แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อภิปรายวันที่สองเน้นเรื่องจำนำข้าว แต่เอกสารถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ใช้ ม.270

ที่มา ประชาไท


'อภิสิทธิ์' เปิดชำแหละ 'จำนำข้าว' อภิปรายถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ไม่เอาจริงจัดการคอรัปชั่น ด้านนายก ตอบอภิปรายให้เกียรติปล่อย รมต.แจงเอง ชี้ 'จำนำข้าว' เพื่อความมั่นคงเกษตรกร เปิดเอกสารลับที่สุด ฝ่ายค้านใช้มาตรา 270 ถอดถอนนายก ไม่มีเรื่องจำนำข้าว 'อรรถพร' เปิดคลิปอภิปรายสารพัดวิธีทุจริตจำนำข้าว 'หมอวรงค์' อภิปรายรัฐขายข้าวจีทูจีให้บริษัทผี "ไทย - จีน"
 
'อภิสิทธิ์' เปิดชำแหละ 'จำนำข้าว' อภิปรายถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ไม่เอาจริงจัดการคอรัปชั่น
 
26 พ.ย. 55 - ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปราย 'จำนำข้าว' ขาดทุนกราวรูด ทำลายระบบการค้า เปิดทางทุจริตในทุกขั้นตอน หวั่นไทยสูญเสียตลาดข้าวในต่างประเทศ ชี้ประเด็นถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ขาดความจริงจังปราบคอรัปชั่น 
 
เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 26 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ดูมีอุปสรรคมากเหลือเกิน เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนต้องมาถามตลอดเวลาว่าท่านนายกจะมาฟังอภิปรายไม่ไว้ วางใจหรือไม่ ไม่อยากเห้นกระบวนการทางการเมืองของเราต้องมาตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ และอยากให้กระบวนการทางเมืองนั้นเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตน เองอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้สังคมเดินไปได้อย่างสงบสุข เพราะถ้าเราปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองมากท่าไร ความอึดอัดในสังคมจะมีมากขึ้นเท่านั้น แล้วสุดท้ายก็จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการเมืองของเรา 
 
ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายอีกว่า กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหน้าในการตรวจสอบที่มีประโยชน์กับสังคม ตนเองในสมัยเป็นรัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง ไมมีครั้งไหนที่จะถูกถามว่าจะมาฟัง มาตอบการอภิปรายในสภาหรือไม่ เพราะถือว่านั่นคือหน้าที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อผู้แทนปวงชนคือหัวใจของการเมืองการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  
 
เขายังกล่าวอีกว่า ที่ต้องเจาะจงอภิปราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในหลายเรื่อง เป็นเพราะเป็นความรับผิดชอบที่นายกฯ ไม่สามารถปฏิเสธได้ เนื่องจากท่านคือประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย ขณะที่บอกว่าท่านรับมอบงานในเดือนสิงหาคม 2554 ประเทศอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร ถามว่าวันนี้สถานะของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างไร เราเจอปัญหาน้ำท่วม หนี้ท่วม แพงทั้งแผ่นดิน พืชผลการเกษตรถูกทั้งแผ่นดินหรือ มีปัญหาทั้งแผ่นดิน ไฟใต้ท่วม ความขัดแย้งในสังคมยังดำรงอยู่ และที่สำคัญที่สุด ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเลวร้ายลง ลองไปหยิบการสำรวจและจัดทำดัชนีความเจริญของหน่วยงานในประเทศอังกฤษ ได้ประเมินปี 2555 จาก 142 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 56 ด้านที่ไปได้ดีคือภาพรวมเศรษฐกิจและการที่คนไทยมีทุนทางสังคม คือมีความเข้มแข็งและคนไทยมีน้ำใจไมตรีกันซึ่งจะเอื้อต่อการทำให้ไทยเจริญ ก้าวหน้าประเด็นนี้ไทยอยู่ที่ลำดับที่ 18 - 19 ซึ่งถือว่าสูง แต่พอมาดูประเด็นธรรมาภิบาลอยู่ลำดับที่ 64 พอมาดูปัญหาระยะยาวที่ต้องได้รับการแก้ไขคือการศึกษากับสาธาณะสุข ไทยอยู่ลำดับที่ 70 -71 ที่น่าตกใจคือ ในส่วนความมั่นคงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่อันดับที่ 99 และที่น่าตกใจที่สุดคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไทยอยู่อันดับที่ 129 ซึ่งเป็นดัชนีที่มีการจัดทำล่าสุด และหากเปรียบเทียบย้อนหลังซึ่งเริ่มจัดทำตั้งแต่ปี 2552 ตอนนั้นไทยอยู่ลำดับที่ 54 ในปี 2553 อยู่ลำดับที่ 52 ในปี 2554 อยู่ลำดับที่ 45 แต่ปีนี้ตกรวดเดียว 11 ลำดับ ต้องถามว่าสถานะประเทศขณะนี้น่าเป็นห่วงเป็นสิ่งที่พวกตนไม่ได้คิดไปเองฝ่าย เดียว แต่ข้างนอกเขากำลังมองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในไทย
 
บทบาทของนายกรัฐมนตรีในขณะที่เห็นขณะนี้มีฝ่ายยุทธศาสตร์ทางการเมือง คนรอบๆ ตัวกันออกจากการแสดงความคิดเห็น ยุทธศาสตร์นี้ทราบว่าใช้กันหลายที่เพื่อให้นายกฯ ลอยตัว ไม่ติดใจว่า ทำแล้วได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง เพราะถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย ก็มีสิทธิที่จะทำ แต่ถ้าการลอยตัวและบทบาทของนายกฯ เป็นเช่นนี้ และเกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินก็จำเป็นที่จะต้องอภิปรายว่า นายกฯจะไม่ทำอะไรไม่ได้ เพราะบ้านเมืองกำลังเสียหายจากการบริหารงานที่ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทั้งจากกรณีของ รมว.กลาโหม ที่ได้กระทำการผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการโยกย้าย และแต่งตั้งที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และยังมีการบริหารงานที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาค ใต้ เพราะเมื่อปรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ออกจากการเป็นรองนายกฯ และมีการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ ปรากฏว่าไม่มีรองนายกฯ คนไหนรับหน้าที่ ถือเป็นอีกตัวอย่างว่านโยบายมีปัญหามาจากการที่ผู้นำรัฐบาลขาดความชัดเจน
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องหลักที่ต้องอภิปรายมี 2 เรื่อง ที่นายกฯกำลังนำพาประเทศไปสู่ความเสียหาย เรื่องแรกคือ นโยบายการรับจำนำข้าว วันนี้ข้าวไทยกำลังถูกทำลายอนาคตจากนโยบายที่ผิดพลาด และที่ต้องอภิปรายนายกฯเพราะมีคำสั่งที่ 153/2554 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยมีนายกฯเป็นประธาน สิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าจะต้องไม่หลงประเด็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็น ปัญหาในทางปฏิบัติ ความหมายคือนโยบายดี เดินหน้าไปปฏิบัติแล้วจะปรับปรุงแก้ไขได้ สิ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นคือนโยบายนี้คือที่มาของปัญหาและคนที่จะเปลี่ยน นโยบายนี้ได้คือนายกฯ จะอภิปรายเพื่อจะบอกว่าจะนำพาประเทศด้วยการดำเนินนโยบายอย่างนี้ต่อไปไม่ ได้ 
 
การจำนำข้าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยทำมาแล้วในอดีต และต้องเป็นการจำนำ วันที่เริ่มต้นนโยบายนี้เกือบ 20 แล้ว ซึ่งจำนำจริงๆคือการรับของเข้าไปโดยให้ต่ำกว่าราคาตลาด จะมาไถ่คืนเมื่อไรก็เป็นสิทธิ ทำเพื่อดึงผลผลิตออกจากตลาด เมื่อผลิตมันล้นตลาดแล้วรอโอกาสเมื่อราคาดีขึ้นเกษตรกรก็มาเอาคืนไปเข้าสู่ ตลาด แต่โครงการจำนำข้าวถูกบิดมาเป็นโครงการรับซื้อข้าวโดยรัฐบาล แต่ใช้ชื่อโครงการรับจำนำ ซึ่งเริ่มต้นในสมัย พ.ศ. 2551 และเห็นมาแล้วว่ามันเสียหายอย่างไร การประกาศรับซื้อของที่แพงกว่าราคาซื้อขายปกติที่คนซื้อทั่วไปก็หมายความว่า คนที่รับซื้อนั่นเองต้องซื้อทั้งหมด เพราะคนขายต้องการได้ราคาที่ดีที่สุด ฉะนั้น การออกแบบนโยบายนี้ คือ นโยบายที่จงใจให้รัฐบาลเป็นผู้ซื้อและขายข้าว ในช่วงที่ทำในปี 2551 และต่อเนื่องมายังเป็นโครงการที่ทำในวงจำกัด คือมีโควต้า สุดท้ายเกิดจุดอ่อน คนมีโควต้าเข้าร่วมได้ก็ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจำนวนมากเข้าไม่ได้ แต่คราวนี้แก้จุดอ่อนด้วยการบอกว่า จำนำทุกเม็ด เพราะฉะนั้นนโยบายนี้คือโครงการรับซื้อข้าวและเป็นนโยบายที่นำไปสู่การผูก ขาดค้าข้าวและถือเป็นทำลายกลไกการซื้อขายตามปกติโดยสิ้นเชิง 
 
เรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นตลอดทางคือ ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุอยู่ที่นโยบายที่เอื้อต่อการทุจริต เรื่องนี้มีคนการเตือนจากหลายฝ่าย 7 ต.ค. 54 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ทำหนังสือเตือนว่า นโยบายรับจำนำข้าวมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการทุจริต อย่างกว้างขวาง ผลที่จะเกิดขึ้นกับข้าวของประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินคือ ประการแรกเมื่อรัฐบาลจะผูกขาดซื้อขายข้าวทั้งประเทศ ด้วยนโยบายซื้อแพงแล้วต้องขายถูก การขาดทุนเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งตัวเลขของรัฐบาลบอกว่า การบริหารจัดการเรื่องข้าว ที่ผ่านมาใช้วงเงินไปแล้ว 5.17 แสนล้านบาท ที่จะขายได้กลับคืนมา ตามหนังสือของกระทรวงการคลังถึงคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ต.ค. 55 เขียนไว้ว่า หากกรณีระบายผลิตผลที่รับจำนำได้ใน 3 ปี จะมีภาระการบริหารการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 2.14 แสนล้านบาท เรากำลังพูดถึงการขาดทุนในโครงการเดียวประมาณร้อยละ 10 ของงบประมาณทุกปี จึงได้มีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญว่า ถ้าทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆอีก 7 ปี หนี้สาธารณะก็จะไปแตะที่ร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งถือว่าเป้นระดับที่เข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงมีความอันตราย นอกจากไปเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน หรือไปลดการใช้จ่ายอื่นๆในโครงการต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยมีโครงการไหนที่รัฐบาลดำเนินแล้วขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท ในประวัติศาสตร์
 
ประการที่สองที่จะเสียหายคือฐานะของประเทศเสียหาย เมื่อรัฐบาลผูกขาดการค้าข้าว และซื้อมาในราคาที่สูงกว่าตลาด จะขายไปอย่างไร ที่เคยทำนายว่า ประเทศไทยจะสูญเสียแชมป์การส่งออกข้าวจึงเกิดขึ้นแล้ว ตัวเลขการส่งออกข้าวตามปฏิทินปีนี้น่าจะลดลงร้อยละ 35 แต่ถ้านับตั้งแต่การจำนำข้าวของประเทศคือบวกไปอีกสองสามเดือนก่อนหน้านั้นจะ ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง และไม่ต้องบอกว่าเราขายได้ปริมาณน้อยลงแต่ได้เงินมากขึ้นเพราะข้าวไทยแพง ขึ้น เพราะมูลค่าคือปริมาณไปคูณกับราคาส่งออกก็ลดลงไปร้อยละ 25 หรือ ร้อยละ 40 หากนับตั้งแต่เริ่มโครงการ พูดง่ายๆคือรายได้ของประเทที่ได้จากการขายข้าวลดลงไปเกือบครึ่ง ที่สำคัญคือการสูญเสียตลาดไปแบบนี้ไม่ใช่เอาคืนมาง่ายๆ นอกจากนี้ปัญหายังเกิดขึ้นกับคุณภาพข้าวด้วย เพราะนโยบายนี้จูงใจให้เกษตรกรต้องปลูกข้าวให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นจะมีข่าวคุณภาพข้าวไทยที่ลดลงต่อเนื่อง 
 
ประการที่สาม การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการค้าข้าวทั้งหมดขณะรุนแรงมาก โกงทุกขั้นตอน เกษตรกรหลายคนเข้าโครงการไม่ได้ ความยุ่งยากของขั้นตอนยังทำให้ถูกกดสาระพัด บางคนเข้าไปแล้วเงินยังไม่ได้และยังไม่เจอสักรายที่ได้ 15,000 บาท นอกจากนี้ รัฐบาลกลายมาเป็นผู้ค้าข้าวและกำกับการเคลื่อนย้ายข้าวทั้งประเทศ ขณะนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าว ธุรกิจโรงสีที่มีเส้นสายเกี่ยวข้องกับรัฐบาลชอบมาก แต่ใครไม่มีเส้นสายสู้ไม่ได้ จึงเป็นการทำลายกลไกการแข่งขัน นำมาสู่ความเสียหายสะสมในระบบการค้าข้าวทั้งประเทศ ผู้ส่งออกรู้ว่าจะค้าข้าวไทยไปต่างประเทศต้องวิ่งหารัฐบาลเท่านั้น แต่ใครไม่อยากวิ่งเต้นเปลี่ยนไปทำการค้าข้าวของกัมพูชา ปากีสถานอินเดีย นี่คือความสุญเสียที่จะเกิดขึ้น 
 
อีกเรื่องที่ยังไม่มีการตรวจสอบเลยคือการระบายข้าว เพราะขายอย่างไรก็ขาดทุน ทำให้การขายข้าวเป็นปริศนามาตลอด ตัวเลขการส่งออกข้าวที่เป้นทางการของรัฐไม่มี แต่นายกฯ บอกว่ามีจีทูจี ปลายปีนี้เห็นข้าวออกไป แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้วเป็นปลายปีหน้า แต่ที่ต้องพูดกันยาคือ จีทูจีคืออะไร จีเจี๊ยะ จีเจ๊ง จีโจ๊ก หรือจีอะไร หรือจะเหมือนที่ฝรั่งบอกว่า จี โกสท์ (Ghost) หรือ บริษัทผีคืนชีพ ซึ่งจะมีผู้อภิปรายบ่งบอกให้เห็นถึงกระบวนการทุจริตทั้งหมด 
 
จากหนังสือ รู้ลึก รู้จริง เรื่องจำนำข้าว ที่ต้องขาดทุน 2 แสนกว่าล้านบาทเพื่อชาวนาจริงหรือไม่ ชาวนาได้ประโยชน์คำนวนจากคนที่เข้าโครงการได้ ปรากฎว่า ตัวเลขของรัฐบาลข้าวที่เข้าโครงการคือ 18 ล้านตัน คนกลุ่มนี้ตีให้ว่า เขาจะได้ราคาตันละ 5-6 พันบาท แม้แต่คนที่เข้าโครงการไม่ได้ ซึ่งมีข้าวอีก 19 ล้านตัน ท่านยังบอกว่าได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ทำให้ราคาข้าวขึ้นมาอีก 8 % เอาง่ายๆว่าได้คนละ 1 พันบาทต่อตัน ลองบวกดูจะได้เงินประมาณครึ่งเดียวของเงินภาษีอากรที่ขาดทุน และตัวเลขก็ไม่จริงอยู่แล้ว นี่ถือเป็นปีแรกที่ข้าวไทยสูงถึง 37 ล้านตัน ในอดีตเข้าใจคือ 34 ล้านตัน เชื่อว่า 3 ล้านตันที่โผล่ขึ้นมามาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลนี้เอาเงินภาษีประชาชนไป 2.2 แสนล้านบาท แต่ช่วยจริงอย่างเก่งคือครึ่งเดียว อีกครึ่งอยู่กับพ่อค้า โรงสี นักการเมืองทุจริ นี่คือสิ่งที่นายกฯ ซึ่งเป็นประธานกขช.ที่มีคนท้วงติงสาระพัดมาโดยตลอด แต่การเพิกเฉยทำให้ไว้วางใจไม่ได้
 
นายอภิสิทธิ์ อภิปรายต่อไปในเรื่องที่สองซึ่งเป้นเรื่องที่ยื่นถอดถอนนายกฯ ว่า เป็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งรัฐบาลไม่มีมาตรการเป็นระบบในการแก้ปัญหาหรือป้องกัน เพราะคนที่เขาพยายามที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง ซึ่งหลังน้ำท่วม ตนเดินสายพบกับองค์กรต่างๆ เพื่อไปสอบถามความเสียหายคืออะไร ซึ่งองค์กรหลักทางธุรกิจ สิ่งแรกที่เขาพูดกับความตนคือต้องการให้ตรวจสอบงบเยียวยาน้ำท่วม และงบฟื้นฟูทั้งหลาย เพราะเขากังวลว่าจะเกิดการทุจริตอย่างมโหราฬ มหาศาล พอนายกฯ มาของบกลางจำนวน 1.2 แสนหมื่นล้านบาท กับเงินกู้อีก 3.5 แสนล้านบาท ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดกับสภาฯ  ซึ่งไม่เกินวิสัยที่จะให้รายละเอียด และในเว็บไซต์ของรัฐบาลเกี่ยวกับเงินน้ำท่วมไม่มีใครสามารถเข้าไปหาข้อมูล ได้ กรรมาธิการงบประมาณพยายามเข้าอยู่ 7 สัปดาห์ก็เข้าไม่ได้ สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างที่อภิปรายไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งขุดลอก ขุดหลอก อ้อยเข้าปากช้าง ก้างติดคอ เห็นภาพชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าความจริงใจในการที่จะป้องกันและปราบปรามทุจริต คอร์รัปชั่นมีปัญหามาตั้งแต่ต้น แต่จุดที่เป็นปัญหาหลัก เป็นเรื่องที่ในอดีตทำงานกันมา ตนพูดเสมอว่า ทุกรัฐบาลมีการทุจริต ไม่มีข้อยกเว้น และไม่มีนายกฯ คนไหนที่เก่งกาจสามารถไปป้องกันทุจริตได้แม้แต่นิดเดียว แต่เราต้องพยายามมาศึกษาวิเคราะห์ปัญหาว่าการทุจริตที่รุนแรงในระยะหลังจะ แก้กันอย่างไร 
 
หนึ่งเรื่องที่สรุปกันไปในการสัมมนากับ ปปช. คือ จะทำนโยบายอะไรให้ดูผลกระทบด้วยว่านโยบายนั้นออกแบบมาแล้วโอกาสทุจริตมีมาก หรือไม่ นันเป็นที่มาว่านโยบายจำนำข้าวอย่าทำรูปแบบนี้ แต่รัฐบาลก็เพิกเฉย ประเด็นที่สองที่พูดกันมากเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นระยะหลังมี 2 เรื่องหลักที่เป็นปัญหา คือ 1.ราคากลาง เพราะการทุจริตมักจะเกิดจากการฮั้ว  แต่ถ้าราคากลางเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงก็หากำไรกันยาก เราจึงต่อสู้ว่ากระบวนการจัดทำราคากลางและการเปิดเผยราคากลางต้องเกิดขึ้น แต่การเปิดเผยราคากลางและการคำนวณราคากลางให้ตรวจสอบคือปัญหา ก่อนยุบสภาจึงสภาแห่งนี้จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจิต และก็มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 103/7 กับ 103/8 ของปปช.เข้าไป 
 
สุดท้ายเรื่องนี้ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.วันที่ 13 ธ.ค. 54 ซึ่งหน่วยงานอย่างสำนักงบประมาณก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่สุดท้าย นายกฯซึ่งรับเรื่องนี้จาก ปปช. เสนอต่อ ครม. มติที่มีสั้นๆคือไม่เห็นชอบหรือไม่อนุมัติ กลับบอกว่าให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้สอด คล้องกับกฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันห้เคร่งคัด
 
"คือถ้าเจตนาจะต่อสู้กับทุจริตคอรัปชั่น แล้วเขาทำงานกันมาเป็นเวลาหลายปี บอกว่าจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบการเปิดเผยตรงนี้ พอ ปชช.เสนอมา ท่านบอกว่าไม่ต้อง กฎระเบียบเดิมนั่นแหล่ะแต่ทำให้เคร่งครัดขึ้น รัดกุมขึ้น นี่หรือครับที่เป้นการเอาจริงเอาจังกับการทุจริตคอรัปชั่น" นายอภิสิทธิ์กล่าว
 
ผู้นำฝ่ายค้าน ยังกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ยังเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของมาตรา 103/7 และ 103/8 ของกฎหมาย ป.ป.ช.อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ไว้วางใจ เพราะถ้าท่านอยากจะต่อสู้กับการทุจริต แล้วคนเสนอมาตรการมาแทนที่ท่านจะพยายามทำ กลับไปถามกฤษฎีกาว่าไม่ทำได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ป.ป.ช.เสนอ แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำ ซึ่งทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ยังทำหนังสือยืนยันว่าเขาเห็นด้วยที่จะให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ป.ป.ช. แต่รัฐบาลก็ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีก เพื่อจะให้ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจมาบังคับ ครม. แล้วเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาอีกในเดือน ก.ค. 55 ซึ่งถ้าครม.อนุมัติตั้งแต่เดือน ธ.ค. 54 งบประมาณน้ำท่วมที่อภิปรายวานนี้ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ สิ่งที่ยื่นอภิปรายและถอดถอนคือ นายกฯต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ถึงจะทำให้การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น นั้นเป็นจริง
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวประเด็นสุดท้ายว่า เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน และความห่วงใยที่มีต่อแนวโน้มความขัดแย้งในสังคมและทางการเมือง การเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ให้กับญาติ การบั่นทอนความน่าเชื่อถือ การไม่ยอมรับองค์กรอิสระ องค์การศาล เรื่องเหล่านี้นายกฯจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้  เมื่อวาน ร.ต.อ..เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ หัวเราะชอบใจในคำพูดตัวเอง ที่ไปบอกให้ตำรวจเลือกข้าง ความจริงนายกฯ เป็นคนมอบให้ ร.ต.อ.เฉลิม ไปดูสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ช่วยตอบได้หรือไม่ว่า ตำรวจต้องเลือกข้างหรือเปล่า และเมื่อวาน ร.ต.อ.เฉลิม ก็ชี้แจงคลาดเคลื่อนเรื่องแก๊สน้ำตา ซึ่งตำรวจออกมายอมรับแล้วที่ท่านไปกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้แก๊สน้ำตารุ่นนั้น มีอยู่ในรถตำรวจ และคำชี้แจงท่านเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปกติท่านอ่านเสียงดังฟังชัด แต่เอกสาร 15 ก.ค. ไม่รู้ส่งให้ท่านประธานหรือยัง อ่านรัวเลย เพราะฟังที่ท่านอ่านรัว เขายืนยันว่าเข้าหลักเกณฑ์ เพียงแต่เขาอ้าง ซึ่งน่ากลัวว่า ต่อไปนี้ศาลตัดสินแล้วจะมีองค์กรอย่างตำรวจไปวินิจฉัยอีกว่า ความผิดที่ศาลตัดสินแล้วเป็นความผิดที่ร้ายแรงหรือไม่ เราจะใช้ระบบนี้หรือ
 
ไม่นับหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับพวกตนทุกอาทิตย์ ทั้งที่เป็นสมัยประชุมแท้ๆ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอส่งหนังสือขู่ทุกอาทิตย์ในคดีเรื่องน้ำท่วม ทั้งที่ไปเป็นพยานไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา จะบังคับให้เซ็นเอกสารเป็นลัง เป็นคอนเทรนเนอร์ให้ได้ก่อนปิดสมัยประชุม ไม่อยากให้การเมืองของเราวนเวียนอยู่กับความขัดแย้ง แต่ถ้านายกฯไม่พร้อมที่จะทำงานโดยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย ปัญหานี้จะดำรงต่อไป ตนเคยพูดในช่วงหาเสียงว่า ถ้านายกฯได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นบุคคลที่น่าสงสาร ข้อแรกคือมีคนที่ยังคิดว่าใหญ่กว่าท่าน และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา นักการทูตบางคนเข้าพบตนก็บอกว่าไม่เคยเห็นในประเทศอื่นว่าตกลงอำนาจอยู่ที่ ไหน อย่างไร อยู่ในรปะเทศหรือไม่ ประการที่สอง อยู่ในภาวะที่ลำบากใจมากในหลายๆ เรื่อง เพราะถ้าทำตรงไปตรงมากระทบกระเทือนพี่ชายท่าน ญาติท่าน และวันนี้ที่บ้านเมืองยังครุกรุ่นอยู่ไม่จบ ก็เพราะรัฐบาลไม่สามารถที่จะละวางวาระส่วนตัวในเรื่องการนิรโทษกรรมได้ การตัดสินใจตรงนี้ทราบดีไม่มีทางง่าย แต่วันนี้ต้องสงสารประเทศมากกว่า ไม่อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าไปอย่างนี้ ข้าว สินค้าที่อยู่คู่กับประเทศไทย คนไทยกำลังถูกทำลายอนาคต  ไม่อยากเห็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลุกลามบานปลายอย่างที่อภิปรายกัน อย่างกว้างขวาง ถ้าคิดว่าเสียงข้างมาก กลไกรัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ถูกนำมาใช้ให้เลือกข้างทำงานให้กับรัฐบาลในทางการเมืองได้ แล้วบ้านเมืองจะสงบ ยืนยันว่าคิดผิด ความอึดอัดจะสะสม ความไม่เข้าใจความโกรธจะมีมากขึ้นในสังคม และสุดท้ายไม่มีพวกเราแม้แต่คนเดียวที่นี่จะมีความสุข ไม่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางนั้น นายกฯ มีเวลาปีกว่าแล้วที่จะพิสูจน์ว่าจะไม่เดินไปทางนั้น แต่ไม่ได้ทำ จึงไม่สามารถไว้วางใจได้
 
นายกฯ ตอบอภิปราย ให้เกียรติปล่อย รมต.แจง เอง แจง 'จำนำข้าว' เพื่อความมั่นคงเกษตรกร
 
26 พ.ย. 55 - 'ยิ่งลักษณ์' ให้เกียรติ รมต.ปล่อยแจงเอง ไม่หวั่นไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว ฟันธง อยากเห็นจำนวนเงินมากกว่าจำนวนตัน 
 
หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาต่าง ๆ มากมาย เจตนารมณ์ที่เข้ามาทำงานคืออยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า และการเคารพในกติกาประชาธิปไตย ตั้งปณิธานไว้ว่าแก้ไขแต่ไม่แก้แค้น ที่ผ่านมายึดมั่นในความซื่อสัตย์และยุติธรรม 
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมายึดการทำงานภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกันใน ครม. และนายกฯ มีหน้าที่กำกับนโยบายต่าง ๆ ส่วนรองนายกฯกำกับการบริหารในกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย และรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบงานในกระทรวง ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ การมอบหมายไม่ใช่การก้าวก่ายแต่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน ยืนยันว่า  ตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติในการทำหน้าที่ และที่ผ่านมายึดหลักงานนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ งานนิติบัญญัติ ลักษณะการทำงานของตนจะเป็นการมอบหมาย โดยให้ รัฐมนตรีว่าการที่เกี่ยวข้องมาตอบกระทู้โดยตรง ยืนยันว่า ที่ผ่านมาให้เกียรติสภาฯ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับงานด้านการบริหาร ส่วนสถานะของประเทศตั้งแต่เข้ามามีภาระต่างๆที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะวิกฤตน้ำท่วม ขณะที่มีเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องผลักดัน ในอนาคต การบริหารราชการไม่ได้ถูกรองรับในภาวะวิกฤต จึงตัดสินใจตัดงบประมาณปกติมาเป็นงบประมาณกลาง 1.2 แสนล้าน ในการเยียวยาประชาชนและปกป้องน้ำท่วม  
 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้ตอบคำถามในเรื่องการรับจำนำข้าวว่า เป็นนโยบายที่ต้องการสร้างความมั่นคงรายได้เกษตรกรให้มั่นคงขึ้น เป็นทางเลือกของเกษตรกร ถ้าสามารถขายร้านค้าได้ดีกว่าก็เลือก แต่รัฐบาลมีทางเลือกที่จะรับจำนำข้าว จึงตั้งจำนำข้าว ทุกเม็ด งบประมาณราว 410,000 ล้านบาท ซึ่งวันนี้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น 8% อย่างไรก้ตาม วงเงินดังกล่าวที่ใช้ต่อการรับจำนำหนึ่งรอบปี ได้รวมมันสัมปะหลังและยางพาราด้วย ซึ่งใช้ไปจริงราว 300,000 ล้านบาท คาดว่า ในปี 2556 จะมีเงินเข้าระบบ 240,000 -260,000 ล้านบาท โดยได้ให้นโยบายแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิช ซึ่งเป็นประธานนโยบายข้าวแห่งชาติทุกครั้งว่า ให้ตรงไปตรงมา โปร่งใส และไม่ให้ขาดทุนกว่าโครงการประกันราคาข้าวที่ผ่านมาและต้องตรวจสอบได้ 
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวว่า ในระยะยาวจะมีติดตั้งกล้อง CCTV สร้างระบบไซโลข้าว นำระบบ IT มาใช้เก็บข้อมูลทุกขั้นตอน คือ ตั้งแต่ขึ้นทะเบียน การออกใบรับรองโรงสี ธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) กรมการค้ากลาง กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งจะลดความซ้ำซ้อนและทุจริตได้ ในเชิงรุกได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ โดยมีช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแส 
 
น.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทุกโพลล์ที่สำรวจความเห็นต่อการรับจำนำข้าวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประชาชนมีความสุข รัฐบาลก็มีความสุข ส่วนประเทศไทยจะเสียแชมป์หรือไม่ ถ้าดูในราคาเฉลี่ยของข้าวไทยอยู่ที่ 679 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่เบอร์หนึ่งอย่างเวียดนาม ขายได้ในราคาประมาณ 400 เหรียญสหรัฐ 
 
"ดิฉันอยากเห็นจำนวนเงินมากกว่าจำนวนตัน" นายกรัฐมนตรีกล่าว 
 
เปิดเอกสารลับที่สุด "อภิสิทธิ์" ยื่นถอดถอน"ยิ่งลักษณ์" มาตรา 270 ไม่มีเรื่องจำนำข้าว
 
26 พ.ย. 55 - ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่สอง ได้มีการเผยแพร่ เอกสาร ลับที่สุด ที่ลงนาม โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่ยื่นต่อ ประธานวุฒิสภา   เรื่อง ขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งบทบัญญัติ มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
 
ด้วยข้าพเจ้าผู้ลงลายมือชื่อท้ายคำร้องฉบับนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้ง หมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขอยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน แต่ได้บังอาจกระทำการขัดต่อกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ดังนี้
 
ข้อ 1.ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีจงใจบังอาจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย กล่าวคือ สืบเนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และได้มีผลบังคับใช้ในวันที่19 เมษายน 2554 ซึ่งมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้บัญญัติ ให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ การจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อ ให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และในมาตรา 103/7 วรรคสี่
 
นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต เนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นสมควรในการกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำอนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการในเรื่องนั้น แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบก็ได้ และเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ซึ่งมาตรา 103/8 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่รายงาน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัด ซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับ แต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวและให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่ติดตามผลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย
 
หน่วยงานของรัฐฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูก ถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี
 
ข้อเท็จจริง ในหลักเกณฑ์ของกฎหมายย่อมเห็นโดยชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการที่จะให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตการจัด ซื้อจัดจ้างในทุกหน่วยงานของรัฐ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงได้กำหนดให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่จัดทำรายงานกำหนดหลักเกณฑ์ ตามมาตรา103/7 และต้องดำเนินการตาม มาตรา 103/8 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบแปดวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ใช้บังคับ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับ การจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง 
 
ข้อ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการ จัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้อเพิ่ม เติม พร้อมแนบรายงานซึ่งเป็นรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้าตรวจดธได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
 
แต่นายกรัฐมนตรีรวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เห็นชอบกับรายงานที่คณะ กรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอ โดยคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยว กับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยังได้ทำหนังสือขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยให้เหตุผลว่ามติคณะ รัฐมนตรียังไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ พ.ศ.2542 แต่มติคณะรัฐมนตรีได้มีมติไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
 
ข้อ 3 จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนมาดังกล่าวข้างต้นรับ ฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีได้มีพฤติกรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้
 
3.1) จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง, มาตรา 103/8 และ
 
3.2) จงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ
 
3.3) จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178
 
3.4) การกระทำตาม ข้อ 3.1 ข้อ 3.2 ข้อ 3.2 ที่ ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องดังกล่าว จึงเป็นมูลเหตุที่มีการทุจริตกันหลายโครงการ และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนเป็นอย่างมาก 
 
ซึ่งพฤติกรรมของผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ย่อมรับฟังโดยชัดแจ้งว่าเป็นกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐ ธรรมนูญและกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
 
ข้อ 4 ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี โดยหลักความเป็นจริงแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จำต้องปฏิบัติตามรัฐ ธรรมนูญตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ก็มีเจตนารมณ์ในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณของประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเชื้อร้ายอยู่ในสังคมขณะนี้ แต่สิ่งที่ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีได้กระทำกลับตรงกันข้ามกับหลักกฎหมายและหลักความ เป็นจริงโดยสิ้นเชิง รายงานกำหนดรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัด ซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลาง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้นำเสนอตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้รับการสนใจใยดี จากคณะรัฐมตรีเลยแม้แต่น้อย
 
ทั้งๆ ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ให้คณะรัฐมนตรีเมื่อได้รับรายงานจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว มีหน้าที่โดยตรงในการสั่งการหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตน จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำนเนินการดังกล่าวและให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย แต่รัฐมนตรีก็มิได้ดำเนินการสั่งการตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาโดยชัดแจ้งว่า นอกจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วยังมีเจตนาที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการทุจริต
 
ผู้ถูกร้อง เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี มีพฤติกรรมกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ข้อต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้อำนาจไปในทางทุจริต อันเข้าลักษณะที่จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270
 
ข้าพเจ้าดังมีรายนามแนบท้าย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ประกอบ มาตรา 270 ร้องขอมายังท่านในฐานะประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวน และดำเนินการเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน ผู้ถูกร้อง ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
ส่วนรายละเอียด ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ข้าพเจ้าขอส่งในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามกระบวนการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ต่อไป
     
ขอแสดงความนับถือ
      
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
     
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
         
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
 
 
'เกียรติ' นำทีม ส.ส.ประชาธิปัตย์ อัดนายกฯปมทุจริตจำนำข้าว ซัดเป็นนโยบายที่พบทุจริตอื้อ
 
26 พ.ย. 55 - การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วันที่สอง ในช่วงบ่าย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้สลับขึ้นอภิปรายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต่อประเด็นการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล โดยนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าจากการตรวจสอบตัวเลขของกรมศุลกากรระบุว่าการส่งออกข้าวทั้งระบบ ของประเทศได้เพียง 4.7 ล้านตันเท่านั้นไม่ใช่ 5 ล้านกว่าตันตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง อยากตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเวียนเทียนข้าวในโครงการ เพราะในปีที่ผ่านเกษตรกรประสบภัยพิบัติน้ำท่วมและข้าวเปลือกเสียหายกว่า 8 ล้านตัน
 
นายเกียรติ อภิปรายอีกว่า นอกจากจะมีการเวียนเทียนนำสต๊อกเก่า รวมถึงข้าวในประเทศเพื่อนบ้านมาจำนำ แล้วการที่รัฐบาลบอกว่าได้ทำสัญญาขายข้าว 7.3 ล้านตันแล้วนั้นถือเป็นการส่งออกที่จะเสร็จสิ้นในปี 56 และกว่าจะได้เงินต้องบวกไปอีกกว่า 2 ปี และจะยิ่งขาดทุนเพราะเท่าที่ทราบรัฐบาลขายข้าวได้ต่ำกว่าราคากลางของตลาดที่ กำหนดไว้ 600 เหรียญ หรือ 1.8 หมื่นบาทต่อตัน แต่ความจริงขายได้เพียง 400 เหรียญต่อตันเท่านั้น โดยอ้างว่าเป็นราคามิตรภาพ ไม่ทราบว่าใครให้สิทธินายกรัฐมนตรีไปขายข้าวในราคามิตรภาพ
 
"วันนี้ในวงการข้าวเขาทราบกันดีว่าถ้าโรงสีใดอยากได้ข่าวต้องติดต่อเจ๊ ด.คนเดียว และที่ผ่านมามีบริษัท ส.ได้สิทธิกระจายข้าวจากโครงการรับจำนำมีการจัดเป็นระบบในการส่งมอบ จัดหาข้าวและแบ่งกำไรให้โรงสีกิโลกรัมละ 1 บาท ที่ผ่านมามีผู้เตือนรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการนี้ผ่านการเขียนบทความกว่า 3,500 บทความในประเทศ และบทความต่างประเทศถึง 356 บทความ แต่รัฐบาลไม่เคยรับฟัง" นายเกียรติ อภิปราย
 
นายเกียรติ กล่าวต่อว่า หากเทียบงบประมาณที่รัฐบาลใช้กับโครงการรับจำนำพบว่าขาดทุนมหาศาล เพราะมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติเงิน 4.05 แสนล้านบาทต้องรับจำนำข้าวได้ 26 ล้านตันครอบคลุมเกษตรกร 4 ล้านครัวเรือน แต่รัฐบาลกลับใช้เงิน 4.05 แสนล้านรับจำนำข้าวได้เพียง 18 ล้านตันและครอบคลุมเกษตรกรเพียง 1.7 ล้านครัวเรือนเท่านั้น เท่ากับเงินหายไปถึง 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ตัวเลขจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังระบุว่ารัฐบาลใช้ เงินโครงการรับจำนำข้าวนาปีและนาปรังในปี 54/55 รวมถึงข้าวนาปรังรวมเป็นงบที่ไม่ใช่เพียงเบิกออกมาแต่ใช้ไปแล้วถึง 5.17 แสนล้านบาท หากเทียบกับสูตร 4.05 แสนล้านบาทต้องได้ 26 ล้านตันแล้ว เท่ากับว่าเงินหายไปจากงบประมาณ 5.17 แสนล้านบาทถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่ผลประโยชน์ที่ได้กลับพบว่าไม่ถึงมือชาวนา แต่กลับมีโรงสีเท่านั้นที่ได้รายได้อย่างมหาศาล โดยเป็นโรงสีพื้นที่ภาคกลาง จาการตรวจสอบโรงสีแห่งหนึ่ง มียอดรายได้ปี 54 ถึง 44 ล้านบาท ทั้งที่ยอดรายได้ในปี 53 มีเพียง 19 ล้านบาท หรือในโรงสีที่อยู่ใกล้ กทม. มีรายได้ปี 54 สูงถึง 114 บาท ทั้งที่ปี 53 มีรายได้แค่ 3หมื่นบาท
 
"โครงการนี้ผมมองว่าไม่ใช่โครงการทุจริตเชิงนโยบาย เรียกว่า เป็นการทุจริตด้วยนนโยบาย เพราะนโยบายทำให้เกิดทุจริตทั้งระบบ ชาวนาไม่ได้อะไร และนโยบายจะทำให้ประเทศล้มละลาย โครงการนี้ทุจริตทุกเม็ด มีคนโกยแล้วโกยอีก อยากถามว่าต่อมสำนึกนายกฯ อยู่ที่ไหน" นายเกียรติ อภิปราย
 
จากนั้น นายยุพราช บัวอินทร์ ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ พบว่ามีการโกงชาวนาเกิดขึ้น โดยโรงสี ทั้งในขั้นตอนการตรวจวัดความชื้น นอกจากนั้นแล้วยังพบด้วยว่าโรงสี ซึ่งไม่ได้เข้าในโครงการรับจำนำ ดำเนินการรับจำนำข้าวของเกษตรกร และนำไปขายให้กับ อตก. ทั้งนี้โรงสีที่รับซื้อข้าวดังกล่าวถูกตำรวจจับดำเนินคดี ทำให้ประเด็นนี้สงสัยว่า อตก. มีความผิดในข้อหารับของโจรหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วยังพบว่ามีกระบวนการทำทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในพื้นทีโดยมี เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ที่ดำเนินการ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการอภิปราย นายยุพราช ได้เปิดคลิปวีดีโอ ภาพการสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคล โดยมี ชายรูปร่างอ้วน สวนเสื้อโปโลสีน้ำเงิน ที่ถูกคาดหน้าด้วยแถบสีดำ ระบุว่า “การจ่ายเงิน ต้องทำต่อหน้าผู้ว่าฯ เท่านั้น เพราะกฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการยักยอกทรัพย์ เพราะผมได้เอาทรัพย์ของพวกท่านมาแล้ว” ทั้งนี้มีชายคนหนึ่งสอบถามขึ้นว่า “หากจะให้ออกใบประทวน หรือ จ่ายเงินสดก็บริการได้ใช่ไหม” ผู้ชายสวมเสื้อสีน้ำเงิน กล่าวตอบว่า “ได้เลย แต่การจ่ายเงินสด ต้องจ่ายผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากเป็นกฎหมาย ไม่สามารถจ่ายเงินสดได้ด้วยตัวผมเอง เพราะผิดเงื่อนไขจำนำ” จากนั้นนายยุพราช อภิปรายต่อว่า คลิป วิดีโอดังกล่าวเป็นตัวอย่างความล้มเหลวขอโครงการรับจำนำของรัฐบาล ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นอีก
 
จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่า ตนขอข้อมูลที่นำมาเสนอ โดยตนจะเรียกตำรวจให้มารับคำร้องทุกข์ จากนั้นตนจะดำเนินการจับกุมผู้ที่ทุจริต แต่ยังไม่ทันที่ ร.ต.อ.เฉลิมจะชี้แจงจบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ลุกประท้วงว่า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่มีสิทธิ์ที่จะชี้แจงต่อที่ประชุม โดยการประท้วงดังกล่าวได้ใช้เวลานานกว่า 30 นาที จึงสามารถเข้าสู่การอภิปรายตามปกติได้ โดยส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายประกอบคลิปวิดีโอในประเด็นการลักลอบนำข้าวจาก ประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาสู่ประเทศไทย เพื่อสวมสิทธิ์ข้าวในโครงการรับจำนำ
 
 
'อรรถพร' เปิดคลิปอภิปรายสารพัดวิธีทุจริตจำนำข้าว
 
เมื่อเวลา 16.00 นายอรรถพร พลบุตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  ได้อภิปรายพร้อมนำเสนอคลิปวีดีโอที่ทางพรรคบันทึกไว้เกี่ยวกับการทุจริตของ โครงการรับจำนำข้าว โดยพบขั้นตอนการทุจริตในหลายรูปแบบและหลายพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือง ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานพบว่ามีการนำข้าวจากกัมพูชาเข้ามาจำนำในไทย ได้กำไรเฉลี่ยตันละหมื่นกว่าบาท
 
พร้อมกันนี้ยังมีเครือข่ายนักการเมืองร่วมมือกับโรงสีทำการเวียนเทียน ข้าว โดยใช้วิธีการจำนำข้าวในจังหวัดหนึ่งและนำไปจำนำต่ออีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งจากคลิปเป็นการนำข้าวจากจ.อุบลราชธานีไปจำนำต่อที่จ.สุรินทร์ ทั้งนี้ พบว่ามีการนำข้าวนาปีที่นำไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวแล้ว นำมาเทและบรรจุกระสอบใหม่แล้วนำไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ต่อ ขณะเดียวกันพบว่ามีการนำข้าวเหลืองซึ่งเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพนำมาซ่อนไว้ใน กองข้าวที่ได้คุณภาพด้านใน จึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบ
 
นอกจากนี้ พบการทุจริตที่น่าอับอายที่สุดในพื้นที่จ.นครปฐม อ.ดอนตูม บ้านลาดสะแก ที่มีโรงสีแห่งหนึ่งร่วมมือกับชาวบ้านที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้ปลูก ข้าว ซึ่งส่วนให้ประกอบอาชีพบ่อเลี้ยงปลาและสวนผัก โดยนำชาวบ้านไปลงทะเบียนชาวนา พร้อมแจ้งพื้นที่นาอันเป็นเท็จ จากนั้นจะทำการออกใบประทวนปลอม โดยโกงน้ำหนักรวมถึงราคารับจำนำข้าว เพื่อไปหลอกรัฐบาลให้ได้เงินจากโครงการมากกว่าความเป็นจริง และเมื่อได้เงินมาโรงสีจะแบ่งส่วนแบ่งให้กับชาวนาปลอม อีกทั้ง พบว่ามีคนในตระกูล “กุลดิลก” เป็นหุ้นส่วนอยู่ในโรงสีดังกล่าวด้วย
 
จากนั้น บรรยากาศการอภิปรายได้มีเกิดการประท้วงจากผู้ที่ถูกพาดพิงจากฝั่งรัฐบาลตลอด เวลา โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้พยายามขออนุญาตประธานเพื่อทำการชี้แจงในประเด็นที่ถูกพาดพิง แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ไม่อนุญาตให้ร.ต.อ.เฉลิมชี้แจง รวมทั้งขอให้นายบุญทรง นั่งลง เพื่อขอทำความเข้าใจกับสมาชิก ว่า นายกรัฐมนตรีพูดภาพรวมแล้ว และสามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงในรายละเอียดแทนได้
 
โดยนายถาวร เสนเนียม สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประท้วงว่าในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้มอบหมายให้ตนชี้แจงแทน แต่ประธานในที่ประชุมกลับวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ ดังนั้น ขอยืนยันว่าต้องเป็นนายกฯเท่านั้นที่ต้องชี้แจง และขอให้ประธานตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามตัวอัษรด้วย
 
ขณะที่นายสมศักดิ์ วินิจฉัยยืนยันว่า ตามข้อบังคับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสามารถชี้แจงได้รวมถึงใช้สิทธิ์อภิปราย เมื่อมีการอภิปรายพาดพิงได้ จากนั้นร.ต.อ.เฉลิม .ใช้สิทธิ์ชี้แจงว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการรับ จำนำข้าว  และที่ผ่านมามีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวถึง 81 คดี และขณะนี้ศาลได้พิพากษาไปแล้วจำนวน 2 คดี
 
ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้น รัฐบาลขอแสดงความจริงใจในประเด็นการปราบทุจริต ขอให้ฝ่ายค้านนำหลักฐานการทุจริตข้าวมามอบให้ตน โดยจะเปิดห้อง 3310 รอ และจะเชิญตำรวจที่เกี่ยวข้องมารับเรื่องร้องทุกข์โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ มีการปาหี่
 
 
'อาคม' แฉ สินบน 2 ล้าน ทุจริตตรวจคุณภาพข้าว
 
26 พ.ย. 55 - นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการทุจริตจำนำข้าวว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลวเป็นเพราะเป็นนโยบายที่รับจำนำข้าวราคาสูงจึง ไม่มีผู้มาไถ่ถอนคืน จึงเป็นภาระของรัฐบาล อีกทั้งยังเปิดให้มีการทุจริต โดยการสวมสิทธิ์ และทำลายกลไกตลาดระดับเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมข้าว และเมื่อนำไปจำนำแล้วข้าวจะเป็นของรัฐบาล หลังจากโรงสี สีเป็นข้าวสารแล้วนำไปเก็บไว้ขายภายหลัง แต่เมื่อรับซื้อมาราคาสูงทำให้ระบบการขายล้มเหลว ประกอบกับรัฐบาลเปลี่ยนแปลงทำสัญญาเช่าโกดังและไม่มีการตรวจคุณภาพข้าวขาออก รวมทั้งบริษัท 17 บริษัทที่เข้าร่วมกับรัฐบาลในการตรวจสอบคุณภาพข้าวหรือ เซอร์เวย์เยอร์ไม่น่าเชื่อถือ
 
นายอาคมยังกล่าวอีกว่า มีการนำเอาข้าวที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิมาจำนำด้วย และมีการนำข้าวข้ามเขตมาเข้าโครงการรับจำนำด้วย โดยโรงสีที่ได้รับต้องจ่ายให้ ดอกเตอร์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นหมอ 2 ล้านบาทโดยร่วมมือกับบริษัทตรวจสอบ และโครงการดังกล่าวกรมการค้าภายในมีการจัดฉากให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีไปตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติ ซึ่งนายกฯจะต้องรับผิดชอบทางการเมือง
 
 
'ประเสริฐ' แฉ รัฐปกปิด ขายข้าวจีทูจี 3 แสนตัน เอื้อประโยชน์ 'สยามอินดิก้า'
 
25 พ.ย. 55 - นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศและรับตำแหน่งฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย ข้าวแห่งชาติ (กขช.) ไม่กี่วันก็เริ่มมีประมูลการขายข้าวค้างสต๊อกกว่า 3 แสนตัน  ให้กับบริษัทสยามอินดิก้า เพื่อขายให้กับองค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อค) ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีการงุมงิบทำสัญญา เนื่องจากก่อนการประมูล มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ทราบข่าว แต่ในที่สุดบริษัทที่ได้ประมูลไปคือบริษัทสยามอินดิก้า โดยไม่มีการเปิดเผยและแจ้งให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยทราบ แต่เรื่องแดงขึ้นมาเมื่อสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยทำหนังสือมาถึงรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์  ว่าเหตุใดจึงไม่ทราบเรื่อง  และการขายข้าวครั้งนี้จำนวน 3 แสนตัน ก็ไม่ได้นำสต๊อกข้าวของรัฐบาลมาดำเนินการ ทำให้องค์การคลังสินค้า ( อคส.) ต้องไปกว้านซื้อ ซึ่งถือเป็นการโกหก รัฐบาลกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะคงไม่มีใครมีข้าวจำนวนมากถึง 3 แสนตันเหมือนรัฐบาล ที่ไปรับซื้อในราคาที่ถูกกว่า และเห็นว่ารัฐบาลยุคนี้ กล้ากว่า หนากว่า รัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะในสมัยนั้น มี 4-5 บริษัทที่เข้าร่วมประมูล เมื่อมีการท้วงติงมา รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ยกเลิกการประมูล               
 
นายประเสริฐ กล่าวว่า เวลาไปเจรจากับต่างประเทศใช้ยี่ห้อประเทศไทย คนไทย ข้าวไทยไปเจรจาหรือไม่ แต่เมื่อสำเร็จกลับยกให้เอกชนทำ และการอนุมัติปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทสยามอินดิก้าเพื่อ ซื้อข้าว 3 แสนตันล๊อตนี้  ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ยังไม่รู้เลย เหมือนกับเอาเงินจากธนาคารกรุงไทยไปจ่ายให้กับอคส. ซึ่งปัจจุบันบูล็อคได้ทยอยเบิกข้าวไปแล้ว 1.5 แสนตัน ส่วนที่เหลือให้ชะลอไว้ก่อน  ไหนว่าการขายข้าวแบบจีทูจีเป็นความลับ  แต่ปิดหูปิดตาประชาชน  เป็นเพราะให้เอกชนดำเนินการใช่หรือไม่  ทั้งนี้สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการขายข้าวแบบจีทูจี กับประเทศอินโดนิเซียและบังคลาเทศ ซึ่งไม่มีอะไรปิดบัง ทั้งที่เป็นเงินจำนวนมหาศาล และมีการเชิญชวนบริษัทต่างๆให้มาประมูลอย่างทั่วถึง
 
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า   บริษัทสยามอินดิก้า มีความเชื่อมโยงกับบรัษัทเพรซิเด้นอะกริ เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการประมูลข้าวในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ กว่า 3.8 แสนตัน  เป็นบริษัทที่เดินเข้าออกกระทรวงพาณิชย์ ได้รับผลประโยชน์จากการขายข้าว  ได้ลดค่าประกันสัญญา แต่ต่อมาบริษัทดังกล่าวทำให้ อคส.เสียหายถึง4,800 ล้านบาท ซึ่งต่อมาบริษัทดังกล่าวล้มละลาย ทำให้ อคส.ไม่ได้รับค่าเสียหายแม้แต่แดงเดียว ต่อมาบริษัทเพรสซิเด้นฯ มาตั้งบริษัทไหม่ ใช้ชื่อบริษัทสยามอินดิก้า โดยมีรายชื่อกรรมการบริหารบริษัทเป็นชุดเดียวกัน ครั้งนี้บริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์จากการประมูลข้าวจำนวน 3 แสนตัน แต่ก็เป็นบริษัทนี้ที่ในอดีตเคยทำให้ อคส.เสียหาย แต่ทำไมรัฐบาลยังทำธุรกิจกับบริษัทนี้อยู่ เพราะทำให้อสค.เสียหาย มีประวัติไม่ดี ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลได้  ซึ่งตนเชื่อว่าต้องมีเงินทอนกลับมาแน่นอน แต่ไปเข้ากระเป๋าใครต้องตอบให้ได้
 
“นายกฯรู้ยิ่งกว่ารู้ เพราะเป็นนักธุรกิจ ว่า 2 บริษัทนี้โคลนนิ่งกันมา มีคุณสมบัติไม่ชอบ และมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งไปสู่การทุจริต  ดังนั้นอยากให้นายกฯ เปิดเผยว่า อคส.รับเศษเงินมาเท่าไหร่ หายไปเท่าไหร่ ตกหล่นอยู่ที่ไหนบ้าง ขอให้มาเปิดเผยในสภาฯแห่งนี้ นี่เป็นสิ่งที่ผมเสียใจและไม่อาจให้นายกฯอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป”นายประเสริฐ กล่าว
 
 
'พุทธิพงษ์' อภิปรายจำนำมันสำปะหลังกินส่วนต่าง-เอื้อประโยชน์พวกพ้อง
 
26 พ.ย. 55 - เมื่อเวลา 20.30 น. ที่รัฐสภา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์  อภิปรายโครงการรับจำนำมันปะหลังว่า รัฐบาลได้ยกเลิกโครงการรับประกันราคามันสำปะหลังและเปลี่ยนเป็นโครงการรับ จำนำ แต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการโครงการรับจำนำได้ตั้งแต่เดือนพ.ย.54 –ม.ค.55 รวมระยะเวลา 3 เดือน และเมื่อดำเนินการได้รัฐบาลได้ประกาศว่าราคาที่รัฐบาลตั้งไว้คือ 2.75 บาท เดือนกุมภาพันธ์ 2.80 บาท ในเดือนมีนาคม 2.85 บาทในเดือน เมษายน และ 2.90 บาทในเดือนพฤษภาคทม ต่อกิโลกรัม
 
"เมื่อถึงเวลาเกษตรกรนำสำปะหลังไปจำนำกลับได้ราคาเพียง 2.50 บาท ต่อกิโลกรัมเท่านั้น จึงอยากถามว่าเงินส่วนต่างที่เหลือหายไปไหน และเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการสวมสิทธิ์โดยนำมันสำปะหลังจากประเทศเพื่อบ้านมาเข้า โครงการรับจำนำ " นายพุทธิพงษ์กล่าว
 
การรับซื้อมันสำปะหลังรัฐบาลนำไปขายให้ใครเนื่องจากมันสำปะหลังที่อยู่ ในมือรัฐบาลมีถึง 2.2 ล้านตันต่อมาซึ่งมาทราบภายหลังว่ารัฐบาลได้ขายไปในลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่ก็ไม่มีรายละเอียดข้อมูลไม่ทราบว่าขายให้ประเทศใดและไม่ได้เปิดแอลซีและ ไม่รุ้ว่าขายไปเท่าไร และยังทราบมาว่าไม่ได้เป็นการขายแบบจีทูจีอย่างแท้จริง เพราะมีบริษัทที่คนไทยเป็นเจ้าของไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อขายมัน สำปะหลังแบบจีทูจีกับจีน
 
หลังจากนั้นนายนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี ได้อภิปรายโจมตีรัฐบาลในโครงการแทรกแซงสินค้าการเกษตรอย่างเช่นหอมแดงที่ ปล่อยให้มีการทุจริตใน อคส. และสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึง น.พ.สุกิจ อัถโถปกรณ์' ส.ส.ตรัง ได้อภิปรายเรื่องยางพารา
 
 
'หมอวรงค์' อภิปรายรัฐขายข้าวจีทูจีให้บริษัทผี "ไทย - จีน"
 
26 พ.ย. 55 - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต่อประเด็นการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่า การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลโกหก เนื่องจากการตรวจสอบจากเอกสารแล้วพบว่า ในจำนวนข้าวที่รัฐบาลว่าจะขาย ในจำนวน 7.32 ล้านตันนั้นเป็นการซื้อขายให้กับบริษัทผี ของคนไทย และของบริษัทจีน ซึ่งเป็นบริษัทผี ซื้อแค่ชื่อบริษัทเพื่อมาทำสัญญาเท่านั้น โดยบริษัทจีนที่ว่านั้นชื่อ GSSG IMP AND EXP.CORPตั้งอยู่ที่นครกวางเจา ประเทศจีน โดยในเอกสารรับมอบอำนาจบริษัทดังกล่าว ระบุว่า นายรัฐนิธ โสจิรกุล เป็นผู้มีอำนาจของบริษัท ลงนามมอบอำนาจให้กับนายนิมล รักดี มีที่อยู่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ให้เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามแทน ในการซื้อขายข้าวตามสัญญารัฐต่อรัฐ จำนวน 5 ล้านตัน โดยจากการตรวจสอบแล้วพบว่านายรัฐนิธ มีชื่อเล่นว่า "ปาล์ม" อายุ 32 ปี ผู้ช่วยลำดับที่ 3 ของ นางระพีพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเมื่อตรวจสอบบัญชีธนาคารกรุงไทย พบว่ามียอดเงินค้างในบัญชี จำนวน 64.63 บาทเท่านั้น
 
นพ.วรงค์ อภิปรายต่อว่า ชื่อของนายนิมล ที่เป็นผู้มีอำนาจของบริษัทจีนนั้น ตรวจสอบพบว่า คนในพื้นที่ จ.พิจิตร เรียกว่า "เสี่ยโจ" เป็นมือขวาให้กับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ"เสี่ยเปี๋ยง" และเมื่อตรวจสอบจากเอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า นายนิมล นั้นเป็นคนของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง และถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตรับจำนำข้าว ในปี 46 - 47 สมัยรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในประเด็นนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำ ซึ่งบริษัทเพรซิเดนท์ มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เพราะเมื่อปี 47 "เสี่ยเปี๋ยง" ได้ไปจดทะเบียนบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ทั้งนี้นายนิมล มีชื่อเรียกในวงการว่า "โจ เพรซิเดนท์ พิจิตร" เป็นคนของบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเคยร่วมทุจริตค้าข้าวตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
 
"ประเด็นที่รัฐบาล ยอมนำหัวของบริษัทจีนมาทำสัญญาแบบจีทูจี เป็นเพราะว่าต้องการเลี่ยงการประมูลซึ่งมีราคาสูง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อทำเช่นนี้ จะค้าข้าวกระสอบละ 300 บาท ทั้งที่ราคาข้าวในตลาดจะอยู่ที่กระสอบละ 1,500 - 1,555 บาท ดังนั้นเมื่อค้าข้าวกระสอบละ 300 บาท จำนวนที่รัฐบาลว่าจะขายทั้งหมด 7.32 ล้านตัน จะมีค่าส่วนต่างถึ 2 หมื่นล้านบาท"น.พ.วรงค์ อภิปราย
 
น.พ.วรงค์ อภิปรายต่อว่าสำหรับข้าวที่มีการซื้อขายพบว่าถูกนำไปไว้ที่โกดัง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นโกดังเก็บข้าวของบริษัทสยามเพรซิเดนท์ โดยใช้วิธีการเทข้าวเก็บไว้ในโกดัง แทนเก็บไว้ในกระสอบ โดยทราบว่าเมื่อช่วง 5 พ.ค. - 16 ก.ค. มีการนำข้าวไปไว้ถึง 4.1 แสนกระสอบ ทั้งนี้ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้น นายกฯ ทราบข้อมูลและมีการสมรู้ร่วมคิดกับรัฐมนตรีในการกระทำทุจริต ตามที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล
 
นพ.วรงค์ อภิปรายต่อว่าจากการตรวจสอบของการบันทึกเบิกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีการอำพรางชื่อบริษัทที่จะส่งมอบข้าว โดยใบบันทึกช่วงต้นพบมีการบันทึกบริษัทรับข้าวว่า "สยามเอริก้า" แต่ช่วงท้ายของบันทึกเบิกข้าว เจ้าหน้าที่พิมพ์ว่าสยามอินดิก้า ดังนั้นจึงถือว่ามีการลับลวงพราง
 
ผู้สื่อข่าวรายว่าช่วงที่ นพ.วรงค์อภิปรายนั้น ส.ส.เพื่อไทยได้ลุกประท้วงอย่างต่อเนื่อง
 
 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน, เนชั่นทันข่าว, มติชนออนไลน์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น