"นายกฯ หญิงเดี๋ยวนี้น่ารักมากกว่าเดิมเยอะ ทั้งในรูปลักษณ์ และภาพลักษณ์"
บ่นความโดย ระยิบ เผามโน จาก http://tgdr.blogspot.com/
นับเป็นประวัติการณ์ตลอดเวลาสองปีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ที่นายกรัฐมนตรีหญิงกล่าวปาฐกถาอย่างตรงตามความจริงในประเด็นปัญหาปมเงื่อนทางการเมืองอันเป็นเหตุให้เกิดรอยแตกแยกภายในชาติ
แม้มีความพยายามเยียวยาก็ยังไม่เป็นผล
น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไปพูดในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๗ ของประชาคมประชาธิปไตย ที่อูลานบาตาร์
มองโกเลีย เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายนที่ผ่านมา
มีเนื้อหาลงลึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายทางการเมืองไทยช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะที่เธอบอกว่า “Let me share my story.”
“ในปี (ค.ศ.) ๑๙๙๗
ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งร่างขึ้นโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม เราทุกคนคิดว่ายุคใหม่ของประชาธิปไตยไทยมาถึงแล้ว
และจะเป็นยุคสมัยที่ไร้การรัฐประหาร
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น
รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งถึงสองครั้งสองหนด้วยเสียงส่วนใหญ่ถูกล้มลงในปี (ค.ศ.) ๒๐๐๖ ประเทศไทยเสมือนรถไฟตกราง และประชาชนคนไทยใช้เวลาเกือบ ๑๐ ปีกว่าที่จะได้เสรีภาพแห่งประชาธิปไตยกลับคืนมา
หลายคนที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้รู้ว่ารัฐบาลที่ดิฉันพูดถึงคือรัฐบาลที่พี่ชายของดิฉัน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
คงมิใช่เพียงแค่ข้อความในปาฐกถาข้างต้นเช่นนี้ที่ทำให้ผู้นำฝ่ายค้าน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาสวนทันควัน ใน ‘บลูสกาย’
รายการโทรทัศน์ดาวเทียมต่อต้านทักษิณของพรรคประชาธิปัตย์ว่า “สิ่งที่นายกฯ อ่านเป็นคาถาที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ใช้แสดงมาหลายปีเพื่อดึงแนวร่วมต่างประเทศสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง
เป็นการพูดดีใส่ตัวพี่ชาย”
แต่น่าจะเป็นเพราะประโยคที่บอกว่า “However, the people pushed on, and finally the
government then had to call for an election, which they thought could be
manipulated. In the end, the will of people cannot be denied. I was elected
with an absolute majority.”
ซึ่ง ดร.สมศักดิ์
เจียมธีรสกุล ตั้งข้อสังเกตุไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเขาว่า “..ก็ต้องหมายความว่า they ในทีนี้ คือ
รัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ "(จำ)
ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง...ซึงถ้าจะแปลเป็นไทยตรงๆ จะต้องแปลว่า "ซึ่งพวกเขา
(รัฐบาลที่แล้ว - คือ รัฐบาล ปชป.) คิดว่าตัวเองจะสามารถควบคุม
จัดการให้เป็นประโยชน์ (manipulate) แก่ตนได้"
ส่วนหนังสือพิมพ์แนวหน้า สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใกล้ชิดกับ
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ หนึ่งในอำมาตย์ศัตรูทักษิณของเครือข่ายขบวนการโหนเจ้า
(เข้าสเป็ค ‘Network Monarchy’ ดังที่ ดร.ปวิน
ชัชวาลพงศ์พันธ์
อธิบายไว้เมื่อคราวไปบรรยายที่นครชิคาโก้เมื่อเร็วๆ นี้)
ก็พาดหัวข่าวอย่างจัดจ้านสมกับเนื้อนาของการเป็นสื่อเล่นพวกทีเดียวว่า “เนรคุณประเทศ ปูอ่านโพย ด่าไทยให้ต่างชาติฟัง”
ในขณะที่หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ของเครือเนชั่น
กลุ่มสื่อสารมวลชนที่เคย (และยังเป็น)
ไม้เบื่อไม้เมากับทักษิณมาแต่ครั้งช่วงชิงไอทีวี แต่ภายหลังจากทักษิณถูกโค่นไปโดย
คมช. ได้รับสัมปทานจัดทำรายการข่าวให้แก่โทรทัศน์สาธารณะ
นัยว่าได้รับความเห็นอกเห็นใจจากหัวโจกอำมาตย์ในฐานที่เป็นคนบ้านเดียวกันนั้น
กลับเสนอข่าวพาดพิงถึงการจัดทำเนื้อหาปาฐกถาที่นายกฯ อ่านในมองโกเลียตอนหนึ่งว่า
“เห็นว่านายกฯ คุยกับคณะทำงาน
และนายสุรนันทน์บนเครื่องบินระหว่างบินไปมองโกเลีย นายกฯ บอกให้แก้ไข
อยากให้พูดให้เขียนให้ชัดเจน ตรงๆ ไปเลย ใส่ชื่อพี่ชายคือ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตรไปเลย รวมทั้งอยากให้พูดถึงคนที่ติดคุกจำนวนมากด้วยซ้ำ...ระหว่างการเดินทาง
5 ชั่วโมงบนเครื่องบินมีการแก้ไข.. ปริ๊นท์แล้วก็แก้
ในที่สุดจนได้เนื้อหาตามที่นายกฯ ต้องการ คือไม่ใช่ภาษาทางการทูต
และภาษาที่สวยงามของกระทรวงการต่างประเทศ”
มิใยที่นักวิชาการฝ่ายพวกคนเสื้อแดงอย่าง ดร. ปวิน และ
ดร.สมศักดิ์ เจียมฯ ซึ่งบทความในประชาไท กล่าวถึงว่าเป็น “สองนักวิชาการซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น
และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และนักโทษทางความคิดอย่างต่อเนื่อง”
ได้ติงกันไว้แต่เนิ่นๆว่า
“คงต้องรอดูต่อไปว่าสิ่งที่ยิ่งลักษณ์พูดจะเป็นแค่คารมหวานๆ (rhetoric) หรือไม่ ความเห็นส่วนตัวนะ ผมว่า ยิ่งลักษณ์คงเดินเกมเกี๊ะเซี๊ยะต่อไป สุนทรพจน์ที่มองโกเลียจัดทำเพื่อเสริมความชอบธรรมให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนหนึ่งอาจเพื่อเอาใจกลุ่มรักประชาธิปไตยในประเทศเท่านั้น” –ปวิน
และ “ถ้าคุณยิ่งลักษณะ และ
รัฐบาลซีเรียสกับสิ่งที่พูดในสปีช
โดยเฉพาะส่วนนี้นะครับ...แม้แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเหยื่อทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ติดคุกอยู่
(Even today, many political victims remain in jail.)...ผมว่า
รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็น่าจะออกเป็น พรก. ปล่อยนักโทษการเมือง (ตามข้อเสนอ นปช.)
ได้เลยด้วยซ้ำ” –สมศักดิ์ เจียมฯ
ถึงกระนั้นก็ยังมีนักวิชาการที่จัดได้ว่า ‘เห็นหัวอก’ “ผู้คนจำนวนมาก
(ที่) ได้เสียสละเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อปกป้องรักษา และสร้างความเป็นประชาธิปไตย”
อันน่าจะรวมถึง “ผู้เสียชีวิตถึง ๙๑
คนในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ” ดังคำปาฐกถาของนายกฯ
หญิงไทย ออกมาแซ่ซ้องกันใหญ่ อาทิ
ดร.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายจบจากฮาวาร์ดซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า
‘นักวิชาการอิสระ’
แล้วสร่างซาไปหลังจากเป็นที่โต้เถียงจากพวกนักวิชาการไม่อิสระ (ที่มี credentials ในเรื่องนักโทษการเมือง และเรื่องเขาพระวิหารบางคน)
แต่ในที่สุดบัดนี้ได้ข่าวว่า ดร.วีรพัฒน์มีตำแหน่งเป็นทางการฐานะ ‘ที่ปรึกษา’ รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานสภาฯ
(ไม่ทราบว่ารองฯ คนไหน)
ดร. วีรพัฒน์เขียนบนหน้าเฟชบุ๊คของเขาถึงปาฐกถาของ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นกลเกมการเมืองที่ "ไม่ธรรมดา
และอันตราย"
ที่ว่าไม่ธรรมดาคงจะตามที่ ดร.วีรพัฒฯเขียนว่า “การเมืองตอนนี้ หากมีใครหลวมตัวกลายมาเป็น ‘ข้ออ้าง’ ให้รัฐบาลบอกว่าการเมืองเดินต่อไปไม่ได้ ก็อาจมีการชิงจังหวะ ‘ยุบสภา’ แม้ผลวัดกระแสเลือกตั้ง กทม. และเชียงใหม่
อาจไม่โดนใจ แต่ก็ไม่ถือว่าหลุดเป้า”
ส่วนที่ว่าอันตรายก็คงเป็นตรงนี้ที่ว่า “แต่ถ้าใจร้อน มัดมาสอดไส้ทุกเรื่องไว้บนขบวนเดียวกัน หากไม่ระวัง
อาจตกรางได้ทั้งขบวนนะครับ”
นักวิชาการอีกท่านคือ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ที่เมื่อเร็วๆ นี้มีปัญหาจากพวกเสื้อแดงฮ้าร์ดคอร์
(ดูเหมือนเขาจะเรียกตัวเองกันว่า ‘เสื้อแดงเสรี’)
ที่มีนักรบไซเบอร์รุ่นเก๋าคนหนึ่งใช้นามอวตารว่า ‘บังสุกุล’ เป็นตัวเอ้ ซึ่งปรากฏว่างัดข้อกันจากผลงานบทความชุด “การเมืองว่าด้วยพลังงานไทย”
ของ ดร.พิชิตเรื่องเกี่ยวกับ ปตท.
ไม่ปรากฏว่า
ดร.พิชิตเป็นที่ปรึกษาของใครในรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือเปล่า แต่สิ่งที่
ดร.พิชิตเขียนไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเขาควรที่จะทำให้เสื้อแดงทั้งหลาย
ไม่ว่าจะสีเข้มสีอ่อนอย่างไรพอใจ เมื่อบอกว่า “การระบุว่า
รัฐประหาร (พ.ศ.) ๒๕๔๙ และการเข่นฆ่าประชาชนเมื่อพฤษภาคม ๒๕๕๓ มี ‘สาเหตุเดียวกัน’ และมีผู้บงการเป็น ‘กลุ่มเดียวกัน’ ชัดเจนที่สุด”
แต่ที่ ดร.พิชิตพยายามชี้ว่าปาฐกถาอูลานบาตาร์ของยิ่งลักษณ์เป็นสัญญานว่า “การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับพวกเผด็จการโบราณมาถึง ‘จุดเปลี่ยน’ แล้ว” นั้น ก็ยังคงต้องรอการพิสูจน์ด้วยการกระทำให้สอดคล้องกับถ้อยรจนา โดยไม่ต้องรอให้ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เริ่มในบัดนี้ขณะยังมีเวลาในอาณัติสมัยอีกสองปี
โดยมิต้องยื้อพะวักยักพะวงกับการวิเคราะห์เจาะไชของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ว่า “แต่ที่ลึกกว่านั้น มันล้อกับข่าววงใน ‘หน่วยเฝ้าระแวง’ เครือข่ายของอดีตนายกฯ
ทักษิณที่แฝงตัวอยู่ในหน่วยความมั่นคง ได้กลิ่นปฏิวัติโชยหึ่งมาวูบๆวาบๆ”
หรือมิพักต้องใส่ใจถึงขั้นตีโพยตีพายกับการเขียนข้อความต่ำทรามโจมตีนายกฯ
หญิงร้ายแรงบนหน้าเฟชบุ๊คของชัย ราชวัตร ทั้งที่ข้อความประโยคสั้นๆ
จากนักเขียนการ์ตูนชื่อดังคนนี้ ก่อให้เกิดอาการไหวสะเทือนอารมณ์ของคนจำนวนมากมาย
ไม่เฉพาะพวกเสื้อแดงที่ชื่นชมยิ่งลักษณ์
บางคนถึงกับปลงว่าสื่อมวลชนไทยเดี๋ยวนี้มาตรฐานจรรยาบรรณวัดกันด้วยเครื่องแกงแล้วหรือ
ชัย (นามจริง สมชัย กตัญญุตานันท์) เขียนข้อความว่า “โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว
แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” ถ้าไม่ลงรูปนายกฯ
หญิงของไทยประกอบข้อความเต็มพรืดไปหมด ก็คงพอแถว่าไม่ได้ว่าเป็นกะหรี่
แค่บอกว่าหญิงคนชั่วเร่ขายชาติ
แม้อย่างนั้นชัยก็โดนตอกกลับไปหลายด้าม อย่างเช่น
จอนคูโบต้า แห่งเว็บบอร์ดไอทีเอฟโต้ว่า “กะหรี่แค่เร่ขายตัว
แต่สื่อมวลชนชั่วเร่ขายจรรยาบรรณ” ด้าน ดร.กานดา
นาคน้อย เขียนว่า “กะหรี่มีทุกเพศนะลุง”
ส่วน ดร.ปวิน บอกว่า “ถ้านิยามทั่วไปของ ‘กะหรี่’ คือคนที่ขายตัวเพื่อเงิน ชัย ราชวัตร
ก็คงไม่ใช่กะหรี่ธรรมดา แต่เป็น super-กะหรี่
ที่ขายจิตวิญญาณ และสามัญสำนึกเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง”
ถ้าจะให้เสริม ดร.ปวินตรงนี้คงต้องเติมท้ายข้อความว่า “รวมทั้งลาภ ยศ และสรรเสริญ” เข้าไปด้วย
ชัย ราชวัตร
เป็นพวกซ้ายเก่าคนหนึ่งซึ่งเคยถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลเผด็จการทหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จนต้องหนีออกนอกประเทศไปพักใหญ่ ที่จริงยุคนั้นชัยจัดอยู่ในประเภทที่เรียกกันว่า
ซ้ายการ์แดง และ/หรือ ซ้ายมาร์แตง หมายถึงซ้ายที่ชอบแฟชั่นทันสมัยประมาณปีแอร์
การ์แดง และซ้ายที่ชอบดื่มบรั่นดีคอนญัคแถวๆ รีมี่ มาร์แตง
กลับเมืองไทยแล้วไปอยู่กับหนังสือพิมพ์เดลี่นิวส์จนรู้สึกว่าไม่ลงตัวก็ย้ายไปไทยรัฐ
สร้างชื่อเสียงด้วยการ์ตูน ‘ไอ้จ่อย’ จนกระทั่งได้รับรางวัลศรีบูรพาอันเป็นที่ใฝ่ฝันของบรรดาสื่อมวลชนมากหลาย
ชัยอาจมีความไม่ชอบทักษิณมาแต่แรก
แต่เปลี่ยนมาเป็นเกลียดเข้าเส้นเลือดหลังจากที่รู้สึกตัวเองเป็นศิลปินใกล้เบื้องยุคลบาท
เมื่อได้ไปถวายงานการตีพิมพ์หนังสือพระมหาชนกภาคการ์ตูนของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง
ซึ่งปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้นราวสิบกว่าเปอร์เซ็นต์
เชื่อว่าการที่ชัยได้เป็นนักเขียนการ์ตูนในพระบรมราชูปถัมป์
(อาจจะเฉพาะงานการ์ตูนพระมหาชนกชิ้นเดียว) เกิดจากการชี้แนะ และชักนำของ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ณ บางมูลนาก ผลทำให้ชัยเกิดความรู้สึกว่ามีแบ็คดี
มีบรมโพธิสัมภารอันสูงส่งเฉกเช่นชนชั้นนำผู้เลอเลิศทั้งหลาย การออกอาการจิกตี
และตอบโต้ต่อเครือข่ายทักษิณเลยออกมาแบบหยาบช้าอย่างสลิ่ม
(หมายเหตุตรงนี้หน่อยหนึ่ง ว่ากันตามจริงแล้วชัยใช้ analogy
(การเปรียบเปรย) ที่เพี้ยนไปจากที่น่าจะเป็น
ในเมื่อกะหรี่นั้นมีสีเหลือง การเทียบเคียงน.ส.ยิ่งลักษณ์กับสีเหลืองจึงไม่ถูกต้อง
สีกะหรีควรเทียบกับคุณนิชา หรือว่าตัวชัยเองมากกว่า
ส่วนคุณยิ่งลักษณ์คงต้องเปรียบกับแกงเขียวหวาน ออกรสเผ็ดๆ เค็มๆ
คล้ายบุคคลิกของเธอ)
แทนที่จะยอมรับความจริงอย่างน้อยเพื่อปลงอนิจจังแก่ผู้เสียชีวิตเพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายดังที่
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวไว้ในปาฐกถา ข้อเขียนของชัยจึงเป็นเพียงเสียงเปรต เสียงกระสือ
ร้องขอส่วนบุญเสียมากกว่า
แม้กระทั่งนักการเมืองซึ่งเคยได้รับมหากรุณาธิคุณโปรดปรานจากพระเจ้าอยู่หัวฯ
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา ยังพูดว่า
“ท่านพูดในหลักการ ไปตำหนิท่านไม่ได้ เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ท่านก็ยอมรับ...” และ “ตนมองว่าการเมืองจะล้มก็ล้ม จะยุบก็ยุบ
แต่พอปฏิวัติก็มีปัญหาเยอะ ทั้งเรื่ององค์กรอิสระ
และขอบเขตอำนาจการตัดสินที่เลยไปมากพอสมควร ทำให้สภาฯ ไม่สามารถทำอะไรได้”
ถึงอย่างไรเนื้อถ้อยในคำปาฐกถาของนายกฯ
เป็นข้อเท็จจริงที่เธอควรจะหาโอกาสพูดมานานแล้วในประเทศ อย่างน้อยๆ
คราใดที่ไปเยี่ยมเยือนคนเสื้อแดง และญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต
ผู้ได้รับผลกระทบต้องทนทุกข์จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว
และราชประสงค์ในปี ๒๕๕๓
ผู้เขียนได้อ่านข้อความที่ประชาชนเขียนต่อท้ายเนื้อความภาษาอังกฤษของสปีชอูลานบาตาร์รายหนึ่งที่ว่า
“อยากเห็นนายกฯ กล้าพูดแบบนี้ในไทยครับ” พาลให้เกิดจินตนาการประหลาดขึ้นมาว่าน.ส.
ยิ่งลักษณ์ไปพูดที่มองโกเลียฟังคล้ายปาฐกถาของผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่น
ต่อเมื่อได้ชมคลิป นายกฯ
แจงปาฐกถาพิเศษต้องการถ่ายทอดประสบการณ์การเมืองไทย ที่ว่า “เป็นอุทธาหรณ์ไม่ให้เกิดกับเมืองไทยอีกในอนาคต” แถมด้วยแก้กังขาตามที่ น.ส.พ.ไทยรัฐบอกว่า “ที่แน่ๆ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ยืนยันออกอากาศ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะพูดอีก
แม้แต่บนเวทีประชาธิปไตยลักษณะเดียวกันในประเทศไทย”
จึงได้แต่ยิ้มกริ่มพึมพัมกับตัวว่า นายกฯ
หญิงเดี๋ยวนี้น่ารักมากกว่าเดิมเยอะ ทั้งในรูปลักษณ์ และภาพลักษณ์
รูปลักษณ์ของเธอใครๆ ก็ยอมรับว่าสวยสะ ‘ผิดพี่ผิดน้อง’ ภาพลักษณ์นั้นเล่าถ้าเธอก้าวต่อไปตามแนวที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้
เห็นทีคงจะหลง ‘ลักษณ์’ เธอจนถอนตัวไม่ขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น