คุ้มไม่คุ้ม............ไม่ได้ตัดสินแค่เพียงจำนวนผู้โดยสาร
เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ได้รายงานข่าวเรื่อง “ทีดีอาร์ไอค้าน ไฮสปีดเทรนมีผู้โดยสาร 9 ล้านถึงจะคุ้ม จี้รัฐเลิกประชานิยมสุดกู่” โดยนายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้วิเคราะห์ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะคุ้มค่าการลงทุนได้ ก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารต่อปีอย่างน้อย 9 ล้านคน[1]
ทั้ง นี้ หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประมาณการณ์ของนายสุเมธ (ซึ่งอ้างอิงมาจากการประเมินต้นทุนการก่อสร้างและการเดินรถไฟความเร็วสูง ในเส้นทางต่างๆของทวีปยุโรป)[2] จะพบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยมีความคุ้มค่าแก่การลงทุนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาถึงผลการประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสารขั้นตำ่ซึ่งได้จัดทำออก มาแล้ว เช่น ผลการวิจัย Pre-Feasibility Study ของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย ซึ่งจัดทำโดย Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI) เมื่อเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2555 ได้แสดงให้เห็นว่า เพียงแค่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคายรวมกัน ก็จะมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 23.8 ล้านเที่ยว-คน ในปี 2563[3]
รถไฟความเร็วสูง กับการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้
สำหรับในเรื่องการจัดประเภทการลงทุนให้บริการทางสังคม (Social Services) ซึ่งประชาไทได้รายงานข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา[4] ทางคณะทำงานฯมีความประสงค์ที่จะชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมด้วยกัน 2 ประเด็น คือ
1. ข้อกังวลของทีดีอาร์ไอที่ว่า
ภาครัฐไม่ควรอุดหนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง
และใช้เรื่องบริการทางสังคมเป็นข้ออ้างว่ากิจการประเภทนี้สามารถขาดทุนได้
นั้น ทางคณะทำงานฯขอชี้แจงว่า
รัฐบาลมีแนวนโยบายให้โครงการรถไฟความเร็วสูงสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองได้
อย่างเพียงพอ โดยได้มีการวางรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) แบบ “ลูกผสม”
คือ
นอกจากการสร้างรายได้ทางตรงจากการให้บริการขนส่งมวลชนและสินค้าทางรถไฟความ
เร็วสูงแล้ว
ยังได้วางแนวทางในการสร้างรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ภายใต้โครงการรถไฟ
ความเร็วสูงเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด (generating revenue from cargo &
passengers services + affiliated business from existing assets)
ตัวอย่างเช่น
แนวทางการสร้างรายได้จากพื้นที่การค้าภายในตัวอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูง
เป็นต้น
(สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของแนวทางรูปแบบธุรกิจดังกล่าว
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ “รถไฟความเร็วสูงและระบบรางคู่
คือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่า”[5]
และสามารถชมตัวอย่างการดำเนินรูปแบบทางธุรกิจดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จ
ได้ที่งานนิทรรศการ “รถไฟสายความสุข.......เศรษฐกิจใหม่จากรางสู่เมือง”
ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC)
2. ข้อกังวลของทีดีอาร์ไอที่ว่า
รถไฟความเร็วสูงไม่ควรถือเป็นบริการทางสังคม
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย
ทางคณะทำงานฯขอแสดงความคิดเห็นว่า
การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่จะเกิด
ขึ้นภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง
และเป็นการวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นพิจารณาถึงแต่เพียงผลประโยชน์ทางตรงที่จะ
เกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเพียงเท่านั้น (Transport User
Benefit) ทั้งนี้
ทางคณะทำงานฯจะขอยกตัวอย่างโอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการและภาค
ธุรกิจรายย่อยในระดับท้องถิ่นที่จะเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ ได้แก่
2.1 การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เช่น
รถไฟความเร็วสูง
จะสามารถช่วยกระตุ้นและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใน
ภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย และจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross
Provincial Products, GPP) เพิ่มสูงขึ้น
จากผลการสำรวจของกระทรวงคมนาคมชิ้นล่าสุดพบว่า
จำนวนผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนตำ่ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 10
ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการขยายตัวของ GPP
ในจังหวัดต่างๆในระดับภูมิภาค[6]
ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงจะทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว
และการขยายตัวของ GPP
รวมทั้งเป็นระบบคมนาคมทางเลือกในยุคที่ราคานำ้มันปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่
หยุดยั้ง
และเพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้
จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค
รัฐบาลจึงได้วางแนวนโยบายจัดสรรพื้นที่การค้าภายในตัวอาคารสถานีรถไฟความ
เร็วสูง ให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่น
2.2
ระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟความเร็วสูงที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แบบ
“Just-in-Time”
จะช่วยขยายฐานลูกค้าให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ได้มีการวางแนวทางส่งเสริมภาคธุรกิจในกลุ่ม SMEs และ OTOP
โดยจะเปิดให้บริการจัดส่งพัสดุ และบริการจัดส่งแบบ LTL (Less Than
Truckload) ผ่านทางรถไฟความเร็วสูงและระบบ Feeder
เพื่อยกระดับมาตรฐานการนำจ่ายพัสดุถึงมือผู้รับภายใน 24 ชั่วโมง
และมาตรฐานการนำจ่ายแบบ “Same Day Delivery” นอกจากนี้
ไปรษณีย์ไทยยังมีแผนงานในการขยายการให้บริการจัดส่งสินค้าอาหาร
ซึ่งผลิตโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ
โดยบริการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก
“บริการอร่อยทั่วไทยสั่งได้ที่ไปรษณีย์” ซึ่งมีอยู่แล้วในยุคปัจจุบัน[7]
ในส่วนของแนวยุทธศาสตร์การกระจายโอกาสในการสร้างรายได้จากโครงข่ายรถไฟ
ความเร็วสูงซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ทางคณะทำงานฯขอเสนอว่า
ไม่ควรมองแนวนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายประชานิยม (Populist Policies)
แต่ควรพิจารณาในแง่ของการเป็น “Propulsive Policies”
ที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อย
พัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของตน
[1]
“ทีดีอาร์ไอค้าน ไฮสปีดเทรนมีผู้โดยสาร 9 ล้านถึงจะคุ้ม
จี้รัฐเลิกประชานิยมสุดกู่”, มติชนออนไลน์, 24 เมษายน 2556
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1366817466&grpid=01&catid=&subcatid=)
[2]
บทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอได้อ้างอิงถึงผลการศึกษาของ Chris Nash, “When to
Invest in High-Speed Rail Links and Networks?, OECD/IFT Joint Transport
Research Center Discussion Paper, No. 2009-16 (2009)
และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Gines de Rus and Gustavo Nombela, “Is
Investment in High Speed Rail Socially Profitable”, Journal of Transport
Economics and Policy, Vol. 41, No. 1 (Jan., 2007), pp. 3-23
[3]
Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI),
“High Speed Railway Bangkok to Chiang Mai: Pre-Feasibility Study”
(August 2012) และ Third Railway Survey and Design Institute Group
Corporation (TSDI), “High Speed Railway Bangkok to Nong Khai:
Pre-Feasibility Study” (October 2012)
[4]
““ควรเดินหน้า แต่....” ข้อเสนอทีดีอาร์ไอโครงการกู้เงิน 2
ล้านล้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”, ประชาไท, 19 เมษายน 2556
(http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46298)
[5]
คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี,
“รถไฟความเร็วสูงและระบบรางคู่ คือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่า”,
ประชาไท, 7 เมษายน 2556
(http://prachatai3.info/journal/2013/04/46133?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook)
[6] ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม
[7] สัมภาษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านระบบปฏิบัติการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, 6 สิงหาคม 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น