หนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า การฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสมัยสฤษดิ์ก็คือการรื้อฟื้นพระ ราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี 2503 ก่อนหน้านั้น พระราชพิธีดังกล่าวถูกรัฐบาล 2475 จัดการอย่างไร ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก การถกเถียงเมื่อหลายปีก่อนระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และธงชัย วินิจจะกูล ก็มุ่งประเด็นไปที่คำถามว่า มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีอย่างสำคัญในปี 2492 หรือไม่ ในบทความขนาดสั้นชิ้นนี้ สิ่งที่ผู้อ่านจะได้พบก็คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความพยายามเปลี่ยนแปลงพระ ราชพิธีแรกนาขวัญให้มีความสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองของผู้นำไทยรุ่น 2475 ยุคที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่หลวงพิบูลสงครามจะขึ้นสู่อำนาจ
กลางเดือนมีนาคม 2476 ตามปฏิทินเก่า เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าพระราชพิธีแรกนาขวัญประจำปี 2477 ซึ่งตรงกับวันที่ 17 และ 18 เมษายน จะให้ผู้ใดเป็นประธานในพิธี และจะจัด ณ สถานที่ใด[1] ก่อนจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม มีบันทึกของเจ้าหน้าที่เสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงความเห็นของคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้
เรื่องพระราช
พิธีแรกนาขวัญนี้ เมื่อครั้งปรึกษาเรื่องพิธีตรียัมปาวายโล้ชิงช้า พ.ศ.2476
คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรเลิกพิธีโล้ชิงช้าเสีย เพราะเป็นของพ้นสมัย
ถ้าจะจัดทำก็ควรให้เป็นหน้าที่เทศบาลจัดทำ
และถ้าจะเลิกพิธีโล้ชิงช้าก็ควรเลิกพระราชพิธีแรกนาขวัญเสียด้วย
เพราะเป็นพิธีที่เกี่ยวกับการทำนาด้วยกัน แต่เห็นว่ามีข้อที่ควรระลึกว่า
พิธีนี้เป็นพิธีเก่าและเกี่ยวกับการทำนา
ถ้าเลิกเสียแล้วข้าวเกิดไม่ได้ผลดีในปีนั้น ราษฎรจะครหารัฐบาลได้
จึ่งได้รอเรื่องนี้ไว้ว่าจะพิจารณาในเมื่อถึงเวลาพิจารณาพระราชพิธีแรกนา
ขวัญ พ.ศ. 2477
เข้าใจว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่บันทึกข้างต้นกล่าวถึงนั้นเกิด
ขึ้นในช่วงหลังกบฏบวรเดช
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รายงานประชุมคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งหายไปจากสำนัก
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เราทราบจากบันทึกนี้ว่าอย่างช้าที่สุด
ประมาณกลางปี 2476 รัฐบาลมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีแรกนาขวัญแล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเห็นต่อวาระของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังว่า จะให้มีพระราชพิธีนี้ต่อไปอีก 1 ปี ส่วนปีต่อๆ ไปจะให้เทศบาลรับผิดชอบ สำหรับการจัดพระราชพิธีในปี 2477 ให้กระทรวงวังเป็นผู้กำหนดสถานที่และผู้เป็นประธานในพิธี และให้ติดต่อประสานงานร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐการ[2]
ข้อเสนอของนายทวี บุณยเกตุ
ก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาตกลงในวันที่ 27 มีนาคมให้ทำพิธีแรกนาขวัญต่อไปอีกหนึ่งปีนั้น นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาว่า จะยกเลิก คงไว้ หรือปรับเปลี่ยนพระราชพิธีแรกนาขวัญอย่างไร จาก “บันทึกเรื่องพิธีแรกนาขวัญ” ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นายทวีเห็นว่ายังไม่ควรยกเลิกพิธีนี้ แม้ว่า “ในสมัยนี้การศึกษาได้เจริญขึ้น เมื่อพูดกันถึงประโยชน์แล้ว การแรกนาขวัญในสมัยนี้ก็ไม่สู้จะมีนัก นอกจากจะถือกันเป็นเคล็ดเท่านั้น” นายทวีเสนอให้รัฐบาลจัดการประกวดกสิกรรม อุตสาหกรรม และหัตถกรรม ควบคู่ไปกับพิธีแรกนาขวัญ ข้อเสนอของนายทวีไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวพระราชพิธีแรกนาขวัญโดยตรง แต่เป็นการเน้นไปที่การประกวดดังกล่าวให้ได้ผลเป็นจริง “การประกวดเช่นว่านี้เราเคยมีกันอยู่เสมอๆ แทบทุกปีแล้ว แต่วิธีการเท่าที่เป็นอยู่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สู้จะได้ผลนัก” น่าเสียดายที่ไม่พบว่าคณะรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรต่อข้อเสนอของนายทวี เมื่อขึ้นปีใหม่ คณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบร่างกำหนดการพระราชพิธีแรกนาขวัญประจำปี 2477 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง มีการจัดพระราชพิธี 2 วัน วันแรกสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จประกอบพิธีสงฆ์ที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ทรงเจิมพระยาและเทพีแรกนา วันที่สองทำพิธีแรกนาที่ทุ่งพญาไท มีการเสี่ยงทายผ้านุ่ง ขบวนไถ เสี่ยงทายของกินพระโค ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระราชพิธีที่จัดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์[3]
ให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา
ต่อมา ในปี 2477 รัฐบาลมีท่าทีจริงจังกับการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีแรกนาขวัญมากขึ้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้มีการจัดพิธีขึ้นในทุกจังหวัดแทนการจัดเฉพาะ ในพระนครเช่นเดิม ที่สำคัญคือ มีการตกลงให้เปลี่ยนแปลงใจกลางของพระราชพิธี
ปรึกษาเรื่องงานพระราชพิธีแรกนาขวัญ
ที่ประชุมตกลงว่า งานพระราชพิธีแรกนาขวัญสำหรับปีต่อๆ ไป ควรให้ทุกๆ จังหวัดทำการแรกนา ผู้ที่จะทำการแรกนาให้เลือกเอาชาวนาผู้ที่ทำนาตามหลักวิทยาศาสตร์ที่กรมเกษตร์วางไว้ในการกสิกรรม และในการนี้ควรมีรางวัลให้แก่ผู้ที่ทำการแรกนาด้วย โดยตั้งเงินรางวัลไว้ในงบประมาณ ให้กระทรวงเศรษฐการรับเรื่องไปดำริต่อไป[4]
ประมาณสองเดือนหลังจากได้รับมอบหมาย พระยาศรยุทธเสนีย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ได้จัดทำบันทึก
“รูปพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่จะทำทุกจังหวัด” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ในบันทึกดังกล่าว
ความแตกต่างสำคัญจากพระราชพิธีสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือ
การกำหนดให้มีการจัดพิธีแรกนาขวัญขึ้นในทุกจังหวัด
ให้ชาวนาเจ้าของข้าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดของจังหวัดนั้นเป็นผู้
แรกนา และ “ควรเชิญภรรยาหรือญาติของผู้แรกนา” เป็นนางเทพีในด้านพิธีกรรม บันทึกของกระทรวงเศรษฐการเสนอให้มีพิธี 2 วัน วันแรกมีการสวดมนต์แบบพุทธ การอ่านประกาศเทวดา และการเจิมผู้แรกนาโดยข้าหลวงประจำจังหวัด วันที่ 2 เป็นการแห่และพิธีแรกนา อย่างไรก็ตาม ควบคู่ไปกับการเสนอให้ปรับเปลี่ยนพระราชพิธี บันทึกได้เสนอให้มีการจัดประกวดและแสดงผลผลิตทางการเกษตร การหัตถกรรม และพาณิชยกรรม และเห็นได้ชัดว่าบันทึกให้ความสำคัญกับการจัดประกวดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเสนอให้จัดเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดเป็นเวลา 3 วัน ให้ตัดสินการประกวดในวันแรกเพื่อคัดเลือกผู้ชนะมาเป็นผู้แรกนา บันทึกได้เสนอขั้นตอนการประกวดอย่างละเอียด ทั้งเกณฑ์การตัดสิน งบประมาณ คณะกรรมการตัดสิน รวมทั้งประวัติข้าวพันธุ์ที่สนับสนุนให้ชาวนานำเข้าประกวด[5]
เมื่อคณะรัฐมนตรีนำบันทึกข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการเข้าพิจารณา ได้ส่งต่อไปให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวังพิจารณาให้ความเห็น (เพราะกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวข้องกับการสั่งการจังหวัด และกระทรวงวังเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ในงานพระราชพิธีนี้ควรให้ผู้แทนราษฎรเข้าร่วมด้วย”[6]
ทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการ เสนอความเห็นกลับมาในอีกเกือบ 2 สัปดาห์ถัดมา
กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้ว ขอเสนอความเห็นดั่งนี้ คือ
๑. การที่จะจัดให้มีงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีต่อๆ ไปทุกจังหวัดนั้น ดีมาก
๒. ผู้กระทำการแรกนาขวัญ ควรจะเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้น
๓.
กำหนดเวลาจำเป็นต้องเลื่อนให้เหมาะกับพื้นภูมิประเทศและเมื่อผู้แทนราษฎรจะ
เป็นผู้แรกนาขวัญแล้ว
ก็ควรจะมอบให้ไปกระทำการปรึกษาหารือพร้อมกับคณะกรรมการจังหวัด
พิจารณาดูว่าจะสมควรกำหนดวันเดือนปีใด
๔. สถานที่แรกนานั้น เมื่อผู้แทนราษฎรเป็นผู้แรกนาแล้ว ก็จะได้ปรึกษาหารือถึงสถานที่แรกนาต่อไปด้วย
๕. การที่ดำริจะให้รางวัลแก่ผู้ที่นำเข้ามาประกวด และได้รับรางวัลเลิศของจังหวัดนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่ง
ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
หลวงประดิษฐมนูธรรม (ลายเซ็น)
ให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา เท่ากับเล่นละครตลก
ทางด้านของกระทรวงวัง เมื่อได้รับหมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ได้นำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้ทำหนังสือแจ้งพระดำริมาถึงนายกรัฐมนตรี ดังนี้
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๗
เรื่อง งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง เรียน นายกรัฐมนตรี
หนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ว.๙๓๖๖/๒๔๗๗ ลงวันที่ ๒๔ มกราคมปีนี้
ได้รับทราบแล้ว เรื่องนี้เนื่องด้วยอยู่ในแบบแผนประเพณีเดิม
ข้าพเจ้าจึ่งได้นำความกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพื่อขอประทานพระดำริ ก็โปรดประทานพระดำริอันเป็นหลักของพิธีนี้มาว่า
จะให้ความ
เห็นในชั้นนี้ได้แต่เพียงรูปการ คือว่าการพระราชพิธีจรดพระนังคัลนั้น
หมายความว่าองค์พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหษีเสด็จลงทำนาในต้นฤดูฝน
ชักนำราษฎร์ให้ช่วยกันทำกิน
ประเพณีอันนี้มีมาช้านานเมื่อนับพระเจ้าแผ่นดินเป็นแต่เพียงพ่อเมืองก็เป็น
การกลมเกลียวดี แต่เมื่อมานับพระเจ้าแผ่นดินมีฐานะสูงใหญ่ขึ้น
การที่จะเสด็จลงแรกนาด้วยพระองค์เองกับพระมเหสีนั้นก็เป็นการเกินสมควรไป
จึ่งได้เปลี่ยนธรรมเนียมเป็นโปรดตั้งผู้แทนพระองค์และแทนพระมเหษีให้ไปทำการ
แรกนา
ความคิด
กระทรวงเศรษฐการก็คือจะประกวดพันธุ์เข้า [ข้าว]
ให้รางวัลหาใช่คิดการแรกนาไม่ แต่อยากให้เป็นพิธีรีตองขึ้น
จึงคิดเอาพิงเข้ากับพิธีแรกนา แต่ข้า [พ] เจ้าเห็นว่าขวางอยู่
ถ้าหากจะทำอาจทำได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดั่งจะว่าต่อไปนี้
๑.
ถ้าจะทำพิธีแรกนา ควรมีคำสั่งตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด
เป็นผู้แทนพระองค์ลงมือแรกนานำราษฎรทุกจังหวัดไป เช่นนั้นพอจะเข้าระบอบได้
ที่จะจัดให้ข้าหลวงประจำจังหวัดว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งชายชาวนาเป็นพระยาแรกนา ตั้งหญิงชาวนาเป็นนางเทพีนั้น เป็นการเท่ากับเล่นละครตลก
๒.
เจตนาของกระทรวงเศรษฐการก็มีอยู่ที่จะตั้งการประกวดพืชน์ผลแสดงการกสิกรรม
และจะแห่ผู้ชะนะการประกวดให้เป็นเกียรติยศ
อาจแห่เลียบรอบจังหวัดได้โดยไม่ต้องอาศัยพิธีแรกนาเลย
๓.
หรือจะทำทั้งสองประการเช่นกล่าวมาแล้วนั้นรวมกันก็ได้
คือข้าหลวงประจำจังหวัดทำการแรกนาและในพิธีแรกนานั้นจัดให้มีการประกวดพืชน์
ผลแห่งการกสิกรแจกรางวัลประกอบเข้าด้วย
เหตุใด ข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ จึงเป็นสิ่งที่ “เท่ากับเล่นละครตลก” ในสายพระเนตรของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นได้ชัดจากข้อความตอนต้นของหนังสือ สำหรับพระองค์แล้ว พิธีแรกนาขวัญเป็น พระราชพิธี ที่ดำเนินการโดยกษัตริย์หรือตัวแทนของกษัตริย์ พระองค์ไม่ทรงขัดข้องหากรัฐบาลคิดจะให้มีการจัดพิธีในทุกจังหวัด สิ่งสำคัญสำหรับพระองค์ก็คือ ต้องให้ข้าหลวงประจำจังหวัดในฐานะ ผู้แทนพระองค์ เป็นผู้แรกนา เพราะจะยังทำให้พิธีแรกนาขวัญมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางต่อไปนั่นเอง
เมื่อได้รับทราบพระดำริ ไม่มีการบันทึกไว้ว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไร ที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงเศรษฐการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง[8] แต่บันทึกข้อเสนอของพระยาศรยุทธเสนีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ (แยกตัวมาจากกระทรวงเศรษฐการและยกฐานะเป็นกระทรวง) ที่ส่งกลับมาหลังจากนั้น มีเพียงรายละเอียดของการประกวดผลผลิตทางการเกษตรและหัตถกรรม ซึ่งมีเนื้อหาราวกับคัดลอกบันทึกข้อเสนอเดิมของกระทรวงเศรษฐการ และไม่มีข้อเสนอปรับเปลี่ยนพระราชพิธีแรกนาขวัญแต่อย่างใด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงว่า “งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นให้คงมีในกรุงเทพฯ ไปอย่างเดิมก่อน ส่วนเรื่องการประกวดพรรณข้าวให้กระทรวงเกษตราธิการกับกระทรวงมหาดไทยไป ปรึกษาหารือกัน”[9] พิธีแรกนาขวัญของปี 2478 จึงยังคงมีลักษณะเหมือนกับพระราชพิธีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป[10]
เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ยืนยันความคิดปรับเปลี่ยนพิธีแรกนาขวัญให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา แต่กลับยอมตามพระดำริของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2476 ที่เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องพระราชพิธีแรกนา ขวัญ จนถึงเดือนเมษายน 2478 ประมาณ 1 ปีสุดท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการปิดสภาผู้แทนราษฎร การยึดอำนาจคืนของคณะราษฎร กรณีกบฏบวรเดช พระปกเกล้าเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ จนถึงจุดแตกหักที่การสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม 2477 คณะรัฐมนตรีนำเรื่องพระราชปรารภเกี่ยวกับการสละราชสมบัติเข้าที่ประชุม ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม พยายามเจรจาผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่งผู้แทนไปเฝ้ารัชกาลที่ 7 ที่ประเทศอังกฤษในเดือนธันวาคม การตัดสินใจพิจารณาข้อเสนอให้ชาวนาเป็นผู้แรกนาและข้อทักท้วงของผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ของคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 เป็นเวลาที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจ “แตกหัก” กับรัชกาลที่ 7 ไปแล้ว เพราะ 2 วันก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมลับเกี่ยวกับการสละราชย์
เรื่องพระราชดำรัสตอบบันทึกอันสุดท้าย
ปรึกษาเรื่อง
ราชเลขานุการในพระองค์ทรงนำส่งโทรเลขของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
ส่งที่กรุงลอนดอนวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗
เสนอพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอบบันทึกของรัฐบาลอันสุดท้าย
สรุปความว่าขอให้รัฐบาลกราบบังคมทูลตอบคำขอให้แน่ชัดว่าข้อใดยอมได้หรือไม่
ได้
ที่ประชุมตกลง
กันเป็นเอกฉันท์ให้กราบบังคมทูลไปโดยผ่านทางราชเลขานุการในพระองค์ว่า
เรื่องนี้รัฐบาลได้กราบบังคมทูลตอบอย่างชัดเจนแล้ว
และเมื่อรัฐบาลได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชประสงค์ก็ปรากฏตาม
รายงานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทูลเกล้าฯ
ถวายไปแล้วนั้นว่าเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแน่นอนแก่สภาฯ สภาฯ
เห็นชอบด้วยแล้วจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันให้ผ่านระเบียบวาระไป
เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึ่งไม่มีอะไรที่จะกราบบังคมทูลเพิ่มเติมอีก[11]
ในเมื่อรัฐบาลตัดสินใจแตกหักกับทางราชสำนักในประเด็นสละราชสมบัติแล้ว สำหรับกรณีพระราชพิธีแรกนาขวัญจึงไม่น่าจะต้องยอมตามพระดำริของผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้คงยังไม่สามารถตอบให้กระจ่างได้จนกว่าจะพบหลักฐานที่แน่ชัดต่อไป
พบกับ “พิธีแรกนาขวัญมิใช่เป็นงานพระราชพิธีทางไสยศาสตร์ ไม่เป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน: ข้อเสนอปรับเปลี่ยนพิธีแรกนาขวัญในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรยุคต้น” เร็วๆ นี้
[1]หนังสือเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 มีนาคม 2476
[2]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ 2) ครั้งที่ 31/2476 วันอังคารที่ 27 มีนาคม 2476
[3]รายงาน
ประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2477 วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2477
ดูรายละเอียดพระราชพิธีครั้งสุดท้ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ที่
“พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (15 พฤษภาคม 2475): 542-545.
[4]รายงาน
ประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 19/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477)
วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2477 (สะกดตามต้นฉบับและขีดเส้นใต้ในที่นี้)
[5]บันทึกดังกล่าวแนบมากับหนังสือของนายทวี บุณยเกตุ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2476
[6]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 49/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477) วันพุธที่ 23 มกราคม 2477
[7]หนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ถึง นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2477
[8]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 64/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477) วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2477
[9]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่8/2478 วันพุธที่ 24 เมษายน 2478
[10]ที่
ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกำหนดการของกระทรวงวังในการประชุมครั้งที่
11/2478 วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2478 พิธีมีขึ้นในวันที่ 8-9 พฤษภาคม
[11]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (ลับ) ครั้งพิเศษที่ 11/2477 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2477
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น