แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แอมเนสตี้เปิดรายงานประจำปี ชี้ ม.112 ติดปัญหาสิทธิไทย 5 อันดับแรก

ที่มา ประชาไท


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงปัญหาสิทธิไทยยังเผชิญเรื่องการถูกจำกัดเสรีภาพการแสดงออกจากการใช้ กม.หมิ่น-พ.ร.บ. คอมพ์ ร้องปล่อยตัว 'สมยศ' ในฐานะนักโทษทางความคิดอย่างไม่มีเงื่อนไข
23 พ.ค. 56 - ที่โรงแรมรอยัลเบญจา Amnesty International Thailand หรือองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2556 ซึ่งประมวลสถานการณ์สิทธิในรอบปี 2555  
 
สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการองค์การแอมเนสตี้ฯ กล่าวเปิดงานว่า การนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้มาจากการศึกษารวบรวมข้อมูลจากทั่วโลก และทำเป็นภาพรวมของโลก ภูมิภาค และของแต่ละประเทศ การนำเสนอรายงานวันนี้ เป็นรายงานประจำปี 2555 แอมเนสตี้ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมีความสัมพันธ์กัน มนุษย์ทุกคนต้องตระหนักและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนอื่นๆ ทั่วโลก มิใช่แต่ของชาติตนเท่านั้น 
 
 
เขากล่าวว่า นอกจากการจัดทำรายงานเผยแพร่แล้ว แอมเนสตี้ยังจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต ส่งเสริมสิทธิการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมในสาธารณะ ปกป้องนักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ องค์การพยายามเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ไปสู่รัฐและประชาชน เพื่อให้การผลักดันบรรลุผลได้ 
 
ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การองค์การแอมเนสตี้ฯ แถลงถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่สุดในประเทศไทย 5 ประเด็น ได้แก่ 
 
1. การขัดแย้งกันทางอาวุธ พลเรือนเป็นเป้าหมายในการโจมตี จนมีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ที่สำคัญคือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
2. การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น แต่กลับไม่สามารถนำผู้กระทำผิดที่เป็นฝ่ายความมั่นคงมาเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมได้ เช่น การประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกลายเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจกระทำการละเมิด สิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ในกรณีของเหตุการณ์รุนแรงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่จะต้องหาผู้รับผิดมาให้ได้ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำฝ่ายใดก็ตาม แต่กระบวนการนี้เป็นที่น่ากังวลเพราะดำเนินการไปอย่างเชื่องช้ามาก 
 
3. การถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมาการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 เกิดความล้มเหลว เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาก็ปฏิเสธที่จะนำการแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่วาระพิจารณา ต่อกรณีนี้ แอมเนสตี้จะเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ต่อไป ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องร้องเอาผิด และอัตราโทษที่สูงจนเกินไป 
 
ที่ผ่านมาแอมเนสตี้รณรงค์เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นักโทษทางความคิด” หมายถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ในขณะนี้มีกรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับกรณีของสมยศเป็น “บุคคลที่มีความเสี่ยง” โดยมีแผนจะยกระดับการรณรงค์เป็นในระดับนานาชาติต่อไป
 
4. ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองมีความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัวและถูกส่งกลับ ประเทศเดิม กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือชาวโรฮิงญา มีความเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับมาก การที่รัฐมีนโยบายช่วยเหลือโดยการให้เสบียงและน้ำมันเรือ เพื่อไม่ให้แวะฝั่งไทย ให้ไปต่อที่อื่น ไม่ใช่การช่วยเหลือที่แท้จริง แต่เปรียบเสมือนการส่งตัวกลับ นอกจากนี้ยังมีการใช้อาวุธกับผู้แสวงหาที่พักพิงด้วย  
 
5. การมีโทษประหารชีวิต แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้จะมีการปลดโซ่ตรวนของนักโทษประหาร แต่โทษประหารก็ยังคงอยู่ ปีที่ผ่านมีนักโทษประหาร 58 คนได้ลดโทษ เหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็มีผู้ได้รับโทษประหารใหม่อีกกว่าร้อยคน มากขึ้นกว่าปีก่อนหน้านี้ราวสองเท่า ต่อกรณีนี้ แอมเนสตี้กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาเลิกโทษประหารชีวิต และให้ผนวกเอานโยบายดังกล่าวไปใว้ในร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ที่รัฐบาลกำลังร่างอยู่ 
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตในทันที สนับสนุนมติการพักโทษประหารชีวิตต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี หน้า และเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิตลง โดยขณะนี้อาชญากรรมร้ายแรงที่มีโทษประหารชีวิตอยู่ 55 ความผิดอาญา รวมถึงเรียกร้องให้รัฐลงนามให้สัตยาบันในพิธีสารกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตภายในปี 2561 ด้วย
 
ภายหลังการแถลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ภรรยาของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสองคน ได้แก่ สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข และ อังคณา นีละไพจิตร ได้กล่าวถึงสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก และสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้หยิบยกประเด็นการใช้เสรีภาพในชีวิตประจำวันขึ้นมา โดยตั้งคำถามว่า เราสามารถทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้บ้างในสังคมที่เราอยู่ขณะนี้ 
 
“ลองนึกดูว่าในแต่ละวัน เราสามารถแสดงความคิดเห็นอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น แล้วเราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากโดยไม่ต้องเกรงว่าคู่สนทนาจะเอาไปนินทา หรือแจ้งความกับตำรวจ ในกรณีที่ใครซักคนอาจตีความว่า คำพูดของเราดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่า เรามีแฟนเป็นเสื้อแดง ชอบและชื่นชมการบริหารเศรษฐกิจแบบทักษิโนมิกส์ ไม่ชอบไปยืนรับเสด็จเพราะแดดร้อนหรืออะไรก็ตามแต่ หรือขี้เกียจยืนตรงในโรงหนังก่อนหนังฉาย ร้ายยิ่งไปกว่านั้น เราไม่สามารถที่จะเขียนหนังสือหรือบทความ หรือตั้งคำถามถึงความรักและศรัทธา ในสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ และเกินกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะอธิบายได้ หรือเอะใจและถามเพื่อนที่นั่งข้างๆเราในรถไฟฟ้าว่าจริงหรือไม่ เกี่ยวกับรายงานข่าวของนิตยสาร Forbes เรื่องราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดติดอันดับโลก หรือแม้แต่เมื่อมีคนเอารูปพระพุทธเจ้าปางตันตระมาลงในเน็ต แล้วคนจำนวนมากโมโหฉุนเฉียวและก่อนด่าว่า พวกที่เอารูปมาลงเป็นพวกมารศาสนา ทั้งๆที่พระพุทธรูปปางนี้ เป็นที่นับถือของชาวธิเบต...” สุกัญญากล่าว
 
"หากเรารู้สึกว่าทำไปแล้วจะถูกประณามกลับมาอย่างรุนแรงหรือถูกดำเนิน คดี ก็แสดงให้เห็นว่า สังคมปิดกั้นข้อมูล มักใช้ความรุนแรงเข้าปะทะ แต่ไม่หักล้างด้วยเหตุผล ไม่มีวุฒิภาวะในการอดกลั้นที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง แต่พร้อมจะเห็นด้วยจำกัดเสรีภาพโดยรัฐหรือหน่วยงานใดก็ตาม เช่นนี้คงไม่อาจบอกได้ว่าเราอยู่ในสังคมอุดมปัญญา"
  
นอกจากนี้ สุกัญญายังได้กล่าวถึงการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสืบเนื่องจากการ ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นกฎหมายที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ต้องหาในคดีนี้ ผู้ต้องหาจึงถูกปฏิบัติตอบด้วยความลำเอียง ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ เช่นการยกกำลังตำรวจพร้อมอาวุธครบมือบุกจับชาชราวัย 70 ปี การออกหมายจับและการจับกุมที่ไม่โปร่งใส การล่ามโซ่ตรวน การใส่กุญแจมือรวมกับนักโทษคนอื่นๆ การใส่ชุกนักโทษ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการสืบพยาน การไม่สิทธิปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสู้คดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการลงโทษหนักเกินกว่าพฤติการณ์แห่งคดี  
 
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่ปี 2547 กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ของประเทศไทยว่า ตัวเลขการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการทรมาน ลักพาตัว และอุ้มฆ่าลดลง  แต่กลับมาการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  ผู้เสียหายและญาติต่างสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรม แต่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นฝ่ายความมั่นคงกลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
 
 
อังคณาเห็นว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจแก้เจ้าที่รัฐ คุ้มกันพนักงานของรัฐ จนเกิดความเคยชินว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโอกาสถูกลงโทษน้อยมาก เจ้าหน้าที่บางรายจึงเลือกใช้วิธีการนอกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทส่วนบุคคล การกระทำเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการบังคับให้สูญหาย การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน ข่มขู่ คุกคาม จนกลายเป็นวิธีการที่ชอบธรรมและจำเป็นเพื่อควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ทั้งหมดนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 
ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวดังกล่าว มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย คือ ส.ส. พีรพันธ์ุ พาลุสุข และพรรคประชาธิปัตย์ คือ ส.ส. รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท มาร่วมฟังการแถลงรายงานตามคำเชิญของผู้จัดด้วย และได้รับมอบรายงานสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น