เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อให้นักการเมืองมีอำนาจ แต่เราต่อสู้เพื่อที่จะให้อำนาจทุกอำนาจตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ อยู่ใต้ประชาชน ไม่มีอำนาจแฝง ที่ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบ
ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องให้ประโยชน์ต่อประชาชน เหมือนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ของพรรคไทยรักไทย เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย “กินได้”
ตั้งแต่เริ่มรัฐบาลไทยรักไทย มาจนไม่เอารัฐบาลทักษิณ วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ หนุนให้ไล่ทักษิณ แต่ไม่เอา ม.7 ไม่เอารัฐประหาร ต่อต้านตุลาการภิวัตน์ และวิพากษ์วิจารณ์ เหน็บแนม “ลัทธิประเวศ” สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ผมก็ยังยืนหยัดสนับสนุนนโยบาย 30 บาท เพราะมั่นใจว่าให้ประโยชน์ประชาชนสูงสุด ผมโต้แย้งทั้งพวกเหลืองเกลียดทักษิณ ที่โจมตี 30 บาท แดงเกลียดหมอประเวศ ที่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปยึด สปสช.และองค์กร ส.ทั้งหลาย
ผมเริ่มเข้าใจ 30 บาท ตั้งแต่ปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง เพราะไปสัมภาษณ์หมอวิทิต อรรถเวชกุล ผอ.รพ.บ้านแพ้ว องค์การมหาชน ที่ปัจจุบันเป็น ผอ.องค์การเภสัชกรรม และถูกหมอประดิษฐ์สั่ง DSI เข้ามาสอบ
รพ.บ้านแพ้วเป็น รพ.นำร่อง ทดลองระบบ 40 บาทรักษาทุกโรค ไม่ใช่รัฐบาล ทรท.ทดลองหรอกนะครับ แต่ทำมาตั้งแต่รัฐบาล ปชป.เพียงแต่ ปชป.ไม่มีความกล้าหาญ ปลัดประเทศไม่เคยคิดทำเรื่องใหญ่ที่เป็นการปฏิรูประบบ รพ.บ้านแพ้วทำได้ในสิ่งที่ใครก็ไม่เชื่อคือรับเงินค่าหัวต่อประชากร ดูเหมือนแค่ 800 กว่าบาทในขณะนั้น เก็บค่ารักษาครั้งละ 40 บาท แต่อยู่ได้ กำไรด้วย โอเค รพ.บ้านแพ้วมีตึกใหญ่ อุปกรณ์ทันสมัย เกิน รพ.ชุมชนทั่วไป แต่มันก็พิสูจน์ว่าถ้ารัฐบาลเพิ่มค่าหัวอีกหน่อย 30 บาทไปได้สบายๆ
30 บาทเกิดจากความกล้าตัดสินใจของทักษิณ บวกกับไอเดียของหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และความมีอุดมการณ์มั่นคง มีเครือข่ายองค์กรเป็นปึกแผ่น ของแพทย์ชนบทและเครือข่าย “ลัทธิประเวศ” ตลอดจนลักษณะพิเศษของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแพทย์ ไม่ว่าชนบทหรือในเมือง อย่างน้อยก็เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณ
ต้องเข้าใจว่า เมื่อประชาชนเดินเข้าไปรับการรักษา โดยจ่ายเพียง 30 บาท ถ้าแพทย์ไม่มีจรรยาบรรณ ก็แจกแค่ยาแก้ปวด เหมือนใช้สิทธิประกันสังคมใน รพ.เอกชน แต่แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ทำอย่างนั้น ที่บางคนด่า 30 บาทว่าไม่ยอมรักษา ปัญหามักเกิดกับ รพ.เอกชนเกรดบีเกรดซี ที่มาเข้าโครงการ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมี รพ.รัฐน้อย แต่ในต่างจังหวัด ในชนบท มีปัญหาน้อยกว่า ที่จริงนี่เป็นจุดอ่อน ที่ทำให้คนจนเมืองได้อานิสงส์ 30 บาทด้อยกว่าคนชนบท
30 บาทไม่ใช่แค่ประชานิยม แต่ยังเป็นการปฏิรูประบบ ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเดิมกระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณตามขนาดของ รพ.โดยไม่ดูว่า รพ.นั้นรับภาระดูแลคนไข้มากน้อยเพียงไร จังหวัดใหญ่ๆ หรือจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ มีตึกใหญ่ มีหมอเยอะ ก็ได้งบเยอะ จังหวัดไกลๆ ทางอีสาน รพ.บ้านนอก ได้งบน้อย 30 บาทเกลี่ยงบใหม่หมด จ่ายตามรายหัวประชากร แต่การปฏิรูประบบนี้ก็เกิดแรงต้าน จากแพทย์พยาบาลใน รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด ซึ่งถูกตัดงบเกือบเหี้ยน ต้องไปรอ รพ.ชุมชนส่งต่อคนไข้ แล้วคิดเงินค่ารักษา ต้องจำกัดจำนวนบุคลากร ไม่รับมากเกินจำเป็น แล้วก็โวยวายกันว่าขาดทุน แต่ผลก็คือในปี 45-46 รพ.แถวอีสานที่ขาดแคลนแพทย์พยาบาลมาตลอด เพิ่งจะมีโอกาสได้เอารถบัสไปรับนักเรียนพยาบาล
30 บาทยังปฏิรูประบบด้วยการจัดตั้ง สปสช.ขึ้น เป็นผู้ถืองบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวของประชาชน แล้วซื้อบริการจากกระทรวงสาธารณสุขและ รพ.เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ต่างจากสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ซึ่งมีลักษณะเป็นกองทุน 3 กองทุนในประเทศไทย ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชน 70 ล้านคน แล้วแต่ใครจะใช้สวัสดิการกองทุนไหน
กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนสภาพจากผู้ถืองบประมาณไปเป็นผู้ให้บริการ โดย สปสช.เป็นผู้ว่าจ้างและจ่ายเงินแทนประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา เกือบ 12 ปี สปสช.ร่วมกับองค์การเภสัช ที่มีเครือข่ายหมอประเวศอย่างหมอวิชัย โชควิวัตน ไปเป็นประธานบอร์ด และหมอวิทิตเป็น ผอ.ก็สามารถบริหารจัดการซื้อยาและอุปกรณ์ต่างๆ ในราคาถูก เพียงพอต่องบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัว
ก็อย่างที่ผมเคยยกตัวอย่าง สปสช.จ่ายค่าฟอกไต ให้ รพ.เอกชน 1,500 บาท ขณะที่กรมบัญชีกลางยังจ่าย 2,000 บาทอยู่เลย ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เคยซื้อราคาแพง สปสช.ก็อาศัยการต่อรองเพราะซื้อจำนวนมาก (และไม่มีใต้โต๊ะ) จนซื้อได้ถูก เช่น เลนส์ตาเทียม 4-5 พันบาท ซื้อได้ 700 บาท
อย่าตกใจนะครับ ราคายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบ้านเรา บวกกำไรไม่รู้กี่ต่อ ลองซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไปแล้วไปเทียบกับร้านขายยาหน้าศิริราชดูก็ได้ ไม่งั้นพวกสาวๆ ดีเทลยาคงไม่เดินเข้าหาหมอกันขวักไขว่
ระหว่างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กับเครือข่ายหมอประเวศ ยังมีเบื้องหลังฝังใจกันอยู่ด้วย เพราะคดีทุจริตยาสมัยหมอปรากรม วุฒิพงศ์ เป็นปลัด ก็แพทย์ชนบทกับเครือข่ายหมอประเวศนี่แหละ ขุดคุ้นจนหมอปรากรมตกเก้าอี้
การสถาปนา “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่เป็นทั้งสวัสดิการสังคมและการปฏิรูประบบ ในช่วงปีแรกๆ จึงเจอแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วง ทั้งทางการเมืองจากพรรคแมลงสาบ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขเอง จากผู้บริหาร จากบุคลากรใน รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด ตลอดจนบริษัทยา แพทย์พาณิชย์ แพทยสภา แต่หมอเลี้ยบที่เป็นแม่ทัพใหญ่ในตอนนั้น ได้อำนาจเต็มจากทักษิณ ได้การสนับสนุนจากแพทย์ชนบทและเครือข่ายหมอประเวศ ตั้งแต่หมอมงคล ณ สงขลา ที่เป็นปลัดกระทรวง หมอหงวน หมอวิชัย ฯลฯ เดินหน้าผลักดันจนสำเร็จ ออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ตั้ง สปสช.ขึ้น แล้วหมอเลี้ยบจึงพ้นจาก รมช.สาธารณสุขไปเป็น รมว.ไอซีที
สมัยนั้นผมสัมภาษณ์หมอเลี้ยบ 2 ครั้ง หมอหงวน และทีมแพทย์ชนบท รวมหลายครั้ง จำได้ว่าหมอเลี้ยบพูดว่าเมื่อตั้ง สปสช.มี พ.ร.บ.หลักประกัน ก็ถือว่าฝ่าด่านได้แล้ว ต่อไปนี้ใครจะมารื้อระบบก็ทำได้ยากแล้ว
ปรากฏว่าคนที่พยายามรื้อระบบในตอนนี้คือพรรคเพื่อไทยเอง
ที่จริงความพยายามนี้มีมาตั้งแต่สมัยเจ๊หน่อยลอยหน้าลอยตาอยู่ในกระทรวง สาธารณสุข เมื่อหมอเลี้ยบพ้นไป กลุ่มผู้บริหารที่เสียอำนาจให้ สปสช.ก็มาเกาะอยู่กับเจ๊หน่อย และเป็นกลุ่มที่พรรคเพื่อไทยใช้งานตั้งแต่วิทยา บุรณศิริ ถึงหมอประดิษฐ์
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด สำหรับนักการเมือง พวกเขาต้องการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่เอาไปหาเสียงได้ แต่ไม่ต้องการปฏิรูประบบ ถ้าจะมีกองทุน ก็ต้องเป็นแบบประกันสังคม ที่รัฐมนตรีแรงงานสั่งซ้ายหันขวาหันได้ จัดซื้อจัดจ้างได้ เอาเงินไปใช้อะไรก็ได้ (ถึงไม่ยอมรับ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนเข้าชื่อ)
ฝ่ายการเมืองไม่ได้ต้องการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และประหยัด แต่ต้องการอะไรก็ได้ที่เหมือนจำนำข้าว 15,000 ชาวนาได้เงิน แต่รั่วไหลเรี่ยราดขาดทุนไม่นับ
กระนั้นก็อย่าลืมว่าจำนำข้าว 15,000 ชาวนาได้เงินแล้วจบนะครับ ไม่เหมือนสวัสดิการรักษาพยาบาลซึ่งสำคัญที่คุณภาพ ต้องมีบุคลากรที่มีอุดมการณ์ มีจรรยาบรรณ มีระบบบริหารจัดการที่ดี
ความพยายามทำลายแพทย์ชนบท และพยายามทำลายระบบ สปสช.จึงเท่ากับทำลาย 30 บาทนั่นเอง ซึ่งหมอประดิษฐ์กำลังเดินหน้าทั้ง 2 อย่าง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
2 ด้านของลัทธิประเวศ
อันที่จริง กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ที่รวมตัวขับไล่หมอประดิษฐ์ จะบอกว่าเป็นเครือข่ายหมอประเวศหมดก็ไม่ใช่ แต่เนื่องจากแกนกลางของระบบสาธารณสุข อยู่ที่ สปสช.และองค์กรตระกูล ส.อีก 5 ส.ซึ่งมี สสส.ไม้เบื่อไม้เมากับผมเป็นธงนำ ล้วนก่อตั้งมาโดยการผลักดันของเครือข่ายหมอประเวศ จึงต้องตั้งประเด็นว่า ผู้รักประชาธิปไตยที่ต่อสู้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ควรมีท่าทีต่อลัทธิประเวศอย่างไร
แน่นอน เราเห็นกันชัดๆ ว่าหมอประเวศโดดเข้ามา “ปฏิรูปประเทศไทย” แบบไม่ปฏิรูปโครงสร้าง ร่วมกับอานันท์ อุ้มรัฐบาลมือเปื้อนเลือด เราเห็นกันชัดๆ ว่าหมอชูชัย ศุภวงศ์ สมัยเป็นเลขาธิการกรรมการสิทธิฯ อุ้ม อ.อมรา พงศาพิชญ์ ไปมอบตัวกับอภิสิทธิ์ถึงราบ 11 เราเห็นกันชัดๆ ว่าหมอวิชัย เอียงข้างไหนตอนเป็นกรรมการสอบสื่อ เราเห็นกันชัดๆ ว่า ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัตน์ อดีตผู้จัดการ สสส.เดินเข้าทำเนียบไปบริจาคเงินให้พันธมิตร ฯลฯ ขณะที่หมอมงคลก็เข้าไปเป็น รมว.สาธารณสุขในรัฐบาลขิงแก่ หมอพลเดช ปิ่นประทีป ก็เข้าไปเป็น รมช.พัฒนาสังคม
คนเหล่านี้มีปัญหาทัศนะประชาธิปไตย เชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี ไม่เชื่อระบอบที่ให้ประชาชนตัดสินใจ ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่ามีการเลือกตั้งแล้วให้นักการเมืองเข้ามาปู้ยี่ ปู้ยำตามอำเภอใจ แต่การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานของสิทธิประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง มีอำนาจตัดสินใจด้วยตัวเอง
อันที่จริง การที่หมอประเวศตั้งองค์กรตระกูล ส.ขึ้นมาได้ ก็อาศัยการที่ประชาชนมีอำนาจต่อรองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่บารมีส่วนตัวของหมอประเวศ แต่มีพลังทางสังคมสนับสนุน ให้สร้างองค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน (บารมีของหมอประเวศก็มาจากประชาชนนั่นละครับ)
แต่หมอประเวศกับลูกศิษย์ลูกหากลับคิดเตลิดไปว่า ควรจะเอาระบอบ “คนดี” แบบที่ตัวเองตั้งขึ้นนี้ มาอยู่เหนืออำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งมันผิดหลัก พลิกกลับด้านกัน
ก็เหมือนความเชื่อของหมอประเวศเรื่องชุมชนเข้มแข็ง ฝังใจกับเศรษฐกิจชุมชนจนปฏิเสธการพัฒนาทุนนิยม ซึ่งชาวบ้านเขาต้องการ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับว่า ในแนวคิดพัฒนาทุนนิยมแบบพรรคเพื่อไทย ที่มีรูโหว่เบ้อเร่ออยู่ เรื่องความเหลื่อมล้ำ กับแนวคิดแบบหมอประเวศ ที่มีรูโหว่เบ้อเร่ออยู่ เรื่องปฏิเสธทุนนิยม ถ้ามัน match กันได้ ก็คือสิ่งที่เราต้องการ
แบบเดียวกับประชาธิปไตยแบบเพื่อไทย ที่ถ้าปล่อยไปถึงที่สุด นักการเมืองก็ไม่ต้องการให้ประชาชนเข้มแข็ง แต่ตอนนี้พวกเขากำลังต่อสู้กับอำมาตย์เท่านั้น ส่วนหมอประเวศอยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งอันที่จริงเป็นรากฐานประชาธิปไตย แต่กลับไปเชียร์รัฐประหารเสียได้
ฉะนั้นถ้ามองเครือข่ายหมอประเวศอย่าง 2 ด้าน สมองของพวกเขามีปัญหาเรื่องโครงสร้างส่วนบน เรื่องทิศทางของสังคม เรื่องผูกขาดความดี เชื่อแต่คนดีในพวกตัวเอง ผูกขาดองค์กรต่างๆ ไว้แต่พวกตัวเอง (เหมือนหมอพลเดชเชื่อว่าน้องสาวเดินมาสมัครงานเอง ฮิฮิ) แต่ถ้าอยู่ในฐานะกลไกที่ทำงานเพื่อประชาชน เครือข่ายหมอประเวศก็มีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะมีพื้นฐานอุดมการณ์ ความดีความสุจริตส่วนบุคคล โดยเฉพาะในการทำงานด้านสาธารณสุข
การจัดการกับเครือข่ายหมอประเวศจึงไม่ใช่การทำลาย แต่ต้อง “กด” ไว้ไม่ให้มาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทางสังคม ที่จะกลายเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็สนับสนุนและผลักดันเต็มที่ในการเป็นกลไกของนโยบายรัฐเพื่อผล ประโยชน์ประชาชน
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ผมด่าลัทธิประเวศแล้วมากลับกลอก แต่ต้องแยกแยะเป็นเรื่องๆ ถ้านักการเมืองจะเข้าไปทำลายระบบ สปสช.ผมไม่เอากับนักการเมืองแน่ ผมด่า สสส.แต่ถ้าฝ่ายการเมืองฮุบ สสส.ก็คงวิบัติฉิบหาย แนวทางที่ควรจะเป็นคือต้องให้พลังทางสังคม ตัวแทนประชาชนที่หลากหลายขึ้น เข้าไปคานอำนาจระหว่างการเมืองข้างหนึ่ง หมอประเวศข้างหนึ่ง ไม่ให้ใครผูกขาดได้
แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยโดยหมอประดิษฐ์ทำ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พูดง่ายๆ ว่า หมอประดิษฐ์ไม่ได้จะเข้าไปรื้อ สปสช.และองค์กร 5 ส.แล้วเอาคนที่มีคุณภาพของฝ่ายเสื้อแดง ฝ่ายประชาธิปไตย เข้าไปคานกับเครือข่ายหมอประเวศ แต่กลับเลือกเอาคนที่ตัวเองสั่งได้
แล้วที่ยืนเรียงแถวอยู่กับหมอประดิษฐ์เพื่อร่วมกันกระทืบแพทย์ชนบทและ เครือข่ายหมอประเวศก็คือ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กับแพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด ซึ่งต่อต้าน 30 บาทมาตลอด และไม่ใช่เสื้อแดงที่ไหน สลิ่มถมไป นอกจากนี้ยังมีแพทย์พาณิชย์ แพทยสภา รพ.เอกชน และบริษัทยา ที่จ้องตาไม่กระพริบ เลียปากแผล็บๆ
พูดหยาบๆ ก็บอกได้ว่าไม่มีใครแม่-อยู่ที่ราชประสงค์ซักคน
ขณะเดียวกันยังมีเซอร์ไพรส์ ที่สื่อส่วนใหญ่ ในสื่อกระแสหลักซึ่งเชียร์รัฐประหารตุลาการภิวัตน์หน้ามืดตามัว กลับเต้นตามหมอประดิษฐ์เสียนี่ ไม่รู้มีบริษัท PR ดีอยู่ในกระทรวง (ฮิฮิ) หรือเป็นอย่างที่ผมเคยทักท้วง สสส.ว่าดันให้งบสถาบันอิศราไปอบรมผู้บริหารสื่อ โดยเอาพวกแพทยสภา แพทย์พาณิชย์ ตัวแทนบริษัทยา เข้ามาอบรมด้วย ทำให้พวกนี้เข้าถึงสื่อ ล็อบบี้ยิสต์ของแพทย์พาณิชย์บางคน ไม่ต้องทำงานทำการอะไร วนเวียนอยู่แถวสภา สร้างสัมพันธ์กับข่าว เจ็บไข้ได้ป่วยหาโรงพยาบาลให้ นี่ยังไม่นับหนังสือพิมพ์หัวม่วงที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับหมอมงคลมาตั้งแต่ สมัยเป็นเลขา อ.ย.แล้วขยายเรื่องเฉพาะตัวมาต่อต้านแพทย์ชนบททุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่เขาทำประโยชน์ให้ประชาชน เล่นข่าวถล่มองค์การเภสัชฯ ปูพื้นให้หมอประดิษฐ์ลาก DSI มาเล่นงานหมอวิทิต
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ค่อยว่ากันอีกที แต่มันตลกครับ ที่รัฐบาลนี้ตั้งหมอพิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้อยู่ระหว่างถูก ปปช.สอบเรื่องทุจริตจัดซื้อรถพยาบาล 232 คัน มาเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัช แล้วมากล่าวหาหมอวิทิตว่าทุจริต
เรื่องสอบหมอพิพัฒน์นี่ไม่ใช่รัฐประหารกลั่นแกล้งนะครับ เพราะหลังถูกแพทย์ชนบทโวยว่ามีการล็อกสเปก คนที่เข้ามาปลดล็อกคือ น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รมว.สาธารณสุข ที่ค่อนแคะกันว่าเป็นหมอแม่ยายทักษิณนั่นแหละ
กลับยุค สธ.คุมอำนาจ
หมอประดิษฐ์กำลังจะทำลาย 30 บาทใน 2 ด้านคือทำลายระบบที่ สปสช.กุมงบประมาณ กำหนดราคายาและค่ารักษาพยาบาล กับทำลายความเข้มแข็งของแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นด่านหน้าของ 30 บาท
ตั้งแต่ยุควิทยา บุรณศิริ ฝ่ายการเมืองเข้ามายึดอำนาจในบอร์ด สปสช.ร่วมกับแพทย์พาณิชย์ มีเสียงข้างมากจนทำให้ผู้แทนภาคประชาชนฝ่ายต่างๆ กลายเป็นเสียงข้างน้อย อันที่จริง ตอนนั้น ฝ่ายการเมืองจะเปลี่ยนตัวเลขา สปสช.จาก นพ.วินัย สวัสดิวร แต่มีกระแสต้านแรง จึงต่อรองให้ นพ.วินัยเป็นต่อ แต่ให้ตั้งรองเลขาเพิ่ม 2 ตำแหน่ง ซึ่งผลการคัดเลือกก็ได้ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธิ์ กับ น.พ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รายแรกเป็นอดีต ส.ส.ไทยรักไทย เข้า สปสช.ไปโดยที่พนักงานใส่ชุดดำต้อนรับ
จากนั้นหมอ ประดิษฐ์ก็ประกาศนโยบาย “พวงบริการ” อ้างว่าจะรวมโรงพยาบาล 5-6 จังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้าเป็นพวงบริการ แต่ละพวงดูแลประชากรราว 5 ล้านคน มีประโยชน์ที่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมกัน แบ่งปันทรัพยากรและสถานที่ แต่ขณะเดียวกันก็จะปรับวิธีการจ่ายเงินของ สปสช. จากเดิมที่ รพ.เบิกจาก สปสช.เอง แต่ปี 57 นี้จะโอนงบไปยังเขตบริการทั้ง 12 เขต ให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ควบคุมดูแล
ว้าว! งบจัดซื้อจัดจ้างกลับมาอยู่กับผู้ตรวจที่สั่งได้
ถามว่าผมเชื่อ สปสช.มากกว่าผู้ตรวจไหม ใช่ทั้งโดยตัวบุคคลและระบบ บอกแล้วว่าในความดีความสุจริตส่วนบุคคล เครือข่ายหมอประเวศที่เป็นอิสระเชื่อถือได้มากกว่าข้าราชการที่อยู่ใต้อำนาจ การเมือง แต่ สปสช.โดยตัวระบบก็มีคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่กำหนดราคากลาง ทั้งราคายาและค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชน เครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ เข้าไปอยู่ด้วย มีการตรวจสอบอำนาจ ไม่ใช่มอบให้ผู้ตรวจคนเดียว
บางเรื่องที่กระจายไปให้ รพ.จัดซื้อจัดจ้างเอง เขาก็มีระบบของ รพ.ซึ่งการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ยาก มีการเปรียบเทียบราคา ใครซื้อได้ถูกกว่า แพงกว่า แต่นี่ รพ.กำลังจะถูกรวบอำนาจจัดซื้อไปไว้ที่ผู้ตรวจคนเดียว
ในภาพรวม นี่เป็นการทำลายระบบซึ่งให้ สปสช.เป็นตัวแทนผู้ใช้บริการ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการ มีการตรวจสอบและคานซึ่งกันและกัน สปสช.ตรวจสอบคุณภาพ ต่อรองราคา สธ.ก็ตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ร.พ.ในสังกัดตัวเองและเสนอราคา
สังคมทั่วไปยังไม่เข้าใจการแยกและคานอำนาจนี้ ยังคิดว่าเป็นระบบเดิมซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดูแลทุกอย่าง
P4P แปลง สธ.เป็นโรงงานนรก
ในด้านแพทย์ชนบท นอกจากการวางแผนขั้นบันไดยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย อย่างที่ผมเขียนไปแล้ว ยังมีปัญหา P4P ที่จะสร้างความปั่นป่วนไม่ว่าหมอในเมืองหรือหมอชนบท
กรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย หมอประดิษฐ์ใช้วิธีพูดตบตาประชาชน เช่นยกตัวอย่าง รพ.บางบัวทอง ไม่ได้เป็นชนบทแล้ว แต่มีสักกี่ รพ.ที่เป็นอย่างบางบัวทอง และอันที่จริง ชมรมแพทย์ชนบทไม่ได้ติดใจตรงนี้ พวกเขายินดีให้ปรับ รพ.บางส่วนเป็น รพ.ชุมชนเมือง ประเด็นที่เหมือน “ตบหัว” กันอย่างแรง ก็คือการยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เพิ่มให้แพทย์ที่ทำงานเกิน 20 ปี ไม่เว้นแม้แพทย์ใน รพ.กันดาร ซึ่งเท่ากับแสดงท่าทีไม่แยแสหมอที่อุทิศตัวอยู่ในชนบทเกิน 20 ปี ทำนองว่าพวกเมริงไม่มีปัญญาไปไหนรอด ยังไงก็ไม่ลาออก
อันที่จริง กรณีนี้ แพทย์ชนบทเองก็มีจุดอ่อน คือมีปัญหาท่าทีที่แข็งกร้าวกับแพทย์ใน รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด การขอเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในสมัยออเหลิม แพทย์ชนบทได้ฝ่ายเดียว แม้สมควรได้มากกว่า แต่ก็ยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้น 30 บาท นอกจากนี้ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของพยาบาล ก็ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับหมอ จะสังเกตได้ว่าพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ออกมาม็อบ กระนั้นสิ่งที่ควรสร้างความเป็นธรรมก็คือการเพิ่มเบี้ยเหมาจ่ายให้พยาบาลและ แพทย์ในเมืองในจังหวัด ไม่ใช่หันมาใช้ P4P
แต่สังเกตไหมครับว่าครั้งนี้ ทันตแพทย์ ฮือออกมาไล่หมอประดิษฐ์อย่างแข็งขัน สาเหตุก็เพราะ P4P นั่นเอง หมอประดิษฐ์กับ สธ.รู้จักพูดว่า เป็นการจ่ายตามผลงาน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย สังคมก็คล้อยตาม ผมฟังตอนแรกยังเขียนไปว่าน่าจะเอามาผสมผสานได้ เพราะคิดว่าเป็นระบบแบบ รพ.เอกชน ที่หมอตรวจที ได้ 500-1,000 นับหัวกันไป แต่ที่ไหนได้ หมอฟันที่รู้จักกันโทรมาด่าให้ฟังระยับ เขาอธิบายว่ามันคือระบบจู้จี้จุกจิก เห็นหมอพยาบาลเป็นกรรมกรในโรงงานนรก ซอยแต้มย่อยยิบ ว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้กี่แต้ม เฉพาะของทันตแพทย์ มีบัญชี 400 กว่าประเภท ทำอะไรให้จดไว้หมด ขูดหินปูนกี่แต้ม ถอนฟันกี่แต้ม ฉีดยาชากี่แต้ม ตัดไหมกี่แต้ม ที่สำคัญคืองานด้านป้องกันกลับให้แต้มน้อยมาก ทั้งที่ควรให้ความสำคัญ
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์โต้คณบดีศิริราชที่สนับสนุน P4P ว่าระบบที่ศิริราชใช้และอ้างว่าสามารถดึงแพทย์พยาบาลไม่ให้สมองไหล อันที่จริงคล้ายกับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมากกว่า แต่ P4P ที่กระทรวงสาธารณสุขเอาใช้นี้ ขอยกตัวอย่างพยาบาล เช่น พยาบาลพลิกตัวคนไข้ได้ 0.3 แต้ม ฉีดยา 0.5 แต้ม เช็ดตัว 1 แต้ม ส่งต่อผู้ป่วย 40 แต้ม CPR ได้ 25 แต้ม เป็นต้น
คุณหมอฟันบอกผมด้วยว่า ภารโรงก็ยังมีแต้ม ชงกาแฟได้กี่แต้ม ล้างจานได้กี่แต้ม อะไรมันจะขนาดนั้น
นี่มันไม่ใช่ระบบที่เหมาะกับงานสาธารณสุข ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุณบอกไม่ได้หรอกว่าตรวจคนไข้ 2 คนได้แต้มเท่ากัน ยิ่งทันตแพทย์ยิ่งมีปัญหามาก เพราะงานทันตกรรมเป็นงานฝีมือ ทำช้าทำเร็วแล้วแต่ความเชี่ยวชาญ แล้วแต่ปัญหาของคนไข้ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ให้บันทึกแต้มไว้ คนเขาจะทำงานนะครับ ถ้าต้องล่าแต้มแลกเงินอย่างนี้ สะบัดก้นไปอยู่เอกชนดีกว่า
ไม่ใช่แค่แพทย์ชนบท ตอนนี้หมอในเมืองอาจสะใจที่เห็นแพทย์ชนบทดิ้นพล่าน แต่ต่อๆ ไป พวกหมอในเมืองก็จะรำคาญเหมือนกัน
ถ้าจะวางระบบจ่ายตามผลงาน วัดการทำงานจริง ก็ไม่จำเป็นต้องจุกจิกเหมือนจับผิดอย่างนี้ ก็นับรวมเวลาไปสิ หรือกลัวคนงานจะอู้
ประเด็นนี้ผมไม่คิดว่าหมอประดิษฐ์จงใจ แต่ไม่เข้าใจ (เพราะไม่เคยเป็นหมอ เคยแต่คุมคนงาน) เรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายก็อาจฟังแต่เพื่อนหมอในเมืองที่ตาร้อนผ่าวกับ เบี้ยเลี้ยงแพทย์ชนบท ไม่ตระหนักว่ามันคือระบบที่สามารถดึงแพทย์รุ่นใหม่ๆ ไปอยู่ รพ.ชุมชน ซึ่งเป็นด่านหน้าของระบบรักษาพยาบาล การยกเลิกแล้วเอา P4P ไปใช้ไม่ใช่แค่สมองไหลแต่ไล่สมอง
แต่ในภาพรวมการรุกทุกด้าน แสดงท่าทีฝ่ายการเมืองที่ต้องการกุมอำนาจ กุมงบประมาณ และต้องการข้าราชการที่สั่งได้ มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ซึ่งน่าประหลาดใจว่านี่คือหมอประดิษฐ์ “สายตรง” ยิ่งลักษณ์ จนเห็นได้ว่า แม้จะถูกแพทย์ชนบททั่วประเทศติดป้ายขับ ในพรรคก็ไม่มีแรงกระเพื่อมแม้แต่น้อย
ผมยังมองว่าการกล่าวหาว่าต้องการไล่แพทย์ไปอยู่ รพ.เอกชน ค่อนข้างเว่อร์และตื้นไป แต่ที่น่าคิดกว่าคือกลุ่มทุนเพื่อไทยต้องการบดขยี้เครือข่ายหมอประเวศ แพทย์ชนบท โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม เพราะเจ็บปวดกับการทำ CL ยาสมัยหมอมงคลเป็นรัฐมนตรี และเกรงว่าพลังเครือข่ายสาธารณสุข จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจา FTA หรือ TPP ที่กลุ่มทุนต้องการอย่างมากในขณะนี้ โดยต้องเอาประเด็นสิทธิบัตรยาไปแลก และกล่าวอย่างมักง่ายว่าค้าขายร่ำรวยก็มีเงินมาซื้อยาแพง
ศึกนี้ยืดเยื้อแน่ เพราะหมอประดิษฐ์มาสายตรง ขณะที่แพทย์ชนบทก็ไม่เคยกลัวใคร อยู่ที่ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ว่าจะกล้าทำลายนโยบายที่เป็นมรดกล้ำค่าที่สุดของพรรคไทยรักไทยหรือไม่ ยิ่งกว่านั้น ถ้าไม่ถอย ก็จะกระทบขบวนใหญ่ ที่ต้องไปรบกับศาลรัฐธรรมนูญ กับพรรคแมลงสาบ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรม
ใบตองแห้ง
24 เม.ย.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น