แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ระลึกสงกรานต์เลือด 2552

ที่มา ประชาไท


เหตุการณ์นองเลือดในระยะเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สงกรานต์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2552 ก็ถือว่าเป็นกรณีหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดงครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก และเป็น “การเคลื่อนไหวซ้อม”ที่ปูทางมาสู่เหตุการณ์ใหญ่ในปีต่อมา
กรณีสงกรานต์เลือด พ.ศ.2552 เริ่มต้นตั้งแต่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2551 จากการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรวมรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคขนาดเล็กและอาศัยการเปลี่ยนข้างของกลุ่มเนวิน ชิดชอบ จากพรรคพลังประชาชน กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดไม่มีความชอบธรรม จึงได้เคลื่อนไหวคัดค้าน
การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2552 เมื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้จัดการชุมนุมแดงทั้งแผ่นดิน ที่ท้องสนามหลวง ผู้นำการชุมนุมก็เช่น วีระ มุสิกพงษ์ ในฐานะประธาน นปช. นอกจากนี้ก็คือ จตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จักรภพ เพ็ญแข และ นพ.เหวง โตจิระการ เป็นต้น ในวันต่อมา นปช.ก็เคลื่อนพลมาตั้งเวทีประท้วงยืดเยื้อที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ทางแกนนำเสนอหลักการที่จะให้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชนด้วยสันติ วิธี ปรากฏว่ามีประชาชนมาเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดสูงสุดของการชุมนุมคือ วันที่ 8 เมษายน ประมาณกันว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากถึง 3 แสนคน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
แกนนำ นปช. ได้ตั้งข้อเรียกร้อง คือ  1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี  2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3. การบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตามหลัก สากล โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบภายใน 24 ชั่วโมง
สถานการณ์ยกระดับไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น เริ่มจากเหตุการณ์ในวันที่ 9 เมษายน เมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ขยายการชุมนุมไปหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ และที่สำคัญคือ กลุ่มแท็กซี่คนเสื้อแดง ได้ปิดถนนประท้วงรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัฐบาลถือโอกาสประกาศให้วันที่ 10 เมษายนเป็นวันเริ่มต้นหยุดยาวช่วงสงกรานต์ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อกระแสหลักและกลุ่มเสื้อเหลือง ว่าเป็นตัวการทำให้การจลาจรติดขัด ขณะที่ประชาชนกำลังกลับบ้านสงกรานต์ และถูกใส่ร้ายว่า ปิดทางเข้าโรงพยาบาลราชวิถี อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายแกนนำ นปช.ก็ตัดสินใจถอนการปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในคืนวันนั้น โดยให้ประชาชนกลับไปรวมตัวกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาล
จากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์สับสนที่ทำให้สื่อกระแสหลักโหมโจมตีการเคลื่อนไหวของ ประชาชนคนเสื้อแดงมากขึ้น คือ วันที่ 10 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ในขณะที่กำลังมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ในวันรุ่งขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ มุ่งที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนเลขาธิการสมาคมอาเซียน เพื่อคัดค้านความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เกิดการปะทะกับกองกำลังจัดตั้งเสื้อน้ำเงินของฝ่ายคุณเนวิน ชิดชอบ เหตุการณ์ลุกลามจนทำให้การประชุมสุดยอดต้องยุติกลางคัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงถือโอกาสอ้างเป็นเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน เขตพื้นที่เมืองพัทยา และจังหวัดชลบุรี
วันที่ 12 เมษายน มีรายงานข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสลายการชุมนุม ที่กระทรวงมหาดไทย กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย คุณสุพร อัตถาวงศ์ จึงเดินทางไปคัดค้าน และได้เกิดเหตุการณ์ล้อมรถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเหตุการณ์ถูกนำมาสร้างกระแสทำลายภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงมากขึ้น
ในวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯและปริมณฑล จับกุมนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และได้ถือโอกาสตัดสัญญานสถานีโทรทัศน์ดี สเตชั่น ของฝ่ายคนเสื้อแดง พร้อมทั้งใช้อำนาจปิดสื่อของฝ่ายเสื้อแดงทั้งหมด พร้อมกันนั้น ก็ได้สั่งเคลื่อนกำลังทหารเพื่อมาปราบปรามการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดง เหตุการณ์รุนแรงเกิดในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 13 เมษายน เมื่อกำลังทหารนำโดย พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เคลื่อนกำลังเข้าปะทะกับประชาชนคนเสื้อแดงที่สามเหลี่ยมดินแดง เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ฝ่ายทหารสลายกำลังโดยใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริงกับประชาชน มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บ 70 คน แต่ต่อมา รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่า เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับในฝ่ายคนเสื้อแดงมีความเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ทหารนำศพไปซ่อนไว้
สถานการณ์ในกรุงเทพฯตึงเครียด เพราะมีข่าวตลอดเวลาว่า ฝ่ายทหารจะเข้าสลายการชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ฝ่ายคนเสื้อแดงได้ยึดรถเมล์และยางรถยนต์มาเผา เพื่อสร้างแนวป้องกัน อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปช.โดย คุณวีระ มุสิกพงศ์ ได้ประกาศสลายการชุมนุมในเวลากลางวันวันที่ 14 เมษายน ให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน ส่วนแกนนำ นปช.ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีโดยทันที
ถึงกระนั้น กรณีที่มีผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอนจากกรณีนี้ คือ นายนัฐพงษ์  ปองดี และ นายชัยพร กันทัง ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงในวันที่ 12 เมษายน แล้วหายสาบสูญ ต่อมาได้พบว่าถูกสังหาร แล้วโยนลงแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่ตำรวจวินิจฉัยว่า ถูกฆาตกรรมด้วยสาเหตุทางการเมือง แต่จนถึงขณะนี้คดีความก็ยังไม่มีความคืบหน้า
บทเรียนจากกรณีสงกรานต์เลือด พ.ศ.2552 ในด้านหนึ่งก็คือ เห็นถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ของฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดงทั้งชายและหญิง ที่พร้อมที่จะต่อสู้และเสียสละเพื่อประชาธิปไตยด้วยจิตใจที่อาจหาญ แม้วิธีการต่อสู้อาจจะดูไม่มีระบบ แต่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติของการต่อสู้ และจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ด้วยจิตใจแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกในปีต่อมา ส่วนในอีกด้านหนึ่งก็เห็นได้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเต็มรูปแบบกับประชาชน ด้วยการใช้กำลังทหารติดอาวุธกระสุนจริงในการปราบปราม นอกจากนี้ ก็คือการใช้วิธีปิดล้อมด้านการสื่อสาร คือ ใช้อำนาจปิดกั้นข่าวสารทั้งหมดจากฝ่ายคนเสื้อแดง เพื่อใช้การโฆษณาชวนเชื่อสร้างความชอบธรรมกับการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดโดย ฝ่ายรัฐ แต่ข้อสังเกตจากเรื่องนี้ก็คือ ชนชั้นกลางจำนวนมากและสื่อกระแสหลักกลับสนับสนุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้วิธี การเช่นนี้ได้ และให้ความร่วมมือสร้างกระแสปิดล้อมบิดเบือนภาพลักษณ์ของประชาชนคนเสื้อแดง เท่ากับว่าคนเหล่านี้ ให้”ใบอนุญาตฆ่า”แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดซ้ำอีกครั้งใน พ.ศ.2553
นี่เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ยุคใกล้ตัวเราครับ



จากโลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 407  วันที่ 20 เมษายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น