ฟังคุณศศิน ในพูดในรายการนี้ คนจะปลื้มก็ปลื้มไป ผมเฉยๆ แต่ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ อยากจะโกรธก็เชิญ
1. คุณศศิน บอกว่าไม่ได้คัดค้านเขื่อนทั้งหมด ที่ค้านเพราะสร้างในป่า...ถ้าสร้างที่อื่นก็ค่อยว่ากันอีกที (หมายความว่า ถ้าไม่สร้างในป่าแต่สร้างทับที่ทำกินชาวบ้าน ต้องอพยพคนออก คุณจะไม่คัดค้านหรือครับ...)
2.ผมฟังน้ำเสียงของคุณศศินพูดถึงคนแถว ลาดยาวและพื้นที่สนับสนุนเขื่อนประมาณว่าชาวบ้านอ่านภาษาอังกฤษบนเสื้อ รณรงค์ไม่ออกหรอก แม้คุณจะบอกว่าแต่คนที่นั่นก็ต้อนรับคุณดี มีคนเห็นต่างมาคุยด้วยบ้าง...และแม้ว่าคุณจะบอกว่าลูกน้องคุณก็เขียนภาษา อังกฤษผิดอีกต่างหาก (แต่หมายความว่า คุณจะมองว่าชาวบ้านที่นั่นโง่หรือเปล่า หากไม่ใช่ก็รีบเข้าไปรณรงค์สิครับ หากใช่ ผมก็ไม่มีคำพูดอีกต่อไป)
3.หากผมฟังรายการตั้งแต่ต้นจนจบไม่ ผิด น้ำเสียงและความหมายที่สื่อออกมานั้นมีลักษณะแยกคนออกจากธรรมชาติอย่างสิ้น เชิง มันเป็นไปได้หรือครับ ในทางปรัชญาชีวิตทุกชีวิตล้วนสำคัญเท่าๆ กัน แต่สิ่งที่คุณศศินพูดแต่ป่า (มีคำว่าป่าของผม) มันคล้ายกับการไม่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผมนั่งฟังแล้วสะท้อนใจ คนที่เกิดและโตในอุทัยธานีอย่างผม ถูกปลูกจิตสำนึกให้รักป่าห้วยขาแข้ง ยอมรับนับถือคนๆ หนึ่งที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้คนมาสนใจธรรมชาติ ในวัยเด็กมัธยมผมเคยไปนั่งดูวิดิโอการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มูลนิธิสืบฯ และค้างคืนที่นั่น เคยใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือไม่ก็ทำงานในมูลนิธิ ทั้งยังเคยช่วยจัดค่ายอนุรักษ์ทั้งที่ห้วยขาแข้งและแม่วงก์ โตขึ้นมาผมจำภาพพวกนั้นได้เพราะเป็นพื้นฐานชีวิตของผม แต่เมื่อเราโตขึ้น มันทำให้ทราบว่าปัญหาพวกนี้ไม่เคยแก้ได้ถ้าจะพูดถึงป่าอย่างเดียว หากต้องหันมาสนใจปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น กับผู้คนด้วย
ใช่...เมื่อความคิดผมเปลี่ยนมาถึงจุดนี้ ผมก็ไม่สามารถสื่อสารกับคนที่ผมคุ้นเคยในจังหวัดอุทัยและนครสวรรค์ได้อีกต่อ ไป เมื่อผมพยายามอธิบาย ก็จะเจอแต่คำตอบเรื่องชาวบ้านโง่ถูกนายทุนและรัฐบาลจูงจมูก ชาวบ้านเห็นแก่ตัวมาทำลายป่า ถูกทุนนิยมเข้าครอบงำ หน้าที่ของนักอนุรักษ์ที่นอกเหนือจากการรักษาป่าคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ของชาวบ้าน (?) ผมไม่รู้ว่าบรรดาคนที่ผมเคยคุ้นเคยนั้น เคยมองเข้าไปในชีวิตของคนเหล่านั้นไหม มองผ่านดวงตาของพวกเค้า...
ชีวิตที่ผ่านมาผมเลี่ยงปะทะกับประเด็นนี้มาตลอด เพราะรู้สึกคล้ายเป็นคนชายขอบของโลกสองใบ โลกที่ต้องการรักษาป่าและโลกที่มองผ่านชีวิตคนที่อยู่กับป่าหรือผู้คนธรรมดา ทั่วไป แต่ถามว่าโลกใบนี้ต้องการแบ่งออกเป็นสองกระนั้นหรือ ชัยชนะของการเดินทางไกลคืออะไรถ้าไม่ใช่การย้ำมายาคติว่าด้วยป่ากับคนที่ อยู่ร่วมกันไม่ได้ ปัญหาของคนในพื้นที่อาจไม่ได้อยากได้เขื่อน พวกเค้าเพียงอยากรักษาต้นทุนชีวิตไม่ให้อัปปางลงไปมากกว่านี้ เคยรู้กันบ้างไหมว่าชาวนารายย่อยแถบบ้านของผมนั้นฆ่าตัวตายสูงมากเพราะ หนี้สินท่วมตัว หนี้เป็นล้านนะครับ การที่พวกเขาจะเข้าใจผิดหรือมองเขื่อนในแง่ดีมันแปลกตรงไหนหากมองจากจุดนี้ มันคือหน้าที่ของผู้ติดตามรณรงค์มิใช่หรือที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เป็น เบื้องต้น ไม่งั้นมันจะกลายเป็นว่าคนในเมืองคือปัจจัยชี้ขาดทางนโยบาย ส่วนคนชนบทก็คือฐานเสียง ไอ้แนวคิดสองนคราฯ แบบนี้ทิ้งๆไปบ้างก็ดี มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว
ขอโทษนะ ลึกๆ ผมโกรธตอนช่วงบรรทัดที่เขียนถึงชาวบ้านหนี้ท่วมตัวเป็นล้าน ผมดันคิดถึงทางออกบางประการที่จะถูกนำเสนอมาจากเอ็นจีโอบางกลุ่ม เช่น ให้กลับไปพอเพียง (เฮงซวย...เคยเห็นหัวคนกันบ้างไหม เคยเห็นครอบครัวที่กินข้าวกับเกลือกันไหม...แม่ง)
ผมคิดว่ากระแสอนุรักษ์นี้ "เขียวจัด" เกินไป ผมค้านเขื่อนครับแต่ไม่อินกับขบวนการนี้ ผมนึกถึงโจทย์ท้ายๆ ที่ลุงสืบทิ้งไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลง นั่นคือ ประเด็นเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า...ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ ป่าเพียงอย่างเดียว
กระแสที่เขียวจัดเช่นนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ "ปลอด" เพียงแต่เลือกกันคนละฝ่าย มีโลกกันคนละใบ แม้ว่าปลอดจะทำหน้าที่ "สนอง" อย่างเดียวก็ตามไม่มีอุดมการณ์ประเภทมองชีวิตคนอย่างเท่าเทียมอะไร
ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่เคยจบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น