ที่มา มติชน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
จะเรียกทีมกฎหมาย เพื่อหารือหาทางออกต่อการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมติรับคำร้องไว้พิจารณาว่า
ไม่ได้มีการเรียกทีมกฎหมายมาหารือแต่อย่างไร
เพราะฝ่ายกฎหมายเขามีการหารือและศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ตามปกติอยู่แล้ว
ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่า ในเชิงข้อกฎหมายมีหลากหลายความคิดเห็น ขณะเดียวกัน
หากเรายึดตามหลักประชาธิปไตยที่มี 3 เสาหลักคือฝ่ายบริหาร
นิติบัญญัติและตุลาการ
ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัตินั้นอำนาจชัดเจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่กำหนด
ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ดังนั้น
เมื่อรัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน 3 วาระ มีการลงคะแนนเรียบร้อย
ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (7) บัญญัติไว้ว่า
เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว
ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและให้นำบท
บัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
นายสุรนันทน์กล่าวว่า ดังนั้น ต้องรอดูว่าในวันที่ 28 กันยายนนี้
สภาจะมีมติออกมาอย่างไร ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการถ่วงเวลา
เพราะการดำเนินการถูกบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตาม
ต้องมีการทูลเกล้าฯ ดังนั้น หากการโหวตลงมติใน วันที่ 28 กันยายน
ทุกอย่างผ่านตามกระบวนการ
นายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะทำงานตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถขัดรัฐธรรมนูญได้
และในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องรอเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยก่อน
"ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
แล้วมีผู้เห็นแย้งอย่างไร หรือศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร
ก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะรัฐบาลต้องทำตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติไว้
แต่เมื่อมีการวินิจฉัยหรือตีความออกมาอย่างไร เราก็พร้อมปฏิบัติตาม
แต่วันนี้ทิศทางของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ต้องทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ในมาตรา 291(7) ส่วนการตีความของรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายบริหาร
แต่เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย" เลขาธิการนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า
กรณีที่นายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว
แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ จะเกิดอะไรขึ้น
นายสุรนันทน์กล่าวว่า รัฐบาลถือว่าเราทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญทุกประการ
เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความว่า สิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้
แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด
เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยเสมอในกรณีที่มีความเห็นไม่ลงรอย
กันระหว่างอำนาจต่างๆ และเมื่อมีการตีความทางกฎหมายรัฐบาลก็พร้อมปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในมาตรา 154 บัญญัติไว้ว่า
หากเรื่องยังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรีควรระงับการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
หากวันที่ 28 กันยายน กระบวนการของรัฐสภาแล้วเสร็จ
โดยตัดสินมาแล้วโดยผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งถือเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 291(7)
บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน เพราะฉะนั้น
นายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตาม และหากมีคนเห็นต่าง
ก็มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อมีการวินิจฉัยออกมาก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไขกันอย่างไร สมมุติวินิจฉัยว่า
ทำถูกต้องทั้งหมด ก็จบ แต่ถ้าวินิจฉัยว่าไม่ได้มีขั้นตอนขัดกับรัฐธรรมนูญ
ก็ต้องมาดูกัน วันนี้อย่าเพิ่งไปตัดสินล่วงหน้า
"ส่วนที่มีบางฝ่ายมีความเห็นว่า อาจเกิดปัญหากับรัฐบาล
เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 154 บัญญัติไว้ชัดเจนนั้น เราต้องแยกกัน
ถ้ารัฐสภาบอกว่า ต้องรอคำวินิจฉัยก็เป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ถ้ารัฐสภาบอกว่า
มีอำนาจกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้ว
นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ
ทุกคนต่างทำหน้าที่อย่าเอามาปนกันระหว่างอำนาจ 3 เสาหลัก
ส่วนนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อไหร่ ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
เพราะวันนี้ยังไม่ทราบว่าจะผ่านมติของสภาในรูปแบบไหน ต้องรอดูวันที่ 28
กันยายน ดูทั้งเรื่องเอกสารที่เกี่ยวข้องก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน
การทูลเกล้าฯ ก็ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 20 วัน
อาจจะเป็นวันรุ่งขึ้นหรือในวันที่ 19 ก็ได้
ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี"นายสุรนันทน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นักกฎหมายบางคนมองว่า
หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบและถึงอาจต้องติดคุก
นายสุรนันทน์กล่าวย้อนถามว่า แล้วถ้านายกรัฐมนตรีไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ
นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ดังนั้น
นายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
วันนี้รับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ม่ใช่ว่าต้องรับผิดชอบว่าผิดหรือไม่ผิด
เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีหน้าที่ต้องวินิจฉัย
เมื่อถามว่า การดำเนินการควรทำให้ทันเวลาในการเลือกตั้งของ
ส.ว.หรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า
กระบวนการจะทันหรือไม่เป็นเรื่องฝ่ายการเมืองต้องไปคิดกัน
นายกรัฐมนตรีไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องเสร็จเมื่อไหร่
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมสภาในวันที่ 28 กันยายน
เพื่อไปร่วมโหวตลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
นายสุรนันทน์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนราษฎรก็คงไป
แต่ช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน
นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ปทุมธานีไปตรวจน้ำท่วมก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น