แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เสวนา Book Re:public: Terror Democracy - ก่อการร้ายและความรุนแรงในระบอบประชาธิปไตย

ที่มา ประชาไท


"กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช" อภิปราย "การก่อการร้าย" เป็นผลผลิตของแนวคิดแบบประชาธิปไตยเสรี - จึงขายดีกับประเทศที่มีเสรีประชาธิปไตยในขีดสุดยอดแล้วเท่านั้น - แต่กรณีของไทย ยังเป็นรัฐสมัยใหม่แต่เพียงภายนอก แต่ในเชิงอุดมการณ์ความคิดภายในยังมีลักษณะก่อนสมัยใหม่อยู่ เมื่อมีการใช้ วาทกรรม "การก่อการร้าย" จึงกลายเป็นเรื่องการทำร้ายพ่อ
25 พ.ค.56 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “Terror Democracy: การก่อการร้ายและความรุนแรงในระบอบประชาธิปไตย” มีวิทยากรโดย กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช หรือผู้ใช้นามแฝงในโลกออนไลน์ว่า FallingAngles และดำเนินรายการโดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเนื้อหาในการนำเสนอนำมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในหัวข้อ The Delegitimation of (Non-State) Violence: Constructing Terror in Modernity ซึ่งกฤดิกรศึกษาในด้านการก่อการร้ายศึกษา
กฤดิกรกล่าวว่าภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 (9/11) การก่อการร้ายในโลกตะวันตกกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและร้ายแรงที่สุดเรื่อง หนึ่ง นักโทษจากกรณีการก่อการร้ายถูกจัดการอย่างโหดร้ายทารุณที่สุดกรณีหนึ่ง ในอังกฤษยังเป็นเพียงไม่กี่คดีที่เหลืออยู่ที่มีการพิจารณาเป็นการลับ แต่ความหวาดกลัวในเรื่องการก่อการร้ายมีก่อนหน้านั้นนานแล้ว เพียงแต่กรณีเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์เป็นตัวมาจุดระเบิดขึ้นมา
ก่อนหน้านั้นการก่อการร้ายถูกมองในฐานะภัยที่คุกคามต่อชีวิต ที่ไม่อาจควบคุมได้ คาดเดาไม่ได้ หลบหนีไม่ได้ ไม่รู้เลยว่ามันจะมาเมื่อไหร่ หรือใครเป็นคนทำ และนับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นต้นมา มีการใส่วาทกรรมบางชุดเพิ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น วาทกรรมความไร้เหตุผล ความไร้ความเป็นมนุษย์ หรือมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

000
คำถามตั้งต้นในการศึกษาของกฤดิกร คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของสิ่งที่เป็นเป้าหมายโดยตัวมันเอง (What is the goal for the goal itself?) กล่าวคือในโลกสมัยใหม่ ประเทศซึ่งเป็นผู้นำของโลก ซึ่งจะเรียกจักรวรรดิ, ชาติมหาอำนาจ, G-7 ได้กลายเป็นเป้าหมายของประเทศอื่นๆ โดยทั่วไปที่กำลังพัฒนาอยู่นั้น แต่คำถามคืออะไรที่เป็นเป้าหมายของรัฐซึ่งเป็นเป้าหมายให้แก่รัฐอื่นๆ แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายสูงสุดอย่างสหรัฐอเมริกา ในเมื่อไม่ได้มีเป้าหมายอย่างอื่นให้ยึดถือเป็นแบบอย่างอีกต่อไป
คำถามนี้มาจากความเข้าใจที่ว่าโลกยุคปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ตอนนี้ ปฏิเสธค่อนข้างยากว่ากำลังอยู่ในยุคที่ถูกเรียกรวมอย่างหลวมๆ ว่า Liberal Modernity แม้จะมีการแย่งชิงจากทุกสำนักคิด หรือสร้างคำอธิบายในลักษณะต่างๆ เกี่ยวกับมันก็ตาม
สิ่งหนึ่งที่พอจะย้อนเข้าไปให้รากเหง้าหรือไอเดียของ Liberal Modernity ได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับกันมาก คือข้อเสนอของคานท์ (Immanuel Kant) เรื่อง “สันติภาพอันถาวร” (Perpetual Peace) โดยภาวะสมัยใหม่นั้นต้องตอบโจทย์เรื่องสันติภาพอันคงทนถาวร ไม่เกิดสงครามขึ้นอีกให้ได้ ในจุดนี้ ผลิตผลหนึ่งของ Liberal Modernity ที่ดูจะได้ชัยชนะเหนือผลิตผลอื่นๆ คือ Liberal Democracy หรือประชาธิปไตยเสรี ที่กลายเป็นตัวแทนของยุคสมัยนี้ไป โดยเงื่อนไขง่ายๆ ที่ว่ามันเป็นระบบที่อนุญาตให้ความแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ฆ่ากันตาย
แต่ก็มีความย้อนแย้ง (Paradox) ของประชาธิปไตยเสรีอยู่อย่างน้อยสองประการ ได้แก่ ความย้อนแย้งภายในตัวเอง และความย้อนแย้งภายนอก โดยความย้อนแย้งภายในตัวเองนั้นเป็นที่มาของคำถามดังที่ได้กล่าวไป กล่าวคือ ในเมื่อ Liberal Modernity มีเป้าหมายในการก้าวไปสู้เป้าหมายแล้ว หากเมื่อไหร่ที่มันได้กลายเป็น "เป้าหมาย" ขึ้นมาจริงๆ แล้วมันจะเหลืออะไรให้ไปต่อและเป็นเป้าหมายอีก
เพื่อตอบคำถามนี้ กฤดิกรได้ยกถ้อยคำของชิเช็ก (Slavoj Zizek) ที่กล่าวว่า “เหล่าผู้ยากไร้ทั่วโลกต่างเฝ้าใฝ่ฝันกันหวังว่าจะได้มีชีวิตเยี่ยงคน อเมริกัน แล้วเหล่าชนอเมริกันผู้มีอันจะกิน และถูกกักขังอยู่ในภาพของความสมบูรณ์พูนสุขของตนนั้นล่ะเฝ้าฝันถึงสิ่งใด? นั่นก็คงจะเป็นความล่มสลายของโลกที่จะมาทำให้ชีวิตของพวกเขาป่นปี้ลงได้” และโบรดิยาร์ด (Jean Boudrillard) ที่มองว่า “พวกเรานี่แหละที่เป็นคนใฝ่ฝันถึงเหตุการณ์อย่าง 9/11 ขึ้นมา แม้พวกเขาจะเป็นคนสร้างเหตุการณ์นั้น แต่เราหวังให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น”
ดังนั้น เป้าหมายของสิ่งที่กลายไปเป็นเป้าหมายให้สิ่งอื่นแล้ว ก็คือการพยายามพัฒนาตัวเองให้ไปถึงจุดสูงสุดเพื่อที่จะทำลายตัวเองให้ป่นปี้ ลงมา แต่ความย้อนแย้งนี้และเป้าหมายแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนจะรู้สึกถึงมันได้โดย ง่าย เพราะเราถูกหล่อหลอมให้หลงอยู่ในโลกจริงจำลอง (Simulation) ผ่านการเสพภาพจำลองต่างๆ จำนวนมากในปัจจุบัน เช่น ภาพยนตร์ ละคร การ์ตูน นิยาย เป็นต้น จนภาพจำลองนั้นได้กลายไปเป็นโลกจริงๆ ของเราแทน ทั้งที่ความเป็นจริงๆ กับความเป็นจริงในหัวเราอาจจะเป็นคนละอย่างกัน
ในประเทศที่มีความเจริญสูงได้มีการผลิตภาพจำลองออกมาเยอะ ซึ่งยิ่งทำให้ความเป็นจริงอันไม่จริง กลายมาเป็นโลกจริงมากกว่า ดังนั้นแม้คนอเมริกันจะฝันถึงการทำลายตัวเอง แต่พวกเขาจะไม่รู้สึกตัวว่าพวกเขาฝันอย่างนั้น และยังพยายามสนับสนุน ส่งเสริมประชาธิปไตยที่แลดูน่าถวิลหา ในแบบที่พวกเขาเชื่อว่ามันดี
สิ่งนี้ได้นำไปสู่ความย้อนแย้งภายนอก คือเมื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จะต้องปกป้อง นั่นหมายความว่าจะต้องสู้ฝ่าฝันให้ได้มันมา และปกป้องมันอย่างสุดความสามารถ อย่างเต็มกำลัง รวมไปถึงการฆ่าและการทำสงครามเพื่อประชาธิปไตย ฉะนั้นยิ่งต้องการสันติภาพอันถาวรเท่าไร แปลว่าก็ยิ่งต้องการสงครามที่ถาวร หรือต้องสู้เพื่อมันอย่างถาวรเท่านั้น กลายไปเป็นความย้อนแย้งอันที่สองของประชาธิปไตย ในแง่นี้ Perpetual peace จึงมีค่าเท่ากับ Perpetual war
ในประวัติศาสตร์ มีสงครามมากมายที่เกิดขึ้นภายใต้ความคิดว่ากระทำในนามสันติภาพ ทั้งสงครามเย็น ที่ทำเพื่อปกป้องสันติภาพของโลกตะวันตก หรือสงครามยาเสพติด จนมาถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terrorism) ซึ่งถูกพูดขึ้นครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดีโรนัล เรแกน แต่มาดังในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยเป็นสงครามนี้มีลักษณะเป็นวงกลมและไม่มีวันจบ เพราะมีลักษณะของการต้องการทำลาย Terror ด้วยการสร้าง Terror ขึ้นมาเอง สันติภาพอันถาวร จึงมีลักษณะของการสื่อถึงความหวาดกลัวอันไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะถ้ามันหยุดสันติภาพของคุณนั้นจะไม่ถาวร
อีกทั้ง เพื่อรักษาความหวาดกลัวอันไร้ที่สิ้นสุด จำเป็นต้องมีการสร้างกลไกที่จะมารองรับอย่างถาวร เพื่อทำให้คนระลึกถึงความกลัวเอาไว้ตลอดเวลาด้วย จึงมีสิ่งที่ตามมาในสหรัฐฯ คือการสร้างระบบป้องกันภัย หรือระบบรักษาความปลอดภัย (Surveillance system) ขึ้นมา ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลัง 9/11 เช่น กล้องวงจรปิด, ระบบสแกนม่านตา หรือการดักตรวจข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันภัยคุกคามของการก่อการร้าย
คำถามคือการก่อการร้ายเป็น “ภัย” หรือเปล่าในตัวมันเอง กฤดิกรได้นำเสนอตัวเลขสถิติของทางการสหรัฐฯ เอง ที่เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตจากการก่อการร้าย และจากกรณีอื่นๆ พบว่าคนสหรัฐฯ 1 ใน 236 ตายจากการตกจากที่สูง, 1 ใน 325 ตายจากการโดนอาวุธยิง และ 1 ใน 80,000 มีโอกาสตายจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับการตายจากการโดนอุกกาบาตตกใส่ หรือสถิตที่ระบุว่ามีคนตายจากการก่อการร้ายทั่วโลกในแต่ละปีเฉลี่ย 300 – 700 คน (นับแต่ปี 1968 - ปัจจุบัน) เมื่อเทียบกับจำนวนคนตายทั่วโลกโดยประมาณต่อวันจากความยากจน ประมาณ 40,000 คน และจำนวนคนตายทั่วโลกโดยประมาณต่อปี จากเชื้อ HIV ประมาณ 3 ล้านคน
จะเห็นได้ว่าโดยเปรียบเทียบ การก่อการร้ายไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเป็น “ภัย” ได้เลยโดยภาพรวม หากแต่งบประมาณจากการป้องกันการก่อการร้ายสูงมากเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐฯ มากกว่าการจัดการความยากจน 3-4 เท่าได้ แต่ถ้าพูดถึงมันในฐานะภัยกลับมีต่ำกว่ามาก คำถามคือทำไมจะต้องไปป้องกันมันขนาดนั้น
ในงานของโจเซบ้า ซูไลก้า (Joseba Zulaika) ชื่อว่า War on Terror: A Self-Fulfilling Prophesy ได้เสนอว่าสงครามก่อการร้าย และนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินอยู่ กำลังจะทำให้สิ่งที่ไม่ได้แม้แต่จะเป็นภัยอะไร กลายเป็นภัยขึ้นมาจริงๆ โดยระบบป้องกันภัยต่างๆ ทำให้คนอเมริกันรู้สึกว่ามันเป็นภัยที่จริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ และทำให้เชื่ออย่างมั่นใจว่านี่คือภัยอันร้ายแรง สิ่งที่เรากำลังเจอในปัจจุบันจึงเป็นขั้นตอนการกำลังเกิดขึ้นจริง (Process of becoming real) โดยทำให้ภัยที่มันไม่มีอยู่จริง เป็นจริงขึ้นมา
กฤดิกรเสนอว่าสิ่งนี้เป็นการทำงานของภาวะสมัยใหม่โดยมันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่ารัฐ ไม่ใช่ตัวรัฐหรือรัฐบาลเองเป็นผู้วางแผนหรือกำหนดได้ แต่รัฐเองก็เชื่อแบบนั้นเช่นกัน ในงานของซูไลก้ายังชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 คนอัฟกานิสถานเองก็ไม่ได้ชื่นชมอัลเคด้า แต่หลังสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จำนวนสาขาในตะวันออกกลางของอัลเคด้าเพิ่มขึ้นสูงมากในเวลาเพียง 4-5 ปี และคนก็เทใจให้อัลเคด้ามากขึ้นด้วย
ในส่วนต่อมา กฤดิกรกล่าวถึงผลิตผลที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในภาวะสมัยใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ โดยก่อนการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยเสรี สถานะของความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นHuman Being แต่อยู่ในสถานะ Human Subject โดยรัฐก่อนประชาธิปไตย คนๆ ทั่วไปในรัฐนั้นอยู่ในฐานะก้อนเนื้อหรือกระดูกที่อนุญาตมีชีวิตอยู่ได้ และสามารถถูกริบคืนได้ทุกเมื่อ หรือเป็นทรัพย์สมบัติของผู้นำเหนือดินแดนนั้น
เมื่อเกิดประชาธิปไตยเสรีและรัฐชาติ ได้ให้อำนาจของคนในการแชร์ความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนเท่าๆ กัน ทำให้คนเปลี่ยนสถานะจากผู้เป็นทรัพย์สินของคนอื่น มาเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินร่วมกันอย่างเท่าเทียม แต่การได้สิทธิและอำนาจตรงนี้มาจำเป็นต้องมีข้อแลกเปลี่ยน โดยสิ่งที่รัฐให้คือความมั่นคงปลอดภัย สิทธิต่างๆ และเสรีภาพ แต่เราก็ต้องแลกด้วยอัตลักษณ์ และความเชื่อฟังที่ต้องมอบให้รัฐ
ระบบนี้เองได้ทำให้เกิดเสรีภาพที่ปราศจากเจตจำนงอันเสรี เพราะเราถูกบังคับให้เกิดการแลกเปลี่ยนนี้ขึ้น โดยเราไม่มีทางเลือกอื่นที่จะออกไปได้ เราไม่มีสิทธิเลือกว่าจะเป็นสมาชิกของรัฐหรือไม่เป็น แต่รัฐมีสมมติฐานแล้วว่าทุกคนต้องการความมั่นคงปลอดภัย อีกทั้ง เจตจำนงเสรีที่ถูกพรากไปแต่แรกเกิด ก็จะถูกสวมทับใหม่ด้วยเจตจำนงเสรีตัวใหม่ที่รัฐจะมอบให้ นั่นก็คือกฏเกณฑ์ของรัฐ หรือกฎหมาย โดยกฎหมายได้ทำหน้าที่แบ่งคนเป็นสองกลุ่ม คือผู้ที่เชื่อฟัง กับผู้ไม่เชื่อฟัง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือความย้อนแย้งในตัวเองของภาวะกฎหมาย โดยคุณจะสามารถเป็นคนนอกกฎหมายได้ก็เมื่อกฎหมายสั่งคุณว่าเป็นคุณเป็นคนนอก กฎหมาย เมื่อคุณทำผิดข้อตกลงของกฎหมาย นั่นหมายความว่าการที่จะเป็นคนนอกกฎหมายต้องมีคำสั่งหรืออำนาจมาควบคุมอีกที หนึ่ง นั่นทำให้คุณไม่สามารถหลุดออกไปจากระบบรัฐชาติได้อย่างแท้จริงได้ เพราะการจะหลุดไปยังคงต้องอ้างอิงกับระบบรัฐชาติเดิมอยู่
กฤดิกรกล่าวถึงประเด็นที่ว่าใครกันแน่คือต้นตอของความหวาดกลัว ระหว่างการก่อการร้ายหรือภาวะสมัยใหม่เอง จากสถิติตัวเลขการตาย เวลาเราจะรู้สึกว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว เกิดจากสิ่งนั้นมีผลเสียต่อเรา และผลเสียที่สูงที่สุดคือการทำให้เราเสียชีวิต โดยการกลัวความตายนี้เป็นผลผลิตที่สำคัญของระบบ Liberal Modernity กล่าวคือเพราะเรากลัวตาย จึงต้องเรียกหาความปลอดภัยจากการคุ้มครองของรัฐ
ระบบเสรีประชาธิปไตยได้ให้สิทธิที่สำคัญที่สุด คือ "สิทธิในการมีชีวิต" (Right to Live a Life) การมีชีวิตอยู่ได้กลายเป็นคุณค่าสำคัญในระบบคิดในยุคสมัยใหม่ สิ่งที่น่าหวั่นกลัวที่สุดจึงเป็นการพรากสิทธิในการมีชีวิตอยู่ไปนั่นเอง ความกลัวความตายจึงเป็นผลผลิตสำคัญและทรงคุณค่าของยุคสมัยใหม่ ตามแนวคิดของฮอบส์ (Thomas Hobbes)
สิ่งที่เป็นต้นตอของความหวาดกลัวหรือการกลัวความตาย จึงคือ Liberal Modernity เอง ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก อย่างก่อการร้ายหรือการก่ออาชญากรรม ต่อให้เกิด 9/11 ขึ้นอีกสิบครั้ง ถ้าหากเราไม่มีความกลัวความตาย เราก็จะไม่เกิดความรู้สึกตื่นตระหนกเหมือนที่เรามีในปัจจุบันนี้ แต่จะรู้สึกเช่นเดียวกับเวลาวัวโดนเชื้อโรคฆ่าตาย เป็นความกลัวในลักษณะของทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์สินหายไป
ผลกระทบของการกลัวความตายนั้น ยังไม่ได้จบลงแค่ว่ามันเป็นต้นกำเนิดของความหวาดกลัวที่แท้จริงของมนุษย์ยุค ใหม่เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงอย่างกับเป้าหมายของภาวะสมัยใหม่ที่อยู่ ณ จุดสูงสุดด้วย นั่นก็คือ การทำลายตนเองของภาวะสมัยใหม่ โดยยิ่งมีความกลัวมากขึ้นเท่าไร เรายิ่งเรียกหาความคุ้มครองมากขึ้นเท่านั้น แล้วเราจะรู้สึกว่านี้เป็นการเรียกร้องโดยความพร้อมใจของเราเอง หากแต่เป็นความพร้อมใจในโลกที่ถูกจำลองขึ้น
การเพิ่มขึ้นของระบบคุ้มครอง ระบบรักษาความปลอดภัย จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มพลังให้กับความหวาดกลัวต่อภัยที่ทำให้เราตายได้ เมื่อเราเห็นกล้อง เห็นเครื่องสแกนต่างๆ มันเตือนว่าภัยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เราจึงเห็นการคุ้มครองไปพร้อมๆ กับการเห็นภัยไปด้วย
ด้วยความหวาดกลัวต่อความตายที่มากขึ้น ผ่านวาทกรรมการก่อการร้าย ทำให้พลังของโลกจริงจำลอง เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เนื้อหาของการกระทำต่างๆ ถูกเมินเฉยไป หรือสูญสิ้นความหมายทั้งหมด เหลือแต่ Form of doer หรือสัณฐานของผู้กระทำ ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนมาบังคับให้คุณถอดเสื้อผ้าออกให้หมด แล้วก็เข้ามาสัมผัสจับต้องร่างกายคุณ และขู่ว่าหากไม่ทำตามจะยิง หรือจะจองจำไว้ เขาจะถูกตราหน้าทันทีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นอาชญากร แต่หากผู้กระทำนั้นอยู่ในชุดยูนิฟอร์มของเจ้าหน้าที่รัฐ การกระทำแบบเดียวกันอาจจะถูกมองทันทีว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและ ทรัพย์สินของเรา และสามารถยอมรับได้ เนื้อหาของการกระทำไม่มีความหมายและไม่มีความสำคัญอีก โลกหลัง 9/11 ทำให้ผู้ก่อการร้ายกลายไปเป็นผู้สร้างความหวาดกลัวในความเข้าใจของเราไป
กฤดิกรเสนอว่า 9/11 แท้จริงแล้วเป็นภาพสะท้อน หรือปฏิกิริยาสะท้อนกลับของภาวะสมัยใหม่ กลุ่มที่ถูกจับตามองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายต่างๆ นั้น ล้วนแต่เป็นภาพของผู้ที่มี “ความล้าหลัง” หรือความก่อนสมัยใหม่อยู่ในตัว โดยคนกลุ่มเดียวที่จะสามารถออกหลุดออกจากภาวะ Modernity คือคนกลุ่มนี้ หรือกลุ่ม Pre-modern คือการหลบหนีก่อนที่จะโดนมันจับ 9/11 จึงคือการพยายามหลบหนีจากภาวะ Modernity อย่างสุดตัวของเหล่าคนกลุ่มก่อนสมัยใหม่
ดังนั้นถ้าสหรัฐฯ เป็นจุดหมายสูงสุดของภาวะสมัยใหม่ คนกลุ่มนี้เป็นภัยแปลกปลอมที่น่ากลัวมาก เพราะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่พวกเขาไม่เข้าใจ มันกลับหัวกลับหางความเข้าใจ เช่น การไม่มอง “ชีวิต” ว่าเป็นสิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญ แต่มองว่าสิ่งที่เป็นคุณค่ามันอยู่เหนือกว่าชีวิต ถ้าทำไปแล้วจะหลุดพ้นต่างๆ หรือได้ไปพบพระเจ้า ซึ่งคนสมัยใหม่ไม่เข้าใจสิ่งนี้ เพราะความคิดนี้ได้ตีความชีวิตอย่างกลับหัวกลับหาง
ขณะเดียวกันในอีกแง่หนึ่งนั้น มันก็เป็นตัวตนที่จำเป็นอย่างมากต่อภาวะสมัยใหม่ เพราะกลุ่มพวกนี้เป็นเสมือนเป้าหมายที่จะทำให้ Liberal Modernity ขยายตัวและไปถึงจุดที่ไปถึงเป้าหมายในตัวมัน คือการล่มสลายของตัวเองได้ ตัวตนของคนกลุ่มนี้จึงเป็นทั้งภัยและสิ่งเสพติดในเวลาเดียวกันสำหรับภาวะ สมัยใหม่
กฤดิกรยังกล่าวถึงกรณีวาทกรรมการก่อการร้ายในประเทศไทย แม้จะมีการขายวาทกรรมนี้พอสมควร เช่น กรณีคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย หรือกรณีสามจังหวัดภาคใต้ แต่เหตุใดมันจึงไม่เคยขายออกในลักษณะเดียวกันกับโลกตะวันตก ซึ่งวาทกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
กฤดิกรอธิบายว่าดังที่กล่าวไปว่าการก่อการร้ายเป็นผลผลิตของแนวคิดแบบ ประชาธิปไตยเสรี มันจึงขายดีกับประเทศที่มีเสรีประชาธิปไตยที่ไปถึงจุดสุดยอดแล้วเท่านั้น แต่กรณีของไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐสมัยใหม่แต่เพียงภายนอก แต่ในเชิงอุดมการณ์ความคิดภายใน ยังมีลักษณะก่อนสมัยใหม่อยู่ โดยหากบอกว่าประเทศไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยเสรี เราต้องถูกทำให้เชื่อว่าแผ่นดินนี้ทุกกระเบียดนิ้ว เป็นของทุกคนร่วมกัน แต่เราไม่ได้เชื่อเช่นนั้น ฉะนั้นเมื่อมีการใช้วาทกรรมการก่อการร้ายขึ้น มันจึงขายไม่ค่อยออก เพราะมันไม่ใช่การทำร้ายสมาชิกทุกๆ คนในรัฐอย่างเท่ากันหมด แต่มันเป็นการ "ทำร้ายพ่อ เพราะนี่คือแผ่นดินของพ่อ"
ในช่วงท้าย กฤดิกรกล่าวว่าการอธิบายทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าตนต่อต้านเสรี ประชาธิปไตย แต่เห็นว่าการที่เราจะสนับสนุนอะไร จำเป็นต้องรู้จักมันทุกแง่ ทั้งในด้านบวกและลบของมัน เห็นหลายด้านไปพร้อมกัน เราสนับสนุนประชาธิปไตย แต่มันก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม หรือไม่หลอกลวงเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น