แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ณัฐกร วิทิตานนท์: “การลอบสังหาร” ในการเมืองอเมริกัน

ที่มา ประชาไท


Anybody can kill anybody, even the President, remember?
ประโยคเด่นจากภาพยนตร์เรื่อง Best Seller (1987)

จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาคนที่ 35 (1961-1963) ถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวของพรรคเดโมแครตที่ถูกลอบสังหารจนถึงแก่ อสัญกรรม (ที่มา: วิกิพีเดีย)
ความนำ
จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สังคมอเมริกันไม่เคยว่างเว้นจากการลอบสังหาร (Assassination)[1] นักการเมืองและผู้ที่มีบทบาททางการเมืองคนแล้วคนเล่าต้องจบชีวิตด้วยสาเหตุ นี้ ไม่เว้นแม้แต่คนระดับประธานาธิบดีที่มีอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ
บทความชิ้นนี้พยายามที่จะรวบรวมข้อมูลการลอบสังหารทางการเมืองของสหรัฐ อเมริกา เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีเป็นหลัก (โดยเฉพาะในครั้งที่ทำสำเร็จ) ซึ่งตัวเลขสถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าไม่มีประเทศใดที่มีประชากรเกิน 50 ล้านคนที่มีอัตราการลอบสังหารและความพยายามลอบสังหารทางการเมืองมากมายเท่า นี้อีกแล้ว[2]
ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคต้น ๆ ของสหรัฐฯ มีเพียงความรุนแรงแบบฝูงชน (Mob) และการต่อสู้แบบตัวต่อตัว (Duel) เช่น กรณีของ Alexander Hamilton กับ Aaron Burr ในปี 1804 ที่ส่งผลให้ Hamilton บาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิต เท่านั้น
การลอบสังหารปรากฎขึ้นชัดเจนจากเหตุการณ์พยายามฆ่าประธานาธิบดี Andrew Jackson (1767-1845) ประธานาธิบดีคนที่ 7 (1829-1837) เขาถูกบันทึกว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกลอบสังหาร โดยเขาถูกนาย Richard Lawrence ซึ่งมีอาชีพเป็นนักวาดภาพเล็งปืนพกยิงเข้าใส่แต่พลาดเป้าไป เหตุเกิดวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1835 ต่อมาศาลพิพากษาว่านายริชาร์ด ลอว์เรนซ์ไม่มีความผิด เนื่องจากมีอาการทางประสาท และในขณะก่อเหตุไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ความรุนแรงทางการเมืองระลอกใหญ่ปะทุขึ้นภายหลังการตายของประธานาธิบดี Lincoln ใน ค.ศ.1865 ซึ่งเป็นปีที่ “สงครามกลางเมือง” ระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 3-4 ปีสิ้นสุดลง ในช่วงนี้ ระหว่างปี 1865 ถึง 1877 ทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เกือบ 40 คนได้ถูกลอบสังหาร และมากกว่า 20 คนเสียชีวิต[3] แน่นอน ความรุนแรงส่วนใหญ่มักพบทางตอนใต้ ซึ่งเป็นรัฐผู้พ่ายแพ้ในสงคราม
ในศตวรรษที่ 20 สามารถแบ่งช่วงหลักๆ ของความรุนแรงทางการเมืองและการลอบสังหารออกได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือ ช่วงที่เพิ่งจะหมดยุคทาสใหม่ๆ ซึ่งยังนิยมใช้การประชาทัณฑ์อย่างแพร่หลาย ช่วงที่สอง ค.ศ.1920-1930 เกิดความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเองจนมีเหตุบานปลายขึ้นในหลายพื้นที่ ช่วงที่สาม ระหว่างทศวรรษ 1960, 1970 และต้น 1980 หรือในห้วง “สงครามเย็น” ซึ่งมีการลอบสังหารนักการเมืองคนสำคัญ และนักกิจกรรมที่มีพลังทางการเมือง (เช่น เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน, ต่อต้านสงคราม ฯลฯ) อีกหลายต่อหลายคน เป้าหมายส่วนใหญ่เสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 60 ไม่ว่าจะเป็นตระกูล Kennedy ที่ต้องพบกับความสูญเสียถึง 3 หนในเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่ประธานาธิบดี John F. Kennedy, วุฒิสมาชิก Thomas J. Kennedy, ผู้สมัครประธานาธิบดี Robert F. Kennedy เมื่อปี 1963, 1966, 1968 ตามลำดับ ตลอดจนผู้นำคนผิวสีคนสำคัญอย่าง Malcolm X (1965) และ Martin Luther King, Jr. (1968) คงพอสรุปได้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นถี่ยิบตั้งแต่ช่วงหลังประธานาธิบดี Kennedy ถูกลอบสังหารเป็นต้นมา ก่อนที่ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเบาบาง และบรรลุผลสำเร็จน้อยลงเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา

การลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา[4]

(1) อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham  Lincoln, 1809-1865) ประธานาธิบดีคนที่ 16 (1861-1865) ­ผู้นำการเลิกทาสในสหรัฐฯ และนับเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากพรรครีพับลิกัน
ค่ำวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1865 ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกจ่อยิงที่ศีรษะด้านหลังแบบเผาขนด้วยปืนสั้นเดอริ งเจอร์ระหว่างนั่งชมละครกับภรรยาบนที่นั่งชั้นพิเศษ ณ โรงละครฟอร์ด ที่กรุงวอชิงตันดีซี ฆาตกรมีอาชีพเป็นนักแสดงของคณะละคร ชื่อนาย จอห์น วิลคส์ บูธ (John Wilkes Booth) ชายหนุ่มหัวรุนแรงที่สนับสนุนการให้มีทาส ลินคอล์นไม่ได้เสียชีวิตลงทันที หากแต่สิ้นลมในรุ่งเช้าวันถัดมา ส่วนนายบูธสามารถหลบหนีไปได้ แต่ก็ได้ถูกฆ่าระหว่างการหลบหนี
ลินคอล์นทราบมาตลอดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่จ้องจะเอาชีวิตเขาจากจดหมายขู่ เอาชีวิตที่ส่งมาถึงเขาเองกว่าร้อยฉบับ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เชื่อกันว่าเกิดขึ้นจากการสมคบคิดกันของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความโกรธแค้นต่อลินคอล์น ซึ่งคนกลุ่มนี้เชื่อว่าลินคอร์นเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่าย เหนือกับฝ่ายใต้ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1861-1865 ผลพวงจากนโยบาย “เลิกทาส” ที่เมื่อเขาถูกเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1861 และได้ผลักดันกฎหมายเลิกทาสผ่านสภาจนสำเร็จ ส่งผลให้รัฐต่างๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก ด้วยความที่เป็นรัฐเกษตรกรรมทำให้ยังคงต้องอาศัยแรงงานทาสจำนวนมาก จึงได้มารวมตัวกันประกาศตนเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นต่อรัฐบาลกลางอีกต่อไป จากนั้นสงครามกลางเมืองที่มีปมเหตุขัดแย้งมาจากเรื่องทาสและบั้นปลายทำให้ ผู้คนเสียชีวิตถึงหกแสนคนก็เริ่มขึ้น ทว่าท้ายที่สุดชัยชนะกลับตกเป็นของฝ่ายเหนือ และวันสุดท้ายในชีวิตของลินคอล์นก็คือห้าวันหลังจากที่กองทัพฝ่ายใต้ยอม ปราชัยต่อฝ่ายเหนือนั่นเอง
การลอบสังหารประธานาธิบดีลินคอล์นนำไปสู่กระแสต่อต้านชาวใต้ที่ลุกลามไป ทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายๆ รัฐทางตอนเหนือ กระทั่งเหตุการณ์ค่อยๆ สงบลง อย่างไรก็ตาม คณะผู้สมคบคิดในคดีนี้ทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นสู่ศาล กระทั่งมีคำตัดสินในปี 1865 ออกมาให้ประหารชีวิตจำเลย 4 คนด้วยการแขวนคอ ส่วนอีก 3 คนถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และอีก 1 คนถูกตัดสินจำคุก 6 ปี
โดยผู้ที่มารับช่วงตำแหน่งต่อจากลินคอล์นได้แก่ แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson)

(2) เจมส์ อับราม การ์ฟิลด์ (James Abram Garfield, 1831-1881) ประธานาธิบดีคนที่ 20 (1881) และอดีต  นายพลคนสำคัญแห่งกองทัพสหรัฐฯ
เขาเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ถูกมองว่าอยู่ในกลุ่ม “พันทาง” (Half-Breed) ของพรรค ขณะที่กลุ่มใหญ่ในพรรคคือพวกซอลวาร์ต (Stalwart) อันเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เป็น “เลือดแท้” ทำให้ช่วงเวลานั้นในพรรคมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างมาก และทำให้คนในสองกลุ่มนี้ต้องฟาดฟันกันเอง
สายของวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1881 เพียงแค่ 5 เดือนหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การ์ฟิลด์ได้ถูกนาย ชาร์ลส จูเลียส กีโต (Charles Julius Guiteau) ลอบสังหาร เขาคือมือปืนที่อ้างตนว่าเป็นพวก “เลือดแท้” ผู้ซึ่งเคยทำงานให้แก่เขาช่วงการรณรงค์หาเสียงมาก่อน แต่ภายหลังกลับถูกเพิกเฉยละเลย และถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากคนในคณะรัฐบาลของเขา กีโตจึงตัดสินใจทำลงไปด้วยความแค้นเคือง
กีโตทราบมาว่าในวันเกิดเหตุนั้น ประธานาธิบดีจะเดินทางไปพักผ่อนช่วงฤดูร้อนโดยขบวนรถไฟ เขาดักรออยู่ที่สถานีรถไฟ Baltimore-Potomac ในกรุงวอชิงตันดีซี จนกระทั่งการ์ฟิลด์เดินทางมาถึง จึงฉวยโอกาสเดินเข้าไปประชิดตัวทางด้านหลังแล้วล้วงปืนพกออกมาจ่อยิงในระยะ ใกล้ การ์ฟิลด์ทรุดตัวล้มลงในทันที
ประธานาธิบดีการ์ฟิลด์ไม่ได้เสียชีวิตลงในทันทีหลังจากถูกยิงเข้าที่ตัว 2 นัด เขากลับมาพักรักษาอาการบาดเจ็บได้นานอีกถึง 11 สัปดาห์ และสามารถจะกลับมาทำงานได้แล้วด้วย แต่ในที่สุดเขาก็ต้องจากไปด้วยอาการติดเชื้อทางบาดแผล เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1881 ซึ่งก็เป็นผลจากการถูกยิงนั่นเอง
ขณะที่กีโตถูกตำรวจจับกุมตัวไว้ได้ขณะกำลังที่จะหลบหนี คณะลูกขุนลงความเห็นว่าเขาผิดจริง ถึงแม้จะยกเอาความวิกลจริตของตัวเองขึ้นมาสู้คดีก็ไม่เป็นผล ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตเขาด้วยการแขวนคอในปี 1882
ความตายของการ์ฟิลด์ยังคงเป็นปริศนาในแง่ของสาเหตุที่แท้จริง หลายคนไม่เชื่อว่าจะเกิดจากแค่ความโกรธแค้นส่วนตัวของฆาตกรเพียงลำพัง แต่เชื่อว่าเบื้องลึกแล้วฆาตกรอาจทำเพื่อให้คนจากฝั่งซอลวาร์ตด้วยกันได้ เป็นประธานาธิบดีแทน นั่นคือ เชสเตอร์ อาลัน อาร์เธอร์ (Chester Alan Arthur) รองประธานาธิบดีขณะนั้น

(3) วิลเลียม แมคคินลีย์ (William McKinley, Jr., 1843-1901) ประธานาธิบดีคนที่ 25 (1897-1901) ทหารผ่านศึกคนสุดท้ายจากสงครามกลางเมืองที่ได้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง
แมคคินลีย์สังกัดพรรครีพับลิกัน เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตกต่ำ ดังนั้น การที่เขาสามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้นมาได้ส่งผลให้เขาประสบชัยชนะในการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็น ประธานาธิบดีต่อเนื่องอีกเป็นสมัยที่สอง ในปี ค.ศ.1900
แต่ในปีต่อมานั้นเองที่แมคคินลีย์ต้องถูกลอบสังหาร เมื่อบ่ายวันที่ 6 กันยายน ค.ศ.1901 ฝีมือมือปืนเชื้อสายโปแลนด์ที่เป็นพวกต่อต้านรัฐ (Anarchism) ชื่อนาย ลีออน โซลโกสซ์ (Leon Czolgosz) เขายิงประธานาธิบดีซึ่งๆ หน้าถึง 2 นัดซ้อน กระสุนเข้าที่หน้าท้องทั้ง 2 นัด โดยแอบซ่อนปืนเอาไว้ในผ้าเช็ดหน้า ขณะที่แมคคินลีย์กำลังให้การต้อนรับประชาชนที่รอคิวเพื่อเข้าไปจับมือกับตน อยู่ และมีโซลโกสซ์ยืนเข้าคิวอยู่ด้วย ในงานแสดงสินค้า Pan-American Exposition จัดที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์รักษาจนอาการดีขึ้น แต่ด้วยความที่บาดแผลเกิดอาการติดเชื้อลุกลาม เป็นผลให้เขาสิ้นใจลงอย่างสงบในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1901 หรือในอีก 6 วันต่อมา
อย่างก็ตาม ในวันเกิดเหตุ เลขาส่วนตัวและผู้อารักขาของเขาได้กล่าวเตือนเขาก่อนแล้วว่าให้ยกเลิกกำหนด การดังกล่าว เนื่องจากเกรงความไม่ปลอดภัย แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนแผน และผู้ที่ได้รับตำแหน่งสืบต่อจากเขาก็คือ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)
สำหรับด้านโซลโกสซ์ เขาถูกเจ้าหน้าที่อารักขาของประธานาธิบดีจับได้ทันทีหลังจากลงมือลั่นไก โดยเขาให้การว่าหน้าที่ของเขาก็คือการกำจัดพวกเห็นแก่ตัวให้หมดสิ้นไป เขาเห็นว่าแมคคินลีย์ทำงานให้แต่กับพวกนายทุนนายธนาคารเท่านั้น ไม่ใช่ชาวอเมริกันทั้งหมด
คดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลอย่างรวดเร็ว กอปรกับเขาเองก็ปฏิเสธที่จะพึ่งพากระบวนการทางกฎหมายทั้งหมด ในที่สุด เขาก็ถูกลงโทษสูงสุดคือ การประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า ในปี 1901

(4) จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy, 1917-1963) ประธานาธิบดีคนที่ 35 (1961-1963) ถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวของพรรคเดโมแครตที่ถูกลอบสังหารจนถึงแก่ อสัญกรรม
ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกลอบซุ่มยิงจากในระยะไกลในช่วงเวลากลางวันของวัน ที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ขณะที่ขบวนรถเปิดประทุนแล่นไปตามถนนจนถึงบริเวณจัตุรัสกลางเมือง Dealey Plaza ซึ่งเขานั่งคู่ไปภรรยา และจอห์น คอนเนลลี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสพร้อมภรรยา กระสุนได้แล่นเจาะเข้าที่หลังทะลุออกลำคอ และที่บริเวณศีรษะเป็นแผลฉกรรจ์ มีผลให้เคนเนดีเสียชีวิตทันทีทันใด เบื้องต้นสันนิษฐานว่ากระสุนถูกยิงออกมาจากชั้นที่ 6 ของอาคารคลังหนังสือบริเวณนั้น
โดยภายหลังจากที่เกิดเหตุเพียงชั่วโมงเศษ ตำรวจก็สามารถตามจับตัวผู้ลั่นกระสุนสังหารได้ คือนาย ลี ฮาร์วีย์ วอลด์ (Lee Harvey Oswald) แต่ออสวาลด์ก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และในอีกสองวันต่อมา ระหว่างที่กำลังนำตัวออกจากสถานีตำรวจเพื่อไปขอให้ศาลออกคำสั่งให้ฝากขังยัง เรือนจำนั้น ออสวาลด์ก็ถูกนาย แจ็ค รูบี (Jack Ruby) เจ้าของบาร์แห่งหนึ่ง บุกฝ่าฝูงชนเข้าไปจ่อยิง เขาเสียชีวิตลงต่อหน้าต่อตาผู้คนและสื่อมวลชนจำนวนมาก ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตรูบี แต่รูบีก็มาล้มป่วยและเสียชีวิตลงเสียก่อนจะได้ยื่นอุทธรณ์
เกือบหนึ่งปีให้หลังจึงมีผลสรุปออกมาจากคณะทำงานที่ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็น ทางการเพื่อทำการสอบสวนคดีนี้โดยเฉพาะหรือในชื่อเรียกว่า “คณะกรรมาธิการวอร์เรน” (The Warren Commission) ซึ่งมี เอิร์ล วอร์เรน (Earl Warren) ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าคณะ สรุปว่าการลอบสังหารครั้งนี้มาจากความไม่พอใจต่อเคนเนดีเป็นการส่วนตัว โดยมือปืนผู้คลั่งในลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism) ที่ลงมือกระทำการทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้ร่วมมือกับใครหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น
ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลที่ จิม แกร์ริสั (Jim Garrison) อัยการของเขตนิวออร์ลีนผู้ที่พยายามสอบสวนเบื้องลึกคดีนี้ได้นำเสนอต่อ สาธารณะ (ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม JFK (1991) ผลงานของผู้กำกับคนสำคัญอย่าง Oliver Stone ที่พยายามจะชี้ให้ผู้ชมเห็นว่ามันเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง และเกิดจากการสบคบคิดกันมากกว่า) เนื่องจากเขาค้นพบความเชื่อมโยงของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีอิทธิพลระดับประเทศ พฤติกรรมที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีลอบสังหารเคนเน ดี สามารถสรุปออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้[5]
1) ซีไอเอ หรือหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีถึงความขัดแย้งขั้นรุนแรงระหว่างหน่วยงานนี้กับ ทำเนียบขาวในสมัยของประธานาธิบดีเคนเนดี
2) กลุ่มมาเฟีย (Mafia) คนกลุ่มนี้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ในระดับชาติมากมาย แต่จากนโยบายทางสังคมหลายๆ อย่างของเคนเนดี ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปด้วย
3) กลุ่มสายเหยี่ยวในกองทัพสหรัฐ ที่ต้องสูญเสียประโยชน์หรืออาจต้องสูญเสียต่อไปอีกในอนาคตจากนโยบายและการลด งบประมาณทางทหารของประธานาธิบดีเคนเนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่างประเทศที่มีผลกระทบกับด้านการทหาร
4) กลุ่มอัลฟา 66 (Alpha 66) คนกลุ่มนี้เป็นชาวคิวบาอพยพที่เข้ามาอยู่ในรัฐฟลอริดาภายหลังจากการยึดอำนาจ ของฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) องค์กรนี้พยายามเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มอำนาจของคาสโตร มาโดยตลอด แต่ก็ต้องสิ้นหวังลงเมื่อประธานาธิบดีเคนเนดีขึ้นปกครองประเทศ
5) กลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มนายทุน ผู้ทรงอิทธิพลในระดับชาติที่ไม่พอใจต่อนโยบายของประธานาธิบดีเคนเนดี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ คนกลุ่มนี้มักเป็นพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด จึงไม่พอใจนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หรือการเอาใจคนผิวดำของเคนเนดี ทำให้คนกลุ่มนี้มองว่าเขาเป็นตัวอันตราย
อัยการแกร์ริสันมั่นใจมากว่ามือปืนต้องมีมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป โดยถูกวางไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งที่อาคารห้องสมุด และตรงบริเวณเนินดินที่ขบวนรถแล่นผ่าน หรืออาจจะมีบริเวณอื่นอีก แต่ทุกๆ จุดได้ลงมือปฏิบัติการโดยพร้อมเพรียงกัน แน่นอนว่าเป็นการยิงมากกว่า 3 นัด และต้องมาจากทิศทางที่ต่างกันด้วย
ประธานาธิบดีเคนเนดี ถือได้ว่าเป็นผู้นำคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่เขาได้รับเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี ค.ศ.1961 ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ถึงแม้เขาจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ ลินดอน นส์ จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson) ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสืบแทนเขา
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งทฤษฎีที่ระบุถึงเบื้องหลังและสาเหตุอีกนับไม่ถ้วน หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารครั้งนี้ยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุก วันนี้
นอกจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คนที่ถูกลอบสังหารถึงแก่ชีวิตดังกล่าวไว้แล้ว ยังมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่นอีกหลายๆ คนที่ต้องมาถูกลอบสังหาร บางคนได้รับบาดเจ็บสาหัสเฉียดตาย บางคนไม่เป็นอันตรายเลยแม้แต่น้อย และมีบ่อยครั้งที่แผนการลอบสังหารล้มเหลวลงเสียก่อน[6]
ข้อสังเกตคือ ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ปรากฏการลอบสังหารประธานาธิบดีบ่อยครั้งมาก และตั้งแต่ภายหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีเป็นต้นมา ผู้ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทบทุกคนเคยถูกวางแผนลอบสังหารมาแล้วทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มีซักครั้งที่ประสบความสำเร็จ
โดยมีสองเหตุการณ์แปลกๆ ที่ขอเอ่ยถึงเพิ่มเติม นั่นคือ กรณีแรก ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 มีนาย Samuel Byck เซลล์แมนตกงานมีความคิดจะฆ่าเขา โดยการจี้เครื่องบินพาณิชย์บังคับให้นักบินเอาเครื่องขึ้น ตั้งใจจะนำไปพุ่งชนทำเนียบขาว แต่จนมุมเสียก่อน เขาจึงฆ่าตัวตาย เหตุเกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1974 ที่สนามบินนานาชาติ Baltimore-Washington อีกกรณี โรนัลด์ รแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีคนที่ 40 เคยถูกลอบสังหารหน้าโรงแรม Washington Hilton ในปี ค.ศ.1981 เหตุผลจากปากคำของนาย John Hinckley มือสังหารไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเขาเลย Hinckley เป็นชายสติเฟื่องผู้ตกหลุมหลงรักดาราสาว Jodie Foster ชนิดแทบคลั่ง เขาทำเพื่อต้องการดึงความสนใจของเธอมาที่ตัวเขาบ้างเพียงเท่านั้น ซึ่งด้วยความสามารถของคณะแพทย์ทำให้สามารถช่วยชีวิตประธานาธิบดีเรแกนไว้ได้ ทัน

บทส่งท้าย
จากที่กล่าวมาคงพอทำให้อธิบายโดยรวบรัดได้ว่าในการลอบสังหารประธานาธิบดี สหรัฐฯ แทบทุกกรณีนั้น เกิดจากการกระทำของคนเพียงคนเดียว และมือสังหารส่วนใหญ่มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความแปลกแยกทางสังคม (Social Separatism) ได้แก่ ผู้ที่มีทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมืองผิดแผกไปจากสังคมกระแสหลัก ซึ่งกินความรวมถึงหลายรายที่มีอาการบกพร่องทางจิตด้วย แน่นอนว่าความข้อนี้ได้กลายเป็นสูตรสำเร็จของบทสรุป (อย่างเป็นทางการ) เกี่ยวกับคดีลอบสังหารในการเมืองอเมริกันไปแล้ว และสมควรกล่าวไว้ด้วยว่าความตายหนึ่งมักนำไปสู่อีกความตายหนึ่ง (หรืออีกหลายๆ ความตาย) ได้เสมอ
ถึงกระนั้น การศึกษาการลอบสังหารที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 (ตั้งแต่ปี 1949) พบว่า การลอบสังหารส่วนใหญ่ได้รับการวางแผนและเตรียมตัวกันเป็นอย่างดี ขณะที่ส่วนน้อยนั้น จะเกิดจากการตัดสินใจอย่างฉับพลันมิได้ตระเตรียมล่วงหน้า ร้อยละ 25 ของผู้ลงมือ พบว่ามีอาการหลงผิด (ทางจิตวิทยา) และอีกร้อยละ 60 จะตะหนักรู้ในการกระทำของตัวเองก่อนที่จะลงมือกับเป้าหมาย ยิ่งมีอาการหลงผิด (ทางจิตวิทยา) มากก็ยิ่งประสบความสำเร็จน้อยลง จากรายงานยังพบด้วยว่า 2 ใน 3 ของผู้ลงมือ เคยถูกจับจากการฝ่าฝืนกฎหมาย 44 % มีประวัติเรื่องความหดหู่มาก่อน และอีก 39 % ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่ดีเท่าที่ควร[7]
ขณะที่ข้อสันนิษฐานเชิงลึกกลับเห็นว่า สาเหตุจริงๆ น่าจะสลับซับซ้อนกว่าที่คิดมากโข โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวิเคราะห์โดยใช้แนวทาง ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (Conspiracy Theory) ด้วยแล้ว ซึ่งทฤษฎีนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าเบื้องหลังความตายของบุคคลสำคัญทางการเมือง เป็นผลจากการสมคบคิดกันของขบวนการใหญ่โตในแบบที่คาดไม่ถึง โดยต้องการจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เฉพาะอย่างยิ่งกับตัวผู้นำ หลายๆ เหตุการณ์เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดที่จะมีผู้ก่อการเพียงคนเดียว แน่นอน องค์กรที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยมากที่สุดว่าคอยบงการอยู่เบื้องหลังยามมีการ ฆาตกรรมที่พัวพันกับเรื่องการเมือง ก็คือ หน่วยงานของรัฐบาลกลางอย่าง ซีไอเอ และ เอฟบีไอ ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวาจัด หรือไม่ก็เพื่อจะปกป้องผลประโยชน์มหาศาลของคนบางกลุ่ม
พูดตามจริง แม้นการรัฐประหาร จะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมอเมริกัน แต่หลายคนกลับเห็นว่าการลอบสังหารหลายๆ คราวมันก็คือการรัฐประหารดีๆ นี่เอง บางคนถึงขนาดเรียกการลอบสังหารทำนองนี้ว่าเป็น “รัฐประหารเงียบ” (The Silent Coup) เนื่องจากการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดี (คนหนึ่ง) เป็นหนึ่งในเหตุที่เปิดโอกาสให้รองประธานาธิบดี (อีกคนหนึ่ง) มีสิทธิเข้ารับช่วงตำแหน่งต่อจนสิ้นสุดวาระ
ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นด้านที่ เป็นจริงของ “การเมือง” ที่แม้นแต่ภายในระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างอเมริกายังกลับเต็มไปด้วย “ความรุนแรง” ชวนให้นึกถึงวาทะอมตะของ Joseph Stalin ที่ว่า “ความตายแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง...ไม่มีมันปัญหาก็จบ(Death solves all problems, No Man No Problems).



[1] เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ครั้งหลังสุดคือ เหตุการณ์ที่นาง Gabrielle Giffords ส.ส.พรรคเดโมแครต รัฐอริโซนา ถูกมือปืนจ่อยิงแต่รอดตาย เมื่อวันที่ 8 มกราคมของปี 2011 ในระหว่างออกพบปะประชาชนในเมืองทูซอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย รวมทั้งเด็กหญิงอายุ 9 ปี และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบราย นอกจากนี้รายงานข่าวบางแหล่งยังให้ข้อมูลด้วยว่า เธอคือสมาชิกสภาหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่มาถูกลอบสังหาร ดู http://en.wikipedia.org/wiki/2011_Tucson_shooting
[2] พิจารณาจากความตายของประธานาธิบดี 4 คน ผู้ว่าการรัฐ 8 คน สมาชิกวุฒิสภา 7 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 9 คน นายกเทศมนตรี 11 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ 17 คน และผู้พิพากษา 11 คนในรอบ 200 กว่าปี อ้างใน “Political Assassination: The Violent Side of American Political Life,” http://www.digitalhistory.uh.edu/historyonline/assassinations.cfm และจาก “List of assassinated people,” http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_assassinated_people
[3] เรื่องเดียวกัน.
[4] เรียบเรียงจากหนังสือหลายเล่ม ได้แก่ Jon Roper, The Illustrated Encyclopedia of The Presidents of America, (London: Hermes House, 2008); Lindsay Porter, Assassination: A History of Political Murder, (New York: Overlook Press, 2010); Paul Elliott, Assassin: The Bloody History of Political Murder, (London: Blandford, 1999); บรรพต กำเนิดศิริ, ลอบสังหารผู้นำ, (กรุงเทพฯ: อนิเมทกรุ๊ป, 2549); เอกนรี พรปรีดา, ลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐ, (กรุงเทพฯ: มายิก สำนักพิมพ์, 2552).
[5] เอกนรี พรปรีดา, อ้างแล้ว, หน้า 90-91.
[6] ดู Frederick M. Kaiser, “Direct Assaults Against Presidents, Presidents-Elect, and Candidates,” www.fas.org/sgp/crs/misc/RS20821.pdf
[7] Robert Fein and Brian Vossekuil, “Assassination in the United States: An Operational Study of Recent Assassins, Attackers, and Near-Lethal Approaches,” Journal of Forensic Sciences Vol.44 No.2 (March 1999).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น