แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ว่าด้วย Hate Speech: มองผ่านเลนส์กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (1)

ที่มา ประชาไท


การถกเถียงเรื่องเส้นเขตแดนของ “คำพูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง” และ “เสรีภาพในการพูด” เป็นเรื่องที่มนุษยชาติสามารถโต้แย้งกันได้จนถึงวันสิ้นโลก เนื่องจากความแตกต่างทางภูมิหลัง, วัฒนธรรม และวิธีคิด เรื่องที่อ่อนไหวในสังคมหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่มีความหมายเพียงแค่ฝุ่นผงใน อีกสังคม เหตุการณ์วุ่นวายทั่วโลกที่เกิดจากภาพยนตร์ Innocence of Muslims ทำให้เราได้เห็นว่ามุมมองของแต่ละสังคมที่มีต่อประเด็นเดียวกันนั้นแตกต่าง กันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น การถกเถียงในประเด็นขอบเขตของ hate speech นี้สามารถแตกยอดออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเรื่องนี้จากมุมไหนและผ่านสายตาแบบใด
Across The Universe
หากมองผ่านเลนส์ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสมัยใหม่ ซึ่งมีที่มาจากรอยเลือด น้ำตา และความตายของผู้คนจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนประชาคมนานาชาติต้องหันหน้ามาตกลงกันว่าเราจะหากติกาในการอยู่ร่วมกันและ จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลลัพธ์ของการหาข้อตกลงนั้นคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights 1948) หรือ UDHR
ใน UDHR มีข้อกำหนดที่กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นใน ข้อ 19 กล่าวไว้ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดย ปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อทุกชนิดโดยปราศจากการปิดกั้น
ส่วนในกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights 1966) หรือ ICCPR ข้อ 19 (1) กล่าวว่าทุกคนมีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดย ปราศจากการแทรกแซง และข้อ 19 (2) กล่าวว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหา, รับ และสื่อสารข้อมูล รวมถึงความคิดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการพูด, การเขียน, การพิมพ์, ศิลปะ หรือผ่านสื่อชนิดอื่นโดยปราศจากพรมแดน แต่สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้ หากการใช้สิทธินั้นไปกระทบกับชื่อเสียงหรือความเคารพในสิทธิของผู้อื่น หรือการใช้สิทธินั้นไปกระทบกับความมั่นคงของชาติและศีลธรรมอันดีของส่วนรวม ตามที่ระบุไว้ในข้อ 19 (3) ของ ICCPR แม้ว่า ICCPR ข้อ 19 (3) จะเปิดช่องให้รัฐสามารถใช้ข้ออ้างนี้ในการละเมิดสิทธิที่จะเสรีภาพในการ แสดงออกของประชาชน จะเห็นได้จากรัฐบาลไทยมักจะใช้ช่องว่างของข้อ 19 (3) ในการตอบแถลงการณ์หรือการสื่อสารของผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อผู้ตรวจการฯ แสดงความกังวลในประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นกฎหมายที่ละเมิด เสรีภาพในการแสดงออกตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้อสังเกตที่น่าสนใจในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศคือ ในขณะที่ ICCPR ข้อ 19 (1) ซึ่งกล่าวว่าทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนโดนปราศจากการแทรกแซง นั้นเป็นสิทธิโดยสัมบูรณ์หรือ Absolute Right ที่ไม่อาจถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดใด ในขณะที่ ICCPR ข้อ 19 (2) นั้นถูกจำกัดได้ด้วย ICCPR ข้อ 19 (3) และ ICCPR ข้อ 20
และส่วนที่เป็นข้อถกเถียงตลอดกาลแม้กระทั่งในแวดวงกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศคือ ICCPR ข้อ 20 (2) ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงขั้นว่าการมีอยู่ของข้อ 20 (2) ในกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้นไปขัด ขวางหรือลดทอนการใช้สิทธิของพลเมืองตามข้อ 19 หรือไม่ เพราะ ICCPR ข้อ 20 (2) กล่าวว่า ระบุว่าการสนับสนุนให้เกิดด้วยความเกลียดชังทางสัญชาติ, เชื้อชาติหรือศาสนาเพื่อยั่วยุให้เกิดการดูถูกเหยียดหยาม, ความเป็นศัตรู หรือความรุนแรงสามารถถูกจำกัดได้ตามกฎหมาย
หากว่าเราจะใช้เลนส์ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในการพยายามหา เส้นเขตแดนระหว่างสิ่งที่พูดได้อย่างเสรีกับสิ่งที่ควรจะมีข้อจำกัด ประเด็นหนึ่งที่เราจำเป็นต้องรับรู้ในการหาข้อถกเถียงคือคำว่า Hate Speech หรือคำพูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชังนั้นไม่มีทั้งคำจำกัดความที่ยอมรับกัน โดยหลักสากลและไม่มีคำจำกัดความในการตีความตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าไม่มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศใดๆ ที่ใช้คำว่า Hate Speech ในการพูดถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ยกตัวอย่างเช่น ในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide 1948) ซึ่งเป็นผลผลิตจากความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตรง กล่าวไว้ในข้อ 3 (a) ว่าการการยั่วยุโดยตรงและต่อสาธารณะให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สามารถถูกลง โทษได้ จะเห็นได้ว่าการนิยามในทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศใช้คำว่า “ยั่วยุ” หรือ Incitement เป็นกุญแจหลักในการบ่งชี้ว่าการกระทำนั้นละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่าง ประเทศหรือไม่
More than Words
อีกคำถามที่ท้าทายมุมมองของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคือเมื่อ ไหร่, ตรงไหน และอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการยั่วยุที่อาจจะถูกจำกัดได้ตามกฎหมาย ต่อคำถามนี้ Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ เสรีภาพในการแสดงออกได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 67 ในวันที่ 7 กันยายน 2012 ในรายงานได้ให้คำนิยามของการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง (Incitement to Hatred) ไว้ว่า [1]
“เนื่องจากข้อ 20 (2) ใน ICCPR ได้ระบุว่า การรณรงค์ด้วยความเกลียดชังทางสัญชาติ, เชื้อชาติหรือศาสนาเพื่อยั่วยุให้เกิดการดูถูกเหยียดหยาม, ความเป็นศัตรู หรือความรุนแรงสามารถถูกจำกัดได้ตามกฎหมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจในการให้นิยามของคำศัพท์ที่ ใช้ เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างผิดวัตถุประสงค์ การตีความนี้ประกอบไปด้วยสามองค์ประกอบหลักคือ
1)    การรณรงค์ให้เกิดความเกลียดชังเท่านั้นที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
2)    ความเกลียดชังนั้นต้องเป็นผลมาจากการรณรงค์ซึ่งประกอบด้วยการยั่วยุ มากกว่าที่จะเป็นการยั่วยุเพียงอย่างเดียว
3)    การยั่วยุนั้นต้องนำไปสู่ผลลัพธ์หนึ่งในสามประการ นั่นคือการดูถูกเหยียดหยาม, ความเป็นศัตรู และความรุนแรง
จากนิยามข้างต้น การรณรงค์ด้วยความเกลียดชังบนพื้นฐานของสัญชาติ เชื้อชาติ หรือศาสนานั้นไม่ใช่การละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วยตัวของมัน เอง การรณรงค์นั้นจะกลายเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็ต่อ เมื่อการรณรงค์นั้นๆ ประกอบด้วยการยั่วยุให้เกิดการดูถูกเหยียดหยาม, ความเป็นศัตรู หรือความรุนแรง หรือเมื่อผู้พูดพยายามปลุกเร้าให้เกิดการตอบสนองในหมู่ผู้ฟัง”
จะเห็นได้ว่านิยามของผู้ตรวจการพิเศษฯ ให้น้ำหนักไปที่การรณรงค์ยั่วยุที่จะก่อให้เกิดการกระทำมากกว่าคำพูดแสดง ความเกลียดชังเพียงอย่างเดียว
This Is the World That We Live In
เมื่อพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกและข้อจำกัดในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่าง ประเทศ มีตัวอย่างคดีที่น่าสนใจมากมายทั้งในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค ผู้เขียนจะยกตัวอย่างบางกรณีเพื่อให้เห็นภาพการบังคับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการยั่วยุเพื่อให้เกิดความเกลียดชัง (ซึ่งมิได้หมายความว่าผู้เขียนจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับการบังคับใช้ กฎหมายนั้นเสมอไป)
The Jewish Community of Oslo et al. v. Norway

วันที่ 19 สิงหาคม ปี 2000 กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Bootboys จัดงานเดินขบวนรำลึกถึง Rudolf Hess ผู้นำลำดับที่สามของนาซีรองจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และเกอร์มัน แฮร์ริง ใกล้กับออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ ผู้เข้าร่วมเดินขบวนทั้ง 38 คนแต่งตัวด้วยชุดทหาร โดยมี Terje Sjolie เป็นผู้นำขบวนและผู้จัดงาน เมื่อกลุ่ม Bootboys เดินขบวนไปถึงจัตุรัสในเมือง Terje Sjolie ได้กล่าวสุนทรพจน์มีใจความว่า
“เรามาชุมนุมกันที่นี่เพื่อเป็นเฉลิมฉลองให้กับความกล้าหาญของวีรบุรุษ รูดอล์ฟ เฮสส์ ผู้ปกปักรักษาเยอรมันนีและยุโรปจากลัทธิบอลเชวิกและยิวในช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ในขณะที่เรายืนอยู่ที่นี่ ชาวยิวและคอมมิวนิสต์มากกว่า 15,000 คนกำลังชุมนุมเพื่อต่อต้านเสรีภาพในการพูดและเผ่าพันธุ์คนผิวขาว ในทุกๆ วัน พวกผู้อพยพปล้น, ข่มขืนและฆ่าชาวนอร์เวย์ ในทุกๆ วัน ประเทศนี้กำลังถูกแย่งชิงและทำลายโดยชาวยิว ซึ่งสูบความมั่งคั่งของประเทศเราและแทนที่ด้วยความคิดที่ผิดแผกไปจากความ เป็นนอร์เวย์ ที่ผ่านมาเราถูกห้ามไม่ให้เดินขบวนในออสโลถึงสามครั้ง ในขณะที่พวกคอมมิวนิสต์ไม่แม้แต่จะต้องขออนุญาต นี่หรือคือเสรีภาพในการพูด? นี่หรือคือประชาธิปไตย?
ท่านผู้นำที่เคารพของเรา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และรูดอล์ฟ เฮสส์ นั่งอยู่ในคุกเพราะสิ่งที่พวกเขาเชื่อ พวกเราจะไม่ละทิ้งหลักการและความพยายามของพวกเขา ในทางตรงกันข้าม พวกเราจะเดินตามรอยฮิตเลอร์และเฮสส์ พวกเราจะต่อสู้ในสิ่งที่พวกเราเชื่อ ด้วยการสร้างนอร์เวย์ขึ้นมาในแบบชาตินิยม-สังคมนิยม”
ภายหลังการเดินขบวน มีรายงานว่าเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงกรณีที่เด็กชายวัย 15 ปี ลูกครึ่งกานา-นอร์เวย์ถูกแทงเสียชีวิตโดยสมาชิกกลุ่ม Bootboys สามคน หลังการเดินขบวนของกลุ่ม Bootboys ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนหนึ่งได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ เดือนกุมภาพันธ์ปี 2001 Terje Sjolie ถูกแจ้งข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 135a ของนอร์เวย์ ซึ่งห้ามไม่ให้บุคคลกระทำการข่มขู่, เหยียดหยาม หรือทำให้เกิดความเกลียดชัง, ก่อกวน หรือเหยียดหยามบุคคลหรือกลุ่มคน เนื่องจากความเชื่อ เชื้อชาติ สีผิว สัญชาติ หรือชาติพันธุ์ มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินสองปี
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2001 ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง อัยการยื่นเรื่องอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาว่า Terje Sjolie มีความผิด เนื่องจากสุนทรพจน์ของนาย Terje Sjolie ยอมรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวซึ่งถือว่ามีความผิดตามมาตรา 135a สุดท้ายศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกรอบด้วยจำนวน 11 ต่อ 6 เสียงว่านาย Terje Sjolie ไม่มีความผิด โดยให้เหตุผลว่าการลงโทษการยอมรับลัทธินาซีจะนำไปสู่การแบนองค์กรนาซี ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและอาจจะละเมิดเสรีภาพในการพูด ซึ่งได้รับการรับรองในมาตรา 100 ของรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ เสียงส่วนใหญ่ของคณะผู้พิพากษาเห็นว่าเนื้อหาในสุนทรพจน์เป็นการพูดโน้มน้าว ใจตามแบบลัทธินาซี และไม่มีสิ่งใดเกินเลยไปกว่าการแสดงความสนับสนุนแนวความคิดแบบสังคมนิยมชาติ นิยม ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าสุนทรพจน์นี้แสดงการยอมรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว ยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีจุดที่เชื่อมโยงรูดอล์ฟ เฮสส์เข้ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และแม้ว่านาซีจะไม่ยอมรับว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชี้ว่ามุมมองของนาย Terje Sjolie เป็นเช่นนั้น และแม้ว่าสุนทรพจน์นี้จะมีลักษณะไม่เป็นมิตรและคุกคาม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการข่มขู่ในเนื้อหาของสุนทรพจน์ หรือการชี้แนะให้เกิดการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังคำพิพากษาของศาลฎีกาคือกลุ่มชาวยิวในออสโลและ พันธมิตรได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการเพื่อกำจัดการเลือกปฏิบัติทาง เชื้อชาติแห่งสหประชาชาติหรือ (UN Committee on the Elimination of Racial Discrimination) หรือ CERD ว่ารัฐนอร์เวย์ละเมิดสิทธิของพวกตนตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัด การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (International Convention  on the Elimination of Racial Discrimination) รายละเอียดในการสื่อสารระหว่างรัฐบาลนอร์เวย์และ CERD เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ เมื่อรัฐพยายามปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคล (Individual Rights) อย่างเสรีภาพในการพูด ในขณะที่กลไกสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติพยายามปกป้องสิทธิของกลุ่มบุคคล (Collective Rights) [2]
ในปี 2005 ทาง CERD มีความเห็นว่าหลักการที่ว่าด้วยเสรีภาพในการพูดจะได้รับการคุ้มครองในระดับ ต่ำกว่าจากกลไกสิทธิมนุษยชนนานาชาติ เมื่อเสรีภาพในการพูดนั้นเป็นประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและคำพูดที่ทำให้ เกิดความเกลียดชัง และการแบนความคิดที่มีรากฐานอยู่บนการแสดงความเหนือกว่าทางเชื้อชาตินั้นไม่ ละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดเสรีภาพในการพูดในบริบทของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการ เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติไม่ถือเป็นการลดทอนความหมายของหลักการเสรีภาพในการ แสดงออกแต่อย่างใด เนื่องจากกลไกสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติได้รับรองความเป็นไปได้ที่จะจำกัด เสรีภาพในการแสดงออกในบางสถานการณ์ (ตามที่ระบุไว้ใน ICCPR – ผู้เขียน)
CERD สรุปว่าแถลงการณ์ของนาย Sjolie ที่มีลักษณะคุกคามอย่างชัดแจ้งไม่ได้รับการคุ้มครองเนื่องจากข้อยกเว้นที่ กล่าวมา และการยกฟ้องของศาลฎีกานอร์เวย์ในกรณีทำให้รัฐนอร์เวย์ซึ่งเป็นภาคี ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติได้ ละเมิดข้อ 4 และข้อ 6 ในอนุสัญญาฯ ซึ่งกล่าวว่ารัฐภาคีจะประณามการโฆษณาชวนเชื่อทั้งมวลและองค์กรทั้งปวงที่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดหรือทฤษฎีของความเหนือกว่าของชนชาติหนึ่งชนชาติ ใดหรือของกลุ่มบุคคลตามสีผิวหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด หรือที่พยายามให้เหตุผลรองรับหรือส่งเสริมความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ หรือการเลือกปฏิบัติในรูปแบบใดก็ตามฯ และรัฐภาคีจะรับประกันต่อทุกคนในเขตอาณาที่จะได้รับการคุ้มครองและการเยียว ยาที่มีประสิทธิภาพ โดยผ่านศาลระดับชาติและองค์กรของรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการกระทำใด ๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งได้ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลนั้นฯ [3] ตามลำดับ






[2] ผู้ที่สนใจสามารถติดตามไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทีhttp://www.ohchr.org/Documents/Publications/CERDSelectedDecisionsVolume1.pdf หน้า 97
[3] ฉบับแปลโดยกระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/cerdt.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น