ตามที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ได้แสดงปาฐกถาความตอนหนึ่งว่า
"ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ฮิตเลอร์ยังได้เป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้ง
เมื่อชนะการเลือกตั้งได้พรรคพวกมาในสภาก็ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจของ
ตัวเอง
ในที่สุดผู้นำเสียงข้างมากก็นำพาเยอรมันไปสู่หายนะก็คือประเทศเยอรมัน" {1} ข้อความนี้ไม่สอดคล้องกับความจริง
แม้ฮิตเลอร์จะมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่โกงมา
รวมทั้งการทำลายคู่แข่ง และที่สำคัญไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่
ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2476 ฮิตเลอร์ได้คะแนนเสียง 44% ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
และแม้ฮิตเลอร์จะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง
ก็ไม่ใช่โดยเสียงส่วนใหญ่อยู่ดี {2} ดังนั้นการที่ฮิตเลอร์นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามจึงไม่ใช่มติของชาวเยอรมันส่วนใหญ่
บางคนเข้าใจว่าคนส่วนน้อยเห็นได้ถูกต้องกว่าคนส่วนใหญ่ เช่น คดี Perry
v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาไปเมื่อ 4 สิงหาคม
2553 ว่า ผลการลงประชามติของชาวมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2551
ที่มีมติห้ามคนเพศเดียวกันสมรสกันนั้น
ขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา
คำพิพากษานี้ดูประหนึ่งว่าศาลตัดสินไปในทางที่ขัดต่อมติมหาชน
(Anti-Majoritarian Decision) คล้ายกับว่า
"เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด
ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียง
ข้างมากรับรู้ไว้” {3}
ข้อนี้ก็เป็นความเข้าใจผิด
ความจริงก็คือประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งประเทศ
(ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้อยู่แล้ว
ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น
ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้
หรือกรณีมติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน
ย่อมใช้ไม่ได้เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม
อย่างไรก็ตาม
หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่
ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะออกมาพูดเป็นอื่นในที่สาธารณะหรือมา
ตัดสินเป็นอื่นได้ ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่าศาล
(ผู้พิพากษาไม่กี่คน)
ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากไม่ได้
เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องนั้นเป็นสัจธรรม (แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น
ในกรณีศิลปวิทยาการ เช่นจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ก็ต้องถามผู้รู้ เป็นต้น)
ทั้งนี้ยกเว้นกรณีถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรืองมงายเอง
ซึ่งไม่ใช่พบเห็นแต่ในหมู่ปุถุชน
แม้แต่อาจารย์ระดับดอกเตอร์ชื่อดังยังหลงคารมเปรตกู้มาแล้ว
หรือกรณีพวกคุณหญิงคุณนาย นายทหารใหญ่ ๆ ก็ไปหลงเคารพอลัชชี เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้นนายวสันต์ยังกล่าวว่า
"เยอรมันจึงมีศาลรัฐธรรมนูญและมีอำนาจมาก
และมีบทบัญญัติพิทักษ์รัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน"
การที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีเกียรติภูมิสูงนั้นเป็นเพราะสภาเป็นผู้เลือก
ตั้งผู้พิพากษาที่สมัครเข้ามาตามคุณสมบัติที่กำหนด {4} แต่
กรณีศาลรัฐธรรมนูญของไทย กลับแตกต่างกัน โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 204
ระบุที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน
ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน
โดยทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับเลือกโดยวิธีลงคะแนนลับ
ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องอื่นอีก 2 คน {5}
อีกประเด็นหนึ่งที่พึงวิพากษ์การแสดงปาฐกถาของนายวสันต์ก็คือ
ความไม่สมควรในวิจารณ์หรือเหน็บแนมการเมืองในฐานะที่เป็นตุลาการ
ทั้งนี้ตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ระบุว่าตุลาการต้อง
"ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยว
กับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย" {6}
นอกจากนั้นในประมวลจริยธรรมขาราชการตุลาการยังระบุว่า
"ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนา
อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชน
ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา" {7} ดังนั้นการแสดงปาฐกถาครั้งนี้ซึ่งพาดพิงถึงบุคคลและพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จึงไม่ควรทำ เว้นแต่จะลาออกจากสถานะตุลาการ
หากผู้เป็นตุลาการออกมาพูดการเมือง จะถูกติเตียนว่าเอนเอียงได้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยผลจากการสำรวจเมื่อปี 2554 {4}
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (57%) ไม่เชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ร้อยละ 37.62
ไม่ค่อยเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 19.31 ไม่เชื่อมั่น)
และมีส่วนน้อยที่เชื่อมั่น เหตุผลที่ไม่เชื่อมั่นก็เพราะ
“เพราะการตัดสินคดีที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
บางคดีมองว่าเป็นการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน” {8}
ผู้เขียนเป็นห่วงใยต่อความมั่นคงของสถาบันตุลาการจึงแสดงความเห็นข้างต้นมาด้วยความเคารพและด้วยความบริสุทธิ์ใจ
อ้างอิง
{1} ข่าว "ปธ.ศาลรธน. ชี้
เสียงข้างมากหากยึดติดอำนาจ ประเทศจะหายนะ" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 5 เมษายน
2556 ณ www.thairath.co.th/content/pol/337042
{2} การเลือกตั้งในเยอรมนี German federal election, March 1933. http://en.wikipedia.org/wiki/German_federal_election,_March_1933
{3} กิตติศักดิ์ ปรกติ.
สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน
แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน ปรกติ 28 กันยายน 2554
www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000123483
{4} ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี
www.mpil.de/shared/data/pdf/constguarantjudindep_germany.pdf หน้า 276
และจากเว็บไซต์ของศาลดังกล่าว ณ
www.bundesverfassungsgericht.de/en/organization/organization.html
{5} ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ
www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=151&Itemid=82&lang=thindex.php
{6} ประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง
จริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2548)
http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=175&Itemid=101&lang=th
และ พ.ศ.2555 ณ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/106/40.PDF
{7} ประมวลจริยธรรมขาราชการตุลาการ http://elib.coj.go.th/Article/copy%20of%20judge.pdf
{8} ดุสิตโพลคนกรุง 37.62% ไม่เชื่อศาล
รธน.-“วสันต์” แนะตั้ง ส.ส.ร.แก้ รธน. ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม
2554 18:51 น.
www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000103816
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น