ใบตองแห้ง Baitonghaeng
VoiceTV Staff
Bio
คอลัมนิสต์อิสระตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพุธ ผมไม่ดูการถ่ายทอดสดประชุมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย แม้แต่นาทีเดียว แบบว่าเห็นหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, อาคม เอ่งฉ้วน, บุญยอด สุขถิ่นไทย ฯลฯ ก็รู้ว่าจะพูดอะไร ทำใจฟังไม่ได้
ในความรู้สึกผม ทั้งนาทีนี้ และตลอดไป ไม่สามารถยอมรับพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะทั้งๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขายังตีฝีปาก พ่นน้ำลาย ปกป้องรัฐธรรมนูญรัฐประหาร ปกป้อง สว.ลากตั้ง หยามหมิ่นการตัดสินใจของประชาชน ทั้งที่ตนเองก็มาจากการเลือกตั้ง
กว่าคุณจะเป็น ส.ส. หาเสียงมาด้วยความเหนื่อยยาก ยกมือไหว้กราดแม้แต่หมากับเสาไฟฟ้า เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดเทศกาล ต้องตะลอนๆ ไปตามหมู่บ้าน ร่วมงานบุญงานบวช เผาผี โกนผมไฟ หน้าแล้งต้องหารถบรรทุกน้ำ หน้าหนาวต้องหาผ้าห่ม หน้าฝนต้องหารถแบคโฮลมาทำทาง ฯลฯ ลำบากแค่ไหนกว่าจะชนะเลือกตั้งแต่ละครั้ง
แต่คุณยอมให้ใครก็ไม่รู้ มาใช้อำนาจลากตั้ง ให้ใครก็ไม่รู้ หล่นมาจากหอคอยงาช้าง มีศักดิ์และศรีเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเท่าเทียมกัน ทุเรศไหม
ผมไม่แปลกใจที่พวก สว.ลากตั้งโวยวาย คัดค้านการแก้ไขมาตรา 111 ปกป้องชามข้าวตัวเอง แต่ผมยังคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะหน้าบางกว่านี้ กระมิดกระเมี้ยนกว่านี้ เวลาอภิปรายสนับสนุน สว.ลากตั้ง แต่นี่เปล่าเลย
พอโต้ในหลักการไม่ได้ ก็หันไปตีรวน ว่าประธานวุฒิสภาไม่เป็นกลาง ไปลงชื่อแก้ไข ม.190 และ ม.237 เฮ้ย นี่มันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายของรัฐบาล เป็นเอกสิทธิ์ ส.ส.สว.ที่จะร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชน ที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน
การทำหน้าที่บนบัลลังก์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าประธานร่วมลงชื่อในญัตติแล้วลำเอียง ก็ด่าได้เลย ถอดถอนได้เลย นี่เขายังไม่ทันขึ้นทำหน้าที่ ปชป.ก็ตีรวนแล้ว
แต่ว่ากันไม่ได้ เพราะเล่นการเมืองอย่างนี้ไง ถึงได้คะแนนคนกรุง คนชั้นกลาง ผู้มีการศึกษา ไปตั้ง 1.2 ล้านเสียง
นี่ถ้ารังสิมาแย่งเก้าอี้ประธานอีกที มีหวังคะแนนพุ่งเป็น 2 ล้านเสียง
3-2 เท่ากับ 5-4
ไม่ผิดคาดแต่อย่างใด ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว.แม้หลายคนเซอร์ไพรส์ ที่ทั่นประธาน วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ กลับเป็นเสียงข้างน้อย 2 ใน 3 ขณะที่เสียงข้างมากได้แก่ จรูญ อินทจาร, จรัญ ภักดีธนากุล และสุพจน์ ไข่มุกด์
เพราะถ้าย้อนพลิกดูคดี “ปั้นอากาศเป็นตัว” ที่ ปชป.และ 40 สว.อ้างมาตรา 68 กล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั่นวสันต์ก็เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยว
เพียงแต่ในขณะที่วินิจฉัยว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ทั่นวสันต์กลับตั้งข้อสังเกตทางร้าย ว่าการให้ สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นอันตราย ท่าทีของผู้สนับสนุนรัฐบาล เช่นแกนนำ นปช.มีพฤติการณ์ที่ชวนให้เข้าใจว่าต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ครั้งนี้ทั่นวสันต์บอกว่า ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอ (แต่ไม่ทราบจะตั้งข้อสังเกตหรือไม่) ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยอีกราย อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 291 (ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่ง)
ครั้งที่แล้ว คำวินิจฉัยของอุดมศักดิ์ก็ชัดเจนกว่าเพื่อนนะครับ เพราะเขียนไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ “...รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการใช้ อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้”
ผมเคยสรุปทัศนะ 8 ตุลาการไว้แล้วในบทความ “ถลกทัศน์ตุลาการ แก้รัฐธรรมนูญได้ไหม” ว่าอุดมศักดิ์ นิติมนตรี กับบุญส่ง กุลบุปผา เป็น 2 เสียงที่ชัดเจนว่า ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่าย (ส่วนการรับคำร้อง ทั้งสองท่านอ้อมแอ้มว่าเป็นการ “ปรับบท” มาตรา 68)
จรูญ อินทจาร คำวินิจฉัยครั้งที่แล้วอ้างว่ารัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้หรือทำใหม่ทั้งฉบับ ย่อมทำได้โดยใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยซึ่งแสดงออกโดยการลงประชามติ (ถ้าอ่านแล้วงง ก็อย่าไปคิดว่าเรามีความรู้น้อย แต่คำวินิจฉัยของท่านสับสนเกินเข้าใจจริงๆ)
สุพจน์ ไข่มุกด์ คำวินิจฉัยครั้งที่แล้วอ้างว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ รัฐสภาไม่สมควรมอบอำนาจให้ สสร.โดยไม่ผ่านการทำประชามติ (ท่านไปงงอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ถึงเข้าใจว่าสภามอบอำนาจให้ สสร. สภาเพียงแต่วางหลักเกณฑ์ให้มี สสร.ขึ้นมายกร่าง แล้วค่อยเอามาลงประชามติเปรียบเทียบกับฉบับ 2550 ป่านนี้เข้าใจหรือยังก็ไม่รู้)
สุพจน์ยังตั้งคำถามว่า ถ้าตั้ง สสร.ขึ้นร่างรัฐธรรมนูญโดยอิสระ “..จะมีการลดทอนพระราชอำนาจ เช่น พระราชอำนาจยับยั้งพระราชบัญญัติ พระราชอำนาจในการอภัยโทษ หรือไม่ ...จะมีการปรับปรุงองค์กรฝ่ายตุลาการ หรือยุบรวมองค์กรอิสระที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือไม่ ก็ไม่อาจคาดหมายได้ หากมีการลดทอนพระราชอำนาจให้เปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน องค์กรฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระถูกยุบรวม อาจมีปัญหาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ก็ได้.....”
ฉะนั้นก็ไม่แปลกใจที่ 2 ตุลาการรับคำร้อง 40 สว.
เรื่องสนุกคือ คราวนี้ จรัญ ภักดีธนากุล โดดมาเอง เป็นเสียงชี้ขาดให้รับคำร้องตามมาตรา 68 ทั้งที่จรัญนี่แหละ พูดไว้ว่า “รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง” “ทำแบบรัฐธรรมนูญ 2540” คำพูดยังประจานอยู่ใน YouTube(ร้อยปีก็ลบไม่ได้)
ถ้าดูจากแนวคำวินิจฉัยส่วนตนครั้งที่แล้ว ผมเชื่อว่าต่อให้ตุลาการอยู่ครบ 9 คน ก็คงลงมติรับคำร้องอยู่ดี ด้วยคะแนน 5-4 เพราะชัช ชลวร กับบุญส่ง กุลบุปผา คงถือว่าการแก้ไขเป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลยุ่งเกี่ยวไม่ได้
ส่วนนุรักษ์ มาประณีต อดีตตุลาการคดียุบพรรคไทยรักไทย และอดีต สสร. คำวินิจฉัยครั้งก่อน “ฮาร์ดคอร์” กว่าเพื่อน ยืนกรานว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความผิด เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกเลิกหรือทำใหม่ไม่ได้เลย เว้นแต่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง ผู้ถูกร้องจึงมีความผิด เพียงแต่เห็นว่าไม่มีเจตนา ศาลให้ความปรานี (ครั้งนี้บังอาจหือ อาจไม่ปรานีก็ได้)
เฉลิมพล เอกอุรุ มีความเห็นคล้ายสุพจน์ ไข่มุกด์ สับสนทั้งคู่ อ้างว่าต้องลงประชามติก่อน ซึ่งเป็นเรื่องตลก เพราะถ้าลงประชามติก่อน แล้วฝ่ายต้องการแก้ชนะ ก็แปลว่าประชาชนไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 แล้วจะใช้ซากศพรัฐธรรมนูญต่อไปหรือ
ทั้งสองท่านเป็นตุลาการจากสายรัฐศาสตร์ เป็นทูตมาก่อน คงเอาหลักรัฐศาสตร์มามองข้ามช็อต คิดว่าถ้ามี สสร.ก็แปลว่ารัฐธรรมนูญที่ยกร่างนั้นต้องเอามาใช้แหงๆ สสร.จะปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ ครั้งนี้จึงน่าคิดว่าท่านจะเอาหลักรัฐศาสตร์การทูตมาวินิจฉัยการแก้ไข ม.68 แบบไหนอีก
แต่ย้ำอีกครั้งนะครับ ถ้าดูทัศนะตุลาการจากคำวินิจฉัยครั้งที่แล้ว 4 คนเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจ 4 คนเห็นว่ามี ฉะนั้น ผู้ชี้ขาดคือหนึ่งเดียวคนนี้
ปกป้องอำนาจตัว
“มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อ เท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดัง กล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการ เมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”
ที่จริงมาตรานี้ตลกนะครับ คนที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีแต่ทหาร แต่กลับเขียนไว้ยาวเหยียดให้ลงโทษพรรคการเมือง จะว่าทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางฯ พรรคการเมืองมันก็ต้องลงเลือกตั้งอยู่แล้ว จะไปมีปัญญาได้อำนาจโดยวิธีการอื่นได้ไง
ก็มีนะ พรรคการเมืองที่หาทางได้อำนาจ โดยพึ่งตุลาการภิวัตน์ให้ยุบพรรคที่ประชาชนเลือกมา แต่ก็ไม่เห็นโดนลงโทษตามมาตรา 68
มาตรา 68 วรรคสองเขียนไว้ชัดเจน ให้อัยการตรวจสอบและยื่นคำร้องต่อศาล ถ้ารัฐธรรมนูญต้องการให้ยื่นศาลได้โดยตรง ภาษากฎหมายต้องใช้คำว่า “หรือ” กระนั้นศาลก็ยังตีความ “และ” เป็น “หรือ” ขยายอำนาจตัวเอง แถมเอามาใช้ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา ตัวเองยุ่งเกี่ยวไม่ได้
คราวนี้ รัฐสภาจะแก้ไขอุดช่องที่ศาลเจาะยาง ให้กลับไปเป็นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คือต้องยื่นอัยการก่อนสถานเดียว ถามว่าศาลจะเอาอำนาจอะไรมายับยั้ง
อย่าลืมว่าศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ใครจะไปร้องว่า แก้มาตรานั้นมาตรานี้ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะก้าวล่วงมาชี้ผิดชี้ถูกไม่ได้ ยับยั้งรัฐสภาไม่ได้
ฉะนั้นไอ้ที่ 40 สว.ไปร้องว่าลิดรอนตัดสิทธิประชาชน ฯลฯ ไม่อยู่ในอำนาจศาลแน่นอน
ศาลอ้างได้อย่างเดียว คืออ้างว่ามีการกระทำที่จะล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 จึงจะยับยั้งได้ คราวที่แล้วศาลอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจล้มล้างการปกครองฯ (เพราะอาจลดทอนพระราชอำนาจ ฯลฯ) คราวนี้ศาลจะอ้างอะไร อ้างว่าการแก้ไขมาตรา 68 เพื่อลดอำนาจศาล (ที่ขยายมาโดยพลการ) จะล้มล้างการปกครองฯ อย่างนั้นหรือครับ
มันไม่เว่อร์ไปหน่อยหรือครับ เพราะถ้าอ้างอย่างนี้ ก็แปลว่าพอรัฐสภาจะแก้ไขมาตราไหน ถ้าศาลไม่เห็นด้วย ก็จะอ้างมาตรา 68 มายับยั้งได้หมด แม้แต่การแก้มาตรา 68 เอง
แต่อย่าลืมว่าครั้งที่แล้วศาลอ้างพระราชอำนาจ อ้างประชามติ ฯลฯ คราวนี้คนอื่นไม่เกี่ยวนะครับ เป็นเรื่องอำนาจศาลเองล้วนๆ
การแก้ ม.68 ครั้งนี้ก็เพื่อลดอำนาจศาล ที่ตีความขยายอำนาจตัวเองโดยมิชอบ แต่ศาลกำลังจะใช้อำนาจนั้นยับยั้งการลดอำนาจตัวเอง ฟังแล้วคุ้นหูไหมครับ แบบนี้แหละที่เขาเรียกว่า “ประโยชน์ทับซ้อน”
ถ้าครั้งนี้ศาลยับยั้งการแก้ไขมาตรา 68 ได้ ประชาชนก็ต้องกังขาว่า เอ๊ะ ถ้ารัฐสภาจะแก้ไขที่มา องค์ประกอบ คุณสมบัติ วิธีการคัดสรรตุลาการ ฯลฯ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 68 ยับยั้งอีก เพื่อไม่ให้ตัวเองพ้นจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้พวกพ้องน้องนุ่งจากสถาบันเดียวกันที่รอคิวสวาปามเก้าอี้อยู่ต้อง กินแห้ว
อ้าว แล้วที่ว่านักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองและพวกพ้อง คำพูดนี้จะเลี้ยวมาหาใคร
ที่จริงผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นแก้ไขมาตรา 68 เพราะรู้ว่า 40 สว.จะต้องยื่นคำร้องและศาลจะต้องรับ กลัวมันจะยุ่งจนประเด็นหลักๆ ที่ต้องการแก้ไข โดยเฉพาะยกเลิก สว.ลากตั้ง จะไม่สำเร็จ
แต่มาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่าสนุกดี ที่ได้ย้อนศาลเข้าบ้าง โยนเผือกร้อนให้มือพอง สถานการณ์ปัจจุบันยังไงก็เชื่อว่าศาลไม่กล้ายุบพรรค ถอดถอน ส.ส. สว. 312 คน อย่างเก่งก็สั่งยับยั้งการแก้ไขมาตรา 68 พร้อมกับรับคำวิพากษ์วิจารณ์ไปว่า “หวงอำนาจ”
เรื่องเศร้า 190
ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราไหนลิดรอนสิทธิประชาชน เห็นจะได้แก่มาตรา 190 ว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ
“มาตรา 190 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตาม หนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดัง กล่าว
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่าง ประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงราย ละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผล กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา ดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม”
ในหลักการแล้วผมเห็นด้วยกับ FTA Watch ที่คัดค้านการแก้ไขมาตรานี้ ที่จะตัดข้อความว่า “หรือ มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ” ออก ไป ถึงแม้ผมจะเห็นว่าถ้อยคำตามวรรค 2 มีความคลุมเครืออยู่บ้าง แต่ถ้ารัฐบาลจะแก้ไขเฉพาะความคลุมเครือหรือรีบออกกฎหมายลูกกำกับ ก็ดีกว่าตัดทิ้งหมด ทั้งที่เป็นสาระสำคัญ
มาตรา 190 เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย มีที่มาจากกระแสคัดค้านการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ ในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐก่อนมาเจรจากับไทย เขาต้องเอากรอบการเจรจาเข้าสภา แต่เราทำกันตามอำเภอใจ ทั้งที่ผลการเจรจากระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง
การมีมาตรา 190 จึงถูกต้องแล้ว ถ้ารัฐบาลไปทำสัญญามีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต มีผลให้สภาต้องแก้ไขกฎหมาย มีผลสะเทือนทางเศรษฐกิจสังคมอย่างสำคัญ ควรนำเข้าสภาก่อน แม้อาจบอกว่า รัฐบาลคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภา ยังไงก็ชนะอยู่ดี แต่นั่นเป็นกระบวนการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนตรวจสอบ ทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์
เพียงแต่ปัญหาของมาตรา 190 คือถูกนำไปใช้เป็นอาวุธทางการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญนั้นเอง ขยายการตีความมาตรา 190 จนเวิ้งว้างกว้างไกล รัฐบาลจะทำอะไร เช่นแค่จะให้นาซ่ามาวิจัย ก็ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงว่าขัด 190 จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าไม่เอาเข้าสภาจะมีความผิดถูกดำเนินคดีอาญา ถูกถอดถอน ฯลฯ
เรืองเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งก็เอาผิดกันได้ รัฐบาลหวาดผวาไม่กล้าทำสัญญาอะไรสักอย่าง จนประเทศเสียหาย (พวกสลิ่ม แมลงสาบ ด่ารัฐบาลว่าผิดเองที่ไม่อนุมัติให้นาซ่ามาวิจัย แต่ถ้าอนุมัติ พวกมันก็ร้องศาลทันที)
ทั้งนี้ทั้งนั้นมาจากคดีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหารคดีเดียว ที่ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองใน 2 ศาล ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า “อาจจะ”เสียดินแดน แล้ว ปปช.ก็ลากคอนพดล ปัทมะ ขึ้นศาลฎีกาแผนกชั้นเดียวเบ็ดเสร็จ ฐานผิด 157 ทั้งที่การตีความกฎหมาย ตีความว่าแถลงการณ์ร่วมเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่ ย่อมมีความเห็นต่างกันได้ ฝ่ายกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร เขาก็ยืนยันว่าไม่เข้าข่าย ไม่เสียดินแดน
แต่ศาลตีความว่า “อาจ” เท่านั้นแหละ มีความผิดแล้ว
ถ้าตีความกฎหมายต่างกันแล้วมีความผิด ศาลชั้นต้นที่ตัดสินต่างกับศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็ต้องเอาผิดหมดสิครับ
ตลกร้ายคือ ในคดีแถลงการณ์ร่วมนี้ ศาลปกครองสูงสุดถูกร้องว่าสับเปลี่ยนสำนวนดยมิชอบ แต่ ปปช.กลับทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำตาปริบๆ แบบนี้มาตรฐานเดียวกันไหม
ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 190 แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าเพราะศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองทำให้มาตรา 190 กลายเป็นปัญหา เพราะเมื่อคำว่า “มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง” “มีผลผูกพันอย่างมีนัยสำคัญ” ต้องขึ้นกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีใครแน่ใจว่าจะตีความออกมาอย่างไร แล้วยังเอาคนเข้าคุกได้อีกต่างหาก
มาตรา 190 ก็กลายเป็นอุปสรรค และรัฐบาลก็กลัวจนต้องแก้ กลายเป็นเรื่องแย่ๆ ลิดรอนสิทธิประชาธิปไตย ผมเห็นด้วยกับ FTA Watch แต่ก็เข้าใจความจำเป็นของรัฐบาล ฉะนั้นทางที่ดี คณะกรรมาธิการที่จะแปรญัตติมาตรานี้ควรเชิญตัวแทน FTA Watch ไปให้ความเห็น หารือ ทำความเข้าใจ หาช่องแก้ไขให้กระทบสิทธิน้อยที่สุด ไม่ต้องให้เขาไปร้องผ่าน ปชป.และ 40 สว.ที่จะฉวยไปตีรวน
ใบตองแห้ง
6 เม.ย. 56
...................................
6 เมษายน 2556 เวลา 15:20 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น