ที่มา Thai E-News
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2556
ฝ่ายจารีตนิยมได้ก่อการรุกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีมานี้
โดยระดมองคาพยพทั้งหมดของตนออกมาล้อมกรอบขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ฉวยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยกระทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ผลักดันนิรโทษกรรม
เหมาเข่ง
การใช้เล่ห์เพทุบายทางสภาผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยพรรค
เพื่อไทยได้สร้างความโกรธอย่างรุนแรงทั้งในหมู่มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่สนับ
สนุนพรรคเพื่อไทยและในหมู่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯที่มีจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์
กับพรรคเพื่อไทยอยู่ก่อนแล้ว
พวกจารีตนิยมได้ฉวยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยตกในสถานะโดดเดี่ยวจากมวลชนของตนและ
จากความโกรธของชนชั้นกลาง
ก่อกระแสคลื่นการเคลื่อนไหวมวลชนขนาดใหญ่ขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลโดยอ้างวาทกรรม
“ต่อต้านนิรโทษกรรมคนโกง” มีเป้าหมายที่จะโค่นล้มนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์
ชินวัตรและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ทำลายล้างตระกูลชินวัตรและขบวนประชาธิปไตยทั้งหมดในคราวเดียว
นี่เป็น “สงครามเผด็จศึกครั้งใหญ่” ของพวกจารีตนิยม
พวกเขาจึงระดมสรรพกำลังออกมาอย่างเป็นระบบ ทั้งอธิการบดี
ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ โรงพยาบาล รัฐวิสาหกิจ
บริษัทเอกชนและลูกจ้าง ไปจนถึงข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม
และสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมด
จนกลายเป็นกระแสการรุกที่มีลักษณะชนชั้นและลักษณะปฏิกิริยาถอยหลังอย่าง
ชัดเจน
การปะทะกันทางการเมืองครั้งนี้มีลักษณะทางชนชั้นอย่างเด่นชัด
พลังมวลชนที่เป็นหลักของฝ่ายจารีตนิยมก็คือ
คนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมือง
ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการขับไล่นายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูรเมื่อพฤษภาคม
2535
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พวกจารีตนิยมตระหนักถึงพลังทางการเมืองของคนกลุ่ม
นี้ และนับแต่นั้นมา
ก็ได้ดำเนินการอย่างแยบยลเข้าครอบงำและแบ่งปันผลประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้อย่าง
เป็นระบบทั้งในมหาวิทยาลัย สื่อมวลชนกระแสหลัก และองค์กรธุรกิจใหญ่
ทำให้คนชั้นกลางเหล่านี้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบอบการปกครองและการพัฒนา
เศรษฐกิจนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา
แต่การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2535
ก็ทำให้ประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทได้เข้าสู่ระบบตลาดของทุนนิยม
อย่างเต็มตัว สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้น
ประกอบกับการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย
ทำให้พวกเขาเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยจนสามารถเข้ามากำหนดผลของการเลือก
ตั้งและกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลในกรุงเทพฯได้อย่างเด็ดขาด แบ่งปันอำนาจบริหาร
ทรัพยากรและงบประมาณไปพัฒนาเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทได้เป็นครั้งแรก
บางคนจึงเรียกประชาชนเหล่านี้ว่า ชนชั้นกลางใหม่
ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นกลางเก่าที่กลายเป็นหางเครื่องของศักดินาและจารีตนิยม
การปรากฏขึ้นของประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทในฐานที่เป็นพลังการ
เมืองแบบใหม่
เข้ามาท้าทายและแบ่งปันอำนาจในระบบการเมืองแบบเลือกตั้งนี้เองที่ได้สร้าง
ความตกใจอย่างมากในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจ สถานะ
ผลประโยชน์ ทรัพยากรและงบประมาณกับคนชนชั้นล่างเหล่านี้
ความขัดแย้งทางการเมืองนับแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบัน
เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่ยืดเยื้อระหว่างประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและ
ชนบท (หรือ “ชนชั้นกลางใหม่”)
ฝ่ายหนึ่งซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนและมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็น
เครื่องมือ กับกลุ่มเผด็จการจารีตนิยม
กลุ่มทุนเก่าที่เกาะกินอยู่กับจารีตนิยมมานับร้อยปี
และประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมือง (หรือ “ชนชั้นกลางเก่า”)
อีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีกลไกรัฐ ทั้งกองทัพ ศาล ตุลาการ ข้าราชการ
และพรรคประชาธิปัตย์เป็นเครื่องมือ
กระแสการรุกของฝ่ายเผด็จการครั้งนี้ยังมีลักษณะปฏิกิริยาถอยหลัง
เพราะนอกจากจะมุ่งทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและขบวนประชาธิปไตยทั้งหมดแล้ว
พวกเขายังจะทำลายระบบการเลือกตั้งและระบอบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550
ของพวกเขาเองอีกด้วย แทนที่ด้วยระบอบการปกครองที่ให้
“คนดีมาปกครองบ้านเมือง” ที่เป็นเผด็จการของพวกจารีตนิยมอย่างเต็มรูปแบบ
เป็นการฝืนกระแสประชาธิปไตยและกระแสเสรีนิยมอันเป็นที่ต้องการของประชาชนไทย
ส่วนใหญ่ที่สุดและที่กำลังเป็นกระแสสะพัดไปทั่วโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน
การปะทะกันในปัจจุบันจึงเป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างประชาธิปไตย
เสรีนิยมแห่งโลกาภิวัฒน์ กับเผด็จการจารีตนิยมที่ล้าหลังเข้าคลองอีกด้วย
การต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางนี้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2549
จนถึงปัจจุบัน
จึงนับเป็นสงครามกลางเมืองอย่างแท้จริงเมื่อประเทศแตกแยกออกเป็นสองค่ายที่
ฝ่ายหนึ่งมีมวลชนทั้งประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีกลไกรัฐและพลังทางเศรษฐกิจ
เพียงแต่ยังเป็น “สงครามกลางเมืองที่ไม่หลั่งเลือด”
เพราะถึงแม้จะมีการปะทะใหญ่ด้วยกำลังแล้วสองครั้งคือ กรณีสงกรานต์เลือด
2552 และการสังหารหมู่ประชาชนเมษายน-พฤษภาคม 2553
แต่รูปแบบหลักของการต่อสู้ถึงปัจจุบัน
ก็ยังคงเป็นการใช้กลไกทางการเมืองที่ไม่รุนแรงคือ การเลือกตั้ง
การระดมมวลชน พรรคการเมือง และตุลาการ
ในการปะทะครั้งล่าสุดนี้
ฝ่ายจารีตนิยมกำลังผลักดันความขัดแย้งให้คลี่คลายขยายตัวไปสู่
“สงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือด” อย่างรวดเร็ว
การเคลื่อนไหวคนชั้นกลางในเมืองออกมาขับไล่รัฐบาล
การให้สื่อมวลชนกระแสหลักเร่งปั่นกระแสอนาธิปไตยและจลาจล
การติดอาวุธให้กลุ่มมวลชนที่บ้าคลั่งเข้ายึดสถานที่ราชการ
ทำร้ายบุคคลและประชาชนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย
การใช้ตุลาการเข้ามาบิดเบือนหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญที่พวกตนร่างขึ้นมา
เอง
ตลอดจนการใช้อันธพาลติดอาวุธก่อกวนและทำร้ายประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย
และท้ายสุดคือ การใช้กองทัพเข้ามาโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่ในครั้งนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยได้เติบใหญ่เข้มแข็ง
มีฐานมวลประชาชนอยู่ทั่วประเทศจะไม่ยินยอมให้ดำเนินไปได้โดยง่ายอีกต่อไป
หนทางข้างหน้าจึงเป็นการปะทะแตกหักระหว่างสองชนชั้นและสองแนวทางอย่างมิอาจ
หลีกเลี่ยงได้
ประสบการณ์ในประเทศที่เป็นอารยะและเป็นประชาธิปไตยแล้วคือบทเรียนที่เราจะ
ต้องศึกษา ประเทศไทยไม่ได้แปลกพิเศษและไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด
การได้มาซึ่งประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก ที่เรียกว่า
“การปฏิวัติประชาธิปไตย”
ล้วนผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางที่ยืดเยื้อ รุนแรง
และนองเลือดมาแล้วทั้งสิ้น
ระหว่างประชาชนส่วนข้างมากที่ต้องการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมือง
กับอีกฝ่ายที่เป็นคนส่วนข้างน้อยที่ต้องการผูกขาดอำนาจ
สถานะอันเป็นอภิสิทธิ์ และโภคทรัพย์ไว้ในมือตน
ฝ่ายหนึ่งมีจำนวนคนมากกับสองมือเปล่า ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีจำนวนคนน้อย
แต่สองมือเต็มไปด้วยอาวุธร้ายแรง
ปัจจัยชี้ขาดว่า
ความขัดแย้งจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือดหรือไม่นั้น
ถูกกำหนดโดยผู้ปกครองที่มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ
หากเขาไม่ยินยอมให้สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคแก่ประชาชนส่วนใหญ่ แล้วมิหนำ
ยังใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชน กดหัวให้ยอมจำนนแล้ว เมื่อนั้น
สงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือดก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น