แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุกติ มุกดาวิจิตร: การตายที่ไม่เปลี่ยนผ่าน

ที่มา ประชาไท

 

มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
1) โดยทั่วๆ ไป การตายของผู้คนเป็นการตายทางสังคม ไม่ใช่การสิ้นสุดอายุขัยหรือถูกทำให้ตายในทางกายภาพเท่านั้น แต่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านสถานภาพ จากการตายเชิงกายภาพไปสู่การตายเชิงสังคม และกลายไปเป็นบุคคลใหม่ในชีวิตหลังหลังตายด้วย การตายในระดับสังคมโดยกว้างก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน การตายในระดับสังคมการเมืองทุกครั้งจะสิ้นสุดเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของสังคมร่วมกัน ในสังคมทั่วไป เราจัดพิธีศพเพื่อส่งผู้ตายและเรียกคนเป็นให้กลับมาสู่สังคม แล้วการตายก็จึงสิ้นสุด แต่ทำไมการตายของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ยังไม่สิ้นสุดเสียที

กรณี 14 ตุลาคม 2516 มีพระราชพิธีศพแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนการตายเมื่อพฤษภาคม 2535 สิ้นสุดที่การลงจากอำนาจของผู้รับผิดชอบ แต่การตายกรณีเมษา-พฤษภา 53 เป็นการตายที่เหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 คือเป็นการตายที่มีแต่เพียงการตายเชิงกายภาพ ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเนื่องจากเป็นการตายที่ไม่ได้รับการยอมรับ

2) แต่การตายกรณีปี 53 มีลักษณะพิเศษอย่างอื่นอีก นี่คือโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่คนจำนวนมากในสังคมไทยเชื่อมโยงด้วย นี่คือการบาดเจ็บล้มตายของคน "ส่วนใหญ่" ของประเทศ เพราะพวกเขามีตัวตน มีอัตลักษณ์ มีจินตนาการต่อสังคมและกลุ่มคนร่วมกันอย่างกว้างขวาง และเชื่อมโยงกับฐานเสียงของพรรคการเมืองที่มีคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศ การตายครั้งนี้จึงเป็นการตายของ "มวลชน" ที่สนับสนุนพรรคการเมือง เป็นการตายของสังคมประชาธิปไตยที่มีฐานมวลชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย

การตายที่ราชประสงค์จึงไม่เหมือนกับการตายของนักศึกษาในวันที่ 6 ตค. 19 และไม่เหมือนกับการตายของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แบบที่ผ่านๆ มาหลายครั้ง ที่ยังคงมีความเชื่อมโยงกับมวลชนน้อยกว่ากันมาก ประชาชนที่ร่วมรู้สึกกับการตายที่ราชประสงค์จึงมากมาย หลั่งไหลมาจากต่างถิ่น ต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ

3) การตายครั้งนี้แตกต่างจากการตายครั้งก่อนๆ ที่ผู้เป็นเหยื่อถูกผลักให้เป็นศัตรูกับกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่า "อำมาตย์" ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักแสดงออกว่าเห็นใจใยดีกับประชาชนและคอยปกป้องช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในลักษณะนี้มาก่อน การบาดเจ็บล้มตายครั้งนี้จึงนับเป็นการบาดเจ็บล้มตายทางการเมืองที่ประชาชนรู้สึกถึงการถูกปล่อยปละละเลยมากที่สุด ถูกดูดายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ดังที่พวกเขาประชดประชันว่าเป็น "ลูกที่พ่อแม่ไม่รัก"

4) นี่คือการแสดงออกว่าประชาชนไม่ต้องการให้ถูกดูหมิ่นเหยีดหยามในศักดิ์ศรีอีกต่อไป ลำพังการเยียวยาด้วยเงิน ด้วยมาตรการต่างๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ราคาของความสูญเสียของพวกเขาจึงสูงขึ้น สูงมากกว่าราคาของความตายทางการเมืองที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาตรการการเยียวยาใดๆ จึงยังไม่สำคัญเท่ากับว่า พวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรม

รัฐบาลจึงต้องชั่งตวงวัดให้ดีว่า การนิรโทษกรรมนั้นจะกระทำแบบเหมารวมยกยอดตัดตอนไม่เอาผิดใครเลย ไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้อง่ับผิดเลยนั้น สมควรหรือไม่ สังคมจะยอมรับได้หรือไม่ จะเพียงพอแก่การเยียวยาความเจ็บปวดของสังคมในปัจจุบันได้หรือไม่ หากมีการสะสางคดี มีการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บังคับบัญชา ด้วย อาจจะสามารถเยียวยาสังคมได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าทำๆ ไปแบบในอดีตก็จบ อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

5) การตายนี้ยังใช้เป็นพลังต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองที่ยังคอยจ้องล้มรัฐบาลของมวลชนคนเสื้้อแดง พวกเขาเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด ยังมีไฟคุกรุ่นที่จะคอยถูกพัดกระพือให้ลุกโชนขึ้นมาได้ทุกเมื่อ การรวมตัวของพวกเขานัยหนึ่งเพื่อรำลึกถึงการตายของมวลชนของพวกเขา แต่อีกนัยหนึ่งก็เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า พวกเขายังพร้อมที่จะต่อกรกับพลังทางการเมืองที่เล่นนอกกติกาของการเลือกตั้ง

6) ในท้ายที่สุดในอนาคต จะต้องมีการสร้างสัญลักษณ์ สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อให้สังคมไทยทั้งมวลระลึกต่อเหตุการณ์นี้ สังคมไทยทั้งมวล ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องเข้าใจปรากฏการณ์นี้ให้ดีขึ้น นอกจากนั้น สังคมทั้งมวลจะเปลี่ยนผ่านไปได้ด้วยการกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อ ด้วยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง ให้สังคมทั้งสังคมยอมรับถึงความผิดพลาดของรัฐและสถาบันทางการเมืองที่ดึงดันต่อความประสงค์ของราษฎร และยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ตราบใดที่ยังไม่มีการฌาปนกิจความตายที่ราชประสงค์อย่างเหมาะสม สังคมไทยก็จะไม่มีวันผ่านพ้นภาวะความตายนี้ไปได้ มวลชนจะยังคงมาร่วมทำบุญครบรอบให้ศพคนตาย จนกว่าสังคมจะยินยอมเปลี่ยนผ่านความตายนี้อย่างยุติธรรม จนกว่าพลังของ "อำมาตย์" จะมอดหมดไป เมื่อนั้นการชุมนุมที่ราชประสงค์ทุกวันที่ 19 พฤษภาคมก็จะค่อยๆ ซาลงไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น