นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินจำนวนมาก
เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชน เกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อน
รวมทั้งความไม่เป็นธรรมจนนำมาสู่กระบวนการต่อสู้ทางสังคม
เพื่อเรียกร้องให้ได้คืนมาซึ่งสิทธิ วิถีชีวิตการดำรงคงอยู่ของชุมชน
วิถีการทำมาหากิน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดังที่เคยเป็น
การเรียกร้องคืนวิถีของชุมชน วิถีแห่งสังคมท้องถิ่นคืนมานั้น
กลับกลายเป็นที่มาของข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ระหว่างประชาชน
ภาครัฐ และกลุ่มนายทุน บทสรุปสุดท้ายของข้อพิพาท
มักถูกนำเข้าบรรจุสู่กระบวนการทางยุติธรรม
เสมือนว่ากระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย
เป็นสิ่งสุดท้ายที่กำหนดชะตาชีวิตของชุมชนว่าจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในวิถี
ดั้งเดิม บนผืนดินเดิมต่อไปได้หรือไม่
ผู้เขียน
ขอยกบางกรณีของปัญหาคดีความที่เกิดจากข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดิน
โดยเฉพาะพื้นที่
ที่ผู้เขียนร่วมทำงานในพื้นที่ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
พบว่า มีชาวบ้านถูกหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น
107 ราย จำนวน 29 คดี
ดังเช่นข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร
จ.ชัยภูมิ ระหว่างชาวบ้านกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)
ที่เกิดขึ้นมาแต่ปี 2521 นั้น กรณีดังกล่าว
อ.อ.ป.ได้ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่
แล้วดำเนินการปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส
ตามเงื่อนไขการสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม
โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4,401 ไร่
ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินพร้อมที่อยู่อาศัยจำนวนกว่า 277 ราย
กรณีสวนป่าคอนสาร
ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งคณะทำงานระดับพื้นที่เมื่อวันที่ 7
กรกฎาคม 2548 พบว่าสวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของชาวบ้านจริง
และมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารให้นำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ได้รับ
ผลกระทบนั้น
ต่อมาเมื่อ 28 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ได้ลงมาตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรายงานผลการละเมิดสิทธิออกมาว่า
การกระทำของกรมป่าไม้ และ
อ.อ.ป.ก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในที่ดินทำกิน
ทั้งที่ผู้เดือดร้อนได้ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนการปลูกสร้างสวน
ป่าคอนสาร
ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดทั้งในสิทธิที่ดินและทรัพย์สินของผู้เดือดร้อน
พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาค
รัฐนั้น ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เดือดร้อน
ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา
พร้อมมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสารตามมติคณะ
ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสวนป่าคอนสาร
รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนให้แก่ผู้เดือด
ร้อน
โดยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนการจัดการและใช้ประโยชน์
ที่ดิน รวมทั้งการจัดเป็นป่าชุมชน ภายใน 90 วัน
นับจากวันที่ยกเลิกสวนป่าคอนสาร
นอกจากนี้
ที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระได้มีการพิจารณากรณีปัญหาดังกล่าว
และมีมติว่าสวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ทำกินชาวบ้านจริง
ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ราษฎรต่อไป
โดยในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ
เมื่อข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แม้การตรวจสอบพื้นที่ของหน่วยงานดังกล่าวจะมีความชัดเจน
แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ยังไม่ดำเนินการใดๆ
รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ก็ยังไม่ปรากฏการแก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
กระทั่งล่วงมาถึงการเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
ได้รวมตัวกันเข้ายึดพื้นที่ทำกินเดิมคืนมา แล้วตั้งชุมชนบ่อแก้ว
ขึ้นมาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552
เพื่อต่อรองให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา
ต่อมา อ.อ.ป.ได้ฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านจำนวน 31 ราย พร้อมบริวาร เมื่อ
27 สิงหาคม 2552 ในข้อหาขับไล่ บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม
ทั้งหมดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว
จ.ชัยภูมิ
เมื่อความขัดแย้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
โดยทาง อ.อ.ป.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในวันดังกล่าวนั้น
ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ให้จำเลย ที่ 1 ถึง
31 ออกจากพื้นที่พร้อมมีคำสั่งให้ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้
ที่จำเลยและบริวารได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท
และห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารอีก
ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว
กระทั่งล่วงมาถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษา
โดยยืนตามศาลชั้นต้น และจำเลยได้ฎีกาในวันที่ 21 มีนาคม 2555
ปมขัดแย้ง กรณีสวนป่าโคกยาว
ส่วนอีกกรณีในพื้นที่สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดินทำกิน
นับแต่มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516
และมีโครงการปลูกสวนป่าด้วยการนำไม้ยูคาฯ มาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528
จนเกิดเป็นกรณีพิพาทที่ชาวบ้านเคยทำกินในพื้นที่มาก่อน
ล่วงมาถึงเมื่อเช้ามืดวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ
ประมาณ 200 นาย โดยการนำของนายอำเภอคอนสาร บุกเข้ามาจับกุมชาวบ้านรวม 10
ราย พร้อมทั้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน
ในข้อหาร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม
โดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์ โดยแยกเป็น 4 คดี
ทั้งหมดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว
จ.ชัยภูมิ ล่าสุดศาลชั้นต้นพิพากษาไปทั้ง 4 คดีแล้ว
คดีแรก เมื่อ 22 พฤษภาคม 2555 ศาลพิพากษานายคำบาง กองทุย อายุ 65 ปี
และนางสำเนียง กองทุย อายุ 61 ปี (สามี-ภรรยา) จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
ส่วนคดีที่ 2 เมื่อ 13 มิถุนายน 2555 ศาลพิพากษานายทอง กุลหงส์ อายุ
72 ปี และนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 48 ปี (สองพ่อลูก) จำคุก 4 เดือน โดยคดีนี้
ศาลได้เพิ่มวงเงินประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,000 บาท
เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกันจำเลยเพียงรายเดียวคือนายสม
ปอง ด้วยนายทอง ยอมเสียสละนอนอยู่ในคุกตามคำสั่งของศาล
เพื่อให้ลูกชายที่มีอาการพิการทางสมอง เป็นโรคประสาท
ได้รับการประตัวออกมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2555 นายแพทย์นิรันดร์
พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวออกมา
คดีที่ 3 วันที่ 9 สิงหาคม 2555 ศาลพิพากษานายสนาม จุลละนันท์ อายุ 59 ปี จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
ในคดีที่ 4 วันที่ 28 สิงหาคม 2555 ศาลพิพากษานายเด่น คำแหล้ อายุ 60
ปี (จำเลยที่ 1) และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 57 ปี (จำเลยที่ 4) ตัดสินจำคุก 6
เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลย อีก 3 ราย คือนายบุญมี วิยาโรจน์ อายุ 51
จำเลยที่ 2 ,นางหนูพิศ วิยาโรจน์ อายุ 70 ปี (ภรรยานายบุญมี)จำเลยที่ 5
และนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ อายุ 54 ปี จำเลยทั้ง 3 รายนี้ ศาลยกฟ้อง
ทั้งกรณีสวนป่าคอนสาร
และสวนป่าโคกยาวที่ผู้เขียนยกขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง
มีคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านที่ถูกนำขึ้นไปแขวนไว้กับกระบวนการ
ยุติธรรมนั้น ถือว่าจะสิ้นสุดได้หรือยัง
บางมุมของชีวิตชาวบ้านก็แสนยากลำบากอยู่แล้ว
เสมือนชีวิตถูกกระหน่ำซ้ำไปที่จุดเดิมอีกในการที่หน่วยงานภาครัฐประกาศเขต
ป่าฯ ทับที่ทำกิน พร้อมกับอาศัยกลไกกระบวนการยุติธรรมมาทำลายชาวบ้าน
ตั้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ โดยนับจำนวนหลายครั้ง
คำพิพากษาจะตกอยู่กับชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิดโดยเสมอ
ถามต่อว่า ถูกต้อง เป็นธรรม กับชาวบ้านคนจนๆ ธรรมดาๆ หรือไม่
หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการให้นำไปสู่สิ่งที่ดีในการแก้ไขได้อย่างไร
หรือจะให้พวกเขา กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่ทำกิน เป็นคนตกขอบของแผ่นดิน
อย่างนั้นหรือไม่
ข้อพิพาทในความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ
ด้วยเปรียบเสมือนเป็นผู้ตัดสิน
กุมชะตากรรมของชาวบ้านที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม
โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน อันเป็นปัญหาวิกฤตของสังคม
จึงเป็นประเด็นเกี่ยวพันอย่างยิ่งในการรวบรวมข้อมูลคดีความ
ข้อกฎหมายที่ใช้ฟ้อง และคำพิพากษาคดีความ
ที่จะทำให้การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความเป็นธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมโดยรวม
ถึงกระนั้นก็ตามในกระบวนการยุติธรรมควรสะท้อนให้สังคมได้รับรู้และเข้า
ใจปัญหาที่ดินทำกินด้วยว่า กลุ่มผู้ถูกคดีและผู้ต้องหา
เป็นเพียงเกษตรกรและคนยากจนในสังคม
เป็นชุมชนและชาวบ้านที่มีวิถีและการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาฐานทรัพยากร
ธรรมชาติ ชุมชนเหล่านั้นเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน
และจัดสรรที่ดินให้อย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นด้วยอำนาจทางกฎหมาย
ควรชี้ให้เห็นว่าในความขัดแย้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน
ที่เป็นอยู่แท้จริงแล้วมีความชัดเจนเป็นอย่างไร
มิใช่เพียงเพื่อพิพากษาให้เสร็จสิ้นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น