แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช: ใครคือคนเสื้อแดง

ที่มา ประชาไท


ความขัดแย้งทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมือง คัดค้าน ต่อต้าน มุ่งโค่นล้มรัฐบาลของฝ่ายตรงข้าม ได้เริ่มพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน และเกิดปะทุรุนแรงหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ฉีกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540, จากนั้น การปะทะกัน เมื่อตุลาคม 2551, เมษายน-พฤษภาคม 2552, เมษายน-พฤษภาคม 2553 แบ่งเป็นมวลชนเสื้อเหลืองและมวลชนเสื้อแดง
เสื้อเหลือง สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องสนับสนุนให้ทหาร และศาลมีบทบาทเกี่ยวข้องทางการเมืองสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตนเองให้มี อำนาจปกครองแม้จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงสนับสนุนพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่เป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกครั้งที่มีเรื่องถึงศาลและองค์กรอิสระ จนเกิดคำขวัญและเป้าหมายการต่อสู้เป็น "สู้กับความไม่เป็นธรรม : สองมาตรฐาน"

คำถามสำหรับนักวิชาการทางสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ จึงมีคำถามว่า "ใครคือคนเสื้อแดง? เศรษฐฐานะเป็นอย่างไร ? ทำไมจึงชุดของความเห็นทางการเมืองเป็นเช่นนั้น? ได้มีการศึกษาประเด็นนี้อยู่บ้าง แต่ยังอธิบายความแตกต่างของเศรษฐฐานะของ "เหลือง-แดง" ไม่ชัดเจน จึงขอแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย
ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า สถานะการดำรงอยู่ในสังคมเป็นปัจจัยกำหนดความคิด ความเห็น และการตัดสินใจทางการเมือง และมีลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (dynamic) ด้วยความสงสัยและอยากรู้เรื่องนี้ ได้ร่วมถกแถลงแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลกับท่านผู้รู้หลายท่าน ตั้งสมมติฐานและหาข้อมูลสนับสนุน ในที่นี้ขอนำข้อวิเคราะห์ของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และคณะ ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้น่าสนใจมาก สรุปในข้อ 1-3 ดังนี้
1) ความยากจนลดลงอย่างมากมาย แม้ช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้ต่ำยังดำรงอยู่


จาก ตารางจะเห็นว่า สัดส่วนของคนไทยที่รายได้ต่ำกว่า 'เส้นความยากจน' ลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ปี 1988 กับ 2009 โดยมีกรุงเทพฯมีสัดส่วน น้อยที่สุด ในขณะที่ภาคอีสานมีคนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนสูงสุด ทั้งนี้ ทั้งประเทศมีสัดส่วน ของผู้มีรายได้ต่ำกว่าความยากจน ลดจาก 17.2% ในปี 1994 เป็น 7.2% ในปี 2009

2) ระดับการครองชีพและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยเป็นวิถีชีวิตของชนชั้นกลางมากขึ้นมาก

ดังเห็นได้ว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่วัดช่วง 1960-1969 เทียบกับ 2000-2009 ดังนี้
2.1) สัดส่วนของผู้มีรายได้ ต่ำกว่าเส้นความยากจน เปลี่ยนแปลงลดลงจาก ร้อยละ 96% ในช่วง1960-1969 เหลือเป็น 13% ในช่วง 2000-2009
2.2) สุขภาพอนามัยดีขึ้นมาก โดยดูจากตัวชี้วัดด้านอัตราการตายของทารก (infant mortality rate) จาก 15%ในช่วงปี 1960-1969 ลดลงเหลือ อัตรา <1% ในช่วง 40 ปีต่อมา ช่วง 2000-2009
2.3) การศึกษาพื้นฐาน เราเปลี่ยนสัดส่วนผู้มีโอกาสเรียนจบประถมศึกษา จากพียง 36% เมื่อ 1960-1969 เป็น 100% ในช่วง 2000-2009
2.4) กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ถือว่ายากจนมีรายได้ เฉลี่ย 219-320% ของเส้นความยากจน กล่าวคือ 'เกษตรรับจ้าง' ที่ถือว่ามีรายได้ต่ำที่สุดยังไดัรับ 219% ในขณะที่ 'คนจนเขตเมือง' มีรายได้ 320% ของเส้นความยากจน ย่อมเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ส่วนใหญ่ชาวไทยพ้นจากความยากจนแล้ว
2.5) โทรศัพท์มือถือทั่วถึง เชื่อมความรับรู้และสื่อข่าวสาร
ประชาชน มีโทรศัพท์มือถือ 20.59%เมื่อ พ.ศ.2003เป็น 54.82%ในปีพ.ศ.2009 โดย กทม. มีโทรศัพท์ใช้สูงสุดถึง 83.26 % ในขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีใช้ต่ำสุด คือ 48.62%
โดยสรุปแม้จะมีชาวไทย 7.2% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ มีรายได้ พออยู่พอกิน สุขภาพดีขึ้น มีการศึกษาทั่วถึง มีการสื่อสารทั่วถึงที่จะเชื่อมโยงความรับรู้ของคนในครอบครัวที่ย้ายมาทำมา หากินในภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ให้รายได้ดีกว่า หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ประชากรที่ยากจนในชนบทได้ยกระดับเป็นชนชั้นกลางมีสุขภาพ การศึกษา และการรับรู้สื่อข่าวสารดีดุจเดียวกันหรือใกล้เคียงกับคนชั้นกลางในเมือง

3) นโยบายรัฐบาลทักษิณสร้างงานให้เอกชน ที่เพิ่มการจ้างงาน ลดความเติบโตของภาครัฐ เป็นผลที่สอดคล้องกับวิถีเปลี่ยนของสังคม และให้อำนาจกับประชาชนที่เคยด้อยโอกาสมาก่อน

จากตารางข้างบน เห็นชัดว่า การจ้างงานภาคเอกชนและการเป็นเจ้าของกิจการเอกชนเติบโตมากในยุค 2001-2005 และชะลอตัวหลังจากการรัฐประหาร เมื่อ 2006 เป็นต้นไป (กราฟบนซ้าย) และเห็นเปรียบเทียบการจ้างงานภาครัฐและเอกชนได้ชัดว่า การจ้างงานของเอกชนโตขึ้นมาก ในยุครัฐบาลทักษิณ 2001-2005 และลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังรัฐประหาร หลัง 2006 ที่ลดอำนาจและโอกาสของภาคเอกชน แต่ฟื้นอำนาจของภาคราชการ (กราฟบนขวา) และยิ่งเปรียบเทียบกับตารางการสร้างงานจำแนกรายปี ยิ่งเห็นชัดถึงจำนวนหน้าที่การงาน ที่เพิ่มขึ้น ระหว่าง 2001-2005 รวมเท่ากับ 3.36 ล้านงาน ในขณะที่ หลังรัฐประหาร ระหว่าง 2006-2010 สร้างงานได้เพียง 1.75 ล้านงาน
แน่นอนที่สุดข้อมูลหยาบไปที่จะได้ข้อสรุป แต่กลายที่ข้อสนับสนุนสำคัญกับแนวคิดนโยบาย "ขจัดความยากจน ด้วยการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" "เน้นการเติบโตสร้างงาน สร้างรายได้ของประชาชน" เช่น การสนับสนุนการสร้างธุรกิจ SME, (กู้วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่สถาบันการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่เกิดปัญหารุนแรงด้านการเงิน), การพักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารประชาชน การส่งเสริมการสร้างรายได้จากโครงการ OTOP, การเพิ่มรายได้เกษตรกรโดยการดูแลราคาพืชผลเกษตร เช่น ยางพารา ข้าวสาร ผ่านความเข้าใจที่ถูกต้องของกลไกตลาด นโยบายเหล่านี้ นอกจากสร้างโอกาสสร้างรายได้ แล้วยังสร้างโอกาสสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ รายเล็กรายน้อยมากมายอีกด้วย ซึ่งเป็นการเสี่ยงลงทุนด้วยตนเอง

4) การเร่งรัดเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมอันเป็นผลจากการก้าว รุดหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ดุลย์อำนาจทางการเมืองในสังคมปรับตัวตามไม่ทัน นำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม
การพัฒนาแบบเปลี่ยนผ่าน (transition) จากสังคมแบบดั้งเดิมที่ประชากรส่วนใหญ่พึ่งพิงวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมล้า หลังและมีฐานะทางเศรษฐกิจยากจน จึงมีอำนาจ (การเมือง) และโอกาสที่อ่อนด้อยกว่าประชากรส่วนน้อยอยู่อาศัยอยู่ในเมืองที่พึ่งพิงวิถี การผลิตและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอุตสาหกรรมและบริการที่ทันสมัยกว่า และกระจุกตัวในเมือง เขาเหล่านั้น จึงมีฐานะเศรษฐกิจที่เหนือกว่า กุมอำนาจและสิทธิประโยชน์สืบเนื่องมาแต่เก่าก่อน เราอาจเรียกกลุ่มชนส่วนใหญ่ของสังคมเมืองและมีอำนาจเหล่านี้ว่า "ชนชั้นกลางเก่า"
แต่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วขึ้น เรื่อยๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งรัดทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงของการผลิต (productivity) ในภาคอุตสาหกรรม ก้าวพัฒนารวดเร็ว ทำให้เกษตรกรผู้ยากไร้ในชนบท มีโอกาสศึกษามากขึ้น และระดับการศึกษาสูงขึ้นด้วย หางานในตลาดแรงงานของภาคอุตสาหกรรมและบริการในเขตเมืองที่ให้รายได้ดีกว่า ส่งถ่ายรายได้และความเจริญครอบครัวที่บ้านเกิดในชนบท การสื่อข่าวสาร การเรียนรู้ และวัฒนธรรมได้ถ่ายทอดผ่านการสื่อสารและสื่อสารมวลชน สังคมชนบทจึงถูกแปรเปลี่ยนเป็น "ชนชั้นกลางใหม่" ที่มี ฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียง ทัดเทียม ชนชั้นกลางเก่า ส่วนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานไปในกรุงเทพฯ และหัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เพื่อหาโอกาส หารายได้ ความก้าวหน้าและโอกาสการศึกษาให้ตนเองหรือลูกหลาน

5) "ชนชั้นกลางใหม่" คือผู้ใกล้ชิดกลไกตลาด อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง
"ชน ชั้นกลางใหม่" ไม่ใช่เป็นเรื่องฐานะเศรษฐกิจดีทัดเทียม "ชนชั้นกลางเก่า" หรือ เป็นผู้ที่พึ่งได้โอกาสเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาทัดเทียมเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาถึงความคิดทางการเมือง ก็ต้องเป็นกลุ่มที่มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะต้องการสิทธิและโอกาสตัดสิน ใจเสี่ยงลงทุนด้วยทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินตรา หรือ ไม่ใช่เงินตราของตนเอง (เช่น การแยกที่อยู่อาศัยจากครอบครัวเพื่อให้ใกล้แหล่งทำมาหากิน) ด้วย ทั้งนี้ พวกเขาไม่เคยมีความปราถนาที่จะล้มล้างระบบการปกครองเก่า หรือระบบรัฐใดๆ มีแต่เพียงความต้องการ "ขอมีสิทธิด้วย" เท่านั้น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงโดยอ้อมในฐานะ "เจ้าของกิจการ" (entrepreneurship) ที่ ต้องการใกล้ชิดข้อมูล หน่วยงาน ข่าวสาร และมีความอ่อนไหวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมแวดล้อมมากกว่า ทั้งนี้รวมไปถึงผู้ประกอบการค้าขายรายย่อย ที่ตัดสินเสี่ยงโชคชะตามาหากินในเมืองใหญ่ เพราะมีแรงผลักดันที่จะไขว่คว้าหาโอกาสใหม่ที่ดีกว่า และอย่าได้เข้าใจผิดว่าคนชั้นกลางใหม่นี้ จำกัดอยู่แต่ในเขตเมืองเท่านั้น หากแต่แผ่ซ่านไปในเขตชนบทด้วย เพราะการผลิตภาคเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดกับ "ตลาด" มากขึ้น มีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและภาวะตลาดมาก ขึ้น ตลอดจนการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ของรัฐและผู้ประกอบการต่างๆในภาคเอกชน ก็ได้ยกระดับความรู้ความเข้าใจกว้างขวางทำให้เข้าใจสิทธิของตนเอง
ในขณะที่กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนไม่น้อยในองค์กรหรือ กลุ่มบริษัทใหญ่ที่กิจการมั่นคงก็จะมีโน้มโน้มมีความเสี่ยงเรื่องรายได้น้อย กว่า แต่มีฐานะเศรษฐกิจพอมีพอใช้ก็มีแนวโน้มความคิดใกล้ไปทางชนชั้นกลางเก่าหรือ ไม่
ความปรารถนาต้องการสิทธิและโอกาสที่ดีขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ เพื่อให้ทัดเทียมชนชั้นกลางเก่า เพราะกำลังทางเศรษฐกิจแข็งแรงขึ้น ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ก่อตัว ขยายตัวรวดเร็วและรุนแรง ถ้าสังคมและการจัดแบ่งปันอำนาจทางการเมือง หรืออำนาจในการจัดสรรโอกาสและทรัพยากรนี้พัฒนาได้รวดเร็วเท่าทันการเปลี่ยน แปลงทางเศรษฐกิจ สังคมก็พัฒนาไปอย่างราบรื่น ตรงกันข้าม ถ้าเปลี่ยนไม่ทัน ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม กล่าวคือ ชนชั้นกลางใหม่ย่อมปราถนาสิทธิเท่าเทียมชนชั้นกลางเก่าที่ยึดกุมอำนาจและ สิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าอยู่ก่อน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ชนชั้นกลางใหม่จึงปราถนา ก็คือ "ความเป็นประชาธิปไตย หรือสิทธิและโอกาสทัดเทียมกัน" นั่น เอง ชนชั้นกลางเก่าที่อาศัยหนาแน่นอยู่ในเมืองอยู่ก่อน จึง "รู้สึกเหมือนกำลังถูกเบียดบัง ช่วงชิงสิทธิโอกาสที่เคยมีเหนือกว่าอยู่เดิม" ไปโดยปริยาย
หากสังคมค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน ปรับตัวได้อย่างช้าๆ ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่และรุนแรงจนบังเกิดการเสียสมดุลของสังคม แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยี การผลิต และการสื่อสาร เร่งรัดการเปลี่ยนแปลงมากของสังคม การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในสังคมโดยเฉพาะ "ชนชั้นกลางเก่า" ที่อาศัยอยู่ในเมืองแต่เก่าก่อน รู้สึกเสียประโยชน์ และรับไม่ค่อยได้กับการเปลี่ยนแปลง และเลยเถิดไปถึงอาจต่อต้านวิถีการเปลี่ยนแปลงของสังคม จนเป็นมูลเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง "เหลือง -แดง" ครั้งนี้หรือไม่ และหากวาดเส้นแบ่งกลุ่มที่มีความคิดโน้มไปทางสีแดงก็จะเห็นว่าซ้อนทับกับ กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ในขณะที่เส้นแบ่งของกลุ่มที่มีความคิดโน้มไปทางสีเหลืองก็จะซ้อนทับกับชน ชั้นกลางเก่า กล่าวโดยสรุปคือ สีเหลืองคือผู้มีความคิดแบบชนชั้นกลางเก่า ส่วนสีแดงคือผู้มีความคิดแบบชนชั้นกลางใหม่นั่นเอง

6) การกำหนดนโยบายของพรรคไทยรักไทย และการบริหารงานของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สอดคล้องต้องกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่พัฒนาเปลี่ยนผ่าน (transition) จากสังคมแบบดั้งเดิม การที่กำหนดนโยบาย และทำนโยบายให้เป็นจริงดังกล่าว ภายใต้หลักการ
6.1) กำหนดเป้าหมายที่สร้างรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ โดยหวังความนิยมทางการเมืองในพรรคเป็นผลพลอยได้
6.2) รดน้ำที่ราก คือ ให้ความสำคัญ ตั้งแต่ระดับ รากหญ้าที่เป็นฐานสำคัญในโครงสร้างของสำคัญ ทำให้กลุ่มที่รายได้ปานกลางและสูงได้ประโยชน์ไปด้วย
6.3) ใช้หลักการดำเนินโดยภาพรวม "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" ไปพร้อมๆ กัน เช่น "30 บาท รักษาทุกโรค" "พักหนี้เกษตรกร" เป็นการลดรายจ่าย กองทุนหมู่บ้าน, OTOP, ส่งเสริม SME, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร ตลอดจนริเริ่มกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ล้วนเป็นการเพิ่มรายได้ และ ขยายโอกาส เป็นต้น
6.4) ผู้ที่เดือดร้อน หรือยากจนที่สุดจะได้รับประโยชน์ "ก่อน" และเป็น "รูปธรรม" ในขณะที่ผลประโยชน์ที่ทำมาค้าขึ้นของชนชั้นกลางแต่เดิม "ได้ประโยชน์เป็นผลสืบเนื่อง" จากกำลังซื้อที่เพิ่มจากการทำมาค้าขึ้นหลังจากนั้น ตัวชี้วัดสำคัญขอให้ไปดูสถิติการเติบโตของการสร้างรายได้ในชนบทด้วยอัตราสูง กว่าในเมือง จากข้อมูลการเก็บภาษีสรรพกรในต่างจังหวัด ทั้งจาก ภาษีนิติบุคคล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
6.5) การให้โอกาส คือการให้อำนาจประชาชน (empower) รัฐบาลสร้างโอกาสและศักดิ์ศรีเท่าเทียม เช่น โครงการ30 บาทรักษาทุกโรค กลายเป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ต้องร้องขอการสงเคราะห์จากภาครัฐ, OTOP ทำให้ประชาชนเข้าใจ และมีอำนาจ เข้าถึงตลาด หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง "ประชาชนได้รับสิทธิที่จะเสี่ยงลงทุนด้วยทุนและกำลังของตนเอง" การ เพิ่มขึ้นของการจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของการเป็นเจ้าของกิจการ ดังสถิติ (จากข้อ 3 ข้างต้น) ในระยะที่พรรคไทยรักไทยอยู่ในอำนาจเปรียบเทียบกับหลังการรัฐประหารน่าเป็น ตัวชี้วัดที่ดีในข้อนี้ด้วย

7) การศึกษาฐานะทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ อาจแยกแยะ "เสื้อเหลืองและเสื้อแดง" ออกได้ไม่ชัด หากดูเปรียบเทียบเฉพาะรายได้ โดยไม่ดูลึกถึงผู้ได้ประโยชน์จากนโยบาย แม้ต่างเป็นชนชั้นกลางด้วยกัน แต่ "ชนชั้นกลางใหม่" ได้ รับโอกาสใหม่ๆ จากนโยบายในการสร้างรายได้ หรือศักดิ์ศรี ที่ได้รับเพิ่มขึ้นย่อมเป็นผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายสนับสนุนพวกเขา ในทางตรงข้าม "ชนชั้นกลางเก่า" เหมือน ถูกท้าทาย ถูกเบียดบังอภิสิทธิ์ที่เคยทำให้ตนเหนือกว่าคนอื่น (โดยเฉพาะผู้ที่มีเศรษฐฐานะที่ต่ำกว่าในอดีต) ย่อมไม่พอใจ ดังนั้น ลูกจ้างบริษัทใหญ่ มั่นคง ข้าราชการอาจมีสัดส่วนความเห็นทางการเมืองค่อนไปเป็นชนชั้นกลางเก่าหรือไม่ ประชาชนจากภูมิภาคที่มีเศรษฐฐานะดีกว่าอยู่ก่อนในอดีต เช่น ส่วนใหญ่ประชาชนในกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคใต้มีแนวโน้มสอดคล้องกับชนชั้นกลางเก่าหรือไม่ ในขณะที่ประชาชนจากภูมิภาคที่เคยยากจนกว่า เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีโอกาสดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสทำงาน ลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้ดีขึ้นจากการบริหารนโยบายของรัฐบาลพรรคังกล่าว จะมีแนวโน้ม "ขอมีสิทธิ์ด้วย" ของชนชั้นกลางใหม่ จึงเป็นคำถามวิจัยทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่น่าสนใจติดตามต่อไป

 
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
8 กันยายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น