เดือนมกราคม 2478 พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่ารัฐบาลไม่ควรยกเลิกพิธีแรกนาขวัญ แต่ควรใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยให้ข้าหลวงทุกๆ จังหวัดจัดพิธีแรกนาขวัญเป็นกุศโลบายในการแจกจ่ายพันธุ์ข้าวที่รัฐบาลต้อง การเผยแพร่แก่ชาวนา เพื่อให้ชาวนาหันมานิยมพันธุ์ข้าวของรัฐบาล เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าพิจารณา หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เสนอว่า
พิธีแรกนานั้นเห็นควรเลิก แต่ควรสนับสนุนการประกวดพันธุ์ข้าว เช่นเพิ่มเงินรางวัลให้มากขึ้นอีก[1]
ไม่พบว่าคณะรัฐมนตรีมีการอภิปรายข้อเสนอของหลวงธำรงฯ อย่างไร
เราทราบเพียงที่ประชุมตกลงว่า
รัฐบาลมีนโยบายในการชักจูงให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวของรัฐบาลอยู่แล้ว
“แต่ไม่ใช่โดยวิธีทำพิธีแรกนาขวัญ ให้ใช้วิธีประกวดพันธุ์ข้าว”
ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทำให้กระทรวงเกษตราธิการสับสน
คิดว่ารัฐบาลได้ยกเลิกพระราชพิธีแรกนาขวัญไปแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่จะมีพระราชพิธีจึงไม่มีงบประมาณสำหรับดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีแรกนาขวัญประจำปี 2479 ก็ยังคงจัดขึ้นในลักษณะเดิมต่อมา กลางปี 2479 พระยาฤทธิอัคเนย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการคนใหม่ ได้จัดทำ “บันทึกหลักการเรื่องพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี
ตามความ
เห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ถึงจะเป็นพิธีโบราณทางไสยศาสตร์ก็ตาม
แต่ก็มีประโยชน์สำหรับครั้งกระนั้น
และถ้าได้มีการแก้ไขเสียใหม่โดยเอางานประกวดกสิกรรมเข้าแซกด้วย
ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นอีกมาก[2]
บันทึกของพระยาฤทธิอัคเนย์กล่าวว่า
พระราชพิธีแรกนาขวัญเป็นเครื่องมือของรัฐบาลสมัยโบราณในการปลุกขวัญชาวนา
และเพื่อเตือนชาวนาว่าได้เวลาทำนาแล้ว
“ความจริงพิธีทางไสยศาสตร์นี้นับว่าเป็นของจำเป็นในสมัยกระนั้น
เพราะเป็นสมัยที่การศึกษายังไม่เจริญและก็เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะชัก
จูงราษฎรให้เชื่อถือและนิยม” และแม้ว่าในเวลานั้น (พ.ศ.2479)
การศึกษาของประเทศจะยังไม่เจริญถึงขั้นที่ต้องเลิกพิธีไปเสียก็ตาม
แต่ก็ควรปรับปรุงให้เหมาะสม คือ ให้ทุกจังหวัดจัดงาน 3-4
วันโดยเนื้อหาหลักของงานเป็นการประกวดกสิกรรม อุตสาหกรรม และหัตถกรรม
มีพิธีแรกนาขวัญในวันเริ่มต้น และให้สามัญชนเป็นผู้แรกนา
อาจจะเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ผู้ที่ราษฎรในจังหวัดให้ความนับถือ
หรือผู้ที่มีความรู้ได้รับรางวัลในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ให้คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นเป็นผู้จัดทำเนื้อหาอย่างละเอียดต่อไป
จะเห็นได้ว่านี่เป็นข้อเสนอที่มีเนื้อหาเช่นเดียวกับบันทึกของกระทรวงเศรษฐ
การเมื่อปี 2477 นั่นเองเมื่อเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พระยาพหลฯ แย้งว่า พระราชพิธีแรกนาขวัญควรทำเฉพาะในกรุงเทพเท่านั้น ที่ต่างจังหวัดควรให้จัดเพียงการประกวดกสิกรรม “เพราะถ้าปล่อยให้ตามจังหวัดทำพิธีแรกนาขวัญอาจจะเกิดมีการกระทำที่ไม่เหมาะ สมขึ้นได้” ที่ประชุมเห็นตามนายกรัฐมนตรี ให้มีพิธีแรกนาขวัญเฉพาะในกรุงเทพ ส่วนต่างจังหวัดให้มีเฉพาะงานประกวด โดยให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล เทศบาลใดไม่พร้อมก็ให้จังหวัดช่วยเหลือ ส่วนข้อเสนอเรื่องผู้เป็นประธานในการแรกนานั้น ที่ประชุมเห็นด้วยกับหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่เสนอให้ปรึกษาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียก่อน “เพราะเกี่ยวกับพระราชพิธี ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ทรงทักมาเกี่ยวกับเรื่องผู้แทน พระองค์ในพระราชพิธีนี้”[3] ท่านวรรณทรงหมายถึงกรณีเมื่อ 2 ปีก่อนนั่นเอง
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ ทำหนังสือแจ้งผลการหารือกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
คณะผู้
สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทราบแล้ว มีบัญชาว่า
การที่คิดจะดัดแปลงดังที่ได้เสนอไปนั้น
เป็นความคิดที่ดีและเหมาะด้วยประการทั้งปวง
ส่วนที่หารือเรื่องผู้เป็นประธานในงานนี้นั้น
เห็นว่าข้าหลวงประจำจังหวัดควรจะเป็นประธาน
อนึ่ง เนื่องจากงานได้เปลี่ยนแปลงไปดังนี้แล้ว มีบัญชาใคร่จะทราบว่าจะคงเป็นงานเสด็จพระราชดำเนินเช่นเดิม หรือจะควรแก้ไขอย่างใด[4]
สิ่งที่คณะรัฐมนตรีตอบคณะผู้สำเร็จราชการ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลในขณะนั้นมีทัศนคติต่อพระราชพิธีแรกนาขวัญแบบเดิมอย่างไร
๒๔. เรื่องการทำพิธีแรกนาขวัญ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๔๔/๒๔๗๙ ข้อ ๒)
เลขาธิการ
คณะรัฐมนตรี เสนอว่า ราชเลขานุการในพระองค์รายงานว่า
ได้นำมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการทำพิธีแรกนาขวัญซึ่งกระทรวงเกษตราธิการดำริ
แก้ไขขึ้นเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบแล้ว
มีบัญชาว่าการที่คิดจะดัดแปลงนั้น
เป็นความคิดที่ดีและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
และเห็นควรให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธานในงานนี้
อนึ่งใคร่ขอทราบต่อไปว่าเมื่อได้เปลี่ยนแปลงไปดั่งนี้แล้ว
จะคงเป็นงานเสด็จพระราชดำเนินเช่นเดิม หรือจะควรแก้ไขอย่างใด
ที่ประชุม
ตกลงว่าในจังหวัดพระนครและธนบุรีไม่ควรมีงานพระราชพิธีทางไสยศาสตร์อย่างเคย
แต่ควรมีพิธีเกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
โดยหวังที่จะปลุกใจประชาชนให้นิยมไปในทางนั้น
ฉะนั้นก็ไม่มีงานเสด็จพระราชดำเนินเช่นเดิมเป็นทางราชการ[5]
หลังจากทราบมติคณะรัฐมนตรี คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ได้ถามกลับมาอีกว่า
“เมื่อไม่ได้กำหนดเป็นงานเสด็จพระราชดำเนินเป็นการพระราชพิธีจรดพระนังคัล
แรกนาขวัญแล้ว
ทางสำนักพระราชวังก็ไม่มีการเกี่ยวข้องที่จะต้องจัดทำอย่างใดทั้งในทางไสย
ศาสตร์ และทางพุทธศาสนาด้วย ทั้งนี้จะเป็นการถูกต้องหรือไม่”[6] นายดิเรก ชัยนาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี สั่งให้เจ้าหน้าที่ตอบกลับไปว่า “ที่วังซ้อมความเข้าใจมาถูกแล้ว”[7]จะเห็นได้ว่า ในทัศนะของผู้นำรัฐบาลสมัยนั้น ลักษณะที่เป็น “ไสยศาสตร์” ของพิธีแรกนาขวัญ ก็คือพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักนั่นเอง เมื่อรัฐบาลตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเป็น “วิทยาศาสตร์” พิธีแรกนาขวัญจึงไม่ใช่งานเสด็จพระราชดำเนินและไม่เกี่ยวข้องกับราชสำนักอีก ต่อไป พิธีแรกนาขวัญที่รัฐบาลสร้างขึ้น ข้าหลวงประจำจังหวัดผู้แรกนา จะทำการไถคราดและหว่านข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวที่รัฐบาลต้องการเผยแพร่ และมีการประกวดพันธุ์ข้าวเพิ่มเข้ามา ในขณะที่ “พิธีทางไสยศาสตร์เดิม ตัดหมด” ซึ่งน่าจะหมายถึง การเสี่ยงทายต่างๆ ทั้งพระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้านุ่ง และเสี่ยงทายของกินพระโค นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รัฐบาลต้องการใช้ประโยชน์จากความเชื่อเดิมของชาวนา จึงได้กำหนดให้ประธานในพิธีแรกนาขวัญ “แต่งกายอย่างพระยาแรกนาขวัญ มีกระบวนเครื่องยศและเกียรติยศอย่างประเพณีเดิม” และได้ “ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยืมเครื่องยศและกระบวนเครื่องเกียรติยศสำหรับ ผู้เป็นประธานแรกนาขวัญ” จากทางสำนักราชเลขานุการในพระองค์
พิธีแรกนาขวัญของปีนั้นจัดรวมกับงานปีใหม่ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2479 ถึง 1 เมษายน 2480 พิธีแรกนามีเฉพาะในพระนครและธนบุรี ส่วนการประกวดพันธุ์ข้าวจัดทั่วประเทศและผู้ชนะแต่ละจังหวัดมาประกวดอีก ครั้งในพระนคร
พิธีแรกนาขวัญจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญอีกครั้ง เมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และบุคคลอย่าง หลวงวิจิตรวาทการ เข้ามามีบทบาทในงานด้านวัฒนธรรมของรัฐบาล ซึ่งต้องเก็บไว้เล่าในโอกาสต่อไป
[1]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 110/2478 วันที่ 22 มกราคม 2478
[2]หนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ถึง นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 17 กันยายน 2479
[3]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 44/2479 วันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2479
[4][4]หนังสือราชเลขานุการในพระองค์ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2479
[5]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 51/2479 วันพุธที่ 14 ตุลาคม 2479
[6]หนังสือเลขาธิการพระราชวัง ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2479
[7]คำสั่งลายมือนายดิเรก ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2479
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น