แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ดูเลือกตั้งอเมริกัน หันมองการเมืองไทย

ที่มา ประชาไท


การบรรยาย ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ การเมืองอเมริกันกับการเมืองไทย โดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คัดออกมาจากการเสวนาหัวข้อ “ข้าพเจ้า (ก็) ได้เห็นมา เลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกทั้งพวงและอุษาคเนย์/ไทยศึกษา from New York to California" วิทยากรโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ดำเนินรายการโดย อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ โดยงานนี้จัดขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2555 ทีผ่านมา



การบรรยาย “ข้าพเจ้า (ก็) ได้เห็นมา เลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกทั้งพวงและอุษาคเนย์/ไทยศึกษา from New York to California" โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ



ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ : การเมืองอเมริกันกับการเมืองไทย
อาจารย์ชาญวิทย์ ตั้งข้อสังเกตว่า จอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ รับตำแหน่งปี 1789 คนอเมริกันประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 1776 ช่วงไม่มีตำแหน่งประมุขแน่นอน จนกว่ารัฐธรรมนูญประกาศแล้วและเริ่มดำเนินการปกครองอย่างจริงๆ ถึงจะมีประธานาธิบดี
พอจอร์จ วอชิงตันรบชนะเสร็จแล้ว ก็เรียกประชุมสภารัฐธรรมนูญ (Constitution of convention) ปี 1787 แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 1 ปีก็เสร็จปี 1788 แล้วก็ขอสัตยาบันจากรัฐที่มาร่วมกัน ผ่านทั้งหมดก็คือปี 1789
เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็มีตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่าเป็นมติ ทุกคนเห็นชอบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคนที่ควรจะได้เป็นประธานาธิบดีคือ จอร์จ วอชิงตัน เพราะแกเป็นผู้บัญชาการ (commander) ของนักรบอเมริกันที่สู้กับอังกฤษตลอดช่วงที่ทำการปฏิวัติอยู่ เป็นแม่ทัพใหญ่ และเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญในปี 1788 แกเป็นคนที่มีอาวุโส มีคุณสมบัติ มีบารมีมากที่สุดในอเมริกาในตอนนั้น ไม่มีใครเทียบได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเอกฉันท์เลยว่าต้องให้ตำแหน่งแก่จอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1789
พอเริ่มรัฐบาลแรก ก็มีการคุยกันในที่ประชุมของสภา ซึ่งมี 2 สภาคือ สภาผู้แทน กับสภาสูง หรือวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มแรกมาเลย
เรื่องที่เขาคุยกันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จะต้องทำให้กระจ่างก็คือว่า ตำแหน่งประมุข ที่เรียกว่า President ซึ่งเราแปลว่าประธานาธิบดี เป็นครั้งแรกในโลกที่มี ไม่มีที่ไหนที่มี ในตอนนั้นยุโรปส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกษัตริย์อยู่ เพราะฉะนั้น ก็จะมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่
คนธรรมดาซึ่งมาเป็นประมุขไม่เคยมี เพราะฉะนั้นเขาก็เลยถามว่าแล้วจะเรียกจอร์จ วอชิงตัน ว่าอะไร คือเวลาเราเรียกต้องมีตำแหน่ง ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน นายประธานาธิบดี หรืออะไร หรือพระเจ้าได้ไหม เช่น คิงวอชิงตัน เหมือนกับคิงเอ็ดเวิร์ดของอังกฤษ เพราะชาวอาณานิคมที่มาก็คนอังกฤษเป็นส่วนใหญ่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่ เพราะฉะนั้น เวลาที่เขาคิดถึงรูปแบบทางการเมือง ความคุ้นเคยก็ต้องนึกกลับไปที่อังกฤษ
เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีประมุข ก็ต้องมีฐานะสูงส่งเหมือนกับเช่นอังกฤษ อย่าลืมว่าฝรั่งเศสก็ยังมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อยู่ ยังไม่ปฏิวัติ ปี 1789 คือปีที่ฝรั่งเศสจะปฏิวัติ เพราะฉะนั้นปีนั้นจะเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะมากทั้งในยุโรปและ อเมริกา
ประเด็นก็คือว่า ยังไม่มีคนเคยเรียกสามัญชนที่เป็นประมุขของรัฐให้มีฐานะดีๆ ก็มีคนเสนอให้เรียกว่าอะไรก็ตามแต่ที่เขาจะหาได้ รวมทั้งให้เรียกว่ากษัตริย์เลย หลังจากที่เถียงกันสักพักหนึ่ง ก็ตกลงว่า เรียกสามัญชนธรรมว่า “Mister”-“นาย” เพราะฉะนั้น สังเกตดูว่า เวลาเขาเรียกจะเรียก Mister President ไม่แม้แต่กระทั่งคำว่า Your Excellency อเมริกันไม่เรียกนะ ลองไปถามทูตอเมริกัน เวลาโอบามาไปเปิดงานต่างๆ Your Excellency Obama หรือ President Obama ผมคิดว่าไม่ เพราะไม่เคยทำมาก่อน ถ้าทำก็ต้องกระแดะมาก คือมันไปไม่ได้เลยกับสปิริตของอเมริกัน
ครั้งแรกชัดเจนเลยว่า ผู้นำของเขาต้องเป็น “นาย” ภรรยาของประธานาธิบดีก็เป็น Mrs.Obama เท่านั้นเอง แต่เพื่อให้มีฐานะ เขาบอกว่าประธานาธิบดีเป็นพลเมืองคนที่ 1 the first citizen of the Republic ก็จบแล้วเท่านั้นเอง แล้วคนนี้ต้องเป็นจอมทัพทุกอย่างรวมทั้งคุมกองทัพด้วย ลองสังเกตดูเวลาโอลามาพูดกับทหารของเขา นายพล 5 ดาว 4 ดาวทั้งหลาย แกขึงขังมาก ซีเรียสมาก
เมื่อปีที่แล้ว ที่รบกันหนักๆ ในอัฟกานิสถาน มีนายพลคนหนึ่ง McChrystal (Stanley Allen McChrystal) ถูกส่งไปอยู่อัฟกานิสถาน แล้วนักข่าวไปถามแกว่านโยบายที่รัฐบาลให้มาใช้ได้ไหม ด้วยความที่แกมีสติปัญญามากเกินไป แกตอบแบบไปวิจารณ์นโยบายโอบามาเรื่องหนึ่งทำนองว่า ไม่ได้เรื่อง คำเดียวเท่านั้นเอง
พอข่าวตีพิมพ์ออกไป โอบามาเรียกกลับเลย ปลดออกกลางอากาศเลย ไม่ต้องทำหน้าที่นี้แล้ว เพราะว่าละเมิดจอมทัพ บังอาจวิจารณ์จอมทัพ
ถ้าเป็นเมืองไทย ต้องมีสลิ่มออกมาฟัดโอบามา ใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภาไปปลดเขาได้ยังไง เขาจะตายเพื่อประเทศ ในอเมริกาไม่มีสักแอะเลย อาจจะมีพวก tea party ด่าอยู่ข้างๆ ทุ่งนา แต่ไม่เป็นข่าว
คนอย่าง เสธ.อ้าย มีนะในอเมริกา แต่มันขึ้นเป็นหน้าข่าวไม่ได้ มันจะอยู่ในข่าวท้องถิ่น ข่าวบ้าๆ บอๆ หรือในเว็บไซต์
วันก่อนมีคนโพสต์ในเว็บไซต์ว่า พอรู้ว่าโอบามาได้รับเลือกตั้ง บอกว่าใครไปยิงหน่อยได้ไหม เขาไม่เอาแกขึ้นดำเนินคดี เพราะแกบอกว่าเขียนด้วยอารมณ์ ไม่ได้ตั้งใจ คนบ้าๆ มีแต่มันไม่เป็นข่าว ไม่ถูกกระแสทำให้เป็นเรื่อง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครชนกับใคร อย่าไปคิดว่าในอเมริกาเรียบร้อย ไม่เรียบร้อยหรอก ประชาธิปไตยมันยุ่งๆ แบบนี้ล่ะ
จอร์จ วอชิงตัน อยู่ในตำแหน่ง 7 ปี เป็นคนแรกที่วาระไม่ 4 ปี ไม่ 8 ปี และไม่ 12 ปี จากนั้นมาการเลือกตั้งของอเมริกาจะต้องตกในปีเลขคู่ เพราะมัน 4 กับ 8 เท่านั้น

จิตวิญญาณการเมืองอเมริกา คือการปกครองตนเอง
ระบบการเมืองอเมริกา อาศัยการเลือกตั้งตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ ก็คือ 200 กว่าปีที่ผ่านมา เลือกตั้งทำกันมาจนไม่รู้ว่าจะบอกทำไม เหมือนกับกินข้าวกินแซนวิชทุกวัน ไม่ต้องบอกก็รู้
ถามว่าทำไมต้องเลือกตั้งมาก เพราะสมัยอาณานิคมตอนที่เข้าไปตั้งรกราก เพื่อที่จะสร้างชุมชนขึ้นมา เขาก็เลือกหัวหน้า แล้วก็เซ็นต์สัญญา อย่างพวกที่นั่งเรือเมย์ฟลาวเวอร์ พวก พิวริตัน บรรพบุรุษที่ไปอยู่นอร์ทนิวอิงแลนด์ในปัจจุบันนี้
พอขึ้นเรือเสร็จ John Winthrop ซึ่งเป็นหัวหน้า ก่อนลงจากเรือก็จับทุกคนมาเซ็นชื่อ แกเขียนกติกาสัญญา social compact ว่าทุกคนที่มาต้องเชื่อฟังหัวหน้า ต้องทำตาม เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าฟรีก็ได้ เป็นเสรีภาพก็ได้ แต่อันหนึ่งก็คือ ทำให้ทุกคนอยู่ด้วยการที่รู้สึกว่าทุกคนต้องรับผิดชอบ คนที่เป็นหัวหน้าก็ต้องรับผิดชอบ เพราะคุณมาด้วยชุมชน ด้วยคนอื่นเขาเลือกขึ้นมา ทุกคนต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้น สปิริตของการเมืองอเมริกา ถ้าพูดสั้นๆ ก็คือ Self-Government หัวใจของการเมืองอเมริกันคือ การปกครองตนเอง ถ้าแปลออกมาก็คือการปกครองท้องถิ่น หรือ local government
local government ในอเมริกาสำคัญมาก เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการโดยการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของคุณเอง ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมา การเมืองระดับชาติ Federal government หรือรัฐบาลสหพันธรัฐ เกิดขึ้นหลังปฏิวัติ หมายความว่า หลังจากที่คนอเมริกันมาตั้งรกรากอยู่แล้วเกือบร้อยปี ถ้านับจากปี 1600 ถึงปี 1776 คือ 176 ปี
การเมืองอเมริกัน เริ่มที่ท้องถิ่น เริ่มที่ชุมชน เริ่มที่คนธรรมดา ก่อนจะมีรัฐบาลกลาง ก่อนที่จะมีประธานาธิบดี ก่อนที่จะมีเทวดาลงมาเป็นผู้นำ ตรงข้ามกับการเมืองสยาม การเมืองไทยเริ่มจากข้างบนลงมาข้างล่าง เริ่มจากเทวดาลงมาถึงไพร่
ดูการเมือง 2 ประเทศนี้แล้ว บางอย่างก็คล้ายกัน แต่โดยเนื้อหาแล้ว ผลตรงกันข้ามเลย

ชัยชนะของโอบามา มาจากการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อ
ทีนี้เลือกตั้ง เขาก็มีชื่อเรียก หลักๆ ก็คือปีที่เลือกประธานาธิบดีจะเป็นปีที่การเลือกตั้งสนุกมาก แน่นอนว่ามีระดับชาติแล้ว ระดับรัฐต่างๆ ก็จะตามมาทุกรัฐ โครงสร้างของอเมริกาคือทุกรัฐจะมีสภานิติบัญญัติ ทุกรัฐจะมี สส.และ สว.จนถึงเมืองหลวง ดีซี.ก็จะมีคองเกรส มี senate ใหญ่คลุมอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ปีที่เลือกตั้งประธานาธิบดี ทุกรัฐก็จะต้องเลือก สว. สส. ก็ต้องเลือกด้วย เป็นปีที่มีการเลือกตั้งเยอะมาก
แต่ก่อนนี้ ผมฟังการรายงานข่าวของรัฐไม่ดังเท่าไหร่ มีบางรัฐที่เพี้ยนๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไปตามระบบ ใครได้ก็ได้กันไป ไม่ค่อยพลิกไม่ค่อยเปลี่ยน สื่อก็เลยบอกว่าเสียเนื้อที่กระดาษ อย่าไปเล่ามันเลย ใครอยากรู้ก็ไปอ่านของบ้านตัวเอง ก็มีหนังสือพิมพ์ประจำรัฐอยู่แล้วก็ไปอ่าน จริงๆ เราก็ไม่อยากรู้หรอกเลือกตั้งที่ศรีสะเกษใครได้
แต่ปีนี้ ผมเดาว่าจะเป็นปีที่รายงานข่าวจากอเมริกา ที่ดูจากข่าวในอเมริกา ผลการเลือกตั้งระดับ สว. สส. เขาให้ตัวอย่างอะไรต่างๆ เพราะผมเดาว่าผลการเลือกตั้งรุ่นนี้มันนำการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศขึ้นมา เลย
ยุทธศาสตร์ของเขาก็คือ เอาคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ เอาคะแนนประชาชนที่พูดง่ายๆ ว่า ไม่เคยได้รับการเป็นตัวแทน เสียงก็ไม่ได้ยิน หรือถูกกีดกัน ดึงพวกนี้เอามาเป็นฐานเสียง
ถ้าไปดูสถิติการเลือกตั้งอเมริกา เกือบทุกครั้งมีคนใช้สิทธิ์ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเท่านั้นเอง
คำถามก็คือว่า ไหนว่าประเทศนี้คนสนใจการเมือง มีสิทธิเสรีภาพ แล้วเลือกตั้งแค่เกินครึ่งนิดเดียวเองเหรอ น้อยกว่าเมืองไทยนะ ของเราหลังๆ คนมาลงคะแนนเสียงเกิน 70 เปอร์เซ็นต์นะ แล้วอย่างนี้แปลว่าอะไร
คราวนี้ผมเริ่มสะดุดใจ ดูยุทธศาสตร์ของโอบามา เขาปลุกระดมคนที่ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงอะไรขึ้นมา แสดงว่า 48-49 เปอร์เซ็นต์ทีไม่ได้ลงคะแนนเสียงในรอบร้อยปีที่ผ่านมา อาจจะมีสักครึ่งหนึ่งที่ขี้เกียจ อีกครึ่งหนึ่งอยากจะไป แต่ว่าถูกตัดสิทธิ์
คนผิวดำ ญาติพี่น้องโอบามาทั้งหลายถูกตัดสิทธิ์มาร้อยกว่าปี หลังจากลินคอล์นประกาศให้เสรีภาพแล้ว กฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายลูก ออกในระดับมลรัฐ เพราะฉะนั้น ถึงลินคอล์นจะประกาศเลิกทาสแล้ว ทุกคนมีฐานะพลเมือง แปลว่ามีสิทธิ์เท่ากับทุกคนที่เป็นคนผิวขาว แต่พอไปลงคะแนนเสียง ลงไม่ได้ เพราะ voting rights เป็นสิทธิ์ที่รัฐสภาแต่ละรัฐสามารถออกกฎระเบียบเพิ่มเติมได้
เพราะฉะนั้น รัฐทางภาคใต้ซึ่งคนผิวดำเยอะ วิธีง่ายที่สุดคือ ออกกฎว่าผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งคือ พลเมืองอเมริกันอายุ 20 ปีขึ้นไป เสร็จแล้วต้องอ่านออกเขียนได้ ต้อง literacy test
ผมเคยดูสารคดี ที่ไปถามลุงคนหนึ่งว่า แกก็ไปลงทะเบียนทุกครั้งแต่แกสอบตก literacy test แล้วนักศึกษาที่ไปช่วยจดทะเบียนให้แกก็ถาม เขาให้ลุงอ่านอะไร ลุงก็บอกว่าเขาเอากระดาษเก่าๆ มาเล่มหนึ่ง มาดูปรากฏว่าเป็นหนังสือกฎหมายที่เรียนในอังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 18-19 มาให้ผมอ่าน ผมก็อ่านไม่รู้เรื่อง แล้วหนังสือตัวนิดเดียว ต้องใช้แว่นขยาย แกอายุตั้ง 60-70 มองไม่เห็น เจ้าหน้าที่บอกว่า ตกลุง ปีหน้ามาใหม่ แกมาทุกปีก็ไม่ได้ทุกปี นี่เป็นเรื่องเดียวนะ อย่างอื่นก็มี เช่น เรื่องไม่เสียภาษีก็เลือกตั้งไม่ได้
สรุปก็คือ เกือบร้อยปีหลังเลิกทาสแล้ว คนผิวดำไม่ได้สิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริง ได้ในทางกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชัยชนะของโอบามาไม่ใช่เพราะแกเรียนเก่ง แต่เพราะว่ามาจากการต่อสู้สมัยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นผู้นำของคนอเมริกันผิวดำที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมือง (civil rights) ที่เดินขบวนใหญ่แล้วประกาศสุนทรพจน์ที่ว่า I Have A Dream ที่บอกว่าเขาเริ่มเห็นเสรีภาพ ปีรุ่งขึ้น 1965 รัฐบาลจอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ถึงยอมออกกฎหมาย voting rights act 1965 คราวนี้รัฐบาลกลางบังคับลงไปว่า ทุกรัฐต้องให้พลเมืองอเมริกันทุกคนออกเสียงได้ โดยต้องไม่กีดกัน จะมาเทสนู๋นนี่ไม่ได้แล้ว
วันแรกที่โอบามารับตำแหน่ง เขาก็ยังพูดนะว่า เขาสามารถขึ้นมาถึงวันนี้ได้เพราะการต่อสู้ของคนรุ่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แล้วมีคนผิวดำอีกเยอะที่ไปช่วยสร้างกลไกเลือกตั้งในระดับชุมชนทุกที่เลย โดยเฉพาะชิคาโก้ เป็นฐานอันแรกเลยที่โอบามาลงไปเรียนทางการเมือง จนกระทั่งได้เลือกตั้งมาเป็นวุฒิสมาชิกจากชิคาโก้

ถ้าเลือกตั้งเสรีจริง การซื้อเสียงไม่มีความหมาย
คนที่จะขึ้นมาแข่งตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องวัดก่อนว่า คุณสามารถเป็น สว.ได้ไหม ไม่ใช่แบบสรรหาแบบนี้นะ เลือกตั้ง สว.อเมริกายากมาก หินมาก เพราะทุกรัฐไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเลือกได้ 2 คนเท่านั้น แล้วเลือกทั้งรัฐ หมายความว่า ถ้าคุณจะโปรยเงินต้องโปรยทั้งรัฐเป็นพันล้านเลย แต่ทำไม่ได้หรอก ต้องหาเสียงทางทีวีก็ไม่แน่ว่าจะชนะหรือเปล่า ต้องมีบทบาทมีผลงาน ต้องเก่งจริงๆ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้ง คุณจะซื้อยังไงก็ตาม ถ้าเปิดให้เลือกอย่างเสรีจริงๆ แล้ว การซื้อไม่มีความหมาย อย่างอเมริกาชัดเลย
ผมท้าเลย นักการเมืองคนไหนที่เก่งในการซื้อ ลองไปลงดูสิครับ ไปถามแทมมี่ ดักเวิร์ธ ก็ได้ว่าหินแค่ไหน
กรณีของแทมมี่ ดักเวิร์ธ น่าสนใจมาก แกเป็น สส. สภาผู้แทนราษฎรฐานะยังต่ำกว่า สว. เพราะฉะนั้นในอเมริกาไม่เอ่ยถึงแกเลยว่าเป็น Asian American คนแรกที่ได้ แต่เขาไปยกย่อง Asian American คนแรกจากฮอนโนลูลู ฮาวาย ที่ได้รับเป็น สว.ผู้หญิงคนแรก ส่วนของแทมมี่เป็นแค่ผู้แทนราษฎรเท่านั้น
สว.ที่ดังมาก และเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการเมืองอเมริกันก็คือ ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ รัฐที่รอมนีย์เคยเป็นผู้ว่าการเก่า คราวนี้ผู้ว่าการรีพับลิกันแพ้ แกเสียงปึ้กเลยนะ เพราะคนอยู่ในตำแหน่งย่อมได้เปรียบ แต่แพ้คนที่มาท้าชิงซึ่งเป็นผู้หญิงชื่อ Elizabeth Warren ไม่ได้เป็นดารา ไม่มีใครรู้จัก แต่ที่เขาพูดถึงแกเพราะว่า แกเป็นเอ็นจีโอใหญ่ ถ้าเทียบกับคนไทยก็คุณสาลี อ๋องสมหวัง เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อผู้บริโภค ไม่มีฐานเสียงแต่ทำไมคว้าตำแหน่งซึ่งยากมากมาได้ เขาถึงได้เอาแกขึ้นมาไฮไลต์ให้เห็น
สส.อเมริกาไม่ได้มีวาระ 4 ปีเหมือนเมืองไทย สส. 2 ปี ประธานาธิบดี 4 ปี สว. 6 ปี เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งในปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ จะเป็นปีที่เลือกตั้งใหญ่ แต่ว่าจะมีเลขคู่ปีหนึ่งที่อยู่กลางตำแหน่งประธานาธิบดี เช่น โอบามาปีนี้ อีก 2 ปีจะมีเลือกตั้ง สส.เรียกว่า เลือกตั้งกลางปีของประธานาธิบดี (midterm election) อันนี้เป็นการเลือกตั้งสภาผู้แทน
มีเลือกตั้งอีกอันหนึ่งเรียกว่า off-year election ผมแปลว่า เลือกตั้งนอกฤดูกาลใหญ่ ก็คือเลือกตั้งพิเศษ ส่วนใหญ่จะเลือกระดับมลรัฐ ระดับเมือง เคาน์ตี้ ระดับเขตต่างๆ จะเห็นว่าคนอเมริกันจ่ายเงินซื้อเสียงไม่หมดหรอก เพราะมันเลือกแหลกเลย
รัฐธรรมนูญอเมริกาตั้งแต่ปี 1776 ตอนที่ร่างยังไม่มีประเทศไหนมีระบอบประชาธิปไตย นี่เป็นประเทศแรกที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ผมเข้าใจว่าผู้ร่างซึ่งเป็นคนมีการศึกษา เป็นคนชั้นสูง เป็นเจ้าที่ดิน เป็นลูกหลานขุนนางเก่า เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาก็ต้องสะกิดใจเหมือนกันว่า ถ้าให้ประชาชนเลือกทั้งหมด มันไว้ใจได้เหรอ อาจจะถูกซื้อเสียง ถูกหลอกลวง หรือโง่
สมัยก่อนผมคิดว่า เขาก็คิดเหมือนนักร่างรัฐธรรมนูญเมืองไทยก็คิดแบบเดียวกันว่า ชาวบ้านเชื่อไม่ได้ ชาวบ้านต้องถูกซื้อ เพราะฉะนั้นกันเหนียวด้วยการที่พอผ่าน popular vote แล้วให้มีคณะผู้เลือกตั้งเรียก electoral college (EC) ที่ทำหน้าที่ในการสกรีน มาประชุมหลังเลือกตั้งใหญ่แล้ว เดือนธันวาคมนี้คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมในแต่ละรัฐ
EC มาจาก สส.และ สว.ของแต่ละรัฐรวมกัน แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่ใหญ่มาก สส.ก็เยอะ บวกกับ สว.ทุกรัฐมี 2 คน แคลิฟอร์เนียมี EC 55 คน สูงที่สุด ถ้าได้แคลิฟอร์เนียแล้ว ก็โล่งใจ
ที่โอบามาชนะเร็ว เพราะทีมเวอร์คแกเก่งมาก กวาดบรรดารัฐที่มี EC เยอะๆ ก่อนหมดเลย ถ้าดูตรงกลางที่เป็นของรอมนีย์ ได้ในแง่พื้นที่ แต่มี EC 8 บ้าง 4 บ้าง วอชิงตัน ดีซี น้อยที่สุด 3 คน เพราะฉะนั้นรวมแล้วก็ได้ไม่เกิน 270 เสียง

ประชาธิปไตยอเมริกา อำนาจสูงสุดมาจากปวงชน
อันนี้ถือเป็นนวัตกรรมของผู้เขียนรัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งยังไม้ไว้ใจเสียงประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ จริงๆ ตำแหน่ง สว.ของเขาก็เหมือนเป็นพี่เลี้ยงเหมือนกัน ตอนแรกแต่งตั้ง มาตอนหลังถึงได้เลือก พัฒนาการของอเมริกันก็มาเป็นขั้นๆ เหมือนกัน คือเริ่มก็เป็นประชาธิปไตยแบบขุนนาง
ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคือ electoral college ว่าออกเสียงให้ใคร ซึ่งก็รู้แล้วว่าเขาก็ออกไปตามรายงานที่หนังสือพิมพ์ได้ออกไปแล้ว EC เป็นสมาชิกของพรรค ก็ต้องโหวตตามพรรค แต่เขาต้องรายงานรัฐสภาเดือนมกราคม และสภาประกาศเป็นทางการอีกทีหนึ่ง วันที่ 10 ประธานาธิบดีถึงมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้น ต้องรอจนกว่าคณะผู้เลือกตั้งประกาศเป็นทางการแล้ว ตำแหน่งของโอบามาถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
สงสัยไหมว่า ถ้าจะฟ้องยุบประธานาธิบดีจะฟ้องศาลไหนในอเมริกา ฟ้องศาลสูงแต่ผมคิดว่าศาลสูงไม่รับ เพราะไม่อยู่ในอำนาจศาลสูงที่จะพิจารณา ที่ผ่านมาได้ยินคำว่า impeachment ไหม ซึ่งต้องตั้งด้วยสภาคองเกรส คองเกรสจะต้องตั้งศาลของในรัฐสภากันเอง เขาไม่มีศาลปกครอง มีศาลสูงเท่านั้นเองที่สูงสุดแล้ว ศาลอะไรก็พิพากษาตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ได้
สภาผู้แทนราษฎรจะต้องกรรมการทำหน้าที่เป็นศาลเอง อย่างนิกสัน คดีวอเตอร์เกต เขาก็ตั้งสมาชิกในรัฐสภา หรืออาจจะเชิญผู้พิพากษามาคนหนึ่งก็ได้ แต่ว่าต้องเป็นศาลในรัฐสภา
เพราะฉะนั้น ไม่มีใครมีอำนาจสูงกว่าผู้แทนราษฎร เข้าใจตรรกะของมันไหม ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยมาจากปวงชน แล้วคุณให้ศาลมาพิพากษายุบมันไปเลย เอามันเข้าคุกไปเลย มันก็ศาลเตี้ย kangaroo court เท่านั้นเอง
ปัญหานี้กระจ่างมากในอเมริกา ไปดูการเลือกตั้ง การพิพากษา หรือการดำเนินการทางการเมืองของเขา มันง่าย ไม่มีนักทฤษฎีที่อธิบายทฤษฎีลึกลับเหมือนเมืองไทย งงเลย เอาทฤษฎีมาจากไหน ทฤษฎีรัฐธรรมนูญเมืองไทยยากมาก

ผู้แพ้ต้องยอมรับความพ่ายแพ้
คราวที่แล้วมันมีรัฐปัญหาคือ ฟลอริด้า ที่นับกันจริงๆ ถ้าไม่ผิด คะแนน popular vote ของอัล กอร์ จะชนะบุช ซึ่งก็อาจจะเปลี่ยน electoral college ของฟลอริด้าได้
เคสนี้น่าสนใจว่า พอเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ามันผิดจริง เพราะเพิ่งเริ่มใช้บัตรคอมพิวเตอร์ มันก็เลยคีย์ผิด ผู้พิพากษาศาลฟลอริด้าประชุมกันแล้ว ใช้อำนาจของศาลตัดสินใจยุติการนับ เขาบอกว่าเพื่อจะไม่ให้มันวุ่นวายต่อไป เพราะถ้านับแล้วคะแนนมันกลับไปอีกข้างหนึ่ง แล้วตอนนั้นบุชเตรียมจะรับตำแหน่งแล้ว
ลองนึกถึงว่าถ้าศาลฟลอริด้าบอกว่า ผิด ต้องนับกันใหม่หมด คราวนี้เป็นฝ่ายนี้ชนะ คุณคิดว่าคนที่เขาชนะแล้วจะยอมไหม มันก็โกลาหลนะ ต้องประท้วงกันยุ่งวุ่นวาย ผมคิดว่าศาลของอเมริกาก็มีสามัญสำนึก ก็คงไปเจรจากับฝ่ายอัล กอร์ ว่าอีก 4 ปีเท่านั้นเอง คุณรอไม่ได้เหรอ ค่อยมาเลือกตั้งกันใหม่ ถ้าคุณไม่ยอมคราวนี้ มันต้องทะเลาะกันตายเลยนะ
เพราะฉะนั้นการที่ฝ่ายแพ้ ต้องออกมาประกาศว่าเรายอมรับความพ่ายแพ้ ขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศต่อไป เพื่อจะให้ลูกน้อง เสธ.อ้ายทั้งหลายที่หลบอยู่ตามมิดเวสต์อย่าโผล่หัวออกมาเป็นอันขาด จบแล้ว เกมนี้ไม่เล่นแล้ว พอแล้ว แต่ของเรา หัวไม่โผล่แต่หางโผล่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นอย่างนี้

ไดโนเสาร์อเมริกา และการแช่แข็งประเทศ
ประเด็นสุดท้าย ผมจะเปรียบเทียบ มันเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบการเมืองอเมริกันกับการเมืองไทย มันคนละอย่างเลย แต่มีประเด็นน่าสนใจมาก ซึ่งผมมองจากการเมืองไทย ผมรู้สึกว่า พูดตรงๆ นะ ไม่ค่อยมีอนาคต มันจะประท้วง เดินขบวนอะไรต่างๆ อีรุงตุงนังไม่จบ
ผมเลยพยายามหาประวัติศาสตร์มา เพื่อจะบอกว่ามันมีอนาคตอยู่ มองไปที่อเมริกาก็พบว่ามีปัญหาคล้ายกับเราเหมือนกัน
เรากำลังห่วงว่าประเทศไทยกำลังถูกแช่แข็ง จะมีไดโนเสาร์เกิดขึ้น แล้วมีหลายคนยินดีจะเป็นไดโนเสาร์ ก่อน 6 ตุลา ใครถูกเรียกไดโนเสาร์ จะต้องวิ่งหนีเลยนะ โกรธมาก
สมัยก่อนนักการเมืองฝ่ายไหนที่หนังสือพิมพ์เรียกไดโนเสาร์เต่าล้านปี คุณไม่มีทางชนะเลย ตอนนั้นเลือกตั้งแพ้เด็ดขาดเลย แต่เดี๋ยวนี้ยินดีประกาศเลย ผมเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี อาจจะชนะ แปลกไหม แสดงว่าการเมืองไทยเดินถอยหลังใช่ไหม
ผมจะให้กำลังใจพวกว่า ขนาดอเมริกาซึ่งเราเชิดชูมาก เขายอดเยี่ยม ล้ำหน้า จริงๆ แล้วช่วงโอบามาขึ้นมันมีขบวนการเรียกเป็นพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เป็นพรรคจริงๆ คือพรรคทีปาร์ตี้ (tea party)
ทีปาร์ตี้ ก็คือเหตุการณ์ก่อนปฏิวัติอเมริกา ที่พวกคนที่จะเข้าร่วมปฏิวัติอเมริกาหาทางที่จะเล่นงานอังกฤษ อังกฤษซึ่งส่งใบชาไปขายตามตลาดโลก ก็เอาใบชาจากที่อื่นๆ ผ่านมาเข้าท่าที่อเมริกาแล้วก็ส่งไปขาย รวมทั้งอาจมีใบชาจากอเมริกาด้วย
พวกผู้นำปฏิวัติก็วางแผนขึ้นไปที่เรืออังกฤษ แล้วก็ปลอมตัวเป็นอินเดียนแดง โยนความผิดให้อินเดียนแดงทั้งที่เป็นคนผิวขาว ก็เอาใบชาทิ้งทะเลหมดเลย อังกฤษโกรธมาก รัฐบาลอังกฤษก็เรียกร้องให้จับพวกนี้ ก็จับไม่ได้เพราะก็รู้ๆ กันอยู่ ก็ช่วยกันไปช่วยกันมา นี่เป็นเหคุหนึ่งให้อังกฤษส่งกำลังเข้า แล้วก็ปะทะกับชาวอาณานิคม และนำไปสู่การปฏิวัติ
ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่มากในประวัติศาสตร์อเมริกา เขาเรียกว่า การกินน้ำชา คือทีปาร์ตี้ แต่จริงๆ ไม่ได้กิน คือการทำลายใบชา
ช่วงสมัยโอบามา บรรดาฝ่ายไดโนเสาร์ของอเมริกา ส่วนใหญ่พรรครีพับลิกัน ก็รวมตัวกันตั้งทีปาร์ตี้ คือจงใจเอาชื่อเหตุการณ์นั้นมา เพื่อที่จะปลุกระดมความรักชาติ ชาตินิยมอเมริกันก็มีเหมือนกันนะ ซึ่งเรานึกไม่ออก nationalism อเมริกาเป็นยังไง นี่ล่ะ
ก็โจมตีโอบามา ถ้าไปดูป้ายพวกนั้น ตอนขึ้นใหม่ๆ หรือตอนเลือกตั้ง โอบามาเกือบตายเลยนะ คือทำรูปโอบามาเหมือนกับลิงอุรังอุตัง เพิ่งออกมาจากป่า คนอัฟริกาก็ถูกคนอเมริกันดูถูก
โอบามาอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ยังมีคนอเมริกันบางคนเอาป้ายไปเขียนด่าแกว่า เป็นลิงเป็นค่างอยู่ตามถนน แต่ไม่ลงตามหนังสือพิมพ์เท่านั้นเอง
ขบวนการนี้คือขวนการที่หนุนหลังรอมนี่ย์ รอมนีย์ขึ้นมาได้ก็โดยพวกทีปาร์ตี้ แล้วทีปาร์ตี้ก็วางแผนจะแช่แข็งอเมริกาเหมือนกัน คือดึงอเมริกากลับไปยุคอะไรก็ไม่รู้ ถ้ารอมนีย์ชนะหวาดเสียวนะ เพราะว่าเมืองไทยก็คงจะแห่กันแช่แข็งตามกัน คงจะไปด้วยกันได้

คนส่วนน้อยคือฐานเสียงส่วนใหญ่ของโอบามา
การที่โอบามาชนะคราวนี้ แสดงว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่เชื่อแล้ว คือมันหมดแล้ว แล้วคนส่วนใหญ่ที่โอบามาไปปลุกระดมขึ้นมาคือคนส่วนน้อย พวก minority โดยเฉพาะพวกคนเชื้อสายละตินอเมริกาที่มาจากเม็กซิโก เปรู หนีเข้ามาทำงานในอเมริกา
นี่เป็นนโยบายของโอบามา ออกพระราชบัญญัติ Dream Act ว่าด้วยความฝันของคนพวกนี้ ว่าถ้าคุณมาอเมริกาตั้งแต่เด็ก แล้วไม่มีเอกสาร ไม่ได้เป็นพลเมืองสักที ขอยังไงก็ไม่ได้ ไม่ต้องส่งกลับแล้ว ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามาตั้งแต่ 2ขวบ 3 ขวบ 10 ขวบ โอบามาบอกเราจะให้เอกสารรับรองจนกระทั่งสามารถไปขอพลเมือง citizen อเมริกันได้
งานนี้บรรดาญาติพี่น้องของพวกโรบินฮุ้ดทั้งหลายในอเมริกา ซึ่งเป็นหลายล้านแห่มาลงคะแนนเสียงให้ คนที่เป็น citizen อยู่แล้ว คราวนี้ไม่นอนหลับทับสิทธิ์ ทุกคนช่วยกันออกมา หรือไปช่วยปลุกระดม เคาะประตูบ้านให้คนอื่นมาลงคะแนนเสียงให้โอบามา
งานนี้ที่อเมริกาเอาชนะไดโนเสาร์ได้ เพราะว่าประชาชนรุ่นใหม่ต้องออกมา แต่ไม่ใช่ออกมาเดินขบวนนะ ออกมาปลุกระดม ออกมาเคาะประตู ทำให้กลไกทางการเมืองรู้ว่าเขาไม่ต้องการกลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์ เขาไม่ต้องการเต่าล้านปีแล้ว เขาต้องการโลกอันใหม่ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ต้องเปิดโอกาสให้กับคนที่เป็นเกย์ เป็นผู้หญิง ผิวสี อเมริกาต้องให้เขา

ไดโนเสาร์ไทยออกมา เพราะคนรากหญ้าตื่น
การเมืองไทยต่อไปที่ไดโนเสาร์ต้องออกมา เพราะเขารู้ว่าคนรากหญ้าเริ่มตื่นแล้ว บังเอิญเป็นสีแดง ผมก็ไม่อยากจะเชียร์สีแดง แต่ไปถามที่ไหนก็สีแดงทั้งนั้น ผมก็เลยไม่รู้จะว่ายังไงเหมือนกัน ผมไปฟังงานวิจัยมา ก็พูดตามวิจัยเลยนะ
คนพวกนี้ที่บอกว่าทำไมเขาจะไม่เลือก ก็นักการเมืองกลุ่มที่เขาเลือกจะต้องมาตอบสนองเขา เช่น นโยบายจำนำข้าว มันถูกอัดแรงมาก ขนาดนิด้า ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันชั้นหนึ่งของประเทศ เรียกง่ายๆ ว่ายอมโยนผ้าขาวเลย สู้ตายงานนี้ เพื่อจะเอาโครงการช่วยชาวนาออกไปเท่านั้นเอง มันสู้แบบอะไรจะขนาดนั้น
ทีรัฐบาลเอาเงินไปช่วยคนรวย ช่วยนักอุตสาหกรรมเท่าไหร่ ภาษีที่อุตสาหกรรมไม่ต้องเสียเท่าไหร่ บีโอไอให้นักลงทุนจากเมืองนอกไม่ต้องเสียภาษีตั้งเท่าไหร่ คุณบอกว่าทำให้เศรษฐกิจดี อ้าว แล้วชาวนาไม่ทำให้เศรษฐกิจดีเหรอถ้ามีกินมากขึ้น มันก็ไปจี้ที่คอร์รัปชั่น เมืองไทยมันก็คอร์รัปชั่นทั้งนั้นล่ะ แต่ปัญหาคือระยะยาวคุณจะเอาอะไร ทำอะไร
ผมไม่อยากมาดีเฟนด์ให้ใคร แต่อยากเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ วันก่อนผมเจอทีมทีดีอาร์ไอ ก็เลยบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีคุณน่ะแม่นแต่มันขาดประวัติศาสตร์ ถ้าคุณไม่ดูประวัติศาสตร์ชาวนาของเมืองไทย ก็จะเห็นแต่ภาพของคนที่ถูกซื้อ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ จะไปช่วยทำไม ช่วยเงินก็เข้ากับเจ้าของโรงสี นายทุนใหญ่ๆ คือมองได้เท่านั้นเอง ผมคิดว่าภาพเปลี่ยนไปพอสมควรแล้วนะ
อันนี้ก็คือความเหมือนกันของการเมืองไดโนเสาร์อเมริกาก็มี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น