แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ศรีบูรพา : พุทธศาสนิกชาวมาร์กซิสต์

ที่มา ประชาไท


ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (พ.ศ. 2448-2517) นอกจากจะเป็นนักการหนังสือพิมพ์ นักเรียกร้องเสรีภาพแล้ว เขายังเป็นนักคิดแนวสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ในยุครุ่งเรืองของกระแสสังคมนิยม ไทยช่วงทศวรรษ 2490 ด้วย และก็เช่นเดียวกับปัญญาชนฝ่ายซ้ายในยุคนั้น อย่างปรีดี พนมยงค์ สมัคร บุราวาศ ที่ ต่างผลิตความคิดว่าด้วยสังคมนิยมกับพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ดังที่เพื่อนร่วมชะตากรรมในคุกคนหนึ่งของกุหลาบได้กล่าวถึงเขาว่า “นอกจากจะเป็นชาวมาร์กซิสต์ที่ดีแล้วกุหลาบยังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุ่มเทศึกษากัมมัฏฐานและพระอภิธรรมตลอดเวลาที่ถูกจำ คุก”[1]
กุหลาบให้ความสนใจและปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพุทธทาสภิกขุมาก การติดต่อของทั้งสองเริ่มจากพุทธทาสภิกขุส่งจดหมายไปหากุหลาบเพื่อขอตีพิมพ์ บทความ เรื่อง ชีวิตกับนิพพาน ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ[2]และ มีการติดต่อกันทางจดหมายเรื่อยมา ขณะเดียวกันทุกครั้งที่พุทธทาสภิกขุแสดงปาฐกถา ชุดพุทธธรรม นั้น กุหลาบได้ติดตามฟังและย่อความลงหนังสือพิมพ์ทุกครั้ง[3]และงานเขียนทางพระพุทธศาสนาของเขาต่างได้รับอิทธิพลจากพุทธทาสภิกขุด้วย[4]  ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2495 กุหลาบ(และวิลาศ มณีวัตร) ได้เดินทางไปสวนโมกข์เพื่อศึกษาธรรมะกับพุทธทาสภิกขุเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และในปีเดียวกันนี้เองที่กุหลาบถูกจับกุมในเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏสันติภาพ ระหว่างถูกจองจำนี้เองที่ได้ฝึกวิปัสสนาอย่างจริงจังพร้อมๆกับบรรดานักโทษ การเมืองอื่นๆโดยการชี้แนะของพระพิมลธรรม และได้ผลิตงานเขียนทางพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งออกเผยแพร่ โดยเริ่มตั้งแต่ “อุดมธรรม” ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในวารสาร วิปัสสนาสาร ของสำนักวัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ.2499 - 2500 โดยใช้นามปากกาว่า ข.ช.กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึง ผู้ต้องขังชายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ส่วนเรื่อง “สนทนาเรื่องพุทธศาสนา” ซึ่งในนามปากกาว่า อุบาสก นั้นตีพิมพ์ในนิตยสาร กระดึงทอง สลับกับเรื่อง การบูชาอันสูงสุด เพื่อร่วมฉลองงาน 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงพ.ศ.2499 -2500 เช่นเดียวกัน[5]ในบั้นปลายนั้นกุหลาบยังคงสนใจฝึกปฏิบัติธรรมตราบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อ พ.ศ.2517 ขณะลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศจีน[6]
กุหลาบจึงเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ถือศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า เขาคือ “พุทธศาสนิกชาวมาร์กซิสต์” การพินิจพิเคราะห์การตีความพระพุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ของเขาจึงเป็นสิ่งที่ น่าสนใจ
1.คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ศัตรูของพระพุทธศาสนา
ขณะที่รัฐบาลและปัญญาชนฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นต่างโหมสร้าง กระแสว่า คอมมิวนิสต์มาศาสนาหมด / คอมมิวนิสต์จะจับพระไปไถนา /คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูของศาสนา กุหลาบได้โต้แย้งโดยอ้างข้อมูลจากสมณทูตที่เดินไปยังจีนฝนขณะนั้นว่า ศาสนาและวัดวาอารามยังเจริญมั่นคงดีภายใต้ระบอบจีนคอมมิวนิสต์ ประชาชนยังมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา การที่รัฐบาลไทยกระทำการโฆษณาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่หยาบช้า เพราะ
“...ในที่สุดประชาชนคนไทยก็ได้ทราบความจริงว่า แม้กระเบื้องสักแผ่นหนึ่งของหลังคาโบสถ์ในประเทศจีนก็มิได้แตกไปเพราะการดูหมิ่นศาสนา”[7]
          กุหลาบเห็นว่าทั้งพระพุทธศาสนาและคอมมิวนิสต์ดำรงอยู่ร่วมกันได้ เขากล่าวว่า
มติของมาร์กซ์ เจ้าลัทธิผู้เลื่องลือนามมีว่าประวัติศาสตร์ทั้งปวงประวัติศาสตร์ทั้งปวงคือ “ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” การต่อสู้ของชนชั้น  หมายถึงการต่อสู้ของชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีดเพื่อขจัดเสียซึ่งการกดขี่ขูด รีดทั้งมวลที่มนุษย์ได้กระทำต่อมนุษย์ การต่อสู้ของชนชั้นก็คือการต่อสู้เพื่อที่จะขจัดความทุกข์ในรูปการกดขี่ขูด รีดที่สุมอยู่บนชีวิตของมวลมนุษย์ให้หมดสิ้นไปนั่นเองดังนี้ คำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า ชีวิตคือกองทุกข์ จึงนับว่าสอดคล้องมติของปวงเมธีที่ถอดมติหรือข้อยุติของเขาออกมาจากประวัติ ศาสตร์ด้วย[8]
          ในทรรศนะของกุหลาบ “ลัทธิของทางโลกก็มีเป้าหมายในอันจะขจัดความทุกข์ของมวลมนุษย์ อันเป็นเป้าหมายที่ตรงกับทางธรรม” เพียงแต่ทางธรรมมีของเขตในการพ้นทุกข์กว้างกว่าเท่านั้น แต่แม้กระนั้นก็ตาม “ผู้ที่ศึกษาเข้าใจคำสอนของทั้งสองทางนี้อย่างถูกต้อง...เขาก็ย่อมถือเอาคุณ ค่าอันประเสริฐที่มีอยู่ในคำสอนทั้งสองทาง ไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของตนเองและต่อชีวิตของสังคมได้ตาม อุปนิสัย”[9]
2.จิต  vs วัตถุ
หนึ่งในประเด็นถกเถียงที่สำคัญระหว่างพระพุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ในช่วง ทศวรรษ 2490 ก็คือ ฝ่ายต้านคอมมิวนิสต์อ้างว่าพระพุทธศาสนาเป็นจิตนิยมอันประเสริฐมุ่งความหลุด พ้นทางจิต หรือ นิพพาน ขณะที่คอมมิวนิสต์นั้นเป็นลัทธิอันสามานย์ที่มุ่งหาแต่ความสุขเกษมทางวัตถุ ฝ่ายต้านคอมมิวนิสต์ยังตีความพระพุทธศาสนาด้วยว่า ที่จริงแล้วจิตนั้นมีอำนาจเหนือกายสังขาร/วัตถุ ข้ออ้างของคอมมิวนิสต์ที่ว่าจิตเป็นผลิตผลของวัตถุ จึงเป็นความคิดฝ่ายมิจฉาทิฐิ ส่วนในทรรศนะของกุหลาบนั้น เขาชี้ว่า จิตมิได้เป็นอิสระจากร่างกายหรือประสาทสัมผัส เพราะ “จิตมิใช่เป็นสิ่งที่มีตัวตนเป็นเอกเทศ จิตได้เกิด ณ ที่นี้และก็ได้ดับลงไป ณ ที่นี้เช่นกัน”[10] เขาอธิบายว่า จิตที่รับรู้อารมณ์ต่างๆนั้นเป็นแต่ปรากฏการณ์ที่เกิดดับอย่างไม่ขาดสาย[11]อันเป็นผลมาจากประสาทสัมผัสต่างๆถูกกระทบ[12]

3. อัคคัญสูตร : ความชั่วร้ายของระบอบกษัตริย์ [ในเอเชียและยุโรป]
กล่าวโดยสังเขปอัคคัญสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยกำเนิดโลก จักรวาล และสังคมมนุษย์ กล่าวคือ โลกแต่เดิมนั้นมีสภาวะอันเป็นอุดมคติ มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีพ มีอาหารให้กินโดยไม่ต้องเพาะปลูก ไม่มีใครตักตวงผลประโยชน์/ส่วนเกินไว้เป็นของตนเอง แต่ต่อมามนุษย์ได้มีเพศสัมพันธ์กันจึงเริ่มสร้างที่พักอาศัย ตักตวงและสะสมผลผลิตไว้เป็นของตนเอง จากสังคมที่สงบสุข ได้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นในหมู่มนุษย์ อันนำมาสู่ความคิดว่าควรที่จะหามนุษย์ผู้หนึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเพื่อ ระงับข้อพิพาทต่างๆในสังคม เรียกว่า มหาสมมติ โดยมหาสมมมตินี้ไม่ต้องทำการเพาะปลูกเพราะมนุษย์อื่นๆจะยอมปันผลผลิตให้ มหาสมมตินี้จึงเป็นที่มาของกษัตริย์องค์แรก[13]
ควรกล่าวด้วยว่า ในขณะปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่างพากันตีความว่าอัคคัญสูตรเป็นที่มาของคติ ที่ว่าภายใต้ระบอบราชาธิปไตยตามคติพระพุทธศาสนานั้น กษัตริย์ทรงได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่แล้วในฐานะมหาสมมติ ขณะเดียวกันทรงตั้งมั่นในทศพิราชธรรมอันเป็นศีลธรรมกำกับ มิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำนองเดียวกับบรรดาการตีความของนักคิดฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ตีความว่า พระสูตรดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะระบอบสังคมนิยม นั้นปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์ฝ่ายพระพุทธศาสนา แต่เป็นระบอบสังคมนิยมที่ดีกว่าของคอมมิวนิสต์เพราะสังคมนิยมตามหลักพระพุทธ ศาสนาที่ว่าเกิดจากทำหน้าตามความแตกต่างทางชนชั้นของคนในสังคม ระบอบสังคมนิยมตามหลักพระพุทธศาสนานี้จึงดีกว่าทั้งวิธีการที่นุ่มนวล สมานฉันท์ มิใช่โค่นล้มถอนรากตามแนวทางปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ อีกทั้งจุดมุ่งหมายก็แสนประเสริฐเพราะมุ่งหลุดพ้นทางจิตไม่ใช่แค่วัตถุดัง ที่คอมมิวนิสต์เพรียกหา
ส่วนกุหลาบนั้นกลับตีความต่างออกไป แม้กระนั้นเขาก็ยอมรับในเบื้องต้นว่า ลักษณะสำคัญบางประการในพระสูตรดังกล่าวมีความสอดคล้องกันดังที่เขากล่าวว่า “ท่านเมธีทางวิทยาศาสตร์สังคมได้สอบสวนค้นคว้าและมีมติไว้ในตอนปลายศตวรรษ ที่ 19”[14] ในขณะที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมตีความอัคคัญสูตรว่าสังคมไทยแตกต่าง/เหนือ กว่าและไม่ควรเป็นประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์อย่างไร กุหลาบกลับเห็นว่าลักษณะวิวัฒนาการของสังคมในอัคคัญสูตรนั้นตรงกับการ วิเคราะห์วิวัฒนาการสังคมตามแนวทางของคอมมิวนิสต์  ดังที่เขากล่าวว่า
“มติของมาร์กซ์ เจ้าลัทธิผู้เลื่องลือนามมีว่าประวัติศาสตร์ทั้งปวงคือ “ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของชนชั้น” การต่อสู้ของชนชั้น หมายถึงการต่อสู้ของชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีดเพื่อขจัดเสียซึ่งการกดขี่ขูด รีดทั้งมวลที่มนุษย์ได้กระทำต่อมนุษย์ การต่อสู้ของชนชั้นก็คือการต่อสู้เพื่อที่จะขจัดความทุกข์ในรูปการกดขี่ขูด รีดที่สุมอยู่บนชีวิตของมวลมนุษย์ให้หมดสิ้นไปนั่นเอง
ดังนี้ คำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า ชีวิตคือกองทุกข์ จึงนับว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ทีเดียว ทั้งยังสอดคล้องกับมติของปวงเมธีที่ถอดมติหรือข้อยุติของเขาออกมาจากประวัติ ศาสตร์ด้วย[15]
          กุหลาบตีความว่า กษัตริย์/ราชาในอัคคัญสูตรนั้นมีที่มาจากความยินยอมพร้อมใจของปวงชน และมีหน้าที่ทำให้ปวงชนพอใจ หรือกล่าวออกมาว่า “พอใจๆ” / “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”[16] อย่างไรก็ตามนานวันเข้าตำแหน่งมหาสมมติที่ประชาชนพร้อมในกันยกขึ้นเป็นหัว หน้าหรือกษัตริย์นี้ ก็ถูกส่งต่อกันทางสายโลหิตหรือการผูกขาดกันในตระกูล กษัตริย์วางตัวเหินห่างและประพฤติตัวเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน อ้างเทวสิทธิ์ในการปกครองหลงลืมว่าได้รับฉันทานุมัติจากราษฎร กุหลาบชี้ว่าท้ายที่สุดการประพฤติตัวเยี่ยงนี้ก็นำความวิบัติบรรลัยมาสู่ “พระราชา” ทั้งหลายทั้งในเอเชียและยุโรปที่ขูดรีดพลเมืองของตน กุหลาบกล่าวว่า
“เมื่อตำแหน่งกษัตริย์ได้กลายเป็นตำแหน่งผูก ขาดไปแล้ว กษัตริย์หรือหัวหน้าของชุมชนก็วางตนเหินห่างประชาชน แล้วทำตนเป็นเจ้านายอันแท้จริงของประชาชนขึ้นมา เมื่อเป็นดังนี้ กษัตริย์ก็อาจมิได้เป็นเป็นราชาคือผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี และนอกจากจะมิได้เป็นผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดีแล้ว ยังซ้ำกลับเป็นผู้ยังคนทั้งหลายให้เดือดร้อนอีกด้วย เช่นเกณฑ์ผู้คนทำสงคราม...รวบเอาที่ดินอันเป็นสมบัติของชุมชนมาเป็นสมบัติ ส่วนตัวของกษัตริย์ และแจกจ่ายให้บริวารของตน...และบางทีก็ริบที่ดินของชุมชนราษฎรผู้บากจนดื้อๆ ดังที่พวกชาวนาไอริชได้เผชิญกับการถูกปล้นโดยกษัตริย์อังกฤษมาแล้ว เมื่อพวกหัวหน้าของชุมชนซึ่งเรียกกันว่าหรือด้วยนามอื่นใด  ได้นำห่างไกลออกไปจากประชาชน โดยลืมความเป็นจริงดั้งเดิมว่า ผู้เป็นหัวหน้าหรือกษัตริย์นั้นมาจากประชาชนเป็นผู้ที่มหาชนสมมติ เป็นผู้ที่มหาชนได้เลือกตั้งขึ้น เมื่อผู้เป็นหัวหน้าของชุมชนหรือกษัตริย์เอาใจออกห่างประชาชน จนถึงประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน และแทนที่พระราชาผู้ยังคนให้ยินดี กลับกลายเป็นผู้ยังความทุกข์ยากยุคเข็ญให้เกิดแก่ประชาราษฎร์อีกเล่า ความวิบัติจึงบังเกิดแก่กษัตริย์จำพวกนั้น ดังปรากฏ ดังปรากฏข้อความจริงอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ของนานาชาติ ทั้งในยุโรปและเอชีย[17](การเน้นเป็นของผู้เขียน)

หมายเหตุผู้เขียน: บทความสั้นๆชิ้นนี้อุทิศเนื่องในโอกาส6ทศวรรษกรณีกบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน 2495


[1] ดู สุภัทร สุคนธาภิรมย์ รำลึกถึงคุณกุหลาบสายประดิษฐ์ ใน เพื่อนร่วมคุก 2495-2500และสหธรรมิก.รำลึกถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์.(พิมพ์ครั้งที่2)นนทบุรี: สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2528. น.9.
[2] ดูจดหมายพุทธทาสภิกขุถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์ ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2481 ใน กุหลาบ สายประดิษฐ์. อุดมธรรมกับผลงานชุดพุทธศาสนา .กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2531. น.265-286.
[3] พระประชา ปสนฺนธมฺโม.(สัมภาษณ์).เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา อัตชีวประวัติของท่านพุทธทาส.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2534. น.321-322, 400-401.
[4] รวมถึงพระพิมลธรรมด้วย ดูกุหลาบ สายประดิษฐ์. อุดมธรรมกับผลงานชุดพุทธศาสนา น.34.
[5] ดู จากสำนักพิมพ์ เรื่องเดียวกัน ไม่ปรากฏเลขหน้า.
[6] Tomomi Ito. Discussion in the Buddhist public sphere in twentieth-century Thailand : Buddhadasa Bhikkhu and his world .p.237.
[7] ดูกุหลาบ สายประดิษฐ์. อุดมธรรมกับผลงานชุดพุทธศาสนา น.153.
[8] เรื่องเดียวกัน น.205.
[9] เรื่องเดียวกัน น.206.
[10] เรื่องเดียวกัน น.72.
[11] เรื่องเดียวกัน น.44.
[12] เรื่องเดียวกัน น.48-79.
[13] โปรดดูเพิ่มเติมใน สมบัติ จันทรวงศ์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช.ความคิดทางการเมืองและสังคมไทย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2523. น.1-39.
[14] เรื่องเดียวกัน น.192.
[15] เรื่องเดียวกัน น.205.
[16] เรื่องเดียวกัน น.200.
[17] เรื่องเดียวกัน น.200-201.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น