องค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ต่อไปขอใช้โดยสั้นว่า กรรมการสิทธิฯ) ได้ออกมาติงการออกคำสั่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์เช้าวันนั้นว่าใช้ แก๊สน้ำตาเร็วไปหรือไม่ พร้อมแนะให้ใช้รถกระจายเสียงที่มีกำลังขับความดังที่มากกว่านี้เพื่อจะได้ ส่งสารไปยังผู้ชุมนุมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะมีการประชุมกรรมการสิทธิฯ ต่อกรณีนี้ในวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน (อ่านข่าวเต็ม ๆ ได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/pol/308995)
ข่าวนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่น้อย มีการกล่าวเสียดสีแดกดันพบเห็นได้ตามหน้าเฟซบุ๊คว่ากรรมการสิทธิฯ มีสองมาตรฐาน การชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทยมักได้รับการจับตาและพร้อมเป็นปาก เสียงให้เสมอ ในทางกลับกันการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปช. เมื่อพฤษภาคม 2553 กลับได้รับการเพิกเฉย ทั้ง ๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจากกระสุนจริงปลิดชีพถึง 98 ชีวิต) หากเมื่อเทียบระดับความรุนแรง จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตแล้ว เหตุการณ์ปี 2553 ถือเป็นเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวที่มีการสังหารกันกลางกรุง ทว่ากรรมการสิทธิฯ แทบไม่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ผู้สั่งการเลยแม้แต่น้อย
ผู้ติดตามการเมืองหลายคนตั้งคำถามต่อกรรมการสิทธิฯ ถึงบรรทัดฐานในการพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าสิ่งใดคือการละเมิดหรือไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง รวมถึงบทบาทในการออกมาพูดต่อสาธารณะ เพราะดูหลายครั้งหลายเหตุการณ์ที่ชาวบ้านผู้ติดตามการเมืองมองเห็นว่านี่ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน (โดยเฉพาะในทางการเมือง) กรรมการสิทธิฯ ก็ดูนิ่งเฉยจนไม่รู้แน่ว่าบทบาทเหล่านี้ควรมีตอนไหนอย่างไร
เท่าที่ผมติดตามอ่านข่าวทุกวี่ทุกวัน ได้คุยกับนักข่าวที่รู้จัก เราก็มักมีการพูดถึงกรรมการสิทธิ์ฯ ในแง่การตั้งคำถามต่อหน้าที่ บทบาท (และโดยมากมักทำกันแบบเล่น ๆ ด้วยลีลาแดกดันประชดประชัน) แต่โดยจริง ๆ แล้วยังไม่มีการสำรวจ ตรวจสอบ การทำงานของบุคคลกลุ่มนี้อย่างจริงจัง โดยลักษณะองค์กร กรรมการสิทธิฯ ก็มีหน้าที่ไม่ต่างจาก Watchmen ที่คอยเฝ้าดูความไม่เป็นธรรมในสังคม แล้วทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการยื่นฟ้องหรือเรียกร้องรักษาสิทธิอันถูก ละเมิด ทว่าตัว Watchmen เองก็ต้องถูกตรวจสอบได้เช่นกัน มิฉะนั้นแล้วอำนาจที่มีอยู่ในมือ หากถูกใช้อย่างบิดเบือน ก็รังแต่จะสร้างปัญหาตามมา
ตัวสื่อมวลชนเองน่าจะเป็นกลุ่มองค์กรที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบการทำ งานของกรรมการสิทธิฯ อย่างจริงจัง คำถามที่พึงถามเพื่อความกระจ่างคือ บรรทัดฐานใดที่กรรมการสิทธิฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดสถานการณ์ว่าเรื่องใด “ละเมิด” หรือ “ไม่ละเมิด” เพราะตอนนี้ดูการวัดน้ำหนักชั่งตวงดูไม่มีเกณฑ์กลางหรือหลายครั้งก็ไม่ตรง กับความรู้สึก หากมีการทักท้วงหรือตรวจสอบจากสื่อมวลชนบ่อยครั้งต่อมาตรฐาน ย่อมส่งผลให้ถูกจับตามองโดยสังคมอย่างสม่ำเสมอ
สืบเนื่องจากบรรทัดฐาน บทบาทในการพูดต่อสาธารณะต้องเป็นสิ่งที่สื่อจับตามองและวิเคราะห์วิพากษ์ อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะกรณีที่รุนแรงแต่ไม่พูด (หรือแสร้งปิดตาไม่รู้ไม่เห็น) เพราะการแถลงต่อสาธารณะของกรรมการสิทธิฯ นั้นต้องมีลักษณะที่เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติในทำนองคนกลุ่มหนึ่งถูกปฏิบัติถูกละเมิดไม่เป็นไร แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งโดยกระทำแล้วเต้นเร่าออกมาเป็นปากเสียงแทนทันที ที่ผ่านมาการทำงานของกรรมการสิทธิฯ ช่างน่าสงสัยยิ่งต่อการเป็นกลาง และมองเหตุการณ์โดยไม่ใช้อคติเป็นสำคัญ
หากกรรมการสิทธิฯ ยังปฏิบัติงานโดยขาดการตรวจสอบอย่างจริงจัง แถมหลาย ๆ ครั้งยังคล้ายกับมีอคติเป็นตัวนำในการเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ เพียงเพราะไม่เกรงกลัว โดยถือตนเป็นองค์กรอิสระ เชื่อได้ว่าในระยะอันใกล้กรรมการสิทธิฯ ย่อมเผชิญกับวิกฤติศรัทธายิ่งกว่าทุกวันนี้เป็นแน่ ดังนั้นเป็นการดีที่สังคมโดยเฉพาะสื่อมวลชนจะต้องจับจ้อง จับตามอง ตั้งคำถามต่อการทำงานของกรรมการสิทธิฯ อย่างเข้มข้น
ผมเองเชื่อมั่นสื่อมวลชนในการเเป็นธงนำสำหรับเรื่องนี้ และคาดว่าเราจะได้เห็นองค์กรอิสระองค์กรนี้ที่โปร่งใสมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น