นักดาราศาสตร์ค้นพบกาแล็กซีขนาดใหญ่เป็น 10 เท่าของทางช้างเผือก ชี้เกิดจากการชนกันของดาราจักรเมื่อ 11,000 ล้านปีก่อน นับเป็นปรากฏการณ์ที่ตอบคำถามว่า กาแล็กซีขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้อย่างไร
ไฮ ฟู นักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเมืองเออร์วิน รายงานในนิตยสาร Nature ว่า กาแล็กซี HXMM01 เกิดจากการชนกันของสองกาแล็กซีเมื่อตอนที่จักรวาลเพิ่งมีอายุได้ เพียง 3,000 ล้านปี
กาแล็กซีที่ว่านี้มีดาวฤกษ์อยู่มากมายถึง 400,000 ล้านดวง ในแต่ละปีมีดาวฤกษ์เกิดใหม่ 2,000 ดวง ในขณะที่กาแล็กซีทางช้างเผือกของเรามีอัตราดาวฤกษ์เกิดใหม่แค่ปีละ 2-3 ดวง
กล้องโทรทัศน์อวกาศเฮอร์เชลได้ตรวจพบกาแล็กซีนี้ ตอนแรกนักวิจัยคิดว่า เป็นกาแล็กซีเดียวโดดๆ แต่เมื่อสังเกตเพิ่มเติมด้วยกล้องฮับเบิลและกล้องจันทรา ทำให้รู้ว่า อันที่จริง เอชเอ็กซ์เอ็มเอ็ม01 เกิดจากการชนกันของ2 กาแล็กซี ในแต่ละกาแล็กซีนั้น มีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 100,000 ล้านดวง
@ ในภาพ กาแล็กซีที่ชนกันอยู่ในเส้นประ กลุ่มสีแดงเป็นบริเวณที่ดาวฤกษ์กำลังก่อตัว สีเขียวเป็นก๊าซ
คาร์บอนมอนอกไซด์ภายในกาแล็กซี สีฟ้าเป็นแสงจากดาวฤกษ์ กลุ่มสีน้ำเงินขนาดใหญ่นอกวงกลมเป็น
กาแล็กซีที่อยู่ใกล้เข้ามาทางโลก
นักดาราศาสตร์รู้กันมานานแล้วว่า ในช่วงเวลาเริ่มแรกนั้น จักรวาลประกอบขึ้นด้วยกาแล็กซีรูปไข่สีแดงขนาดใหญ่ ภายในกาแล็กซีเต็มไปด้วยดาวฤกษ์อายุมาก
แต่นักดาราศาสตร์มีคำถามว่า กาแล็กซีขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆโดยการเคลื่อนเข้ารวมตัวกัน ของบรรดากาแล็กซีขนาดเล็ก หรือเกิดจากกาแล็กซีขนาดใหญ่พุ่งชนกันอย่างรวดเร็วและรุนแรง
การค้นพบกาแล็กซีนี้ได้ชี้ว่า คำตอบเป็นอย่างหลัง
ในจักรวาลยุคเริ่มแรก กาแล็กซีต่างๆมักรวมตัวกันกลายเป็นกาแล็กซีใหม่ แต่กาแล็กซีที่ค้นพบนี้มีจุดเด่นตรงที่ภายในมีฝุ่นเป็นปริมาณมหาศาล มีดาวฤกษ์ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และการรวมตัวได้ทำให้มันกลายเป็นกาแล็กซีขนาดมหึมา
ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์เข้าใจกันว่า การรวมตัวของกาแล็กซีเป็นไปอย่างช้าๆ และทำให้เกิดกาแล็กซีขนาดเล็ก ทว่าตัวอย่างในกรณีที่พบนี้ทำให้เกิดแบบจำลองใหม่ว่า กาแล็กซีรูปไข่ขนาดมหึมานั้นเกิดจากการชนกันอย่างรวดเร็วและรุนแรงของ กาแล็กซีขนาดใหญ่.
Source : Nature
by
sathitm
23 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:19 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น