แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ค้านเขื่อนแม่วงก์ ความฟินของชนชั้นกลาง

ที่มา ประชาไท

 
ผู้เขียนติดตามการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ด้วยใจระทึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝูงชนมารวมตัวแซ่ซ้องนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้การขานรับอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงวันท้าย ๆ ของปฏิบัติการ  ปิดท้ายด้วยการชุมนุมของผู้คนล้นหลามวันที่ 23 กันยายน 2556 บังเกิดภาพประวัติศาสตร์อันน่าชื่นชมโสมนัสไปกับนักเคลื่อนไหวที่สามารถ “ตีปี๊บ” สร้างกระแสความสนใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างเหลือเชื่อ
เกิดอะไรขึ้นกับการตื่นรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของชนชั้นกลางใน พ.ศ.2556  หลายคนพยายามอธิบายเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวอันน่า ตื่นตาตื่นใจไปต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่า เป็นเพราะการเติบโตของอุดมการณ์สิ่งแวดล้อมนิยมที่ตระหนักในคุณค่าของ ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเพราะความไม่สมเหตุสมผลของตัวโครงการเอง เพราะการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะความน่าหมั่นไส้ของนักการเมืองบางคน เพราะความต้องการจะเคลื่อนไหวสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะความนับถือศรัทธาในจิตวิญญาณการอนุรักษ์ของไอคอนในการเคลื่อนไหวครั้ง นี้ หรืออาจเป็นเพราะกลยุทธ์ในการรณรงค์เคลื่อนไหวซึ่งตรงและโดนใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็น “ชนชั้นกลาง”
เสียงที่ดังไม่เท่ากัน
อันที่จริงการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในสังคมไทยมาตลอดตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา แต่ขบวนการเหล่านั้นม่ค่อยประสบความสำเร็จในการรณรงค์สาธารณะเพื่อดึงชนชั้น กลางให้มาสนใจ “เรื่องไกลตัว” ได้เท่าไรนัก
เป็นต้นว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ออกมาจัดกิจกรรมคัดค้านการโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้งในจำนวนไม่รู้ กี่ครั้งของการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาเกือบสามสิบปี[1]  หรือชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูนยังคงออกมาชุมนุมเป็นประจำแทบทุกปีทั้ง ๆ ที่เขื่อนสร้างเสร็จไปนานแล้ว[2] โครงการเขื่อนต่าง ๆ ไม่เพียงสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ชาวบ้านในพื้นที่แต่ยังส่งผลกระทบ มหาศาลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างประเมินค่ามิได้ด้วยเช่นกัน
แต่ในการเคลื่อนไหวค้านเขื่อนของชาวบ้านที่ผ่านมาเรามักไม่ค่อยได้ยิน เสียงตอบรับจากชนชั้นกลางอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเหมือนกับกรณีเขื่อนแม่วงก์  
ผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่วงก์แตกต่างจากโครงการเขื่อนอื่นอยู่บ้าง ในเรื่องที่ไม่มีชุมชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรง (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ)  อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนทราบมีประชาชนในพื้นที่ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการ เขื่อนแม่วงก์อยู่จำนวนไม่น้อย เพียงแต่เสียงของประชาชนเหล่านั้นกลับไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะสัก เท่าไร สิ่งที่เรารับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ กลับเป็นเรื่องราวของนักอนุรักษ์ไม่กี่คนที่สู้อุตส่าห์บากบั่นเดินทางไกล กว่าสามร้อยกิโลเมตรเพื่อส่งเสียงแทนต้นไม้ใบหญ้าและสัตว์ป่าน้อยใหญ่
 "ผมเชื่อมาตลอดว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เริ่มจากคนจำนวนมาก แต่เกิดจากคนเล็กๆ น้อยๆ ที่มีพลังครับ..."[3] ศศิน เฉลิมลาภ “นักอนุรักษ์” ผู้เป็นไอคอนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้กล่าว สะท้อนถึงยุทธวิธีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเคลื่อนไหวของ ขบวนการประชาชนรากหญ้าที่พบเห็นกันเป็นประจำ
ขบวนการประชาชนรากหญ้ามักอธิบายตนเองว่าพวกเขาคือประชาชนผู้ด้อยอำนาจ ไม่มีทั้งทุนเศรษฐกิจและทุนทางสังคม จึงจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันให้มีจำนวนมาก ๆ เข้าไว้เพื่อจะได้มีพลังต่อรองกับกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ข้อต่อสู้ของ “ชาวบ้าน” แม้ว่าจะเป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่ก็โยงเข้ากับเรื่อง ปากท้องและสิทธิในการดำรงชีวิตของตนเอง เพราะเมื่อทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปชีวิตของพวกเขาก็พังทลายลงไปในพริบตา เช่นกัน
บรรดานักเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนต่างทราบกันดีว่าการเคลื่อนไหวของขบวนชาว บ้านตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เรียกความสนใจจากชนชั้นกลางในเมืองไทยได้ยากเย็น แม้ว่าจะมีงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการและนักศึกษาทั้งชาวไทยและเทศมากมาย มีรายงานข่าวของสื่อมวลชนสายสิ่งแวดล้อมเป็นระยะ ๆ  มีนักศึกษาลงไปทำค่ายในพื้นที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่นนับสิบ ๆ ปี  แต่ไม่ปรากฏว่ามีการชุมนุมของชนชั้นกลางเพื่อร่วมกันคัดค้านเขื่อนอย่างมาก มายเท่ากรณีเขื่อนแม่วงก์ (แม้ว่าจะเป็นเพียงวันเดียวก็ตาม)
เมื่อเปรียบเทียบว่าเป็นเรื่องการคัดค้านโครงการเขื่อนเหมือนกัน แต่คนกลุ่มหนึ่งพูดเพียงเบา ๆ ก็กลายเป็นเรื่อง “ดัง” ขึ้นมาได้ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งตะโกนเท่าไหร่กี่พันวันกี่สิบปีกลับไม่มีคนใส่ใจจะฟัง มากนัก จะทำได้ก็แค่การเป็นข่าวกรอบเล็ก ๆ ในหน้าสื่อ หรือสื่อออนไลน์ สาเหตุของความเปรียบต่างในเรื่องนี้คงไม่ใช่เพียง “เสียง” ที่ดังไม่เท่ากันเทานั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการให้หรือไม่ให้ความสำคัญแก่ คนที่ลุกขึ้นมาพูด เรื่องที่พูด รวมถึงประเด็นที่นำมาพูด
 หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นสิทธิชุมชน/สิทธิมนุษยชนของชนชั้นล่างนั้นเป็นเรื่องที่ “ขายไม่ดี” เท่ากับเรื่องการต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ ชนชั้นกลาง โดยชนชั้นกลาง และเพื่อชนชั้นกลาง
ฝันที่ไม่อยากให้เป็นจริง
ผู้เขียนคิดเล่น ๆ ตามประสาที่เป็นชนชั้นกลางเหมือนกันว่าการเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติแบบชนชั้นกลางนั้น เป็นเรื่องที่น่ากระโจนเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่า เนื่องจากมันแลดู “บริสุทธิ์” ไร้มลทิน ไม่มี “การเมือง” ไม่ต้องมาคอยสงสัยว่าคนที่ออกมาชุมนุมค้านเขื่อนนั้นถูกใครจ้างมา (เพราะชนชั้นกลางต่างมีฐานะทางเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว) ไม่ต้องสงสัยว่าทำเพื่อผลประโยชน์ “ส่วนตัว” หรือ ผลประโยชน์ “ของประเทศชาติ” (เพราะชนชั้นกลางอยู่ไกลจากพื้นที่โครงการฯ จึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน) และไม่ต้องสงสัยเรื่อง “จิตสำนึก” ทางสิ่งแวดล้อม (เพราะชนชั้นกลางต่างมีการศึกษาจึงตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี)
นี่เป็นเพียงการคิดเดาเอาเล่น ๆ
แต่หากว่ามีใครที่เข้าร่วมขบวนการคิดแบบนี้จริง ๆ แล้วละก็...ขบวนการสิ่งแวดล้อมนิยมของชนชั้นกลางที่ว่ามามันก็น่าประหวั่น พรั่นพรึงเป็นอย่างยิ่ง เพราะในความเชื่อว่ามันไม่มี “การเมือง” นี่เอง ที่เป็นเรื่อง “การเมือง” อย่างแท้จริง เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจใน การแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม” ซึ่งวัดกันอย่างฉาบด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและระดับการศึกษา
ในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะมี “จิตสำนึก” ทางสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องอื่น ๆ จริงหรือไม่ เท่าไหร่ และอย่างไร ก็ไม่ควรเป็นเงื่อนไขในการรับ/หรือไม่รับฟังเสียงของพวกเขา
แต่น่าเสียดายที่ในการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อมในสังคมเรายังไม่มีกลไกที่ เป็นประชาธิปไตยในการทำให้เสียงและความต้องการของประชาชนมีความหมายขึ้นมา จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของชนชั้นใดก็ตาม
งานเลี้ยงยังไม่เลิกรา
การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญกรณีเขื่อนแม่วงก์ผ่านไปแล้วในวาระหนึ่ง แต่คาดเดาได้ว่ายังมีวาระอื่น ๆ ของการเคลื่อนไหวติดตามมาอีก ตราบเท่าที่รัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันโครงการนี้ต่อไป และตราบเท่าที่ยังไม่มีการใช้ “ท่าไม้ตาย” ของการรวบรัดมัดมืดชกเพื่อผ่านโครงการเหมือนกรณีเขื่อนและโครงการพัฒนาอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วมากมาย
สำหรับผู้เขียน ความสำเร็จในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่น่าจะอยู่ตรงที่ว่ารัฐบาลจะยุติโครงการเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ เพราะแม้ว่าจะเคลื่อนไหวกันจนยุติโครงการนี้ได้จริง แต่ก็มีโครงการเขื่อนอื่น ๆ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อีกมากมายจ่อคิวรอให้คัดค้านกันต่อไปอยู่ดี และยังคงต้องเคลื่อนไหวคัดค้านกันต่อไปอีกหลายต่อหลายรัฐบาล
ผู้เขียนเห็นว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของการเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ว่าสังคมไทยได้ เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง ซึ่งผู้เขียนก็คิดทบทวนกลับไปกลับมาโดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า...
ใช่หรือไม่ ที่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงการเติบโตของประชาสังคมที่ประชาชนต่างพากันกระตือ รือร้นที่จะตรวจสอบกระบวนการทำงานของรัฐและเรียกร้องสิทธิในการมีส่วนร่วม กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างมีพลัง
ใช่หรือไม่ การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมันได้ทำให้คนในสังคมได้กระจ่างถึง “เบื้องหลัง” อันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการผลักดันการสร้างเขื่อนและการกำหนดทิศทางการพัฒนา ประเทศที่เต็มไปด้วยอิทธิพลและผลประโยชน์ของทุนข้ามชาติ ทุนชาติ ทุนท้องถิ่น และทุนที่ไม่อาจกล่าวถึง
ใช่หรือไม่  ขบวนการนี้ได้ส่งผลให้มีความพยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อให้มีกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม
ผู้เขียนเพียงหวังว่าสิ่งที่ได้เห็นจะไม่ได้เป็นแค่ภาพลวงตา ไม่ใช่อีเว้นท์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อให้ชนชั้นกลางได้ฟินกับการเสพและสำแดงอัตลักษณ์ “นักอนุรักษ์” ของตนเอง ผ่านกิจกรรม “จิตอาสา” บทกวี และดนตรีเพื่อชีวิต ที่ประกาศก้องถึงความรักและหวงแหนธรรมชาติ
หวังว่ามันจะไม่ใช่เพียงการฉกฉวยโอกาสในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม เพื่อด่าทอรัฐบาลที่ชนชั้นกลางหลายคนชิงชัง ไม่ใช่แค่การร่วมประณาม “ทุนนิยมสามานย์” ที่ขับเคลื่อนโดย “นักการเมืองโกงกิน” แบบแผ่นเสียงตกร่อง ไม่ใช่แค่ดราม่าเชิดชู “คนดี” ฮีโร่ของสังคมตามพล็อตละครตอนเย็นแบบเดิม ๆ
ซึ่งพอชนชั้นกลางได้ร่วมกิจกรรมกันจนฟินกันเสร็จสรรพแล้ว ก็พากันปัดตูด ขับรถพรีอูสกลับบ้าน ไปนอนผึ่งแอร์เบอร์ห้ารักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสบายอารมณ์
ผู้เขียนเพียงแต่สงสัยว่า “ความเป็นธรรมทางสังคม” จะเกิดได้ด้วยขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้จริงหรือไม่
จะขอรอติดตามชมตอนต่อไป ด้วยใจระทึก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น