แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ทางลัดของแบงก์ไทย

ที่มา ประชาไท


ขณะที่เมืองไทยกำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งของธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) รวมถึงความขัดแย้งด้านการกำหนดนโยบายการเงินการคลัง ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายแบงก์ชาติที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล  เป็นผู้ว่าการฯอยู่นั้น
อีกด้านหนึ่งที่สถานการณ์กลับเงียบงันเป็นพิเศษ โดยแบงก์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงปล่อยผ่านมานาน นั่นคือ การฟันกำไรจากค่าธรรมเนียมของบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทย อย่างขาดชั้นเชิงธุรกรรมการเงินที่เป็นมาตรฐานสากล
ยิ่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน กำลังจะก้าวสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ด้วยแล้ว ประเด็น “ค่าธรรมเนียมของธนาคาร” นับว่า มีค่าควรแก่การสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมของแบงก์จะกลายเป็นอุปสรรคของการเปิดเสรีการเงิน อย่างฉกาจฉกรรจ์
ประการสำคัญ คือ หากมีการปรับลด หรือเลิกค่าธรรมเนียมในหลายรายการหรือบางรายการ ก็จะช่วยลดการเอารัดเอาเปรียบของแบงก์ไทยต่อลูกค้า ที่จำต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมให้แบงก์อย่างไม่สามารถเลี่ยงได้
เพราะแบงก์ไทยยังจัดอยู่ในกลุ่ม ที่สร้างรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมากติดอันดับต้นๆของประเทศด้อย พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ หากหมายให้ความด้อยพัฒนาของประเทศดังกล่าว หมายถึงการทำธุรกรรมแบบกดขี่ขูดรีดเอากับลูกค้า โดยที่ลูกค้าต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้
รายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทย มีแหล่งที่มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ  และเป็นรายได้ที่งดงามเป็นกอบเป็นกำ
เฉพาะที่เห็นกันง่ายๆ และประจำ(วัน)เลยก็คือ การคิดค่าธรรมเนียมเมื่อมีการถอนเงินของลูกค้า จากตู้ถอนเงินอัตโนมัติ(เอทีเอ็ม) การชาร์จค่าธรรมเนียมจากการถอนเงินสาขาต่างเขต และการชาร์จค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน รวมถึงการชาร์จค่าธรรมเนียมในการทำบัตรเอทีเอ็ม
ค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ กลายเป็นรายได้หลักหรือรายได้ส่วนใหญ่ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งสามารถถูกทำให้เรียกได้ว่า แบงก์เหล่านี้เป็น “เสือนอนกิน”
รายได้จากจากค่าธรรมเนียมเหล่านี้ เพิ่มขึ้นอย่างเมามันทุกปี  ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ติดอันดับหนึ่งในสามแห่งหนึ่ง  เมื่อไม่กี่มานี้ แบงก์พาณิชย์ของไทยรายได้จากค่าธรรมเนียมถึงร้อยละ 28  ของรายได้รวมทั้งหมด คาดว่ารายได้ประเภทเดียวกันนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49 ในอนาคตอันใกล้นี้
ที่ผ่านมาแบงก์ชาติ พิจารณากรณีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของแบงก์ไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทย แต่ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าสำหรับการแก้ปัญหานี้ ทั้งๆที่นายประสารเองก็เคยทำงานอยู่ในเครือข่ายของแบงก์พาณิชย์ไทยมาก่อน มีเพื่อนฝูงและวงศ์วานเพื่อนพ้องจำนวนมาก
เรื่องนี้ ยากเหมือนง่าย ง่ายกลายเป็นยาก
ขณะที่การตั้งค่าธรรมเนียมของแบงก์ไทยดูเหมือนจะสูงขึ้นตลอดมา ตามข้ออ้าง ต้นทุนที่เกิดจากการซื้อและการติดตั้งระบบและเครื่องอิเลคทรอนิกส์ทั้งหลาย แหล่
หากความจริงแล้ว การขึ้นค่าธรรมเนียมของแบงก์ดังกล่าว ย่อมหมายถึง การผลักดันภาระต้นทุนดังกล่าวนี้ ไปยังผู้ใช้บริการหรือลูกค้าของธนาคาร ในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับชาวบ้าน คนธรรมดาๆ ที่ “จำเป็นต้องมี” บัญชีออมทรัพย์ บัญชีสะสมทรัพย์เล็กๆ พร้อมด้วยบัตรเอทีเอ็มใบหนึ่ง ไว้กดถอนเงิน โดยที่มีไม่ต้องเสียเวลา ค่ารถ ค่าน้ำมันรถวิ่งไปยังสาขาของธนาคาร
ช่วงที่ผ่านมาฝ่ายผู้บริโภค หรือกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารบางส่วน อย่างเช่น เครือข่ายลูกค้าธนาคาร ที่มีนายเกริกไกร เดชธีรากุล เป็นผู้ก่อตั้ง ได้เคยร่วมหารือ ผลักดันเรื่องนี้ต่อแบงก์ชาติ  ซึ่งก็ยังไม่เป็นผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ ผ่านสมาคมธนาคารไทย คัดค้านเรื่องนี้ ซึ่งก็ขึ้นกับแบงก์ชาติว่า จะเด็ดขาดกับการควบคุมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารไทยมากน้อยขนาดไหน เพราะเท่าที่เห็นที่ผ่านมา ปล่อยปละละเลยต่อเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน
จนแทบไม่น่าเชื่อว่า แบงก์พาณิชย์ไทยฮั้วกันตั้งค่าธรรมเนียม จนสามารถทำรายได้จากลูกค้าของธนาคารเป็นกอบเป็นกำ โดยที่แบงก์ของรัฐ อย่าง ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอื่น ที่มีไว้โดยวัตถุประสงค์แทรกแซงตลาดเงินตลาดทุนและป้องกันการเอาเปรียบผู้ บริโภคมากจนเกินไป ก็ร่วมเป็นผู้กระทำต่อลูกค้าเหมือนเช่นธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปดุจเดียวกัน
ข้อแตกต่างของการเก็บค่าธรรมเนียมระหว่างแบงก์ไทยกับแบงก์ของ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น แบงก์อเมริกัน สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ที่เมืองไทยนั้น ตู้เอทีเอ็มเกลื่อนแทบทุกหัวมุมถนน กระทั่งในหุบเขาดงดอย ป่าปาล์ม สวนยางพารา นาข้าว ชนิดที่หาดูได้ยากยิ่งในประเทศใดอื่น
กรณีของแบงก์อเมริกันนั้น แบงก์พาณิชย์ถูกควบคุม จากรัฐและระบบการแข่งขัน ไม่ให้มีน้ำหนักของรายได้ที่เกิดจากค่าธรรมเนียม เกี่ยวกับการเบิกถอน และรับฝากเงินมากจนเกินไป
พูดกันตรงๆก็คือ แบงค์อเมริกัน แทบไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมพื้นฐาน
เช่น การถอนและการฝากเงิน ทั้งผ่านเอทีเอ็มหรือถอนหน้าเคาน์เตอร์  หากเป็นธนาคารเดียวกัน(ซึ่งลูกค้ามีบัญชีอยู่กับธนาคารแห่งนั้น)  การเบิกถอน ฝาก หรือโอนเงินต่างเขต(รัฐ) ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม ลูกค้าของธนาคารสามารถทำธุรกรรมที่ใด (ในอเมริกา)ก็ได้ มียกเว้น ที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม คือ การทำธุรกรรมข้าม(ต่าง)ธนาคาร แต่ค่าธรรมเนียมก็ไม่สูงมาก
การทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดา และเดบิตการ์ด(บัตรเงินสด) ที่มีตราวีซ่าและมาสเตอร์ ของทุกธนาคาร ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม(ทำฟรี)
การแยกบัญชีเงินฝากออกมาเป็นอีกประเภท ได้แก่ เงินฝากสำหรับจ่ายเช็ค(Checking Account) ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ เพียงแต่อัตราไม่สูงเท่ากับบัญชีเงินฝาก(ตามระยะเวลา)ประเภทอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไปและป้องกันแบงก์เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งตามปกติส่วนใหญ่ ผู้บริโภคหรือลูกค้า จำเป็นต้องจ่ายบิลชำระค่าบริการต่างๆผ่านระบบธนาคารประจำแต่ละวันหรือแต่ ละเดือนอยู่แล้ว
ปัจจุบันผลพวงจากการแข่งขันระหว่างธนาคาร ทำให้ประเภทบัญชีเงินฝากสำหรับจ่ายเช็คของธนาคารส่วนใหญ่ในอเมริกาไม่มีการ จัดเก็บค่าธรรมเนียม จากการที่ลูกค้าเหลือยอดเงินสำรองไว้ในธนาคารต่ำกว่าจำนวนที่ธนาคารกำหนด   นั่นคือ ธนาคารอเมริกันส่วนใหญ่กันมาใช้ระบบดึงดูดลูกค้าที่เรียกว่า Free Checking Account กันส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ว่าลูกค้าจะเหลือเงินฝากในบัญชีจำนวนเท่าใดก็ตาม ธนาคารจะไม่คิดค่าธรรมเนียม ยกเว้นแต่เพียงลูกค้าสั่งจ่ายเช็ค หรือถอนเกินวงเงินที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝาก ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือถูกธนาคารปรับเอาโดยชอบธรรม(จากความไม่มี ระเบียบวินัยของลูกค้าเอง)
กรณีที่ว่านี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นระบบที่เชื่อมโยงถึงชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป ยิ่งในปัจจุบันที่มีการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์หรือคอมพิวเตอร์มากขึ้น คนส่วนใหญ่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้บริการของธนาคาร เพียงแต่ทำอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าธนาคารไม่เอาเปรียบลูกค้าจนเกินไป รวมทั้งทำให้การแข่งขันระหว่างธนาคารเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่การผูกขาด หรือการฮั้วกันเหมือนในบางประเทศ
ความแตกต่างระหว่างธนาคารของไทยและธนาคารอเมริกันอีกอย่าง คือ การทำธุรกรรมของธนาคารในอเมริกา ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างธนาคารเป็นหนึ่งเดียว หรือพูดแบบบ้านๆ ก็คือ แบงก์อเมริกันมีสาขาแบบ(เสมือน)ไร้สาขา หรือทุกสาขาเหมือนกันหมด ไม่ว่าลูกค้าจะเปิดบัญชีที่สาขาไหน สามารถทำธุรกรรมได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องย้อนกลับไปสาขาเดิมที่เปิดบัญชีไว้เหมือนอย่างแบงก์ในเมืองไทย เช่น การปิดบัญชี  ลูกค้าแบงก์อเมริกันสามารถปิดบัญชีที่สาขาใดของแบงก์ก็ได้
ขณะเดียวกัน ระบบอิเลคทรอนิกส์ แบงกิ้ง ในอเมริกา ทำให้ลูกค้าของธนาคารไม่ต้องพะวงกับการถือสมุดบัญชีเงินฝากเป็นเล่มไปธนาคาร แค่พกบัตรพลาสติก(เอทีเอ็มหรือเดบิตการ์ด)และบัตรประชาชน(I.D.)เท่านั้น ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั่วประเทศ โดยแทบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนใหญ่ที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมก็คือ การทำธุรกรรมต่างธนาคารเท่านั้น
เรื่องนี้หากว่าไปแล้วแบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการ คุ้มครอง ลูกค้าประชาชน น่าที่จะใส่ใจมานานแล้ว เพราะระบบอิเลคทรอนิกส์แบงกิ้งของไทยถูกพัฒนามานานและทันสมัยพอเพียงในการทำ ให้สาขาธนาคารเป็นเสมือนสาขาเดียวกัน ทั้งเมืองไทยเองก็น่าจะดำเนินการได้สะดวกกว่าอเมริกาเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นประเทศเล็ก ใช้กฎหมายเดียวกันทั้งประเทศ ขณะที่อเมริกายังมีความแตกต่างของการใช้กฎหมายในแต่ละรัฐ
หากที่ติดอยู่ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า แบงก์ชาติไม่ใส่ใจและคงข้ออ้างของแบงก์พาณิชย์เรื่องต้นทุนการจัดการและการ จัดหาระบบอิเลคทรอนิกส์ ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งผลักภาระไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภค
ทั้งๆที่หากหันไปใช้ “ระบบหนึ่งสาขา”(ที่สามารถทำได้ทันทีในขณะนี้)แล้ว จะช่วยประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของธนาคารได้ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
เพียงแต่ข้อเสียก็คือ แบงก์พาณิชย์ จะสูญเสียค่าธรรมเนียมจากการโยกย้ายถ่ายเงินในแต่ละวันของลูกค้า ที่เคยได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็นกำไรก้อนโต ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นวิธีการหากินที่ง่ายเต็มที ต่างจากระบบธนาคารของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในอเมริกา  
รายได้ของแบงก์โดยทั่วไปถ้าจะว่าไปแล้วมาจาก 3 ทางหลัก คือ ค่าธรรมเนียม ส่วนต่างดอกเบี้ยและวาณิชธนกิจ
ของแบงก์ไทยเรา มาจากทางแรกเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือก็เป็นส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ขณะที่แบงก์อเมริกัน มีรายได้จากวาณิชธนกิจ เป็นหลัก ลองคิดดูก็แล้วกันครับว่าระบบมันพิลึกหรือเปล่า
ถามว่าแบงก์ชาติ และนายธนาคารทั่วไปทราบเรื่องเหล่านี้ไหม
คำตอบ ก็คือ ทราบอย่างชัดเจน !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น