แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ก่อนจะเป็น ปตท.

ที่มา ประชาไท


<--break->บท ความนี้ตั้งใจที่จะเล่าในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ที่มาของกิจการน้ำมันในประเทศไทยก่อนที่จะตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ว่า มีความเป็นมาเช่นไร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ของนิสิตที่เพิ่งจบการศึกษาคือ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ในหัวข้อเรื่อง “ก่อนจะเป็น ปตท.- ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย พ.ศ. 2489 - 2521
แต่เดิมแหล่งพลังงานในโลกที่มนุษย์ใช้จะเป็นพลังงานจากธรรมชาติเป็นหลัก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงได้มีการใช้พลังงานไอน้ำ ทำให้ถ่านหินเริ่มมีความสำคัญ แต่ต่อมาเกิดการปฏิวัติด้านพลังงาน เพราะการคิดค้นเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน ทำให้น้ำมันปิโตรเลียมเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น สังคมไทยเริ่มนำเข้าน้ำมันตั้งแต่ราว พ.ศ.2417 เพื่อนำมาใช้ในด้านแสงสว่างสำหรับราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น น้ำมันที่นำเข้าระยะแรกจึงเป็นน้ำมันก๊าด แต่ก็มีปริมาณน้อยมาก จนกระทั่งกิจการรถยนต์เริ่มเข้ามาในไทยเมื่อราว พ.ศ.2420 จากนั้น การใช้น้ำมันในสังคมไทยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนถึง พ.ศ.2477 ที่ไทยนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมราว 63,292 พันลิตร แต่การบริโภคจะมาลดลงอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะความยากลำบากในการขนส่งและภาวะคลาดแคลน
หลังสงครามโลกยุติลง ไทยอยู่ในภาวะผู้ร่วมมือกับญี่ปุ่นจึงไม่มีอำนาจต่อรอง ต้องยอมรับให้สแตนดาร์ดแวคคั่มออยส์(เอสโซ) และ รอยัลดัทช์เชลล์เข้ามาผูกขาดการค้าน้ำมัน โดยรัฐบาลไทยต้องทำ“คำมั่นประกัน“ พ.ศ.2489 ว่าจะไม่จัดจำหน่ายน้ำมันแข่งกับบริษัทต่างประเทศ และห้ามการแทรกแซงหรือควบคุมการค้าน้ำมัน ตามคำมั่นประกันนี้ ทำให้บริษัทน้ำมันต่างประเทศได้โอกาสขยายตลาดในไทยได้เต็มที่ ในภาวะที่การบริโภคน้ำมันในสังคมไทยเพิ่มทวีขึ้น เพราะการขยายตัวของค่านิยมการใช้รถยนต์ตามแบบอเมริกา แต่รัฐบาลไทยในระยะต่อมาไม่พอใจต่อคำมั่นประกันนี้ เพราะเห็นว่าน้ำมันปิโตรเลียมเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะต้องเข้าควบ คุม และยังไม่พอใจที่บริษัทต่างประเทศขึ้นราคาจำหน่ายปลีกน้ำมัน โดยรัฐบาลควบคุมไม่ได้ หลังจากมีการเจรจากันหลายรอบ บริษัทน้ำมันต่างประเทศก็ยอมเลิกคำมั่นประกันเมื่อปลาย พ.ศ.2499 ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยสามารถเข้าสู่ตลาดน้ำมันแข่งขันกับต่างชาติได้ องค์การเชื้อเพลิงของไทย จึงเปิดค้าปลีกน้ำมันตราสามทหาร
หลัง พ.ศ.2500 การใช้น้ำมันปิโตรเลียมในสังคมไทยเพิ่มทวีมากขึ้นทุกที สาเหตุเพราะการขยายตัวของถนนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างถนนสายหลักที่เชื่อมภูมิภาคเข้ากับกรุงเทพฯ เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม และ ถนนมิตรภาพ ทำให้การขนส่งทางรถยนต์เข้ามาแทนที่การขนส่งทางน้ำและทางรถไฟ แม้กระทั่งรถไฟเองก็เปลี่ยนจากรถจักรไอน้ำที่ต้องมีสถานีเติมฟืนมาสู่รถ จักรดีเซล ต่อมาก็คือการขนส่งทางอากาศที่ขยายตัวมากขึ้น นำมาซึ่งการใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งสิ้น
แต่ที่สำคัญคือ การขยายตัวของวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลางในเมือง ทำให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการมีรถยนต์ไม่เพียงแต่ทำให้การเดินทางส่วนตัวสะดวกขึ้น แต่ยังแสดงถึงความโก้เก๋และสะท้อนฐานะทางสังคมของผู้ขับขี่รถยนต์ด้วย นอกจากนี้ การใช้จักรยานยนต์ก็ได้กลายเป็นวิถีชีวิตแห่งความสะดวกสบายแบบใหม่ จึงปรากฏว่า เมื่อถึง พ.ศ.2513 สังคมไทยมีรถยนต์ที่จดทะเบียนราว 3.7 แสนคัน และจักรยานยนต์ 3.3 แสนคัน ตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เริ่มถมคูคลองในพระนคร และสร้างเป็นถนนขึ้นมาแทน ในที่สุดราว พ.ศ.2510 เริ่มเกิดจราจรติดขัดมากขึ้น และหลังจากนั้น รถติดกลายเป็นวิถีชีวิตอันคุ้นเคยอย่างหนึ่งของชาวเมืองหลวง
นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การใช้น้ำมันเบนซินในสังคมไทยเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ปั๊มน้ำมันเพื่อการค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีเชลล์ และ เอสโซ เป็นผู้ครองตลาด สามทหารมาเป็นอันดับสาม นอกจากนี้ จะเป็น ตราดาว ซัมมิท และ โมบิล น้ำมันสามทหารราคาถูกและบังคับให้หน่วยราชการต้องใช้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน เพราะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นน้ำมันคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน
การขยายตัวด้านอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากและสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การใช้น้ำมันในสังคมไทยเพิ่มทวีขึ้น ทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นทุกปี ในที่สุด รัฐบาลจึงได้สนับสนุนให้มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน คือ โรงกลั่นน้ำมันไทย และโรงกลันน้ำมันบางจาก ต่อมา เอสโซก็ตั้งโรงกลั่นน้ำมันของตนเองอีกแห่งหนึ่ง ทำให้ไทยมีความสามารถในการผลิตน้ำมันของตนเองได้ แต่ยังต้องนำเข้าปิโตรเลียมมาเป็นวัตถุดิบเพราะไม่มีแหล่งน้ำมันในประเทศ
น้ำมันในตลาดโลกในระยะก่อนหน้านี้อยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ อเมริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้ตั้งกลุ่มโอเปคขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2503 และได้รณรงค์เข้ามาเป็นผู้กำหนดตลาดมากขึ้น จนเมื่อเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล เดือนตุลาคม พ.ศ.2516  กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาหรับ ได้ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือเพื่อคว่ำบาตรชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล โดยลดการผลิตลงและตัดการค้ากับตะวันตก กรณีนี้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันอย่างรุนแรงทั่วโลก ก่อให้เกิดการปรับขึ้นอย่างมากด้านราคา ทำให้ตลาดน้ำมันในไทยปั่นป่วนไปด้วย เพราะบริษัทน้ำมันจะขอขึ้นราคาค้าปลีกน้ำมันหลายครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การขึ้นราคาของน้ำมันปิโตรเลียมจะก่อ ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง รัฐบาลหลังกรณี 14 ตุลา ต้องใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมัน รวมทั้งเสนอรณรงค์ให้ประหยัดน้ำมัน และเสนอน้ำมันสูตรพระราชทานอีเทอนัลออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาทางจิตวิทยามวลชน แต่ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับบริษัทนำมันอย่างมาก
ปัญหาจากวิกฤตการณ์น้ำมัน และกระแสการโจมตีเรื่องการผูกขาดตลาดน้ำมันของต่างชาติที่เกิดขึ้นหลังกรณี 14 ตุลาคม นำมาซึ่งแนวคิดในการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ประกอบกับการที่ต่างประเทศได้มีการตั้งบริษัทน้ำมันขึ้นมาจดการปัญหาถึง 78 ประเทศ และในกลุ่มเพื่อนบ้าน ก็มีการตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย เป็นต้น แต่นโยบายการตั้งบริษัทแห่งชาติด้านน้ำมันชะงักไปสมัยเผด็จการธานินทร์ กรัยวิเชียร จนกระทั่งสมัยที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้นำมาสู่การออกพระราชบัญญัติจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในเดือน ธันวาคม พ.ศ.2521 ด้วยการรวมกิจการของน้ำมันสามทหารและโรงกลั่นของรัฐเข้าเป็นของ ปตท. และยังรวมกิจการด้านก๊าซธรรมชาติเอาไว้ด้วย
สรุปได้ว่าการเกิดของ ปตท.มาในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง ที่เรียกร้องให้มีบริษัทแห่งชาติมาดำเนินการ แต่ต้องเข้าใจว่า ปตท.ไม่ได้ผูกขาด หากแต่เติบโตในตลาดแข่งขัน เพราะบริษัทน้ำมันระดับโลก เช่น เชลล์ เอสโซ และ ตราดาว ก็ยังคงประกอบกิจการในไทยเช่นกัน ความสำเร็จของ ปตท.ในระยะหลัง เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายเมื่อ พ.ศ.2521

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น