แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ชำนาญ จันทร์เรือง: วิกฤติรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญจะจบอย่างไร

ที่มา Thai E-News

 โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะวิกฤติที่สมาชิกรัฐสภาจำนวน ๓๑๒ คนร่วมกันออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเสียงข้างมากรับ คำร้องการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ไว้วินิจฉัยตาม มาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญฯ ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทำหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง รวมทั้งขัดต่อการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งการเผชิญหน้ากันในครั้งนี้อยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนักวิชาการและผู้ที่สนใจสถานการณ์บ้านเมืองว่าจะจบลงอย่างไร

แน่นอนว่ากองเชียร์ของฝ่ายใดก็ล้วนแล้วแต่ให้ความเห็นว่าจะต้องจบลงด้วยชัย ชนะของฝ่ายตนเอง โดยฝ่ายแรกอ้างการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกระทำที่นอกเหนืออำนาจตาม ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติและอ้างความชอบธรรมจากการเป็นผู้แทนของประชาชนเสียง ข้างมาก ส่วนฝ่ายหลังนั้นก็อ้างความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรคห้าว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ

เหตุการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าเมื่อฝ่ายรัฐสภาออกมาปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ยอมส่งคำชี้ แจงตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญแล้วรัฐสภาก็ย่อมที่ดำเนินการต่อไปตามวาระที่ ๒ และ ๓ ตามลำดับและนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายตามมาตรา ๒๙๑(๗)ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ และ ๑๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งผู้ที่จะทูลเกล้าฯและรับสนองพระบรมราชโองการในที่นี้ก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เรียกว่าทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารผนึกกำลังกันว่างั้นเถอะ

ในขณะเดียวกันฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีทางเลือกอยู่ ๒ ทางคือ วินิจฉัยยกคำร้องเพราะไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการ ปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องก็จบเป็นการถอยก้าวเล็กๆก้าวหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะให้ถึงขนาดยกเลิกกระบวนพิจารณาไปจำหน่ายคดีเลยนั้นศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ ทำแน่เพราะคงเป็นการเสียหน้ามากมายพอสมควร

แต่ถ้าเหตุการณ์เป็นไปในทางตรงกันข้าม ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าเข้าข่ายตามมาตรา ๖๘  โดยสั่งเลิกการกระทำตามมาตรา ๖๘ วรรคสองและหากเลวร้ายไปกว่านั้นโดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและให้ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการ เมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลาห้าปีตามมาตรา ๖๘ วรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งผลทางการเมืองที่ตามมาก็สุดแล้วแต่ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้จะออกมาใน ช่วงระยะเวลาใด

หากคำวินิจฉัยออกมาหลังทูลเกล้าฯและประกาศร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาใช้แล้ว ก็คงไม่มีผลใดๆเพราะมาตรา ๖๘ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หากคำวินิจฉัยออกมาก่อนทูลเกล้าฯ แน่นอนว่าย่อมมีผลสะเทือนแน่ เพราะพรรคจะถุกยุบแต่คุณยิ่งลักษณ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีและ ส.ส.อยู่เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคและสามารถหาพรรคใหม่ได้ภายในหกสิบ วันและผมเชื่อว่าคงมีพรรคสำรองไว้แล้วและคงสามารถตั้งรัฐมนตรีแทนผู้ที่เป็น กรรมการบริหารพรรคได้ภายในสองสามวัน

รัฐบาลคงไม่เลือกวิธีการที่จะเดินต่อด้วยการยืนยันทูลเกล้าเสนอร่างแก้ไขต่อ ไปตามมาตรา ๑๕๑ (แม้ว่าจะทำได้) ซึ่งหากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างแก้ไขฯนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างฯนั้นขึ้นทูล เกล้าฯอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเสมือนหนึ่งว่าพระมหา กษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นนั้นคงไม่เกิดขึ้นแน่เพราะจะถูกกระหน่ำด้วยข้อ หาว่าเป็นการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่รัฐบาลก็จะเลือกวิธีการยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่ว่านี้ ประชาชนจะว่าอย่างไร

แล้วจะจบลงอย่างไร

จริงอยู่แม้ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีการยุบสภาเพื่อหาเสียงสนับสนุนที่ถึงจะได้ มาอย่างถล่มทลาย แต่ก็ไม่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะการพ้นตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๐๙ นั้น นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้วก็พ้นด้วยการตาย /มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์/ ลาออก/ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๕ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐๗/ วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๗๔ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง /ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เป็นต้น แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะถูกกดดันอย่างหนักให้ลาออก หากไม่ลาออก รัฐบาลและรัฐสภาก็มีวิธีการเดียวคือการเลือกวิธีการตามมาตรา ๑๕๓ วรรคสอง โดยลงมติวาระสามของร่างแก้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ที่ยังค้างอยู่ก่อนยุบสภายกขึ้นมาให้ความเห็นชอบ แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีศาลรัฐธรรมนูญต่อไปก็อาจเป็นได้ ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดศึกสงครามระหว่างฝ่ายบริหาร รัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลจะออกมาในทางใดล้วนแล้วแต่มีผลกระทบทางการเมืองทั้ง สิ้น จะกระทบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าวิกฤตินี้จบลงในขั้นตอนไหนเท่านั้นเอง ยิ่งจบช้าเท่าใดก็ยิ่งกระทบมากเท่านั้น หากวิกฤติเดินไปจนถึงที่สุดตามที่ว่าไว้ผลที่เลวร้ายที่จะได้รับก็คือ แม้ว่าฝ่ายบริหารและรัฐสภาจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด การเมืองบนท้องถนนก็จะตามมา ความวุ่นวายจะเกิดมากกว่าครั้งปี ๕๒-๕๓ แต่คงจะไม่มีการกระชับพื้นที่จากทหารจนคนตายเป็นร้อยเหมือนคราวนั้นอีก เพราะมีบทเรียนมาแล้ว แต่คนไทยจะหันมาฆ่ากันเองตายเป็นเบือ สภาพรัฐไทยก็จะตกอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวหรือล้มละลาย(Failed State) เพราะรัฐไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างเต็มที่และประชาชนมีความขัดแย้ง กันอย่างรุนแรง หรือที่เราเรียกว่า “มิคสัญญี” นั่นเอง

คิดแล้วหนาวขึ้นมาจับขั้วหัวใจเลยทีเดียวเชียว

-------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น