21 มี.ค.2557 สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง
"แช่แข็งประชาธิปไตยไทย"
เพื่อร่วมหาทางออกจากวิกฤติการเมืองในขณะนี้ที่เป็นเหมือนการแช่แข็ง
ประชาธิปไตยไทยรอบล่าสุด ที่ห้องประชุมโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ชั้น 3
อาคาร 31 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ประมวลเหตุการณ์ทางการเมืองกับ ‘4 ความพยายาม’ แช่แข็งประชาธิปไตยไทย
เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย
ผังการแช่แข็งประชาธิปไตยไทยว่า ขั้นตอนหรือเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ
ที่ผ่านมา คือความพยายามนำไปสู่การล้มประชาธิปไตยในลักษณะของการแช่แข็ง
โดยกระบวนการประชาธิปไตยถูกทำให้หยุดนิ่ง ไล่ตั้งแต่การยุบสภาในวันที่ 9
ธ.ค.2556 ตามมาด้วยการเคลื่อนขบวนครั้งใหญ่ของสุเทพ เทือกสุบรรณ
และการจัดตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น
ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือ กปปส.ที่มีสุเทพเป็นเลขาธิการ การรณรงค์ชัตดาว์นกรุงเทพฯ
รวมถึงการรีสตาร์ทประเทศไทย การพูดถึงประเด็นต่างๆ เช่น
ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ข้อเรียกร้องต่างๆ
ในประเด็นปัญหาโครงการจำนำข้าว โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้าน ฯลฯ
ในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนระอุ
ปรากฏการณ์การแช่แข็งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2557
ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลรักษาการครบ 30 วัน หลังการเลือกตั้งใหญ่
โดยมีการเรียกร้องให้นายกรักษาการหมดสถานภาพ
ขณะเดียวกันก็มีการทำงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ อาทิ
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ
และวันนี้ก็มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ชี้มูลความผิดต่างๆ เช่น เมื่อวานนี้ (20 มี.ค. 2557)
มีการชี้มูลความผิดประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมรัฐสภาใน
การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา
ส.ว. รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการชี้มูลความผิดกรณีความล้มเหลวในการ
บริหารโครงการจำนำข้าวของนายกรัฐมนตรี
กระบวนการต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การทำให้รัฐบาลรักษาการสิ้นสภาพ
นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
รวมทั้งประธานวุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภาหมดสมาชิกภาพในการทำงาน
เป็นความพยายามในการสร้างสุญญากาศให้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย
เพื่อให้แนวทางอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวิถีประชาธิปไตย
ไม่ได้อยู่ในกรอบกติการัฐธรรมนูญเขามา เช่น
การมีนายกคนกลางหรือนายกนอกรัฐธรรมนูญ การมีสภาประชาชน
เกษม กล่าวต่อมาว่า กระบวนการข้างต้นสามารถสรุปได้เป็นความพยายาม 4
ประการ เพื่อล้มประชาธิปไตย คือ
1.การขยายอำนาจขององค์กรอิสระหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้ามากำกับควบคุม
สถาบันทางการเมืองหลักในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งในที่นี้คือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
การที่อำนาจหลักตามครรลองประชาธิปไตยอันมีที่มาจากประชาชนถูกกำกับโดยกลุ่ม
บุคคลที่ไม่ได้มีหลักยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย
ภายใต้กระบวนการตัดสินวินิจฉัยต่างๆ
ทำให้เห็นว่าวิถีทางเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย
หรือดูราวกับว่านี่คือเผด็จการเสียงข้างน้อยภายใต้การกำกับของระบอบอำมาตยา
ธิปไตย
2.สร้างสุญญากาศทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ผ่านการใช้อำนาจและการตีความโดยมิชอบตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 กรอบกติกาต่างๆ
เกิดขึ้นเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยขับเคลื่อนตามครรลองที่ควรจะเป็น
แต่กระบวนการใช้และการตีความนำมาสู้ความไม่ชอบบางอย่าง
ทำให้เกิดสุญญากาศขึ้น
3.ทำให้กลไกและกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยปกติไร้
ประสิทธิภาพ ง่อยเปลี้ย และเป็นอุปสรรคขัดขวางการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเอง
ยกตัวอย่าง การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ให้การเลือกตั้ง 2
ก.พ.เป็นโมฆะ แทนที่การเลือกตั้งจะเป็นทางออก
กลายเป็นว่ากระบวนการเลือกตั้งเองเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถหาทางออกได้
จนจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
4.ทำลายและละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ
อธิปไตย
ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยหรือการเป็นตัวแทนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เช่น การตัดสิทธิ์ตัวแทนทางการเมือง การยุบสถาบันทางการเมือง
ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ
เพราะการขาดตัวแทนทางการเมืองในฐานะที่เป็นผู้นำทางการเมืองที่เข้าไปทำ
หน้าที่ในการบริหาร
และเป็นตัวแทนทางการเมืองในแง่ของการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในระบอบ
ประชาธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
“ที่สำคัญที่สุด
ภายใต้กระบวนการล้มประชาธิปไตยอันนี้
นำไปสู่การทำลายโอกาสและศักยภาพขอการพัฒนาประเทศตามวิถีประชาธิปไตย
ซึ่งนี่คือสภาวะที่เราเป็นอยู่ภายใต้ความพยายามที่จะล้มประชาธิปไตยด้วยการ
แช่แข็ง ซึ่งการล้มอันนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ
แต่อยู่ภายใต้การใช้และการตีความรัฐธรรมนูญอันมิชอบ เพื่อที่จะทำลายกลไก
กระบวนการ และตัวแทนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” เกษมกล่าว
ส่วนทางออก เกษม กล่าวว่า
สามารถทำได้ตามวิถีประชาธิปไตยนั่นคือการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งมีความสำคัญในกระบวนการประชาธิปไตย
แต่ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งเป็นทุกอย่างของประชาธิปไตย
แต่การเลือกตั้งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนจะแสดงสิทธิทางการเมืองออก
มา ภายใต้การเคารพความเท่ากัน
เคารพความเสมอภาคของการเป็นพลเมืองของสังคมในแง่ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์
ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีสถานทางการศึกษาอย่างไรก็ตาม ทุกคนเท่ากันหมด
ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในสังคม
ประชาธิปไตย ตรงนี้คือทางออก
“การแก้ไขปัญหาประชาธิปไตย
หรือการรักษาประชาธิปไตย
สิ่งที่ทำได้คือผลักทุกอย่างให้อยู่ในวิถีประชาธิปไตย
และกระบวนการประชาธิปไตย ในปัจจุบันนี้เรายอมรับว่า
วิถีทางเดียวที่จะเป็นการคลี่คลายที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้ง” เกษมระบุ
อย่างไรก็ตาม
การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งใหม่ทำให้เกิดคำถาม
ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 20 ล้านคน
และในส่วนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็กกว่า
50 พรรคว่าสิทธิทางการเมืองของพวกเขาหายไปไหน
รวมทั้งคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ
ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องรับผิดชอบ
แต่ก็ไม่รู้ว่าผลต่อไปจะเป็นอย่างไร
‘รธน.50-การเลือกตั้ง’ ปัจจัยแช่แข็งประชาธิปไตยไทย แต่แก้ได้ด้วยพลังประชาชน
สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 กล่าว
ว่า เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของ กกต.และ ส.ส.ร.50
เป็นภารกิจที่จะต้องมาช่วยชี้แจงและให้ข้อคิดเห็น
เพราะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ที่จะแช่แข็งประชาธิปไตยในประเทศไทย
ส่วนนี้จึงมีความสำคัญว่าขบวนการต่างๆ
ในองค์กรอิสระและในกระบวนการยุติธรรมเป็นตัวการจริงหรือไม่
จริงๆ แล้วกฎหมายร่างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา
ไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดปัญหา ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 50
เกิดขึ้นมาเพื่อล้อมกรอบนักการเมือง ในลักษณะให้ยาแรงนักการเมืองจริง
จากการรัฐประหาร 2549 คณะรัฐประหารก็ให้เหตุผลว่าเพราะความไม่ดี
ความเลวของนักการเมืองจึงรัฐประหาร และมีการร่างรัฐธรรมนูญ 50
ที่มีอคติต่อนักการเมืองขึ้นมา
ส่วนตัวจะบอกว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบคงไม่ได้
แต่ก็เป็นเพียงเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่ง
หลายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 50 มีปัญหาในการตีความอย่างมาก
โดยเฉพาะมาตรา 68
ซึ่งยกร่างขึ้นมาเพื่อป้องกันการปฏิวัติของทหารและทำให้ประชาธิปไตยคงอยู่
ได้ตลอดไป ระบุผู้ใด คณะบุคคลใด หรือพรรคการเมืองใด
ทำให้ประชาธิปไตยเสียหายต้องถูกลงโทษโดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น
กระบวนการของอัยการ เป็นต้น
มาตรา 68 เป็นมาตราที่ดี
แต่สำคัญที่สุดผู้คือใช้ไม่ได้นำไปใช้ในลักษณะที่ต่อต้านการรัฐประหาร
แต่ใช้เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ
ได้มาซึ่งสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องในการที่จะดำเนินการต่างๆ
เพื่อให้ได้เข้าไปสู่การทำงานของกระบวนการอื่นๆ
จะเห็นได้ว่าแม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญก็เข้ามาตรา 68 ด้วย
ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อว่ามาตรานี้จะสามารถนำเนินการไปถึงหน่วยงานหรือ
องค์กรต่างๆ ได้เกือบทั้งหมด
สามารถควบคุมการทำงานของสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
“ดิฉันเห็นว่ามาตรา 68
ถ้าร่างในวันนั้นจะมีอำนาจ มีอิทธิพลถึงขนาดนี้แล้ว คงจะคัดค้านเต็มที่
คือคิดไม่ถึงว่าการใช้มาตรา 68 จะสามารถใช้ได้ในลักษณะที่เป็นการลิดรอน
หรืออาจมองดูแล้วว่าสามารถที่จะไปถึงอำนาจต่างๆ ได้ถึงขนาดนี้” อดีต
ส.ส.ร.50 กล่าว
อย่างไรก็ตาม
เมื่อมาตรานี้แล้วก็ยังคงจะต้องมีต่อไปจนกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ 50
และทำให้มีความชัดเจนในการใช้อำนาจ 3 ฝ่าย คือ อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
โดยควรต้องมีบทบัญญัติที่ล้อมกรอบว่าทั้งสามอำนาจไม่ควรไปก้าวก่ายการทำงาน
ของกันและกันอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ความชัดเจนในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เมื่อไม่มีความชัดเจนจึงมีการใช้มาตรา 68 ในลักษณะนี้
การพิจารณาว่าการแช่แข็งประชาธิปไตยมาจากรัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่
สดศรีแสดงความเห็นว่า
ขบวนการที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการหยุด
ชะงัก หรือแช่แข็งประชาธิปไตยได้
สดศรีกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ กกต.เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา
เป็นที่น่าเสียดายว่า การเลือกตั้งของประเทศไทย เราให้
กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาดำเนินการ
โดยเปลี่ยนมือมาจากกระทรวงมหาดไทยเดิมเพราะมีข้อครหาว่ามีรัฐมนตรีเป็นผู้
บริหาร
อาจทำให้การเลือกตั้งเสียหายหรืออาจมีการเข้าข้างฝ่ายการเมืองมากจนเกิดไป
จึงได้ตั้งองค์กรอิสระคือ กกต.ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 40
แต่นอกจากจะมีการให้อำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง
ยังให้อำนาจดูแลคณะรัฐมนตรีเมื่อมีการยุบสภาด้วย
อำนาจเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
และบางครั้งก็เป็นการชี้เป็นชี้ตายต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองด้วย
ส่วนการพิจารณาว่า
การเลือกตั้งเป็นปัจจัยที่แช่แข็งประชาธิปไตยด้วยหรือไม่ สดศรีกล่าวว่า
การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้ประชาธิปไตย
เดินได้ด้วยดี
แต่จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยถูกแช่
แข็งอยู่ในขณะนี้
เพราะหากการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จโดยการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะด้วยวิธี
ที่ง่ายที่คือการขัดขวางการเลือกตั้ง
แน่นอนที่สุดว่าบ้านเมืองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เลย
การหยุดชะงักของระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นทันทีที่มีการเลือกตั้ง
ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่สามารถทำงานได้
เพราะเมื่อการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จก็ไม่มี ส.ส. ไม่มีคณะรัฐมนตรี
และโครงการใดๆ ของรัฐที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็ต้องหยุดชะงักลง
สดศรี กล่าวต่อมาว่า
ก่อนหน้านี้ประชาธิปไตยไทยเคยถูกแช่แข็งโดยใช้การปฏิวัติ การรัฐประหาร
แต่วิธีการเหล่านี้ล้าสมัยไปแล้วและมีพัฒนาการใหม่
เพราะการใช้ทหารปฏิวัติอยู่ในอำนาจได้ไม่ ต่างชาติไม่รับรอง
และต้องมีการเลือกตั้งตามมา ซึ่งวิวิวัฒนาการขณะนี้ไม่ใช้ทหาร
แต่ใช้องค์กรอิสระมาแช่แข็งประเทศ ทำการปฏิวัติแทน เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ
และในฐานะที่เป็นประชาชนไทยคนหนึ่งเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้คงจะไม่
ยอมให้มีการแช่แข็งในลักษณะนี้อีกต่อไป
โดยต้องทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
“การเลือกตั้งเป็นสาเหตุที่จะทำให้การ
หยุดชะงัก ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร
เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปประสบความสำเร็จขึ้นมาให้ได้
โดยความร่วมมือของประชาชนทั้งหมด
และในขณะเดียวกันถ้าผู้ที่จัดการเลือกตั้งปฏิวัติเสียเอง
ท่านก็สามารถดำเนินการให้การปฏิวัติครั้งนี้สิ้นสุดลงได้โดยการใช้พลัง
ประชาชน คือไปเลือกตั้งให้มากที่สุด
ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งนี้อยากให้ประชาชน 99 เปอร์เซ็นต์
ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งให้ได้ ถ้าท่านไปเลือกตั้งแล้ว
ท่าจะได้เห็นว่าพลังประชาชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตยอย่าง
ที่ดีที่สุด ไม่มีพลังใดจะมากไปกว่าพลังของประชาชน” สดศรี กล่าว
สดศรี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สิ่งที่จะทำให้ความเยือกเย็น
การแช่แข็งประเทศไทยหยุดลงก็คือพลังประชาชน
ส่วนตัวหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าแม้จะถูกขัดขวางแต่ขอให้ประชาชนไป
ปฏิวัติให้ประชาธิปไตยฟื้นคืนมาให้ได้
และประชาธิปไตยจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทยตลอดไป
วิจารณ์ กปปส.เสียงส่วนน้อยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโดยวิธีนอกระบอบประชาธิปไตย
จอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw และอดีตวุฒิสมาชิก กล่าว
ว่า ในฐานะคนสนใจเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน
และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ถือว่าตัวเองมีหน้าที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตยซึ่งเราต่อสู้กันมายาวนาน
และไทยต่อสู้เรื่องนี้มาก่อนประเทศอื่นในภูมิภาค
แต่ตอนนี้บางประเทศเช่นอินโดนีเซียที่เคยเป็นเผด็จการกลับไปไกลกว่า
เพราะประชาธิปไตยไทยสะดุดตลอดเวลา
มีรัฐประหารและมีการต้องเริ่มต้นใหม่อยู่บ่อยครั้ง
มีเหตุการณ์สำคัญในการต่อสู้คือ 14 ตุลา 2516 ตามมาด้วย 6 ตุลา 2519
และเหตุการณ์พฤษภา 2535
จากเหตุการณ์พฤษภา 2535
มีข้อตกลงในเรื่องสำคัญเกิดขึ้นโดยมีการแก้รัฐธรรมนูญ
นั่นคือการที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง มาถึงการรัฐประหารปี 2549
สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก
ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและมีสื่อของตัวเองโดยการใช้โซเชียลมีเดีย
ตั้งแต่นั้นมาการแสดงออกในการคัดค้านเผด็จการ
คัดค้านการรัฐประหารก็มีประชาชนเข้าร่วมอย่างมากมายจนถึงปัจจุบัน
จอน กล่าวว่า มีหลายคนพยายามเถียงว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง
ส่วนตัวเห็นด้วยว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
แต่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้นการบอกว่าให้ยุติการเลือกตั้งสักพักหนึ่ง
นั่นคือการละเมิดสิทธิที่ประชาชนทุกคนมีอยู่
การคัดค้านต่อรัฐบาลปัจจุบันที่เริ่มต้นจากการค้านร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือว่าเป็นการคัดค้านที่ถูกต้อง และเห็นด้วย
กับการชุมนุมอย่างกว้างขวางของประชาชนที่เรียกร้องให้ยกเลิกร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และในที่สุดรัฐบาลก็ถูกบีบจนต้องยกเลิกกฎหมายนี้
แค่นั้นยังไม่พอ ประชาชนยังมีความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาล
มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ซึ่งต่อมารัฐบาลก็ยุบสภา
แค่นั้นน่าจะจบได้ เพราะเรามีโอกาสที่จะเลือกตั้งใหม่ เลือกรัฐบาลใหม่ได้
แต่เรื่องไม่จบเพราะเกิดขบวนการ
กปปส.ซึ่งเรียกร้องในสิ่งที่เกินเลยข้อเรียกร้องในระบอบประชาธิปไตย
คือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรักษาการลาออก ให้ตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง
และเรียกร้องให้แช่แข็งการเลือกตั้งโดยให้มีกระบวนการปฏิรูปก่อน
และให้มีสภาประชาชนจาก กปปส. ให้ปฏิรูปตามแนวทางของ กปปส. ทั้งที่
กปปส.เป็นเพียงตัวแทนของประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศซึ่งไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่
เห็นได้ชัดจากการที่ประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
“คนส่วนน้อย
กลุ่มคนส่วนน้อยเรียกร้องให้มีนายกคนกลางของเขาเอง
เรียกร้องตั้งสภาของเขาเอง รวมทั้งเรียกร้องการปฏิรูปตามแนวคิดของเขาเอง
อันนี้ขัดโดยสิ้นเชิงต่อหลักประชาธิปไตย”
จอนกล่าวถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องของ กปปส.
อดีตวุฒิสมาชิก กล่าวต่อมาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปฏิบัติการยึดกระทรวง
ทบวง กรมต่างๆ
การที่ปลัดกระทรวงบางคนประกาศตัวหลุดออกจากการควบคุมของรัฐบาลรักษาการ
หรือการประกาศของทหารว่า “วางตัวเป็นกลาง”
ซึ่งผิดจากรัฐธรรมนูญและอำนาจหน้าที่
เพราะทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ทหารไม่สามารถมีอำนาจโดยตัวเอง
แต่ตอนนี้ปรากฏว่าทหารเสมือนเป็นรัฐบาลอีกรัฐบาลหนึ่ง การตั้งด่านต่างๆ
บนถนนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งของรัฐบาล
สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงตัวของอำนาจที่ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่อำนาจในระบอบประชาธิปไตย
สุดท้ายคือศาล
ส่วนตัวไม่ใช่นักกฎหมายไม่สามารถตีความคำวินิจฉัยของศาลได้ทั้งหมด
แต่สิ่งที่ปรากฏชัดในตอนหลังคือ ศาลเหมือนมีความไม่เป็นกลาง
มีความลำเอียงทางการเมือง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย
เพราะนี่เป็นปรากฏการณ์ที่มีในประเทศเพื่อบ้านหลายประเทศ
พูดได้ว่าศาลไม่เป็นกลาง ศาลเป็นศาลการเมือง
ใครเป็นรัฐบาลศาลจะอยู่ฝั่งนั้น
ก่อนหน้านี้ศาลไทยค่อนข้างไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่หลังรัฐประหาร 49
ศาลเปลี่ยน มีลักษณะลำเอียง
โดยเฉพาะการตัดสินของศาลแพ่งที่เหมือนบอกว่าทุกอย่างที่
กปปส.ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง รัฐบาลห้ามเข้าไปปราบปราม
ถือว่าเป็นการแสดงออกที่ชัดเจนมากถึงความลำเอียงของศาล
ถามว่าประชาธิปไตยที่ดีควรเป็นอย่างไร
ประชาธิปไตยที่ดีควรเป็นประชาธิปไตยที่คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่และคำนึงถึง
เสียงส่วนน้อย ประชาชนมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก
ส่วนตัวจะวิจารณ์ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาว่า
ไม่ค่อยคำนึงถึงเสียงส่วนน้อยที่มีอยู่ในสังคม คือคิดจะทำอะไรก็ทำไป
แล้วก็สร้างความไม่พอใจของประชนต่อแต่ละรัฐบาล ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์
รัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แต่ความไม่พอใจในรัฐบาลมันมีวิธีการตามประชาธิปไตยที่จะคัดค้านได้
ที่จะเปลี่ยนแปลงได้
“ผมเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
โดยวิถีประชาธิปไตยได้
แต่เหมือนกับว่าประชาชนส่วนหนึ่งและผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งจะไม่ยอมให้เกิดการ
เปลี่ยนแปลงโดยวิถีประชาธิปไตย
จะต้องเปลี่ยนแปลงโดยวิธีนอกระบอบประชาธิปไตย
อันนั้นเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิที่จะเลือก
รัฐบาลของตนเอง” จอนกล่าว ส่วนทางออกคืออะไร ยังไม่มีคำตอบชัดเจน
แต่เราต้องยืนหยัดในหลักการของระบอบประชาธิปไตย
สำหรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะ
จอนกล่าวว่า เหตุผลที่ได้รับฟังเป็นเพราะไม่ได้เลือกตั้งเสร็จในวันเดียวกัน
หากเป็นอย่างนั้นจริง ก็เป็นเรื่องแปลก
เพราะความผิดที่ทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งเสร็จในวันเดียวกันนั้นเป็นการกระทำ
ของ กปปส. ของอำนาจนอกระบบ หากมีการตัดสินทำนองนั้นก็เหมือนศาลบอกว่า
ใครก็ตามสามารถขัดขวางการเลือกตั้งได้สำเร็จ ในบางพื้นที่
หรือแม้แต่เขตเลือกตั้งเดียว ก็สามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
คงต้องติดตามดูว่าเหตุผลจริงๆ ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร
จอน บอกด้วยว่า
สิ่งที่อยากเห็นและคิดว่าเราต้องต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมี
ส่วนร่วมมากขึ้น
คือระบอบประชาธิปไตยที่มีระบบการลงประชามติแบบประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ที่มีลักษณะบังคับต่อผู้มีอำนาจ คือนอกจากการเลือกตั้งรัฐบาลแล้ว
หากมีประเด็นที่ประชาชนมีความเห็นจำนวนมา เช่น กรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ประชาชนสามารถลงชื่อให้มีการทำประชามติในเรื่องนั้น
และหากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกฎหมายนั้นก็จะล้มไป
ไม่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะบอกว่ากฎหมายใดควรมีหรือไม่ควร
มี แต่ให้เป็นหน้าที่ของประชาชน
“ผมคิดว่าถ้าเรากลับไปสู่เส้นทางของ
ระบอบประชาธิปไตย
และเราสามารถแก้รัฐธรรมนูญให้มีระบบการลงประชามติที่มีผลบังคับต่อผู้มี
อำนาจ
อันนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นการเติมประชาธิปไตยทางตรงเข้าไปร่วมด้วย
อันนี้ผมคิดว่าจะเป็นตัวอย่างการปฏิรูปอย่างหนึ่ง
เราจะต้องมีการปฏิรูปอย่างที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง
แต่การปฏิรูปของเราต้องเป็นการปฏิรูปร่วมกันของทุกฝ่าย
ไม่ใช่การปฏิรูปของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” จอนกล่าว
ภายใต้บริบทโลก เชื่อไม่มีใครหยุดยั้งประชาธิปไตยไทยได้
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
ว่า มองมุมนักวิชาการรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์การเมือง
ถูกตั้งคำถามว่าการแช่แข็งประชาธิปไตยไทยจะสำเร็จหรือไม่ ตนเองตอบไม่ได้
เพราะคนที่พยายามทำก็ต้องพยายามทำต่อไป
แต่หากมองภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและบริบทของโลกอาจมองเห็น
แนวทางบางประการที่อาจตอบแบบฟันธงได้ว่า
ต่อให้บรรลุได้เป็นครั้งคราวแต่ก็ไม่อาจบรรลุได้ตลอดไป
สิ่งที่อยู่ในบริบทประจำวันของเราคือการตื่นมาแล้วตั้งคำถามว่า
มีระเบิดที่ไหน เขาจะไปปิดที่ไหน ฯลฯ
เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์รายวันที่รบกวนจิตใจในการคิด การทำมาหากิน
การสร้างความฝันต่อประเทศ หากลองมองจริงๆ
แล้วจะพบว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ต้องการแช่แข็งระบบสภาผู้แทนราษฎร
ที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร
แต่กระบวนการเลือกตั้งวุฒิสภายังคงดำเนินไปอย่างเงียบๆ
โดยที่ไม่เกิดกระบวนการอะไรเลย ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ. นายก
อบต.และนายเทศมนตรีในระดับการเมืองท้องถิ่นยังดำเนินไปได้
ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์เฉพาะในเกมการเมืองระดับชาติ
แต่ในระดับท้องถิ่นหรือวุฒิสภากลับไม่ถูกแช่แข็ง คำถามนี้ตอบได้ว่า
เพราะคนที่ออกมาเป็นแกนนำของกระบวนการแช่แข็ง ยกเว้นอดีตนายทหารต่างๆ
ต่างอยู่ในโลกทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
คนเหล่านี้เติบโตและสร้างเนื้อสร้างตัวในรอบ 40
ปีมาได้จากกระบวนการเลือกตั้ง
ดังนั้นจึงรู้ตัวว่าการเลือกตั้งเป็นที่มาของอำนาจในท้องถิ่นของตัวเอง
เพียงแต่กระบวนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรมันนำมาสู่กระบวนการการได้เป็น
รัฐบาล
ตรงจุดนี้เอง
การแช่แข็งคือการแช่แข็งว่าใครจะเป็นผู้กำหนดเกมของการเป็นรัฐบาลกลาง
เพราะนโยบายหรือการกระทำของรัฐบาลกลางแม้เพียงน้อยนิด
ก็ส่งผลต่อทิศทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิด
และผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในสังคมไทย
ดังนั้น คลายใจได้เลยว่าไม่ว่าประเทศนี้ไม่แช่แข็งแน่
เพราะประเทศนี้แช่แข็งไม่ได้ และจากตัวอย่างในประเทศพม่า ที่แช่แข็งมา 50
ปีแล้ว แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมาพม่าอ่อนลง กลับคืนสู่โลกประชาธิปไตย
นั่นหมายความว่าบริบทของโลกตอนนี้มันมีกระแสเดียวในโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้
นั่นคือกระแสประชาธิปไตย
กระแสประชาธิปไตยเดินทางมาแล้วในโลกใบนี้
อย่างน้อยก็เกิดขึ้นในอเมริกาในปีเดียวกับที่พระเจ้าตากสร้างกรุงธนบุรี
เกิดในฝรั่งเศสกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ตรงกับ 5 ปีแรกในรัชกาลที่ 1
และกระแสประชาธิปไตยยังพัดกระหน่ำราชวงศ์ชิงของจีน
จนต้องแปลงตัวจากพญามังกรอันดุร้ายกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าโดยฉับพลันภายใต้
นโยบายสาธารณะของ ดร.ซุน ยัดเซ็น
ในกรณีของญี่ปุ่นสร้างประชาธิปไตยของตัวเองในแบบอังกฤษ
นั่นหมายความว่ากระแสประชาธิปไตยเดินทางไปทั่วโลกและยังคงอยู่ในรอบ 200
ปีมานี้ เมื่อมองในแง่นี้แล้ว เกิดอะไรกับประเทศเราซึ่งประชาธิปไตยเดินๆ
หยุดๆ หากอยากรู้อ่านได้ในหนังสือ “ข้ออ้างการปฏิวัติ รัฐประหาร
และกบฏในการเมืองไทย”
ในรอบ 82 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารสำเร็จ 12 ครั้ง
มีการรัฐประหารล้มเหลวหรือกบฏ 11 ครั้ง และมีพลังประชาชน 2 ครั้ง
รวมแล้วมีปรากฏการณ์ทางการเมืองทั้งหมด 25 ครั้ง เมื่อเอา 25 ไปหาร 82
เฉลี่ยแล้วชีวิตของเราอยู่ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทุกๆ 3 ปี
ดังนั้นทุกท่านจงมองว่าความปั่นป่วนเป็นธรรมชาติของคนไทย
ถ้ามองอย่างนี้ท่าจะรู้สึกว่าชีวิตของท่านนั้นเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน
รัฐประหารสำเร็จ 12 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 6.8 ปีจะบรรลุความสำเร็จ 1 ครั้ง
แต่รัฐประหารที่ไม่เสร็จคือความพยายามยึดอำนาจ 11 ครั้ง
เฉลี่ยถ้าไม่สำเร็จจะกลายเป็นกบฏ 7.45 ปีต่อครั้ง ส่วนพลังประชาชนมี 2
ครั้ง คือในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และพฤษภา 35
ซึ่งนั่นไม่ใช่เพราะพลังประชาชนนอนหลับ
แต่พลังประชาชนเพิ่งตื่นขึ้นมาในช่วง 40 ปีมานี้ เฉลี่ยแล้ว 20
ปีตื่นครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้ตื่นกันทุกวัน
พลังประชาชนอยู่บนท้องถนนเต็มไปหมด
การรัฐประหารโดยทหารคือกระบวนการแช่แข็งประชาธิปไตย ในตลอด 82
ปีที่ผ่านมา
ทำไมทหารจึงกลายเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจมากในการที่จะหยุดระบบรัฐสภา
ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
และสวมเสื้อคลุมของการเข้าสู่อำนาจโดยการสร้างสภานิติบัญญัติที่มาจากการ
แต่งตั้ง ซึ่งจะพบว่าคำไทยมีคำให้เลือกสรรเยอะมากจนงงงวย ทั้งการแต่งตั้ง
การคัดสรร การสรรหา คำเหล่านี้มีความหมายแบบเดียวกัน
นั่นคือการแช่แข็งอำนาจของประชาชนโดยคำเหล่านี้
เราจะพบว่า เดิมเมื่อทหารยึดอำนาจเสร็จจะมี
1.การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการแต่งตั้งนายทหารเข้าไป
2.นายทหารที่ทำการยึดอำนาจนั้นจะกลายเป็นผู้นำรัฐบาลเอง แต่ในช่วง 40
ปีที่ผ่านมาพบว่า ทหารยังบรรลุความสำเร็จในการตั้ง สนช.และเป็นผู้นำรัฐบาล
เช่น การแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งทั้ง 3 คนคลุมช่วงเวลาไปแล้วเกือบ 20 ปี
อย่างไรก็ตาม 20 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า
การเป็นเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นการเมืองของฝ่ายพลเรือน มีความผันแปรสูง
และมีความพยายามยึดอำนาจเป็นระยะๆ
แต่ความพยายามยึดอำนาจนั้นไม่สามารถคงอยู่ในรูปแบบเดิม ที่ตั้ง สนช.
จากคนของตนเองเพื่อค้ำจุนรัฐบาล และนำตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งฝ่ายบริหาร
บทเรียนของพลเอกสุจินดา คราประยูรที่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 45 วัน
ถือเป็นความล้มเหลวขั้นสุดยอดของคณะทหารที่ทำการยึดอำนาจ
เพราะเดิมเมื่อทหารยึดอำนาจจะอยู่ในตำแหน่งยาวนาน
แต่บทเรียนของการยึดอำนาจปี 2549 เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดมากกว่า คือ
คนที่ยึดอำนาจไม่ได้อำนาจ
นั่นหมายความว่าการยึดอำนาจของนายทหารทำแล้วเนื้อไม่ได้กิน
หนังไม่ได้รองนั่ง แต่มีกระดูกแขวนคอ
ตรงนี้ทำให้กระบวนการยึดอำนาจจองฝ่ายกองทัพจึงเป็นไปได้ยากภายใต้บริบท
สังคมโลกแบบที่พม่าถูกกดดัน
ด้วยเหตุนี้กระบวนการแช่แข็งจึงเป็นความพยายามที่จะทำให้กระบวนการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยุติลง โดยการใช้ระบบของการแต่งตั้งคนดีถ้ามีอยู่จริง
และใช้กระบวนการของการแต่งตั้งผู้นำประเทศในอีกชุดหนึ่ง
“การเมืองคือกระบวนการเข้าสู่อำนาจ
การแช่แข็งก็คือกระบวนการเข้าสู่อำนาจอย่างหนึ่ง
การเมืองคือการจัดสรรทรัพยากรหรือสิ่งที่มีค่าในสังคม
การแช่เข็งก็คือการเข้าสู่อำนาจเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีคุณค่าต่อใครฝ่ายใด
ฝ่ายหนึ่ง
ดังนั้นกระบวนการแช่แข็งก็คือกระบวนการเข้าสู่อำนาจอำนาจทางการเมือง
โดยไม่ได้วางรากฐานอยู่ที่เสียงของประชาชนนั่นเอง” ธำรงศักดิ์
อธิบายการแช่แข็งตามความหมายของรัฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ กล่าวด้วยว่า
กระบวนการแข่งแข็งในปัจจุบัน ที่ผ่านมาอย่างน้อย 7-8 ปี หรือในระยะสั้น 4
เดือนที่ผ่านมาจะพบว่าความพยายามแช่แข็งตั้งแต่ เสธ.อ้าย (พลเอกบุญเลิศ
แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม) ปรากฏภาวะของความล้มเหลวตลอด
ผู้คนอาจฮึกเหิมในวันแรกๆ
แต่วันนี้กระบวนการแช่แข็งต้องถอยที่ตั้งไปอยู่ที่สวนลุมพินี
มีความหมายถึงว่าภาวะของความเซ็งกับการแช่เข็ง
“เราต้องยอมรับว่า พรรคพวก เพื่อนฝูง
พี่น้องของเรา ผมไม่เคยคิดว่าเขาไม่ฝันที่จะสร้างให้ประเทศไทยทันสมัย
เขาไม่เคยที่จะหยุดยั้งประเทศไทย
เพียงแต่ว่าด้วยสายตาของความเกลียดชังบางอย่างเท่านั้นมันทำให้เขาเข้าไปสู่
กระบวนการ แต่เมื่อเขาถ่อยกลับออกมา เขาก็รู้ว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป
ไม่มีใครหยุดยั้งประชาธิปไตยไทยได้” ธำรงศักดิ์ให้ความเห็น
‘สภาวะยกเว้น’ ในประวัติศาสตร์เยอรมนี ถึง ‘สงครามกลางเมืองโดยกฎหมาย’ ในไทย
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ถูกยกมากล่าวถึงอย่างเกลียดชังโดยเปรียบเทียบกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
ซึ่งในปลายรัฐบาลทักษิณถูกกล่าวถึงว่าเป็นยุคเผด็จการรัฐสภา
ยุคของการสร้างรัฐตำรวจ
และตกทอดมาถึงรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันว่าเป็นรัฐบาลนอมินี
แต่สิ่งที่สำคัญคือทุกครั้งที่เรากล่าวถึงฮิตเลอร์
เราเข้าใจประวัติศาสตร์เยอรมันน้อยมาก
แม้แต่นักนิติศาสตร์บางคนยังกล่าวว่าฮิตเลอ์มาจากการเลือกตั้ง
ในความเป็นจริง
ฮิตเลอร์อยู่ในระบบการแข่งขันทางการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ก่อนที่จะมาเป็น
ประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน ฮิเลอร์ไม่ใช่บุคคลที่มีอำนาจมาตั้งแต่ต้น
เขาเคยก่อรัฐประหารและถูกจับเข้าคุก ขณะอยู่ในคุกเขาได้เขียนหนังสือชื่อ ไมน์คัมพฟ์ หรือ
การต่อสู้ของข้าพเจ้า ถือเป็นตำราสำคัญของคนที่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง
เมื่อออกจากคุกฮิตเลอร์ก็รู้ว่าตัวเองไม่สามารถได้อำนาจด้วยการรัฐประหาร
จึงหันมาเล่นการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง
ในช่วงหนึ่งของสาธารณะรัฐไวมาร์
เกิดกระแสอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ขึ้นในยุโรป หลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลง
ล้มล้านระบอบกษัตริย์ ส่วนเยอรมันเองก็ได้ผ่านจุดนั้นมา
แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ของเยอรมันล้มไปเพราะตัวสถาบันเองไม่
สามารถธำรงความสง่างามให้กับประเทศไว้ได้ ท้ายสุดเยอรมันกลายเป็นสาธารณะรัฐ
มีการตั้งสาธารณะรัฐที่ชื่อว่าไวมาร์ในปี ค.ศ.1919
และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นความหวังของประชาชนที่จะทำให้เยอรมันคืน
สู่ความสง่างามในเวทีการเมืองยุโรป
ความหวาดกลัวของประชาชนต่อคอมมิวนิสต์หรือระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ที่ถูกสร้างขึ้นและยังคงอยู่
ทำให้คนเยอรมันยอมรับการเข้าสู่อำนาจของฮิตเลอร์
ซึ่งและเขาสร้างภาพว่าตัวเองคือความหวังโดยวิธีที่จะป้องกันคอมมิวนิสต์ได้
คือการสร้างชาตินิยม ปรากฏว่าพรรคนาซีของฮิตเลอร์ได้รับการเลือกตั้ง
แต่ในช่วงหนึ่งที่กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเมืองปกติได้เกิดไฟไหม้รัฐสภา
และมีการป้ายสีว่าเป็นฝีมือของพวกคอมมิวนิสต์
เมื่อสังคมเชื่อเช่นนั้นจึงมีการออกกฎหมายพิเศษฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า The
Reichstag Fire Decree (กฤษฎีกาว่าด้วยเพลิงไหม้ที่ไรค์สทัก)
ที่ให้อำนาจคุ้มครองประชาชนและรัฐ
โดยความยินยอมของประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก (Paul von Hindenburg)
ที่เชิญฮิตเลอร์มาเป็นนายกรัฐมนตรี
กฎหมาย The Reichstag Fire Decree
ตราขึ้นหลังเหตุการณ์เผารัฐสภาเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2476
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพียง 6 วัน และกฎหมายดังกล่าวได้ถูกขยายผลว่า
มีขึ้นมาเพื่อป้องกันการก่อการร้ายต่อทรัพย์สินเอกชนที่ทำให้เกิดการคุกคาม
ต่อชีวิตและความสงบของสาธารณะชน ถูกแก้ไขโดยรัฐมนตรีมหาดไทยคือเกอริง
และลงนามโดยประธานาธิบดีในรุ่งเช้า
กฎหมายให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีคือฮิตเลอร์ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในการแสดงออกซึงความเห็น การเสนอข่าวสาร การชุมนุม
ตลอดจนความเป็นส่วนตัวในการสื่อสาร
เหล่านี้ทำให้พรรคนาซีสามารถควบคุมความเห็นของสาธารณะชน
โดยการสร้างผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา และควบคุมสิ่งที่ไม่เป็นมิตร
กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือจำกัดฝ่ายตรงข้าม และทำให้
ฮิตเลอร์อยู่ในอำนาจนานถึง 12 ปี
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทำให้คนต้องอพยพนับล้านคน
ทำให้ประเทศเยอรมนีแตกเป็น 2 เสี่ยง คือเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะคืนสู่การรวมประเทศหลังการล่มสลายของกำแพง
เบอร์ลิน เมื่อปี ค.ศ.1989
และกว่าที่เยอรมนีจะฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเป็นมหาอำนาจในยุโรปอีกครั้งก็
ต้องใช้เวลานับ 20 ปี นี่คือบทเรียนที่สำคัญ
สำหรับคนที่ชอบพูดว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง
ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่มาจากการข่มขู่สาธารณะชนให้หวาดกลัวผีตัวหนึ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์
ซึ่งผีตัวนี้เองก็ทำให้ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ
และต้องไมลืมว่าระหว่างที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจนั้น มีศิลปิน สถาปนิก
คนดังหลายคนได้เป็นผู้ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์
ทำให้คนเยอรมันหลงเชื่อว่าฮิตเลอร์จะพาเยอรมนีกลับมาเรืองอำนาจ
ในกรณีของฮิตเลอร์ ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็นสภาวะยกเว้น
คือการสร้างเงื่อนไขบางประการเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างยิ่งยวด
กับฝ่ายหนึ่ง และยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างยิ่งยวดกับอีกฝ่ายหนึ่ง
กลับมาเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อปี 2500
เป็นสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม
และพรรคเสรีมนังคศิลาถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงว่าจัดการเลือกตั้งสกปรก
ประชาชนได้เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล
ผ่านสะพานมัฆวานมีนายทหารท่านหนึ่งบอกว่าให้ประชาชนเดินผ่านไป
อย่าทำร้ายประชาชน ตรงนั้นเป็นใบเบิกทางให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
สามารถก่อรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. ได้
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเอาสุนัขไปให้และบอกว่าจะจงรักภักดี
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจในตอนแรกไม่ได้ขึ้นเป็นนายกเอง ให้นายพจน์
สารสินรักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อรักษาอำนาจ
ต่อมาหลังการเลือกตั้งก็ให้จอมพลถนอม กิตติขจรอยู่ในตำแหน่งนายก
จนท้ายที่สุดจอมพลสฤษดิ์ได้ทำการยึดอำนาจตัวเอง
ตรงนี้เป็นปม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2500 นั้น
จอมพลสฤษดิ์อ้างคำว่าจะสร้างระบอบปฏิวัติ
แล้วเริ่มกวาดผู้นำฝ่ายตรงข้ามอย่างเป็นทางการ
ด้วยการจับเข้าคุกข้อหาบ่อนทำลาย ข้อหาคอมมิวนิสต์
บางรายไม่มีโอกาสแม้จะแก้ต่างในชั้นศาลถูกประหารโดยคำสั่งมาตรา 17
จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเงินนับร้อยล้านเหรียญใน
สมัยนั้น และทิ้งมรดกให้กับจอมพลถนอมซึ่งครองอำนาจจนถึงปี 2511
จึงยอมให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย
สรุปแล้วระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ใช้เวลา 12 ปี ถึงจะมีรัฐธรรมนูญ
และเมื่อมีรัฐธรรมนูญก็ใช่ได้เพียง 3 ปี ก็รัฐประหารตัวเอง
ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองปี 2515
จนประชาชนทนไม่ไหวต้องออกมาเรียกร้องเกิดเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
เป็นการปฏิวัติที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บ 800 คน และเพียง 3
ปีก็เกิดการปฏิรูป เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีการเสียชีวิต 46 คน
มีคนเข้าป่าและรบกับรัฐบาลกว่า 3,000 คน ทั้งมีการเสียชีวิตในราวป่าด้วย
นี่คือตัวอย่างของการปฏิรูปและปฏิวัติอย่างไม่ขบคิดถึงความถูกต้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นที่เราเห็นจากฮิตเลอร์
การสร้างสภาวะยกเว้นเพื่อให้ใครบางคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
คือภาวะที่น่ากลัวที่สุด อันตรายที่สุดสำหรับระบอบประชาธิปไตย การสร้าง
stage of exception หรือสภาวะยกเว้น ก็คือการรัฐประหาร
ในกรณีของฮิตเลอร์คือการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ
ในกรณีของจอมพลสฤษดิ์คือการรัฐประหารโดยอำนาจปากกระบอกปืน
“วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในทางรัฐศาสตร์
เราเรียกว่า สงครามกลางเมืองโดยกฎหมาย
คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างยิ่งยวดกับฝ่ายหนึ่ง
และละเว้นกฎหมายอย่างยิ่งยวดต่อฝ่ายหนึ่ง
สภาวะอย่างนี้จะทำให้เกิดความสูญเสียซึ่งดุลทางอำนาจและพื้นที่ทางอำนาจของ
ประชาชน การก้าวล่วงมาสู่การตัดสิน Over rule ให้อำนาจกว่า 20
ล้านเสียงที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกลายเป็นศูนย์
ผมคิดว่านี่คือภาวะอันตรายอย่างยิ่งยวด” บัณฑิตกล่าว
คนหนุน ‘แช่แข็งประชาธิปไตย’ ไม่ยอมรับว่าคนเท่ากับคน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าว
ว่า เมื่อพูดถึงการแช่แข็งในสมัยวัยรุ่นจะนึกถึงคำว่า “หนาวแน่”
ที่มีคนพยายามข่มขู่อะไรบางอย่าง บอกให้ระวังตัว
แต่เมื่อเข้าสู่การเรียนหนังสือจะนึกถึงยุคน้ำแข็ง
ที่มีผลทำให้สิ่งมีชีวิตบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ต้องตายลงไป
พอมาพูดถึงคำว่า “แช่แข็งประเทศไทย” ในบริบทของสังคมไทยคิดถึงการปิดประเทศ
คิดถึงการปิดไฟ และล่าสุดมีการเคลื่อนไหวที่ใช้คำว่า “Shutdown Bangkok”
เพื่อหยุดฝ่ายตรงข้าม ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่ง
เพราะหากฝ่ายตรงข้ามยังเคลื่อนไหวอยู่ก็จะนำไปสู่บรรยากาศการต่อสู้ที่
ต่อสู้กันได้ จึงต้องทำให้ฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น การไปปิดน้ำ
ปิดไฟ และล่าสุดมีการซ้อมคนแล้วจับเอามือไขว้หลังแล้วถ่วงน้ำ
ทำไมคนเหล่านี้ต้องการแช่แข็งประชาธิปไตย
เหตุผลเพราะในระบอบประชาธิปไตยคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือประชาชน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม
ต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ประชาชนไม่ได้ตื่นตัว
ความเชื่อที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนพอๆ
กับสมัยกาลิเลโอที่บอกว่าโลกกลมขณะที่คนส่วนใหญ่ในโลกเชื่อว่าโลกแบน
เพราะในสังคมไทยช่วงเวลาหนึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศเชื่อว่าอำนาจสูงสุดไม่ใช่
ของประชาชน และนี่เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง
เหมือนการเปลี่ยนความเชื่อจากโลกแบบเป็นโลกกลม ทำให้ถูกต่อต้าน
เพราะมันขัดต่อระบบความเชื่อและคุณค่าที่ถูกบ่มเพาะมาทั้งชีวิต
ในทางการเมือง คนที่คิดว่าอำนาจสูงสุดควรเป็นของประชาชน
ในอดีตคนพวกนี้อาจเป็นขบถ
แต่ในปัจจุบันคนที่เชื่อว่าอำนาจสูงสุดควรเป็นของประชาชน
มีมากเท่ากับคนบนโลกนี้ที่เชื่อว่าโลกนั้นกลม ดังนั้นคุณไม่ใช่กาลิเลโอ
“เมื่อ 80
ปีที่แล้วมีกาลิเลโออยู่ในประเทศไทยและบอกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
คนกลุ่มนั้นเป็นพวกกาลิเลโอ แต่ในวันเราแค่ยืนยันว่าโลกกลม
และยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่เราอยู่ในรอยต่อ
ปัญหาก็คือว่าเราเดินทางมาไม่ไกล ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าโลกแบน”
สมบัติกล่าว
สมบัติ บอกด้วยว่า
คนกลุ่มดังกล่าวพยายามที่จะบอกว่าการปกครองไม่ควรปล่อยให้ประชาชนที่ไร้
เดียงสา ไม่มีความรู้ ยากจน ห่างไกลความเจริญ
และไร้สติปัญญาเพราะไม่มีการศึกษาสูง ถูกชักจูงง่าย
และถูกหลอกล่อโดยทุนนิยมมามีอำนาจในการตัดสินใจเทียบเท่ากับคนที่มีการศึกษา
เสียสละเพื่อชาติมาโดยตลอด รู้เช่นเห็นชาตินักการเมืองทั้งหลาย
พวกเขาไม่ยอมรับว่าคนเท่ากับคน ไม่ยอมรับว่าคนธรรมดาเท่ากับคนที่มีการศึกษา
มีความรู้
“ไม่น่าเชื่อว่าใน พ.ศ.นี้
เราจะต้องมาอธิบายกันว่าคนเรานั้นมันเท่ากัน
ไอ้คนเชื่อว่าคนไม่เท่ากันนี่ไม่น่าอายนะ ผมเชื่อว่าโดยลึกๆ
ความเป็นมนุษย์ของเรา ความเห็นแก่ตัว สัญชาตญาณดิบของเรายังมีอยู่
ยังขัดเกลาได้ไม่หมด แต่มันไม่น่าเชื่อว่ามันยังมีคนจำนวนหนึ่ง
เป็นนักวิชาการ เป็นชนชั้นนำในสังคมกล้าพูดประโยคนี้ในทางสาธารณะ
และต่อสู้ว่าจะปล่อยให้คนเท่ากันนั้นมิได้” สมบัติกล่าว
แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวด้วยว่า
การอธิบายคนในชนบทของคนในเมืองสะท้อนถึงการไม่มีความเชื่อมโยงกัน
และไม่เข้าใจถึงพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในสังคมชนบท ดังนั้น
คนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าอำนาจสูงสุดไม่ควรตกอยู่ในมือประชาชนนั้นเรียนรู้ทำ
ความเข้าใจคนชนบทว่า มีวิธีชีวิต มีระบบคุณค่า
และมีคุณภาพในระดับเดียวกับตัวแสดงในละครหลังข่าว
เรื่องนี้ไม่ต่างจากคนในประเทศตะวันตกที่รู้จักประเทศไทยเพียงเฉพาะในสารคดี
แล้วตั้งคำถามว่าเรายังใช้ช้างในการเดินทางอยู่หรือไม่ ดังนั้น
เรื่องชนบทศึกษาจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญ
สมบัติกล่าวต่อมาถึงข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงซึ่งเขายอม
รับ แต่ชวนตั้งข้อสังเกตว่า
“การซื้อสิทธิ์ขายเสียงอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างประชาธิปไตย”
โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อนการเมืองไม่เกี่ยวกับชาวบ้านเลย
แต่มาเกี่ยวเมื่อมีคนเอาโรงเท้าข้างหนึ่งมาให้แล้วบอกว่าถ้าเลือกฉันแล้วจะ
ได้อีกข้างหนึ่ง ต่อมาเริ่มเปลี่ยนเป็นนำปลา กะปิ และกลายเป็นเงิน
จากนั้นชาวบ้านเริ่มเรียนรู้
แทนที่จะได้เงินเป็นปัจเจกแต่รวมกลุ่มคุยกันทั้งหมู่บ้านว่าถ้าเลือกท่าน
แล้วท่านจะมาทำโครงการพัฒนาหมู่บ้านได้ไหม รับเป็นชุมชน
ถึงตอนนี้มีการต่อรองไปถึงเรื่องนโยบาย
แม้ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงดูเหมือนเป็นเรื่องทุจริต
แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้การเมืองเกี่ยวข้องกับประชาชนได้
และในวันนี้วิวัฒนาเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงได้กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัว
เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง
แต่ภาพจำในอดีตของคนจำนวนหนึ่งที่ว่าคนซื้อสิทธิ์ขายเสียง
นายทุนเข้ามาเป็นนักการเมืองได้
เขาจะไม่สามารถยอมรับได้ว่ามันมีวิวัฒนาการไปถึงเรื่องการทำให้คนตื่นตัวและ
ต่อรองไปสู่เรื่องนโยบายแล้ว
ส่วนตัวไม่อยากบอกว่าใครถูกใครผิด แต่เห็นว่าเกมแบ่งเป็น 2 ชั้น
เกมชั้นบนคนที่มีอำนาจสู้กันว่าใครจะอยู่ในอำนาจ
สำหรับคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องต่อสู้แย่งชิงไม่ว่าจะในระบอบ
ประชาธิปไตยหรือระบอบใดก็แล้วแต่
มีมันมีคนในระดับล่างที่ไม่ได้ชิงอำนาจคือประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการ
เมืองกำลังสู้กัน
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีคุณค่าเพียงแต่มันถูกโยงไปเป็นกลไกของชนชั้นนำใน
การแย่งชิงอำนาจกัน และหวังว่ามันจะไม่นำไปสู่การปิดประเทศ
หรือแช่แข็งประเทศ
“มองในอีกด้านดี
ผมมีความหวังว่าประเทศเราถึงแม้ว่าวันนี้จะมีวิกฤตการณ์
แต่ผมมองวิกฤติการณ์นี้ว่า มันเหมือนกับแม่ที่กำลังจะคลอดลูก
มันจะเจ็บเหมือนคุณจะตาย
แต่คุณภาพใหม่จะเกิดขึ้นในสภาวะที่คุณเจ็บเหมือนคุณจะสิ้นใจตาย
ถ้าไม่แท้งเสียก่อนนะครับเราจะไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ในประเทศนี้
แค่อย่าฆ่ากัน อย่านำไปสู่ความรุนแรง
ผมเชื่อว่าประเทศเรามีความหวังและเราจะกระโดดไปได้ไกลมาก” สมบัติกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น