“ถ้าคิดว่าผมไม่กลับแล้วบ้านเมืองจะได้ประชาธิปไตยมา บ้านเมืองจะได้ความยุติธรรมมา ไม่กลับก็ได้"
บทความจาก http://tgdr.blogspot.com/
‘ไม่เอาก็ได้
ไม่เป็นไร” นี่ดูเหมือนจะเป็นความหมายที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
สื่อถึงคนเสื้อแดงในการโฟนอินวันครบ ๓
ปีการเสียชีวิตของประชาชนผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีบอกว่า
(นาฑีที่ ๓๘:๕๕)
“เรื่องกฏหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่วรชัยมาถามผม
ผมบอกเอาเลยน้อง ขอให้ช่วยพี่น้องเราเถอะ ไม่ต้องห่วงผม ผมไม่กลับก็ไม่เป็นไร”
สืบเนื่องมาจากถ้อยความก่อนหน้าที่ว่า (นาฑีที่ ๓๗:๔๔)
“พี่น้องคนเสื้อแดงติดคุก บางคนเป็นไทยมุงติดไป ๓๐ กว่าปี
ความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้นอยู่มากมาย คุณวรชัยกับคณะจึงมีการร่วมกันว่า
ขอออกกฏหมายนิรโทษกรรมเถอะ...ขอเอาเป็นว่า เอาแค่ผู้บริสุทธิ
ประชาชนผู้มาร้องเรียนทั้งหลาย และติดคุกทั้งหลายเนี่ย ขอเอาตรงนี้ก่อน
เอาเจ้าหน้าที่ระดับล่างก่อน แต่ไม่ยกเว้นแกนนำ”
แต่ประเด็นสำคัญของร่างกฏหมายนี้อยู่ที่มาตรา ๓ วรรค ๒ ที่ว่า “การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว”
ซึ่งก็ไม่บังเอิญที่สื่อกลุ่ม ‘ไม่เลือกข้าง-ทักษิณ’ อย่างเครือเนชั่นเอาไปตีความแล้วเสนอเป็นข่าวว่าจะเป็นการนิรโทษกรรม 'จำเลย ๗ คดีใหญ่' มีคดีความผิดอาญามาตรา ๑๑๒ สามคน คือ น.ส. ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กับผู้ต้องเผาศาลากลางจังหวัดอุดร อุบล ขอนแก่น และมุกดาหาร อีก ๒๗ คน
ทว่าต้นสายก่อนการโฟนอินไม่ได้มีแค่นั้น
และไม่บังเอิญอีกเหมือนกันที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มี พ.ร.บ.
นิรโทษกรรมของตนเอง ๖ มาตรา นัยว่าเป็นทีเด็ดเก็บอยู่ในพกนานพอดู
รอจังหวะมาเปิดตัวช่วงนี้พอดี
ครั้นพอเปิดหน้าตักออกมาจริงๆ ปรากฏว่ามีเสียง ‘ไม่เอา’ ออกมาจากคนเสื้อแดงค่อนข้างดัง
ว่านี้เป็นหนทางอภัยโทษทุกฝ่ายทางการเมืองแบบ ‘เหมาเข่ง’ ชนิดทำให้ ‘คนสั่งฆ่า’ ล้วนลอยนวลไม่ต้องรับทัณฑ์จากการกระทำผิดทางอาญา
โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น อันมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. หน่วยงานฝ่ายทหารที่ ‘ลงมือกระชับวงล้อม’ ด้วยกระสุนจริง
และสไน้เปอร์ จนมีคนตายไปกว่า ๙๐ บาดเจ็บอีกเกินพัน
ขณะที่สื่อไม่เข้าข้างใคร ในวงเล็บ ‘ทักษิณ’ อย่างน.ส.พ.
คมชัดลึก ได้นำเสนอรายละเอียดร่างกฏหมายนี้อย่างเจาะลึกถึงเจตนาว่า “และที่สำคัญการนิรโทษกรรมนี้จะรวมไปถึงคดีความต่างๆ
ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
และนักการเมืองในรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณโดนด้วยหลังจากมีการปฏิวัติในปี ๒๕๔๙ ด้วย”
ก็เลยทำให้คำว่าเหมาเข่งมีนามสกุลต่อท้ายตามการเจาะไช
มิหนำซ้ำร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งทำท่าจะเป็น พ.ร.บ.
ติดลมบนขึ้นมาเมื่อปรากฏมี ส.ส. พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมสนับสนุนถึงกว่า ๑๕๐ ท่าน
รวมทั้งนายวรชัย เหมะ ผู้ที่ฉบับของตนเองมีส.ส.สนับสนุนแค่ ๔๒ วรชัยให้เหตุผลกับ สื่อไม่ค่อยเสี้ยมเท่าไหร่ ว่า “ให้เอาความรู้สึกของคนทั้งประเทศที่อยากให้มีความปรองดองเป็นตัวตั้งดีกว่า
ยืนยันว่าไม่ใช่การตีสองหน้า”
“ท่านเปลี่ยนจุดยืน
ไปสนับสนุนการไม่เอาผิดทหารฆ่าประชาชน...(และ)
ฉีกสัญญากับประชาชน...ไม่เป็นไร...เราจะนับหนึ่งใหม่”
รวมทั้งในแนวทางที่ว่า “เราจะใช้วิธีอย่างที่คุณจาตุรนต์ (ฉายแสง)เคยแนะนำ” อันเป็นการใช้หลายรูปแบบต่อเนื่องกันไป
เริ่มจากการพยายามให้สภาพิจารณาร่างของนายวรชัยก่อน
เพราะว่าได้รับการเลื่อนขึ้นมาเป็นวาระแรกแล้ว จากนั้นจะเอาร่างฯ อื่นๆ
เข้ามาปรับด้วยก็ได้ แต่ถ้าการออกเป็นพระราชบัญญัติเผชิญกับการต้านของฝ่ายค้าน และ
ส.ว. ลากตั้งมากจนจะไปไม่รอด รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนดเสียเลยได้
ด้วยเหตุนี้ แม้ ดร.ทักษิณ
จะมีความไม่แน่ใจต่อร่างนิรโทษกรรมของนายวรชัยนักว่า “เป็นกฏหมายที่อาจจะถกเถียงกันหน่อยว่า..กรรมเดียว
วาระเดียวกัน แต่ว่าให้ยกคนนั้น ยกคนนี้”
และ “กฏหมายฉบับนี้บางคนก็ทำเพื่อหวังว่า
เอาละ เอาพี่น้องออกมา ดำเนินคดีกับไอ้คนสั่งการ อภิสิทธิ์กับสุเทพ
ผมบอกได้เลยพี่น้องครับ นี่ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียวมันหลุด เพราะเขาช่วยกัน”
ความรู้สึกลึกๆ ของอดีตนายกฯ
คงเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีความสำคัญก่อนหน้ากระบวนการอื่น คำพูดจึงหลุดออกมาว่า “ความเป็นธรรมยังไม่เกิดหรอกครับ
บ้านเมืองเราวันนี้ ถ้าตราบใดรัฐธรรมนูญ ๕๐ ยังเป็นอย่างนี้
ความเป็นธรรมยังไม่เกิด”
ถึงกระนั้น ดร. ทักษิณยังกรุณาบอกว่า ‘แต่ก็ไม่เป็นไร’
“ถ้าคิดว่าผมไม่กลับแล้วบ้านเมืองจะได้ประชาธิปไตยมา
บ้านเมืองจะได้ความยุติธรรมมา ไม่กลับก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ให้กลับแล้วก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตย
ไม่ให้กลับแล้วก็ยังไม่ได้ความยุติธรรม ก็สู้กันต่อไป ไม่มีถอย”
ด้วยเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญานชัดเจนว่าไม่เอา
(เหมาเข่ง) ก็ได้ ไม่เป็นไร ทั้งนางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. และนพ.เชิดชัย
ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ต่างให้ความเห็นว่าจะสนับสนุนร่างของนายวรชัยเข้าสู่การพิจารณาเมื่อสภาเปิด
แม้แต่นายวรชัยยังเปลี่ยนใจขอชะลอร่างฯ เฉลิม กลับมาสนับสนุนร่างของตนเองก่อน
ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้พูดถึง พ.ร.บ. เหมาเข่งของ
ร.ต.อ. เฉลิมในการโฟนอินราชประสงค์ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม เลยสักนิด แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าอดีตนายกฯ
ไม่ขัดเรื่องนิรโทษกรรมโดยยกเว้นแกนนำ ส่วนจะไปถึงขั้นออกเป็น พ.ร.ก. ตามที่ นปช.
ยื่นไว้แล้วหรือไม่ เป็นสิ่งที่คาดหมายอะไรไม่ได้มากนัก
ดูจากท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตลอดสองปีที่ก้าวย่างอย่างระมัดระวัง
ไม่ยอมสุ่มเสี่ยงใดๆ ในเรื่องของผู้ต้องคดีเกี่ยวเนื่องการสลายชุมนุมในปี ๒๕๕๓
แล้วสะท้อนคำพูดของผู้เสียหายคนหนึ่ง
ซึ่งลูกชายถูกยิงตายในซอยรางน้ำระหว่างความตึงเครียดในการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม
๕๓ ก่อนทหารบุกเข้าสลายที่ราชประสงค์สามวัน
นายพันธุ์ศักดิ์
ศรีเทพ บิดาของ ‘เฌอ’ สมาพันธ์ ศรีเทพ
ผู้ตายวัย ๑๗ ปี บอกกับ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ตอนหนึ่งว่า
“ผมกล้าพูดเลยว่าถ้ารัฐบาลต้องกล้าที่จะเจ็บตัว
ต้องปะทะ เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมปรากฏ
แล้วเราจะเดินต่อไปข้างหน้าได้มากกว่าที่จะมารอวันหนึ่งแล้วต้องตายกันอีก
เพราะทั้งคนลั่นไก คนที่สั่งให้ลั่นไก และคนที่วางแผนให้ลั่นไก
เขารู้อยู่แล้วว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร”
หากว่าบางสิ่งที่ผู้เสียหายท่านนี้พูดในที่สาธารณะเป็นการว่าร้ายต่อรัฐบาลชุดที่มาจากการทุ่มเททั้งเลือดเนื้อ
และแรงใจของคนเสื้อแดง จะเป็นการสะท้อนความผิดหวัง และความอัดอั้น
จนไปเข้าทางฝ่ายตรงข้ามบ้างก็ตาม แต่ถ้อยคำสั้นๆ
ตอนหนึ่งในบรรดาเนื้อความที่เขาพรั่งพรูให้สื่อนำไปขยายผลนั้น มันมีความหมายกินใจ
และเตือนจำ ว่ามันมีทางเป็นไปได้เสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น