แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รายงาน: 3 ปีสลายชุมนุม รวมข้อสังเกตการไต่สวนการตาย

ที่มา ประชาไท



ในวาระ 3 ปี เหตุการณ์ เม.ย.- พ.ค.53 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านมา 3 ปี กระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นและเดินหน้าไปบ้างบางส่วนด้วยขั้นแรกของคดี นั่นคือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกกันว่า ไต่สวนการตาย เพื่อให้ทราบว่าผู้ตายคือใคร ตายด้วยสาเหตุใด ก่อนที่จะมีการดำเนินการฟ้องร้องกันต่อไป แต่ด้วยกระบวนการที่ยาวนานและคดีที่มีเป็นจำนวนมากทำให้เรื่องราวรายละเอียด การไต่สวนการตายไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะหรือเป็นที่สนใจมากนัก
ศปช.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รวบรวมข้อมูล เรื่องนี้อย่างค่อนข้างต่อเนื่องและละเอียด จนกระทั่งสามารถสรุปข้อสังเกตในกระบวนการไต่สวนได้ระดับหนึ่ง และน่าจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ในกรณีอื่นๆ ที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวน

ข้อสังเกตส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตต่อการไต่สวนชันสูตร พลิกศพในช่วงที่ผ่าน ทั้งจากการเข้าสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลจากข่าว เท่าที่รวบรวมอยู่ในงานชิ้นนี้เป็น “ข้อสังเกตร่วม” ที่พบในบางคดี ท่ามกลางรายละเอียดจำเพาะของแต่ละคดีอีกเป็นจำนวนมาก

ความคืบหน้าที่ล่าช้า

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 หรือที่รู้จักกันในนามของปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” เวลาได้ล่วงเลยมาถึงปีที่ 3 แล้ว ความคืบหน้าของคดีการเสียชีวิตในขณะนี้แบ่งเป็น
-คดีที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไปแล้วและกำลังดำเนินการเพื่อฟ้องคดีอาญา
-คดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวน
-คดีที่อัยการยื่นคำร้องขอไต่สวนและศาลนัดไต่สวนแล้ว
-คดีที่อยู่ในชั้นอัยการ
-คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)
รวมทั้งหมด 21 คดี 37 สำนวน (บางสำนวนรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกัน เช่น 6 ศพ วัดปทุมฯ) ซึ่งยังคงเหลือสำนวนคดีผู้เสียชีวิตอยู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีความคืบหน้า
กรณีที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้วมี 8 สำนวน ได้แก่ 1. นายพัน คำกอง 2. นายชาญณรงค์ พลศรีลา 3. นายชาติชาย ชาเหลา 4. ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ (1) 5. นายบุญมี เริ่มสุข 6. นายมานะ อาจราญ 7. นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง 8. ร.ต.ณรงฤทธิ์ สาละ (2) และมี 1 สำนวนที่ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ คือ นายฟาบิโอ โปเลงกี
ส่วนกรณีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนชันสูตรพลิกศพอยู่ในศาลชั้นต้นมี 5 คดี 15 สำนวน คือ 1. นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ,นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า 2. นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข 3. 6 ศพ วัดปทุมวนาราม 4. นายมานะ แสนประเสริฐศรี และนายพรสวรรค์ นาคะไชย 5. นายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล และที่กำลังจะเริ่มการไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีก 2 คดี 6 สำนวน(3) คือ 1.นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์, นายประจวบ ศิลาพันธ์ และนายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 2. นายนรินทร์ ศรีชมพู ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556
ส่วนสำนวนที่อยู่ในชั้นอัยการมี 4 สำนวน คือ 1. นายสมชาย พระสุพรรณ 2. จ.อ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ 3. นายถวิล คำมูล 4. ชายไทยไม่ทราบชื่อส่วนสำนวนที่ยังคงอยู่ที่ บช.น. อีก 5 สำนวน คือ 1. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล 2. นายไพรศล ทิพย์ลม 3. นายมนต์ชัย แซ่จอง 4. นายสวาท วางาม 5. นายเกรียงไกร คำน้อย(4)
ทั้ง 37 สำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้
-10 เมษายน 10 สำนวน
-28 เมษายน 1 สำนวน
-เดือนพฤษภาคมตั้งแต่วันที่ 13-19 แบ่งเป็น
ถนนพระราม 4 (บ่อนไก่ สวนลุมพินี สีลม) 13 สำนวน
ถนนราชดำริ 4 สำนวน
ถนนพระราม 1(วัดปทุมวนาราม) 6 สำนวน
ถนนราชปรารภ 3 สำนวน
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าจำนวนสำนวนคดีของผู้เสียชีวิตบนถนนราชปรารภมีความคืบหน้าน้อยที่สุด หลังจาก 3 สำนวน คือ นายพัน คำกอง, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และนายชาญณรงค์ พลศรีลา แล้ว ยังไม่มีข่าวในสื่อสาธารณะใดๆ ถึงความคืบหน้าของสำนวนคดีผู้เสียชีวิตในพื้นที่นี้อีก และในส่วนสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ก็มีเพียง 2 นาย จากทั้งหมด 10 นาย ที่เห็นถึงความคืบหน้า คือ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ และ จ.อ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เท่านั้น และยังคงเหลือผู้เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีให้ เห็น

พยานที่ขึ้นเบิกความในศาล

พยานที่มาให้การในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหากจะจัดกลุ่มพยานจะแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลัก คือ
  1. ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป
  2. เจ้าหน้าที่(ทหาร ตำรวจ) ที่ปฏิบัติงานในที่เกิดเหตุ
  3. พนักงานสอบสวน(ทั้งจาก สน.ท้องที่ที่เกิดเหตุและจาก บช.น.ที่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำการสอบสวนเฉพาะกรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ในสลายการชุมนุมช่วง เม.ย.-พ.ค.53) กองพิสูจน์หลักฐานและแพทย์นิติเวช
  4. สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ
  5. พยานกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเวลาและสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์เสียชีวิต เช่น แกนนำ นปช. (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์) ศอฉ.(นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) และนักการเมือง(น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี)
จะขอกล่าวถึงพยานกลุ่มที่ห้าก่อน กลุ่มนี้จะเป็นพยานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตโดยตรง แต่จะเป็นพยานที่ขึ้นเบิกความให้ภาพรวมเหตุการณ์ของการชุมนุม(แกนนำ) และการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่(ศอฉ.) รวมถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงขณะนั้น ซึ่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ พยานกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสั่งการใน พื้นที่เกิดเหตุโดยตรง ผู้พิพากษาจะทำการบันทึกคำเบิกความและบรรยายไว้ในคำสั่งศาลเป็นภาพรวม เหตุการณ์เท่านั้น แต่ข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของแต่ละคนนั้นพยานกลุ่มนี้จะไม่ มีการเบิกความไปถึงจุดนั้นเพียงรับว่าทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต จากรายงานจากพื้นที่หรือจากสื่อในภายหลังเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ขัดกับพยานในที่เกิดเหตุ เช่น ในกรณีการเบิกความของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในการไต่สวนของ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ว่ามีการยิงมาจากทางด้านขวา และรถที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ซ้อนมาล้มลงด้านซ้ายนั้นเป็นการล้มจากแรงปะทะของกระสุน ซึ่งขัดแย้งกับพยานอดีตทหารซึ่งเป็นพลขับของจักรยานยนต์คันที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ซ้อนอยู่(5) ที่รถล้มนั้นเป็นการล้มรถไปตามยุทธวิธีทางการทหาร
ในส่วนพยานกลุ่มที่หนึ่ง คือ ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปที่บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์ จะเป็นพยานที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และไม่มีการกล่าวถึงพยานร่วมเหตุการณ์คนอื่นๆ และคำให้การมักจะเป็นช่วงขณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าที่เกี่ยวกับการ เสียชีวิตแม้ว่าพยานที่มาส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นประจักษ์พยานที่ได้เห็นชั่ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตถูกยิงแต่ก็เป็นพยานแวดล้อมที่เห็นตำแหน่ง ทิศทางที่ผู้เสียชีวิตหันหน้าก่อนหรือหลังถูกยิง หรือเป็นผู้เข้าไปช่วยผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นพยานสำคัญและคำให้การมีการเล่า ตามลำดับเหตุการณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน มีการเล่าตั้งแต่ในช่วงก่อนจนถึงหลังเกิดเหตุว่าตนเองทำอะไรอยู่ อยู่ตรงจุดใดในบริเวณที่เกิดเหตุ ช่วงเวลาขณะเกิดเหตุ จุดที่ทหารวางกำลังอยู่ และตำแหน่งที่ผู้ชุมนุมอยู่
แตกต่างกับพยานกลุ่มที่สองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่อยู่ใน เหตุการณ์ ซึ่งจะมีการกล่าวถึงพยานที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือใต้บังคับบัญชาของตน รวมถึงเจ้าหน้าที่ร่วมหน่วย ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงแต่เมื่อถูกถามว่าคนที่ตนได้กล่าวถึงไปในขณะเกิดเหตุ อยู่ตำแหน่งใดหรือกำลังทำอะไรอยู่ พยานกลุ่มนี้มักจะตอบปฏิเสธว่าไม่เห็นหรือไม่ทราบว่าวางกำลังอยู่ตำแหน่งใด เคลื่อนไปทางใด หรือกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนั้น หรือแม้กระทั่งไม่ทราบว่าหน่วยที่เข้าร่วมปฏิบัติการด้วยกันนั้นมีหน่วยที่ มาจากสังกัดใดบ้าง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้มีการแจ้งสังกัด ตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างหน่วยย่อยที่กระจายกันออกไปให้ทราบต่อ กัน และจากการสังเกตการณ์พยานฝ่ายทหารที่มาไม่มีพยานที่เป็นเจ้า หน้าที่วิทยุของแต่ละหน่วยที่อยู่ในพื้นที่มาให้การเป็นพยานในการไต่สวน(แต่ ไม่ทราบว่าในชั้นสอบสวนของตำรวจได้มีการสอบปากคำเอาไว้หรือไม่)
ส่วนระดับยศของทหารที่มาเบิกความนั้นมีตั้งแต่ระดับพลทหาร นายสิบที่คุมกำลังระดับหมู่ปืนเล็ก หรือนายร้อยที่คุมกำลังระดับกองร้อย ซึ่งพยานกลุ่มนี้หลายคนแม้ว่าจะอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก็ตาม แต่ก็มักจะมีการเบิกความว่าขณะเกิดเหตุกำลังหลบหนีหรือหลบอยู่ในที่กำบัง หรือกำลังพักผ่อนอยู่จึงไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนระดับนาย พันที่คุมกำลังในพื้นที่หรือวางแผนปฏิบัติการอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดเกิด เหตุ มักจะไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงแต่จะได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับ บัญชาอีกที ซึ่งการเบิกความของเจ้าหน้าที่ทหารในลักษณะนี้จะเห็นได้จากการไต่สวนกรณีนายพัน คำกอง, 6 ศพ วัดปทุมฯ, นายมานะ อาจราญ เป็นต้น
กลุ่มที่สาม พยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (มีแยกตามกลุ่มงานต่างๆ เช่น ตรวจสถานที่ ตรวจอาวุธ) พนักงานกลุ่มนี้บางครั้งเป็นการขึ้นเบิกความรับรองเอกสารหรือสำนวนการสืบสวน สอบสวน โดยจะเล่าเหตุการณ์ภาพรวมในช่วงที่เกิดเหตุ จากการสืบสวนสอบสวน ตรวจสถานที่ ตรวจอาวุธปืน วัตถุพยาน และผลชันสูตรพลิกศพ ซึ่งจากการ เบิกความของเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ในหลายคดีทำให้ทราบว่า ทางฝ่ายทหารได้ส่งอาวุธปืนให้พนักงานสอบสวนตรวจพิสูจน์หลังเหตุการณ์เป็น เวลานานแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการทำความสะอาดปืน และเปลี่ยนชิ้นส่วนปืนในจุดสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจพิสูจน์คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยจะกล่าวรายละเอียดในส่วนของข้อสังเกตต่อการตรวจอาวุธปืน
พยานกลุ่มที่สี่ พยานซึ่งเป็นสื่อมวลชน ศาลจะให้น้ำหนักต่อคำให้การของพยานกลุ่มนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นพยานคนกลางที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่มีส่วนได้เสีย จึงมีความน่าเชื่อถือ พยานที่มาให้การในศาลจะเป็นช่างภาพซึ่งจะมีภาพถ่ายหรือวิดีโอเหตุการณ์ที่ตน เองถ่ายเอาไว้ ทั้งที่เป็นภาพผู้เสียชีวิต หรือเหตุการณ์แวดล้อมที่เห็นถึงปฏิบัติการของทหารและปฏิกิริยาของผู้ชุมนุม หรือประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกความในศาลด้วย ทั้งนี้ ดูจากภาพถ่ายและวิดีโอในช่วงเหตุการณ์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมีสื่อมวลชนอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นจำนวนมาก แต่ในการไต่สวนการตายบางคดีกลับมีพยานที่เป็นนักข่าวหรือช่างภาพขึ้นเบิก ความเพียงหนึ่งหรือสองคน ยกเว้นการไต่สวนกรณีนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่มีสื่อมวลชนมาเบิกความเป็นพยานมากที่สุด โดยมีช่างภาพไทยและต่างประเทศมาเบิกความถึง 6 คน โดย 1 ในนั้นเป็นช่างภาพที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เดียวกัน รองลงมา คือ กรณีนายฟาบิโอ โปเลงกี มีพยานที่เป็นสื่อมวลชน 3 คน (เดิมมี 4 คน แต่ศาลได้ทำการตัดออก 1 คน)

การงดสืบพยานบางปาก

ในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ผ่านมา ศาลได้ทำการสืบพยานเพียงบางส่วนของพยานทั้งหมดที่มีในสำนวนสืบสวนสอบสวนและ ที่ญาติผู้ตายยื่นเพิ่มเติม แล้วแต่ว่าในการไต่สวนนั้นๆ มีพยานมากน้อยแค่ไหน อย่างกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ อัยการได้ทำการยื่นพยานเข้าสืบกว่า 100 ปาก และทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตยื่นเพิ่มเติมราว 20 ปาก(6) ศาลนัดสืบเพียง 65 ปาก(7) (ซึ่ง ณ การสืบครั้งล่าสุดมีพยานขึ้นเบิกความแล้ว 30 ปาก) กรณีนายชาญณรงค์อัยการยื่นพยาน 41 ปาก ทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตยื่น 15 ปาก(8) แต่มีการสืบพยานในศาล 21 ปาก กรณีนายฟาบิโอพนักงานสอบสวนแจ้งว่ามีพยานที่เกี่ยวข้อง 47 ปาก แต่ในการสืบพยานในศาลมี 13 ปาก ซึ่งหลักๆ พยานที่ถูกตัดเป็นพยานแวดล้อมที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเสียชีวิตโดยตรง เช่น แกนนำ นปช. เจ้าหน้าที่ ศอฉ. ระดับสั่งการ หรือพยานแวดล้อมที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ในการสืบพยานจะมีเพียง พยานในเหตุการณ์ (ประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม) พนักงานสอบสวนซึ่งทำการสืบปากคำพยานบุคคลและรวบรวบพยานวัตถุ(คลิปวิดีโอ อาวุธปืน หัวและปลอกกระสุน) เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ(อาจจะเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ) แพทย์นิติเวช และถ้าผู้เสียชีวิตได้รับการรักษาก่อนเสียชีวิตก็อาจจะให้แพทย์ผู้ทำการ รักษาเข้ามาให้การในการสืบพยานด้วย
การตัดพยานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงตามลักษณะที่กล่าวไปอาจจะเข้าใจได้ว่า การสืบพยานในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพเป็นขั้นตอนเพื่อที่จะทราบว่าผู้ตายคือ ใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร การไม่ สืบพยานที่ไม่เกี่ยวข้องและมีความซ้ำซ้อนกันก็จะทำให้กระบวนการไต่สวนการตาย รวดเร็วขึ้น แต่การสืบพยานในชั้นไต่สวนนี้กลับมีการตัดพยานในเหตุการณ์ออกด้วย (ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมที่อยู่ในช่วงเวลาและสถานที่เกิดเหตุเดียว กับผู้เสียชีวิต) จากการสังเกตการณ์ได้พบกรณีที่มีการตัดพยานปากสำคัญออก คือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฟาบิโอ โปเลงกี ซึ่งในการไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีพยานมาขึ้นให้การทั้งหมด 3 คน คือ นายมิเชล มาส, นายไซโต้ มาซายูกิ และนายเจฟฟรี จาบลอนสกี้(Jeffrey Jablonski) โดยสองคนแรกเป็นพยานที่มีอยู่แล้วในสำนวนสอบสวน ส่วนนายเจฟฟรีนั้นเป็นพยานที่อลิซาเบตต้า โปเลงกี น้องสาวผู้ตายขอให้นำเข้าสืบเพิ่มภายหลัง เนื่องจากเพิ่งพบตัวพยาน ก่อนหน้านี้พยานกลัวถูกคุกคามจึงไม่ยินดีให้ความร่วมมือและไม่สามารถติดต่อ ได้ แต่ผู้พิพากษาได้งดสืบนายไซโต้และนายเจฟฟรี โดยให้เหตุผลว่าในการไต่สวนเพียงต้องการทราบว่าผู้ตายเป็นใคร เสียชีวิตที่ไหน ตายเมื่อใด ใครทำให้ตาย ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องทำการสืบพยานเพิ่มอีก
นายไซโต้เป็นพยานซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้ถ่ายภาพนายฟาบิโอไว้ได้ตั้งแต่ ที่นายฟาบิโอกำลังวิ่งข้ามแยกสารสินมาจากทางด้านข้างตึก สก.มุ่งหน้ามาทางสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ หลังจากนายฟาบิโอถูกยิงล้มไปแล้วเขาก็ได้ถ่ายภาพนายฟาบิโอไว้อีก และเป็นคนที่เข้าไปช่วยนำนายฟาบิโอไปขึ้นรถจักรยานยนต์เพื่อนำส่งโรงพยาบาล ด้วย ส่วนนายเจฟฟรีนั้นเป็นผู้ที่ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์แวดล้อมบริเวณแยกสารสิน ในช่วงก่อนที่นายฟาบิโอจะถูกยิง

การตรวจอาวุธปืนของพนักงานสอบสวน

เป็นส่วนสำคัญของการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ซึ่งการเสียชีวิต 83 ราย จาก 95 ราย(9) เกิดจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืน แต่ในการเบิกความของเจ้าหน้าที่ที่มาจากกลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่อง กระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าในการตรวจเทียบหัวกระสุนกับอาวุธปืนที่ทางฝ่ายทหารได้นำส่งให้ทำการ ตรวจพิสูจน์นั้นมีปัญหาอยู่สองประการที่ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าหัวกระสุน ที่พบในศพของผู้เสียชีวิตบางราย (แต่บางรายหัวกระสุนแตกเป็นเศษ หรือเสียสภาพมากหรือทะลุผ่านร่างกายออกไปจึงไม่มีหัวกระสุนให้ทำการตรวจ เทียบ) มาจากอาวุธปืนกระบอกใด คือ
ประการแรก ผลการตรวจอาวุธปืนไม่พบว่า หัวกระสุนที่เป็นหลักฐานจากศพผู้เสียชีวิตยิงจากปืนกระบอกใดเลย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานก็ได้ชี้แจงด้วยว่าอาวุธปืนสามารถเปลี่ยนลำกล้องได้ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนลำกล้องก่อนนำส่งตรวจย่อมไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากระสุน ถูกยิงออกมาจากปืนที่นำส่งตรวจหรือไม่ และการส่งตรวจนั้นยังเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์เป็นเวลานานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนลำกล้องปืนไปแล้ว
ประการที่สอง อาวุธปืนที่ส่งตรวจเป็นการสุ่มปืนบางรุ่นและบางส่วนส่งตรวจเท่านั้น โดยในการสลายการชุมนุมจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการนำอาวุธปืนจำพวกปืน เล็กยาว M16, HK33(ปลย.11), ทาโวร์ และปืนเล็กสั้น M653 มาใช้กันเป็นจำนวนมากซึ่งปืนเหล่านี้ใช้กระสุนขนาดเดียวกันคือ 5.56 มม.(.223) และในจุดเกิดเหตุบางแห่งเจ้าหน้าที่ทหารอาจจะมีปืนเล็กยาวใช้ถึง 3 รุ่น แต่ในการส่งตรวจนั้นกลับส่งอาวุธให้ตรวจเพียงปืนรุ่นใดรุ่นหนึ่งเท่านั้น เช่น ในกรณีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายบุญมี เริ่มสุข พบว่าทางฝ่ายทหารได้มีการนำส่งเพียงแค่ปืน M16 จำนวน 20 กระบอกเท่านั้น(10) แต่การเบิกความในคดีนี้และคดีของนายฐานุทัศน์ทำให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทหารใน บริเวณนั้นนอกจากจะมีปืน M16 แล้ว ยังมีปืน M653 ใช้ด้วย ในกรณีของนายชาญณรงค์นั้นจากการเบิกความของพ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม ได้ความว่ามีการส่งปืนทาโวร์เพื่อทำการตรวจเพียง 5 กระบอก เท่านั้น ซึ่งจากภาพทหารที่อยู่ในบริเวณซอยรางน้ำก็พบว่านอกจากปืนทาโวร์แล้วยังมีปืน M16 ด้วย หรือในกรณีของนายพัน คำกอง ที่ศาลได้เขียนไว้ในคำสั่งว่า “...ทั้งยังได้ความว่ากระสุนปืนขนาดดังกล่าวยังสามารถใช้กับอาวุธปืนแบบทาโว ร์ ทาร์ หรือ เอชเค 33 ด้วย ลำพังการตรวจอาวุธปืนแบบ เอ็ม 16 ดังกล่าวไม่ทำให้ผลการรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป”
จากเหตุผลดังที่กล่าวไปนั้นจะเห็นได้ว่าการตรวจพิสูจน์เทียบหัว กระสุนเพื่อหาอาวุธปืนที่ใช้ยิงนั้นมีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการนำส่งอาวุธปืน เพื่อทำการตรวจพิสูจน์แล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถหาปืนกระบอกที่ใช้ยิงผู้เสียชีวิตได้ และคาดได้ว่าการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในรายต่อๆ ไป ที่เสียชีวิตจากการถูกยิงและพบหัวกระสุนในศพก็จะมีผลการตรวจพิสูจน์ออกมาใน ลักษณะตามที่กล่าวไปเช่นกัน

ศาลไม่ให้จดบันทึกการไต่สวน

เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าตามระเบียบศาลนั้นห้ามนำอุปกรณ์บันทึกเสียงและ ภาพใดๆ ก็ตามเข้าห้องพิจารณาคดี แต่ก็ยังสามารถนำสมุดเข้าไปจดบันทึกได้(ทั้งผู้สังเกตการณ์ นักข่าว ผู้สนใจติดตามคดี) อย่างไรก็ตามมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพบางกรณีที่ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ทำ การจดบันทึก เช่น ในการไต่สวนการตายของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า(เหตุการณ์ 10 เม.ย. ที่ถนนดินสอ) และในการไต่สวนการตายของนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข(เหตุการณ์ 16 พ.ค. ที่ใต้ทางด่วนพระราม 4) โดยเหตุผลขององค์คณะผู้พิพากษาก็คือ เกรงว่าเมื่อจดบันทึกผิดๆ ออกไปเขียนข่าว จะส่งผลต่อการทำงานของศาล ผู้พิพากษาเองก็ได้ถูกตำหนิในเรื่องนี้มาแล้วจึงขอความร่วมมือแกมบังคับไม่ ให้จดบันทึก โดยผู้พิพากษากล่าวว่าตัวผู้พิพากษาเองก็ไม่อยากให้ถึงกับต้องออกเป็นคำสั่ง ศาล หากเป็นคำสั่งแล้วยังฝ่าฝืนก็จะเป็นการละเมิดอำนาจศาล(11) นอกจากนี้ในการไต่สวนคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ช่วงหนึ่งผู้พิพากษา(ซึ่งเป็นองค์คณะคนละชุดกับ 2 คดี ที่ได้กล่าวถึงไป) ไม่อนุญาตให้จดบันทึกเช่นกัน จนการไต่สวนครั้งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจึงสามารถจดได้โดยศาลไม่ได้ห้ามและไม่ได้มีการชี้แจงถึง สาเหตุแต่อย่างใด ซึ่งน่าแปลกใจที่ผู้พิพากษาที่เป็นคนกล่าวห้ามในคดีนี้ ก็เป็น 1 ในองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนชันสูตรนายฟาบิโอ โปเลงกีด้วย แต่ในคดีของนายฟาบิโอกลับไม่ห้ามจดบันทึก
การห้ามจดบันทึกทั้ง 3 กรณีที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เท่านั้น แต่ในการไต่สวนของผู้เสียชีวิตอื่นๆ ที่ศาลเดียวกันนี้สามารถจดบันทึกได้ตามปกติ และเท่าที่สอบถามนักข่าวที่ติดตามคดีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก สามารถจดบันทึกการไต่สวนได้โดยไม่เคยมีการห้าม เพียงแต่ห้ามใช้สมาร์ทโฟนในการพิมพ์บันทึกเท่านั้น เนื่องจากศาลเกรงว่าบันทึกเสียงหรือวิดีโอเอาไว้

หมายเหตุ - ข้อสังเกตต่างๆ ที่เขียนขึ้นนี้มาจากข้อมูลตามข่าวทั้งหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต จากการสอบถามนักข่าวที่ติดตามการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในศาล และจากการสังเกตการณ์คดีของผู้เขียนเอง ส่วนเอกสารจากศาลต่างๆ ที่มีการอ้างอิงถึงบางส่วนได้รับความร่วมมือจากทนายญาติผู้เสียชีวิต ทั้งจากกลุ่มทนายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย

เชิงอรรถ
(1)โดยในขณะนี้สำนวนคดีของนายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ดีเอสไอได้มีหมายเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญาข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา เล็งเห็นผลแล้ว ส่วนสำนวนของนายชาญณรงค์ พลศรีลาและนายชาติชาย ชาเหลา ทางดีเอสไอกำลังจะนำสำนวนของทั้งสองคนตั้งเป็นคดีอาญาในข้อหาเดียวกัน
(2)ยังไม่พบว่ามีข่าวความคืบหน้าว่าสำนวนคำสั่งของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ในขณะนี้ได้ถูกส่งไปที่ดีเอสไอแล้วหรือไม่
(3)ความคืบหน้า 2 คดี ดังกล่าวได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศาลอาญากรุงเทพใต้
(4)"เสื้อแดง"รำลึก วันยิงเสธ.แดง,” ข่าวสด, 13 พ.ค.56
(5)“พยานชี้คดีณรงค์ฤทธิ์,”  ข่าวสด, 21 มี.ค.56
(6)“ศาลเล็งตัดพยานปากไม่สำคัญคดี 6 ศพวัดปทุมฯ,” ทีนิวส์, 13 ก.ย.55
(7)“บริหารคดีใหม่ 6 ศพวัดปทุม ไต่สวนการตายทุกวันพฤหัส เสร็จ 18 ก.ค.56,” ประชาไท, 19 ต.ค.55
(8)“คดีแรกไต่สวนการตายเสื้อแดง พ.ค.53 “ชาญณรงค์” นัดเดือน มิ.ย.-ก.ค.,” ประชาไท, 12 มี.ค.55
(9)เพิ่มจากข้อมูลเดิมที่ ศปช. มีอยู่จาก 94 ราย เป็น 95 ราย เนื่องจากทราบจากข่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายสมพงษ์ กิ่งแดง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ที่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ
(9)เพิ่มจากข้อมูลเดิมที่ ศปช. มีอยู่จาก 94 ราย เป็น 95 ราย เนื่องจากทราบจากข่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายสมพงษ์ กิ่งแดง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ที่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ
(10)ทราบจากการตรวจของพ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย, พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ และร.ต.อ.หญิงสุพัตรา ถนอมวงค์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสามคนนี้มาจากจากกลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ปืน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ขึ้นเบิกความเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 55 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้สามารถดูคำเบิกความของทั้งสองคนได้ที่ เอกสารบันทึกคำเบิกความของศาลหน้า 49-58
(11)ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 ส่วนบทลงโทษในมาตรา 33 ระบุไว้ว่ามีตั้งแต่การไล่ออกจากห้องพิจารณาคดี จนถึงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำคุกและปรับ โดยโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น