แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หากราคาค่าคลื่นความถี่ 3G แพงขึ้น..ประชาชนจะเดือดร้อนหรือไม่

ที่มา ประชาไท


ไม่น่าเชื่อว่าการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สากล 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในประเทศไทยจะมีปัญหาเพียงเพราะประเทศไทยมีคลื่นความถี่ “มาก” เพียงพอสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย (3 ราย) ทำให้ราคาประมูล (ราคาตลาด) ไม่สูงไปกว่าราคาขั้นต่ำมากนัก (ที่จริงแล้วเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติมากเมื่อคลื่นความถี่มีเพียงพอ สำหรับทุกราย) แต่ถึงกระนั้น บางฝ่ายก็มีข้อเสนอว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ กสทช.ควรจะกำหนดราคาขั้นต่ำคลื่นความถี่ให้สูงขึ้นไปอีกมาก ๆ ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้
1. หากค่าคลื่นความถี่สูงขึ้น ผู้บริโภคคงต้องร่วมจ่ายด้วย
ฝ่ายที่มีข้อเสนอให้คิดราคาค่าคลื่นความถี่สูงขึ้นเห็นว่าผู้ใช้บริการ ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าคลื่นความถี่ด้วยโดยให้เหตุผลว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ค่าคลื่นความถี่ถือเป็น “ต้นทุนจม” (sunk cost) เมื่อผู้ประกอบการจ่ายไปแล้ว ก็จะกลายเป็นอดีตที่ไม่มีทางส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในอนาคตของผู้ประกอบ การในการกำหนดอัตราตลาดของค่าบริการโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งฝ่ายนี้เห็นว่าต้องคำนึงถึงแต่เฉพาะต้นทุนส่วนเพิ่ม หรือ marginal cost เท่านั้น)  แต่ข้อสรุปนี้เป็นข้อสรุปที่ไม่ครบถ้วนในทางวิชาการเพราะเป็นเพียงการกล่าว ถึงเศรษฐศาสตร์ Neoclassic เท่านั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์เชิงปฏิบัติการหรือที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral economics) อันรวมถึง Daniel Kahneman (ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์)  ได้ชี้ให้เห็นไปในทางตรง กันข้ามว่าผู้ใช้บริการย่อมจะได้รับผลกระทบ โดยผู้ประกอบการจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการ (โทรศัพท์) ให้สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย (oligopoly) และการแข่งขันในตลาดก็อาจจะลดลงหรือเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยมีตัวอย่างให้เห็น บ้างแล้วในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหภาพยุโรป[2]  ผู้เขียนได้นำเรื่องนี้มาเสนอแล้วซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.prachatai3.info/journal/2012/10/43210 ดังนั้น ในการทำนโยบายสาธารณะนั้นน่าจะสรุป “กลางๆ” ได้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้บริการน่าจะต้องร่วมจ่ายค่าคลื่นความถี่ด้วย เหมือนกันและค่าคลื่นความถี่อาจจำกัดหรือบิดเบือนการแข่งขันในตลาดการให้ บริการ 3G ได้ด้วย
2. จะสามารถนำราคาประเมินที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินไว้มาตั้งเป็นราคาตั้งต้นหรือราคาขั้นต่ำในการ ประมูลได้หรือไม่
การวิจัยโดยคณะเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เสนอให้นำราคาประเมินมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำของการประมูล แต่ได้เสนอไปในทางตรงกันข้ามว่า “หากภาครัฐให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลพอสมควรเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ให้บริการซึ่งมีจำนวนไม่มาก สัด ส่วนของราคาเริ่มต้นต่อมูลค่าคลื่นความถี่ไม่ควรต่ำกว่า 0.67...” ของราคาประเมิน กล่าวคือ ไม่ต่ำกว่า 4,314.8 ล้านบาทต่อชุดเท่านั้น
ซึ่งหมายความว่าหากภาครัฐให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลน้อยกว่าผล ประโยชน์ของผู้บริโภค (เมื่อผู้ให้บริการมีไม่มาก) ราคาตั้งต้นการประมูลก็ควรจะต่ำกว่า 4,314.8 ล้านบาทไปได้อีกมาก
แต่ กสทช. ก็ได้ตั้งราคาขั้นต้นของการประมูลไว้ที่ 4,500 ล้านบาท ซึ่งค่อนไปในทางที่สูง
การจะนำราคาประเมิน คือ 6,440 ล้านบาทมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำเสียเลยนั้นอาจส่งผลร้าย ในเรื่องนี้ก็เช่นกันควรจะพิจารณาหลักวิชาให้หลากหลาย การกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลนั้น นักวิชาการเห็นว่าควรทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เพื่อไม่ให้มีผู้พยายามเข้ามาร่วมประมูลเพียงเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น (โดยไม่ได้เจตนาจะประมูลเพื่อนำคลื่นไปใช้จริง ๆ) อันจะทำให้การดำเนินการประมูลไร้ประสิทธิภาพและเพื่อให้แน่ใจว่ารัฐจะได้ราย ได้พอเพียงกับรายจ่ายในการจัดประมูล ฯลฯ แต่ไม่ได้มีข้อสรุปตายตัวในทางวิชาการว่าการกำหนดราคาขั้นต่ำนั้นเป็นไป เพื่อให้เอาราคาประเมินมากำหนดเพื่อรัฐจะได้รับรายได้สูง ๆ และอันที่จริงแล้ว ในทางวิชาการเป็นที่รับกันว่าการกำหนดราคาประเมินคลื่นความถี่ให้ถูกต้อง แม่นยำนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสินว่าใครควร เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และราคาตลาดของใบอนุญาตควรเป็นเท่าใด ในกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ราคาที่รัฐได้รับจากการประมูลคือราคาตลาด (ราคาที่อุปสงค์พบกับอุปทาน) เมื่อคลื่นความถี่หรือใบอนุญาตมีเพียงพอหรือเหลือมากเกินความต้องการสำหรับ ผู้เข้าร่วมประมูล ก็เป็นธรรมดาที่ราคาประมูลจะไม่สูงมากไปกว่าราคาขั้นต่ำนัก
ที่จริงแล้ว ราคาใบอนุญาตที่ไม่สูงเกินไปกว่าราคาตลาดนักก็เป็นเรื่องดีเพราะมิฉะนั้น ผู้บริโภคก็ต้องร่วมจ่ายมากขึ้นตามที่ได้กล่าวแล้ว[3]
3. ในเมื่อจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยกว่าหรือเท่ากับสินค้า (คลื่นความถี่) ที่นำออกประมูล เท่ากับว่าไม่มีการประมูล...ใช่หรือไม่
“การประมูล” กับ “จำนวนผู้เข้าร่วมประมูล” เป็นคนละเรื่องกัน การประมูลเป็นเรื่องกติกาที่ กสทช. ต้องกำหนดเพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจมาร่วมเสนอราคา ส่วนเรื่อง “จำนวนผู้เข้าร่วมประมูล” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กสทช.กำหนดเองไม่ได้ จำนวนผู้เข้าร่วมประมูลจะติดสินว่าจะมีการแย่งคลื่นความถี่กันหรือไม่ เมื่อกสทช. จัดการประมูลแล้ว หากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมีไม่มาก เช่นเท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ ก็เป็นเรื่องสภาพตลาด จะถือว่าไม่มีการประมูล เช่นนี้ย่อมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขายประกาศประมูลขายรถ 3 คัน แต่เมื่อถึงวันประมูล มีผู้มาประมูล 3 คนพอดี ถ้านาย ก, นาย ข และ ค เลือกรถคันที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับโดยทั้งสามรายไม่แย่งรถคันที่ 1 เพราะทั้งสามคนถือว่ารถทุกคันเหมือนกัน เขาซื้อคันไหนก็ได้ ก็ถือเป็นสิทธิที่จะทำได้ และแต่ละรายตัดสินใจเอง จึงไม่ใช่การ “ฮั้ว” แต่อย่างใดและการประมูลก็ถือว่าจบสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าถ้าผู้ขายไม่พอใจในเรื่องราคา ก็อาจถอนรถออกจากการประมูลได้ แต่หากสินค้านั้นเป็นคลื่นความถี่ ก็ไม่รู้จะถอนหรือยกเลิกการประมูลไปทำไมเพราะถ้าถอนไปแล้ว คลื่นความถี่ก็จะไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเลยและไม่มีประโยชน์ต่อรัฐ (ซึ่งเป็นผู้นำออกประมูล) อีกด้วย (ไม่เหมือนกับรถยนต์ที่ยังมีประโยชน์ต่อเจ้าของ)
4. ในเมื่อถอนหรือยกเลิกการประมูลไม่เกิดประโยชน์ กำหนดราคาคลื่นความถี่สูงๆ ก็อาจเกิดโทษต่อผู้บริโภค มิเท่ากับว่าผู้ประกอบการได้ใช้ทรัพย์สมบัติของชาติในราคาถูกๆ หรือ ?
ข้อเท็จจริงคือ เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต ประชาชนก็จะได้รับบริการที่ดีในอัตราค่าบริการตามสภาพการแข่งขันในตลาด ที่ จริงแล้วผู้ใช้บริการทุกรายต่างหากที่เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่ตัวจริง ผู้ประกอบการเป็นเสมือนผู้รับจ้างนำส่งคลื่นสัญญาณของผู้ใช้บริการไปยังที่ ต่าง ๆ โดยใช้เครื่องและอุปกรณ์ที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐ หากรัฐ เรียกเก็บค่าใบอนุญาต (เสมือนภาษี) สูงกว่าราคาตลาด ทั้งๆที่กิจการนี้มีผู้ประกอบการไม่มากนัก ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้บริการจะต้องร่วมจ่ายค่าใบอนุญาตด้วยในท้ายที่ สุด[4] รัฐจะทำเช่นนั้นทำไม
กฎหมายไทย[5] ถือว่าคลื่นความถี่เป็น “ทรัพยากรสื่อสารของชาติ” (natural resource) (ที่ต้องใช้) “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าคลื่นความถี่เป็น “ทรัพย์สมบัติของชาติ” เพื่อประโยชน์ (รายได้) ของรัฐ แต่อย่างใดไม่ อัล เบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein – นักฟิสิกส์ทฤษฎี) และนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Ronald H. Coase ซึ่งทั้งสองท่านได้รับรางวัลโนเบลก็ได้ย้ำว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นเรื่อง สมมุติที่เราเรียกให้เข้าใจง่าย แต่ที่จริงคลื่นความถี่ไม่มีอยู่จริง (There is no such thing as spectrum) สิ่งที่รัฐอนุญาตนั้นเป็นเพียงการอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องและ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น อย่าไปคิดว่าผู้ประกอบการได้คลื่นความถี่ไปครอบครองหรือเป็นเจ้าของ อันเป็นการคิดประหนึ่งว่าคลื่นความถี่เป็นสิ่งของที่รัฐมีอยู่เดิมและได้ให้ ผู้ประกอบการนำไปใช้แสวงหาประโยชน์อันเกิดประโยชน์แก่บุคคลในวงจำกัด อย่างเช่นการได้รับสัมปทานแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่ใช้แล้วหมดไป อันทำให้รัฐควรเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์สูง ๆ ที่จริงแล้วเมื่อผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้บริการ 3G ผู้บริโภคจำนวนมากจะเป็นผู้ใช้คลื่นความถี่ตัวจริงและคลื่นความถี่ที่ผู้ บริโภคใช้ก็ไม่ได้สึกหรอ ผู้ประกอบการเป็นเพียงแต่ขอรับใบอนุญาตเพื่อขอใช้เครื่องและอุปกรณ์เพื่อรับ ส่งสัญญาณคลื่นความถี่ที่ผู้บริโภคเป็นผู้ใช้ตัวจริงเท่านั้น
ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงไม่ให้นำเรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องและ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (ให้ใช้ช่องคลื่นสัญญาณ) ไปเปรียบเทียบกับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินหรือทรัพย์สินต่าง ๆ ของรัฐ เพราะจะทำให้เข้าใจผิดว่าแนวความคิดด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน จะสามารถนำมาใช้เทียบเคียงกับเรื่องการอนุญาตให้ใช้เครื่องและอุปกรณ์รับส่ง สัญญาณได้[6] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในการให้ใบอนุญาตนั้น หากจะใช้วิธีการประมูล ก็ควรเป็นไปโดยเหตุผลว่าราคาตลาดจากการประมูลจะขจัดผู้ประกอบการที่มี ประสิทธิภาพน้อยกว่าออกไปไม่ให้ประกอบกิจการ สังคมก็จะได้มาซึ่งบริการที่ดี แต่ไม่จำต้องเกินเลยไปจนถึงขนาดใช้การประมูลเป็นเครื่องมือจัดเก็บภาษี (ค่าคลื่นความถี่) สูง ๆ จากผู้ใช้บริการ
5. ในเมื่อใบอนุญาตมีเพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทุกราย ก็ไม่ควรใช้วิธีประมูล แต่ควรใช้วิธีประกวดซอง (Beauty contest) หรือแจกคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกบการในราคาขั้นต่ำ
การใช้วิธีการประมูลมีข้อดีอื่น ๆ อีก เช่น เป็นหลักประกันความโปร่งใสในการออกใบอนุญาต อันจะเป็นเสมือนใบเชิญอย่างดีให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุน เมื่อเทียบกับวิธีอื่น แต่จะมีผู้เข้ามาลงทุนหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฯลฯ อีกทั้ง การที่ กสทช. จัดประมูลต่อไปโดยไม่ได้แจกคลื่นความถี่ไปเลยในราคาขั้นต่ำก็เพราะผู้ประกอบ การอาจช่วงชิงตำแหน่งคลื่นความถี่ เรื่องนี้ไม่สามารถกำหนดได้ การไม่แจกคลื่นความถี่ไปในราคาขั้นต่ำจึงมีเหตุผล
6. มีการเสนอให้ กสทช. กำหนดค่าใบอนุญาตขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ค่าสัมปทาน
ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอเช่นนี้น่าจะทำไม่ได้
ประการแรก ระบบค่าสัมปทานทำให้ผู้ใช้บริการต้องร่วมชำระค่าสัมปทานเสมือนภาษีที่สูงมาก ประมาณร้อยละ 30 ของค่าบริการโทรศัพท์ (“ภาษีสัมปทาน”) เพียง แต่ผู้รับเงินดังกล่าวไม่ใช่กระทรวงการคลัง แต่เป็นรัฐวิสาหกิจ หากจะให้ กสทช. กำหนดค่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้สูงขึ้นกว่าราคาตลาด ซึ่งในที่สุดก็จะต้องสะท้อนกลับไปยังผู้บริโภคให้ต้องร่วมจ่ายมากขึ้น ก็เปรียบเสมือนเรียกเก็บภาษีสัมปทานให้ประชาชนชำระมากขึ้นอีก แล้วเช่นนี้รัฐธรรมนูญจะตั้ง กสทช. ไปเพื่ออะไร การกำหนดภาษีเพิ่มเติมในรูปค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นกว่าราคาตลาดจะเป็นการ เพิ่มการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในตลาดอันเป็นภาระหน้าที่ของ กสทช. อย่างไร ?
ประการที่สอง การเอาต้นทุนสัมปทานมากำหนดเป็นค่าคลื่นความถี่ราวกับว่าระบบสัมปทานหมดไป และเปลี่ยนเป็นใบอนุญาต 3G ในชั่วข้ามคืน ก็ไม่ถูกต้อง เป็นการไม่คำนึงห้วงเวลา อีกทั้งความรวดเร็วที่ลูกค้าสัมปทานจะย้ายไปใช้บริการภายใต้ใบอนุญาต 3G ของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายก็น่าจะไม่เท่ากันและไม่มีผู้ใดกำหนดได้ล่วงหน้า แต่ละรายจึงอาจได้รับประโยชน์จากใบอนุญาต 3G อย่างไม่เท่ากัน การกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลตามแต่ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับจากใบ อนุญาต 3G เท่าไร (เมื่อเทียบกับระบบสัมปทาน) จะกำหนดอย่างไร
ประการที่สาม ในการประมูลนั้น ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ล่วงหน้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลกี่ราย หน้าที่ของ กสทช. คือจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่ดีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้การเข้าร่วมประมูลเป็น สิ่งที่น่าสนใจ แต่แม้ว่า กสทช. กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 4500 ล้านบาท ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาร่วมประมูลเลย ดังนั้น หากตั้งค่าคลื่นความถี่เท่ากับหรือคำนึงถึงต้นทุนสัมปทาน ค่าคลื่นความถี่ก็จะสูงมากขึ้นไปอีก ก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ลดความน่าสนใจในการเข้าร่วมประมูลลงไปอีกโดยเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่อยู่ในระบบสัมปาน อีกทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวโยงกับระบบสัมปทานก็จะมีความได้เปรียบเสีย เปรียบกันมากขึ้นเพราะต้นทุนสัมปทานไม่เท่ากัน ซึ่งก็จะเท่ากับว่ากฎการประมูลนั้นลำเอียง ไม่เป็นกลาง (neutral) ดังนั้น ในการกำหนดราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ 2.1 GHz กสทช. จะคำนึงถึงต้นทุนสัมปทานไม่ได้
ประการที่สี่ ใบอนุญาต 3G เป็นเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz เป็นธุรกิจบนคลื่นใหม่ การที่รัฐจัดประมูลเพื่อให้ใบอนุญาตนั้น ในทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์มีเหตุผลว่าผู้ประกอบการ A ที่ให้ราคาใบอนุญาตสูงสุดและได้รับใบอนุญาตไปน่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการได้ เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด (ด้วยเหตุนี้ A จึงกล้าให้ราคาสูงสุด) ดังนั้น มีเหตุผลอะไรที่จะไปนำต้นทุนในธุรกิจ 2G บนคลื่นอื่นมากำหนดค่าใบอนุญาต (ค่าเริ่มต้นธุรกิจ) ในอีกธุรกิจหนึ่ง คือ 3G ซึ่งให้บริการบนอีกคลื่นหนึ่ง? การทำเช่นนั้นจะทำให้การประมูลเป็นไปเพื่อหารายได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อค้นหาผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการ A มีต้นทุนธุรกิจสัมปทานเท่ากับ 1,000 บาทและคาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจ 3G ประมาณ 700 บาท (รวมผลประโยชน์สมมุติจากใบอนุญาต 3G เท่ากับ 1,700 บาท) ในขณะที่ B มีต้นทุนสัมปทาน 600 บาท แต่คาดว่าจะสามารถมีรายได้จากธุรกิจ 3G ประมาณ 900 บาท (รวมผลประโยชน์ 1,500 บาท) หาก กสทช. กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 1,600 บาท ผู้ประกอบการ B ก็จะไม่ได้ใบอนุญาตทั้ง ๆ ที่ B เป็นผู้ประกอบกิจการ 3G ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด (เพราะหากไม่นำเรื่องต้นทุนสัมปทานในธุรกิจอื่นบนคลื่นความถี่อื่นมาเกี่ยว ข้อง B พร้อมที่จะชำระค่าใบอนุญาต 3G ที่ประมาณ 900 บาท และนำคลื่น 3G ไปสร้างประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ A พร้อมที่จะชำระเพียง 700 บาท) ดังนั้น การกำหนดราคาคลื่นความถี่ 2.1 GHz โดยไปนำต้นทุนการประกอบกิจการในคลื่นความถี่อื่นมาพิจารณาจึงเป็นเรื่องที่ ขาดเหตุผล
นอกจากนี้ การเรียกเก็บค่าคลื่นความถี่สูง ๆ นั้นมีข้อชวนให้คิดว่าจะเชื่อได้อย่างไรว่าเงินที่เรียกเก็บเข้าภาครัฐมาก ขึ้นจะเป็นทางก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการให้ผู้ประกอบการ ชำระค่าใบอนุญาตในราคาตลาดตามกฎประมูลและประกอบกิจการต่อไป (ภายใต้การแข่งขันกันในตลาดทั้งทางด้านราคาและบริการ) ? หากจะมีการตอบคำถามในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงความหลากหลายทางวิชาการและไม่ควรยึดถือความ เห็นของทฤษฎีเใดทฤษฎีเดียวโดยเฉพาะทฤษฎีที่ยังพัฒนาไม่ถึงจุดสิ้นสุด
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการประมูลคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ประชาชนได้รับบริการที่ดีในอัตราค่าบริการตามกฎตลาดภายใต้สภาวะการแข่งขัน ที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ) ซึ่งจะสำเร็จได้หากการประมูลสามารถทำให้สังคมได้มาซึ่งผู้ประกอบการที่มี ประสิทธิภาพ (ผู้ประกอบการดังกล่าวคือผู้ที่ยอมชำระค่าใบอนุญาตในราคาสูงสุดตามกฎประมูล หรือเรียกว่าราคาตลาด) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเรียกค่าคลื่นความถี่ให้สูงกว่าราคาตลาดเพื่อเป็น รายได้แก่รัฐ นักวิชาการต่างยอมรับว่าสองสิ่งนี้มักจะเดินทางเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันจะ บรรจบกันได้เลย
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ว่าประเทศไทยจะเลือกประโยชน์สาธารณะ (คิดราคาใบอนุญาตตามกฎตลาด) หรือเลือกหารายได้เข้ารัฐ (โดยทำให้ราคาใบอนุญาตสูงกว่าราคาตลาด) แต่พึงระลึกไว้ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้เลือกประโยชน์สาธารณะมากกว่าอย่าง อื่น ดังนั้น การที่ราคาคลื่นความถี่ที่สูงอยู่แล้ว (4,500 ล้านบาทต่อชุด) ไม่ได้ถูกกำหนดให้ราคาสูงไปมากกว่านี้จึงมีเหตุมีผลอยู่ในตัว




[1] ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน (Docteur en droit public) - เกียรตินิยมสูงสุดโดยมติเอกฉันท์ของคณาจารย์พร้อมสิทธิในการเผยแพร่งาน (มหาวิทยาลัย Strasbourg III ฝรั่งเศส), ปริญญาโท (DEA) กฎหมายประชาคมยุโรป และ Certificat des études européennes (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัย Strasbourg III, นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญรางวัล) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทความนี้เป็นข้อเขียนทางวิชาการของผู้เขียนโดยมิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรใด ๆ และมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการอภิปรายในประเด็นของเรื่องต่อไป
[2] ทฤษฎีต้นทุนจม (Sunk cost) เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ Neoclassic ซึ่งอาจยกตัวอย่างแนวคิดได้ง่าย ๆ ว่า เมื่อผู้ประกอบการชำระค่าคลื่นความถี่สูง ๆ นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายนี้จะสรุปว่า การตัดสินใจชำระค่าคลื่นดังกล่าวย่อมกลายเป็นอดีตที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้จึง “ทำนาย” (ในกรอบการวิเคราะห์ของตน หรือ model) ว่าผู้ประกอบการก็จะไม่อาจไปคำนึงถึงมันอีก (และการตัดสินใจของแต่ละรายจะเป็นเช่นนี้ตรงกัน) ดังนั้น กำหนดราคาค่าบริการโทรศัพท์ของผู้ประกอบการแต่ละรายก็จะไม่ถูกกระทบโดยค่า คลื่นความถี่ อัตราตลาดของค่าบริการโทรศัพท์ก็จะไม่ถูกกระทบนั่นเอง ข้อสรุปเช่นนี้ เกิดจากการที่นักเศรษฐศาสตร์ Neoclassic กำหนดกรอบการวิเคราะห์ (model) เสมือนหนึ่งว่าโลกนี้เป็นโลกสมบูรณ์แบบที่ตลาดมีข้อมูลครบถ้วน ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลโดยทันทีและผู้ประกอบการเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ (มากกว่าจะเป็นมนุษย์ธรรมดา) เพราะเท่ากับว่าผู้ประกอบการทุกรายจะไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ไม่คำนึงถึงห้วงเวลา ไม่ตัดสินใจล่าช้า ไม่พิจารณาทางเลือกอื่น ตลาดทุกตลาดมีลักษณะเหมือนกันหมด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral economics) เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่จะวิเคราะห์ในกรอบเช่นนี้
นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายนี้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของข้อสรุป ดังกล่าวว่า ถ้าการลงทุนในตอนเริ่มต้นนั้นมีจำนวนสูงมาก และผู้ประกอบการไม่อาจเพิ่มอัตราค่าบริการภายหลังได้เพื่อทวงทุนคืน (ซึ่งในทางธุรกิจเท่ากับว่าการตัดสินใจลงทุนดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ผิด พลาดของผู้ประกอบการ) เพราะเหตุใดผู้ประกอบการแต่ละรายจะไม่เรียนรู้เรื่องนี้และจะยังคงเร่งสร้าง โครงข่ายโทรคมนาคมเพิ่มเติมต่อไปอีกโดยไม่เปลี่ยนแปลง? นักเศรษฐศาสตร์ Behavioral economics ได้อาศัยแนวความคิดของ Daniel Kahneman (ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้รับรางวัลโนเบล) จึงเห็นว่าเศรษฐศาสตร์แบบ Neoclassic ได้ทำนายพฤติกรรมของผู้ประกอบการไปในทางที่ผิดพลาด ข้อสรุปง่าย ๆ ที่ว่าต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนจม (sunk cost) จึงไม่ถูกต้อง โปรดดู James Alleman, Jonathan Liebenau and Pau Rappoport. The New Economics of ICT: The Regulatory Implications of Post-neoclassical Economics for the ICT Sector, 2009, เข้าถึงได้จาก : http://www.colorado.edu/engineering/alleman/Workshop%202009/print_files/New%20Economics%206.08.2009%20ACORN%20FORMAT%20SHORT.pdf (วันที่ค้นข้อมูล : 6 พฤศจิกายน 2555). ในหน้า 8:”one of the greatest potential for the application for dynamic analysis has is when dealing with irreversible investments, since such as investment means that a wrong decision cannot be changed, in contrast to an investment which, if the investment proves to be unprofitable, can be sold. But who will buy fiber in the ground, if it has proved unprofitable? และโปรดดู Martin Sewell. Behavioral Finance, May 2007 (revised April 2010), เข้าถึงได้จาก : http://www.behaviouralfinance.net/behavioural-finance.pdf (วันที่ค้นข้อมูล : 6 พฤศจิกายน 2555) และ Royal Swedish Academy of Science. Foundations of behavioral and experimental economics: Daniel Kahneman and Vernon Smith, 2002, เข้าถึงได้จาก : http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/economics/laureates/2002/advanced-economicsciences2002.pdf (วันที่ค้นข้อมูล : 6 พฤศจิกายน 2555)
[4] โปรดดูข้อถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์ Behavioral Economic ข้างต้น
[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 บัญญัติว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
[6] ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้โดยสังเขปแล้ว โปรดดู http://www.prachatai3.info/journal/2012/10/43330

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น