แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

‘ความยุติธรรม’ (Justice): อัตวิสัย (subjective) หรือ ภววิสัย (objective)?

ที่มา ประชาไท





เมื่อพูดกันถึงเรื่องความยุติธรรม (Justice) แล้ว คนธรรมดาทั่วไปก็คงทึกทักว่าภาวะดังกล่าวดำรงอยู่จริง (ทั้งๆที่ยังไม่ได้คิดเป็นส่วนมาก) หรือถ้าเริ่มคิดบ้าง ก็คงจะจินตนาการไปไม่พ้นเรื่องของความยุติธรรมในเชิงกฎหมายบ้านเมือง ความยุติธรรมที่ไม่ได้จัดอยู่ในนิยามใด ซึ่งเกิดขึ้น (หรือมีอยู่) ในการดำรงชีวิตประจำวัน (ในแง่สังคมวิทยา) หรืออย่างแย่ที่สุด คือไม่ได้คิดอะไร เพียงฟังตามๆกันมา หรือใช้ประสบการณ์ส่วนตนทึกทักเอาเองตามเรื่องตามราว
บางทีเราก็ใช้มโนทัศน์ ‘ความยุติธรรม’ กันอย่างพร่ำเพรื่อเหลือเกิน ยังไม่ทันคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ (contemplate seriously) ก็ดันประยุกต์ใช้ไปกับกรณี ก. กรณี ข. เสียแล้ว และที่สำคัญ ถูกผิดก็ไม่รู้ แต่เขาก็จะก็สรุปเอาเองว่า “นั่นแหละ ยุติธรรมดีแล้ว” หรือว่า “นั่นแหละ คือความยุติธรรม” ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าถามสวนกลับไปว่า “แล้วความยุติธรรมที่แท้นั้นเล่าคืออะไร?” เหตุการณ์โต้เถียงทะเลาะเบาะแว้งก็จะเกิดมีขึ้นอย่างแน่นอน ทำไมน่ะหรือ? คุณก็รู้คำตอบดีอยู่แล้วนี่...
ปัญหาของมโนทัศน์ ‘ความยุติธรรม’ แทบจะเรียกได้ว่ามีอยู่ไม่รู้จบ อย่างแรก เราต้องตระหนักเอาไว้ให้ขึ้นใจ ว่า ‘ความยุติธรรม’ ก็เป็นเพียงคำๆหนึ่ง สิ่งสร้างสิ่งหนึ่ง ที่มนุษย์เราเองนี่แหละเป็นคนประดิษฐ์มันขึ้นมา คำถามสุดจะพื้นฐานตรงนี้จึงมีอยู่ว่า แล้วสิ่งประดิษฐ์นั้นเกิดขึ้นมาจากที่ใด จากแห่งหนไหน? ที่เหตุการณ์? ที่คน? ที่การกระทำ? ที่ท้องฟ้า? ที่ดวงดาว? ที่ความเกลียดชัง? ที่ตำรา? ที่ไหนกัน นั่นสิ ที่ไหนกัน บ่อกำเนิดแรกของมันอยู่ที่ไหนกัน
ความยุติธรรมมีสภาวะตัวตน (Being) หรือไม่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เราต้องถามตัวเองให้หนักเสียก่อนว่า ก่อนที่เราจะเอ่ยมโนทัศน์ดังกล่าวออกไปนั้น เรารู้จริงหรือไม่ว่าภาวะของมันคืออะไร หรือ (ถ้ามั่วว่ามีไปแล้ว) มันจะหมายความว่าอะไร ผู้เขียนเชื่อว่าคนส่วนมาก (หรืออาจจะมากๆๆๆ) ไม่เคยคิดคำนึงถึงจุดที่แสนจะเปราะบางและอันตรายนี้หรอก เพราะถ้าเราเปิดใจ หรือยอมรับความจริงอันแสนจะน่าเจ็บปวดนี้ได้แล้ว เราคงไม่อ้างความยุติธรรมกันอย่างดาดๆ มั่วๆซั่วๆ และเราคงอ้างถึงประโยคของโสกราตีส (Socrates) ที่ว่า ‘the only thing I know is I know nothing’ ออกมาได้อย่างภาคภูมิใจ (อย่างเป็นเบื้องตน) และผู้เขียนเชื่อว่าจากจุด (เริ่มต้นของแสงสว่างแห่งการยอมรับในความไม่รู้ของแก่นสาร) นั้นเอง สาระของความยุติธรรมอาจจะค่อยๆคืบคลานมาให้คุณระลึกหรือตระหนักได้เอง
แต่มันคงไร้ประโยชน์สิ้นดีกับสิ่งที่ผู้เขียนได้เกริ่นไปนี้ เนื่องจากวัฒนธรรมของประเทศเราไม่เอื้อเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนซีเรียส คนที่ครุ่นคิด หรือคนที่ชอบตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับหยั่งรากลึก ในระดับอภิปรัชญา เพราะอะไร? ก็เพราะมันยุ่งยาก มันไม่สบาย เอาอย่างนี้แหละ ง่ายๆ ชิลล์ๆ ผู้ใหญ่ว่ามาอย่างไรก็ว่าไป หนังสือเขียนว่าอย่างไรก็เชื่อมันไป นี่แหละความยุติธรรม ผิดๆถูกๆก็พี่น้องกัน เอาล่ะ เราควรจะเริ่มกันเสียที คุณรู้ไหมว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร?
แน่นอนว่ามโนทัศน์ความยุติธรรมก็เปรียบ เสมือนการเดินทางของประวัติศาสตร์ จากที่ไม่เคยมีคำดังกล่าว (ในยุคที่ยังไร้ระบบของภาษาพูดภาษาเขียน) ก็มามีสักยุคหนึ่งที่มโนทัศน์ดังกล่าวได้คลอดออกมา คำถามตรงนี้จึงมีอยู่ว่าเหตุใดมนุษย์จึงเริ่มผลิตความหมายทางโครงสร้างเหล่า นี้? คำตอบนั้นไม่ยาก ความยุติธรรมเริ่มถูกอ้างมาก็เพียงเพราะ ‘เรื่องของการจัดสรรวัตถุและความรู้สึก’ จะเกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวพันกับความดีงามนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  (อย่าง ‘อรรถประโยชน์นิยม’ (Utilitarianism) ของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) ก็เห็นว่าต่อให้คนโยนทาสให้สิงโตกินก็เป็นความยุติธรรม เหตุทำให้ผู้ชมหมู่มากในสนามมีความสุข) ปัญหาจึงมีอยู่ว่ามันสมควรหรือไม่ ที่เรื่องราว (ซึ่งดูจะผูกโยงกับความหมายอะไรบางอย่างในแต่ละเหตุการณ์) นั้นๆ จะถูกนำไปแปรธาตุกลายเป็นเรื่องความยุติธรรมสมบูรณ์  มันสมเหตุสมผลหรือไม่ ที่เหตุการณ์บางอย่างซึ่งมนุษย์คิดขึ้นมาเองนั้นจะกลายสภาพไปเป็นภาวะที่แท้ ของความยุติธรรม
มีความเห็น (ย้ำ ผู้เขียนใช้คำว่าความเห็น) มากมายเหลือเกิน ที่ยืนยันว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงอย่างเป็นรูปธรรม ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คงมาในรูปของตัวบทกฎหมายและคำพิพากษา ราวกับว่าเป็นสิ่งสรรสร้างจากพระเจ้าที่มีความยุติธรรมอยู่ในตัวเอง (in-itself) และโต้แย้งไม่ได้ คำถามที่สำคัญตรงนี้คือแล้วใครหน้าไหนเล่าที่เขียนกฎหมาย? ก็มนุษย์ดาดๆอย่างเรานี่มิใช่หรือ! ถ้าจะให้พูดลึกลงไปอีก ก็คือมนุษย์เราเองนี่แหละ ที่ดึงธรรมชาติของสิ่งเฉพาะขึ้นมาปั้นบนดินให้เป็นรูปเป็นร่าง (transforming essence into existence) อย่างไรก็ดี ปัญหาเดิมก็จะวนกลับมาอีกครั้ง กล่าวคือแล้วเรารู้ได้อย่างไรเล่า ว่าสิ่งที่เรานึกคิดหรือเขียนบัญญัติลงไปแต่ละเรื่องแต่ละราวนั้นคือ ‘สภาวะแท้’ ของความยุติธรรม
คำตอบที่อ่อนต่อโลกที่สุดคำตอบหนึ่งก็คือมันเป็นเรื่องทาง common-sense ของมนุษย์ มนุษย์เรามีความสามารถที่จะตระหนักได้ว่าสิ่งใด (หรือเรื่องใด) คือความยุติธรรมทางธรรมชาติ คำถามแน่นอนจึงมีอยู่ว่าจริงหรือ? ผู้คนบางกลุ่มอาจคิดว่าจริง เพราะมันคือสัญชาติญาณพื้นฐาน (บางคนอาจไปไกลถึง ‘สหัชญาณ’ (intuition)) ของมนุษย์ที่ต้องดำรงชีวิตอยู่บนโลก  แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนคงต้องขอปฏิเสธ เนื่องจากภาวะของมนุษย์และความยุติธรรมนั้นเป็นอิสระต่อกันอย่างเป็นพื้นฐาน (คิดง่ายๆ ถ้าความยุติธรรมไม่เป็นอิสระ (dependent) ต่อมนุษย์ ความยุติธรรมนั้นก็จะไม่ใช่ความยุติธรรมในท้ายที่สุด) อาจจะจริง ที่มโนทัศน์นี้ต้องมามีส่วนเกี่ยวพันไม่มากก็น้อยเนื่องจากอย่างไรก็ดีเรา ยังคงต้องใช้ชีวิต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถตระหนักได้ถึงธรรมชาติของความยุติธรรม ที่เป็นนิรันดร์ และที่สำคัญ เรายังหาเคยตั้งคำถามเลยว่าความยุติธรรมนั้นเป็น ‘ปรากฎการณ์’ (phenomenon) ปกติ หรือเป็นสิ่งที่ ‘อยู่เหนือปรากฎการณ์’ (noemenon) ซึ่งอยู่เหนือการรับรู้ปกติ
ประวัติศาสตร์อันยาวนานสอนเราว่ามโนทัศน์ความยุติธรรมต้องถูกนำไปเกี่ยว ข้องหรือผูกติดกับกระบวนทรรศน์การตีความเรื่องราวทางโลก (ในยุคสมัยเฉพาะเจาะจง) อยู่เสมอ เช่นในสมัยก่อนคริสต์ศักราช (ยกตัวอย่างเช่นโลกของกรีก) มนุษย์นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการกำหนดองค์ความยุติธรรม (ดังที่โพรธากอรัส (Protagorus) ได้เคยกล่าวว่า “Man is the measure of all things” หรือที่เอมพีโดเคลส (Empedocles) ว่าไว้ว่า “Each man believes only his experience” เป็นต้น) ในขณะที่การเลื่อนไหลของเวลามาสู่ยุคมืด (Medieval Age) ก็ทำให้องค์ความยุติธรรมเปลี่ยนแกนไปราวกับอยู่คนละโลก (กล่าวคือเป็นความยุติธรรมที่ต้องมีความสัมพันธ์กับพระองค์ หรือรับใช้พระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งท่วงทำนองก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่องค์ความยุติธรรมในช่วงยุคเหตุผล (Enlightenment) ซึ่งเชื่อว่ามีความยุติธรรมที่เป็นสากล และองค์ความยุติธรรมยุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ซึ่งเชื่อว่าความยุติธรรมเป็นเพียงสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในเรื่องราวหนึ่งๆของ หลากหลายเรื่องราว มีแกนระบบองค์ความยุติธรรมของตัวเอง ราวกับไม่เคยขึ้นกับเนื้อหาในประวัติศาสตร์ที่เคยเขียนมาอย่างยาวนาน
คำถามตรงนี้จึงมีอยู่ว่าแล้วความยุติธรรมบริสุทธิ์ที่ปราศจากวาทกรรม (objective justice) ล่ะ มีอยู่หรือไม่? ถ้าไม่มี แล้วเราจะเรียกความยุติธรรม (ที่เราพูดและเชื่อกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) นั้นได้ว่าเป็นความยุติธรรมที่แท้ได้อย่างไร? ตรงนี้สำคัญ เนื่องจากถ้าความยุติธรรมเชิงภววิสัยไม่ดำรงอยู่จริง ความยุติธรรมในทุกวันนี้ก็จะไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นสิ่งอื่น เนื่องจากผลไม่สามารถเกิดได้ถ้าไม่มีเหตุ (บ่อกำเนิด) ในทางกลับกัน ถ้าความยุติธรรมที่เป็นนิรันดร์ สากล ไม่แปรเปลี่ยนตามกาลเวลามีอยู่ เหตุใดเราจึงยังต้องมาถกมาเถียงกันจนทุกวันนี้ หรือปัญหาคือภาวะสากลที่ว่าไม่สามารถถูกรับรู้ได้ (transcendence)?
โลกจึงยุ่งเหยิง เพราะมนุษย์ไม่คิดถึงปัญหาเหล่านี้ เราคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายดายไปเสียหมด แค่มีครูสอน แค่ได้อ่านตำราบางเล่ม ก็เชื่อเสียแล้ว ว่านั่นคือความยุติธรรม ว่านี่คือความยุติธรรม และที่สำคัญ common-sense หรือ ประสบการณ์ส่วนตนนี่แหละที่อันตรายที่สุด มันทำให้เราไม่ฟังใคร มันทำให้เราไม่เริ่มต้นครุ่นคิดถึงเรื่องราวนั้นๆอย่างซีเรียสนับแต่ศูนย์ มันจึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระและตื้นเขินสำหรับมนุษย์บางประเภท ที่ทำตัวเสมือนว่ารู้ดีแล้วว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร ทว่าไม่เคยรู้ (หรือแม้แต่จะคิด) เลยว่ามันดำรงอยู่ในรูปลักษณ์ใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น