เมื่อวันที่ 23 พ.ค.56 คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์การแอคชั่นเอดประเทศไทย
ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินและเกษตรยั่งยืนเทือกเขาเพชรบูรณ์
และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเสวนา ‘กฎหมาย อำนาจ (ดุลยพินิจ) ในการมีคำสั่งว่าด้วยการปล่อยตัว สอดคล้องกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร’ ณ
ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยมีเครือข่ายชาวบ้านที่ประสบปัญหาคดีความจากการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำ
กิน และกรณีต่างๆ เข้าร่วมกว่า 200 คน
ประธาน คปก.ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวกฎหมายแต่เป็นการปฏิบัติที่สร้างความเดือดร้อน
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถา เรื่อง
สิทธิมนุษยชนในช่องทางออกของอำนาจในดุลยพินิจสั่งประกันตัวว่า
ปัญหาไม่ใช่ตัวกฎหมายแต่เป็นการปฏิบัติที่สร้างความเดือดร้อน
และการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีปัญหามาตลอด
เนื่องมาจากการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจหลักกฎหมาย
อย่างถ่องแท้ของผู้ใช้กฎหมาย นั่นคือ ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว
แทนที่จะวางหลักเฉพาะเกี่ยวกับความผิดร้ายแรง แต่กลับถือเอาเหตุต่างๆ
ในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยไม่แยกแยะ
จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิด ‘นายประกันอาชีพ’
ที่มาขูดรีดประชาชนที่ยากจน นอกจากนั้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตรได้ให้ ‘บริษัทประกันภัย’ เข้ามาทำมาหากินในกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งทั้ง 2 สิ่งไม่ได้มาช่วยแต่มาซ้ำเติมปัญหา
และทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตำหนิ
เนื่องจากเกิดองค์กรเหลือบในกระบวนการยุติธรรมขึ้น
ศ.ดร.คณิต กล่าวด้วยว่า การปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นมาตรการในทางคดีอาญา
มีมิติ 2 ประการ คือ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อย
และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิบุคคลด้วย แต่คนในสังคมมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม
มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงนำมาซึ่งความไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่างๆ มีมิติ 3
ประการที่เกี่ยวข้อง คือ 1.กฎหมายจะต้องมีความเป็นเสรีนิยม
ต้องมองในแง่การคุ้มครองสิทธิ์ 2.มีความเป็นประชาธิปไตย
การใช้อำนาจมีการตรวจสอบได้ และ 3.การกระทำเป็นไปเพื่อสังคม
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สังคมจะได้สงบ
“มนุษย์เรามีความต้องการ 2 อย่าง
ความต้องการประการแรกคือความมั่นคงในชีวิต ที่เราทำงาน ทำมาหากินต่างๆ
ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต แต่แค่นั้นไม่พอ
มนุษย์ยังต้องการความเป็นธรรมด้วย
ความต้องการความมั่นคงในชีวิตเปรียบเทียบได้ว่าเป็นความต้องการภายนอก
ส่วนความต้องการภายในคือความเป็นธรรม
ถ้าเรามีสิ่งที่ตรงกับความต้องการภายนอกที่สมบูรณ์ทุกอย่าง
แต่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม มันก็ชีช้ำ” ศ.ดร.คณิต กล่าว
ผู้แทนศาลฎีกา แนะเอาข้อเท็จจริงนำเสนอศาล
ด้าน นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการประธานศาลฎีกา
กล่าวในการเสวนา 'สังเคราะห์
กฎหมายและบทบาทผู้ทำหน้าที่พิจารณา(ผู้พิพากษา)
สั่งให้ประกันตัว' ถึงปัญหาคดีความของชาวบ้านว่า
การมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นศาลนั้นมีความจำเป็นตามสิทธิพิจารณาคดีต่อ
หน้า แม้บุคคลที่ต้องคดีความจะยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์
แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อได้รับการประกันตัวแล้ว
บุคคลดังกล่าวจะกลับมาศาล ซึ่งการมีคำพูดลอยๆ นั้นยากจะเชื่อถือได้
ดังนั้นสิ่งที่ศาลต้องการคือ รายงานประจำตัวบุคคลของจำเลย
เพื่อให้เชื่อได้ว่าหากมีการปล่อยชั่วคราวแล้วจะกลับมาทันการพิจารณาคดีของ
ศาล ซึ่งตามกฎหมายจะมีสัญญา มีการประกัน
อีกทั้งศาลจะดูพฤติการณ์และความร้ายแรงประกอบเพื่อใช้ดุลยพินิจ
และดูเรื่องความผูกพันกับพื้นถิ่นที่อยู่
ซึ่งจะทำให้ศาลมั่นใจได้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นไม่หลบหนีไปไหน
นายพงษ์เดช กล่าวต่อมาว่า
ตามกฎหมายอาจมีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข เช่น
ให้มารายงานตัวทุกเดือนหรือเป็นระยะ
แต่ปัญหาคือพนักงานที่จะมาทำหน้าที่รับเรื่องตรงนี้มีจำนวนจำกัด
ทั้งนี้มียังข้อเสนอให้การหลบหนีมีความผิดตามกฎหมายด้วย
เผยผู้หลบหนีระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
เลขาธิการประธานศาลฎีกาให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อปี 2553
ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 92 เปอร์เซ็นต์ของคดีที่มี พบว่ามีผู้หลบหนี
4,000 กว่าคน ทำให้พิจารณาคดีไม่ได้ ต่อมาปี 2554
ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 92.88 เปอร์เซ็นต์ มีผู้หลบหนี 4,426 คน
และปี 2555 ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 92.7 เปอร์เซ็นต์ มีผู้หลบหนีถึง
5,838 คน
ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้หลบหนีระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวมีจำนวนเพิ่มขึ้น
เรื่อยๆ
“อยากให้มองใน 2 ด้าน ส่วนคู่ความในคดีอยากให้เอาข้อเท็จจริงที่รู้มาให้ศาลที่เป็นตัวกลางรับทราบด้วย” นายพงษ์เดชกล่าว
นายพงษ์เดช กล่าวด้วยว่า
การใช้ดุลยพินิจของศาลรับรองโดยรัฐธรรมนูญจะแทรกแซงไม่ได้
และความจริงมีหลายด้านจึงต้องให้ข้อมูลกับศาลเพื่อใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา
ส่วนในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายหรือคำสั่งในการที่จะขอให้ชะลอคดีไว้ก่อน
อัยการสามารถแถลงให้ศาลทราบ โดยเป็นการทำหน้าที่แทนรัฐบาล ทั้งนี้
แม้ว่าอัยการจะอยู่อีกฝั่งกับจำเลย
แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิอันเป็นประโยชน์ของจำเลยด้วย
ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกับทางอัยการ
ในส่วนของศาลหากไม่มีคนนำเสนอข้อมูลก็ต้องรีบพิจารณาคดีโดยเร็ว
ไม่เช่นนั้นหากสถิติออกมาพบว่ามีคดีผ่านการพิจารณาน้อยก็จะถูกตั้งคำถามได้
อย่างไรก็ตามไม่อยากให้หมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรม
เพราะศาลพร้อมที่จะรับฟัง และหากอยู่ในอำนาจที่จะปรับได้ก็จะพยายามทำ
‘สุนี ไชยรส’ เสนอยกกรณีปัญหามาศึกษาร่วม กสม.-คปก.-ศาล
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า
ศาลเป็นปลายทางที่เจ็บปวด เพราะมีผลต่อการตัดสินคดีให้คนติดคุกได้
และมีความเห็นว่าควรสกัดกั้นปัญหาตั้งแต่ต้นทางคือนโยบายของรัฐบาล
ส่วนในชั้นศาลนั้น
คดีอาญาเกี่ยวกับสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน
เช่นกรณีคนอยู่กับป่า ไม่เหมือนกับคดีอาญาทั่วไป
ในส่วนนี้รัฐธรรมนูญไปไกลในการรับรองสิทธิ์ แต่กฎหมายที่ออกมาก่อนตามไม่ทัน
ขณะที่กระบวนการศาลบอกว่าต้องดูข้อเท็จจริง
แต่ประชาชนอาจไม่มีความสามารถในการนำเสนอข้อเท็จจริงเข้าสู่ศาลได้
ทั้งนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะมีการนำมาศึกษาเป็นรายกรณีร่วมกันว่าช่องโหว่อยู่ตรง
ไหน ทั้งในส่วนคณะกรรมการสิทธิฯ ศาล คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และชาวบ้าน
เพราะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแก้คงไม่ได้ นอกจากนั้นอาจจัดเป็นการพูดคุยวงใหญ่
เพื่อผลักดันไปยังรัฐบาล
นางสุนี กล่าวด้วยว่า เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการฐานทรัพยากรนั้น
ที่ผ่านมามักมีการไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านรับสารภาพเพื่อให้เรื่องจบ
แต่ชาวบ้านก็ต้องติดคุก และบางรายโดนคดีโลกร้อนเรียกค่าเสียหายซ้ำอีก
ส่วนในเรื่องดุลยพินิจในการประกันตัวนั้น
มีคำถามว่าการที่ชาวบ้านอยู่ในชุมชนมีความเชื่อมโยงกับถิ่นฐานที่อยู่
หากนำเสนอต่อศาลจะได้รับการพิจารณาหรือไม่
ซึ่งตรงนี้อาจใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์ทั้งกับชาวบ้าน
และการทำความเข้าใจต่อศาลได้
ส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาโดยนโยบายรัฐ ที่ผ่านมามีปัญหามาแล้ว
ตัวอย่างเช่น กรณีเขื่อนปากมูลที่มีมติ ครม.มาแล้วถึง 45 ฉบับ
หรือกรณีที่รัฐบาลสั่งการให้ชาวบ้านกรณีปัญหาที่ดินอยู่ทำกินไปพลางระหว่าง
กระบวนการแก้ไขปัญหา แต่ตรงนี้ศาลไม่รับฟังเพราะตีความว่าคำสั่งหรือมติ
ครม.ดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย ตรงนี้จะมีช่องในทางกฎหมายอย่างไรเพื่ออธิบาย
เพราะกรณีปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านมีความซับซ้อน
“กฎหมายล้าหลังรัฐธรรมนูญ กฎหมายแก้ไม่ทัน ศาลจะยอมรับไหม” รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายตั้งคำถาม
อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีเพียงศาลอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะต้องผลักดันไปยังทั้งศาล อัยการ และตำรวจด้วย
อนุกรรมการฯ กสม.เสนอ ‘ให้ผู้ต้องหาประกันตัวเองได้’
รศ.ประธาน วัฒนวาณิชย์
อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ
ได้มีการอบรมตำรวจทั่วประเทศทั้ง 7 ภาค
เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องร้องเรียนของกรรมการสิทธิฯ
เรื่องกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่อยู่ในชั้นตำรวจ อาทิ ซ้อมทรมาน
กระบวนการล่าช้า ไม่รับคำร้อง เป็นต้น
รศ.ประธาน กล่าวต่อมาถึงการปล่อยตัวชั่วคราวว่า
ปัญหาคือเมื่อถูกดำเนินคดีตามความผิดที่มีอัตราโทษสูง
การใช้ดุลยพินิจของตำรวจและศาลจะใช้หลักทรัพย์ที่สูง
กลายเป็นข้อจำกัดของกฎหมายที่ว่าคนจนไม่ได้ประกัน แต่คนรวยกลับได้ประกัน
อย่างไรก็ตามไม่ว่าคนจนหรือคนรวย
การประกันตัวไม่ใช่หลักประกันว่าจะมาตามหมายเรียก ซึ่งทุกประเทศรู้ดี
ทั้งนี้เรามีหลักปฏิบัติทางอาญาดีขึ้นกว่าอดีต
แต่จะดีกว่านี้ถ้าให้ผู้ต้องหาประกันตัวเองได้
เมื่อมีที่อยู่ที่แน่นอนมีเพื่อนมีญาติสนิท ทำงานเป็นหลักแหล่ง
และไม่มีประวัติอาชญากรรม
สำหรับข้อเสนอในการต่อสู้ รศ.ประธาน กล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คือ กรรมการสิทธิฯ ที่ปัจจุบันสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น
และสภาทนายความซึ่งจะมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา
จากปัญหาเดิมที่มีคือผู้ตกเป็นผู้ต้องหามักไม่ได้พบทนายความและไม่ได้รับคำ
ปรึกษาในทางคดี
ขณะที่ นายนิวัฒน์ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความระบุว่า
กฎหมายนั้นมีการละเมิดสิทธิ์อยู่แล้ว
แต่ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายโดยมองความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่ากัน
สิทธิของบุคคลถูกแยกด้วยความแตกต่างในเรื่องพื้นเพ
และสถานะบุคคลที่แตกต่างกัน
อีกทั้งกฎหมายให้อำนาจดุลยพินิจกับผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมมากเกินไป
“ชาวบ้านไม่ได้ถูกละเมิดโดยผลของกฎหมาย แต่ถูกละเมิดโดยวิธีการปฏิบัติของรัฐ” นายนิวัฒน์ กล่าว
ส่วนการเข้าถึงความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม นายนิวัฒน์ กล่าวว่า
สภาทนายความมีประธานสภาทนายความจังหวัด
ซึ่งชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเข้าไปขอคำปรึกษาได้
และขณะนี้สภาทนายความมีสมาชิกที่จะให้ความช่วยเหลือถึงกว่า 10,000 คน
ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องจ่ายค่าทนายความ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น