แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

72 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชวนกลับไปอ่าน สยามยามเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน หนังสือชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ที่มา Thai E-News



อาจารย์ชาญวิทย์เดินทางมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ (อายุ 32 ปี) จวบจนเหตุการณ์เมษา-พฤษภามหาโหด 53 (69 ปี) และยังคงอยู่บนขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้ร่วมไปกับทุกคนที่แสวงหาความจริง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย
โดย Thanapol Eawsakul

วันนี้  6 พฤษภาคม 2556 วับครบรอบวันเกิด 72 ปี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  หลายคนอวยพรวันเกิดอาจารย์ แต่เราจะขายของครับ

เริ่มต้นในปี 2554 ได้มีการจัดงาน "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ"  ที่หอประชุมศรีบูรพา

คลิปงานสัมมนาดังกล่าวได้รวบรวมไว้ในhttp://www.chupitchtv.com/tag/ck70

หรืออ่านสรุปได้ที่

[1] ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ภาษีที่ดิน-ทรัพย์สินไม่ไปไหน ไทยยากจะมีสวัสดิการที่ดี

http://prachatai.com/journal/2011/05/34425


[2] เกษียร เตชะพีระ: ธรรมาภิบาล VS ประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเลือก ?
http://prachatai.com/journal/2011/05/34426

[3] อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: สิทธิเสรีภาพหลัง ‘ทักษิณ’ ภาพรวมสภาวะดิ่งเหวของไทย

http://www.prachatai3.info/journal/2011/05/34427


[4] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน

http://www.prachatai3.info/journal/2011/05/34441


[5] ธงชัย วินิจจะกูล: มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน

http://prachatai.com/journal/2011/05/34433

อีก 1 ปีต่อมา สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้รวมเอาปาฐกถาดังกล่าวมาจัดพิพม์ในหนังสือชื่อ สยามยามเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน 
ใน เล่มนอกจากมีการเอาบทปาฐกถาปรับปรุงเป็นบทความแล้ว (เยกเว้่นอ.เกษียรที่เอาบทความ "แนวโน้มที่แยกแย้งของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" มาแทน) ในเล่มยังมีบันทึกการเสวนา "(จะ) 80 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก" ของ อ.ชาญวิทย์ มารวมด้วย

อ่านรายงาน
http://prachatai.com/journal/2011/12/38265
ดูคลิปhttp://bookrepublic.org/videos/clip-talk-allowed-5/


เมื่อเป็นหนังสือเล่ม  อ.ประจักษ์ ก้่องกีรติ ได้เขียนคำนำเสนอ ให้หนังสือเล่มดังกล่าว ดังรายละเอียดข้่างล่างครับ



จากสยามเก่าสู่สยามใหม่
กับเงาอดีตที่ทาบทับ
ประจักษ์ ก้องกีรติ

....................

ปัญญาชนที่ไม่ถูกลืม
เมื่อครั้งที่ ลูกศิษย์ลูกหาจัดพิมพ์หนังสือครบรอบ 60 ปีให้อาจารย์ชาญวิทย์ ปัญญาชนผ้าม่วงอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเขียนในเชิงพยากรณ์ถึงชะตากรรมของ “ชาญวิทย์กับข้าพเจ้า” อย่างตัดพ้อเอาไว้ว่า “หากมองย้อนไปในระยะยาว หลังจากนี้อีกสักสิบปียี่สิบปี คนก็คงลืมเรา และผลงานของเรา ทั้งนี้ก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะก็มนุษย์สยาม มีจิตสำนึกไม่แม่นในเรื่องของอดีต”

แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ว่าคำพยากรณ์ดังกล่าวไม่จริง แม้ในส่วนที่พูดถึงความ หลงลืมของมนุษย์สยามจะมีเชื้อมูลแห่งความจริงอยู่มากทีเดียว แต่อะไรๆ ในสยามประเทศก็เปลี่ยนแปลงไปมากมายเหลือเกินในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ จนกระทั่ง “อะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็ได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้สรุปรวบยอดเอาไว้อย่างคมคายลึกซึ้ง

ท่ามกลางทศวรรษแห่งความพลิกผันปั่นป่วน โกลาหลอลหม่านยิ่งกว่าสมัย “บ้านเมืองของเราลงแดง” เมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519 ก็มีมนุษย์สยามพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย จำนวนมากได้เรียนรู้ “ข้อมูลใหม่ๆ” ที่หลั่งไหลพรั่งพรูออกมา จน “ตาสว่าง” และก่อเกิดเป็นจิตสำนึกในอดีตที่หนักแน่นและแม่นยำ จนก่อให้เกิดอาการประหวั่นพรั่นพรึงในหมู่ชนชั้นนำสยามเก่า ที่ตระหนกตกใจว่าสำนึกอดีตแบบ “ยากล่อมประสาท” ที่ตนเองสร้างไว้ ได้หลุดลอยจากการยึดกุมของตนเองเสียแล้ว จนอาจทำให้อำนาจนำที่ครอบงำสังคมมาหลายสิบปีดีดักก็อาจจะหลุดมือตามไปด้วย

ในสิบปีที่ผ่านมา ปัญญาชนชื่อชาญวิทย์ไม่ถูกลืม ทั้งตัวและผลงานยังคง “ยืนเด่นโดยท้าทาย” ตรงกันข้ามกลับการถูกหลงลืม เสียงของเขากลับดังขึ้น ตัวตนแจ่มชัดขึ้น ความคิด ความเห็น และความเคลื่อนไหวปรากฎอยู่ในที่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ หลายเรื่องหลายประเด็นก็สร้างผลสะเทือนในวงกว้าง เช่น เรื่องความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาในกรณีเขาพระวิหาร ที่ถูกโหมกระพือจากความขัดแย้งภายในจนนำไปสู่ความบาดหมางกับประเทศเพื่อน บ้านโดยไม่จำเป็นเลยแม้แต่น้อย มีการปลุกกระแสความเกลียดชัง และการก่อสงครามโดยสื่อและสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชน แต่อาจารย์ชาญวิทย์ก็สู้กับอคติด้วยความรู้ สู้กับความเกลียดโกรธด้วยการสร้างความเข้าใจและความรัก ในสปิริตแบบคนยุคซิกส์ตี้ที่เคยผ่านการต่อต้านสงครามเวียดนาม ด้วยมอตโต้อันเก๋ไก๋ว่า “make love not war” มิวายก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาชวน เชื่อที่ถนัดในการขายข่าวที่สร้างความเกลียดชังในสังคม โดยฝีมือของอดีตลูกศิษย์ตัวเองบ้าง อดีตเพื่ออาจารย์ร่วมสถาบันบ้าง ที่มหัศจรรย์คือ เจ้าตัวไม่เคยถือโทษโกรธเคือง ไม่ขุ่นมัว และไม่เคยตอบโต้กลับ ซ้ำยังให้อภัยลูกศิษย์ที่โจมตีตัวเองอย่างเสียหายด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ

นับเป็นจิตใจที่ยิ่งใหญ่และเปี่ยมล้นไปด้วยความเป็นครูที่หาได้ยากยิ่งกว่า งมเข็มในมหาสมุทร เพราะผู้อาวุโสสยามส่วนหญ่ที่พบเจอมักจะชอบเทศนาเรื่องการ ให้อภัย แต่ไม่เคยปฏิบัติได้จริง ชอบพูดเรื่องความเมตตา แต่ทำในทางตรงกันข้าม
อาจารย์ชาญวิทย์มีทั้งปัญญาและเมตตาให้กับคนรอบข้าง โดยไม่เคยเทศนา
ปัญญาชน (บริการ) สาธารณะ

ใน พ.ศ. 2555 สังคมไทยมีปัญญาชนหลากวัย หลายประเภท ทั้งเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ มานุษยวิทยาพยากรณ์ ดาษดื่นจนกระทั่งเฟ้อ แต่ปัญญาชนแบบ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีคนเดียว
ไม่หมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

ในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังอยู่ในระยะที่เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน เราได้เห็นปัญญาชนจำนวนมากหลงลืมที่จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรง ไปตรงมา มิหนำซ้ำกลับเป็นผู้เผยแพร่อวิชชาและมุสาวาจา โดยการสื่อสารข้อความอันเป็นเท็จ ปลูกฝังอคติและการโฆษณาชวนเชื่อ โหมกระพือสารแห่งความเกลียดชัง บิดเบือนประวัติศาสตร์ ซ้ำเติมเหยื่อผู้สูญเสีย รับใช้อำนาจและฉวยโอกาสทางการเมือง บางคนใส่ร้ายป้ายสีกระทั่งผู้บริสุทธิ์ ลูกศิษย์ มิตรสหาย และครูของตนเอง จนหาปัญญาชนที่คนรุ่นหลังจะเคารพนับถือและยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจในความ ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และความกล้าหาญทางจริยธรรม แทบจะไม่มี

อาจารย์ชาญวิทย์เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางพายุลม แรง หากใช้คำของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ต้องถือว่าเป็น “ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” เป็นเสาหลักทางปัญญาให้ลูกศิษย์ลูกหาและกัลยาณมิตรได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง เป็นต้นไม้ใหญ่ให้ใครๆ ได้พักพิง เป็นเข็มทิศช่วยชี้แนะหนทางที่ควรเดิน นักศึกษาปัญญาชน และนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้แสวงหาประชาธิปไตยและความเป็นธรรมตั้งแต่ หลังเกิดการรัฐประหาร 2549 ได้พึ่งพาอาศัย “ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” คนนี้นับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลืออย่างเต็มใจจากครูคนนี้เสมอมา แม้ว่าบางครั้งเรื่องที่เคลื่อนไหวจะเป็นประเด็นที่แหลมคม ร้อนแรง และอ่อนไหวในสังคมสยามประเทศอย่างมาก เสี่ยงต่อการที่ทำไปแล้วจะ “งานเข้า” แต่อาจารย์ก็ไม่เคยหลบเลี่ยงหรือปฏิเสธ หากเป็นเรื่องที่เห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมและประชาธิปไตย ให้มีขึ้นในสังคม อาจารย์เคยพูดกับลูกศิษย์จำนวนหนึ่งต่อเรื่องนี้ทำนองว่า “ผมอายุมากขนาดนี้แล้ว ผมไม่มานั่งกังวลหรอกว่า เขียนหรือทำอะไรแล้ว คนจะมาด่าผมอย่างไรบ้าง ผมทำในสิ่งที่อยากทำและเห็นว่ามันถูกต้อง”

และแล้วงานก็เข้าอาจารย์ชาญวิทย์ไปหลายครั้ง แต่ครูคนนี้ก็ยังไม่ถอย

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยทศวรรษ 2510 ที่เสนาคณาธิปไตยครองบ้านครองเมือง มาจนถึงยุคเผด็จการซ่อนรูปในทศวรรษ 2550 จะพบว่าเส้นทางชีวิตทางปัญญาของอาจารย์ชาญวิทย์คงเส้นคงวาอย่างประหลาด คือ เมื่อลงจากหอคอยงาช้าง แกไม่ได้เดินเข้าทำเนียบ ไม่วิ่งเข้าหาฝ่ายผู้มีอำนาจดังที่ปัญญาชนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากกระทำ แต่เลือกที่จะรับใช้สังคมด้วยการบริการสาธารณะทางปัญญา ผ่านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ วีดิทัศน์ และสื่ออิเลกทรอนิคส์ การทำนิทรรศการ การจัดอภิปรายสัมมนา การจัดทัศนศึกษาอย่างสนุกและมีสาระ จนถ้าจะนับสถิติกันแล้ว ก็เชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์เลยว่าไม่มีนักวิชาการในสังคมไทยคนไหนเป็นตัวตั้งตัวตีขยันทำ งานบริการวิชาการสู่สาธารณชนได้ดีเท่าและมากเท่าอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์คน นี้ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต (ขอพยากรณ์กับเค้าบ้าง)

อาจารย์เครก เรย์โนลส์ (Craig Reynolds) นักประวัติศาสตร์ไทย-อุษาคเนย์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจารย์ชาญวิทย์ตั้งแต่สมัยอยู่ร่วมสำนักคอร์แนล และตอนนี้เกษียณอายุแล้วที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เคยพูดแบบขำๆ ให้ผมฟังว่า ชีวิตชาญวิทย์คือ ชีวิตของการแคมเปญ ถ้าแกไม่ได้แคมเปญอะไร ชีวิตแกจะอยู่ไม่เป็นสุข” พูดจบแกก็ชี้ให้ดูเสื้อยืดที่แกใส่มาในวันนั้น ซึ่งเป็นเสื้อฉลองการจัดงาน 30 ปี 14 ตุลาที่อาจารย์ชาญวิทย์เป็นโต้โผจัดขึ้น แกยังบอกอีกว่าผมสะสมเสื้อรณรงค์ของชาญวิทย์ไว้เกือบครบ ไม่ว่าจะเสื้อรณรงค์เรื่องย้ายธรรมศาสตร์ เปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยาม เรื่องอาเซียน เรื่องเขาพระวิหาร ฯลฯ ผมเลยยุไปว่าน่าจะมีการจัดนิทรรศการเสื้อยืดเหล่านี้กันสักครั้งหนึ่ง
ปัญญาชนเสรีนิยม

หากจะกล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งในสังคมไทยอยู่ตรงที่ว่า อุดมการณ์เสรีนิยม นั้นอ่อนแอก็เห็นจะได้ เราไม่มีกลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมที่เข้มแข็งและต่อสู้เพื่อหลักการอันเป็นคุณ ค่า ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่เป็นปัจเจกจะไม่ถูกจำกัดจากอำนาจรัฐรวม ทั้งจากชุมชน ปัจเจกภาพของมนุษย์ที่จะต้องได้รับการเชิดชู และความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่คนคิด เชื่อ และบูชาสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน (ที่เรียกกันอย่างขรึมขลังว่าขันติธรรม) ทีแรก การต่อสู้สมัย 14 ตุลาดูเหมือนจะช่วยสร้างอุดมการณ์เสรีนิยมให้ก่อตัวขึ้นมาในสังคมสยาม แต่ไม่ช้าไม่นาน ปัญญาชนเสรีนิยมที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาก็ดูจะเปลี่ยนรูปแปลงร่างกลายเป็น อนุรักษนิยม เสนานิยม หรือกระทั่งไฮเปอร์รอยัลลิสต์ กันไปเสียหมด เราจึงได้เห็นปรากฎการณ์ที่ปัญญาชนอาวุโสจำนวนมากของไทยสนับสนุนการรัฐ ประหาร ตุลาการภิวัฒน์ และการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ล้าหลังมาเป็นอาวุธทำลายคนที่เห็น ต่างทางการเมือง

อาจารย์ชาญวิทย์เป็นคนส่วนน้อยในหมู่ปัญญาชนอาวุโสของไทย เป็น minority ของ minority ในความที่มีสปิริตแบบปัญญาชนเสรีนิยมเต็มเปี่ยม มีวิญญาณอิสรเสรี มีวิญญาณขบถอยู่ในตัว ชื่นชอบความแตกต่างหลากหลาย และปฏิเสธการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ มากดทับปิดกั้นการแสดงออกของปัจเจกชน นี่อาจจะเป็นผลพวงจากยุคซิกส์ตี้ของไทยบวกฝรั่ง ทำให้อาจารย์ชาญวิทย์ไม่นิยมสงคราม ไม่นิยมอำนาจแบบจารีต ไม่นิยมการครอบงำทางการเมืองของกองทัพ ไม่บูชาระบบอาวุโส และพิสมัยค่านิยมที่จัดลำดับคนในสังคมตามยศฐาบรรดาศักดิ์ หากมีความหวังกับพลังสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว ให้ความสำคัญกับการต่อสู้ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เป็น counter culture ในขณะเดียวกันก็มีความอดทดอดกลั้นเป็นอย่างสูงต่อคนที่คิดแตกต่างจากตัวเอง

กล่าวได้ว่าอาจารย์ชาญวิทย์สืบทอดและรักษาอุดมการณ์รวมทั้งจิตวิญญาณแบบ 14 ตุลาฯ ไว้ได้มากกว่าใครๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนรุ่นเดียวกัน หรืออดีตนักศึกษาสมัยนั้นซึ่งเปลี่ยนสีแปรธาตุกันไปหมดแล้วทั้งหมดนี้ทำให้ อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เหมือน “ผู้ใหญ่” แบบฉบับมาตรฐานในสังคมไทย ที่พออายุมากขึ้นก็มักจะลงเอยเหมือนกันเกือบหมดคือ ดีกรีอนุรักษนิยมในตัวสูงขึ้น เทศนาธรรมถี่ขึ้น เริ่มหมดไฟ ไม่เป็นตัวของตัวเอง สยบยอมต่อระบบ ทำตัวหงอยๆ เหงาๆ และมีมาดแบบข้าราชการกันไปเสียหมด (ไม่ว่าจะรับราชการมาก่อนหรือไม่ก็ตาม) กล่าวคือ เจ้ายศเจ้าอย่าง มีพิธีรีตอง ทำตัวขรึมขลังเข้าถึงยาก และกดคนรุ่นเยาว์ไว้ด้วยอำนาจของความอาวุโส ประมาณว่าแก่ตัวแล้วมีฟอร์มแบบอธิบดีกรมหรือปลัดกระทรวงกันเกือบหมด แปลกตรงที่อาจารย์ชาญวิทย์ซึ่งรับราชการมาตลอดชีวิต (กรุงเทพมหานคร กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กลับไม่มีมาดแบบข้าราชการอาวุโส ใครที่เคยสัมผัส “ตัวเป็นๆ” ของอาจารย์ย่อมประจักษ์ในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี และเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อึดอัดกับท่าน “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายในสังคมไทย
ปัญญาชนสยามใหม่: ให้อดีตนำทางเราไป แต่อย่ากักขังเรา

ผลงานวิชาการที่รวมอยู่ในหนังสือฉลองวาระครบรอบ 70 ปีของอาจารย์ชาญวิทย์ที่ทุกท่านกำลังถืออยู่นี้ เป็นประจักษ์พยานอย่างดีถึงความรอบรู้และความสนใจอันหลากหลาย ครอบคลุมประเด็นปัญหาในลักษณะที่ข้ามสาขาวิชา อาจารย์ชาญวิทย์เป็นปัญญาชนสยามหนึ่งในไม่กี่คนที่สนใจปัญหารอบด้านในลักษณะ ที่ไม่ยึดติดอยู่กับกรงขังของศาสตร์วิชา ก่อนที่วงวิชาการไทยจะเห่อแนวคิดที่เรียกกันเท่ๆ ติดปากในปัจจุบันว่า “สหวิทยาการ” เสียอีก ความซาบซึ้งดื่มด่ำทางวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง และการเมืองวัฒนธรรมร่วมสมัยปรากฎอยู่ในบทความทั้งห้าชิ้น ซึ่งผู้เขียนที่ประกอบไปด้วยบรรดาลูกศิษย์ลูกหา เพื่อนร่วมงาน และกัลยาณมิตรทางวิชาการได้ร่วมกันขบคิด อภิปรายและตอบโจทก์สำคัญอันท้าทายยุคสมัยที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่านของสยามประเทศ

สยามประเทศของเรายังอยู่ในยุคเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน ก็เพราะเรายังอยู่กับกับดักที่เป็นมรดกตกทอดจากอดีต เงาจากอดีตนี้ยังทาบทับอยู่ในปัจจุบันสมัย เป็นเงาที่ทอดยาว ยาวจนสามารถสืบสาวกลับไปได้ไกลถึงยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7) ดังที่บทความอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลชี้ให้เห็น ปัญหาว่าจะอยู่กับมรดกนี้อย่างไรไม่ใช่เรื่องที่จะหาหนทางกันได้ง่ายๆ เพราะมนุษย์สยามนั้นตีความอดีตไปคนละทาง และจินตนาการถึงอนาคตของสังคมไปคนละแบบ บทความของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ซึ่งอภิปรายปรากฎการณ์ที่เกิดสองแนวโน้มในการตีความระบอบราชาธิปไตยภายใต้ รัฐธรรมนูญแตกต่างกัน ช่วยชี้ให้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมร่วมสมัยอันดุเดือดเข้มข้น การต่อสู้ทางการเมืองที่ปะทุขึ้นมาในรอบหลายปีที่ผ่านมามีปัจจัยเชิงโครง สร้างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรองรับอยู่ หากไม่แก้ปมปัญหานี้ ก็มีโอกาสสูงที่ความรุนแรงจะระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ บทความของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร วิเคราะห์ที่มาและพยายามเสนอหนทางเยียวยา นอกจากนั้นการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดเลือดพล่านก็พ่นพิษทำให้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนถูกกดทับ ปิดกั้น บทความอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ซึ่งชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าตกใจว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราได้ตกต่ำจน ไปอยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกับประเทศอย่างเบลารุส พม่า จีน คิวบา และซาอุดิอาระเบีย เสียแล้ว การเซ็นเซอร์ตัวเองและบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวดูจะถ่างกว้างขึ้น ชนชั้นนำของไทยเลือกที่จะ “ปิดหูปิดตาปิดปาก” ประชาชน โดยหวังว่าจะควบคุมระยะเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ตามใจปรารถนา ความพยายามนี้ได้รับความช่วยเหลือแบบเนียนๆ จากนักเขียนและกวีร่วมสมัยกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้ความสามารถทางวรรณศิลป์มากลบเกลื่อนอาชญากรรมของรัฐ พร้อมกับสร้างความหมายเชิงลบให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเหยื่อของความ รุนแรง จนอาชญากรกลายเป็นวีรบุรุษ และเหยื่อกลายเป็นผู้ร้าย ปรากฎการณ์ “วรรณกรรมยุคเปลี่ยนผ่าน” นี้ได้รับการอภิปรายไว้อย่างพิสดารในบทความของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

คำถามก็คือ ในยุคที่คนในสังคมเกิดจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่หลุด พ้นไปจากประวัติศาสตร์แบบ “ราชา-เสนานิยม” หรือพูดง่ายๆ ว่า “ตาสว่าง” เสียแล้ว การปิดฟ้าด้วยฝ่ามือนี้จะทำได้อีกล่ะหรือ

ภาวะการอ้าง “สถานการณ์ไม่ปกติ” ในสังคมไทยเพื่อที่รัฐจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนภาวะ “ไม่ปรกติ” นั้นถูกทำให้กลายเป็น “ปรกติ” และความแปลกประหลาด อัปลักษณ์ กระทั่งวิปริตวิปลาสที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ประหลาด ที่ดูจะเป็นของคู่กันกับสยามในยุคเปลี่ยนผ่านจากเก่าไปสู่ใหม่ อันมีมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ชนชั้นนำ “สยามเก่า” นำมาใช้ แต่คำถามก็คือ ภาวะเยี่ยงนี้จะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไหร่ ความอดทนอดกลั้น และความไม่ไว้วางใจกันจะหมดลงเมื่อไหร่ รวมไปถึงคำถามที่ว่า “ละครเรื่องการปรองดอง (ซ่อนมีด)” ระหว่างชนชั้นนำ “สยามเก่า” กับ “สยามใหม่” จะปิดฉากลงอย่างไร

หนทางที่พลเมืองไทยจะได้ปลดปล่อยตัวเองไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ ที่กอปรด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะเป็นไปได้โดยปราศจากความรุนแรง หรือไม่ นับเป็นคำถามที่ท้าทายแห่งยุคสมัย ในภาวะที่ระเบียบสังคมการเมืองแบบสยามเก่ากำลังจะมลายไป แต่สยามใหม่ก็ยังไม่จุติ และปีศาจกำลังอาละวาดอยู่นี้ เสียงของอาจารย์ชาญวิทย์ยังกังวาน และส่องสะท้อนให้เราก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านแบบไม่ขลาด ไม่เขลา ไม่ขืนฝืนความเปลี่ยนแปลง แต่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรู้เท่าทันด้วยสำนึกประวัติศาสตร์ที่ส่องนำทางเราไป

อาจารย์ชาญวิทย์เดินทางมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ (อายุ 32 ปี) จวบจนเหตุการณ์เมษา-พฤษภามหาโหด 53 (69 ปี) และยังคงอยู่บนขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้ร่วมไปกับทุกคนที่แสวงหาความจริง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์สยามประเทศจะคลี่คลายไปอย่างไร ยังไม่มีใครรู้เหมือนอย่างไม่เคย เหมือนจะไม่รู้ แต่อีกไม่นานเธอจะรู้ (เอง) เพราะเค้าลางของความเคลื่อนไหวได้ปรากฎอยู่รางๆ ที่ขอบฟ้าแล้ว ในระหว่างนี้ก็ครวญเพลงเพื่อชีวิตฝรั่งเพลงโปรดของอาจารย์ชาญวิทย์ที่เคยชัก ชวนนักศึกษาให้ร่วมกันร้องไว้ตั้งแต่สมัยก่อนการปฏิวัติ 14 ตุลาฯ

 “We Shall Overcome”
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น