บทความจาก ออน เดอะ ไบร๊ท์ ไซ้ด์ by rayib
ขอเปิดเบิ่งในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับสิทธิทางการเมือง
(อันเป็นสิทธิมนุษยชนแขนงหนึ่ง) ว่าด้วย
ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนถึงขั้นมีประชาชน (เสื้อแดง) ไปชุมนุมเรียกร้องให้มีการปลดกัน
และจดหมายเหตุของภาคีฉบับประจำเดือนพฤษภาคมนี้ได้นำเสนอ วิธี 'ล้ม'
อย่างชอบธรรม เอาไว้อย่างแยบยล
ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญทำอะไรถึงมีคนเรียกร้องให้ปลด
และมีคนเห็นว่าต้อง ‘ล้ม’ เพื่อให้ไม่เยิ่นเย้อตามโจทย์
ผมขอผลักภาระให้ไปถาม อจ. สุธาชัย
ยิ้มประเสริฐ ดู ท่านเขียนถึง ตลก. ไว้ละเอียดตั้งแต่เริ่มนิสัยเสียจนมาลงท้ายทำตัวเห้..ที่นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
ซึ่ง ประชาไทออนไลน์
คัดมาช่วยแพร่กระจายอีกทอด
ผลการชุมนุมไล่ ตลก. โดยกลุ่มวิทยุชุมชน หรือ กวป.
ที่ทราบกันอย่างเป็นทางการว่า นปช. ไม่เอาด้วย
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พรรคเพื่อไทยไม่รู้ไม่ชี้
ถึงจะมีคนในรัฐบาลหลายท่าน รวมทั้ง ‘ผู้ใหญ่’ ในพรรคต่างเห็นว่าเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
ท้ายที่สุดการชุมนุมก็ต้องถอยลงตามทำนอง เหลือไว้แต่กระแส
และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ฟ้องประชาชน และฟ้องโลกว่า ตลก.
มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามตัวบทกฏหมาย หากแต่วินิจฉัยความตามต้องการของ ‘ตัวกู’ เป็นที่ตั้ง
เป็นเหตุให้ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันกว่า ๓๐๐ คน จับมือกันซักค้านศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการเล่นบทผู้ถืออาญาสิทธิ์สูงสุดแห่งชาติด้วย ‘ถ้อยอ้าง
ค่างโหน’ พระปรมาภิไธย และพระบรมเดชานุภาพ
อ้าแขนรับคำร้องของ ส.ว. สรรหา ที่นำโดยนายสมชาย แสวงการ
ให้พิจารณาสั่งห้ามข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ในสภา กลุ่มสมาชิกรัฐสภานำโดยนายดิเรก
ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และนายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ที่รวมหัวกันซักค้านศาล
รธน. ออกแถลงการณ์ให้เหตุผลชัดเจนตามครรลองแห่งกฏหมาย และรัฐธรรมนูญว่า
ศาล รธน.
ไม่มีอำนาจตีความเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ
ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ นั้นเองระบุไว้
ศาลจะรับคำร้องได้ต่อเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของอัยการสูงสุดก่อนแล้วเท่านั้น
มิหนำซ้ำ ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญสองในสามคนที่ลงมติรับคำร้องเรื่องนี้
คือนายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ นั่นก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญ
๒๕๕๐ ที่สภาจะทำการแก้ไข เนื่องเพราะเป็นอดีต ส.ส.ร. ผู้ร่วมร่าง รธน. ฉบับนี้ ตามหลักจริยธรรมของตุลาการแล้วต้องถือว่า
ตลก. ทั้งสองกระทำความผิดถึงขั้นปลดออกได้
ในแง่ของตัวบทกฏหมายเป็นที่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญ ‘เอาข้างแถ’
ในเรื่องมาตรา ๖๘ นี้เป็นครั้งที่สอง
ครั้งแรกรับคำร้องของน้องรักในพรรคประชาธิปัตย์ข้ามหน้าอัยการสูงสุด
แล้วตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑
ของรัฐสภาขัดต่อการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ให้ระงับยับยั้งการแปรญัตติวาระสามไว้ แถมมีคำแนะนำให้ทำการแก้ รธน. เป็นรายมาตราแทน
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง
เมื่อรัฐสภาทำการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราใน ม. ๖๘ ศาล รธน. (ด้วยเสียง ๓ ใน ๕
ซึ่งซักค้านได้อีกว่าองค์ประชุมไม่เหมาะสม คือ ตลก. หายไปสี่) ก็รับคำร้องข้ามหัวอัยการสูงสุดแบบเดียวกันอีกว่าแก้ไม่ได้
ซึ่งทั้งมาตรา ๖๘ และมาตรา ๒๙๑
ถ้าให้นักกฏหมายมหาชนตีความกันละก็ ล้วนเห็นเป็นเสียงเดียวว่ามีทั้งเจตนา
มีทั้งนัยยะแห่งระเบียบกฏหมาย (Rule of Law หรือนิติธรรม) ว่า อำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาเท่านั้น
ถึงศาล รธน. จะมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่ก้าวล้ำเข้าไปตีความเรื่องการแก้ไข
รธน. ด้วย
รวม
ความว่าตุลาการศาล รธน. ชุดนี้นี่แหละคือตัวปัญหา
เพราะหลายครั้งหลายหนตีความให้เป็นคุณแก่พวกพ้องน้องรักในพรรคประชาธิปัตย์
และเครือข่ายพันธมิตรภาคีประชาชนเพื่อธรรมาธิปไตยกับกองทัพปลดแอก
ประชาธิปไตย
ที่ขณะนี้จับจองพื้นที่สนามหลวงปักหลักอยู่กินประดุจค่ายผู้ลี้ภัย
โดยนายชัยวัฒน์ สินสุวงศ์
แกนนำบอกว่าจะไม่ถอยจนกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะออกไป
คงเตรียมการกันไว้ว่าจะอยู่นาน |
แม้ว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญรวมทั้งศาล รธน. มักมีปัญหาแบบเดียวกัน
คือนอกจากมีที่มาเป็นเด็กสร้างสวมใส่โดยคณะรัฐประหาร คมช. แล้วยังมีบุคคลากรที่แสดงอาการเลือกข้าง
ให้ท้ายพรรคการเมืองชื่อประชาธิปไตยแต่ใจราชานิยมที่ผันตัวเองไปเป็นขบวนการคัดง้างต่อต้านทักษิณ
และชินวัตรเป็นสรณะ
ทว่าปัญหาในทางโครงสร้างนั้นแก้ไขได้ด้วยการใช้เวลา
“เผาให้ร้อนแล้วตีให้เข้ากรอบ” แต่บุคคลากรอันเปรียบประดุจ ‘สนิม’ ที่แม้จะเกิดแต่เนื้อใน ก็ยังขูดลอกออกให้เนื้อเหล็กสะอาดก่อนนำไปเผา
และตีได้ ดังนี้ผมจึงเห็นดีกับบรรดา ส.ส.-ส.ว. ที่เข้าชื่อกันค้านศาล รธน. ที่จะยื่นถอดถอน
ตลก. ทั้งคณะ
เพียงแต่มีข้อกังขาในการใช้มาตรา ๒๗๔ ของวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้โดยอาศัยเนื้อความตามมาตรา ๒๗๐ และโดยการร้องเรียนของสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวน
๑ ใน ๔ ตามมาตรา ๒๗๑ แต่การลงมติถอดถอนนั้นให้ถือคะแนน ๓ ใน ๕ เป็นเครื่องตัดสิน
ซึ่งในจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น ๑๕๐ คน
มาจากการเลือกตั้ง ๗๖ คน สรรหา (หรือแต่งตั้ง) อีก ๗๔ คน นับว่ายากที่จะเอาชนะได้
แม้การลงมติกำหนดให้ทำโดยคะแนนลับก็ตาม
ดังนั้นการถอดถอน ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญจึงจำต้องใช้สามประสาน
คือใช้มาตรา ๒๗๑ ให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวน ๑ ใน ๔ วุฒิสภาอีกจำนวน ๑ ใน ๔
กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า ๒ หมื่นคน เป็นผู้ร้องขอ
เพื่อให้วุฒิสภาดำเนินการพิจารณาตัดสินตามมาตรา ๒๗๔
ทั้งนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์
และพรรคเพื่อไทยจักต้องออกมาทำการรณรงค์สนับสนุนสามประสานนี้ด้วยอย่างเต็มที่
เพื่อให้ปรากฏโจ่งแจ้งว่าเป็นความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ
การออกเสียงลงมติด้วยคะแนนลับของสมาชิกวุฒิสภาจึงจะเป็นที่หวังได้ว่าสะท้อนความต้องการของประชาชนทั้งมวล
ไหนๆ ก็ไหนๆ ในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์กล้าหาญถึงขนาดปล่อยให้
ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกโรงซักค้านศาลรัฐธรรมนูญ
และนายกรัฐมนตรีหญิงไปปาฐกถาที่อูลานบาตาร์ประจานการรัฐประหาร
และการเข่นฆ่าประชาชนในประเทศไทยแล้วละก็ กล้าต่อไปอีกนิดผลักดันการถอดถอน ตลก.
ศาลรัฐธรรมนูญทั้งชุดให้สำเร็จ อนาคตทางการเมืองจึงจะแจ่มใส
อย่ามัวกระมิดกระเมี้ยน ‘ชักตื้นติดกึก
ชักลึกติดกัก’ อยู่อีกเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น