แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

‘สันติอโศก’ ณ ตำแหน่งศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ บนเส้นทางศาสนากับ ปชต.

ที่มา ประชาไท


โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการที่สันติอโศกประกาศตัวเป็นอิสระจากการปกครองของมหาเถรสมาคม เพราะ (1) ระบบสมณศักดิ์ของมหาเถรสมาคมเป็นระบบฐานันดรศักดิ์ที่ขัดต่อหลักการพื้นฐาน ของความเป็น “สังฆะ” ของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ยึดหลักความเสมอภาค ไม่มีชนชั้น ไม่มีฐานันดรศักดิ์ (2) โครงสร้างอำนาจมหาเถรสมาคมที่ขึ้นต่อระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์ดังกล่าว เป็นโครงสร้างเผด็จการ (3) สังฆะภายใต้อำนาจมหาเถรสมาคมมีบทบาทค้ำจุนสถานะอำนาจบารมีของระบบอำนาจจารีต โดยการอ้างศีลธรรมทางพุทธศาสนาไปสนับสนุนคุณวิเศษของชนชั้นปกครอง ขาดสำนึกที่จะปกป้องราษฎรที่ถูกกดขี่ วัฒนธรรมสังฆะภายใต้ระบบเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรม ประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน
ฉะนั้น การที่สันติอโศกประกาศตัวเป็นอิสระจากการปกครองของมหาเถรสมาคม จึงมีความหมายสำคัญว่า เป็นไปได้ที่จะมีสังฆะที่เป็นอิสระจากรัฐ ปกครองกันเองตามหลักธรรมวินัย ไม่รับสมณศักดิ์หรือตำแหน่งการปกครองตั้งแต่เจ้าอาวาส อุปัชฌาย์ ฯลฯ ที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย แต่ชุมชนแห่งสังฆะนั้นจัดระบบการปกครองกันเองตามหลักการ/วิธีการที่ระบุไว้ ในธรรมวินัย ไม่รับงบประมาณจากรัฐ เป็นองค์กรสังฆะในรูปเอกชนที่จัดการเรื่องการปกครอง การศึกษา ปฏิบัติธรรม การตรวจสอบกันเองทางธรรมวินัย และอื่นๆ อย่างเป็นตัวของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อดีของชุมชนสันติอโศก นี่คือ”โมเดล” ของ “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” ซึ่งผมคิดว่าพุทธศาสนาในอนาคตน่าจะมีกลุ่มต่างๆ ที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองในแบบต่างๆ มากขึ้น
โดยความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง หรือแนวทางของชาวพุทธกลุ่มต่างๆ นั้น จะเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับชาวบ้านเขายอมรับหรือไม่ เพราะคนทั่วไปไม่ได้โง่ เราต้องเชื่อว่า ผู้คนมีเหตุผลที่จะตัดสินถูก ผิด ด้วยตนเอง ตราบใดที่ชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง พวกเขาย่อมมีอิสระที่จะเลือกแนวทางศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ศาสนาของตนได้เต็มที่ ใครสอนถูก สอนผิด เป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรวิพากษ์วิจารณ์กันไป ไม่ใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการ
ผมคิดว่าชุมชุนสันติอโศกคือชุมชนตัวอย่างของชุมชนพุทธที่เป็น อิสระจากรัฐ ที่ยืนอยู่ได้ด้วยขาของตนเอง และนี่จะเป็นแบบอย่างให้เกิดชุมชนพุทธอื่นๆ ต่อไป แม้ชุมชนนั้นๆ อาจมีแนวทางเฉพาะของตนเองที่แตกต่างกันออกไป
แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษคือ “บทบาททางการเมืองของสันติอโศก” ผมคงไม่บอกว่า การที่สันติอโศกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นสิ่งที่ผิดด้วยเหตุผลว่า “ศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เพราะตามข้อเท็จจริงไม่มีศาสนาที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่จริง กฎหมายควรจะเปิดให้พระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำ เนื่องจากพระสงฆ์คือพลเมืองของรัฐ แม้แต่พุทธะเองก็ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแบบสมัยโบราณ ยุคนั้นกษัตริย์คือรัฐาธิปัตย์ และกษัตริย์เองก็มักมาขอคำปรึกษาจากพุทธะในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องลดน้ำหนัก ไปจนถึงเรื่องการปกครองบ้านเมือง การทำสงคราม พุทธะเองก็เลือกที่จะให้คำแนะนำไปตามที่เห็นเหมาะสมจึงสอนคุณธรรมของผู้ ปกครอง และคุณธรรมอื่นๆ ที่เป็นไปเพื่อสันติสุขของสังคม
โครงสร้างมหาเถรสมาคมเองก็เป็นโครงสร้างสังคมการเมือง คือมีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง มีอำนาจรัฐ และก็เป็นโครงสร้างเผด็จการที่รับใช้ชนชั้นปกครอง ฉะนั้น จะว่าคณะสงฆ์ปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไร การเทศนา และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในลักษณะต่างๆ เพื่อยกย่องคุณความดีของชนชั้นปกครอง ปลูกฝังจิตสำนึกจงรักภักดีแก่ประชาชนทั่วไป จะว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไร
จึงไม่ใช่สันติอโศกเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และการเกี่ยวข้องกับการเมืองก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือเลวร้ายในตัวมันเอง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าสันติอโศกเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร? ผมคิดว่าบทบาททางการเมืองของสันติอโศกมีแง่มุมที่ควรพิจารณาอย่างวิพากษ์ (Critical) คือ
1) การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของสันติอโศกเป็นสิทธิที่จะทำได้ตามรัฐ ธรรมนูญ แต่เมื่อออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องยอมรับหลักความเสมอภาค กล่าวคือ ความคิด ความเชื่อทางศาสนาที่นำมาอ้างในประเด็นปัญหาสาธารณะต่างๆ นั้น ต้องไม่ใช่ความคิด ความเชื่อที่เป็นสัจธรรม ศักดิ์สิทธิ์ วิเศษกว่าความคิดความเชื่ออื่นๆ ทั้งสิ้น มันเป็นเพียงความคิดความเชื่อหนึ่งที่นำมาแชร์กับความคิดความเชื่ออื่นๆ อย่างที่จะถูกตั้งคำถาม โต้แย้ง หรือโยนทิ้งได้เสมอเหมือนกัน
ในขณะเดียวกันบุคคลทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นผู้ทรงศีลธรรมใดๆ เมื่อออกมายืนอยู่ใน “พื้นที่ทางการเมือง” ทุกคนคือ “คนเหมือนกัน” ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมที่คนอื่นๆ จะต้องเชื่อฟังหรือยำเกรงเป็นพิเศษ พระไม่ใช่เป็นเพียงผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องยอมรับการถูกเถียง ถูกด่า ถูกประณามได้ด้วย เหมือนพฤติกรรมการ “หนีตาย” ที่เสมอกันไม่ว่าคนหรือพระ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพระอริยะอย่างสมณะโพธิรักษ์ (ตามที่ชาวอโศกเชื่อกัน) ก็ต้องใช้วิธีปกป้องชีวิตตัวเองเหมือนคนธรรมดาอื่นๆ หาได้เหาะเหินเดินอากาศหนีตายแต่อย่างใดไม่ ดังภาพข้างล่าง
2) แต่ปัญหาคือ ขณะที่สันติอโศกเป็นศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งความเป็นอิสระจากรัฐนั้นเกิดจากการไม่ยอมรับอำนาจมหาเถรสมาคม และอำนาจมหาเถรสมาคมก็เป็นระบบอำนาจที่ยึดโยงกับระบบอำนาจเชิงจารีตประเพณี แต่บทบาทการต่อสู้ทางการเมืองของสันติอโศก (อย่างน้อยตั้งแต่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรเป็นต้นมา) กลับเป็นบทบาทที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจเชิงจารีตดังกล่าว
มันจึงเป็นเรื่องน่าชวนหัวว่า สันติอโศกปฏิเสธมหาเถรสมาคม เพราะอ้างว่ามหาเถรสมาคมเป็นเผด็จการ แต่ตัวเองกลับสนับสนุนระบบอำนาจอันเป็นที่มาของระบบเผด็จการแบบมหาเถรสมาคม
การอ้างว่า “ระบอบทักษิณ” เป็นเผด็จการัฐสภา แต่มันใช่วิธีการที่ถูกต้องหรือที่จะขจัดเผด็จการที่กล่าวอ้างนั้นด้วยการ อาศัยกองทัพ หรืออำนาจจารีตที่ตรวจสอบไม่ได้ นี่ต่างหากที่สันติอโศกอธิบายกับสังคมไม่ได้ นอกจากแก้เกี้ยวว่า ถ้าเผด็จการล้มระบอบทักษิณเป็น “เผด็จการโดยธรรม” เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วมันมีที่ไหนครับเผด็จการโดยธรรมอย่างที่ว่า สันติอโศกก็ไม่มีคำตอบว่า จะผลักดันเผด็จการโดยธรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้น การวางบทบาททางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่ประชาชนเลือกโดยเอาหลังพิงกองทัพและ อำนาจจารีต จึงสะท้อนความขัดแย้งในตัวเอง ความสับสนในความคิดทางการเมืองของสันติอโศกอย่างชัดเจน
3) แม้การยืนยันสันติวิธีในการชุมนุมทางการเมืองจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สันติวิธีแบบสันติอโศกเป็นสันติวิธีเพื่อสนับสนุนโครงสร้างอำนาจจารีต (ที่ ส.ศิวรักษ์ เรียกว่า “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง”) โครงสร้างที่ว่านี้เองที่ถูกนำมาอ้างอิงเพื่อปราบปรามนักศึกษาประชาชนครั้ง แล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้วาระการอ้าง “ขบวนการล้มเจ้า” เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ดังที่สันติอโศกเข้าร่วมมาตลอดและดังกรณีล่าสุดที่สันติอโศกร่วมชุมนุมกับ “องค์การพิทักษ์สยาม” นั้น คือการไม่รู้จักเรียนรู้จาก “บทเรียน” ที่ผ่านมา
เพราะมีแต่การปลดล็อกโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงเพื่อให้ประชาธิปไตย เดินต่อไปได้ตามกระบวนการปกติของมัน โดยมีการตรวจสอบกันตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น เราจึงจะปลดล็อกความรุนแรงทางการเมืองได้ แต่แทนที่สันติอโศกจะสนับสนุนการปลดล็อกดังกล่าว กลับอ้างสันติวิธีสนับสนุนการปกป้องระบบอำนาจที่ล็อกประชาธิปไตยต่อไป
4) จึงเป็นที่น่ากังขาว่า ทำไมสันติอโศกซึ่งมักอ้างศีลธรรมทางศาสนาต่อสู้ทางการเมือง แต่กลับไม่ได้เคารพหลักศีลธรรมแห่งประชาธิปไตย คือหลักเสรีภาพและความเสมอภาคเลย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ซึ่งเคารพศีลธรรมประชาธิปไตยจะสนับสนุน หรือปกป้องโครงสร้างอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ และเป็นโครงสร้างที่ดำรงสถานะของบุคคลที่ไม่เสมอภาคตามหลักประชาธิปไตย
ผมคิดว่าคนที่อ้างศีลธรรม จำเป็นต้องเคารพหลักศีลธรรม หรือซื่อสัตย์ต่อหลักศีลธรรม เพราะไม่ว่าจะอ้างหลักศีลธรรมพุทธศาสนา หรือหลักประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้อ้างจะต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปกป้องระบบอำนาจที่ตรวจ สอบไม่ได้ หรือจะต่อสู้ทางการเมืองโดยยอมรับการอ้างอิงระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้นั้น มาสร้าง “ความชอบธรรม” ในการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การอ้างเช่นนั้นมีแต่แสดงถึง “ความกะล่อนทางศีลธรรม” ที่ชวนสังเวชใจ มันจึงช่วยไม่ได้ที่สันติอโศกจะถูกเรียกว่า “กองทัพทำไม” ดังที่ปรากฏแพร่หลายในโซเชียลมีเดียเวลานี้
ข้อเสนอแนะฉันมิตรอย่างตรงไปตรงมาคือ สันติอโศกสู้เพื่อให้ตนเป็นศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐนั้นดีแล้ว บนตำแหน่งแห่งที่ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐที่ยืนด้วยขาของตนเองนั้นน่าอนุโมทนา แต่บนเส้นทางการเมือง สันติอโศกควรเป็นอิสระจาก “วาระทางการเมือง” ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อันเป็นวาระทางการเมืองที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจจารีตซึ่งเป็นที่มาของ อำนาจมหาเถรสมาคมที่ทำให้สันติอโศกเจ็บปวดมาก่อน
สันติอโศกควรยุติการอ้างสันติวิธีเพื่อสนับสนุนการใช้สถาบัน กษัตริย์มาต่อสู้ทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อยุติความเสียหายอันอาจเกิดแก่สถาบันมากไปกว่านี้ และเพื่อปลดล็อกความรุนแรงอันอาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เช่นนั้นสันติวิธีแบบสันติอโศกจะก่อ “บาปอย่างมหันต์” ต่อประชาธิปไตย และสังคมไทยไม่น้อยไปกว่า หรืออาจยิ่งกว่าที่กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ และกลุ่มนวพลเคยทำมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น