ในระยะสองเดือนมานี้
พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการรุกทางการเมืองในขอบเขตจำกัด
ด้วยการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา มุ่งเฉพาะ “ลดเขี้ยวเล็บ”
ของพวกเผด็จการที่ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550
พร้อมทั้งผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
ที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับเฉพาะประชาชนและนักโทษการเมืองที่เข้าร่วมการ
ต่อสู้ตลอดกว่าหกปีมานี้ โดยยังไม่รวมแกนนำและนักการเมืองของทั้งสองฝ่าย
และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการปราบปรามประชาชนเมื่อเมษายน 2552
และสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553
ปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ
การประชุมประชาคมประชาธิปไตย ที่กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย
เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า
พรรคเพื่อไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะก้าวทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดนับ
ตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554
กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา
รัฐบาลและแกนนำพรรคเพื่อไทยได้แสดงท่าทีประนีประนอม กระทำทุกอย่างเพื่อ
“ขอหย่าศึก” กับฝ่ายเผด็จการแฝงเร้น
แนวทางดังกล่าวอาจเป็นสิ่งจำเป็นทางการเมืองในระยะแรกเนื่องจากเป็นเวลาที่
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ
ยังไม่สามารถยึดกุมอำนาจการบริหารของประเทศได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งป้อมค่ายของฝ่ายเผด็จการที่ยังเข้มแข็งและพร้อมที่จะรุมขย้ำรัฐบาล
ใหม่เมื่อใดก็ได้
ความพยายามของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่จะ “เกี้ยเซี้ย”
กับฝ่ายเผด็จการมาถึงจุดสำคัญในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2555 เมื่อ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “ประกาศสละเรือ” จากนั้น
พรรคเพื่อไทยก็เร่งเสนอพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติเข้าสู่สภา
โดยมีเนื้อหา “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” ให้กับทุกคนทุกฝ่ายโดยไม่แยกแยะ
พรรคเพื่อไทยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยในเวลานั้นก็
เพราะแกนนำพรรคเพื่อไทยกำลังเพ้อฝันไปว่า ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นได้
“เปิดไฟเขียว” ยอมประนีประนอมด้วยแล้ว
ในที่สุด ความพยายามที่จะ “ปรองดอง” ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ฝ่ายเผด็จการยังคงใช้บรรดา “องค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ”
ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ในสภาและมวลชนอันธพาลเสื้อเหลือง-หลากสีบนท้องถนน
บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ซ้ำรอยกับที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้ประสบจนถูกโค่นล้มมาแล้วเมื่อปี 2551
แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะถูกสกัดจนล้มเหลว
สร้างความผิดหวังอย่างยิ่งให้กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย แต่
พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติซึ่งประชาชนคัดค้านอย่างที่สุดนั้น
ก็ต้องสะดุดไปด้วยในคราวเดียวกัน
ฉะนั้น การรุกครั้งล่าสุดนี้ของพรรคเพื่อไทย
แม้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในขอบเขตที่จำกัดมาก
โดยยังไม่เป็นการปฏิรูปรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
รวมทั้งการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน
โดยไม่รวมแกนนำและนักการเมือง
จึงเป็นทิศทางการเมืองที่ถูกต้องและได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจาก
ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย
แต่ทว่า ในกระแสคลื่นการรุกดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม
อยู่บำรุงและสส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งกลับออกมา “จงใจกวนน้ำให้ขุ่น”
ด้วยการเคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติฉบับเหมาเข่ง
เข้าสู่สภาอีกครั้ง โดยชูคำขวัญว่า “เอาทักษิณกลับบ้าน” ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า
ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้
เพราะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่สั่งการให้ฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อ
เมษายน-พฤษภาคม 2553 ด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจาก พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็คือ พวกเผด็จการและสมุนรับใช้ของพวกเขาทั้งหมด รวม
ทั้งนักการเมืองอดีตพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และตัวพ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตรเอง พ.ร.บ.ปรองดองจึงเป็นกฎหมาย “เกี้ยเซี้ย ยื่นหมูยื่นแมว”
อย่างแท้จริง โดยมีประชาชนที่ต้องคดีการเมืองเป็นเครื่องต่อรองนั่นเอง
ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า พ.ร.บ.ปรองดองฉบับเหมาเข่งนี้มีลักษณะสองประการคือ เลวร้ายและเห็นแก่ตัว
ที่ว่าเลวร้ายนั้น เพราะเป็นการเอานิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกกระทำ
ไปผูกกับนิรโทษกรรมผู้ที่สั่งการสังหารหมู่ประชาชน
บีบบังคับให้ประชาชนที่เป็นเหยื่อต้องยอม “นิรโทษ”
ให้กับผู้ก่ออาชญากรรมต่อตน สิ่งที่ร.ต.อ.เฉลิม
อยู่บำรุงกระทำอยู่ก็คือ การใช้เท้าเหยียบย่ำไปบนซากศพประชาชนที่เสียชีวิต
ให้เป็นการตายที่ไร้ค่า
ตลอดจนซ้ำเติมครอบครัวญาติพี่น้องและมิตรสหายของพวกเขาทั้งหมด
ส่วนที่ว่า “เห็นแก่ตัว” ก็คือ
เอานิรโทษกรรมประชาชนไปผูกติดกับนิรโทษกรรมคดีการเมืองของ
พ.ต.ท.ทักษิณและนักการเมืองพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน
เสมือนต่อรองกับประชาชนว่า ถ้าอยากออกจากคุกและปลอดคดี
ก็ต้องให้พวกตนได้ประโยชน์ด้วย ส่วนคนที่บาดเจ็บพิการล้มตายนั้นให้ลืมเสีย
เพราะได้ “เยียวยา” ด้วยเงินก้อนโตไปแล้ว
ในหลายปีมานี้ ร.ต.อ.เฉลิมได้กระทำอะไรให้กับขบวนประชาธิปไตยบ้าง
นอกเหนือไปจากการห้อยโหนชื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในโอกาสต่างๆ?
มวลชนจำได้แต่เพียงว่า ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน
ร.ต.อ.เฉลิมได้แต่วิ่งหนีการชุมนุมของพวกอันธพาลเสื้อเหลืองทั้งที่ตนเป็น
ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มวลชนยังจำได้ว่า
ทุกครั้งที่มีข่าวลือรัฐประหาร
ร.ต.อ.เฉลิมจะเป็นคนแรกที่วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนไปออกชายแดนทันที!
ร.ต.อ.เฉลิมอาจจะไม่หยี่ระคนเสื้อแดง เพราะเชื่อมั่นว่า
ที่ตนได้ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นก็เพราะพ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า
ข้างหลังพ.ต.ท.ทักษิณ ก็คือประชาชนคนเสื้อแดงอันไพศาลซึ่งต่อต้าน
พ.ร.บ.ปรองดองฉบับเหมาเข่งนี้ และจะไม่มีวันลืมว่า ร.ต.อ.เฉลิม
คือผู้ที่หักหลังคนเสื้อแดงด้วยการผลักดันกฎหมายที่ “เลวร้ายและเห็นแก่ตัว”
ฉบับนี้
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การผลักดัน
พ.ร.บ.ปรองดองฉบับเหมาเข่งนี้กลับจะเป็นอันตรายต่อนายกฯ
ยิ่งลักษณ์และต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเอง
เพราะเป็นการตอกย้ำข้อโจมตีของฝ่ายตรงข้ามว่า ตั้งหน้าแต่จะช่วยเหลือ
พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการเฉพาะ
และเป็นการกระพือแรงต่อต้านที่มีต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
อันจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังดำเนิน
การอยู่ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อกลางปี 2555
แรงจูงใจที่แท้จริงของ ร.ต.อ.เฉลิม
อยู่บำรุงในการกระทำครั้งนี้คืออะไร? หลายคนเชื่อว่า ร.ต.อ.เฉลิมก็เพียงแค่
“เชลียร์ตะพึดตะพือ” ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ
เพื่อความมั่นคงในเก้าอี้รัฐมนตรีของตนโดยไม่ได้หวังผลจริงจังจาก
พ.ร.บ.ปรองดองแต่อย่างใด แต่ยังมีอีกคำตอบหนึ่งคือ ร.ต.อ.เฉลิม
“จงใจกวนน้ำให้ขุ่น” เพราะรู้ดีว่า การผลักดัน
พ.ร.บ.ปรองดองฉบับเหมาเข่งจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากทุกฝ่ายจนไม่สามารถ
ดำเนินการต่อไปได้
ซึ่งก็จะมีผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องล้มเหลว
ตามไปด้วย เมื่อพรรคเพื่อไทยจำต้องยอมถอยหลังเป็นคำรบสองในประเด็นเหล่านี้
แล้วหันหน้าไปบริหารเศรษฐกิจแต่อย่างเดียวดังที่ทำมาตลอด
โดยหวังไปชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า เก้าอี้รัฐมนตรีของ ร.ต.อ.เฉลิม
ก็จะมั่นคงถาวรไปจนครบวาระนั่นเอง ร.ต.อ.เฉลิมจะบอกได้ไหมว่า
คำตอบไหนถูกต้อง?
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น