บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (‘ทุ่งคำ’)
ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ตามหนังสือเลขที่ ทค.ลย(ว) 255/56 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 เพื่อ
“แจ้งความประสงค์จะดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้
มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และสุขภาพ (ค.1) โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คำขอประทานบัตร
76/2539” หรือจัดทำเวทีพับลิค สโคปปิ้ง
ต่อมาทุ่งคำได้ทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่ง
เสริมสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตามหนังสือเลขที่ ทค.ลย(ว) 278/56 เมื่อวันที่
23 สิงหาคม 2556 เพื่อจัดส่งและขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์เอกสาร “ราย
ละเอียดโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539
และขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
(EHIA)” เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง
แวดล้อม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2552 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง
ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
ซึ่งมีข้อระเบียบปฏิบัติที่ระบุว่าให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อนวัน
ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ (พับลิค สโคปปิ้ง)
ต่อสาธารณชนให้รับทราบอย่างน้อย 15 วัน ก่อนวันจัดเวทีดังกล่าว ซึ่งวัตถุประสงค์ชัดเจนได้แสดงอยู่ในหนังสือที่ทำถึง สช. ทั้งสองฉบับและเอกสารประกอบเวทีว่า จะจัดทำเวทีพับลิค สโคปปิ้ง เฉพาะแปลงที่ 76/2539 เท่านั้น แต่นั่นกลับเป็นความลวงที่ทุ่งคำสร้างขึ้นมา โดยไม่มีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและพิจารณารายงาน EHIA เฉลียวใจ มองเห็น หรือทักท้วง ตักเตือน เอาผิด แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ได้มีการส่งเอกสารประกอบเวทีมาก่อนหน้าวันจัดเวทีถึง 15 วัน แต่กลับปล่อยให้ทุ่งคำดำเนินการจัดทำเวทีดังกล่าวต่อไปได้
และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความลวงซ้อนกันอยู่สองชั้น คือ
ความลวงที่หนึ่ง - เอกสารประกอบเวทีพับลิค สโคปปิ้ง ที่ใช้เผยแพร่ บนหน้าปกระบุชื่อว่า “รายละเอียดโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” และในส่วนล่างสุดของหน้า 1-5 ของเอกสารดังกล่าว ระบุชื่อเอกสารว่า “ โครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 หมู่ที่ 13 ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย” ส่วนที่เหลือทั้งหมด ตั้งแต่หน้า 6-58 ในส่วนล่างสุดของเอกสาร กลับระบุชื่อเอกสารว่า “ โครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76 และ 77/2539 หมู่ที่ 13 ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย”
ในสาระความเป็นมาและรายละเอียดโครงการ ที่ปรากฏอยู่ในย่อหน้าสุดท้ายของหน้า 1 ระบุว่า “ทั้งนี้เพื่อให้มีแหล่งแร่เพิ่มเติมเพื่อป้อนการดำเนินการผลิตของบริษัทฯ จึงได้ดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรที่ 76/2539 รวมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกันกับคำขอประทานบัตรที่ 77/2539 เพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งอยู่ในแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1: 50,000 ลำดับชุด L 7017 ระวาง 5343 IV ของกรมแผนที่ทหาร ระหว่างพิกัดฉากสากล (U.T.M.) แนวตั้งที่ 785000 E ถึง 786000 E และแนวนอนที่ 1927000 N ถึง 1929100 N โดยประมาณ อยู่ในท้องที่ของ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย”
ความลวงที่สอง – จากเอกสารประกอบเวทีพับลิค สโคปปิ้ง ดังกล่าว การกำหนดพิกัดแนวตั้งที่ 785000 E ถึง 786000 E และแนวนอนที่ 1927000 N ถึง 1929100 N โดยประมาณ เป็นขอบเขตครอบคลุมพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และ 77/2539 และยังขยายพื้นที่เกินไปทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 77/2539 ซึ่งมีแปลงคำขอประทานบัตรที่ 203/2539 ร่วมเป็น ‘พื้นที่กลุ่มคำขอประทานบัตร’ ด้วยอีก 1 แปลง
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)
พื้นที่ในการทำเหมือง T-3
คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 มีพิกัดแนวตั้งที่ 785450 E แนวนอนที่ 1929100 N พื้นที่ 299-0-25 ไร่
คำขอประทานบัตรที่ 77/2539 มีพิกัดแนวตั้งที่ 785450 E แนวนอนที่ 1928230 N พื้นที่ 299-0-25 ไร่
คำขอประทานบัตรที่ 203/2539 มีพิกัดแนวตั้งที่ 786000 E แนวนอนที่ 1928000 N พื้นที่ 300 ไร่
พื้นที่ในการทำเหมือง T-9
คำขอประทานบัตรที่ 71/2539 มีพิกัดแนวตั้งที่ 783200 E แนวนอนที่ 1928470 N พื้นที่ 300 ไร่
คำขอประทานบัตรที่ 72/2539 มีพิกัดแนวตั้งที่ 783200 E แนวนอนที่ 1927800 N พื้นที่ 300 ไร่
คำขอประทานบัตรที่ 73/2539 มีพิกัดแนวตั้งที่ 783200 E แนวนอนที่ 1927290 N พื้นที่ 300 ไร่
ดังนั้น ทุ่งคำมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะไม่ขอประทานบัตรเพียงแค่ แปลงที่ 76/2539 แปลงเดียว แต่จะขอเป็นพื้นที่กลุ่มคำขอประทานบัตรอย่างน้อย 3 แปลง คือ แปลงที่ 76/2539 77/2539 และ 203/2539 และอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความลวงชั้นที่สามด้วยการบิดเบือนเอกสาร ในภายหลัง (อาจจะเป็นในขั้นเสนอร่างรายงาน EHIA ในเวทีพับลิก รีวิว ซึ่งเป็นขั้นตอน/เวทีต่อจากพับลิค สโคปปิ้ง) ด้วยการขอประทานบัตร แปลงที่ 71/2539 72/2539 และ 73/2539 อีก 900 ไร่ ร่วมด้วย แต่สิ่งที่น่ารังเกียจก็คือ ทำไมถึงไม่พูดความจริง ทำไมถึงต้องสร้างความลวงเพื่อปิดบังและหลีกเลี่ยงอะไร
หรือเกรงว่าถ้าประกาศจัดทำเวทีพับลิค สโคปปิ้ง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทั้ง 3 แปลง เนื้อที่รวมกัน 898-0-50 ไร่ (และอาจจะรวมแปลง 71-73/2539 อีก 900 ไร่ ด้วย) จะเกิดการคัดค้านต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ขึ้นได้ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ทำเหมืองแปลงใหญ่เกินกว่าชุมชนในเขตตำบลนาโป่งจะ แบกรับภาระและปัญหาผลกระทบได้ จึงทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยความหลอกลวงว่าจะขอประทานบัตรแปลงเล็กประมาณ 300 ไร่ แปลงเดียวไปก่อน ต่อเมื่อผ่านเวทีพับลิค สโคปปิ้ง ไปแล้ว จึงค่อยอธิบายว่าจะทำเหมืองแปลงใหญ่ในภายหลัง
เป็นเรื่องน่าเศร้าของกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงาน EHIA ในสังคมไทย ที่พับลิค สโคปปิ้ง สามารถถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความลวงให้กับผู้ประกอบการได้โดยการ เมินเฉยของส่วนราชการ-รัฐ และองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๆ ที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือพับลิค สโคปปิ้ง หรือ Public Scoping ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำและพิจารณารายงาน EHIA ก็ระบุไว้ชัดอยู่แล้วให้ ‘กำหนดขอบเขต’ และ ‘แนวทาง’ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ในเมื่อสร้างความลวงด้วยการขอประทานบัตรแปลงเดียว คือ แปลงที่ 76/2539 เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ นั่นก็หมายถึงการจัดทำเวทีพับลิค สโคปปิ้ง ดังกล่าว จะเป็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใน พื้นที่เพียง 300 ไร่ เท่านั้น ส่วนพื้นที่นอกเหนือจากนั้นที่ปรากฏอยู่ในแปลงที่ 77/2539 และ 203/2539 (และอาจจะรวมแปลงที่ 71-73/2539 ด้วย) จะไม่ได้ถูกกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเอา ไว้ด้วย
ซึ่งจะส่งผลต่อมา โดยทำให้การวิเคราะห์ ประเมินและคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่สอดคล้องกับพื้นที่ขอประทานบัตร จริง ก็เพราะวิเคราะห์ ประเมินและคาดการณ์ผลกระทบในพื้นที่ทำเหมืองแปลงเดียว 300 ไร่ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นกับพื้นที่ทำเหมืองทั้งสามแปลง ประมาณ 900 ไร่
ด้วยความลวงสองชั้นของพับลิค สโคปปิ้ง และอาจจะมีชั้นที่สามเกิดขึ้นได้ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว เป็นการใช้ความลวงซ้ำ ๆ ของนายทุนผู้มีอำนาจเงินที่สามารถใช้ข้าราชการ-รัฐให้ปิดล้อมเวทีพับลิค สโคปปิ้ง ได้ด้วยกำลังตำรวจ 700 นาย เพื่อปิดกั้นประชาชนผู้เห็นต่างไม่ให้เข้าร่วมเวทีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา แม้จะไม่เหมือนทีเดียว แต่ก็ทำให้นึกถึงวรรณกรรมรวมเรื่องสั้น ‘กระดูกของความลวง’ ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เทียบเคียง
ในเรื่องสั้นกระดูกของความลวงเล่าเรื่องจากสายตาของคนที่กำเนิดมาพร้อม กับความผิดปกติ จนถูกสังคมผลักไสให้เป็นคนชายขอบ แสดงให้เห็นอคติของสังคม รวมถึงด้านมืดของมนุษย์ที่ต้องการเห็นผู้อื่นด้อยกว่า เพื่อให้ตนเองรู้สึกสูงส่ง โดยตีแผ่จิตใจด้านมืดที่เต็มไปด้วยการฉกฉวยทำลาย การเมินเฉยต่อความเลวร้ายเบื้องหน้า การบิดเบือนความเป็นจริง และความโง่เขลาต่อสรรพสิ่ง
ด้วยอคติเช่นนี้จนกลายเป็นความเคยชินของเรา เราจึงกลายเป็นผู้ทำให้ความลวงที่เป็นความเหลวไหลและเหลวแหลกของสังคมมีกระดูกขึ้นมา
และพับลิค สโคปปิ้ง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ EHIA และเป็นจุดเริ่มต้นของขั้นตอนการขอประทานบัตรด้วยเช่นเดียวกัน จนเมื่อถึงปลายทางที่ EHIA ผ่านความเห็นชอบ และได้รับอนุญาตประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ได้ เมื่อนั้นเรา--ใครก็ตาม ที่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำและให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ทั้งหน่วยงานรัฐ ราชการ องค์กรอิสระ นักวิชาการ และผู้ประกอบการ--เป็น ผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์มหึมาที่ประกอบด้วยความลวงของ EHIA และประทานบัตร โครงการเหมืองแร่ทองคำ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ขึ้นมา
เรา--ใครก็ตาม ที่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำและให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ทั้งหน่วยงานรัฐ ราชการ องค์กรอิสระ นักวิชาการ และผู้ประกอบการ—ได้สร้างกระดูกให้ความลวงขึ้นมาแล้ว
[1] ขอขอบคุณ ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ผู้มองเห็นความลวงในพับลิค สโคปปิ้ง จุดเริ่มต้นของ EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เป็นคนแรก และได้ส่งข้อมูลให้ผู้เขียนเพื่อเขียนเป็นบทความชิ้นนี้ขึ้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น