แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ประสบการณ์ในทวีตภพ

ที่มา ประชาไท


          
‘ประชาชน ชาวอเมริกันได้กลายเป็นตำรวจทางความคิดของตนเอง และกำจัดข่าวที่ไม่พึงประสงค์หรือที่มีลักษณะไม่เป็นที่ต้องการอย่างมี ประสิทธิภาพจนแม้กระทั่งหน่วยเซ็นเซอร์ของรัฐบาลและตัวแทนแก้ต่างให้กองทัพ ยังอดอิจฉามิได้’
‘American people have become their own thought police, purging the news of unwanted and unwelcome features with an efficiency that government censors and the military flacks can only envy.”
  

Michael Massing,  “Our Own Thought Police,” What Orwell Didn’t Know: Propaganda and the New Face of American Politics


แม้จะมีการถกเถียงเรื่องมาตรา112 อย่างเข้มข้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงอย่างจริง จังนัก ผู้เขียนได้มีโอกาสถกเถียง แลกเปลี่ยน และเรียนรู้จากคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ที่อาจเรียกสั้นๆ ว่า คนคลั่งเจ้า ทางทวีตภพ (น่าสนใจในแง่ที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มิได้ใช้ชื่อนามสกุลจริง พวกเขาจึงสามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างค่อนข้างเต็มที่) เป็นเวลาปีกว่า จึงขอเสนอความเห็นพอเป็นสังเขปในบทความนี้  (ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่รวมถึงคนรักเจ้าที่มีเหตุผล และบรรดาคนและองค์กรที่ประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเพื่อหวังประโยชน์ทาง การเมือง เศรษฐกิจ หรือทางสังคมเป็นหลัก และเป็นปัจจัยสำคัญในการคงไว้ซึ่งวงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเช่นกัน)
 
คำ ว่า “คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง” หรือที่อาจเรียกสั้นๆ แต่มีนัยลบกว่าคือ “คนคลั่งเจ้า” นั้น หมายถึงผู้ที่ยินดีและต้องการเสพแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทนกับความเห็นที่แตกต่างเรื่องเจ้าไม่ได้ และมักมีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง (หรือแม้กระทั่งใช้คำหยาบ) และเกลียดชังผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ม.112  และสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งสนับสนุนการปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนผ่าน ม.112 อย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากผู้ที่รักเจ้าอย่างมีเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ยอมรับว่า ม.112 มีปัญหาบางส่วน เช่น การกำหนดให้ผู้ใดแจ้งความกล่าวโทษก็ได้ หรือมองว่าโทษนั้นหนักเกินไป และรู้สึกเสียใจที่มีคนต้องตายในคุกภายใต้ ม.112 อย่างอากง ในขณะที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงรู้สึกสะใจกับการตายของอากงและอยาก เห็นโทษ ม..112 หนักกว่าปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ

ทำไมประชาชนจำนวนหนึ่งจึงรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง?
1) ภายใต้ ม.112 ประชาชนทั้งสังคมถูกป้อนแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องทุกวัน

สังคม ไทยในปี พ.ศ. 2556 หรืออย่างน้อยตั้งแต่ยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการกลับมาสนับสนุนการเชิดชูบทบาทกษัตริย์อย่างจริง จังภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เต็มไปด้วยการประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ [1]
  
ทุก ค่ำคืน ตึกใบหยก ตึกที่สูงที่สุดในประเทศ จะมีตัวอักษรบนจอ LCD ยักษ์ถวายพระพรซ้ำๆ สลับกับการโฆษณาสินค้าต่างๆ นานา สามารถมองเห็นได้จากที่ไกลหลายกิโลเมตร สถานีทีวีเคเบิล 24 ชั่วโมง True Visions มีช่องพิเศษเฉลิมพระเกียรติชื่อ Royal TV ข่าวสองทุ่มในฟรีทีวี สถานีวิทยุที่ออกอากาศพระราชดำรัสของ ‘ในหลวงของเรา’ ทุกวันๆ ละหลายเวลา ร้านหนังสืออย่างร้านหนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหนังสือเทิดทูนเจ้ารวบ รวมขายเป็นแผนกแยกต่างหาก สติ๊กเกอร์ยักษ์ติดผนัง กระจกสูงหลายชั้นหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ การให้ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวในสถาบันการศึกษาทุกระดับ การจัดงานเทิดพระเกียรติสารพัด การติดป้ายเรารักในหลวงแบบถาวรขนาดใหญ่ตามบริษัทใหญ่ๆ อย่าง King Power การขายสติ๊กเกอร์และเสื้อยืดประเภท ‘เรารักในหลวง’ เพื่อการกุศล ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ในสังคมไทยปัจจุบัน

ข้อมูลเหล่านี้มี ปัจจัยเสริมจากประชาชน นักธุรกิจและนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่อาจเพียงประจบเจ้าเพื่อแสวงหาผล ประโยชน์ทางการเมือง และ/หรือ เศรษฐกิจสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยผลิตซ้ำวงจรการประจบเทิดทูนเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมต้องการรักษาไว้ซึ่งวงจรที่พวกเขาได้ผลประโยชน์
 
สื่อ กระแสหลักไทยเกือบทั้งหมดก็มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่แต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าอย่างถี่ๆ ซ้ำๆ และเซ็นเซอร์ข้อมูลและข่าวที่เท่าทันหรือเป็นลบจากภายในและภายนอกประเทศ และเป็นกลไกสำคัญของการผลิตซ้ำข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับกษัตริย์ แถมส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการคงไว้ซึ่ง ม.112 ที่ก่อให้เกิดการปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนด้วย

บ่อยครั้งที่คนรักเจ้า อย่างไม่รู้จักพอเพียงจะอ้างเพียงข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมเป็นเครื่อง ‘พิสูจน์’ ว่ากษัตริย์ไทยนั้นดีเลิศ จึงมิจำเป็นต้องตรวจสอบวิพากษ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่คนชั่วคนเนรคุณเจ้าและแผ่นดินเท่านั้นที่ต้องการวิพากษ์หรือด่าเจ้า

อย่างไรก็ตาม ลำพังการเสพข้อมูลด้านเดียวไม่น่าเป็นปัจจัยชี้ขาดตัวเดียว หากมีปัจจัยอื่นๆ ด้วยดังนี้


2) ความต้องการสร้างและรักษาไว้ซึ่งความเชื่อในอุดมคติเกี่ยวกับกษัตริย์โดยคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง
เป็น การไม่ง่ายที่จะสรุปแบบฟันธงว่าคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเป็นใครบ้าง อายุ ชนชั้น ระดับการศึกษา รสนิยม และความมุ่งหวังในชีวิตต่างจากคนที่ไม่คลั่งเจ้าอย่างไร ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยองค์ประกอบหลากหลาย และคนเหล่านี้พบได้ทั้งในหมู่ผู้ที่มีการศึกษามากเช่นเดียวกับผู้ที่มีการ ศึกษาน้อย หากคนส่วนใหญ่ที่เรียกว่าคนคลั่งเจ้าอาจเป็นคนชั้นกลางเสียเป็นจำนวนมาก และเสพข้อมูลด้านเดียวจากสื่อเป็นปริมาณมาก อนึ่ง มันยากที่จะตอบว่าทำไมคนๆ หนึ่งชอบข้าวต้มในขณะที่คนอีกคนชอบข้าวผัดทั้งๆที่เป็นพี่น้องมีพื้นฐาน คล้ายกันเสียด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยทางจิตวิทยาและอารมณ์มีความสำคัญยิ่ง
  
กว่า สองสามทศวรรษที่นักการเมืองถูกตรวจสอบ เปิดโปง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คนไทยจำนวนหนึ่งได้เกิดอาการหมดศรัทธา เบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งเกลียดชังนักการเมืองอย่างรุนแรง (อย่างที่จะสรุปในท้ายบทความ ส่วนหนึ่งของความเกลียดชังนักการเมืองก็เกิดจากการสร้างของเครือข่ายคนรัก เจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงด้วย ดังเช่นจะเห็นได้ในโคลงเปรียบเทียบเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตว่านักการเมืองทำ อะไรบ้างเมื่อเทียบกับในหลวง)
  
พวกเขาอยากจะเชื่อในสถาบันกษัตริย์ ที่มีแต่ด้านดีด้านเดียว มักทนความเห็นที่แตกต่างหรือเท่าทันเจ้ามิได้ และมักแยกไม่ออกระหว่างการหมิ่นเจ้า กับการแสดงความเห็นเท่าทันเจ้า รวมถึงมักแยกไม่ออกระหว่างคนเกลียดเจ้า คนเท่าทันเจ้าแต่อาจมิได้เกลียดเจ้า และประชาชนที่มีใจสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐนิยม ทั้งหมดถูกเหมารวมแบบง่ายๆ ว่าเป็นพวกล้มเจ้า – สำหรับคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงแล้ว ดูเหมือนกลุ่มคนทั้งสามประเภทเป็นคนล้มเจ้าและเป็นศัตรูของพวกเขา
  
“ผม ก็ไม่คิดว่าท่านคือ พระเจ้า แต่ผมเคารพมากกว่าพระเจ้า เพราะท่านมีตัวตน จับต้องได้” คือข้อความที่ @Thawaitchai013  ทวีตเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556  ถึงผู้เขียน คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงต้องการจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อ และสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อคือภาพในอุดมคติของความสัมพันธ์ระหว่างพสกนิกร ไทยกับกษัตริย์ และบรรดาข้อมูลที่แตกต่างเรื่องเจ้านั้นถือเป็นสิ่งที่คุกคามความเชื่อของ บรรดาคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง

หากพระเจ้าไม่มีจริง มนุษย์จำนวนหนึ่งก็จักยังคงสร้างพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงแต่ความดีงามและวิเศษ มหัศจรรย์เป็นเลิศอย่างสมบูรณ์ไว้เพื่อให้มนุษย์เชื่อถือยึดเหนี่ยว ความรู้สึกอยากมีความสัมพันธ์กับเจ้าในแบบอุดมคติของคนรักเจ้าอย่างไม่ รู้จักพอเพียงก็เช่นกัน พวกเขาต้องการอะไรที่จะสามารถยึดเหนี่ยวในระดับจิตวิญญาณแบบ ‘จับต้องได้’ อย่างที่ @Thawaitchai013 กล่าวข้างต้น พวกเขายึดเหนี่ยวเจ้าเหมือนเสพติดในความรักเจ้า และจะรู้สึกไม่พอใจหรือแม้กระทั่งโกรธเคืองมากเวลาถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ เรื่องนี้ หรือพบว่ามีคนที่ไม่ได้รักเจ้า [2]
 
ผู้ เขียนเคยลองทวีตไปเมื่อต้นปี 2556 ว่าผู้เขียนมิได้รักเจ้า ปรากฏว่าปฏิกิริยาตอบกลับจากหลายคนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงนั้นออก จะเต็มไปด้วยความรุนแรงเกลียดชังและหยาบคาย ดังขอคัดมาให้พิจารณาข้างล่างดังนี้:

@Saakuragl  ‘มึงไม่น่าเกิดมาให้หนักแผ่นดินไทยเลยว่ะ’
@Opor_4Ever  ‘แม่มันไม่น่าให้เกิดเลย เลวยิ่งกว่าสัตว์อีก’
@Highlovemarker ‘ประเทศไทยเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขครับ รับไม่ได้เลิกใช้แบ้งค์ไทย เลิกเรียกตัวเองว่าคนไทย’
@AnnYada  ‘เหี้ย @PravitR ไม่น่าเกิดเป็นคนไทยนะคะ’
@CHOCOLII ‘ถ้าคนรักในหลวงอย่างพวกฉันเป็นฟาสซิสต์ คนเนรคุณชาติอย่างแกก็เป็นซากพยาธิส้วมขี้ล่ะสินะ @PravitR’
@aonmann  ‘ตายๆไปเหอะลุง แผ่นดินจะได้สูงขึ้น’
@OhYes96707923  ‘ถ้าโหยหาเสรีภาพนักทำไมไม่ไปอยู่ที่อื่น มาอยู่ให้หนักแผ่นดินไทยทำไม ถ้าไม่รักพ่อก็หุบปากไปซะอย่ามาพ่นน้ำลายเน่าๆให้คนอื่นเขามาด่าเลย’
@SAiNiDa_B2uty  ‘คุณเป็นใครถึงพูดงี้คะ พ่อแม่ไม่ได้เป็นคนไทยหรือค่ะ พ่อแม่ไม่เคยสั่งสอนคุณเหรอว่าในหลวงคือผู้สร้างของคนไทย #โง่มากน่ะคุณ’
@ChikenSmile ‘ลุงค่ะ ไปตายเถอะค่ะ อย่าแย่งอากาศหมาเลยค่ะ เสียดายออกซิเจน’
@JuwKheeKak ‘ทวีตแบบนี้น่าไปเลียไข่พ่อมึงที่ดูไบนะไอ้สัตว์ ปว @PravitR’
@HyperChatz ‘@PravitR แม่งกากสัส’
@noomhippie ‘ควยเหอะ’
@minttnims ‘ไป ตาย ซะ…’
@krianfiction ‘มึงพูดได้ไง แต่มึงต้องไปพูดที่อื่น ไปตายที่อื่นด้วย’
@minilady_137 ‘@PravitR ไปอยู่ประเทศอื่นไป๊’


ตัวอย่าง ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงอารมณ์โกรธแค้นอย่างรุนแรง การใช้คำหยาบคายเช่น ‘เหี้ย’ ‘ควยเหอะ’ ‘เลวยิ่งกว่าสัตว์’ ‘ไอ้สัตว์’ ‘แม่งกากสัส’ และการสาปแช่งเช่น ‘ไปตายซะ’ ‘ไปตายเถอะค่ะ อย่าแย่งอากาศหมาเลยค่ะ’ โดยปราศจากความยับยั้งชั่งใจ รวมถึงการพยายามสร้างความเป็นอื่นให้กับผู้เขียนเช่น ‘พ่อแม่ไม่ได้เป็นคนไทยหรือคะ’ ‘เลิกเรียกตัวเองว่าคนไทย’ และการยึดติดวาทกรรมเรื่องเจ้าแบบอุดมคติเช่น ‘พ่อแม่ไม่เคยสั่งสอนคุณเหรอว่า ในหลวงคือผู้สร้างของคนไทย’ – เหล่านี้เป็นตัวอย่างอันชัดเจนของความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง [3]

ใน ขณะเดียวกัน คนรักเจ้าจำนวนมิน้อยใช้พื้นที่อธิบายตัวตนพวกเขาใน profile ของทวิตเตอร์ด้วยการแสดงความรักและจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น @love_pma และ @KophlnoSS เขียนในส่วนหนึ่งของ profile ว่า ‘รักในหลวง’ เป็นต้น ส่วนบางคนก็แสดงความเกลียดชังต่อผู้ที่ไม่รักเจ้าหรือพวกทักษิณใน profile เช่น @sapaonoi ที่เขียนใน profile ว่า ‘รักในหลวง, เกลียดแม้วและสาวก’ ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจมองได้ว่าคนเหล่านี้ต้องการภาคภูมิใจกับกษัตริย์อย่างเต็มที่โดย ปราศจากข้อสงสัยใดๆ เพราะประเทศไทยมีอะไรเพียงไม่กี่อย่างที่จะสามารถภูมิใจในระดับโลกได้ อันได้แก่ อาหารไทย การท่องเที่ยวไทย และมวยไทย ส่วนเรื่องธุรกิจขายเซ็กส์นั้นคนไทยจำนวนมากก็มิได้ภูมิใจอะไร กลับรู้สึกอับอาย ทั้งๆ ที่การขายกามเป็นอาชีพที่สุจริตชนิดหนึ่ง ต่างจากการขายวิญญาณของคนที่ต้องโกหกเพื่ออำนาจและ/หรือความร่ำรวย [4]

(บาง คนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมคนเท่าทันเจ้าจึงมิได้อยากภูมิใจในสถาบันกษัตริย์ คำตอบส่วนหนึ่งคงอยู่ที่การเข้าถึงข้อมูลเท่าทันเจ้าของพวกเขา และสภาวะทางอารมณ์และทางจิตของพวกเขา ที่ไม่เอาความภาคภูมิใจไปยึดตึดกับสถาบันกษัตริย์)

3) วัฒนธรรมอุปถัมภ์และการเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชน
วัฒนธรรม อุปถัมภ์แบบสมมติเรื่องพ่อลูกทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกอบอุ่นมั่นคงและ มีความสุขซาบซึ้ง เสมือนหนึ่งสังคมไทยเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมี ‘พ่อหลวง’ เสมือนบิดาของคนรักเจ้า ดังเห็นได้จากวาทกรรมเช่น ‘ถ้าไม่รักพ่อ จงออกจากแผ่นดินนี้ เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ’ ของนักแสดงที่มีชื่อเสียง พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และสติ๊กเกอร์รวมถึงเสื้อยืดต่างๆ  ผู้เขียนได้เคยแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า

ประชาชนผู้เชื่อว่า กษัตริย์คือพ่อหลวงของพวกเขา มองความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนผ่านแว่นตาของความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อกับลูก เกิดความผูกพันพึ่งพิงทางความคิดและจิตใจ และเสริมสร้างความรู้สึกในหมู่ประชาชน (ลูกๆ) ว่าการคิดเท่าทัน วิจารณ์ หรือไม่รักกษัตริย์ (พ่อ) นั้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เป็นการกระทำที่เลว อกตัญญู เช่นนี้แล้ว มาตรา 112 จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง “พ่อ-แม่” ไปโดยปริยาย [5]

การใช้กลไกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เอาเข้าจริงอาจมีอานุภาพมากกว่าการใช้กฎหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตยและป่า เถื่อนอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียอีก เพราะการตอกย้ำเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกซาบซึ้งถึงระดับ อารมณ์และจิตใจ และโกรธหากผู้ใดจะมาวิจารณ์หรือตั้งคำถามกับพ่อของพวกเขา แถมมันยังช่วยตอกย้ำ (reinforce) ว่า มาตรา 112 นั้นชอบธรรมแล้ว และทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมมี “ลูก” จำนวนหนึ่งที่ต้องการวิจารณ์พ่อ (กษัตริย์)
   
กฎหมายเปลี่ยนแปลง ได้ แต่ความรู้สึกแบบพ่อลูกนั้นหยั่งรากลึกถึงก้นบึ้งของจิตใจ และเมื่อประชาชนเชื่อว่าเป็นจริงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงแทบไม่ได้ ดั่งความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของพ่อ-ลูกที่แท้จริงทางสายเลือด (คำถามที่น่าสนใจคือคำถามที่ว่า ถ้าความสัมพันธ์สมมติแบบพ่อลูกแทบจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเท่าทันเจ้า และไม่มองตนเองอยู่ภายในกรอบความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น คำตอบอยู่ที่สติปัญญาและภาวะทางจิตของคนเหล่าที่มีความแตกต่างหลากหลาย มนุษย์มีความสลับซับซ้อนและมิได้มีปฏิกิริยาต่อข้อมูลแบบเดียวกันเหมือนกัน ไปทุกคน  อนึ่ง ผู้ที่อยากจะเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักพร้อมที่จะมองสิ่งที่ตนอยากจะเชื่อโดยปราศจากความคิดเชิงวิพากษ์แบบเป็น เหตุเป็นผล)
  
สื่อกระแสหลักและกระแสรองส่วนใหญ่ บริษัทห้างร้านต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอ็นจีโอ มักมีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ต่อสังคมจนเห็นเป็นเรื่อง “ปกติ” “เป็นจริง” อย่างมิควรต้องสงสัยใดๆ หากคุณเชื่อว่ากษัตริย์คือพ่อ คุณจะไม่รู้สึกอยากตั้งคำถามกับพ่อ แถมหน้าที่ของลูกที่ดีก็คือ การเชื่อฟังพ่อ (พระราชา) และแม่ (พระราชินี) และหากลูกคนใดไม่เชื่อฟัง ก็ดูผิดธรรมชาติ พวกเขาควรถูกประณาม ลงโทษ จองจำ หรือตัดออกจากการนับญาติอย่างถาวร โดยอาจถูกกล่าวหาว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทย และเป็นคนที่ต้องการทำลายหรือล้มล้างพ่อแม่ (ดูกรณี 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 เป็นตัวอย่าง) เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้อกตัญญูหรือทรพี เพราะไม่ว่าพ่อจะดีหรือไม่ ลูกก็ควรเชื่อฟังและเคารพรัก และในด้านตรงกันข้าม การทำอะไรเพื่อกษัตริย์ (พ่อหลวง) จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นและสนิทใจขึ้น เหมือนกับการบูชาคุณของบิดาแท้ๆ
 
นอกจากนี้ การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชนยังทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งมีมิติของความไม่เท่าเทียมและมีความตึงเครียดทางชนชั้นพร่ามัว ถูกกลบเกลื่อน ลบเลือนให้มองเห็นได้ยากยิ่งขึ้น  และกลายมาเป็นความสัมพันธ์เชิงครอบครัวแบบสมมติ ซึ่งเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความห่วงใยระหว่างพ่อ-ลูกแทน โดยที่ไม่จำเป็นต้องสงสัยในเรื่องชนชั้นหรือความไม่เท่าเทียม แล้วยังไม่จำเป็นต้องคิดเท่าทันหรือเรียกร้องความโปร่งใสเพื่อการตรวจสอบใดๆ เพราะแว่นตาของการมองแบบพ่อ-ลูก ไม่เอื้อให้ประชาชนรู้สึกหรือคิดเป็นอื่น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ประชาชนอีกมากยากจน แต่กษัตริย์ (พ่อหลวง) ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน หรือผู้คนมักไม่สงสัยว่า ในความสัมพันธ์แบบนี้ ทำไมสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงยังคงเก็บค่าเช่าที่จากประชาชนอยู่ …
 
หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า การถ่ายโอน (transplant) ลักษณะความสัมพันธ์พ่อ-ลูก สู่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกตอกย้ำเป็นพิเศษในทุกวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งวันเกิดของกษัตริย์กลายเป็น “วันพ่อ” เพื่อตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ คนไทยจำนวนไม่น้อยถือว่า 5 ธันวา เป็นวันที่พวกเขาจะใช้เวลากับพ่อบังเกิดเกล้าของพวกเขา รวมถึงอาจให้ของขวัญกับพ่อหรือกินอาหารมื้อพิเศษเพื่อทดแทนบุญคุณและเฉลิม ฉลอง “วันพ่อ” จนมีผลให้แม้กระทั่งบางคนที่คิดว่าตนคิดเท่าทันสถาบันฯ ก็ยังถือว่า วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันพ่อไปโดยไม่รู้ตัวและโดยปริยาย ถึงแม้พวกเขาจะยืนยันว่า “พ่อ” ของเขามีเพียงคนเดียว ซึ่งได้แก่บิดาโดยสายเลือด ที่พวกเขาจะไปกราบใน “วันพ่อ” วันที่ 5 ธันวาคมอยู่ดี (หรือถ้าพ่อแท้ๆ ของเขาและครอบครัวต้องการก็ไม่แปลก  เพราะมันก็สะท้อนความสำเร็จของการโยงวันที่ 5 ธ.ค.เป็นวันพ่ออยู่ดี)


บทสรุป
การ ที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงอ้างแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าจากสื่อกระแสหลักไทยที่ป้อนแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าภายใต้ ม.112 มีลักษณะเหมือนไก่กับไข่ เป็นวงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดยุติสิ้นสุด เป็นระบบนิเวศทางสังคมและทางวาทกรรม เรื่องนี้อาจเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากลองศึกษาทฤษฎีความสลับซับซ้อน (complexity theory) และทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) ที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศทางสังคมที่มีปัจจัยหลาย อย่างสัมพันธ์กัน เป็นห่วงโซ่แห่งปฏิกิริยา (chain reaction)
  
ตัวอย่าง อันหนึ่งของวงจรนี้ได้แก่ความเห็นของผู้ใช้ทวีตนาม @AmmMurder ซึ่งทวีตถึงผู้เขียนว่า “แล้วประวิตรไม่คิดหรอกเหรอว่า ปชช เสียงส่วนใหญ่ยังต้องการคงไว้ซึ่ง 112…” (12 มีนาคม 2556)
  
ทวี ตดังกล่าวเป็นความเห็นที่อ้างว่าคนส่วนใหญ่ต้องการคง ม.112 ไว้ แบบลอยๆ โดยมิได้ดูว่าประชาชนส่วนใหญ่ถูกป้อนแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาเป็นเวลากี่ทศวรรษแล้ว แท้จริงแล้วเราไม่มีวันรู้เพราะไม่มีการทำโพล และถึงทำโพลได้ ก็จะเป็นการทำโพลในสภาพที่สังคมมีแต่ข้อมูลด้านเดียวเผยแพร่ในที่สาธารณะ อย่างถูกกฎหมายมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ส่วนตัว @AmmyMurder เองก็เป็นผลผลิตของการรับและยึดกับข้อมูลด้านเดียวมาตลอดชีวิต และนี่คือตัวอย่างของวงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง
 
หากมองเป็นวงจรแบบ 1>2>3 แล้วกลับไป 1 ใหม่ เราจะเห็นดังนี้:
1) ประชาชนรับแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ ด้านเดียวเพราะ ม.112  > 2) ประชาชนเกิดความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง > 3) ประชาชนปกป้อง ม.112 ที่ทำให้พวกเขาได้รับแต่ข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง > กลับไปที่ 1) ใหม่อีกรอบ และเป็นวงจรไม่มีสิ้นสุด ไม่มีจุดเริ่ม ไม่มีจุดจบ (คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าไม่มี ม.112 คนคลั่งเจ้าจะเปิดใจรับข้อมูลอีกด้านหนึ่งหรือไม่ คำตอบคือ ส่วนใหญ่คงไม่ เพราะพวกเขามีความต้องการทางจิตอารมณ์ในการรักษาไว้ซึ่งภาพในอุดมคติของความ สัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม การคงไว้ซึ่ง ม.112 ทำให้พวกเขารู้สึกว่าความเชื่อของพวกเขาไม่ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง หรืออย่างน้อยผู้ที่ท้าทายก็ต้องทยอยถูกจองจำในคุก มันจึงทำให้พวกเขาอ้างถึงข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ง่ายและ ดูสมจริงยิ่งขึ้น และแม้สื่อต่างประเทศจำนวนมิน้อยก็มักเสนอข่าวว่าคนไทยเกือบทั้งหมดรัก เทิดทูนในหลวง ซึ่งเอาเข้าจริงก็พิสูจน์ไม่ได้ เพราะไม่มีการทำวิจัยเป็นระบบอย่างแท้จริง และถึงทำได้ มันก็จะเป็นการทำวิจัยหรือโพลในสภาวะที่สังคมไทยสามารถเผยแพร่แต่ข้อมูลด้าน บวกด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้น และประชาชนได้รับข้อมูลด้านเดียวผ่านสื่อกระแสหลักมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แล้ว)

ในสภาพเช่นนี้ แทบไม่มีพื้นที่สีเทาที่จะแสดงความเห็นเท่าทันเจ้าได้ หากคุณไม่ประจบหรือแสดงตนว่ารักเจ้า คุณก็มักจะถูกตัดสินตราหน้าว่าเป็นพวกล้มเจ้าหรือขี้ข้าทักษิณ ทุกอย่างถูกผลักไสไปแบบโลกทัศน์ขาวดำดีชั่ว นี่คือสิ่งที่เกิดกับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า ทั้งๆ ที่เจ้าตัวปฎิเสธ หลังจากจัดรายการตอบโจทย์เรื่องสถาบันกษัตริย์ทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอสโดยเชิญ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ส. ศิวรักษ์ มาโต้กันในเดือนมีนาคม 2556

ใน ความเป็นจริง คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงคงทราบว่ามีข้อมูลเท่าทันหรือแม้กระทั่งด้าน ลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต ใต้ดิน และในต่างประเทศ  (ตัวอย่างคือหนังสืออย่าง The King Never Smiles ของ Paul Handley และงานเขียนของ Andrew MacGregor Marshall และข้อมูลจาก WikiLeaks สารคดี ABC หรืองานเขียนของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล ตลอดจน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น) แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่เชื่อหรือไม่ก็ปฏิเสธการมีอยู่ของข้อมูลเหล่านี้
 
Eviatar Zerubavel ศาสตรจารย์ทางด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Rutgers ตั้งข้อสังเกตว่าในแง่จิตวิทยาแล้วการปฏิเสธการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่าง เกิดจากความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด  “เวลา [เรา] ตระหนักถึงบางอย่างที่เครียดเป็นพิเศษและคุกคามความรู้สึกที่ดีของจิตใจ เรามักสร้างเขื่อนเพื่อปกป้องตนจากการรับรู้ข้อมูลอันน่าสะเทือนใจ” [6]
 
Zerubavel พูดถึงกฎอย่างไม่เป็นทางการที่รักษาความเงียบงัน (informal code of silence) และบทบาทของสมาชิกในสังคมในการคงไว้ซึ่งการปฏิเสธความจริง [7] ซึ่งทำให้ผู้เขียนนึกถึงความคิดในหมู่คนรักเจ้า และโดยเฉพาะคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงว่า พวกเขาถือว่าเป็นสิ่งไม่สมควรยิ่งที่จะแสดงความคิดเห็นเท่าทันเจ้า หรือวิพากษ์เจ้าผู้มีพระคุณมหาศาลต่อประชาชนในมุมมองของพวกเขา พวกเขาเองจึงไม่ต้องการและต่อต้านการพูดเขียนอะไรที่เท่าทันหรือเป็นด้านลบ เกี่ยวกับเจ้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และมองว่าแค่คิดก็มิสมควรแล้ว ซึ่งบางคนในทวีตภพได้แสดงความเห็นเช่นนี้ต่อผู้เขียน

ในอีกมุมมอง Michael Massing ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงสงครามอิรัก ประชาชนอเมริกันเลือกที่จะปฏิเสธตนเองจากการรับรู้ข่าวสารและข้อมูลด้านลบ เกี่ยวกับกองทัพสหรัฐอเมริกาในอิรัก เพราะพวกเขาเชื่ออย่างลึกๆ ว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูกต้อง [8]

โดย สรุปแล้ว วงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมีส่วนสำคัญในการตอกย้ำวาทกรรมว่าด้วยความ เป็นไทยที่ถูกผูกติดกับความจงรักภักดีต่อกษัตริย์โดยมิต้องสงสัย ดังจะเห็นได้จากการที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมักถามผู้ที่ต่อต้าน ม.112 ว่าเป็นไทยหรือเปล่า - มันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างกันแทบสิ้นเชิง ระหว่างมุมมองเรื่องความจงรักภักดีต่อเจ้าชีวิตที่มีรากอยู่ในยุคสมบูรณาญา สิทธิราชย์ในอุดมคติ กับความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกเท่าทันและตรวจสอบ วิพากษ์กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมักไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยจำนวนหนึ่ง ถึง ‘เนรคุณ’ เจ้าได้เช่นนี้ และคนที่เท่าทันเจ้าก็อาจไม่เข้าใจคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเช่นกัน
 
คน รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงต้องการปฏิเสธข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับสถาบัน กษัตริย์เพราะมันคุกคามต่อความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าในแบบอุดมคติของพวกเขา แต่ ม.112 ที่พวกเขาสนับสนุนก็เป็นตัวทำให้สังคมไม่มีที่ๆ จะแสดง feedback เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง หากเต็มไปด้วยการประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ลึกๆ คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงอาจมิแน่ใจว่าจริงๆ แล้วประชาชนที่จงรักภักดีต่อเจ้าจริงๆ โดยมิได้หวังผลใดๆ หรือมิได้ทำไปตามกระแสสังคมนั้นมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แถมเรื่องอนาคตของสถาบันฯ หลังยุครัชกาลที่ 9 ก็มิสามารถถกเถียงอย่างโปร่งใสเปิดเผยตามความเป็นจริงได้เพราะกฎหมาย ม.112 ที่พวกเขาสนับสนุน คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงจึงมีความรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดระแวงอยู่ ลึกๆ และอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อของกฎหมาย ม.112 ที่ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนอย่างไม่รู้จักพอเพียง และเป็นเหยื่อวงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเช่นกัน

ความท้าทายต่อวงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงในยุคหลังรัชกาลที่ 9
แม้ คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงจำนวนมากจะมีลักษณะยึดติดตัวบุคคล กล่าวคือกับองค์รัชกาลที่ 9 แต่ปัจจัยอื่น เช่น กลุ่มคนและองค์กรที่ประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการ เมืองเศรษฐกิจและสังคมยังคงน่าจะคงอยู่ต่อไปในยุครัชกาลที่ 10 เพราะมันเป็นเรื่องคนประจบเจ้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง (สำหรับคนที่อาจมิได้รักเจ้าอย่างจริงใจ การประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง หรือถวายเงินเยอะๆ ทำให้พวกเขาได้หน้าตาทางสังคม ในขณะเดียวกันการตรวจสอบวิพากษ์พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ ซึ่งทำมิได้ภายใต้ ม.112 อาจเปิดช่องทางให้คนจำนวนหนึ่งหาผลประโยชน์ได้ ในขณะที่ประเทศอย่างอังกฤษ ราชวงศ์ถูกสื่อและประชาชนตรวจสอบเป็นประจำว่ามีผู้ใดหาผลประโยชน์จากสถานะ ของราชวงศ์หรือไม่ หรือมีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่)

มันจึง เป็นการยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับวงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอ เพียงในยุคหลังรัชกาลปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงบางส่วนก็เริ่มหันมาใส่เสื้อ ‘เรารักพระบรมฯ’ กันแล้ว


เชิงอรรถ
[1] ตัวอย่างล่าสุดเช่น นิตยสาร F3 ของไทยทีวีสีช่อง 3 ฉบับ 37 เดือนธันวาคม 2555 มีการเทิดทูนเจ้าว่าในหลวงทรงเป็นอัครศิลปินและทรงพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ดังนี้: ด้านจิตรกรรม ด้านประติมากรรม ด้านภาพถ่าย ด้านดนตรี ด้านหัตถศิลป์ ด้านวรรณศิลป์ ด้านวาทศิลป์ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม
[2] อ่านเรื่องมิติทางศาสนาของความรักเจ้าได้ใน ประวิตร โรจนพฤกษ์: มิติทางศาสนาของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง  http://prachatai.com/journal/2012/08/42074
[3] ใน ส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างความเป็นอื่นนั้น ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผู้เขียนไปพบปลาสวายที่ถูกตกเบ็ดนอนดิ้นรอหมดลมหายใจในกะละมังที่ท่า เรือสะพานกรุงธน ผู้เขียนทนดูไม่ได้เพราะความสงสารจึงรี่ไปขอซื้อปลาสวายสองตัวน้อยๆ เพื่อให้พรานจับปลาปล่อยมันกลับแม่น้ำ ในขณะที่ผู้อื่นที่อยู่ตรงท่าเรือมิได้สนใจอะไร ผู้เขียนมานึกได้ตอนหลังว่าในวัยเยาว์ ตนเคยเลี้ยงปลาสวาย และอาจผูกพันมองปลาสวายมิได้ ‘เป็นอื่น’ เมื่อเทียบกับผู้อื่นในที่นั้น
[4] นิตยสาร เปรียว (หน้า 44 ธ.ค.2555) กล่าวไว้ว่า ‘ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันพ่อแห่งชาติได้ อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก…’
[5] ดู ประวิตร โรจนพฤกษ์ “พลานุภาพการเปรียบกษัตริย์เป็น ‘พ่อ’ ของประชาชน’” http://prachatai.com/journal/2011/12/38111
[6] Eviatar Zerubavel,  The Elephant in the Room: Silence and Denial in Everyday Life (New York: Oxford University Press, 2006), p. 5
[7] Eviatar Zerubavel, p. 26, p. 71
[8] Massing, Michael,  “What Orwell Didn’t Know: Propaganda and the New Face of American Politics,”   In Szanto, Adras ed. What Orwell Didn’t Know: Propaganda and the New Face of American Politics (New York: Public Affairs, 2007), pp. 176-177

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น