เป็นการต่อสู้ระหว่างการเมืองด้านบวกที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำงานหนักใกล้ชิดประชาชน กับการเมืองด้านลบ ที่พยายามยัดวาทกรรมติดป้ายชื่อเลวๆให้อีกฝ่าย ปล่อยข่าวด้านลบ ทำลายภาพลักษณ์ สร้างความเกลียดชัง ทำให้หวาดกลัว
เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวทางบวกของเพื่อไทย และแนวทางลบของประชาธิปัตย์
ในศึกแรก เลือกตั้งผู้ว่า กทม.ฯ พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะพยายามใกล้ชิดประชาชน เข้าพื้นที่ มีคนรักขนาดไหน กลับพ่ายแพ้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง ชื่อเฟอบี้ วาทกรรมกินรวบ และความหวาดกลัวคนสีแดง ทำให้หม่อมที่เป็นแค่ "ไม้กันหมา" ชนะโดยไม่เหนื่อยมาก
แต่ความพ่ายแพ้นั้นทำให้ทีมเพื่อไทยเคี่ยวขึ้นมาก ทีมเพื่อไทยรู้แล้วว่าการเมืองด้านบวกไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ต้องเป็นการตั้งรับแก้ข่าวอีกฝ่ายอย่างรวดเร็วด้วย
ทำให้ศึกต่อๆมา ผลออกมาต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ช่วงหลังข่าวที่"ให้ข้อมูลไม่หมด" ของ ปชป. ถูกจับได้อย่างรวดเร็ว (ทั้งอเมริกาบอกว่าข้าวมีสารพิษ ฯลฯ) ความพยายามจะทำลาย ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าหนีดีเบทเหมือนตอนที่ทำกับเฟอร์บี้ก็ถูกป้องกันได้ (โดยการยันด้วยเอกสารราชการ รวดเร็วก่อนที่การดีเบทจะจบลงเสียอีก) และเกือบทำให้กรณ์ต้องเงิบจนต้องกล่าวโบ้ยให้เป็นความผิดของพันธมิตรตัว เองอย่างนิด้า
ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อชัชชาตินั้นแข็งแกร่งมาก จนพรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจอภิปรายโครงการสองล้านๆ ในวันแรกได้เลย ถึงกับต้องออกตัวว่า "ที่อภิปรายนี้ไม่ใช่ว่าจะขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศนะ" กับ "เห็นด้วยกับโครงการ แต่ทำไมต้องกู้"
ทุกประเด็นที่ ปชป. พยายามจะสร้างวาทกรรม และความหวาดกลัวขึ้นในสภา ทั้ง "ออก พ.ร.บ. เลี่ยงการตรวจสอบ" "ขาดทุน" ฯลฯ ถูกตอกกลับด้วยข้อมูล และเหตุผลอันคมคาย เข้าใจง่าย แทบจะในทันที
ในทางกลับกัน พรรคประชาธิปัตย์เสพติดแนวทางการเมืองด้านลบที่ได้ผลจากการเลือกตั้งผู้ว่า ก.ท.ม. พยายามจะสร้างภาพลบให้ยิ่งลักษณ์ด้วยการยัดวาทกรรม "อีโง่" มาตลอด แต่กลับไม่ได้ผลมากอย่างที่คิด แถมยังถูกสวนกลับด้วยการตอกย้ำภาพลบของหัวหน้าฝ่ายค้าน จนเป็นพรรคประชาธิปัตย์เองที่สูญเสียความน่าเชื่อถือไป ถึงขนาดต้องสงสัยว่าหาก ปชป. ยังไม่เปลี่ยนแนวทางจะยังรอดอยู่ได้ในสมัยหน้าอีกหรือไม่
และสิ่งที่สร้าง "ปรากฎการณ์ชัชชาติ" ขึ้นมาในครั้งนี้ ไม่ใช่ผลจากบุคลิกของ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพียงคนเดียวแน่นอน
ทั้งหมดเป็นผลจากวิสัยทัศน์ของยิ่งลักษณ์ที่ถูกด่ามาตลอด
เหตุผลคือ คนที่เริ่มเรื่อง "การเมืองด้านบวก" คือยิ่งลักษณ์ และบังคับให้คนในพรรคทำตามในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร ทีมการเมืองเพื่อไทย ที่มาจาก ไทยรักไทย หรือเสื้อแดง ไม่คิดอะไรแบบนี้แน่นอน
แม้แต่ณัฐวุฒิยังล้อขำๆ บนเวทีปราศรัยว่า "ผมก็อยากด่าเขานะครับ แต่คุณปูเขาขอร้อง" แม้แต่สุดารัตน์ ยังบ่นด้วยความหัวเสียหลังแพ้เลือกตั้ง กทม.
มีแต่ยิ่งลักษณ์ที่ยืนยันแนวทาง "การเมืองด้านบวก" มาตลอด แม้จะโดนด่าขนาดไหนก็ตาม
ถ้าคุณคิดว่าโครงการอนาคตไทย 2020 เป็นของชัชชาติคุณคิดผิดมาก โครงการนี้เป็นของยิ่งลักษณ์ คนเริ่มต้นโครงการคือยิ่งลักษณ์ คนที่สั่งให้ตั้งเงินสองล้านล้านคือยิ่งลักษณ์ คนสั่งให้ทำแผนสามยุทธศาสตร์หลักคือยิ่งลักษณ์ คนตัดโครงการต่างๆ ออกไป เลือกให้เหลือเท่าที่เห็นในเอกสารแนบท้ายก็คือยิ่งลักษณ์ เป็นโครงการใหญ่ขนาดที่ยิ่งลักษณ์ยอมทิ้งอย่างอื่นทุกอย่างได้เพื่อให้มัน เกิดขึ้น ทั้งย้ายกิตติรัตน์จากพาณิชย์มาเตรียมรับภาระเรื่องเงินและปล่อยให้พาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องจำนำข้าวอยู่ในมือของบุญทรงจนรัฐบาลเกือบล่ม เอาชัชชาติเข้ามาในตำแหน่งสำคัญมากใน ครม. ทั้งๆที่ไม่มีแรงหนุนทางการเมืองเลย ยอมตัดงบประชานิยมหลายอย่างเพื่อทำงบดุลฯเตรียมรับมือสองล้านๆ ฯลฯ
สำคัญที่สุดยิ่งลักษณ์ตั้งตัวเองไว้ในตำแหน่งที่ไม่ได้รับเกียรติอะไรเลย กับโครงการนี้ ตอนมันผ่านสภาคนพากันแห่แหนชัชชาติ พอรถไฟวางรางคนจะสรรเสริญชัชชาติ ถ้ามันสำเร็จคนจะสร้างอนุเสาวรีย์ชัชชาติ แต่ไม่มีใครพูดถึงยิ่งลักษณ์เลยสักนิดเดียว
เพราะใครก็รู้ว่าถ้าตัวโครงการมันผูกอยู่กับยิ่งลักษณ์ ภาพลักษณ์ โง่ โกงทั้งตระกูล จะทำให้มันล่มแน่นอน
ที่ผ่ายค้านด่ายิ่งลักษณ์ว่าโง่ ผมว่าอาจจะจริง ยิ่งลักษณ์ต้องโง่และดื้อดึงมาก โง่พอจะปล่อยให้คนฉลาดทำงานในตำแหน่งที่ตัวเองควรอยู่ และปล่อยให้คนฉลาดรับคำชมที่ตัวเองควรจะได้ไป ดื้อดึงพอจะยืนยันแนวทางที่มองโลกในแง่ดีแบบโง่ๆแม้จะทำให้แพ้ไปแล้วครั้ง หนึ่ง และมากพอที่จะตั้งแผนการกู้ลงทุนระยะยาวคาดหวังกับอนาคตที่มองไม่เห็นอีก เกือบสิบปีข้างหน้า
อีกเจ็ดปีข้างหน้า วันที่โครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ นายกฯ ที่อยู่เปิดงานก็จะไม่ใช่ยิ่งลักษณ์แล้ว
ไม่ว่าใครจะคิดถึงเรื่องนี้หรือไม่ แต่ผมบอกเลยว่าคนที่ทำให้การเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไป และกำลังจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทั้งหมดของประเทศไทย ไม่ใช่คนเก่งแบบทักษิณ ไม่ใช่คนฉลาดแบบชัชชาติ หรือคนดีแบบฝ่ายค้าน แต่คือคนโง่อย่างยิ่งลักษณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น