ด้วยรูปแบบการต่อสู้แบบลับลวงพรางของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ในปัจจุบัน ทำให้ไม่ค่อยมีใครมีโอกาสเห็นหน้าค่าตาหรือพูดคุยกับคนที่อยู่ในขบวนการ อย่างเปิดเผยมากนัก DSJ ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับพวกเขา ในตอนนี้เราจะนำ “คนใน” ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการทางการทหารมาเล่าเรื่องราวชีวิตและความคิด ของพวกเขา
เรื่องราวของอัมรัน : หัวหน้ากอมปี
อัมรัน (นามสมมุติ) ถูกชักชวนเข้าสู่ขบวนการในขณะที่เขาเรียนศาสนาในระดับชั้นซานาวีย์อยู่ที่ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในจ.นราธิวาส ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใน 3 ระดับขั้นของการเรียนศาสนาอิสลาม ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปาตานีเป็นประเด็นสำคัญที่ปลุกเร้าให้เขาเข้าร่วม ขบวนการ “ญิฮาด” เพื่อกอบกู้เอกราช
เมื่ออัมรันเรียนจบ เขาไปเป็นทหารเกณฑ์ 1 ปี พอกลับมาก็ได้รับคัดเลือกให้ไปฝึกในสายเมย์ (MAY – สายทหาร) เขาคิดว่าประสบการณ์จากการเป็นทหารเกณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาได้รับ เลือกเข้าไปฝึกด้านการรบ การฝึกใช้เวลาประมาณ 1 เดือนทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติ จากนั้นเขาก็เริ่มต้นปฏิบัติการเป็นหัวหน้าระดับรือกู (regu – หมู่) ในช่วงต้นปี 2547 โดยมีหน้าที่ในการดูแลสั่งการอาร์เคเค 2 ชุด
อัมรันเล่าว่าเขาได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจดูเสาสัญญาณโทรศัพท์ก่อนที่จะ เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 เพราะขบวนการวางแผนที่จะทำลาย เสาโทรศัพท์ ในวันปฏิบัติการเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตัดต้นไม้ขวางถนนเพื่อป้องกัน การติดตามของเจ้าหน้าที่
“เขาอยากจะทำเพื่อยกระดับขบวนการ” อัมรันกล่าวถึงสาเหตุของการปล้นปืนครั้งใหญ่ที่ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นายและอาวุธถูกปล้นไปจากค่ายค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในอ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสกว่า 400 กระบอก
ในฐานะของหัวหน้ารือกู อัมรันรับหน้าที่ประสานงานระหว่างอาร์เคเคซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดกับระ ดับพลาตง (platong – หมวด) ซึ่งอยู่เหนือเขาขึ้นไประดับหนึ่ง เขาบอกว่าความรับรู้ของเขาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวจำกัดอยู่ เพียงแค่นั้น เขาจะคอยสอดส่องดูการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและดูสถานที่ที่เป็นฐานเศรษฐกิจ ธนาคาร แหล่งอบายมุข เช่น สถานบันเทิง ซึ่งเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักอย่างหนึ่งของขบวนการ
“ผมไม่เคยปฏิบัติการจริง ผมได้เลื่อนขั้นขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคนที่อยู่เหนือกว่าตาย” อัมรันกล่าว เขาได้ปรับตำแหน่งสูงขึ้นจนสุดท้ายได้เป็นหัวหน้ากอมปี (kompi – กองร้อย) ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมเมื่อห้าปีที่แล้ว (ปี 2550)
ชายหนุ่มวัยกลางคนรูปร่างบึกบึนผิวคล้ำผู้นี้ประกอบอาชีพทำสวนยางเพื่อหา รายได้มาจุนเจือครอบครัว นอกจากภาระส่วนตัวแล้ว เขายังมีพันธกิจที่จะต้องบริจาคเงินวันละ 2 บาทให้กับขบวนการอีกด้วย
“ทุกฝ่ายจ่ายวันละบาท ยกเว้นเมย์จ่าย 2 บาท,” อัมรันกล่าว
เขายืนยันว่าขบวนการมีกฎอย่างเคร่งครัดและไม่อนุญาตให้สมาชิกอาร์เคเค ตัดสินใจในการก่อเหตุเองจะต้องมีการเสนอเรื่องขึ้นไปยังระดับพลาตง หรือสอง ขั้นเหนือขึ้นไป ถ้าหากว่ามีการละเมิดก็จะถูกลงโทษด้วยการให้ “ปอซอ” (ถือศีลอด) หรืออาจจะให้งดปฏิบัติการชั่วคราว ขบวนการระมัดระวังที่จะไม่ให้นำอาวุธไปใช้ในการล้างแค้นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเขาบอกว่ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก
สำหรับแหล่งที่มาของอาวุธและกระสุนที่ใช้ อัมรันบอกว่าส่วนใหญ่ได้มาจากการลอบยิงและปล้นมา ไม่ค่อยมีการซื้อมากนัก สำหรับปืนพกสั้น มีการซื้อจากเจ้าหน้าที่หรือคนที่เป็นญาติเจ้าหน้าที่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย
แม้หลายคนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แต่การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธนั้นอาจเป็นเรื่องที่หลายคนสามารถเข้า ใจ กระทั่งยอมรับได้ มากกว่าการสังหารเหยื่อคนพุทธซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์
อัมรันตอบประเด็นนี้ว่าอูลามาของขบวนการซึ่งเขาเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร ได้ฟัตวา (คำตัดสินทางศาสนาอิสลาม) ว่าคนพุทธหรือคนจีนที่อาศัยอยู่ในดารุลฮัรบีนั้น “ฆ่าได้” พวกเขาเป็นกาฟิรฮัรบี (kafir harbi) หรือ ผู้ไม่ศรัทธาในพระเจ้าซึ่งอาศัยอยู่ใน “ดินแดนแห่งสงคราม” พวกเขาไม่ใช่ กาฟิรซิมมี (kafir dhimmi) ซึ่งหมายถึง ผู้ไม่ศรัทธาในพระเจ้าที่อาศัยที่อยู่ในดารุลอิสลาม กาฟิรซิมมีนั้นจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการอาศัยอยู่ในดารุลอิสลาม
ส่วนการเผาบ้านเรือนคนไทยพุทธนั้น อัมรันอธิบายว่าอูลามาได้กล่าวว่า “ท่านอุมัร [ซึ่งเป็นผู้ปกครองคนที่สามหลังจากที่ท่านศาสดานบีมูฮัมหมัดเสียชีวิต] ได้กล่าวไว้ว่าบ้านใดไม่ไปละหมาด เรายังเผาบ้านเขาได้ ฉะนั้น คนที่มายึดครองแผ่นดินของเรา ทำไมเราจึงจะเผาบ้านเขาไม่ได้”
อัมรันอธิบายว่าเหตุผลในการโจมตีคนไทยพุทธก็เพื่อต้องการให้เขาหวาดกลัวและย้ายออกไปจากดินแดนปาตานี
ส่วนมูนาฟิก (คนมุสลิมที่กลับกลอก) ซึ่งมักใช้เรียกคนมุสลิมที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐนั้น อัมรันอธิบายว่าได้มีการออกหลักการกว้างๆ ว่า “ฆ่าได้” แต่ว่าการตัดสินว่าใครเป็นมูนาฟิกหรือไม่นั้น จะต้องมีการเสนอไปยังระดับพลาตงหรือกอมปีเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสังหารกันอย่างไร้กฎเกณฑ์ แต่ว่าอัมรันก็ชี้ว่ามีบางกรณีที่เป็นการล้างแค้นส่วนตัวเช่นเดียวกัน โดยคนในขบวนการไปชี้ว่าคนที่ไม่ถูกกับตนเป็นมูนาฟิกเพื่อให้ขบวนการสั่งเก็บ
เรื่องราวของสุไลมาน : มือระเบิด
สุไลมาน (นามสมมุติ) เข้าขบวนการตั้งแต่เขายังเป็นวัยรุ่นในช่วงพ.ศ. 2540 ช่วงนั้นเขาอายุ 16 ปีเพิ่งเรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่ง เขาวางแผนว่าจะมาเรียนด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ชีวิตของเขาต้องหันเหไปหลังเลือกที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางการต่อสู้ เขา ไม่ได้มีโอกาสมาเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในเมืองหลวง
“การคุยเรื่องญิฮาดเป็นเรื่องธรรมดา ในสังคมมลายูมีการปลุกจิตสำนึกให้ต่อต้านรัฐสยามอยู่แล้ว”, สุไลมานเล่าถึงบรรยากาศในสังคมในช่วงที่เขาตัดสินใจเข้าขบวนการ
เขาเล่าถึงเพลงกล่อมเด็กที่มีการร้องกันมาหลายช่วงสมัยโดยไม่ทราบที่มา ท่อนหนึ่งที่เขาจดจำได้ คือ“นอนเถอะ ตื่นขึ้นมาเราจะไปสู้กับซีแย (สยาม)”
“ในพื้นที่เป็นสังคมที่ปิด ในสมัยนั้น ผมก็มีความรู้สึกแอนตี้ [ต่อต้าน] คนที่รับราชการ มันเป็นสภาวะของสังคม” สุไลมานกล่าว
ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนั้นทำให้เขาไม่ลังเลที่จะตอบตกลงต่อคำชวนของอุสตา ซโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามคนหนึ่งที่มาขอให้เขาเข้าร่วมขบวนการ เขาเล่าว่าอุสตาซคนนั้นมาชวนคุยเรื่องชาติ มาตุภูมิ ความอยุติธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรและการปกครอง
“ในสมัยนั้นชาวบ้านไปอำเภอก็ไม่ได้รับการต้อนรับ ดูแล แต่ถ้าแต่งตัวดีๆ ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็คก็จะได้รับการต้อนรับ ส่วนชาวบ้านก็นั่งรอไปก่อน” สุไลมานกล่าว
อุสตาซบอกเขาว่าพื้นที่ในปัตตานี ยะลาและนราธิวาสนั้นเป็นดารุลฮัรบี เขาบอกว่าในใจตอนนั้นก็ “รู้สึกฮึกเหิม พร้อมที่จะตายเพื่อศาสนาและมาตุภูมิ”
เขาเริ่มไปฝึกด้านการทหารเพื่อเป็นอาร์เคเคในช่วงปี 2546 – 47 ในช่วงการฝึก เขาได้รับการอบรมในเรื่องการฉีดยา อาวุธปืน และได้เรียนรู้ถึงอุปกรณ์ประกอบระเบิดต่างๆ เช่น ฝักแคTNT ปุ๋ยยูเรีย แต่ไม่ได้มีการทำจริง
“พอฝึกเสร็จ เขาก็ให้ดูอาวุธจริง แต่บอกว่าเขาไม่มีให้ ต้องหาเองจากเจ้าหน้าที่” สุไลมานเล่าย้อนความหลัง เขาบอกว่าเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็งทำให้เขามั่นใจมากขึ้นว่า “ขบวนการมีจริง”
หลังจากจบหลักสูตรและปฏิบัติการในฐานะอาร์เคเคอยู่พักหนึ่ง เขาก็ถูกส่งไปอยู่หน่วยเลตุปัน (letupan - ระเบิด) เขาเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ติดตามมือระเบิดฝีมือกล้าคนหนึ่ง โดยจะทำงานในลักษณะเป็น “บัดดี้” (เป็นคู่) หลักการของขบวนการคือจะต้องไม่แหวกแนว ให้ทำตามทฤษฎีอย่างเคร่งครัด สุไลมานบอกว่าการทำระเบิดนั้นจริงๆ แล้วเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่แล้ว
“เดิมเราเคยระเบิดปลา โดยใช้ TNT ไดนาไมท์ แต่ว่าการทำระเบิดมีการเอาวงจรโทรศัพท์เข้ามาเติม” สุไลมานกล่าว
สุไลมานอธิบายเพิ่มเติมว่าในกัสนราธิวาสมีมือระเบิดอยู่ประมาณ 16 – 18 คน โดยจะขึ้นกับแต่ละกอมปี ในนราธิวาสมี 8 กอมปี โดยแต่ละกอมปีจะมีชุดเลตุปันหนึ่งชุด ชุดละ 2 คน เขาทราบแต่จำนวนชุดในพื้นที่ซึ่งตนเองเคลื่อนไหวเท่านั้น เขาไม่มีข้อมูลในพื้นที่กัสยะลาหรือกัสปัตตานี
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงบางคนอาจคิดว่าขบวนการจะต้องส่งคนไปฝึกใน พื้นที่สงครามอย่างอิรักหรืออัฟกานิสถานหรือไปฝึกกับชาวต่างชาติเพื่อเรียน รู้เรื่องการทำและวางระเบิด แต่สุไลมานกลับให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม
“มือระเบิดหาใหม่ไม่ยาก สามารถผลิตใหม่ได้ไม่เกินสองสัปดาห์ พอโดนจับ ก็จะให้ลูกน้องที่ติดตามดูงานตลอดขึ้นมาทำงานแทน” สุไลมานกล่าว เขายืนยันว่าในความรับรู้ของเขาไม่มีกลุ่มญิฮาดสากลอย่างอัลเคด้าหรือเจ มาห์ อิสยามิยะห์ (กลุ่มที่เคลื่อนไหวหลักอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเพื่อเป้าหมายในการตั้งรัฐ อิสลาม) มาช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว ระบบทำงานแบบบัดดิ้นี้ทำให้การถ่ายทอดวิชาสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ เมื่อมือระเบิดถูกจับกุมหรือเสียชีวิต อีกคนหนึ่งก็พร้อมจะขึ้นมาแทนได้ทันที และทำการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนใหม่ที่มาเป็นคู่ของตนเองต่อไป
สุไลมานอธิบายว่าการเตรียมการวางระเบิดนั้นมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็น ตอน โดยเริ่มแรก ฝ่ายเมย์หรืออาร์เคเคในพื้นที่จะขอมาว่าต้องการอะไร โดยจะบอกเป็นรหัส เช่น “ส้มตำจานหนึ่ง ขอให้เตรียมของให้ด้วย” จากนั้นฝ่ายอาร์เคเคก็มีหน้าที่ในการเตรียมภาชนะบรรจุ เช่น กล่องเหล็ก เหล็กเส้น ถังดับเพลิง ส่วนชุดเลตุปันจะเป็นคนหาวัสดุในการทำระเบิด เช่น ปุ๋ยยูเรียTNT ไดนาไมท์ ฝักแค โดยมือระเบิดที่เป็นหัวหน้าทีมของเขาจะเป็นคนไปสั่งของ แต่ว่าคนที่ไปรับของจะเป็นฝ่ายตุรงแง (สนับสนุน) ในระดับอาเจาะ หลังจากนั้น ทีมเลตุปันก็จะต้องไปผลิตระเบิดในหมู่บ้านที่มีอาเจาะที่เข้มแข็ง โดยจะประกอบระเบิดเสร็จอย่างน้อยสามวันก่อนการนำไปวาง โดยจะมีคนมารับของ เขาก็จะสอนวิธีการใช้ให้ เช่น จะต้องลากสายอย่างไร กดสวิตซ์ตรงไหน
สุไลมานชี้ว่าในการทำงาน ฝ่ายเลตุปันจะต้องพยายามพัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลา
“เราคิดไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้ระเบิดของเรามีประสิทธิภาพ เข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต ในYouTube บ้าง แล้วก็ค่อยๆ หาข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ” สุไลมานกล่าว เขาบอกด้วยว่าส่วนใหญ่ข้อมูลที่เข้าไปค้นในอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นภาษาอังกฤษ โดยเขาอ่านไป พร้อมเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษไปด้วย คำหลายๆ คำในภาษาอังกฤษมีการใช้ทับศัพท์ในภาษามลายูกลางแม้จะมีการสะกดต่างกันนิด หน่อย แต่ก็ช่วยให้เขาเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
เขาเล่าว่าในช่วงปี 2549 เป็นช่วงที่หาซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือได้ยาก เพราะว่าทางรัฐได้ออกกฎให้มีการจดทะเบียนซิมการ์ดแบบเติมเงินที่ใช้ในสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกหมายเลข เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็เริ่มใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์อย่างกว้างขว้าง ตอนนั้น เริ่มมีการใช้นาฬิกาแบบเข็มในการจุดชนวน แต่สุไลมานบอกว่าเขาพบว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะระเบิดอาจทำงานได้เมื่อรถสั่น ทางออแฆตูวอ (ผู้ใหญ่) จึงก็ให้การบ้านว่าต้องการให้คิดค้นวิธีการจุดชนวนระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร
ข้อมูลจากหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่าพบการใช้วิทยุสื่อสารในการจุดชนวนครั้งแรกในวัน ที่ 17 กรกฎาคม 2552 ในพื้นที่อ.ยะหา จ.ยะลา ระเบิดถูกซุกซ่อนอยู่ในรถกระบะที่จอดอยู่ริมถนน และถูกจุดชนวนเมื่อรถจี๊บซึ่งมีทหารโดยสารมา 6 นายแล่นผ่าน แรงระเบิดทำให้ พ.ต.พันธ์ศักดิ์ ทองสุข รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 และ จ.ส.ต. วิชัย สาหลีเสียชีวิต มีทหารอีก 4 นายและประชาชน 1 คนได้รับบาดเจ็บ จนถึงปัจจุบัน การใช้วิทยุสื่อสารยังคงเป็นวิธีจุดชนวนหลักในระเบิดครั้งใหญ่ๆ โดยเฉพาะคาร์บอมบ์
ในส่วนของวัสดุประกอบระเบิด สุไลมานกล่าวว่าในช่วงแรก “ของ” จะมาจากโรงงานโม่หินในพื้นที่เป็นหลัก แต่ว่าช่วงหลังการควบคุมเข้มงวดมากขึ้น การหาของเหล่านี้ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ในการกำหนดเป้าหมายนั้น สุไลมานอธิบายว่ามี 3 เป้าหลัก คือ แหล่งโลกีย์ สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่รัฐ ขบวนการได้กำชับไม่ให้การก่อเหตุระเบิดกระทบกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องเพราะว่า เขาคำนึงถึงภาพลักษณ์ในสายตามวลชน หากว่าเกิดความผิดพลาดก็จะถูกให้ “ปอซอ”
สำหรับเมืองท่องเที่ยวชายแดนอย่างสุไหงโกลกซึ่งเป็นอำเภอที่โดนวางระเบิด ใหญ่ๆ บ่อยที่สุด สุไลมานอธิบายว่า “[สุไหง] โกลกเป็นที่ลองระเบิด เพราะเป็นพื้นที่อบายมุข ถ้าทำลายได้ก็จะได้ใจมวลชน”
สุไลมานบอกว่าในคำอธิบายของออแฆตูวอ การโจมตีคนไทยพุทธนั้นทำได้ เพราะ “เขตนี้เป็นพื้นที่สู้รบ การฆ่าพวกเขาไม่ผิด” แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่าการทำร้ายคนไทยพุทธนั้น ในช่วงแรกๆ จะทำเพื่อเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่ แต่ว่าในช่วงหลังๆ กลายเป็น “เป้าหมายหลัก” ไปแล้ว
นอกจากนี้ เขายังระบุว่าขบวนการพยายามที่จะเพิ่มอานุภาพการทำลายล้างของระเบิดอยู่ตลอดเวลา
“เขาพยายามที่จะพังตึก ช่วงหลังๆ เขาไม่ได้หวังผลต่อชีวิตมากนัก สังเกตว่าในช่วงหลังๆ จะมีสะเก็ดระเบิดน้อยลง” สุไลมานกล่าว แต่เขาก็ชี้ว่าการหาและขนส่งวัตถุระเบิดเข้ามาในพื้นที่นั้นไม่ใช่เรื่อง ง่าย หากจะใช้ TNT หรือไดนาไมท์ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดแรงสูง (high explosive) ก็ไม่สามารถที่จะหาได้ง่ายๆ เขาบอกว่า ช่วงที่เขายังปฏิบัติการอยู่ ไดนาไมท์หนึ่งแท่งต้องใช้ผลิตระเบิดให้ได้ 8 ลูก หากว่าจะใช้ปุ๋ยยูเรียในการทำระเบิดซึ่งเป็นระเบิดแรงต่ำ (low explosive) ก็จะต้องใช้ปริมาณมากซึ่งยากต่อการขนส่งโดยไม่ถูกตรวจพบ
สุไลมานเล่าว่ายังมีการส่งสารจากออแฆตูวอถึงคนในระดับปฏิบัติการว่า แนวทางของขบวนการไม่ต้องการ “พูดคุย” กับรัฐ เป้าหมายในการต่อสู้ของพวกเขานั้นคือเอกราช (merdeka)และไม่ต้องการ เขตปกครองพิเศษ (autonomy) เขาบอกว่าออแฆตูวอเชื่อมั่นว่าแม้ว่าจะมีคนมลายูมุสลิมกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กับขบวนการ เช่น กลุ่มดะวะห์ กลุ่มซาลาฟี แต่ว่าพวกเขาก็จะมาคุยกันขบวนการ หากได้เอกราชแล้ว และพวกเขาเชื่อมั่นว่าคนมลายูสามารถที่จะปกครองกันเองได้
สุไลมานถูกจับกุมในปี 2552 เขาบอกว่าตลอดเวลาที่เขาเคลื่อนไหวอยู่นั้น ไม่เคยทราบว่าขบวนการที่เขาทุ่มเทชีวิตเข้าร่วมต่อสู้นี้ชื่อว่าอะไร เขาได้รับทราบเพียงว่าเขาเข้าร่วมต่อสู้กับ “กองทัพญิฮาดอิสลาม” แต่เมื่อออกมาแล้วและได้รับข่าวสารข้อมูลจากหลายแหล่งทำให้เขาเชื่อว่าขบวน การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราชนี้มีเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม
สุไลมานทิ้งท้ายบทสนทนาว่าเขาไม่เชื่อว่ามีคนหนึ่งคนใดที่จะสามารถสั่งให้การต่อสู้นี้ยุติได้
“เขาสอนว่าให้ยึดแนวทางการต่อสู้ อย่ายึดตัวบุคคล” สุไลมานกล่าว แต่ว่าถ้าหากว่าเป็นฉันทามติมาจากออแฆตูวอซึ่งเขาไม่ทราบว่าเป็นสิ่งเดียว กับที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเรียกว่า DPPหรือไม่ ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เครือข่ายปฏิบัติการใยแมงมุมนี้ยุติได้
หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ได้รับการสนับ สนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่านตอนที่ 5 "แผ่นดินปาตานีเป็นดารุลฮัรบี...หรือไม่?” ได้ในวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2555
อ่านย้อนหลังรายงานพิเศษชุด “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี”
ตอน 1 สายธารแห่งประวัติศาสตร์
ตอน 2 กระบวนการเข้าสู่การต่อสู้เพื่อ Merdeka
ตอน 3 โครงสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น