนที่คนไทยเคยได้เห็นความมุ่งมั่นทุ่มเทของรัฐไทย ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้อย่างเป็นมาตรฐานสากลใน คดีปราสาทพระวิหาร ที่ ศาลโลก มาแล้ว
คงไม่ต้องถามด้วยซ้ำว่า ระหว่าง พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ทับซ้อนกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่ง อาจจะไม่มีคนไทยอาศัยอยู่เลย กับพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ในชายแดนภาคใต้ และมีคนไทยอาศัยอยู่เกือบ 2 ล้านคน รัฐไทย ควรจะให้ความสำคัญ และทุ่มเทแก้ปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ใดมากกว่ากัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น