แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

‘ปิดประเทศ’ ปิดกั้น เสรีภาพ เหตุผล ศักดิ์ศรีความเป็นคน

ที่มา ประชาไท


แด่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เหตุผล และศักดิ์ศรีความเป็นคนของเราทุกคน

อิมมานูเอล คานท์ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
การประกาศขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ และประกาศปิดประเทศเป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ประชาชนเข้ามาวางระบบประเทศกันใหม่ของ “องค์กรพิทักษ์สยาม” นั้น สะท้อน “ลักษณะพิเศษ” ของสังคมการเมืองไทยอย่างชัดเจน
ลักษณะพิเศษของสังคมใด คือภาพสะท้อน “ค่านิยมทางศีลธรรม” (moral value) ของสังคมนั้น และค่านิยมทางศีลธรรมของสังคมใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับ “หลักจริยศาสตร์สังคม” ที่สังคมนั้นๆ ปลูกฝังอบรมอย่างเป็นพิเศษ
หลักจริยศาสตร์สังคมของบ้านเราก็คือ “หลักจริยศาสตร์อำนาจนิยม” ที่สร้างค่านิยมทางศีลธรรมบนรากฐานของ “อำนาจ + อารมณ์” คือ “ความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครอง” ผู้ปกครองคือผู้มีคุณธรรมสูงส่งเหนือสามัญชน มีความรักผู้ใต้ปกครองเสมือนลูก และอุทิศตนเสียสละทำงานหนักเหนื่อยเพื่อความสุขของผู้ใต้ปกครอง ประดุจดังพ่อแม่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อการมีชีวิตที่ดีของลูกๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัวใดๆ ในขณะที่ผู้ใต้ปกครองซึ่งเปรียบเสมือนลูกต้องรัก จงรักภักดี กตัญญูรู้บุญคุณของผู้ปกครอง กระทั่งพร้อมยอมพลีชีพเพื่อปกป้องผู้ปกครองได้ทุกเมื่อ
ฉะนั้น สำหรับสังคมที่ปลูกฝังค่านิยมทางศีลธรรมบนฐานของอำนาจ + อารมณ์ การแสดงออกหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครองแม้ขัดต่อหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย ผู้คนก็ยอมรับกันโดยไม่ตั้งคำถามว่ามี “ความชอบธรรม” หรือไม่ ปรากฏการณ์พันธมิตร (พธม.) ที่นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยา 49 จนมาถึง “ม็อบแช่แข็งประเทศ” จึงมีความชอบธรรม (อย่างน้อยไม่ถูกศาลพิพากษาว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนการแก้รัฐธรรมนูญของสภา)
เหตุผลของจริยศาสตร์อารมณ์คืออะไร? การอ้างความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครองเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันใช่ “เหตุผล” หรือไม่?
ผมคิดว่าเราจะตอบปัญหานี้ได้ดีขึ้น เมื่อเราตอบได้ว่า “เหตุผลคืออะไร” บางคนบอกว่า “เหตุผลคือทาสของอารมณ์ความรู้สึก” หรือความปรารถนาต่างๆ เราตัดสินเรื่องต่างๆ ไปตามอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ อคติต่างๆ ของตนเอง แล้วจึงหาเหตุผลมาสนับสนุนทีหลัง เราไม่ได้เลือกที่จะเชื่อหรือยอมรับว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้มันจริง มันถูกต้องเพราะเราเห็นด้วยเหตุผลว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่เราเชื่อหรือยอมรับตามที่เราชอบหรืออยากจะเชื่อ อยากจะยอมรับ
ฉะนั้น คุณหมอประเวศ วะสี จึงเคยพูดบ่อยๆ ว่า ถ้าสู้เอาชนะกันด้วยเหตุผลก็ไม่มีใครยอมใคร เพราะแต่ละคนต่างก็มี “เหตุผลของตัวเอง” มันรังแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก หาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ ทางเดินต่อจากเหตุผลจึงควรมี “เมตตา” หรือใช้หัวใจที่มีเมตตา มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน เหมือนสามีภรรยาทะเลาะกัน ถ้าเอาแต่ใช้เหตุผลก็เถียงกันไม่จบ ต้องใช้ความรักความเข้าใจจึงจะอยู่ร่วมกันได้
แต่อย่างไรก็ตาม มีนักปรัชญาบางคนเช่นค้านท์ (Immanuel Kant) นิยาม “เหตุผล” (reason) ต่างออกไป สำหรับค้านท์เหตุผลไม่ใช่ทาสของอารมณ์ความรู้สึก หรือความต้องการต่างๆ แต่เหตุผลหมายถึงการมีเสรีภาพจากอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการต่างๆ หมายความว่าโดยปกติเรายังมีอารมณ์ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ เกลียด สัญชาตญาณต่างๆ แต่เราสามารถใช้เหตุผลตัดสินใจเลือกการกระทำที่ถูกต้องอย่างเป็นอิสระจาก อารมณ์ความรู้สึก และสัญชาตญาณต่างๆ เหล่านั้นได้
เช่น เราเป็นแพทย์ เมื่อมีการนำคนประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสมาให้เรารักษา เราพบว่าคนบาดเจ็บนั้นคือศัตรูของเรา เขาเพิ่งแย่งแฟนเราไปเมื่อสามวันก่อน เราโกรธมากเกือบจะเอาปืนยิงหัวเขาแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าเราทำตามอารมณ์ความรู้สึกเราก็ควรจะปล่อยให้เขาตาย ดีเสียอีกที่คนที่เราเกลียดมากๆ ต้องตายโดยที่เราไม่ต้องลงมือฆ่า แต่เหตุผลบอกเราว่าเราเป็นแพทย์ เรามีหน้าที่รักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าคนป่วยจะเป็นคนที่เรารักหรือเกลียด เราก็ต้องรักษาให้ดีที่สุด เพราะนี่เป็นหน้าที่ของเรา จะเห็นว่าเหตุผลทำให้เราเป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึก และชี้แนะให้เราทำสิ่งที่ถูกต้องตามหน้าที่ของเราคือหน้าที่แพทย์ที่โยงอยู่ กับหน้าที่ปกป้องมนุษยธรรม และปกป้องความยุติธรรมที่คนไข้ทุกคนต้องได้รับการรักษาอย่างเสมอภาค (ไม่ว่าคนป่วยนั้นจะเป็นศัตรู เป็นมิตรของเรา หรือเป็นใครก็ตาม)
ฉะนั้น คำว่า “เหตุผล” ตามทัศนะของค้านท์จึงไม่ใช่ว่าใครจะอ้างเหตุผลของตัวเองอย่างไรก็ได้ เช่นถ้าแพทย์อ้างว่า “ไอ้คนบาดเจ็บสาหัสใกล้ตายคนนี้มันเป็นศัตรูของผม มันเพิ่งแย่งแฟนผมไป มันสมควรตาย ผมไม่รักษามันหรอก” ข้ออ้างเช่นนี้ย่อมเป็นข้ออ้างที่รับใช้อารมณ์ความรู้สึก หรือข้ออ้างสนองอารมณ์ความรู้สึก จึงไม่ใช่ “เหตุผล” แต่อย่างใด
ข้ออ้างต่างๆ (arguments) ที่ถือว่าเป็น “เหตุผล” ในการการตัดสิน “ความถูกต้อง” หรือยืนยันสิ่งที่เรา “ควรทำ” ตามทัศนะของค้านท์ต้องยึดโยงอยู่กับความยุติธรรมที่เป็นสากลบนความเสมอภาค และการเคารพคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ฉะนั้น ข้ออ้างบนฐานของอารมณ์เพื่อปฏิเสธไม่รักษาคนบาดเจ็บของแพทย์จึงไม่ใช่เหตุผล เพราะขัดต่อความยุติธรรมบนความเสมอภาค และไม่เคารพศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์
ขณะที่ข้ออ้างเรื่องหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องรักษาทุกคน ถือว่าเป็น “เหตุผล” เพราะเป็นอิสระจากเงื่อนไขด้านอารมณ์ความรู้สึก ยืนยันความยุติธรรมบนความเสมอภาค และเคารพศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์
จะเห็นว่า การใช้เหตุผลตามทัศนะของค้านท์สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการ ประชาธิปไตย ในขณะที่การอ้างความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ “เหตุผล” ที่ยึดโยงอยู่กับความยุติธรรมบนความเสมอภาค และการเคารพคุณค่าศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ จึงเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการประชาธิปไตย
ปิดประเทศด้วยการอ้างอิงค่านิยมทางศีลธรรมบนฐานจริยศาสตร์อำนาจ + อารมณ์ดังกล่าว จึงเท่ากับปิดกั้นเสรีภาพ เหตุผล และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน
จะว่าไปแล้ว จริยศาสตร์พุทธก็ยืนยันการใช้ปัญญาหรือเหตุผล ที่พุทธศาสนาสอนว่าเราควรมีเมตตาต่อ “สรรพสัตว์” นั้น ย่อมขัดต่ออารมณ์ความรู้สึกตามปกติของเราที่จะรักหรือเมตตาเฉพาะคนหรือสัตว์ ที่เรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ปกติเราแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์กับ “ความรู้สึกรัก” สรรพสัตว์ (หรือความรู้สึกรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง) อย่างไม่มีประมาณ แต่ทำไมเราจึง “ควร” รักเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ปัญญาหรือเหตุผลต่างหากที่บอกเราว่าควรเป็นเช่นนั้น
และแน่นอน ปัญญาหรือเหตุผลย่อมบอกเราเช่นกันว่า “สังคมที่ควรจะเป็น” ไม่ใช่สังคมที่ถูกแช่แข็งอยู่ภายใต้ระบบศีลธรรมอำนาจนิยมที่เน้นอารมณ์ความ รู้สึกรัก จงรักภักดี กตัญญูต่อชนชั้นปกครอง หากแต่ควรเป็นสังคมที่มีความยุติธรรมบนความเสมอภาค การเคารพเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งความเป็นสังคมเช่นนี้คือ “การเดินทาง” ของเราทุกคนที่ยืนยันวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดมคติที่รออยู่ข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น