ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา "กะหรี่”
ได้กลายเป็นวลีเด็ดใช้กระชากหน้ากาก พวก "หน้าตัวผู้”
ที่ยกขบวนออกมารังแกเพศแม่ของตนเองอย่างไร้สติ
โดยหารู้ไม่ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น
เคยเรียกขานหญิงบริการว่าเป็นอาชีพ "รับจ้างกระทำชำเราแก่บุรุษ"
คงไม่ต้องเสียเวลาท้าวความสาธยายถึงที่มาที่ไปแห่งวลีฮิตฮ็อต "กะหรี่"
ในห้วงเวลานี้ดอกนะคะ เพราะมันได้กลายเป็น "บูมเมอแรง"
ที่กำลังถูกเหวี่ยงกระหน่ำคืนกลับ
พร้อมที่จะหักหน้าขยี้ปลายปากกานักเขียนการ์ตูนรายนั้นให้ปิดฉากไปเรียบร้อย
แล้ว
ปูผัดผงกะหรีี่เกี่ยวอะไรด้วย?
เมื่อวาทะ "กะหรี่แค่ขายตัว แต่หญิงชั่วเร่ขายชาติ" ได้กลายเป็นคำพูด
"โดนใจ" สลิ่มเหลืองอย่างแรงส์ ไม่นานนักก็เกิดกระบวนการ "แถต่อ"
ด้วยการขยายความและคำที่เกี่ยวข้องกับ "กะหรี่" โดยนำมาจับคู่กับ "นายกปู"
แตกออกไปอีกหลายวาทะหลากเว็บเพจ
ประเด็นฮือฮาที่สุดมีอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกนั้นค่อนข้างต่ำหยาบโลน
ผู้โพสต์ในเฟสบุ๊กมีสถานะทางสังคมเป็นถึงอดีตอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน
ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้งยังเป็นเด็กบ้านสี่เสา
อับจนปัญญาล้วงมาเล่นเรื่องใต้สะดือ ในทำนองให้ผู้อ่านร่วมชิงโชค
(ซ้ำอ้างว่าเป็นรางวัลจาก "โออิชิ") หากใครตอบคำถามลามกจกเปรตของเขาได้
(หมายเหตุมันหยาบคายเกินกว่าจะนำคำถามมาเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้)
ผลปรากฏว่า มีผู้โยนก้อนหินเข้ามาถล่มทลาย มากกว่าหยิบยื่นดอกไม้
โดยเจ้าของเพจไม่รู้หนาวรู้ร้อนเพราะได้บำบัดความใคร่ทางอารมณ์สมใจอยากไป
แล้ว
ทิ้งปริศนาให้คนทั่วไปสงสัยใน "ตรรกะวิบัติ" ที่ว่า นิยามของคำว่า
"กะหรี่" นั้นตกลงหมายถึงอะไรกันแน่
เป็นอาชีพหนึ่งของผู้หญิงขายบริการทางเพศ หรือว่าหมายถึง
"การเสียตัวเสียสาวให้กับผู้ชาย"
หากเจ้าของเพจจักยืนยันว่าการใช้คำ "กะหรี่"
ในกะทู้ที่ตั้งไว้หมายถึงประการหลัง
ถ้าเช่นนั้นผู้หญิงทั้งโลกที่เคยมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใครก็ตาม
ทั้งรัก-ไม่รัก ก่อนแต่ง-หลังแต่ง มิต้องกลายเป็น "กะหรี่"
กันถ้วนหน้าดอกรึ
มาถึงประเด็นที่สองร้อนแรงไม่แพ้กัน นั่นคือการโพสต์ภาพอาหาร
"ปูผัดผงกะหรี่" ว่อนเน็ตแล้วมีข้อความว่า "เมนูเด็ด" ที่นายกฯ
และสมุนเพื่อไทยคงแสลงใจไม่อยากกิน
เป็นการดึงเอาคำว่า "ปู" กับ "กะหรี่"
มาผสมกันเชิงสัญลักษณ์ที่ดูเหมือนว่าน่าจะลงตัวโหนกระแสได้ในระดับหนึ่ง
แถมยังทิ้งท้ายว่า "กะหรี่นี่กลิ่นแรงจริงๆน่าจะดับคาวปูได้"
ทว่ากลับกลายเป็นกะทู้ที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้กดแชร์ พลอยหลงเข้าใจตามไปว่า "กะหรี่ "ทั้งสองคำนั้นมีรากที่มาจากคำเดียวกัน
อันคำว่า "กะหรี่" ที่หมายถึงโสเภณีกับ "กะหรี่"
ที่เป็นเครื่องเทศของอินเดียนั้นมันคนละความหมายกันโดยสิ้นเชิงแน่ล่ะ
ด้วยข้อจำกัดของการแปล-แปลง-และแปรเป็นภาษาไทยอาจทำให้มันกลายเป็นคำที่พ้อง
ทั้งรูปและเสียงกันโดยบังเอิญ
กะหรี่คือ"ช็อกการี"ไม่ใช่"Curry”
แกงกะหรี่หรือผงกะหรี่นั้น เป็นการเรียกทับศัพท์ภาษาเปอร์เซียนว่า
“Kari" เป็นคำเดียวกันกับเคอร์รี่ (Curry) ในภาษาอังกฤษซึ่งก็แผลงมาจาก
Kari เช่นเดียวกัน
แต่พอภาษาอังกฤษแปล Kari เป็น Curry
ความหมายกลับไม่ใช่ชื่อเฉพาะกลายเป็นภาพรวมของเครื่องแกงทั้งหมดซึ่งก็ถูก
ต้องสำหรับความเข้าใจในสายตาชาวตะวันตกที่ไม่อาจแยกแยะความแตกต่างของ
เครื่องเทศระหว่างมัสมั่น กะหรี่ กุรุหม่าที่อิมพอร์ตจากโลกตะวันออก
(ญี่ปุ่นเรียกคาเร) ฯลฯ
สรุปแล้ว "กะหรี่" ในความหมายของโสเภณีนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแกงที่ใส่เครื่องเทศของอินเดีย-เปอร์เซีย
ถ้าเช่นนั้นจะเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กาลี Kali เทพีผู้โด่งดังของศาสนาฮินดูหรือไม่
Kali เป็นภาคหนึ่งของพระนางอุมาผู้เป็นชายาของพระอิศวร (พระศิวะ) เทพเจ้าแห่งการทำลายล้างหนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของฮินดู (ตรีมูรติ)
โดยพระนางอุมานั้นมีหลายภาคหรือหลายปางแล้วแต่สถานการณ์จะกำหนด
ปางสง่างามยามปกติเรียก "อุมา" ปางรักเด็กเรียก "ปารพตี"
(คล้ายมาดอนนาของศาสนาคริสต์) ปางเสน่หาในตัวสวามีเรียก "สตี
"ปางปราบอสูรเรียก "ทุรคา "และปางล้างโลกเรียก "กาลี"
กาลีเมื่อแปลตรงตัวก็หมายถึงผู้มีอำนาจเหนือกาลเวลา
มักทำเป็นรูปเคารพในลักษณะเปลือยผิวกายดำ น่าสยดสยอง
ในมือถือหัวอสูรที่นางกาลีต้องดื่มโลหิตให้หมด
เพราะหากเลือดอสูรหยดลงสู่พื้นดินแม้เพียงหยาดเดียวอสูรก็จักหวนกลับมา
บังเกิดใหม่ในโลก ส่งผลให้นางทุรคาต้องเหนื่อยคอยปราบอีก
บางคนสันนิษฐานว่า ที่มาของคำว่า "กะหรี่ "อาจเป็นคำเดียวกันกับ "กาลี "ใช่หรือไม่
เจ้าแม่กาลีที่ชาวฮินดูเคารพกันนั้น แท้คือสัญลักษณ์ของการป้องกันภูติผีปีศาจ หาใช่สัญลักษณ์ของ "หญิงโหดโฉดช้า" ไม่
และความหมายที่แท้จริงของหญิงขายบริการนั้น ก็ถูกเรียกว่า
"หญิงงามเมือง" หรือ "หญิงนครโสเภณี" อันเป็นความหมายที่แตกต่างจาก "กาลี"
โดยสิ้นเชิง
เป็นอันว่า "กะหรี่" นอกจากจะไม่ใช่ "Kari” แล้วยังไม่เกี่ยวข้องกับ "Kali” อีกด้วย
ถ้าเช่นนั้น "กะหรี่" มาจากไหน ข้อสันนิษฐานที่ราชบัณฑิตท่านหนึ่ง
อ.จำนงค์ ทองประเสิรฐ เสนอไว้เห็นว่าน่าจะแผลงมาจาก"ช็อกกะรี"
ของภาษาฮินดีที่ใช้เรียกเด็กผู้หญิงว่า "โฉกกฬี" (Chokari)
และเรียกเด็กผู้ชายว่า“ช็อกกะรา"หรือ "โฉกกฬา" (Chokara)
การเรียกหญิงโสเภณีว่า "โฉกกฬี" หรือ "ช็อกกะรี"
นั้นน่าจะเป็นทำนองเดียวกันกับที่มีการเรียกหญิงบริการอย่างหยอกเย้าว่า
"อีหนู" นั่นเอง
จากโรง "รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ" ถึงวาทกรรม "กะหรี่ "กับ "การเมือง"
คำเรียก "อีหนู" ด้วยคำว่า "โฉกกฬี" หรือ “ช็อกการี" แล้วแผลงเป็น
"กะหรี่" ในภาษาไทยนั้นมาได้อย่างไร และมีตั้งแต่เมื่อไหร่
ยังไม่มีนักภาษาศาสตร์คนไหนระบุคำตอบแน่ชัด
แต่คิดว่าไม่เกินศตวรรษที่ผ่านมา
ทว่าเรื่องราวของ "หญิงนครโสเภณี" นั้นปรากฏขึ้นบนแผ่นดินสยามนานเกือบ
600 ปีแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
ดังระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวงได้กล่าวถึง "หญิงนครโสเภณี" หลายตอน
อาทิ ระบุว่าหญิงนครโสเภณีนั้นถือเอาเป็นพยานเวลาขึ้นศาลมิได้
มีค่าเทียบได้กับคนหูหนวก คนตาบอด เป็นโจร
คนเป็นนักเลงบ่อนเบี้ยเลยทีเดียว พูดให้ง่ายก็คือ คนชายขอบดีๆ นี่เอง
หรืออีกแห่งกล่าวถึง
"มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขับคนรำ
เที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิตแลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมียทำชั่วเหนือผัวก็ดี
ทำชู้เหนือผัวก็ดี ผัวรู้ด้วยประการใดๆ พิจารณาเป็นสัจไซร้
ท่านให้ผจาน (ประจาน) หญิงชายนี้ด้วยไถนา ส่วนหญิงอันร้ายนั้นใ
ห้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะ
แล้วให้เอาหญิงนั้นเทียมแอกข้างหนึ่ง ฝ่ายชายเทียมแอกอีกข้างหนึ่ง
ผจานด้วยไถนาสามวัน ถ้าแลชายผัวผู้นั้นยังรักเมียอยู่ มิให้ผจานไซร้
ท่านให้เอาชายชู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่งหญิงข้างหนึ่ง
อย่าให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย"
เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว "สถานะทางสังคม"
ของหญิงขายบริการนั้น
ถูกกดขี่เหยียดหยามให้กลายเป็นพลเมืองชั้นล่างสุดแม้แต่
"เมื่อริจะมีรักมีผัวเป็นตัวเป็นตน" วิถีชีวิตก็ไม่อาจดำรงได้อย่างปกติ
ธรรมดากลับถูกจับผิดทุกฝีก้าว ห้ามทำอะไรตามใจตัวเอง
ต้องทนเป็นทาสผัวทั้งชีวิต ว่างั้นเถอะ
ในจดหมายเหตุของราชทูต เดอ ลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารยณ์
ช่วงอยุธยาตอนปลาย พรรณนาถึงที่ตั้งโรงหญิงนครโสเภณี
ว่ามีหลักแหล่งอยู่นอกเขตพระนคร คือที่ท้ายตลาดบ้านจีน
ปากคลองขุนละครไชยมีโรงหญิงนครโสเภณีตั้งอยู่ถึง 4 โรง
ประกาศชื่อหน้าโรงว่า "รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ" โรงเหล่านี้ต้องจ่าย
"อากรโสเภณี "ส่งคลังหลวงทุกปี แสดงว่ามีลูกค้าและรายได้ดีมาก
ข้อสำคัญเป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากเก็บกิน "อากรโสเภณี"
สืบเนื่องต่อจากสมัยอยุธยากันจนเป็นล่ำเป็นสันแล้ว
นโยบายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยก็เพิ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามรูปแบบที่รับอิทธิพลมาจากสังคมตะวันตก ภายใต้ชื่อ "พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรครัตนโกสินทร์ศก 127" มีสาระสำคัญอยู่ 5ข้ อหลักๆ คือ
-
หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับหรือล่อลวงมามิได้
-
ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคาสิบสองบาท มีอายุสามเดือนต่อใบ (ถือว่าแพงลิบลิ่วมากในสมัยนั้น)
-
นายโรงหญิงนครโสเภณี (ที่ต่อมานิยมเรียกว่า "แม่เล้า") ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลกันเอง
-
หญิงนครโสเภณีต้องไม่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่บุคคลภายนอก เช่น ฉุดลาก ยื้อแย่ง ล้อเลียน เป็นต้น
-
เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไป เพื่อนำสมาชิกมาตรวจ ถ้าพบโรคก็ให้ส่งไปรักษาจนกว่าจะหาย แลอาจเพิกถอนหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาต (น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของแมงดา?)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ยุคจอลพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์
เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามจัดตั้งสำนักโสเภณีอย่างเด็ดขาดตามแนวคิด
"คืนคนดีศรีสังคม"
เดินตามรอยองค์การสหประชาชาติซึ่งไทยก็เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
สุดท้ายนครโสเภณี ซึ่งแปลตรงตัวว่า หญิงงามเมือง หรือ
หญิงผู้ทำเมืองให้งาม แต่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า "โสเภณี"
นั้นได้สูญหายไปจากสังคมไทยเพราะเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย
จาก "หญิงงามเมือง"
ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนคำเรียกตามสมัยนิยมในยุคที่มีการเรียกร้องสิทธิ
มนุษยชน ให้ทุกๆ อาชีพนั้นมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกันจนกลายเป็น"
ผู้ประกอบอาชีพขายบริการ" แม้ต้องอยู่ในสภาพแบบลับๆล่อๆ ก็ตามที
แต่วันดีคืนดี ก็ยังมีคนชอบแอบเกาะชายประโปรงของพวกเธอ
ด้วยการขุดเอาสรรพนามที่แฝงไว้ซึ่งอาการเสียดเย้ยแสร้งมาตีวัวกระทบคราด
เปรียบเปรยว่าพวกเธอยังมีคุณค่าสูงส่งกว่่านักการเมืองหญิงบางคน
...โคมเขียว กะหรี่ อีตัว อีหนู ดอกทอง ชื่อเรียกแต่ละคำ
ล้วนเป็นภาพสะท้อนถึง "ระดับจิต"
ของผู้เปล่งถ้อยเหล่านั้นชนิดล่อนจ้อนว่าเขาเป็นคนระดับไหน
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 17 พค.56 ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 130
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น