ศาลรัฐธรรมนูญได้รับชื่อเล่นว่า “ศาลลูกรัง” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากที่นายสุพจน์ ไข่มุกด์ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นในศาลขณะที่ซักถามถึงความจำเป็นการออกตรา ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่เข้าเบิกความ ในประเด็นว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะมีรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย โดยนายสุพจน์เสนอว่า เป็นห่วงถึงการกู้เงินจำนวนมาก อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลาน และบอกกับนายชัชชาติว่า เป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งมาแล้วก็ไป ดังนั้นการกู้เงินไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ทันที จึงเห็นว่า “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน”
ในวันเดียวกันนั้น นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกคนหนึ่ง ก็ตั้งคำถามกับนายชัชชาติว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ซึ่งนายชัชชาติ ก็ให้คำตอบว่า สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการสร้างรถไฟความเร็วสูงจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ สู่ชนบท ลดความเหลื่อมล้ำ
และผลสืบเนื่องจากการไต่สวนและเสนอความคิดเช่นนั้น ก็ได้เห็นชัดเจนในวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคดีเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้น ฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน หรือ พ.ร.บ.รถไฟความเร็วสูง โดยให้คำวินิจฉัยใน 2 ประเด็นคือ กระบวนการตรากฏหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมี ส.ส.แสดงตนและกดบัตรแทนกัน และได้วินิจฉัยต่อไปว่า ร่างกฏหมายนี้มีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และ งบประมาณ เพราะเงินกู้ตามกฎหมายนี้ ก็มีฐานะเป็น”เงินแผ่นดิน”ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ การใช้จ่ายจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 169 ที่ว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” แต่ศาลเห็นว่า โครงการวางพื้นฐานด้านการคมนาคมตามกฎหมายนี้ “ไม่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน”จึงต้องดำเนินงานตามกรอบวินัยการคลัง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พรบ.ฉบับนี้จึงเป็นอันตกไป
ความจริงแล้ว ร่างกฎหมายกู้เงินฉบับนี้ มีการเสนอหลักการและเหตุผลที่รัดกุมพอสมควร เพราะฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เสนอว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนกำลังขยายตัว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงฐานการผลิตกับฐานการส่งออกระหว่างภาคต่างๆ ของประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาค เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดต้นทุนค่าขนส่ง รัฐบาลได้เสนอแผนงานด้วยว่า การพัฒนาตามโครงการนี้จะใช้เวลาเพียง 7 ปี คือ โครงการนี้เริ่มดำเนินงานในปีนี้ ก็จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 เท่ากับเป็นการเฉลี่ยเงินกู้ราวปีละ 2.85 แสนบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการก่อภาระหนี้สินจนเกินไป แต่การพัฒนาที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มรายได้ของประเทศ มูลค่าตอบแทนในระยะยาวก็จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
แต่กระนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับพิจารณาประเด็นเช่นนี้ แต่กลับหาเหตุในเชิงเท็คนิกเล็กน้อยมาทำลายความชอบธรรมของกฏหมายทั้งฉบับ เช่นการอ้างเรื่องการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.รายหนึ่ง โดยไม่ได้พิจารณาเลยว่า จะมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงทั้งหมดในการพิจารณากฎหมายหรือไม่ ถ้าใช้ระบบตรรกะในแบบนี้อีก ต่อไปการล้มกฎหมายทุกฉบับจะเป็นไปโดยง่าย โดยหาข้อบกพร่องจุกจิกที่เกิดได้เสมอ หรืออาจจะเป็นทางฝ่ายค้านที่ต้องการล้มกฏหมาย สร้างเงื่อนไขผิดพลาดขึ้นมาเอง ตรรกะเช่นนี้จึงเป็นการมุ่งหาเรื่องที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล
ปัญหาจากการ วินิจฉัยล้มกฎหมาย 2 ล้านล้านเช่นนี้ แม้ว่าจะเป็นที่คาดหมายล่วงหน้า แต่ก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาไม่พอใจอย่างกว้างขวาง เพราะก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ดำเนินการมาหลายครั้งที่แสดงตัวเป็นศาลเลือกข้าง มุ่งในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพร้อมที่จะล้มล้างและทำลายระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่ในครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญทำยิ่งกว่านั้น ด้วยการเสนอข้อวินิจฉัยในทัศนะอันคับแคบเพื่อทำลายอนาคตของการพัฒนาประเทศ และทำลายโอกาสของไทยที่จะเจริญก้าวหน้าให้ทันโลกอารยะ
ทั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น ก็มีรถไฟความเร็วสูงมานานแล้ว ประเทศจีนก็มีรถไฟความเร็วสูงแล้ว ประเทศรอบบ้าน ทั้งเวียดนาม ลาว และพม่า ก็มีโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงกันทั้งสิ้น และล่าสุดแม้กระทั่งประเทศเอธิโอเปียในแอฟริกา ก็กำลังจะสร้างรถไฟความเร็วสูงมายังประเทศจิบูตีซึ่งเป็นประเทศเมืองท่า ดังนั้นการล้มโครงการของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่สามารถเข้าใจด้วยเหตุผลแบบธรรมดา นอกจากจะอธิบายว่า กลุ่มอำมาตย์ของไทยกลัวว่า ประเทศไทยจะพัฒนาเร็วและเจริญมากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อ”วิถีเศรษฐกิจแบบเดิม”ที่ชนชั้นนำสนับสนุน
ในเรื่อง ความเป็นปฏิปักษ์และทำลายประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลสะท้อนจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะพยายามสร้างอำนาจทางการเมืองของตุลาการมากจนเกินงาม ต้องเข้าใจว่า การตระเตรียมร่างกฎหมายสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นเรื่องทางนโยบายของ รัฐบาล และได้ดำเนินการจนผ่านการพิจารณาของรัฐสภามาแล้ว การยินยอมให้องค์กรอิสระที่มาจากศาล มาใช้อำนาจล้มกฎหมายที่ผ่านสภาโดยปราศจากเหตุผล ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายอำนาจตัวเองอีกครั้ง และถ้าใช้บรรทัดฐานเช่นนี้ หมายความว่า ต่อไปรัฐบาลที่บริหารประเทศ ไม่ต้องเสนอนโยบายหาเสียงกับประชาชน ไม่จำเป็นต้องผ่านให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่ต้องเสนอนโยบายต่อศาล ให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบเสียก่อน เพราะถ้าศาลไม่เห็นชอบ นโยบายนั้นก็ปฏิบัติไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านขั้นตอนมาอย่างไรก็ตาม
แต่ ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเสนอการใช้เงินนอกงบประมาณแบบเดียวกันในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยออกเป็นพระราชกำหนดด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็น”เรื่องเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของ ประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้” สรุปจากเรื่องนี้จึงกลายเป็นการยืนยันในเรื่องศาลรัฐธรรมนูฯสองมาตรฐานนั่น เอง
เพลงไอ้หนุ่มผมแดงของวงนกแลเมื่อหลายปีก่อน มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “ผมแดงไม่ใช่ฝรั่ง ถนนลูกรังทำให้ผมแดง” แต่ในขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไทยน่ากลัวจะโปรยลูกรังทำให้ลูกหลานไทยผมแดงกันทั้งประเทศ ด้วยคำวินิจฉัยอันเหลวไหล อคติ และล้าหลัง ในลักษณะเช่นนี้
เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 456 วันที่ 22 มีนาคม 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น