"มันเปลี่ยนจากภาพของการพังทะลายไปสู่สภาวะเฟื่องฟู และค่อนข้างมั่นคง อันเป็นตำนานของความสำเร็จ"
ถอดความ (โดยระยิบ เผ่ามโน) จากข้อเขียนของจอนาธาน เท็ปเปอร์แมน ในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ เรื่อง Can Egypt Learn from Thailand?
กรุงเทพฯ
ถูกเขย่าด้วยการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อต้นเดือนนี้ มันเป็นสภาพอันน่ารำคาญที่เคยคุ้นๆ
กันอยู่
หากแต่ข่าวร้ายไม่ควรที่จะบดบังข่าวดีไปเสียหมด
การชุมนุมอันวุ่นวายอาจจะเป็นสิ่งธรรมดาสำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนัก
ทว่าตลอดสองปีมานี้มันกลายเป็นเรื่องไม่เหมือนเดิมไปเสียแล้ว มันเปลี่ยนจากภาพของการพังทะลายไปสู่สภาวะเฟื่องฟู
และค่อนข้างมั่นคง อันเป็นตำนานของความสำเร็จ การพิจารณาว่าเขาทำกันได้อย่างไรนั้นนับเป็นประเด็นสำคัญในที่นี้
ไม่เพียงแต่สำหรับประชาชนไทย ๖๕ ล้านคน ด้วยว่าถ้าสถานที่ซึ่งมีการแบ่งขั้วกันประมาณนี้ยังสามารถถอนกลับมาจากปากเหวได้
สังคมที่แตกแยกกันรุนแรงอื่นๆ ก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน
เพื่อจะเข้าใจว่าทำอย่างไรประเทศไทยจึงฟื้นตัวเองได้รวดเร็ว
และมากมายเช่นนี้ ขอให้ดูอดีตในระยะสั้นที่ผ่านมา ด้วยการตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวว่าเป็นแดนแห่งรอยยิ้มหมื่นพัน
ประเทศไทยเสียเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมาต่อสู้กับตัวเอง
ความเสียหายเริ่มต้นจริงๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ กองทัพด้วยการทำไม่รู้ไม่ชี้แต่ให้ท้ายเมื่อทำผิดโดยกลุ่มเชิดชูสถาบันกษัตริย์
และพวกตุลาการ ทำการยึดอำนาจโค่นล้มนายกรัฐมนตรีนักประชานิยม ทักษิณ ชินวัตร
การรัฐประหารครั้งนั้นจุดไฟของการประยุทธห้ำหั่นกันกลางถนนระหว่างกองกำลังพลเรือน ‘เสื้อเหลือง’ ผู้ปกป้องระบบกึ่งศักดินาโบราณ กับ ‘เสื้อแดง’ ผู้สนับสนุนทักษิณในหมู่คนยากจนตามบ้านนอก และในเมือง อำนาจการเมืองเปลี่ยนมือสี่ครั้งในระยะเวลาสี่ปี
และในเดือนมกราคม (ที่จริงคือเดือนเมษายน-พฤษภาคม-ผู้ถอดความ) ๒๕๕๓ ตำรวจ
(ที่จริงคือทหาร-ผู้ถอดความ) ตอบสนองต่อการประท้วงครั้งใหญ่ของเสื้อแดงด้วยการฆ่าผู้ประท้วงกว่า
๙๐ คน ทำให้บาดเจ็บ ๒,๔๐๐ คน และจับขังคุกร้อยกว่าคน เศรษฐกิจจมดิ่งลง
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
น้องสาวของทักษิณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และทุกวันนี้เทอมสี่ปีของเธอยังมาได้ไม่ถึงครึ่งดี
ประเทศไทยดูเหมือนเป็นประเทศใหม่แล้ว
ตามการประเมินของรูจิร ชาร์มา หัวหน้าแผนกวิเคราะห์การตลาดที่กำลังรุ่งเรือง
ของบริษัทมอร์แกน สแตนลี่ย์ เศรษฐกิจไทยแจ่มจรัสที่สุดในรอบ ๑๕ ปี
ค่าเงินยกระดับขึ้น ราคาที่ดินสูงขึ้น และตลาดหุ้น ขยายตัวเป็นสี่เท่า นับแต่ปี ๒๕๕๑ นักท่องเที่ยวพากันหวนกลับไปอีก
บนท้องถนนสงบเรียบร้อยโดยทั่วไป (ยกเว้นเหตุการณ์โฉ่งฉ่างในเดือนสิงหาคม)
เช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดของพี่ชายซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ
ทำได้อย่างไรกัน สูตรสำเร็จกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่มักจะหลอนตา คือวิธีการปกครองที่หมดจด
และไม่เจ้าเล่ห์ ประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม และมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าใจดีว่าเธอไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายใหญ่ๆ
และยกระดับความเป็นอยู่ของคนยากจนได้ ถ้าเธอไม่ทำให้ดินแดนแห่งนี้สงบลง
และอยู่ในตำแหน่งให้ครบวาระเสียก่อน ในการทำอย่างนั้นเธอต้องให้ประชาชนทุกๆ
คนได้รับส่วนแบ่งเหมือนๆ กันในความสำเร็จของเธอ ดังนั้นเธอจึงได้เริ่มรณรงค์โครงการกระตุ้น
และปฏิรูปเศรษฐกิจชนิดหักโหม แผนงานบางอย่างของเธอ เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ๔๐
เปอร์เซ็นต์ และอุดหนุนการซื้อรถคันแรก มุ่งประโยชน์โดยตรงต่อฐานมวลชนคนชั้นต่ำ แต่ว่าโครงการอื่นๆ
เช่น งบประมาณรายจ่ายสาธารณูปโภค และลดภาษีรายได้ส่วนบุคคล กับธุรกิจ มูลค่า ๒.๒
ล้านล้านบาท จะเป็นประโยชน์แก่พวกคนร่ำรวยด้วยเช่นกัน
เธอยังหาทางสงบศึกทางการเมืองอีกด้วย เธอพยายามญาติดีกับฝ่ายตรงข้าม
เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ซึ่งทรงเปี่ยมด้วยเดชานุภาพ
และเป็นที่นิยมชมชื่น และแม้แต่กับนายพลผู้ซึ่งกล่าวกันว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารโค่นพี่ชายของเธอ
ตามความเห็นของฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.ยิ่งลักษณ์
ดึงพวกชนชั้นสูงเข้ามาร่วมด้วยการเกี๊ยเซี๊ยลับๆ เธอรักษาสิทธิพิเศษของพวกนี้ไว้
แลกกับที่พวกเขายอมให้เธออยู่ในอำนาจ
ดังนี้เธอจึงไม่แตะต้องกองทัพ แม้แต่การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมด้วยตัวเองเมื่อเร็วๆ
นี้ ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีใครที่ไหนมายุ่มย่ามกับการที่เธอยกให้ฝ่ายทหารเป็นเอก
เธอพยายามเลี่ยงไม่ทำตัวท้าทายรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี ๒๕๕๐ ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน-ผู้ถอดความ)
รวมทั้งกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่โด่งดังในทางร้าย ซึ่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์
เธอควบคุมให้การคอรัปชั่น และปัญหาไม่รู้จบของประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำ
และเธอให้ความมั่นใจว่าพี่ชายของเธอผู้ซึ่งพวกผู้ลากมากดียังหวาดระแวง และแหนงใจ
จะคงลี้ภัยอยู่ต่อไป
เหล่านี้ในหลายๆ กรณีเป็นการเกี๊ยเซี๊ยที่น่าเกลียด
มันหมายความว่ายิ่งลักษณ์จะต้องอดทนกันการตรวจสอบต่ออำนาจของเธออย่างไม่เป็นประชาธิปไตย
และขีดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก แม้จะมีร่างกฏหมายนิรโทษกรรมกำลังพิจารณาอยู่ในสภา
พวกผู้สนับสนุนที่เป็นเสื้อแดงส่วนหนึ่งพากันโกรธเคืองเธอว่าไม่ได้ช่วยครอบครัวของผู้ที่ตาย
และถูกคุมขังจากการกระทำของรัฐบาลซึ่งมีทหารอยู่เบื้องหลังเมื่อปี ๒๕๕๔
อีกทั้งมันเป็นการต่อรองที่เปราะบาง
การฟื้นฟูประเทศไทยอาจพังครืนลงได้ง่ายๆ พวกเสื้อเหลืองที่ตายยากยังคงตะบันใส่ความเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของนายกฯ
เหมือนเช่นนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อยกระดับราคา กลับกลายเป็นแรงกระแทกย้อนหลังใส่ตนเองไม่เป็นท่า
ภยันตรายอื่นก็ยังไม่หมดไป เศรษฐกิจยังหนีไม่พ้นต้องพึ่งพาการส่งออก
ในขณะที่ดูเหมือนทุกคนกำลังอูฟูมากขึ้น แต่ปรากฏว่าความไม่เท่าเทียมกันยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่สามารถลบล้างเส้นแบ่งแห่งชนชั้นในประเทศไทยได้
หรือแม้แต่ปิดไว้ด้วยแผ่นกระดาษ การปะทะกันของอำนาจซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้รอยแยกนั้นอาจปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้
โดยเฉพาะเมื่อพี่ชายของเธอได้กลับบ้าน หรือพระเจ้าอยู่หัวซึ่งพระชนมายุเข้า ๘๕
ชันษา ทรงผ่านพิภพไป แต่ว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังมีสันติ และเศรษฐกิจยังเติบโตต่อเนื่อง
ก็ยังเป็นไปได้ที่การเมืองประชาธิปไตยอันแท้จริงจะอยู่ยงในประเทศนี้
เพื่อที่เมื่อใดท้ายที่สุดประเทศต้องเผชิญหน้ากับการแตกแยกอีก
จะกระทำผ่านการลงคะแนนเสียง ไม่ใช่ด้วยการฟัดเหวี่ยงบนท้องถนน
แท้จริงแล้ว ข้อเสียจากการเกี๊ยเซี๊ยครั้งใหญ่ของ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับเป็นส่วนหนึ่งของแผนอันฉลาดล้ำ ความจริงที่ว่าทุกคนอึดอัดรำคาญกับการต่อรองขอสงบศึกของเธอ
นั่นเป็นสัญญานที่ดียิ่ง ไม่ใช่เรื่องร้ายอันใด มันหมายความว่าไม่มีใครใดเลยได้สิ่งที่เขาต้องการจากเธอ
นี่แหละคือวิธีที่ทำให้การปรองดองได้ผล ถึงมันจะดูเลอะเทอะ ซึ่งใช่ละมันเปรอะไปหมด แต่มันก็เป็นความเปรอะเปื้อนที่ประเทศอื่นๆ
อย่างอียิปต์ เวเนซูเอล่า หรือซิมบาบเว ทำได้เพียงชื่นชมเท่านั้นในเวลานี้
(จอนาธาน เท็ปเปอร์แมน เป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร ฟอเรจ์น
แอฟแฟร์)
บทความเกี่ยวเนื่องโดยระยิบ เผ่ามโน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น